คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

คลิปเสียง-คลิปวีดีโอ ที่แอบบันทึกไว้ สามารถนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้หรือไม่  ? 

ปัจจุบันการถ่ายวีดีโอหรือบันทึกเสียง สามารถจะทำได้โดยง่ายเป็นอย่างมากผ่านโทรศัพท์มือถือ เราจึงมักนิยมอัดคลิปเสียงหรือคลิปวีีดีโอกันไว้เมื่อเกิดมีปัญหาข้อพิพาท

ซึ่งการอัดเสียงหรือการถ่ายวีดีโอนั้นได้รับความยินยอมจากคู่กรณีหรือคู่กรณีรู้อยู่แล้วว่ามีการอัดเสียงหรืออัดวีดีโอไว้ คลิปเสียงหรือคลิปวีดีโอดังกล่าว ย่อมสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ทั้งในคดีแพ่งคดีอาญา 

แต่ในกรณีที่การอัดเสียงหรือถ่ายวีดีโอนั้นได้แอบกระทำโดยที่คู่กรณีไม่ได้รู้ตัว หรือเป็นการแอบลักลอบบันทึก จะสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลได้หรือไม่ ? 

การพิจารณาว่าคลิปเสียงหรือคลิปวีดีโอนั้นสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ ต้องแบ่งออกเป็น 2 กรณีด้วยกันคือ คดีอาญา และ คดีแพ่ง เพราะคดีทั้งสองประเภทมีหลักเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานที่แตกต่างกัน 


คดีอาญา 

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา ๒๒๖  พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน

มาตรา ๒๒๖/๑  ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน

            ในการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ด้วย

            (๑) คุณค่าในเชิงพิสูจน์ ความสำคัญ และความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น

            (๒) พฤติการณ์และความร้ายแรงของความผิดในคดี

            (๓) ลักษณะและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำโดยมิชอบ

            (๔) ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบอันเป็นเหตุให้ได้พยานหลักฐานมานั้นได้รับการลงโทษหรือไม่เพียงใด

คำอธิบาย

ในคดีอาญานั้นคลิปเสียงหรือคลิปวิดีโอย่อมถือเป็นพยานหลักฐานชนิดหนึ่งซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีความผิดจริงหรือบริสุทธิ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226 และสามารถใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ 

แต่อย่างไรก็ตามหากคลิปเสียงหรือคลิปวีดีโอดังกล่าวถูกแอบลักลอบบันทึกโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย หรือได้ลักลอบบันทึกโดยคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้ตัว ศาลฎีกาตีความว่า พยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐารดังกล่าวได้มาจากการกระทำโดยมิชอบศาลจึงไม่อาจรับฟังพยานศาลดังกล่าวได้

แต่ข้อห้ามดังกล่าวไม่ใช่เป็นข้อห้ามอย่างเด็ดขาดแต่อย่างใด กฎหมายยังผ่อนปรนให้สามารถรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้หากการรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรม มากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน

โดยหลักในการชั่งน้ำหนักว่าควรจะรับฟังหรือไม่รับฟังคลิปดังกล่าว ศาลจะต้องชั่งน้ำหนักจากปัจจัยดังต่อไปนี้ 

(๑) คุณค่าในเชิงพิสูจน์ ความสำคัญ และความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น

หากพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานศาลมีความสำคัญจริงๆ ที่จะเอาผิดจำเลยหรือจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยได้ และมีความน่าเชื่อถือสูง

ตัวอย่างเช่นคลิปเสียงหรือคลิปวีดีโอดังกล่าว แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด เพราะมีคนอื่นเป็นคนกระทำความผิด

 หรือคลิปเสียงหรือคลิปวีดีโอดังกล่าวแสดงได้อย่างชัดเจนว่าจำเลยกระทำความผิด เพราะมีคลิปเหตุการณ์ขณะจำเลยกระทำความผิดเห็นหน้าของจำเลยชัดเจน 

เช่นนี้ ย่อมถือว่าพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนัก มีคุณค่าเชิงพิสูจน์ ศาลก็อาจจะรับฟังคลิปเสียงหรือคลิปวิดีโอดังกล่าวก็ได้ 

(๒) พฤติการณ์และความร้ายแรงของความผิดในคดี

หากคดีดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเป็นความผิดต่อส่วนตัวไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงหรือเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป เช่นนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ศาลอาจจะไม่รับฟังพยานหลักฐานที่เกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว 

ในทำนองกลับกันหากคดีดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรง มีพฤติกรรมโหดร้ายป่าเถื่อน เป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป เช่นนี้อากาศจะเป็นส่วนหนึ่งที่ศาลจะใช้วิเคราะห์ชั่งน้ำหนักในการที่ควรจะรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าว 

(๓) ลักษณะและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำโดยมิชอบ

หากการแอบอัดหรือแอบถ่ายคลิปดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสียหายกับคู่กรณีอย่างร้ายแรงได้รับความอับอาย ความเสื่อมเสีย เช่นนี้ถือว่าการกระทำโดยไม่ชอบดังกล่าวขอให้เกิดความเสียหายแก่คู่กรณีอย่างร้ายแรงศาลก็อาจจะไม่รับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้ 

แต่หากการแอบตัดหรือแอบถ่ายคลิปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆกับคู่กรณีเลย เช่นนี้ศาลก็อาจจะใช้เป็นส่วนหนึ่งที่จะรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าว 

(๔) ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบอันเป็นเหตุให้ได้พยานหลักฐานมานั้นได้รับการลงโทษหรือไม่เพียงใด

หากการแอบอัดหรือถ่ายคลิปวีดีโอดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อกฎหมายเช่นเป็นความผิดฐานบุกรุก เป็นการลักลอบดักฟังคลื่นสัญญาณโทรศัพท์อันผิดกฎหมาย ก็ต้องดูว่าผู้กระทำความผิดได้รับโทษไปแล้วหรือยัง 

หากผู้กระทำความผิดได้รับโทษพอสมควรแก่เหตุแล้วก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ศาลจะนำมาใช้พิจารณาให้รับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้ แต่หากผู้กระทำความผิดไม่ได้รับโทษเลย เช่นนี้ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ศาลอาจจะไม่มาฟังพยานหลักฐานดังกล่าว 

เปรียบเทียบคำพิพากษาศาลฎีกา 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3782/2564 

เป็นคดีหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว ไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงหรือเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป ศาลก็ไม่รับฟังคลิปเสียงที่เกิดจากการลักลอบสนทนา 

 การกระทำของนาย ธ. ที่แอบนำเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่มาทำการบันทึกเสียงการสนทนาระหว่างจำเลยกับนาย ธ. และคู่สนทนาในระหว่างการพบปะพูดคุยกัน โดยจำเลยไม่ทราบว่าขณะที่ตนสนทนาอยู่นั้น การสนทนาได้ถูกบันทึกลงในโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้ว ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของจำเลยอย่างชัดแจ้ง จึงเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบซึ่งต้องห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มิให้เจ้าพนักงานของรัฐแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ไม่ได้บัญญัติห้ามมิให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดา จึงนำไปใช้บังคับแก่กรณีที่เอกชนผู้เสียหายเป็นผู้ได้พยานหลักฐานนั้นมาจากการกระทำโดยมิชอบด้วย ส่วนเหตุยกเว้นให้สามารถรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังและต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดีโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังที่กฎหมายกำหนดไว้ คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท อันเป็นการพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน และเป็นความผิดอันยอมความได้ พฤติการณ์ของความผิดในคดีจึงมิใช่เรื่อง

ร้ายแรงที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนโดยส่วน;รวม ทั้งลักษณะของคดียังอยู่ในวิสัยที่โจทก์ทั้งสองสามารถหาพยานหลักฐานด้วยวิธีการอันสุจริต ชอบด้วยกฎหมาย มาพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ การอนุญาตให้รับฟังพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองได้มาจากการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบเท่ากับอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองนำพยานหลักฐานมาเพิ่มเติมในส่วนที่ตนนำสืบบกพร่องไว้ เพื่อจะลงโทษจำเลยแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลของจำเลยและกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไป การรับฟังพยานหลักฐานนั้น มิได้เป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรม แต่กลับจะเป็นผลเสียที่กระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนมากกว่า จึงไม่อาจรับฟังบันทึกเสียงสนทนาและข้อความจากการถอดเทปการสนทนาเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2281/2555

เป็นคดีเจ้าพนักงานตำรวจบุกรุกไปในบ้านและรีดเอาทรัพย์ผู้เสียหาย พฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรงมาก ศาลก็รับฟังคลิปเสียงการสนทนาดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดี 

การแอบบันทึกเทปขณะที่มีการสนทนากันระหว่างโจทก์ร่วมกับพยานและจำเลยที่ 2 โดยที่โจทก์ร่วมและพยานไม่ทราบมาก่อน เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบห้ามมิให้ศาลรับฟังเป็นพยานนั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมิให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 226 ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดา อย่างไรก็ตาม ระหว่างพิจารณาคดีได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมาตรา 11 บัญญัติให้เพิ่มมาตรา 226/1 ป.วิ.อ. กำหนดให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบได้ ถ้าพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา ศาลจึงนำบันทึกเทปดังกล่าวมารับฟังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 50/2563

เป็นคดีเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรง คลิปเสียงมีความชัดเจนมีคุณค่าเชิงพิสูจน์ ศาลรับฟังคลิปเสียงดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน 

จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน ผ่านการว่าความมาเป็นจำนวนมาก ย่อมคุ้นเคยกับการซักถามพยานในรูปแบบต่าง ๆ เป็นอย่างดี ข้อเท็จจริงปรากฏตามบันทึกการถอดเทปสนทนาระหว่างจำเลยกับ ภ. ว่า ภ. พยายามขอร้องให้จำเลยช่วยเหลือ อ. เพื่อมิให้ถูกดำเนินคดี ซึ่งจำเลยก็มิได้ปฏิเสธ เพียงแต่รอให้ ภ. เสนอจำนวนเงิน และเมื่อ ภ. ซักถาม จำเลยยังพูดอธิบายรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดีแก่ อ. เพื่อโน้มน้าวให้ ภ. เห็นว่าข้อหานำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรมีอัตราโทษสูง ส่อแสดงว่าจำเลยตอบคำถามของ ภ. ด้วยความสมัครใจ แม้การแอบบันทึกภาพและเสียงการสนทนาระหว่างจำเลยกับ ภ. ตามแผ่นซีดีหมาย วจ.1 และ วจ.2 จะเป็นการแสวงหาหลักฐานโดยมิชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 ก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 226/1 บัญญัติให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบได้ ถ้าการรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา ดังนั้น แม้แผ่นซีดีหมาย วจ.1 และ วจ.2 รวมทั้งบันทึกการถอดเทปสนทนาดังกล่าวจะได้มาโดยมิชอบ ศาลก็นำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้


ในคดีแพ่ง 

ในคดีแพ่งไม่มีบทตัดพยานหลักฐานที่ได้มาจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 226/1 เหมือนในคดีอาญา 

ดังนั้นคลิปเสียงหรือคลิปวีดีโอที่เกิดจากการแอบอัดเรื่องแอบถ่ายจึงสามารถรับฟังได้ในคดีแพ่งเพราะธรรมดาคนเราก็มีสิทธิที่จะอ้างได้อยู่แล้วว่า เราสนทนาอะไรไว้กับ หรือได้ยินอะไรจากใครอยู่แล้ว

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่4674/2543 

การที่จำเลยอ้างส่งเทปบันทึกเสียงซึ่งบันทึกการสนทนาระหว่างโจทก์และจำเลยพร้อมเอกสารที่ถอดข้อความบันทึกการสนทนาเป็นพยานหลักฐานนั้นนับเป็นพยานหลักฐานซึ่งเกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่จำเลยจะนำสืบในประเด็นเรื่องการใช้เงินแม้โจทก์จะไม่ทราบว่ามีการบันทึกเสียงไว้ก็ตาม แต่เมื่อเสียงที่ปรากฏเป็นเสียงของโจทก์จริง และการบันทึกเสียงดังกล่าวเกิดจากการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นคู่สนทนาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บันทึกเสียงไว้เอง ซึ่งโดยปกติจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะเบิกความอ้างถึงการสนทนาในครั้งนั้นได้อยู่แล้ว จึงไม่ถือว่าเทปบันทึกเสียงและเอกสารที่ถอดข้อความนั้นเป็นการบันทึกถ้อยคำซึ่งเกิดจากการกระทำโดยมิชอบอันจะต้องมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 243 วรรคสอง

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3911/2534

การที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำสืบโดยมิได้ถอดเทปออกมาและได้นำเทปมาเปิดต่อเมื่อถึงวาระที่ตัวผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความ มิได้นำมาเปิดต่อหน้าผู้ร้องในขณะพิจารณาคดีฝ่ายผู้ร้องนั้น หามีกฎหมายบังคับให้ถอดข้อความออกมาหรือต้องนำสืบโดยนำเทปมาเปิดในขณะพิจารณาคดีฝ่ายผู้ร้องหรือต้องถามค้านพยานผู้ร้องเสียก่อนไม่ เพราะการนำสืบเสียงพูดเป็นการนำสืบวัตถุพยาน วิธีการใดที่จะทำให้ศาลได้ฟังและรับเสียงนั้นไว้เป็นพยานหลักฐานได้ ผู้นำสืบก็ชอบที่จะทำได้

สรุป 

คลิปเสียงหรือคลิปวีดีโอ เป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่สามารถพิสูจน์ความจริงได้ชัดเจนมากกว่าพยานบุคคล  เพราะเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปตามความจริง แตกต่างจากพยานบุคคล ที่อาจจะเกิดการคลาดเคลื่อนได้หลายอย่าง 

ซึ่งคลิปเสียงหรือคลิปวิดีโอซึ่งได้บันทึกไว้โดยที่ได้แจ้งให้กับคู่กรณีทราบล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้ว หรือคู่กรณีรู้หรือควรจะรู้ได้อยู่แล้วว่ามีการบันทึกเสียงหรือบันทึกวีดีโอไว้ ย่อมสามารถใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา 

แต่ในกรณีที่คลิปเสียงหรือคลิปวิดีโอดังกล่าว เป็นคลิปวีดีโอที่ได้บันทึกไว้โดยการลักลอบแอบบันทึกโดยคู่กรณีไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นการแอบบันทึกผ่านโทรศัพท์มือถือ แอบติดกล้องหรือไมค์ดักฟัง หรือลักลอบบันทึกด้วยกันแอบดักฟังสัญญาณ ย่อมถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

หากเป็นในคดีอาญาแล้วมีบทตัดพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 229/1 ห้ามไม่ให้รับฟังคลิปเสียงหรือคลิปวีดีโอที่ได้มาจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นพยานหลักฐาน เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นให้รับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้ 

ซึ่งการที่จะเข้าข้อยกเว้นที่จะให้รับฟังพยานหลักฐานได้ คลิปเสียงหรือคลิปวีดีโอนั้นจะต้องมีความน่าเชื่อถือหนักแน่น มีคุณค่าในเชิงพิสูจน์ และในคดีดังกล่าวต้องเป็นคดีที่มีความร้ายแรงมีความสำคัญ รวมทั้งมีปัจจัยอื่นๆตามที่ได้อธิบายไว้อย่างละเอียดแล้ว 

สวนในคดีแพ่งนั้นไม่มีบทตัดพยานหลักฐานในคดีอาญา ดังนั้นคลิปเสียงหรือคลิปวีดีโอ ที่เกิดจากการแอบอัดหรือแอบถ่าย ย่อมสามารถใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ หากมีความน่าเชื่อถือว่าเป็นของจริงและ เกี่ยวข้องกับประเด็นข้อพิพาท 


 

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น