บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

คดีพรากผู้เยาว์ ถ้าเด็กยอมออกจากมาบ้านมาพบเอง ผู้ชักชวนมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์หรือไม่ ?

พรากผู้เยาว์

คดีพรากผู้เยาว์ ถ้าเด็กยอมออกจากมาบ้านมาพบเอง ผู้ชักชวนมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์หรือไม่ ?

ทุกวันนี้การติดต่อสื่อสารระหว่างกันนั้น สามารถทำได้หลากหลายช่องทาง เช่นการโทรศัพท์  แอพลิเคชั่นไลน์  เฟสบุ๊ค รวมทั้งเว็บไซต์ต่างๆ

ซึ่งด้วยช่องทางการสื่อสารที่มีเป็นจำนวนมากและสะดวกนี่เอง ทำให้เป็นช่องทางให้บุคคลทั่วไปต่างมีโอกาสพบหาพูดคุยกันได้โดยไม่จำเป็นต้องเคยเห็นหน้ามาก่อน

และยังทำให้เกิดปัญหาหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าแต่ก่อนที่การสื่อสารยังจำกัดเพียงการใช้จดหมายหรือโทรศัพท์  คือปัญหาการชักชวนเด็กออกไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ โดยที่บิดามารดาไม่ยินยอม

ทั้งนี้เนื่องจากเด็กยังมีวุฒิภาวะและประสบการณ์ชีวิตที่น้อย  จึงอาจยินยอมใจอ่อนไปกับผู้ชักชวนได้โดยง่าย ซึ่งการกระทำดังกล่าวหากเป็นการชักชวนไปโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือเพื่อความมุ่งหวังทางเพซย่อมเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317-319 แล้วแต่กรณี

ซึ่งการกระทำดังกล่าว หากผู้ชักชวนมีการขับขี่รถไปรับเด็กที่บ้านของเด็กเอง ย่อมเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์โดยไม่ต้องสงสัย แต่ปัญหามีอยู่ว่าหากจำเลยเพียงแต่ชักชวนเด็กแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าเป็นการจะด้วยการโทรศัพท์ หรือการพูดคุยทางช่องทางอื่นๆ จนกระทั่งเด็กใจอ่อนยอมมาหาจำเลยที่บ้านของจำเลยหรือมาที่สถานที่ที่นับพบด้วยตนเอง โดยจำเลยไม่ได้ไปรับหรือพาผู้เสียหายมาจากบ้านเลย เช่นนี้จำเลยจะมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์หรือไม่ ?

ปัญหานี้นักกฎหมายมีความเห็นเป็นสองแนวทางด้วยกัน

โดยแนวทางแรกเห็นว่า เพียงการชักชวนให้เด็กมาหาตนเอง จนเด็กใจอ่อนยอมมาหาตนเอง นั้นไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ เพราะจำเลยไม่ได้กระทำการใดอันถือว่าเป็นการ “พราก”

ทั้งนี้เป็นการตีความคำว่า “พราก” โดยอ้างอิงตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานที่ให้คำนิยามคำว่า” พราก”  หมายถึง ต้องมีการกระทำที่เป็นการพาไป หรือแยกออกจากกันหรือเอาออกจากกัน เช่นการใช้แรงฉุดดึงไป  การขับรถไปรับ เป็นต้น ดังนั้นการพรากผู้เยาว์ จึงต้องมีการกระทำทางกายภาพประกอบอยู่ด้วย เพียงการพูดคุยชักชวนจนเด็กมาหาเอง ไม่ถือเป็นการพรากผู้เยาว์

 ซึ่งตัวอย่างคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่มีความเห็นทำนองนี้ เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11196/2555

การที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่ 1 ยอมออกจากบ้านมาหาจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการพรากผู้เยาว์แล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการพรากเป็นคนละอย่างกับการพูดชักชวนและการพรากมีความหมายคนละอย่างกับการพูดและไม่ใช่การพูด หากจำเลยพูดแต่ไม่ได้พรากหรือพาผู้เสียหายไปจำเลยย่อมไม่ผิดฐานพรากผู้เยาว์ เพราะการพรากผู้เยาว์จะต้องมีการกระทำที่ยิ่งกว่าการพูดชักชวน เนื่องจากการพูดชักชวนเด็กหรือผู้เยาว์ตัดสินใจไม่ไปตามที่พูดชักชวนได้ จนกว่าจะมีการพาเด็กหรือผู้เยาว์ไปตามทิศทางที่พูดชักชวนไว้ จึงจะมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ได้ สอดคล้องกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานที่ให้คำนิยามคำว่า พราก หมายถึง ต้องมีการกระทำที่พาไป ข้อเท็จจริงได้ความเพียงจำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่ 1 ใจอ่อนยอมมาหาจำเลยเองโดยจำเลยไม่ได้ไปรับหรือพาผู้เสียหายที่ 1 ออกมาจากบ้าน การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3152/2543

คำว่า “พราก” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายว่า จากไป พาเอาไปเสียจาก แยกออกจากกันหรือเอาออกจากกัน ดังนั้น คำว่า “พราก” จึงหมายความว่า พาไปหรือแยกเด็กออกไปจากความปกครองดูแล  การที่จำเลยจูงเด็กหญิง ส. เข้าไปในห้องโดยมิได้ใช้แรงฉุด แล้วให้นั่งรออยู่คนเดียวประมาณ 20 นาที ระหว่างนั้นเด็กหญิง ส. สามารถที่จะกลับบ้านได้และเด็กหญิง ส. เคยไปนั่งเล่นในห้องนอนจำเลยบ่อย ๆ พฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะส่อแสดงให้เห็นว่า การที่เด็กหญิง ส. เข้าไปในห้องนอนจำเลยและอยู่ในห้องนอนจำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นเวลานานนั้นเป็นไปด้วยความเต็มใจของเด็กหญิง ส. เนื่องจากเด็กหญิง ส. ชอบพอจำเลยมากกว่าที่จะถูกชักชวนและจูงจากจำเลยเพราะเด็กหญิง ส. สามารถที่จะไม่ไปตามที่จำเลยจูงก็ได้เนื่องจากจำเลยมิได้ใช้กำลังและสามารถที่จะกลับบ้านตนเองได้ระหว่างที่อยู่คนเดียว เนื่องจากไม่มีอะไรมาขัดขวางการกระทำของจำเลยจึงยังไม่เข้าลักษณะพาไปหรือแยกเด็กไปจากความปกครองดูแลของมารดาเด็ก อันทำให้ความปกครองดูแลของมารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน จึงไม่เป็นการพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี

ส่วนอีกแนวทางหนึ่ง มีความเห็นว่า  คำว่า “พราก” ตามประมวลกฎหมายอาญา นั้นมีหมายความว่า “การพาไปหรือแยกเด็กออกจากความปกครองดูแล ทั้งนี้ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม”

ดังนั้นการพรากผู้เยาว์จึง ไม่จำเป็นต้องมีการใช้กำลังหรือวิธีทางกายภาพ เช่นการฉุดดึง หรือขับรถไปรับ เพียงแค่ชักชวนแนะนำเด็กให้ไปกับจำเลยโดยมิได้หลอกลวงใดๆและเด็กเต็มใจไปด้วยก็เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์แล้ว

ซึ่งตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยทำนองนี้ เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 198/2554

คำว่า พราก หมายความว่า พาไปหรือแยกออกจากความปกครองดูแลจะกระทำโดยวิธีใดก็ได้ไม่มีข้อจำกัด ไม่ต้องใช้กำลังหรืออุบาย แม้จะชักชวนแนะนำเด็กให้ไปด้วยโดยมิได้หลอกลวงและเด็กเต็มใจไปก็เป็นความผิด โดยมิได้ต้องมีการติดตามตัวผู้เสียหายก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2858/2540

องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ.มาตรา 317 คือการพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล คำว่า “พราก”หมายความว่า พาไปหรือแยกเด็กออกจากความปกครองดูแล แม้จะชักชวนแนะนำเด็กให้ไปกับผู้กระทำโดยมิได้หลอกลวงและเด็กเต็มใจไปด้วย ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้

สำหรับตัวผู้เขียนเองแล้ว มีความเห็นว่า หลักการตีความกฎหมายอาญานั้น จะต้องตีความโดยเคร่งครัด แต่หากการตีความอย่างเคร่งครัดตามตัวอักษรนั้นจะทำให้เกิดผลประหลาด หรือถ้อยคำในตัวบทกฎหมายนั้นยังไม่ชัดเจน ก็จะต้องตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นประกอบด้วย  มิใช่ว่ากฎหมายอาญาจะตีความตามลายลักษณ์อักษรแต่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ เพียงแต่ตีความเจตนารมณ์ของกฎหมายอาญานั้นจะต้องตีความอย่างเคร่งครัดในวงจำกัดที่สุด

ซึ่งหลักการตีความตามลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัดนั้น หมายถึงกรณีถ้อยคำตามตัวบทกฎหมายชัดเจนอยู่แล้วไม่มีทางจะตีความเป็นอย่างอื่นได้ ก็มิอาจอ้างเจตนารมณ์ของกฎหมายมาเพื่อแสดงว่าจำเลยมีความผิดอันฝ่าฝืนต่อถ้อยคำตามกฎหมายที่ชัดแจ้งนั้นได้ แต่ในกรณีที่ถ้อยคำในกฎหมายนั้นยังมีข้อสงสัยอยู่ ศาลย่อมมีอำนาจตีความถ้อยคำในกฎหมายนั้นโดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นประกอบด้วย เพียงแต่จะต้องตีความอย่างเคร่งครัดที่สุดเช่นกัน

ดังนั้นหลักการตีความตามลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัดในคดีอาญานั้น จึงมิได้หมายความว่าศาลจะต้องตีความถ้อยคำในตัวบทกฎหมายตามพจนานุกรมอย่างเคร่งครัดแต่อย่างใด เพราะหากพิจารณาถ้อยคำในตัวบทกฎหมายนั้นแล้วยังมีข้อน่าสงสัยว่าถ้อยคำนั้นมีความหมายเช่นใด หรือถ้าหากว่าการตีความถ้อยคำในตัวบทกฎหมายตามพจนานุกรมอย่างเคร่งครัดจะก่อให้เกิดผลประหลาด ศาลย่อมมีอำนาจตีความกฎหมายโดยอาศัยเจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบด้วยได้

ซึ่งบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 – 319 นั้นมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดาและผู้ปกครองของเด็ก มิให้ผู้ใดมาล่วงละเมิดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆก็ตาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการป้องกันมิให้บุคคลใดพาเด็กซึ่งอยู่ในอำนาจปกครองหรือการดูแลของบิดามารดาหรือผู้กครองไปยังสถานที่อื่นหรือเพื่อกระทำการใด โดยไม่ได้รับอนุญาตก่อน

ซึ่งคำว่า “พราก” ในประมวลกฎหมายอาญามาตราดังกล่าว มิได้บัญญัติไว้เพื่อให้เข้าใจหรือสื่อถึงการกระทำทางกายภาพ แต่คำว่า “พราก” ในประมวลกฎหมายอาญามาตราดังกล่าว ต้องการสื่อถึงการกระทำใดๆก็ตาม ที่เป็นการแยกตัวเด็กออกจากการใช้อำนาจปกครองของบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆก็ตาม  ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาหว่านล้อม ชักชวน ใช้อุบายหลอกลวง หรือใช้กำลังประทุษร้าย

ดังนั้นตามความเห็นของผู้เขียน จึงมีเห็นพ้องด้วยกับแนวความคิดที่สอง คือ ว่าคำว่า “พราก” ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317-319 หมายถึงการพาไปหรือแยกเด็กออกจากความปกครองดูแล ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม การพรากผู้เยาว์จึง ไม่จำเป็นต้องมีการใช้กำลังหรือวิธีทางกายภาพ เช่นการฉุดดึง หรือขับรถไปรับ ดังนั้นเพียงแค่ชักชวนหว่านล้อจนเด็กใจอ่อน ยอมไปกับจำเลยโดยมิได้หลอกลวงใดๆและเด็กเต็มใจไปด้วยก็เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์แล้ว

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น