อาชีพทนายความเป็นการประกอบธุรกิจเพื่อแสวงหาผลกำไรอย่างหนึ่ง
แต่การประกอบธุรกิจของทนายความ ไม่ได้มุ่งแสวงหาผลกำไรอย่างเดียว แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของจรรยาบรรณทางวิชาชีพและช่วยจรรโลงความเป็นธรรมให้สังคมด้วย
แต่ในขณะเดียวกัน ในแง่ธุรกิจทนายความก็ต้องหารายได้และผลกำไรให้เพียงพอกับการเลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมทั้งสามารถทำให้ตนเองและครอบครัวมีความเจริญก้าวหน้าตามสมควร
เมื่ออาชีพทนายความถือได้เป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง การนำเอาเทคโนโลยีต่างๆมาปรับใช้เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพและความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะลำพังเพียงการทำงานแบบเดิมๆอาจจะไม่เพียงพอกับโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก ซึ่งเทคโนโลยีต่างๆหากเรารู้จักปรับใช้ก็จะก่อให้เกิดความสะดวกสบายและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานกับเรา
ในวันนี้ ผู้เขียนจึงขอแนะนำแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานให้กับทนายความ ซึ่งแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ผู้เขียนใช้งานอยู่เป็นประจำและทำให้ชีวิตการทำงานของผู้เขียนง่ายขึ้น ดังนี้ครับ
1.LawField (ใช้ได้ทั้ง android และ ios)
แอพตัวนี้สามารถช่วยคำนวณค่าธรรมเนียมศาล คำนวณดอกเบี้ยก่อนฟ้องคดี คำนวณระยะห่างของวัน (กรณีนับวันครบกำหนดยื่นคำให้การ ครบกำหนดอุทธรณ์ ฎีกา หรือกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายอื่นๆ) ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับทนายความและนักกฎหมายหลายๆท่าน รวมทั้งตัวผู้เขียนเอง ซึ่งไม่ค่อยจะถนัดเรื่องตัวเลขกันสักเท่าไหร่ ถือเป็นแอพซึ่งมีประโยชน์มากๆที่ทนายความควรมีติดเครื่องไว้และต้องขอบคุณผู้พัฒนาแอพที่ทำมาให้ใช้กันฟรีๆครับ
2.Google เอกสาร (ใช้ได้ทั้ง android และ ios)
แอพตัวนี้เป็นแอพที่ใช้พิมพ์งานคล้ายๆกับโปรแกรม word แอพตัวนี้สามารถใช้ได้ทั้งในมือถือ และเชื่อมต่อการทำงานไปยังคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค หรือแทบเลตได้ โดยไม่ต้องรับส่งไฟล์ไปๆมาๆ เพราะไฟล์จะบันทึกในระบบคลาวน์ของ google โดยอัตโนมัติ ความสามารถเด่นของแอพพลิเคชั่นนี้มีสองอย่าง คือ “การพูดแล้วพิมพ์” ซึ่งสามารถทำได้ทั้งในมือถือ เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือแทบเลต ซึ่งผู้เขียนใช้งานความสามารถนี้เป็นประจำในการทำงาน ซึ่งพบว่า ระบบพูดแล้วพิมพ์ของ google เอกสาร ถูกต้องมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แม้กระทั่งคำยากๆหรือศัพท์ทางกฎหมายก็พิมพ์ถูกหมด ทำให้ทำการทำงานสะดวกมากๆ เวลาร่างฟ้อง คำให้การ ทำอุทธรณ์ ทำฎีกา ไม่ต้องมานั่งพิมพ์ยาวๆ แค่พูดมันก็พิมพ์ให้ เราแค่มาตรวจดูคำถูกผิดอีกนิดหน่อยเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น แอพนี้ยังมีความสามารถ “แปลงภาพเป็นตัวอักษร” จากหนังสือจากกระดาษ หรือไฟล์ pdf หรือรูปถ่าย โดยที่เราไม่ต้องมานั่งพิมพ์ข้อความในเอกสารนั้นเอง ผ่านการทำงานร่วมกับแอพ google drive ซึ่งสะดวกมากในการทำอุทธรณ์ ฎีกา ต่างๆ เพราะไม่ต้องมานั่งลอกเนื้อหาในอุทธรณ์หรือฎีกา แค่ถ่ายรูปหรือแสกนเท่านั้น ก็สามารถแปลงมาเป็นตัวอักษรใส่ google เอกสารได้ จากนั้นเราก็ค่อย copy เนื้อหาจาก google เอกสารเข้าสู่แบบฟอร์มศาลใน word ต่อไป
ที่สำคัญการพิมพ์งานใน google เอกสาร ยังทำให้เราสามารถตรวจเนื้อหางานและแก้ไขงานได้ ทั้งในมือถือ แทบเลต คอมพิวเตอร์ ทำให้เราทำงานได้ในทุกๆที่ ว่างๆก็สามารถนั่งตรวจคำฟ้อง คำให้การ อุทธรณ์ ฎีกา ที่เราร่างไว้และทำการรับส่งให้กับบุคคลอื่นหรือร่วมกันแก้ไขเอกสารกับบุคคลอื่นได้ทันที ถือเป็นแอพที่ทนายความยุคใหม่จะต้องหัดใช้ให้เป็นเลยครับ
ดูรายละเอียดวิธีการใช้ความสามารถในการแปลงภาพเป็นอักษรของแอพนี้ได้ที่
https://www.youtube.com/watch?v=3VJwCHtjXLA
ใช้แอพพลิเคชั่นนี้ในคอมพิวเตอร์หรือแทบเลตได้ที่
https://www.google.com/intl/th_th/docs/about/
3.Lawphin (ใช้ได้ทั้ง android และ ios)
แอพหาฎีกาและรวบรวมประมวลกฎหมายที่ทนายความหลายคนน่าจะรู้จักอยู่แล้ว ใช้ได้ทั้งในมือถือ และคอมพิวเตอร์ ระบบการค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลปกครองรวมทั้งความเห็นของกฤษฎีกา ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับแอพพลิเคชั่นหาฎีกาอื่นๆ รวมทั้งมีการรวบรวมประมวลกฎหมายที่อัพเดทล่าสุดตลอดเวลา สามารถมาร์กถ้อยคำในประมวลกฎหมาย บันทึกโน๊ตในประมวลกฎหมาย และบันทึกฎีกาที่น่าสนใจไว้ได้ด้วย แต่ถ้าจะใช้ฟีทเจอร์ที่มีความสามารถสูงๆ จะต้องสมัครสมาชิกและมีค่าสมาชิกรายปีครับ
4.Landmaps (ใช้ได้ทั้ง android และ ios)
แอพพลิเคชั่นตัวนี้เป็นของกรมที่ดินใช้สำหรับตรวจสอบรูปแปลงที่ดินและสถานที่ตั้งของที่ดินโดยเมื่อเรากรอกเลขที่โฉนดตำบลและอำเภอของโฉนดไปแล้วจะแสดงตำแหน่งแผนที่ของโฉนดทีดินแปลงนั้น รวมทั้งสามารถตั้ง GPS ผ่านทางแอพ google map เพื่อหาเส้นทางเดินทางไปที่โฉนดที่ดินหรือตรวจสอบสภาพที่ดินเบื้องต้นภาพทางแอพ google earth ได้เลย เป็นแอพสามัญประจำเครื่องสำหรับทนายความอีกแอพหนึ่งครับ สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งการสำรวจพื้นที่พิพาทและการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ สำหรับการใช้งานในเครื่องคอมพิวเตอร์ สามารถใช้ได้ที่เว็บไซต์ http://dolwms.dol.go.th/tvwebp/
5.Google ปฏิทิน (ใช้ได้ทั้ง android และ ios)
บอกลากันทีกับสมุดนัดความของนักกฎหมาย ที่ทั้งเทอะทะ พกพาลำบาก และถ้าหายขึ้นมา ทนายก็ตายอย่างเดียว เพราะกำหนดนัดหมายต่างๆอยู่ในสมุดนัดความทั้งหมด ทุกวันนี้ผู้เขียนเลิกใช้สมุดนัดความมาได้ 3 ปี แล้ว และผู้เขียนได้ลองใช้แอพปฏิทินต่างๆ มาหลายแอพ แต่แอพที่เสถียรที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุด ก็คือแอพgoogle ปฏิทิน ข้อดีของมัน คือสามารถทำงานต่อเนื่องกับเครื่องคอมพิวเตอร์ และแทบเลตได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ร่วมงานเป็นทีมกับทีมงานที่สำนักงานได้จะได้ทราบว่าในสำนักงานมีนัดคดีความวันไหนบ้าง นอกจากนี้ยังมีระบบแจ้งเตือนก่อนจะถึงนัด ทั้งทางอีเมล์และสมาร์ทโฟน รวมทั้งข้อมูลนัดความซึ่งไม่มีทางจะหายออกไปได้ตราบใดที่คุณยังจำบัญชี Google ของคุณได้ ไม่ว่ามือถือหรือคอมพิวเตอร์คุณจะหาย คุณก็สามารถกู้ตารางงานของคุณคืนได้
6.Scanner pro (เฉพาะ ios) และ camscanner (ใช้ได้ทั้ง android และ ios)
แอพพลิเคชั่นทั้งสองแอพนี้เป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช่ในการสแกนเอกสารให้เป็นไฟล์ PDF ซึ่งสำหรับ Cam Scanner นั้นสามารถใช้ได้ฟรีแต่ก็สามารถเสียเงินซื้อเป็นตัวโปรที่มีความสามารถสูงกว่าได้ ได้ถือว่าเป็นแอปสแกนที่ดีอันดับต้นๆ ที่สามารถใช่ได้ทั้งในแอนดรอยด์และ ios
แต่แอพแสกนที่เหนือกว่า Cam Scanner ก็คือ Scanner Pro ซึ่งสามารถใช้ได้ใน iOS เท่านั้น ข้อดีของ App Scanner Pro ก็คือมันจะจับภาพการสแกนอัตโนมัติไม่ต้องคอยมานั่งกดเป็นรายแผ่นภาพที่สแกนก็คมชัดเหมือนกับใช้เครื่องสแกน สำหรับตัวผู้เขียนทุกวันนี้เวลาอ่านหนังสือต่างๆ โดยใช้วิธีการสแกนหนังสือเข้าสู่แท็บเล็ตและอ่านในแท็บเล็ตเพราะสะดวกต่อการพกพาไปอ่านในสถานที่ต่างๆ ซึ่งก็ใช้แอพพลิเคชั่น Scanner Pro ในการสแกนซึ่งหนังสือประมาณ 300 หน้าใช้เวลาสแกนประมาณครึ่งชั่วโมงก็เสร็จเรียบร้อย ถือเป็นแอปที่สะดวกอย่างมากๆครับ
7. Gboard ใช้ได้ทั้ง (ใช้ได้ทั้ง android และ ios)
แอพพลิเคชั่นนี้ทำให้เราสามารถใช้ระบบพูดแล้วพิมพ์ได้ในแอพพลิเคชั่นต่างๆได้ สำหรับทนายความที่ต้องโต้ตอบสื่อสารกับลูกความผ่าน Application LINE หรือ Messenger เป็นประจำ Application นี้มีความสะดวกมาก และระบบการพิมพ์มีความเสถียรที่สุด แม้กระทั่งระบบพูดแล้วพิมพ์ของ iphone ก็สู้ของ g board ไม่ได้ครับ
8.One Drive (ใช้ได้ทั้ง android และ ios)
แอพคลาวน์เก็บข้อมูลตัวนี้ พัฒนาโดยบริษัทไมโครซอฟท์ ผู้เขียนใช้แอพนี้สำหรับเก็บงานต่างๆของผู้เขียนทั้งหมด เช่นแบบฟอร์มศาล รวมทั้งคลังข้อมูล เช่นคดีที่เสร็จสิ้นแล้ว ตัวอย่างงาน หนังสือ e-book รูปภาพ วีดีโอต่างๆ ซึ่งข้อดีของมันคือ เราสามารถเปิดอ่านเอกสารและข้อมูลต่างๆรวมทั้งทำการแก้ได้ตลอดเวลา ใช้ได้ทั้ง android และ iosทั้งในมือถือ แทบเลต โน๊ตบุ๊ค และคอมพิวเตอร์ เครื่องไหนก็ได้ เพียงแค่มี id และ password นอกจากนี้ ข้อมูลจะไม่มีทางหายไปได้เลย ถึงแม้มือถือคอมพิวเตอร์ของคุณจะหายหรือพัง ซึ่งแอพตัวนี้ให้ที่เก็บข้อมูลฟรีมาค่อนข้างมากและเพียงพอสำหรับการใช้งานของทนายความที่ไม่ได้เก็บรูปถ่ายหรือวิดีโอเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว
9.Call Recorder (เฉพาะ android)
มันคือแอพบันทึกเสียงการคุยโทรศัพท์นั่นเอง แอพพลิเคชั่นนี้จะบันทึกเสียงการสนทนาผ่านทางโทรศัพท์ให้เราโดยอัตโนมัติซึ่งมีความจำเป็นมากในหลายๆกรณี เช่น ลูกหนี้หรือฝ่ายตรงข้ามโทรมายอมรับผิดหรือยอมรับสารภาพกับเรา หรือเราได้มีการสนทนาอะไรกับใครซึ่งอาจจะต้องใช้เป็นพยานหลักฐานภายหลังได้ ทุกการสนทนาของเราจะมีบันทึกไว้เป็นหลักฐานตลอดโดยอัตโนมัติ แอพนี้ใช้ได้ฟรี แต่สามารถเสียเงินซื้อตัวโปรที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าได้ แต่แอพพลิเคชั่นนี้ใช้ไม่ได้ใน iOS หรือมือถือ iPhone เนื่องจากขัดกับนโยบายความเป็นส่วนตัวของ iPhone ครับ
10.Dbd E Sercives (ใช้ได้ทั้ง android และ ios)
ใช้สำหรับเช็คข้อมูลของห้างหุ้นส่วนและบริษัทต่างๆมีประโยชน์อย่างมากสำหรับทนายความในการตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลเบื้องต้นว่าบริษัทต่างๆมีตัวตนจริงหรือไม่มีใครเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกรรมการ สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาตั้งอยู่ที่ไหนมีทุนจดทะเบียนเท่าไหร่ โดยไม่ต้องเดินทางไปคัดที่สำนักงานหุ้นส่วนบริษัท แค่ระบุชื่อหรือเลขหนังสือรับรองบริษัทไปในแอพพลิเคชั่นเท่านั้น ซึ่งข้อมูลต่างๆอัพเดทอยู่เป็นประจำ เป็นแอพที่ต้องมีติดเครื่องไว้อีกแอพหนึ่งสำหรับทนายความครับ
11.Led Property (ใช้ได้ทั้ง android และ ios)
เป็นแอพพลิเคชั่นของกรมบังคับคดี ที่รวบรวมข้อมูลทรัพย์ที่ทำการขายทอดตลาดทั้งหมดไว้ โดยมีรายละเอียดต่างๆของทรัพย์ที่ทำการขายทอดตลาดครบถ้วน เช่น แผนที่ตั้งทรัพย์ ราคาเริ่มขาย กำหนดการขาย รูปทรัพย์ที่ทำการขาย เหมาะสำหรับทนายความสายบังคับคดีครับ
12.Led ABC Moblie app (ใช้ได้ทั้ง android และ ios)
เป็นอีกแอพพลิเคชั่นหนึ่งของกรมบังคับคดี ที่สามารถตรวจเช็คสถานะล้มละลาย และการฟื้นฟูกิจการของบุคคลและนิติบุคคลต่างๆได้ เป็นอีกแอพที่สะดวกและมีประโยชน์มากๆสำหรับทนายความครับ
13.Police Phone (ใช้ได้ทั้ง android และ ios)
เป็นแอพพลิเคชั่นที่รวบรวมเบอร์โทรศัพท์และข้อมูลติดต่อของเจ้าพนักงานตำรวจไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีข้อมูลเฉพาะตำรวจระดับสัญญาบัตรขึ้นไป รวมทั้งยังมีรูปถ่ายของตำรวจและข้อมูลสถานที่ทำงานด้วย บางครั้งแต่ข้อมูลไม่ค่อยอับเดตเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าพอใช้ได้ ใช้สำหรับหาเบอร์โทรของตำรวจคนที่เรามีความจำเป็นต้องติดต่องานด้วย และไม่สามารถหาเบอร์ติดต่อได้ครับ
14.One Note (ใช้ได้ทั้ง android และ ios)
แอพพลิเคชั่นจดบันทึกข้อมูลต่างๆ ซึ่งใช้ได้ฟรี ที่ผู้เขียนเห็นว่าดีที่สุด สามารถจดโน๊ตและเก็บเป็นหมวดหมู่ได้ง่ายได้ สามารถแนบรูปถ่าย และข้อมูลอื่นๆในโน๊ตได้ และเก็บข้อมูลเป็นหมวดหมู่ได้ดี ครับ
15.Phases of the Moon (ใช้ได้ทั้ง android และ ios)
แอพนี้เหมาะสำหรับทนายความคดีอาญา ที่ทำคดีประเภท ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ฆ่าคนตาย ที่จะมีประเด็นในเรื่องแสงสว่างในที่เกิดเหตุอยู่เสมอ แอพพลิเคชั่นนี้จะแสดงว่าวันเกิดเหตุแสงจันทร์มีความสว่างกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถนำมาประกอบสำนวนคดีได้ว่าขณะเกิดเหตุ ที่เกิดเหตุจะมีแสงสว่างเพียงใด
16.Thailand Post Track & Trace (ใช้ได้ทั้ง android และ ios)
แอพสุดท้ายที่ทนายความต้องมีติดเครื่องไว้ เพราะเราต้องทำธุรกรรมเกี่ยวกับไปรษณีย์บ่อยๆ ในการยื่นหนังสือทวงถามหนี้ หรือเอกสารทางกฎหมาย หสามารถตรวจสอบสถานะการส่ง EMS, ลงทะเบียน, โลจิโพสต์ และพัศดุระหว่างประเทศได้ พร้อมกับการแจ้งเตือนอัตโนมัติให้รับทราบว่าสถานะการส่งไปถึงไหนแล้ว
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน หากเพื่อนๆคนไหนมีแอพตัวไหนที่น่าสนใจเพิ่มเติมแนะนำบอกกันมาได้นะครับ ผู้เขียนจะคอยอัพเดทผู้มูลให้ และไว้ว่างๆผู้เขียนจะมาเขียนเรื่องอื่นๆที่น่าสนใจเกี่ยวกับทนายความครับ
อ่านบทความอื่นๆของสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ
บทความเกี่ยวกับกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง คลิก
บทความเกี่ยวกับกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา คลิก
บทความน่ารู้เกี่ยวกับการว่าจ้างทนายความ คลิก