ความแตกต่างการเรียกค่าว่าความ ระหว่าง ทนายความอาชีพ กับ ทนายความแบบฉาบฉวย
เรามักจะพบเห็นว่าบรรดา 18 มงกุฎ ตีนโรงตีนศาล หรือทนายที่ไม่ได้ความหลายคน สามารถเรียกเงินจากผู้มีคดีความได้สูงจนน่าตกใจ แต่ทนายความบางคนที่เป็นคนดีมีฝีมือในการทำงาน กลับเรียกค่าความไม่เป็น จนบางครั้งไม่อาจทนประกอบวิชาชีพทนายความต่อไปได้ต้องหันเหไปประกอบวิชาชีพอื่น
ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะทนายความส่วนมากนั้นถูกปลูกฝังมาว่า การประกอบวิชาชีพทนายความ มิใช่เป็นเพียงการประกอบธุรกิจที่มุ่งหวังแต่เพียงการผลกำไรหรือรายได้สูงๆแต่อย่างเดียว แต่วิชาชีพทนายความยังมีหน้าที่ให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนอย่างถูกต้อง และยังเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมซึ่งมีหน้าตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อให้มีความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมด้วย การเรียกค่าวิชาชีพทนายความจึงควรเรียกแต่พอเหมาะพอควรแก่กรณี มิควรฉวยโอกาสเรียกเงินสูงๆจากผู้มีคดีความที่เดือดร้อนอยู่แล้ว
และที่สำคัญ เมื่อทนายความที่มีจรรยาบรรณเห็นว่าคดีความของตัวความไม่อาจชนะคดีได้ หรือการดำเนินคดีต่อไปจะไม่คุ้มค่า ทนายความก็มีหน้าที่จะต้องให้คำแนะนำอย่างถูกต้องกับลูกความ ไม่ดื้อดึงหรือทำคดีต่อไปจนอาจเกิดความเสียหายกับลูกความ
แต่บรรดา 18 มงกุฎ ตีนโรงตีนศาล หรือ ทนายความบางส่วนที่มิได้มีอุดมการณ์ กลับมิได้คิดเช่นนั้น โดยคนเหล่านี้มีความคิดว่า การประสบความสำเร็จ คือการหาเงินได้เยอะๆ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการไหน ดังนั้นคนพวกนี้จะทำอย่างไรก็ได้ที่จะเรียกเงินจากผู้มีคดีความได้สูงๆ ได้เงินมากๆ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการทำงานแล้ว
คนพวกนี้จึงสามารถทำได้ทุกวิธีการ เพื่อให้ได้เงิน เช่นแอบอ้างว่าสามารถวิ่งเต้นคดีได้ สามารถรับรองผลคดีว่าชนะแน่นอน แจ้งกับลูกความคดีสามารถชนะได้ทั้งๆที่ไม่อาจชนะได้อย่างแน่นอน ตามตื๊อหรือเสนอตัวขอเป็นทนายความให้กับผู้มีคดีความ อวดตนเองว่ามีความสามารถเหนือกว่าคนอื่น ฯลฯ
ดังนั้นการเลือกทนายความ ท่านจึงควรตรวจสอบให้ดีว่า ทนายความของท่าน มีลักษณะการเรียกค่าว่าความแบบทนายความผู้มีวิชาชีพหรือเรียกค่าว่าความในลักษณะแบบฉาบฉวยหวังแต่เพียงผลประโยชน์ เพราะการเลือกทนายความผิด อาจก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อตัวท่านและคดีความของท่านครับ