คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

การฟ้อง-ต่อสู้คดี ข้อหา เอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตาม ป.อ.ม.188 l srisunglaw

ความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารหรือพินัยกรรมของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 มันคืออะไร มีหลักเกณฑ์ในการฟ้องแล้วก็การต่อสู้คดียังไงบ้าง วันนี้เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังครับ

ความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามมาตรา 188 ก็เป็นอีกคดีนึงที่ถูกหยิบยกขึ้นมาฟ้องร้องแล้วก็ต่อสู้คดีกันค่อนข้างบ่อยนะครับ

วันนี้ผมจึงมาอธิบายถึงข้อกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้เข้าใจว่ามีหลักการใช้เป็นยังไง แล้วแนวทางในการฟ้องและต่อสู้คดีประเภทนี้มีหลักเกณฑ์และข้อยกเว้นอะไรบ้างที่เราต้องรู้ วันนี้เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังครับ

อธิบายลักษณะการกระทำความผิดของมาตรา 188

ตัวบทกฎหมายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

เนื้อหาความผิดตามมาตรานี้

มาตรานี้จะมุ่งเน้นคุ้มครองถึงเอกสารและพินัยกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องใช้เป็นพยานหลักฐาน ในการดำเนินคดี

ผู้ใดก็ตามที่ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่ง พินัยกรรมหรือเอกสารของผู้อื่น ในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหาย ทำให้ไม่สามารถใช้เอกสารหรือพินัยกรรมดังกล่าวเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้ ก็จะมีความผิดตามมาตรานี้

ไม่ว่าเนื้อหาในเอกสารหรือพินัยกรรมดังกล่าว จะถูกต้องหรือไม่ สามารถบังคับได้อย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฎ.1472/2565

ลักษณะการกระทำความผิดตามมาตรานี้

 

 

 

 

 

 

 

 

1. ทำให้เสียหาย- ทำลาย -ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์

เช่นการขีดฆ่า ลบ ฉีก เผา โยนทิ้งน้ำ เอาใส่ชักโครก ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้วอาจจะทำลายไม่หมดอ่านแล้วยังเข้าใจได้ เอามาต่อมาเก็บได้ก็ถือว่าเป็นความผิดแล้ว ฎ.3833/2529

2. ซ่อนเร้น – เอาไปเสีย

แอบเอาเอกสารหรือพินัยกรรมของคนอื่นไปซ่อน เอาไปแอบ ย้ายไปจากสถานที่เดิม เพื่อให้คนอื่นหาไม่เจอเอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ฎ.8450/2548

3. เอาไปใช้ผิดประเภท

ผู้เสียหายมอบเอกสารเช่นสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หรือเซ็นเอกสารสัญญาเปล่าไว้ให้ แต่กลับเอาไปใช้ผิดประเภท

– เช่นเขาให้บัตรเอาไว้เติมน้ำมันรถบรรทุกของบริษัทแต่แอบเอาไปเติมน้ำมันรถของตัวเอง ฎ.10025/2557

– เขาให้บัตรประชาชนไว้เพื่อไปทำธุรกรรม แต่ถึงเวลาเอาไปทำธุรกรรมอีกอย่างนึงโดยที่เขาไม่ยินยอม ฎ.21183/2556

– เขาเซ็นมอบอำนาจไว้ให้ไปทำจำนองแต่กลับเอาไปโอนขาย ฎ.2723/2541

4. เอาไปใช้ประโยชน์โดยเขาไม่ยินยอม

– เอาเช็คของคนอื่นไปขึ้นเงิน ฎ.820/2558
– เอาบัตร ATM คนอื่นไปกดเงิน ฎ.9/2543 (มีความผิดฐานลักทรัพย์แล้วก็ความผิดเกี่ยวกับการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ด้วย)
– เข้าใจโดยสุจริตว่าตนเองมีสิทธิยึดถือยึดหน่วงเอกสารดังกล่าว ยังไม่จำเป็นต้องคืนหรือมอบให้กับผู้เสียหาย ฎ.9141/2553 

5. ไปยึดเอาเอกสารของเขาไปโดยที่ไม่มีสิทธิ และไม่คืนให้เขา

– ไปหยิบเอาเอกสารจากคนอื่นโดยที่ตนเองไม่มีสิทธิ์ เขาขอคืนก็ไม่ให้ ฎ.2182/2538

6. ไปหลอกเอาเอกสารจากเขามาแล้วไม่คืนให้เขา

– ไปหลอกขอดูเอกสาร ขอเอาเอกสารไปโดยอ้างว่าเดี๋ยวจะคืนเดี๋ยวจะเอาไปเปลี่ยนใหม่ แล้วไม่คืนให้เขา ฎ.371/2508

– เอาโฉนดไปวางไว้เป็นหลักประกันในการกู้ยืมให้เขา เสร็จแล้วบอกว่าโฉนดสามารถหาคนซื้อได้แล้วขอเอาโฉนดคืนไปชั่วคราวเพื่อไปขายแล้วให้นำเงินมาให้แต่ปรากฏว่าไม่ได้เอาไปขายจริงๆ ฎ.2836/2564

ประเด็นข้อต่อสู้คดีความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตามมาตรา 188

 

 

 

 

 

 

 

 

1.ไม่ใช่เอกสาร

การจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการกระทำต่อเอกสาร หรือพินัยกรรม ที่มีลักษณะสามารถเอาไปใช้เป็นพยานหลักฐานได้

หากลักษณะไม่ใช่เอกสารไม่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ตัวอย่างเช่น

– แบบพิมพ์เช็คที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ ยังไม่มีข้อมูลที่ใช้เป็นเอกสารหลักฐานได้ กระดาษเปล่าหรือแบบฟอร์มเปล่าที่ยังไม่ได้ระบุข้อความใดๆก็เช่นเดียวกัน ฎ.30/2528 ฎ.5674/2544 ฎ.1564/2557

– ภาพถ่ายหรือฟิล์มของภาพถ่าย ไม่ถือว่าเป็นเอกสาร (แต่ก็ต้องดูบริบทด้วยถ้าเป็นภาพถ่ายที่มีรูปข้อความอะไรต่างๆอยู่ก็อาจจะเป็นเอกสารได้ ) ฎ.1209/2522

ถึงไม่ผิดตามมาตรานี้แต่ก็อาจจะผิดฐานลักทรัพย์หรือทำให้เสียทรัพย์แล้วแต่กรณีได้ ว่าเอาไปทำอะไร

2.ตนเองเป็น “เจ้าของ” หรือเป็น “เจ้าของร่วม” ในเอกสารด้วย

การจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ เอกสารดังกล่าวจะต้องเป็นเอกสารของผู้อื่นเท่านั้น หากปรากฏว่าผู้กระทำเป็นเจ้าของเสียเองทั้งหมด หรือแม้กระทั่งเพียงเป็นเจ้าของรวมในเอกสารหรือพินัยกรรมดังกล่าวอยู่ด้วยก็ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ตัวอย่างเช่น

ฎ.14460/2556 ที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าหากจำเลยเป็นเจ้าของร่วมในเอกสารดังกล่าวด้วยแล้วถึงแม้จำเลยจะเอาเอกสารดังกล่าวนั้นไปเสียก็ไม่เป็นความผิด โดยไม่ต้องคำนึงว่าใครจะเป็นเจ้าของร่วมในเอกสารดังกล่าวด้วย

ฎ.60/2489 สัญญาเช่าทำกันไว้โดยมีหลายฉบับหรือมีคู่ฉบับ การทำลายต้นฉบับของตนเอง ที่ตนเองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ไม่เป็นความผิด แต่ถ้าไปทำลายคู่ฉบับของคนอื่นถึงจะเป็นความผิด

3.ลักษณะการกระทำไม่น่าจะเกิดความเสียหาย

ถ้าลักษณะการกระทำ ไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายใดๆได้ ทั้งกับตัวผู้อื่นหรือประชาชนทั่วไปก็ไม่เป็นความผิด

ฎ.5164/2547 เอกสารพิพาทนั้นส่วนใหญ่เป็นเอกสารมหาชนซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถไปขอค่าถ่ายตรวจสอบและขอคัดสำเนาได้จากกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์อยู่แล้ว การที่ไม่คืนเอกสารดังกล่าวไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแต่โจทก์หรือลูกค้าของโจทก์

4.ขาดเจตนา

– ทำลายเอกสารโดยไม่รู้ว่าจะต้องเป็นเอกสารที่ต้องใช้เป็นหลักฐานหรือสามารถใช้เป็นหลักฐานได้
– ทำลายเอกสารโดยเข้าใจว่าตนเองมีสิทธิจะทำได้ หรือเข้าใจว่าเป็นของตนเอง
– เข้าใจโดยสุจริตว่าตนเองมีสิทธิยึดถือยึดหน่วงเอกสารดังกล่าว ยังไม่จำเป็นต้องคืนหรือมอบให้กับผู้เสียหาย ฎ.9141/2553

5.เป็นเพียงเรื่องโต้แย้งสิทธิทางแพ่ง

– ฝากเอกสารไว้แล้วถึงเวลาไม่ทวงคืนเป็นเรื่องผิดสัญญาฝากทรัพย์ ไม่ถึงขั้นเป็นความผิดตามมาตรานี้ ฎ.5309/2540

– จำเลยเคยเป็นตัวแทนเคยได้รับเอกสารต่างๆจากผู้เสียหายในการดำเนินกิจการตัวแทน แม้ตอบมามีการถอนเป็นตัวแทนและบอกเลิกสัญญาและจำเลยไม่คืนเอกสารก็ยังเป็นเพียงแค่การโต้แย้งสิทธิทางแพ่งไม่ถึงขั้นเป็นความผิดตามมาตรานี้ ฎ.8450/2548

สรุป

การเข้าใจความผิดตามมาตรา 188 อย่างทะลุปรุโปร่งเนี่ย มันจะทำให้เวลาเกิดคดีความมีคดีความขึ้นเราจะสามารถเอาไปปรับใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์รวมทั้งหากมีความจำเป็นต้องต่อสู้คดีประเภทนี้ก็จะหาแนวทางต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้องครับ

รับชมคลิปขั้นตอนการต่อสู้คดีอาญา

Express your opinion about this article

comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น