คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

เทคนิคการร่างคำให้การในคดีแพ่งแบบเข้าใจง่าย

คำให้การในคดีแพ่งเนี่ยมันจะต้องเขียนยังไง เขียนแบบไหนถึงจะรัดกุม มีประสิทธิภาพในการต่อสู้คดี แล้วเขียนแบบไหนที่ถือว่าแพ้ตั้งแต่ต้น

ไม่มีประเด็นให้นำสืบ มีเทคนิคในการเขียนยังไงบ้างวันนี้เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆครับ

แนะนำตัว

สำหรับเพื่อนๆ ทนายความในการต่อสู้คดีแพ่งสิ่งที่สำคัญมากก็คือคำให้การนะครับเพราะมันคือหัวใจสำคัญในการต่อสู้คดีแพ่ง

และหลายๆคนเนี่ยเวลาจะทำคำให้การ ก็ยังไม่มีความมั่นใจยังไม่รู้จะต้องทำยังไง วันนี้ผมเลยจะมาอธิบายเทคนิคในการทำคำให้การในแบบฉบับของผมเองให้เพื่อนฟังหน่อยเข้าใจง่ายๆครับ

คำให้การคืออะไร

คดีความแพ่งเนี่ยมันจะต้องเริ่มจากการที่มีคนมายื่นฟ้องมากล่าวหาว่าเราทำอะไรไม่ถูกต้อง ทำให้เขาเดือดร้อนเสียหายเป็นการโต้แย้งสิทธิ ต้องการฟ้องบังคับให้เราทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง

คำให้การก็คือข้อเถียงนั่นเองว่าเราไม่ได้ผิด ความจริงแล้วฝ่ายตรงข้ามเป็นฝ่ายผิดหรือเขาไม่มีสิทธิเรียกร้องจากเรา

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

(3) “คำฟ้อง” หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาลไม่ว่าจะได้เสนอด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือ ไม่ว่าจะได้เสนอต่อศาลชั้นต้น หรือชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ไม่ว่าจะได้เสนอในขณะที่เริ่มคดีโดยคำฟ้องหรือคำร้องขอหรือเสนอในภายหลังโดยคำฟ้องเพิ่มเติมหรือแก้ไข หรือฟ้องแย้งหรือโดยสอดเข้ามาในคดีไม่ว่าด้วยสมัครใจ หรือถูกบังคับ หรือโดยมีคำขอให้พิจารณาใหม่

(4) “คำให้การ” หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งยกข้อต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ นอกจากคำแถลงการณ์

ความสำคัญของคำให้การ

1. เป็นการจูงใจทำให้ ผู้พิพากษา รวมทั้งทนายความ หรือฝั่งตรงข้าม เชื่อถือในรูปคดีของเรา

2. เป็นการตั้งประเด็นให้ศาลวินิจฉัยเกิดประเด็นข้อพิพาท เป็นการกำหนดรูปคดีและแนวทางนำสืบทั้งหมด ตามป.วิ.แพ่งมาตรา 85 86 และศาลจะต้องวินิจฉัยตามมาตรา 142

ถ้าไม่ได้ระบุข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จะถามค้าน นำสืบ แสดงพยานหลักฐานหนักแน่นแค่ไหนก็ถือว่ารับฟังไม่ได้ ฎ2742/2546 ฎ.4035/2546

3. สามารถหยิบยกขึ้นอ้างได้ทั้งในชั้นอุทธรณ์ฎีกา

ถ้าไม่ได้ประเด็นข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดมาในคำให้การตั้งแต่แรกจะมากล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ ฎ1908/2546 ฎ1629/2546

ประเด็นที่มักจะหยิบยกมาบ่อยๆในคำให้การคดีแพ่ง

ประเด็นข้อต่อสู้ในคดีแพ่งนั้นมีกว้างขวาง

ทั้งประเด็นเรื่องปัญหาข้อเท็จจริง

ปัญหาข้อกฎหมายทั้งที่มีอยู่ในกฎหมายสารบัญญัติ หรือกฎหมายสบัญัติวิธีพิจารณาความ

– ไม่มีอำนาจฟ้อง / ไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิ
– การมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
– ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
– ฟ้องเคลือบคลุม
– ความไม่สมบูรณ์ของนิติกรรม เป็นโมฆะ โมฆียะ ไม่ได้ทำให้ถูกต้องตามแบบ
– โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง
– ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา
– สัญญาเลิกกันแล้ว
– ไม่ได้เป็นฝ่ายทำละเมิด ไม่ได้เป็นฝ่ายประมาท
– เอกสารปลอม ลายมือชื่อปลอม
– ได้สิทธิแล้วด้วยการครอบครองปรปักษ์
– อายุความ
– ฟ้องซ้ำ ฟ้องซ้อน
– มีข้อยกเว้นความรับผิด

หลักการบรรยายคำให้การ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น

ลักษณะของการเขียนคำให้การต่อสู้คดี

– เขียนคำให้การที่เป็นการปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์

– เขียนคำให้การที่เป็นการยกข้อต่อสู้ของจำเลย.

– การอธิบายเรื่องราวเพื่อให้เข้าใจประเด็น หรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันกับประเด็นทำให้อธิบายประเด็นได้ชัดเจน

– การให้การ”ตัดฟ้อง “ ด้วยเหตุผลในส่วนกฎหมายวิธีสบัญญัติ เช่น ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องซ้ำ หรือฟ้องซ้อน

– การแนบเอกสารประกอบท้ายคำให้การ ฎ.1012/2485

– การอ้างข้อกฎหมายประกอบคำให้การ

ถึงแม้จะไม่บรรยายศาลก็หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้บรรยายแต่ข้อเท็จจริงก็ได้แต่ทางปฏิบัติก็ควรหยิบยกอ้างข้อกฎหมายเข้าไปด้วยเพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจคำให้การ ฎ1120/2459

– ควรแบ่งเป็นข้อๆเพื่อความสะดวกในการอ่านการทำความเข้าใจ และการอ้างถึงในชั้นสืบพยานหรือชั้นอุทธรณ์ฎีกา

ข้อระมัดระวังในการทำคำให้การ

1. ไม่ปฏิเสธถือว่ารับ

ตัวอย่างเช่น

– ถูกฟ้องถอนคืนการให้ด้วยเหตุ 2 ประการ คือสาเหตุว่าบอกปัดไม่ให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตในขณะที่สามารถให้ได้ กับกล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาทฝ่ายโจทก์ด้วยถ้อยคำอันร้ายแรง จำเลยให้การในประเด็นเดียวไม่ได้ปฏิเสธในประเด็นว่าด่า แบบนี้ถือว่ายอมรับข้อเท็จจริงว่ามีการด่าจริง ฎ4037/2546
– ถูกฟ้องว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ให้การต่อสู้เพียงว่าจำเลยไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จริงหรือไม่ ถือว่ารับแล้ว ว่าฝ่ายโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ ฎ.9523/2544

– เรื่องดอกเบี้ยไม่ให้การปฏิเสธว่ามีการชำระดอกเบี้ยไปแล้วบางส่วน ถือว่ารับเรื่องดอกเบี้ยทั้งหมด ฎ5842/2544

2. คำให้การปฏิเสธที่ไม่ชัดแจ้ง ถือเป็นคำให้การเคลือบคลุม ถือว่ารับเช่นเดียวกัน

– คำให้การทำนองว่า ไม่ทราบ ไม่รับรอง ไม่ยืนยัน ถือว่าปฏิเสธไม่ชัดเจนทั้งหมด ถ้าจะปฏิเสธว่าไม่ใช่ก็ต้องบอกไม่ใช่ไปเลย ฎ.3735/2531

– ให้การว่าเอกสารปลอมแต่ไม่บอกว่าปลอมยังไง เช่นลายมือชื่อ ปลอมทั้งฉบับหรือปลอมบางส่วน มีการแก้ไขข้อความ ถือว่าไม่มีประเด็นว่าเอกสารปลอม ฎ.2911/2537

– ให้การว่าคดีขาดอายุความ แต่ไม่บอกว่าอายุความมีกำหนดเท่าไหร่ นับตั้งแต่วันไหนถึงแต่วันไหน ฎ1801/2539 ฎ.3370/2541

– อ้างว่าฝ่ายตรงข้ามไม่สุจริตแต่ไม่ได้บอกว่าไม่สุจริตยังไง หรือฝ่ายตรงข้ามทุจริตฉ้อฉลหรือฝ่ายตรงข้ามทุจริตฉ้อฉล แต่ไม่อธิบายว่าทุจริตฉ้อฉลอย่างไร ฎ.2482/2531 ฎ1375/546
– อ้างว่าฝ่ายโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่ไม่อธิบายให้ชัดเจนว่าฝ่ายโจทก์ผิดสัญญาแบบไหน ถือว่าไม่มีประเด็น ฎ.3778/2533

– อธิบายว่าโจทก์ใช้กลฉ้อฉลให้สำคัญผิดให้ทำสัญญา จะไม่อธิบายเหตุว่าถูกฉ้อฉลแบบไหน ถือว่าไม่มีประเด็น ฎ.1077/2534

3. คำให้การปฏิเสธที่ขัดกันเอง เป็นไปได้สองทางไม่ได้พร้อมกัน ถือว่ารับ

ตัวอย่างเช่น

– ปฏิเสธว่าไม่ได้กู้ยืมเงินแต่หากกู้ยืมเงินจริงก็ใช้ไปหมดแล้ว หรือให้การปฏิเสธในทำนองว่าไม่ได้เป็นหนี้จริงหรือหากเป็นหนี้จริงก็ใช้หมดแล้ว ฎ.2631/2536 ฎ.3238/2533
– ปฏิเสธว่าไม่ได้ลงลายมือชื่อเอกสาร แต่ก็ปฏิเสธว่าข้อความเอกสารเกิดขึ้นเพราะถูกหลอกลวง อ่านแล้วก็งงๆว่าสรุปแล้วลงหรือไม่ได้ลงชื่อกันแน่ ถือว่าเป็นคำให้การที่ขัดกันเอง ฎ.588/2553 ฎ.1843/2531
– ให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของตัวเอง แล้วมาให้การต่อไปว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ฎ.8404/2544

4. คำให้การปฏิเสธที่ไม่มีเหตุผล รายละเอียดแห่งการให้การปฏิเสธ

ถ้าปฏิเสธถึงขั้นชัดแจ้ง ยังถือว่าปฏิเสธ ฝ่ายโจทก์ยังมีหน้าที่นำสืบ

แต่ฝ่ายจำเลยไม่มีสิทธินำสืบเหตุปฏิเสธ แม้เอาพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นดังกล่าวก็รับฟังไม่ได้

ตัวอย่างเช่น

– ฝ่ายโจทก์อ้างว่าจำเลยขายที่ดินให้ จำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้ขายแต่ไม่ได้ให้รายละเอียดแห่งการปฏิเสธ เช่นนี้จำเลยจะไปนำสืบว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์แล้วเอาที่ดินมอบให้ทำกินแทนดอกเบี้ยไม่ได้ ฎ.5522/2537

– ให้การปฏิเสธว่าไม่ต้องรับผิด แต่ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่ามีการชดใช้ช่วยเหลือเงินไปบางส่วนแล้ว จะนำสืบในประเด็นว่ามีการชดใช้ค่าเสียหายไปแล้วบางส่วนไม่ได้ ฎ.7251/2544

ฎ.1024/2546 ฎ.1498-1499/2508 ฎ98/2494

ขั้นตอนในการทำคำให้การ

1. อ่านคำฟ้องโดยละเอียด

2. สอบข้อเท็จจริงจากลูกความ – รวบรวมพยานหลักฐาน

3. ค้นคว้าข้อกฎหมาย

4. ลงมือร่างคำให้การ

– ร่างคำให้การในส่วนปฏิเสธคำฟ้องก่อน

– ประเด็นไหนที่รับได้ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิเสธหมด

– ยกคำให้การในส่วนที่เป็นยกประเด็นขึ้นสู้

– ยกเอาข้อเท็จจริงที่จะประกอบประเด็นข้อต่อสู้เข้าใส่เพิ่มเติม

5. คำขอท้ายคำให้การ

– การฟ้องแย้ง
– ขอให้เรียกบุคคลอื่นเข้ามาเป็นคู่ความร่วม

6. การส่งตรวจสอบทาน

ส่งให้ลูกความตรวจ

กำหนดประเด็นการเพิ่มหรือแก้ไข ตามความต้องการของลูกความ.

เก็บไว้สัก 2-3 วันกลับมาดูใหม่

ลองอ่านเอกสารคำฟ้องและเอกสารประกอบอื่นๆอีกสัก 1-2 รอบก่อนยื่น

Express your opinion about this article

comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น