ของกลางที่ถูกยึดไว้ในคดีอาญาเนี่ยเราสามารถขอคืนได้ไหม ? มีหลักเกณฑ์ยังไง วันนี้เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังถึงเรื่องข้อกฎหมายและทางปฏิบัติให้ฟังแบบละเอียดและเข้าใจง่ายๆครับ
หลักทั่วไปเกี่ยวกับการยึดทรัพย์สินของกลางของตำรวจ
ธรรมดาแล้วเมื่อเกิดคดีอาญาขึ้นเนี่ยพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาก็มีอำนาจหน้าที่ในการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อใช้ประกอบสำนวนเพื่อค้นคว้าหาความจริงในคดีนะครับ
และเมื่อเขาเจอสิ่งของอะไรก็ตามที่น่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้เขาก็มีอำนาจยึดไว้เพื่อประกอบสำนวนสอบสวนได้ เพื่อประโยชน์ในการสืบหาตัวผู้กระทำความผิด หรือพิสูจน์ความผิดความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาตามป.วิ.อ มาตรา 85 และ มาตรา 132
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 85 เจ้าพนักงานผู้จับหรือรับตัวผู้ถูกจับไว้ มีอำนาจค้นตัวผู้ต้องหา และยึดสิ่งของ
ต่างๆ ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ การค้นนั้นจักต้องทำโดยสุภาพ ถ้าค้นผู้หญิงให้หญิงอื่นเป็นผู้ค้น
สิ่งของใดที่ยึดไว้ เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วก็ให้คืนแก่
ผู้ต้องหาหรือแก่ผู้อื่น ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น
มาตรา 132 เพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมหลักฐาน ให้พนักงาน สอบสวนมีอำนาจดังต่อไปนี้
(2) ค้นเพื่อพบสิ่งของ ซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทำผิด หรือได้ใช้หรือ
สงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำผิด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องปฏิบัติแห่งประมวล
กฎหมายนี้ว่าด้วยค้น
(3) หมายเรียกบุคคลซึ่งครอบครองสิ่งของ ซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ แต่บุคคลที่ถูก
หมายเรียกไม่จำต้องมาเอง เมื่อจัดส่งสิ่งของมาตามหมายแล้ว ให้ถือเสมือนได้ปฏิบัติตามหมาย
(4) ยึดไว้ซึ่งสิ่งของที่ค้นพบหรือส่งมาดั่งกล่าวไว้ในอนุมาตรา (2) และ (3)
ซึ่งสิ่งของที่พนักงานสอบสวนยึดไว้ที่พบบ่อยๆนะครับตัวอย่างเช่น รถยนต์ อาวุธปืน โทรศัพท์มือถือ เงินทองทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งสิ่งของที่เขายึดไว้เนี่ยภาษากฎหมายหรือภาษาชาวบ้านเนี่ย ก็คือ “ของกลาง”
แล้วของกลางเนี่ย ผู้ต้องหาหรือคนที่เป็นเจ้าของเนี่ยจะสามารถขอคืนได้หรือไม่ ? ไปติดตามหาคำตอบได้เลยครับ
ของกลางในคดีอาญามี 2 ประเภท
ธรรมดาแล้วของกลางในคดีอาญาเแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
และของกลางทั้ง 2 ประเภทก็มีหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการขอคืนของการที่แตกต่างกัน
ไปทำความเข้าใจของการในคดีอาญาแต่ละประเภทกันก่อน
1.ของกลางที่ยึดไว้เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานอย่างเดียว
ทรัพย์สินประเภทนี้ เจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแต่เพียงอย่างเดียว
ไม่ได้เป็นสิ่งของที่เป็นความผิดในตัวเอง หรือครอบครองหรือมีไว้เป็นความผิด หรือเป็นสิ่งของที่ใช้ในการกระทำความผิด เพียงแต่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีที่สามารถเอาไปใช้เป็นหลักฐานได้
ตัวอย่างเช่น
– รถยนต์ของผู้เสียหาย
– เอกสารพิพาทต่างๆ
– โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์
– ทรัพย์สินพิพาทในคดี
– รูปถ่าย
ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเนี่ยเขายึดไว้เพื่อประโยชน์ในการสอบสวน หาพยานหลักฐาน ส่งตรวจพิสูจน์ หรือนำเสนอเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล เมื่อเสร็จคดีก็จะต้องคืนให้กับเจ้าของ ไม่ได้ยึดไว้ เพื่อรอให้ศาลสั่งยึด
2.ของกลางที่ยึดไว้เพื่อให้ศาลริบด้วย
ของกลางประเภทนี้นะครับ นอกจากที่พนักงานสอบสวนจะยึดไว้เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานหรือเพื่อนำสืบในชั้นศาลแล้ว ยังเป็นของกลางประเภทที่พนักงานอัยการสามารถขอให้ศาลสั่งริบ ให้ตกเป็นของแผ่นดินได้
ตัวอย่างเช่น
1.สิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด
อาวุธปืนเถื่อน ยาเสพติด ธนบัตรปลอม ไม้หวงห้าม
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 72 ทรัพย์สินใดที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิด และมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
2.สิ่งของที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด
-ปืนที่มีทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแต่ไปใช้ยิงคนตาย
-รถที่ใช้ขับแข่งขันในทางสาธารณะ
-เลื่อยที่ใช้ตัดไม้หวงห้าม
3.สิ่งของที่ได้มาโดยการกระทำความความผิด
ของกลางประเภทนี้นอกจากจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแล้ว เมื่อมีการฟ้องคดีต่อศาลพนักงานอัยการก็จะมีคำขอให้อัยการสั่งริบทรัพย์สินด้วยตาม
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ในการริบทรัพย์สิน นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ
(1) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือ
(2) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิด
เว้นแต่ ทรัพย์สินเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด
ซึ่งหลักเกณฑ์ในการขอคืนของกลาง ทั้ง 2 ประเภทนี้แตกต่างกันดังต่อไปนี้ครับ
ขั้นตอนขอคืนของกลางที่ยึดไว้เป็นพยานหลักฐานอย่างเดียว
สำหรับการขอคืนของกลางที่ตำรวจยึดไว้เป็นพยานหลักฐาน เอาไว้ตรวจสอบ แต่ไม่ได้ยึดไว้เพื่อขอให้ศาลสั่งริบ มีขั้นตอนปฏิบัติตามป.วิ.อาญา มาตรา 85/1 ประกอบกับ กฎกระทรวงกำหนดวิธีการขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์พ.ศ. 2553โดยมีรายละเอียดโดยสังเขป คือ
1.ผู้มีสิทธิขอคืน
ข้อ 1. บุคคลดังต่อไปนี้ มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ได้
(1) เจ้าของหรือผู้มีกรรมสิทธิ์
(2) ผู้ซึ่งมีสิทธิในการใช้ ครอบครอง ยึดหน่วง หรือสิทธิเรียกร้องอื่นตามที่กฎหมายรับรอง รวมถึงผู้เช่าซื้อ ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก หรือผู้จัดการมรดก
2. รายละเอียดในคำร้อง
ข้อ 2 คำร้องต้องมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(1) สิ่งของที่ประสงค์จะขอคืน
(2) เหตุผล ความจำเป็น และความเร่งด่วน ที่ร้องขอคืนสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
(3) ระยะเวลาที่ประสงค์จะนำสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
(4) ผู้ที่จะดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์จากสิ่งของ
(5) สถานที่ที่นำสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
(6) หลักฐานในการแสดงสิทธิตามข้อ 1
3. ขอคืนที่ใคร
ข้อ 3.ในกรณีที่คดีอยู่ในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ให้ยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวน หากสำนวนการสอบสวนได้ส่งไปยังพนักงานอัยการแล้ว ให้ยื่นคำร้องต่อพนักงานอัยการ
4. ดุลยพินิจในการให้คืน
การสั่งคืนสิ่งของจะต้องไม่กระทบถึงการใช้สิ่งของนั้นเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในภายหลัง
ในการพิจารณาคำร้อง ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี คำนึงถึงเหตุ ดังต่อไปนี้
(1) เหตุผล ความจำเป็น และความเร่งด่วนที่ต้องนำสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
(2) ความเสี่ยงภัยหรือเสี่ยงต่อความเสียหาย สูญหาย ถูกทำลาย ปลอม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง ที่อาจเกิดกับสิ่งของที่จะนำไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
(3) ความน่าเชื่อถือของหลักประกัน
(4) ความน่าเชื่อถือของผู้ที่จะนำสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
(5) ระยะเวลาที่จะนำสิ่งของไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์
(6) คำคัดค้านของผู้มีสิทธิยื่นคำร้องตามข้อ 1 วรรคหนึ่ง คำคัดค้านของผู้ต้องหา หรือคำคัดค้านของผู้เสียหาย
(7) พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดี
5. ขอคืนได้ในเวลาไหน
ขอคืนได้ตลอดเวลาเลยตั้งแต่เริ่มทรัพย์สินถูกยึด จนกระทั่งมีการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว
6. ถ้าสั่งไม่คืนต้องทำยังไง
ผู้ยื่นคำร้องมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการไม่อนุญาต
และให้ศาลพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาต ศาลอาจเรียกประกันหรือกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามที่เห็นสมควร คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด
ข้อกฎหมายที่อ้างอิง
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 85/1 ในระหว่างสอบสวน สิ่งของที่เจ้าพนักงานได้ยึดไว้ซึ่งมิใช่ทรัพย์สิน
ที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ถ้ายังไม่ได้นำสืบหรือแสดงเป็นพยานหลักฐาน
ในการพิจารณาคดี เจ้าของหรือผู้ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ อาจยื่นคำร้องต่อ
พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อขอรับสิ่งของนั้นไปดูแลรักษาหรือ
ใช้ประโยชน์โดยไม่มีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก็ได้
การสั่งคืนสิ่งของตามวรรคหนึ่งจะต้องไม่กระทบถึงการใช้สิ่งของนั้นเป็นพยานหลักฐานเพื่อ
พิสูจน์ข้อเท็จจริงในภายหลัง ทั้งนี้ ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมีคำสั่งโดยมิชักช้า โดยอาจเรียกประกันจากผู้ยื่นคำร้องหรือกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดให้บุคคลนั้นปฏิบัติ และหากไม่ปฏิบัติตาม
เงื่อนไขหรือบุคคลดังกล่าวไม่ยอมคืนสิ่งของนั้นเมื่อมีคำสั่งให้คืน ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงาน
อัยการ แล้วแต่กรณี มีอำนาจยึดสิ่งของนั้นกลับคืนและบังคับตามสัญญาประกันเช่นว่านั้นได้ วิธีการ
ยื่นคำร้อง เงื่อนไขและการอนุญาตให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่อนุญาต ผู้ยื่นคำร้องมีสิทธิยื่น
คำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวได้ภายในสามสิบวันนับแต่
วันที่ได้รับแจ้งการไม่อนุญาตและให้ศาลพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับ
อุทธรณ์ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาต ศาลอาจเรียกประกันหรือกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดได้
ตามที่เห็นสมควร คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด
กฎกระทรวงกำหนดวิธีการขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์พ.ศ. 2553
ขั้นตอนขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบ
สำหรับการขอคืนของกลาง ที่พนักงานสอบสวนยึดไว้เพื่อขอให้อัยการมีคำขอให้ศาลสั่งริบ จะยื่นคำร้องได้ต่อเมื่อศาลมีคำสั่งให้ริบแล้ว แต่ถ้าเกิดศาลพิพากษายกฟ้องในคดีนั้น หรือมีคำสั่งไม่ให้ริบทรัพย์ เราก็จะได้รับคืนโดยปริยายอยู่แล้วครับ
สำหรับกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลิบทรัพย์มีขั้นตอนในการขอคืนอยู่ในประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 36 ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 34 ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของแท้จริงว่า ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน แต่คำเสนอของเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด
โดยมีหลักเกณฑ์โดยสังเขปดังนี้
1. จะต้องไม่ใช่เป็นของที่เป็นความผิดในตัวเอง
ขอคืนได้เฉพาะสิ่งของที่ใช้ในการกระทำความ หรือได้มาโดยการกระทำความผิด ส่วนสิ่งของที่ประเภทเป็นความผิดในตัวในเขาคืนไม่ได้
2. คนที่ขอคืนต้องเป็นเจ้าของที่แท้จริง
คนที่จะขอคืนได้เนี่ยจะต้องมีหลักฐานมาแสดงว่าตนเองเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าว ทรัพย์สินดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลย
3. ไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิด
คนที่จะขอคืนเนี่ยจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าจำเลยเอาทรัพย์สินของตนเองเนี่ยไปกระทำความผิดโดยพนักงานหรือตนเองไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดของจำเลยเลย ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้จำเลยเอาไปกระทำความผิด
ดังนั้นในตัวจำเลยเองที่เป็นผู้กระทำความผิดโดยตรงเนี่ยจะมาขอคืนไม่ได้นะครับ
4. ต้องยื่นภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด
5. เมื่อยื่นแล้วศาลก็จะไต่สวนคำร้อง ฟังพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วก็จะมีคำสั่งต่อไป
6. คำสั่งอุทธรณ์ฎีกาได้ตามกฎหมาย
สรุป
ของกลางที่ตำรวจยึดไว้ในคดีอาญาเนี่ย ถ้ามันไม่ใช่สิ่งของที่เป็นความผิดในตัวเองเช่นยาเสพติดปืนเถื่อนสิ่งของผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่แล้วมันก็ขอคืนได้นะครับ
ซึ่งก็แบ่งออกเป็นการขอคืนระหว่างการสอบสวนหรือขอคืนเมื่อศาลมีคำสั่งริบแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าของกลางประเภทนั้นเนี่ยเป็นของกลางประเภทไหน กระบวนการขั้นตอนก็จะแตกต่างกันไปตามที่ผมได้อธิบายให้ฟังก็ลองเอาไปปรับใช้กันดูครับหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆและผู้สนใจ