คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

การขอทุเลาการบังคับคดี ตามปวิแพ่ง ม.231 ข้อกฎหมายและทางปฏิบัติแบบเข้าใจง่าย

แพ้คดีแพ่งแล้ว จะถูกยึดทรัพย์บังคับคดีขับไล่เลยไหม ถ้าจะอุทธรณ์สู้คดีต่อ จะต้องทำยังไงบ้าง วันนี้เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังถึงหลักการทุเลาการบังคับคดีให้ฟังกันแบบเข้าใจง่ายๆ.

ธรรมดาแล้วเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ผลคำพิพากษาก็สามารถใช้บังคับคดีได้โดยทันที ตามหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145

หรือพูดง่ายๆว่าเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินให้ชำระหนี้ โอนทรัพย์สิน ขับไล่ รื้อถอน ตัวโจทก์ก็สามารถดำเนินการบังคับคดีได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอให้คดีถึงที่สุด

ถึงแม้ว่าฝ่ายจำเลยจะยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีอยู่ก็ตาม ฝ่ายที่ชนะคดีก็สามารถบังคับคดีได้เลย เพราะมันมีหลักอยู่ว่าการยื่นอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการบังคับคดีนะครับ ตามปวิพ ม.231 ฎ.376/2511 ฎ.7774/2560

ดังนั้นถ้าหากเราเป็นฝ่ายโจทก์ก็ต้องรู้ข้อกฎหมายตรงนี้นะครับว่าเราสามารถดำเนินการบังคับคดีได้เลย และในหลายๆครั้งการปล่อยให้การบังคับคดีล่าช้าไปก็อาจจะทำให้เราเสียหายภายหลังได้

แต่ถ้าหากเราเป็นฝ่ายจำเลยหากเราอุทธรณ์ต่อสู้คดีต่อ เราก็ต้องเตรียมการขอทุเลาการบังคับคดีไปพร้อมกันด้วยกับการต่อสู้คดีชั้นอุทธรณ์

วันนี้ผมจึงจะมาอธิบายข้อกฎหมายเกี่ยวกับการทุเลาการบังคับคดี ตามหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 231 เทคนิค และทางปฏิบัติต่างๆให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆ แล้วก็ครบถ้วนทุกประเด็นครับ

ข้อกฎหมายและแนวทางปฏิบัติ

ยื่นคำร้องขอทุเลาบังคับคดีตอนไหน

การยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีจะยื่นได้ก็ต่อเมื่อมีการยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาแล้วเท่านั้น

ดังนั้นถ้าเรายังไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ อุทธรณ์ยังไม่เสร็จเราจะไปขอทุเลาการบังคับคดีไม่ได้ครับ  ฎ.24/2519

ทางปฏิบัติควรยื่นไปพร้อมกับอุทธรณ์เลย แต่หากไม่ได้ยื่นไปก็สามารถยื่นภายหลังได้ครับ

แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำครับเพราะอาจจะถูกบังคับคดีไปก่อน และมีความยุ่งยากที่จะมาแก้ไขทีหลัง

คดีไหนบ้างที่ต้องยื่นขอทุเลาการบังคับคดี

เราจะต้องยื่นคำร้องเฉพาะในกรณีที่เราแพ้คดีหรือจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษานะครับ ฎ.6-7/2536

เช่น

1.ถูกบังคับให้ออกจากที่ดินพิพาท

2.ถูกสั่งให้รื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้าง

3.ถูกสั่งให้ชำระหนี้เงิน

4.ถูกสั่งให้โอนทรัพย์สิน เช่นบ้าน ที่ดิน คอนโด หุ้น

5.ถูกสั่งให้แบ่งแยกโฉนดที่ดิน หรือลงชื่อในกรรมสิทธิ์รวม

ทั้งนี้เราสามารถขอทุเลาการบังคับคดีอได้ แม้ว่าฝ่ายโจทก์ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการบังคับคดี ยังไม่ได้ขอส่งคำบังคับยังไม่ได้ขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 25/2498 

คดีที่ไม่จำเป็นต้องยื่นขอทุเลาการบังคับคดี

ในกรณีที่เราชนะคดีเราไม่ต้องขอทุเลาการบังคับคดีอยู่

แต่บางคดีที่เราแพ้คดีก็ไม่จำเป็นต้องขอทุเลาการบังคับคดี เช่น ในกรณีที่คำพิพากษาจะมีผลเมื่อคดีถึงที่สุด

ตัวอย่างเช่น

1.คดีฟ้องหย่า ฎ.2416/2536

2.คดีครอบครองปรปักษ์ ฎ.311/2537

3.การขอให้รับรองบุตร ฎ.1341/2532

แบบนี้ไม่ต้องทุเลาการบังคับคดี เพราะคำพิพากษาของศาลเป็นกรณีพิเศษจะมีผลเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วเท่านั้น ถ้าคดียังไม่ถึงที่สุดยังบังคับคดีตามคำพิพากษาไม่ได้ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทุเลาการบังคับคดี

ขั้นตอนการทำคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี

1.ใช้แบบฟอร์มคำร้อง

การยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีต้องทำเป็นแบบฟอร์มคำร้องต่างหาก จะไปเขียนไว้ในอุทธรณ์ให้ขอทุเลาการบังคับคดีไม่ได้นะครับ ฎ 4304/2534

2.หัวคำร้องใช้ชื่อว่าคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี

3.บรรยายเหตุอันสมควร

การบรรยายคำร้องนั้นกฎหมายวางหลักว่าจะต้องชี้แจงเหตุผลอันสมควรด้วย มิฉะนั้นศาลยกคำร้องได้เลยนะครับ ฎ.490/2519 คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 195/2535

เหตุสมควรที่บรรยายในคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี

1.บรรยายว่าคดีของเรามีโอกาสกลับมาชนะคดีได้

2.บรรยายหากเราถูกบังคับคดีจะเสียหายอย่างไร จะทำให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมยาก

3.อธิบายว่าถึงทุเลาการบังคับคดีฝ่ายตรงข้ามก็ไม่เสียหาย คำสั่งคำร้องศาลฎีกา  51/2498

4.ยินดีวางหลักประกันความเสียหาย

การคัดค้านคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี

คำร้องขอทุเลาการบังคับคดีไม่ใช่คำร้องขอฝ่ายเดียวดังนั้นศาลจะต้องส่งสำเนาคำร้องให้กับฝ่ายตรงข้ามคัดค้านเสมอ คำสั่งคำร้องศาลฎีกา 893/2534

ทางปฏิบัติก็จะให้ระยะเวลาประมาณ 15 วันในการคัดค้าน

ในการคัดค้านคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี เราก็ต้องทำเป็นคำคัดค้านเข้าไปครับ โดยบรรยายเนื้อหาคำคัดค้าน ตรงกันข้ามกับคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีเลย คือ

1.คดีของฝ่ายตรงข้ามไม่มีโอกาสชนะคดี

2.หากไม่ได้บังคับคดีตอนนี้เราจะเสียหาย

3.ถึงบังคับคดีไปก่อนฝ่ายตรงข้ามก็ไม่เสียหาย

4.ฝ่ายตรงข้ามไม่มีหลักประกันเลย

ตัวอย่างคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี

 ตัวอย่างที่ 1 กรณีขับไล่

คดีนี้ศาลที่เคารพโปรดพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารไปออกไปจากบ้านพร้อมที่ดินพิพาท

เนื่องจากปัจจุบันจำเลยอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา และด้วยเนื้อหาคดีของจำเลยมีโอกาสที่จำเลยจะกลับมาชนะคดีได้ตามปรากฏในอุทธรณ์ของจำเลยแล้วนั้น

ซึ่งหากศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีแล้วและจำเลยที่ถูกบังคับคดีขับไล่โดยก่อนหน้านี้ก็จะทำให้ จำเลยได้รับความเดือดร้อนเสียหายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจำเลยพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าวมาเป็นเวลานานแล้วมีทรัพย์สินสิ่งของและมีความผูกพันเกี่ยวกับบ้านหลังดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนมาก การรื้อถอนขนย้ายจะมีโอกาสทำให้บ้านหลังดังกล่าวได้รับความเสียหาย แล้วทำให้จำเลยได้รับความเดือดร้อน ไม่มีที่อยู่อาศัยในระหว่างนี้

ในทางกลับกันระหว่างการดำเนินการในศาลอุทธรณ์ฝ่ายโจทก์ไม่มีความจำเป็นจะต้องพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวและถึงแม้จำเลยจะพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวก็ไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งถ้าศาลมีความประสงค์อยากให้จำเลยวางเงินชำระค่าเสียหายตามสมควรจำเลยก็ยินดีว่าง

ดังนั้นหากได้มีการทุเลาการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไว้ระหว่างคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ก็จะทำให้จำเลยไม่ได้รับความเสียหายและโจทก์ก็ไม่รับความเสียหายเช่นเดียวกันเพราะปัจจุบันโจทก์ยังไม่ได้ใช้บ้านหลังดังกล่าวเป็นที่พักอาศัย

ด้วยเหตุดังจำเลยประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพข้างต้นจึงขอศาลที่เคารพโปรดมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีตามคําพิพากษาของศาลชั้นต้นไว้ก่อนเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาต

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ตัวอย่างที่ 2 กรณีบังคับชำระหนี้เงิน

ข้อ 1.คดีนี้จำเลยได้ยื่นฎีกาต่อศาลแล้ว

ข้อ 2.เนื่องจากคดีนี้จำเลยไม่อาจเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นอุทธรณ์ เพราะยังคลาดเคลื่อนด้วยข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายหลายประการ จำเลยจึงได้ยื่นฎีกาต่อศาลแล้ว และจำเลยมีโอกาสที่จะกลับมาชนะคดีได้ รายละเอียดตามฎีกาของจำเลยในสำนวนของศาลแล้วนั้น

โดยคดีนี้จำเลยเป็นผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจากการนำเงินไปลงทุนกับบริษัทของนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศ โดยมีโจทก์เป็นผู้ประสานงานคนกลางระหว่างจำเลยกับนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก อีกทั้งคดีนี้ก็ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานชัดเจนว่า เงินที่โจทก์โอนให้กับจำเลย เป็นเงินที่โจทก์ได้รับมาจากบริษัทของนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ไม่ใช่เป็นการกู้ยืมเงินดังที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่เป็นการชำระเงินตามข้อตกลงระหว่างจำเลยกับนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก เท่านั้น ซึ่งโจทก์ก็ทราบดีอยู่แล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ก็ปรากฏตามทางนำสืบ และเอกสารหลักฐานของจำเลย ในสำนวนคดีของศาลแล้วนั้น

ดังนั้นหากมีการบังคับคดีกับจำเลยในขณะที่คดีอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกา จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ประกอบกับคดีนี้โจทก์เคยมีการบังคับคดีกับจำเลยมาแล้วครั้งหนึ่ง ก่อนที่จำเลยจะขอพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งก็ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินให้โจทก์บังคับคดีได้อย่างแน่นอน และหากทรัพย์สินของจำเลยจะต้องถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดแล้ว ถ้าหากศาลฎีกาพิพากษากลับ จะทำให้จำเลยเสียหายจากการติดตามเอาทรัพย์สินคืนจากโจทก์ และจะต้องเกิดคดีสาขาตามมาอีกมากมาย อันจะทำให้จำเลยเสียเปรียบ และติดตามเอาทรัพย์คืนได้ยาก

กรณีดังกล่าวจึงเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะทุเลาการบังคับคดีไว้

ข้อ 3.ด้วยเหตุดังจำเลยประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพข้างต้น ผู้ร้องจึงขอศาลที่เคารพได้โปรดมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีนี้ไว้ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาต่อไป เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาต

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ศาลอะไรมีอำนาจสั่ง

ธรรมดาแล้วคำสั่งคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีศาลอุทธรณ์เท่านั้นที่มีอำนาจสั่ง

ถึงแม้ว่าศาลชั้นต้นจะมีอำนาจสั่งรับอุทรณ์หรือไม่รับอุทธรณ์

แต่อำนาจในการสั่งเรื่องการทุเลาบังคับคดีเป็นของศาลอุทธรณ์ไม่ใช่ศาลชั้นต้น ฎ.5141/2531

ยกกรณีมีเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่ง

แต่อย่างไรก็ตามหากมีกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งบังคับคดีไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง เช่น จำเลยอาจจะถูกรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างยากจะทำให้กลับมาใหม่ได้ อาจจะถูกออกจากที่ดินไม่มีที่อยู่

ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับคดีไว้เป็นการชั่วคราวได้ ตามหลักปวิแพ่งมาตรา 231 วรรค2 ประกอบ ฎ.655/2521

แต่จะเป็นการทุเลาไว้เป็นการชั่วคราว ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งเกี่ยวกับการทุเลาการบังคับคดีเท่านั้น

ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตได้อย่างเดียวแต่ถ้าสั่งยกคำร้องเนี่ยจะต้องเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์เท่านั้นนะครับ ฎ.4109/2552

ทางปฏิบัติ

เมื่่อยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีแล้วแต่ศาลอุทธรณ์ยังไม่มีคำสั่ง ศาลชั้นต้นอาจจะมีคำสั่งยังไม่ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ ระหว่างรอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ เหมือนเป็นการทุเลาการบังคับคดีแบบกลายๆครับ

คำสั่งจะออกมาในรูปแบบไหน

ธรรมดาแล้วเวลาศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับคดี ศาลมักจะสั่งให้มีการวางหลักประกันป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับฝ่ายตรงข้ามเช่น

  1. วางเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย มีกำหนด 1 หรือ 2 ปี
  2. หาทรัพย์สินมาวางค้ำประกัน
  3. วางเงินหรือทรัพย์สินประกันความเสียหายตามที่ศาลเห็นสมควร

ทางปฏิบัติ

เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งแล้วศาลชั้นต้นจะเรียกคู่ความทุกฝ่ายมาพิจารณาหลักประกัน และกำหนดระยะเวลาในการวางหลักประกัน หากไม่มีการวางภายในเวลาที่ศาลกำหนดก็จะยกคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี แต่ถ้ามีการวางก็จะถือว่าการทุเลาการบังคับคดีมีผลใช้บังคับได้

เมื่อศาลสั่งแล้วฎีกาต่อได้ไหม

ตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาเนี่ย คำสั่งเกี่ยวกับการทุเลาการบังคับคดีเป็นอำนาจเฉพาะตัวของศาลนั้น

เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอย่างไรแล้วไม่สามารถโต้แย้งคัดค้านหรือยื่นฎีกาต่อไปได้ครับ  ฎ.759/2521 ฎ.2164/2532 ฎ.2033/2552

ดังนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยังไงเกี่ยวกับการทุเลาการบังคับคดี ตัวอย่างเช่น

  1. อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ทุเลาการบังคับคดี
  2. กำหนดจำนวนเงินหรือกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาต
  3. คำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินหลักประกัน

เป็นอำนาจโดยเฉพาะของศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งแล้วคู่ความทุกฝ่ายไม่สามารถฎีกาต่อไปได้ครับ ฎ.457/2537 ฎ.569/2537 ฎ.5621/2548

ถ้าอยากได้ทุเลาการบังคับคดีแบบไม่อยากลุ้นต้องทำยังไง

ใช้ได้เฉพาะกรณีเป็นหนี้เงิน

วางเงินไว้เพื่องดการบังคับคดี ตามมาตรา 231 วรรค 3 ประกอบมาตรา 292 อนุมาตรา 1

มาตรา 231 วรรค 3 ถ้าผู้อุทธรณ์วางเงินต่อศาลชั้นต้นเป็นจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษารวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดี หรือได้หาประกันมาให้สำหรับเงินจำนวนเช่นว่านี้จนเป็นที่พอใจของศาล ให้ศาลที่กล่าวมาแล้วงดการบังคับคดีไว้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๒ (๑)

ถ้าจำเลยวางเงินตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้วศาลชั้นต้นจะต้องงดการบังคับคดี โดยทันทีในกรณีเป็นหนี้เงิน  ฎ.741/2518

ข้อควรรู้อื่นๆ เกี่ยวกับการทุเลาการบังคับคดี

1.ทุเลาเฉพาะในชั้นศาลที่ขอเท่านั้น

เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีแล้วต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้เราแพ้คดีเหมือนเดิมก็ต้องขอทุเลาการบังคับคดีในศาลฎีกา ไม่ได้มีผลต่อเนื่องไปถึงชั้นฎีกาด้วย ฎ.8228/2538

เป็นคนละเรื่องกับการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์

การขอทุเลาการบังคับคดีเป็นคนละเรื่องกับการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ ฎ.197/2484

2.ต้องยื่นขอก่อนมีการบังคับคดีแล้ว

ทางปฏิบัติควรรีบยื่นอุทธรณ์ฎีกาก่อนที่จะถูกบังคับคดี จะได้ขอทุเลาการบังคับคดีได้ หากฝ่ายโจทก์บังคับคดีไปก่อนแล้วจะต้องขอเป็นการงดการบังคับคดีซึ่ง เช่นทรัพย์สินถูกยึดแล้ว กำลังดำเนินการขับไล่แล้ว ก็เป็นอำนาจของศาลชั้นต้นตามมาตรา 292 อนุมาตรา 2 ฎ.152/2538 ฎ.3391/2545

3.ถ้าเป็นฝ่ายเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาควรบังคับคดีโดยเร็ว

ถ้าเป็นฝ่ายเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ควรจะรีบบังคับคดีไว้ก่อนเลย ก่อนที่ลูกหนี้คำพิพากษาจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาพร้อมกับการขอทุเลาการบังคับคดี ซึ่งจะทำให้การบังคับคดียากยิ่งขึ้น

สรุป

การขอทุเลาการบังคับคดีเนี่ย เป็นข้อกฎหมายที่ทนายความจะต้องรู้ไว้เลยนะครับในการฟ้องร้องแล้วก็ต่อสู้คดีแพ่งไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลย เพื่อที่คุณสามารถเอาไปปรับใช้ในการทำงานได้อย่างถูกต้อง และเป็นประโยชน์ในการทำคดีครับ

Express your opinion about this article

comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น