บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

กรรโชกทรัพย์ | ขู่ฟ้อง-ขู่แฉ แบบไหนเสี่ยงคุก! 4 หลักการฟ้อง-ต่อสู้คดีที่ต้องรู้

ขู่เรียกร้องเงิน หากไม่ให้เดี๋ยวจะไปออกสื่อ จะไปร้องเรียน จะฟ้องจะแจ้งความดำเนินคดี จะโพสต์ประจาน แบบนี้ทำได้ไหม วันนี้เดี๋ยวผมจะอธิบายให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆเลยครับ

ทั้งนี้ระหว่างการขู่ว่าจะใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นการใช้สิทธิ์โดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ม.165 กับการกรรโชกทรัพย์รีดเอาทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337-338 มีเส้นแบ่งบางๆกั้นอยู่

แบบไหนมันผิดไม่ผิดมันมีปัจจัยอะไรที่ศาลใช้พิจารณา ผมรวบรวมปัจจัยได้ 4 ข้อ ดังนี้

1.มีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายไหม

  • เป็นเจ้าหนี้- มีสิทธิ์เรียกร้องโดยชอบด้วยกฎหมายในทางแพ่ง สามารถใช้ยกขึ้นสู้ได้ ว่ามีสิทธิ์ตามกฎหมาย
  • ไม่ได้เป็นหนี้กันจริง เป็นหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไปข่มขู่ก็อาจจะเป็นความผิดได้
  • เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดอาญา ฎ.5599/2531
  • เชื่อโดยมีหลักฐานอันสมควรเชื่อว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นคนร้ายคนกระทำผิด ฎ.2688/2530
  • แต่ถ้าไม่มีหลักฐานว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นฝ่ายผิดไปขู่ก็เป็นความผิดได้ ฎ.1615/2513
  • ถ้ายังก้ำกึ่งอยู่ว่าจะมีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ยังเถียงกันอยู่ ก็อาจจะถือได้ว่าเข้าใจว่าตนเองมีสิทธิเรียกร้องได้โดยสุจริต ไม่ได้มีความผิดฐานกรรโชก ฎ.114/2533 ฎ.2457/2518
  • ถ้าไม่มีสิทธิ์เรียกร้อง เช่นรับของโจรมา แล้วขู่ว่าหากไม่เอาเงินมาชำระก็จะเอาทรัพย์สินไปขายไปจำหน่าย แบบนี้ก็เป็นความผิด ฎ.562/2559 ฎ.1484/2549
  • สร้างเรื่องราวมาเรียกร้องเช่น แกล้งขับรถชน วิ่งตัดหน้าให้รถชน ฎ.15718/2553 ฎ.1153/2515
  • เรียกเก็บค่าที่จอดรถ ซึ่งตนเองไม่มีสิทธิ์เรียกเก็บพอเขาไม่ให้ก็ข่มขู่จะไม่ให้ออก ฎ.2263/2551

2.มีส่วนได้เสียโดยตรง-เป็นประโยชน์สาธารณะ

  • ถ้าเขาทำผิดจริง ผิดกฎหมายผิดระเบียบ ผิดอาญา แต่ตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องเลย ไม่ได้รับความเสียหาย แต่ไปข่มขู่เรียกร้องเงินเรียกร้องผลประโยชน์จากเขา เพื่อแลกกับการไม่ถูกร้องเรียน แบบนี้ก็เป็นความผิดได้ ฎ.1945/2514 ฎ.7086/2549 ฎ.339/2542
  • เพราะการที่เขาผิดนั้นก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะดำเนินการดำเนินคดีอาญา ไปอ้างอำนาจนอกกฎหมายว่าสามารถช่วยเขาได้ถ้าเขากระทำความผิดถ้าไม่จ่ายก็จะร้องเรียนดำเนินคดี ถือเป็นความผิด ฎ.1123/2509
  • บรรดานักร้องเรียนต่างๆ ที่ไม่ได้มีส่วนได้เสีย หากินกับการตบทรัพย์กับคนที่ทำธุรกิจเทาๆ อันนี้ผิดเต็มๆอยู่แล้ว
  • เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ได้รับผลกระทบจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ของฝ่ายตรงข้าม อาจจะใช้สิทธิ์ในการเรียกร้องได้
  • เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะหรือเปล่า ถ้าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ อาจจะใช้เป็นประเด็นข้อต่อสู้ให้ไม่เป็นความผิดได้
  • ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว ยิ่งไม่มีสิทธิ์ไปเรียกร้องอะไร เช่นความสัมพันธ์เรื่องชู้สาว การมีเพศสัมพันธ์กัน ฎ.10843/2553 ฎ.2581/2563 ฎ.3221/2522
  • เป็นข้าราชการ หรือผู้ที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการดูแลเรื่องดังกล่าว ใช้อำนาจเรียกรับผลประโยชน์.อาจจะเป็นความผิดอีกข้อหาหนึ่งด้วย ถึงแม้อีกฝ่ายหนึ่งจะผิดจริงๆ.ฎ.2573/2553 ฎ.2882/2537 ฎ.6381/2528 ฎ.2105/2514

3.เรียกร้องพอสมควรแก่สิทธิ

  • มีสิทธิ์เรียกร้องอยู่เท่าไหร่ก็เรียกร้องไปตามเฉพาะเท่าที่ตนเองมีสิทธิ์
  • ในกรณีไม่มีตัวเลขแน่นอนให้ดูตามสมควรตามพฤติการณ์แก่กรณี
  • ถ้าเรียกร้องเกินสมควร.หรือเกินกว่าสิทธิ์ของตนเอง มีลักษณะถึงขั้นบีบบังคับ ขู่เข็ญจนเกินกว่าสมควร อาจจะเป็นความผิดได้ ถึงแม้ว่าตนเองจะมีสิทธิ์ฟ้องร้องหรือดำเนินคดีก็ตาม ฎ.692-693/2502

4.ขู่ว่าจะทำอะไร ?

ถือว่าใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย

  • เช่นการแจ้งความ การฟ้องร้องดำเนินคดี การออกหนังสือบอกกล่าวทวงถาม ถือเป็นการใช้สิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมาย ฎ.3247/2516 ฎ.1942/2514
  • จะร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นการดำเนินการทางวินัย
  • ถ้าออกสื่อในเรื่องที่อาจจะเป็นประโยชน์กับส่วนรวม เป็นประโยชน์กับสาธารณะในเรื่องที่ เป็นความจริงยังถือว่าอยู่ในกรอบของกฎหมาย
  • การอธิบายผลดีผลเสียว่าหากเข้าสู่กระบวนการจะยุ่งยาก เสียค่าใช้จ่ายมากกว่า ฎ.173/2510
  • มีหมายจับแต่ถ้าจ่ายเงินก็ยังไม่จับ ยังเป็นการใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ฎ.4012/2535

ถือว่าไม่ใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย

  • ขู่ว่าจะใช้วิธีการนอกกฎหมาย ทำร้าย อุ้ม ขู่ว่าจะซ้อม ถือปืนมาขู่ ฎ.2013/2536 ฎ.11466/2554 ฎ.2358-2387/2554  ฎ.5889/2550
  • ปลอมหมายจับ มาใช้ข่มขู่ต่อรองเรื่องหนี้สินถึงแม้ว่าจะมีหนี้สินกันอยู่จริงๆ ฎ.12222/2558
  • ขู่ว่าจะไปเรียกร้องออกสื่อ ในคดีที่ไม่ใช่ประโยชน์สาธารณะ หรือไม่ใช่เป็นเรื่องความจริง ฎ.1280/2543
  • ขู่ว่าจะประจาน
  • ข่มขู่ไปถึงบุคคลอื่นเช่นคนใกล้ตัวบุตรภรรยา ฎ.1199/2553

สรุป

ในคดีความผิดเกี่ยวกับกรรโชกหรือรีดเอาทรัพย์จะต้องดู 4 ข้อนี้ประกอบกันเสมอก็คือ

1.มีสิทธิ์เรียกร้องไหม

2.มีส่วนได้เสียหรือเป็นประโยชน์สาธารณะหรือเปล่า

3.เรียกร้องพอสมควรแก่สิทธิ์ไหม

4.ขู่ว่าจะทำอะไร

และอาจจะดูพฤติการณ์อื่นๆในคดีประกอบด้วยก็จะเห็นภาพชัดเจนว่าเป็นความผิดหรือเป็นการใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 165

การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337

ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 338

ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหาย จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาฎีกาที่ 2013/2536 ผู้เสียหายทั้งสี่เข้าไปเที่ยวในบาร์ซึ่งมีการแสดงให้ชมและได้ สั่งเครื่องดื่มรวม 4 แก้ว ต่อมาจำเลยซึ่งเป็นพนักงานเก็บเงินของบาร์ได้นำใบเสร็จรับเงินมาเรียกเก็บเงิน 1,000 บาท โดยคิดเป็นค่าเครื่องดื่ม 200 บาท ค่าชมการแสดง 800 บาท ตามอัตราที่ถูกต้องของบาร์ผู้เสียหายทั้งสี่ขอชำระแต่ค่าเครื่องดื่ม   ส่วนค่าชมการแสดงไม่ชำระเพราะได้รับคำบอกเล่า จากผู้ที่ชักชวนเข้าไปเที่ยวว่าไม่ต้องชำระจำเลยไม่ยอมและพูดว่าถ้าไม่ชำระ จะไม่ยอมให้ออกจากบาร์  และสั่งคนปิดประตูบาร์กับเรียกพนักงานชาย 5-6 คน มายืนคุมเชิงรอบโต๊ะข้างหลังผู้เสียหายทั้งสี่แล้วจำเลยพูดว่าจะชำระหรือไม่ ถ้าไม่ชำระมีเรื่องแน่ ผู้เสียหายทั้งสี่กลัวถูกทำร้ายจึงยอมชำระเงิน 1,000 บาท ให้จำเลยถือได้ว่าเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายทั้งสี่ให้ยอมให้ เจ้าของบาร์ได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตราย ต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้เสียหายทั้งสี่ จนผู้เสียหายทั้งสี่ซึ่งถูกข่มขืนใจ ยอมให้เงินค่าชมการแสดง ดังนี้แม้ว่าการกระทำของจำเลยจะสืบเนื่องมาจากการทวงค่าชมการแสดงที่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับการบริการไปแล้วก็ตาม แต่จำเลยก็ไม่มีอำนาจบังคับให้ผู้เสียหายทั้งสี่ชำระเงินโดยไม่ชอบด้วยการขู่เข็ญ ว่าจะทำอันตรายต่อผู้เสียหายทั้งสี่เช่นนั้นจำเลยจึงมีความผิดฐานกรรโชก

ฎ.1945/2514 จำเลยได้ข่มขู่โจทก์ว่าจะเปิดเผยความลับทางการค้าต่อพ่อค้าและท้องตลาดกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการหลบเลี่ยงภาษีของห้างหุ้นส่วน อันจะทำให้ห้างดังกล่าวซึ่งมีโจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้รับความเสียหายจนโจทก์ยอมจะให้เงินแก่จำเลยตามที่ขู่เข็ญนั้น จึงถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337, 338 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10843/2553

แม้เรื่องที่จำเลยนำไปขู่เข็ญผู้เสียหายซึ่งเป็นภิกษุว่า ผู้เสียหายมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงจะไม่เป็นความจริง จึงไม่ถือเป็นความลับอันเป็นความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 338 ดังที่โจทก์ฟ้องก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวก็เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชื่อเสียงของผู้เสียหายผู้ถูกขู่เข็ญจนผู้เสียหายผู้ถูกข่มขืนใจยอมใช้เงินแก่จำเลยอันเป็นความผิดฐานกรรโชก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3123/2564

การที่จำเลยบอกผู้เสียหายว่า ก. ผู้เสียหายกระทำความผิดที่มีอัตราโทษหนักต้องจำคุกหลายปีและมีโทษปรับเป็นเงินหลายแสนบาท จำเลยสามารถช่วยเหลือผู้เสียหายให้ไม่ต้องรับโทษหนักและจะดำเนินคดีผู้เสียหายในความผิดที่มีอัตราโทษน้อย แต่ผู้เสียหายต้องชำระเงินให้แก่จำเลย 20,000 บาท มิใช่การขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานจับกุมดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายอยู่แล้วในความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ซึ่งการจับกุมดำเนินคดีดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย จำเลยเพียงแต่บอกให้ผู้เสียหายทราบถึงโทษทัณฑ์ที่จะได้รับตามกฎหมาย และการเรียกเงินของจำเลยก็เพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีมิให้ผู้เสียหายได้รับโทษหนัก ซึ่งหากผู้เสียหายไม่ให้เงินตามที่จำเลยเรียกร้องก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

การที่จำเลยขู่เข็ญผู้เสียหายต่อไปว่า จำเลยจะมาตรวจสอบที่ร้านค้าของผู้เสียหายทุกเดือนและหากพบการกระทำความผิดก็จะดำเนินคดีกับผู้เสียหาย แต่หากผู้เสียหายชำระเงินให้แก่จำเลยทุกเดือน เดือนละ 1,000 บาท จำเลยจะไม่มาตรวจสอบร้านค้าของผู้เสียหาย ก็มิใช่การขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหายเช่นกัน เพราะผู้เสียหายจะถูกดำเนินคดีตามที่จำเลยอ้างก็ต่อเมื่อมีการตรวจสอบร้านค้าของผู้เสียหายแล้วพบว่ามีการกระทำความผิดจริง การเรียกเงินของจำเลยเป็นเพียงเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบร้านค้าของผู้เสียหายเท่านั้น จำเลยมิได้ข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายแม้ไม่พบการกระทำความผิด เมื่อการกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการขู่เข็ญ คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบของการกระทำความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคหนึ่ง ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2581/2563

โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยฐานรีดเอาทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 338 แต่ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานโจทก์ ฟังไม่ได้ว่ามีคลิปวิดีโอที่มีภาพการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นวัตถุความลับตามฟ้องที่จะไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นดูอยู่จริง การกระทำของจำเลยไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาจะข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ยอมให้สร้อยคอทองคำ โดยการขู่เข็ญว่าหากผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม จำเลยจะนำคลิปวิดีโอที่บันทึกภาพการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและผู้เสียหายที่ 2 ไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นดูอันเป็นการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับโดยคลิปวิดีโอนั้น อย่างไรก็ตามได้ความว่าจำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 มีเพศสัมพันธ์กันอันถือเป็นเรื่องเสื่อมเสีย การกระทำของจำเลยถือเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ยอมให้ตนได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชื่อเสียงของผู้เสียหายที่ 2 ผู้ถูกขู่เข็ญ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ยอมคืนสร้อยคอทองคำแก่จำเลย การกระทำจึงเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานกรรโชกซึ่งมีโทษเบากว่า ปัญหาดังกล่าวถือเป็นข้อเท็จจริงอันเกี่ยวพันกันกับความผิดข้อหาอื่นที่ศาลฎีกาได้รับวินิจฉัยมาและเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและลงโทษจำเลยฐานกรรโชก ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคหนึ่ง ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 562/2559

การที่ผู้เสียหายทั้งสี่ยินยอมมอบเงินค่าไถ่รถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่ให้แก่ ว. ผู้รับจำนำ ซึ่งรับจำนำรถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่รวม 10 คัน ไว้จาก บ. โดยมิชอบ ตามที่ ว. ขู่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ผ่าน อ. ภริยาของ บ. ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่า หากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ยอมให้เงินค่าไถ่รถยนต์แก่ ว. ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 จะไม่ได้รถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 คืน และ ว. ยังขู่ผู้เสียหายที่ 4 ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะต่อรองราคาค่าไถ่ว่าถ้าผู้เสียหายที่ 4 ไม่เอาราคานี้ก็ไม่ต้องเอา โดยจะนำรถของผู้เสียหายที่ 4 ไปแยกย่อยเอง ถือเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินดังกล่าวของผู้เสียหายทั้งสี่ จนผู้เสียหายทั้งสี่จำต้องยินยอมจะให้เงินแก่ ว. เป็นค่าไถ่รถยนต์ตามที่ถูกข่มขืนใจ การกระทำของ ว. ย่อมครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกแล้ว แม้ผู้เสียหายทั้งสี่จะยังไม่ได้มอบเงินค่าไถ่รถยนต์ให้แก่ ว. จำเลยที่ 1 รับมอบหมายจาก ว. ให้มารับเงินค่าไถ่รถยนต์จากผู้เสียหายทั้งสี่หลังจากนั้น จึงมิใช่เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดฐานกรรโชก เพราะการกระทำความผิดฐานกรรโชกของ ว. ได้สำเร็จเด็ดขาดไป ทั้งความผิดฐานกรรโชกมิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ผู้เป็นคนกลางติดต่อรับมอบทรัพย์จากการกรรโชกหลังจากการกระทำความผิดสำเร็จ เป็นความผิดที่ต้องรับโทษ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 86 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12222/2558

จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องโดยผู้เสียหายว่าจ้างให้จำเลยมาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ให้แก่ ณ. แต่จำเลยทำผิดหน้าที่โดยฉกฉวยโอกาสนำสำเนาหมายจับปลอมมาใช้แสดงต่อ ณ. ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่า ณ. จะถูกจับกุมดำเนินคดีตามสำเนาหมายจับปลอมดังกล่าว และผู้เสียหายยอมให้ทรัพย์สินแก่จำเลยไป แม้จำเลยจะไม่ได้แสดงการขู่เข็ญด้วยตัวของจำเลยเอง แต่การกระทำของจำเลยที่นำสำเนาหมายจับปลอมมาใช้ประกอบการขู่เข็ญ ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของ ณ. บุตรสาวผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลที่สาม การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานกรรโชกแล้ว และเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11466/2554

จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งหกและขู่ผู้เสียหายทั้งหกจนผู้เสียหายทั้งหกหาเงินมาให้จำเลยคนละ 1,000 บาท แม้จำเลยจะปักใจเชื่อโดยสุจริตว่า ผู้เสียหายทั้งหกลักเงินจำเลยไป จำเลยก็ชอบที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายโดยไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายทั้งหกได้ในทันที จำเลยหามีสิทธิตามกฎหมายที่จะดำเนินการได้ด้วยตนเองไม่ ทั้งวิธีการที่จำเลยทำเป็นสิ่งที่ผิดต่อกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายและกรรโชกอันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385 – 2387/2554

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันขับรถยนต์ปาดหน้ารถยนต์โจทก์ร่วม แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแล้วคุมตัวโจทก์ร่วมไปเจรจาหนี้สินกันโดยบังคับโจทก์ร่วมให้ใช้หนี้แก่จำเลยที่ 7 แทนจำเลยที่ 3 พฤติการณ์เป็นการร่วมกันวางแผนโดยแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นการกระทำความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้จำยอมต่อจำเลยทั้งเจ็ดกับพวก โดยกระทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของผู้อื่น อันเป็นการกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก

การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ยืนล้อมคุมเชิงโต๊ะเจรจาระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 7 ไว้ เป็นพฤติการณ์ในเชิงข่มขู่โจทก์ร่วมอยู่ในตัว เพราะก่อนมีการเจรจา โจทก์ร่วมถูกบังคับใส่กุญแจมือมาพบจำเลยที่ 4 และที่ 7 ทั้งจำเลยที่ 4 ยังได้เตรียมแบบพิมพ์สัญญายืมและสัญญาค้ำประกันที่มีการกรอกข้อความว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ยืมสิ่งของจากจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์ร่วมซึ่งตกอยู่ในภาวะดังกล่าวจำยอมต้องลงชื่อในสัญญาดังกล่าว ดังนี้ แม้โจทก์ร่วมจะเป็นหนี้จำเลยที่ 3 อยู่ก็ตาม แต่จำเลยทั้งเจ็ดก็ไม่มีสิทธิใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายในการบังคับให้โจทก์ร่วมจำยอมต้องชำระหนี้แทนจำเลยที่ 3 จึงเป็นการร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ตนเองได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ทำสัญญายืมสร้อยคอทองคำ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิจากจำเลยทั้งเจ็ด อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก อีกฐานหนึ่งด้วย แต่การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นการกระทำผิดต่อเนื่องและมีเจตนาเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15718/2553

จำเลยกับพวกวางแผนขับรถยนต์แท็กซี่ชนรถยนต์ปิกอัพของผู้เสียหาย แล้วลงจากรถเรียกค่าเสียหายจากผู้เสียหายอ้างว่าเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ขอเรียกเพียง 5,000 บาท ผู้เสียหายต่อรอง พวกของจำเลย พูดขู่ว่าหากพูดไม่รู้เรื่องจะเรียกตำรวจ ผู้เสียหายยอมจ่ายเงินให้ 500 บาท แล้วจำเลยกับพวกแยกย้ายหลบหนีไปทันที ดังนั้น การที่จำเลยขู่ว่าจะเรียกเจ้าพนักงานตำรวจมา จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ แต่เป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อเสรีภาพและชื่อเสียงของผู้เสียหาย เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมมอบเงินให้ ถือได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่จำเลยแล้ว จึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2573/2553

จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามขู่ให้โจทก์ร่วมนำเงินมามอบให้โดยอ้างว่าเพื่อลบชื่อโจทก์ร่วมออกจากบัญชีผู้ค้ายาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเพื่อที่จะไม่จับกุมโจทก์ร่วม จึงเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจและจูงใจเพื่อให้โจทก์ร่วมมอบให้ซึ่งทรัพย์สินแก่ตนเอง แต่การที่โจทก์ร่วมนำเงินไปมอบให้แก่จำเลยก็เพื่อที่จะให้เจ้าพนักงานจับกุม แสดงว่าโจทก์ร่วมไม่ได้กลัวคำขู่ของจำเลย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยข่มขืนใจโจทก์ร่วมจนโจทก์ร่วมยอมเช่นว่านั้น การกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานพยายามกรรโชก แม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2553

ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวกับผู้เสียหายว่า “หากผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ให้ ผู้เสียหายกับบุตรภรรยาจะเดือดร้อนเพราะอายุยังน้อย” นั้น ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมที่เจ้าหนี้อาจพึงฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นถ้อยคำที่สามัญชนโดยทั่วไปย่อมทราบและตีความได้ว่าเป็นคำพูดข่มขู่ว่าหากไม่ชำระหนี้ให้แล้วผู้เสียหายกับครอบครัวอาจถูกทำร้ายให้ได้รับความเดือดร้อนและเป็นอันตรายได้ถ้อยคำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายให้ต้องยินยอมชำระหนี้ให้แก่กลุ่มจำเลยทั้งห้าตามที่เรียกร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2263/2551

ผู้เสียหายนำรถยนต์เข้าไปจอดในบริเวณสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าจอดรถจากผู้เสียหาย การที่จำเลยพูดกับผู้เสียหายว่าถ้าไม่จ่ายค่าจอดรถจะตบและจำเลยนำเก้าอี้ขวางกั้นมิให้ผู้เสียหายขับรถยนต์ออกไป ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมให้เงินแก่จำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5889/2550

ผู้เสียหายเป็นหนี้มารดาของจำเลย และผิดนัดไม่ชำระหนี้อันเป็นกรณีที่มารดาของจำเลยถูกโต้แย้งสิทธิและต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้ผู้เสียหายให้ชำระหนี้ตามที่บัญญัติในมาตรา 55 และบทบัญญัติทั้งปวงแห่ง ป.วิ.พ.ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยในการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมหรือจะยอมชำระหนี้นั้นให้มารดาจำเลย และไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 337 กลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7086/2549

จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก เป็นผู้คุมหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งภายในสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกได้ตั้งด่านตรวจที่ริมถนนทางเข้าสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยขอตรวจค้นรถของผู้เสียหายเป็นความผิดแล้วกรรมหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก พบสุกรบรรทุกมาโดยไม่มีใบอนุญาตก็ขู่เข็ญว่าจะจับกุมผู้เสียหายทั้งสองส่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อดำเนินคดีและร่วมกันเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายทั้งสองเป็นความผิดฐานกรรโชก โดยความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก มีเจตนาและกระทำการคนละขั้นตอนกับความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน และกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก จึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1484/2549

จำเลยขู่เข็ญให้ผู้เสียหายนำเงิน 5,500 บาท มามอบให้เป็นค่าไถ่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่จำเลยรับมาจากคนร้ายที่ลักทรัพย์ และหากไม่นำมาให้จะไม่ได้รับโทรศัพท์คืนจำเลยจะนำไปขายให้แก่บุคคลอื่น เข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญคือขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปซึ่งทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวและยินยอมจะนำเงิน 5,500 บาท ไปให้จำเลยจึงเข้าลักษณะความผิดฐานกรรโชก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2645/2543

จำเลยที่ 1 ชกต่อยทำร้ายผู้เสียหายเพื่อบังคับขู่เข็ญให้ผู้เสียหายจำต้องลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินและสัญญาซื้อขาย การที่จำเลยที่ 2พูดกับผู้เสียหายว่า คิดจะโกงหรือ อย่ามาเล่นกับฉันนะ ในขณะที่ จำเลยที่ 1 กระชากคอเสื้อผู้เสียหายอยู่ และต่อมาจำเลยที่ 1 ต่อยที่ บริเวณหางคิ้วซ้ายผู้เสียหายจนบาดเจ็บเลือดออก และพูดกับผู้เสียหาย ว่าให้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงิน มิฉะนั้นจะเจ็บตัวอีก ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย และร่วมกัน ข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมลงลายมือชื่อว่าเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงิน สัญญากู้เงินก่อให้เกิดสิทธิในหนี้ซึ่งมีวัตถุแห่งหนี้เป็นเงินแก่ผู้ให้กู้ จึงเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่ผู้ให้กู้ เมื่อจำเลยทั้งสองได้ไปซึ่งสัญญากู้เงินจากการข่มขืนใจโดยทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ให้ยอมลงลายมือชื่อว่าเป็นผู้กู้เงินจากจำเลยที่ 2 อันเป็นการได้ประโยชน์ ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแล้วจึงเป็นการร่วมกันกระทำผิดฐานกรรโชก และทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1280/2543

วันเกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้โทรศัพท์ไปข่มขืนใจโจทก์ร่วมให้ยอมมอบเงินและรถยนต์แก่ตนโดยพูดขู่เข็ญว่าจะนำเรื่องผู้บริหารของบริษัท ท. ติดสินบนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตามข่าวในหนังสือพิมพ์ ม. ไปอภิปรายในรัฐสภาและให้ข่าวแก่หนังสือพิมพ์ อันเป็นการทำอันตรายต่อชื่อเสียงและทรัพย์สินของบริษัท ท. ซึ่งมี ป. เป็นประธานกรรมการบริษัทและมีโจทก์ร่วมเป็นผู้ช่วยบริหารงานของบริษัท จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมยอมจะให้เงินสด 1,000,000 บาท กับรถยนต์กระบะ 1 คันแก่จำเลยตามที่ต่อรองตกลงกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 339/2542

โจทก์และจำเลยทั้งเก้าต่างเป็นกรรมการสุขาภิบาลด้วยกัน แต่เดิมเมื่อปี 2536 สุขาภิบาลว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดห.ให้ขุดลอกอ่างเก็บน้ำในเขตสุขาภิบาล ตกลงค่าจ้างเป็นเงิน100,000 บาท แต่ยังไม่มีการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวเพราะมีเงื่อนไขว่า ในปีต่อไปหากห้างหุ้นส่วนจำกัดห.ประมูลงานจากสุขาภิบาลได้ ห้างหุ้นส่วนจำกัดห. ก็จะไม่รับเงินจำนวน 100,000 บาท ตามที่ตกลงจ้าง ต่อมาปี 2537 ห้างหุ้นส่วนจำกัดว. ซึ่งมีโจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้รับการว่าจ้างในกรณีพิเศษ จากนายอำเภอประธานคณะกรรมการสุขาภิบาล ให้ก่อสร้าง ถนน ห้างหุ้นส่วนจำกัดห. จึงไม่ได้รับงานทางคณะกรรมการสุขาภิบาลจะต้องจ่ายเงิน 100,000 บาทให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดห. การที่จำเลยทั้งเก้าเรียกร้องให้โจทก์จ่ายเงิน 100,000 บาท แก่ตน มิฉะนั้นโจทก์จะถูกร้องเรียนกล่าวหาต่อผู้ว่าราชการจังหวัดในเรื่องโจทก์ก่อสร้างถนนผิดไปจากสัญญา อันเป็นเหตุให้สัญญา ดังกล่าวระงับ และโจทก์ต้องถูกขับออกจากกรรมการสุขาภิบาลเมื่อปรากฏว่าโจทก์ต้องจ่ายเงินจำนวน 100,000 บาทให้จำเลยทั้งเก้าไปโดยกลัวต่อการข่มขู่ของจำเลยทั้งเก้าย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งเก้าใช้สิทธิโดยชอบ เพราะแม้ว่าโจทก์จะมีส่วนบกพร่องในการก่อสร้างถนนอันผิดไปจากสัญญาก็เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ว่ากล่าวส่วนจำเลยทั้งเก้าเป็นบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิสอดเข้าเกี่ยวข้องโดยหวังผลประโยชน์เป็นที่ตั้งการที่โจทก์ต้องจ่ายเงินให้จำเลยทั้งเก้าโดยกลัวต่อการ ข่มขู่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งเก้าจึงเป็น การข่มขืนใจโจทก์ให้ยอมให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชื่อเสียงของโจทก์ซึ่งครบถ้วน ตามองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882/2537

ผู้เสียหายที่ 2 ได้ต่อเติมห้องน้ำที่บ้านของตนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่นายตรวจอาคาร มีอำนาจหน้าที่ตรวจอาคารตามคำสั่งของสำนักงานเขตพญาไท จำเลยได้ข่มขู่เรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายที่ 2 ถ้าผู้เสียหายไม่ให้จำเลยจะดำเนินคดีในเรื่องต่อเติมอาคารผิดกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ยอมให้ตนได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพและชื่อเสียงของผู้ถูกขู่เข็ญ เป็นการลงมือกระทำความผิดฐานกรรโชกและกระทำไปตลอดแล้ว แต่ไม่บรรลุผล เพราะการที่ผู้เสียหายที่ 2 เจรจากับจำเลยแล้วขึ้นไปชั้น 2 โทรศัพท์เรียกเจ้าพนักงานตำรวจให้มาจับกุมจำเลยทันที แสดงว่าผู้เสียหายที่ 2ไม่ยอมให้เงิน เพียงแต่ทำทีเป็นยอมเพื่อวางแผนจับกุมจำเลยหาใช่ยอมให้เงินแก่จำเลยด้วยใจจริงไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2013/2536

การที่จำเลยยืนยันจะให้ผู้เสียหายทั้งสี่ชำระเงินค่าชมการแสดงโดยพูดว่าถ้าไม่ชำระจะไม่ยอมให้ออกจากบาร์และสั่งคนปิดประตูบาร์กับเรียกพนักงานชายประมาณ 5-6 คน มายืนคุมเชิงรอบโต๊ะข้างหลังผู้เสียหายทั้งสี่ แล้วจำเลยพูดว่าจะชำระหรือไม่ ถ้าไม่ชำระมีเรื่องแน่ ถือเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายทั้งสี่ให้ยอมให้เจ้าของบาร์ได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้เสียหายทั้งสี่แล้ว แม้การกระทำนั้นจะสืบเนื่องมาจากการทวงค่าชมการแสดงที่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับการบริการไปแล้ว แต่จำเลยก็ไม่มีอำนาจบังคับให้ผู้เสียหายทั้งสี่ชำระเงินโดยการขู่เข็ญด้วยวิธีดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4021/2535

ห้างฯ ศ. ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คจนศาลออกหมายจับโจทก์ หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกไปพบโจทก์แจ้งว่ามีหมายจับโจทก์ หากโจทก์ไม่ชำระหนี้ ก็จะจับโจทก์ตามหมายจับ เมื่อโจทก์นำทรัพย์สินมามอบให้จำเลยหรือนำเงินมาชำระ จำเลยก็ทำหลักฐานให้โจทก์ไว้ทุกครั้งพฤติการณ์เป็นเรื่องจำเลยทั้งสองไปติดตามเร่งรัดหนี้สินจากโจทก์ตามที่บริษัทของจำเลยได้รับมอบหมาย การที่จำเลยทั้งสองกับพวกพูดขู่โจทก์ว่า หากไม่ชำระหนี้หรือไม่ไปตกลงเรื่องหนี้สินจะจับโจทก์ตามหมายจับ เป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 114/2533

ที่ดินที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แม้ผู้เสียหายได้รับการผ่อนผันจากทางราชการให้มีสิทธิทำกินชั่วคราวก็ตามแต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้เสียหายยังมิได้ยึดถือครอบครองเข้าทำประโยชน์ใด ๆ และผู้เสียหายกับจำเลยต่างยังแย่งกันครอบครองที่ดินดังกล่าวอยู่ ทั้งปรากฏว่าจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินเกิดเหตุเป็นของจำเลย ดังนี้การที่จำเลยโต้เถียงกับผู้เสียหายเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่เกิดเหตุแล้วจำเลยพูดกับผู้เสียหายว่า ถ้าไม่ได้ที่ดินที่เกิดเหตุจะฆ่าสามีผู้เสียหายนั้นตามพฤติการณ์แห่งคดี น่าเชื่อว่า เป็นการพูดด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวมากกว่าที่จะมีเจตนาข่มขืนใจโดยขู่เข็ญผู้เสียหายอันจะเป็นความผิดฐานพยายามกรรโชก.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5599/2531

ป. เป็นผู้ใหญ่บ้านที่จำเลยขอให้ช่วยสืบหาคนร้ายที่ลักกระบือของตนเมื่อ ป. นัดผู้เสียหายซึ่งเป็นลูกบ้านให้มาเจรจากับจำเลย ย่อมมีมูลทำให้จำเลยเข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นคนร้ายการที่จำเลยเรียกเงินจากผู้เสียหายเป็นค่ากระบือที่ถูกลักเอาไปเพื่อที่จะไปดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายโดยมี ป. ผู้ใหญ่บ้านฝ่ายผู้เสียหายเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ยให้จนผู้เสียหายยอมให้เงินแก่จำเลยตามที่ ป. พูดไกล่เกลี่ย เป็นการใช้สิทธิของตนโดยสุจริต ไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2688/2530

จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าผู้เสียหายได้ลักเอาสติกเกอร์ของห้างซึ่งจำเลยมีหน้าที่ช่วยดูแลกิจการอยู่ไป การที่จำเลยบอกให้ผู้เสียหายเสียค่าปรับให้ห้าง 30 บาท ถ้าไม่ยอมจะส่งตัวให้เจ้าพนักงานตำรวจนั้นยังถือไม่ได้ว่าเป็นการข่มขืนใจหรือขู่เข็ญผู้เสียหายให้ยอมให้เงิน 30 บาทเพราะจำเลยมีหน้าที่ดูแลกิจการของห้างชอบที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายทางอาญาในความผิดฐานลักทรัพย์ได้การที่จำเลยให้ผู้เสียหายเสียค่าปรับเท่ากับเสนอให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นข้อแลกเปลี่ยนเพื่อตกลงเลิกคดีกัน จำเลยไม่มีความผิดฐานกรรโชก.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3861/2528

จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่สืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิด แกล้งกล่าวหา พ.และ ก.ว่ากระทำผิดอาญา ได้มีการ แจ้งความและลงบันทึกประจำวันไว้แล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง ขอจับกุม พ. และ ก.ส่งพนักงานสอบสวน ถ้าไม่อยากให้จับกุม ต้องเอาเงินให้จำเลยทั้งสอง พ.และ ก.เกรงกลัวยอมมอบเงินให้ตามที่เรียกร้อง เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ตนได้ประโยชน์ ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพและชื่อเสียงของผู้ถูกขู่เข็ญ จึงเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดฐานกรรโชกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3221/2522

จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกขู่เข็ญผู้เสียหายเรียกเอาเงิน 6,000 บาทโดยอ้างว่ามีผู้ร้องเรียนไปทางกรมตำรวจว่าผู้เสียหายเป็นพระจรจัด จะเอาเงินไปปิดปากผู้ร้องเรียน ผู้เสียหายบอกว่าไม่มีเงิน จำเลยที่ 2ว่ามีเท่าใดให้เอามาก่อน พร้อมกับทำมือแสดงอาการฮึดฮัดไม่พอใจลักษณะจะทำร้าย ผู้เสียหายกลัว จึงชี้บอกเงิน 2,000 บาทใส่ซองวางไว้บนโต๊ะให้เอาไปก่อน เช่นนี้ กรณีเป็นความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2457/2518

โจทก์จะรื้อบ้านของโจทก์ จำเลยไม่ยอมให้รื้อ อ้างว่าเป็นของจำเลย ถ้ารื้อจะให้ตำรวจจับ แต่จะยอมให้รื้อ ถ้าโจทก์ให้เงินจำนวนหนึ่งแก่จำเลย ดังนี้ เป็นเรื่องโต้เถียงกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทในทางแพ่ง จำเลยพูดว่าจะใช้สิทธิอันชอบด้วยกฎหมายและพูดเป็นทำนองเสนอข้อแลกเปลี่ยนเพื่อระบังข้อพิพาท ไม่เป็นการข่มขืนใจโจทก์ให้ยอมให้เงินหรือยอมสัญญาจะให้เงินแก่จำเลย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกรรโชก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3247/2516

โจทก์ที่ 1 เป็นหนี้จำเลยที่ 1,2 อยู่ ไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้กันไว้ซึ่งจำเลยที่ 1,2 จะต้องเตือนให้โจทก์ที่ 1 ชำระก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคแรก จึงจะมีสิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ได้ โจทก์ที่ 1 ไปทำงานที่อื่น จำเลยที่ 1,2 ไม่มีโอกาสเตือนให้ชำระหนี้ได้ เมื่อไปทวงหนี้จากโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ก็ไม่ยอมชำระ เมื่อมีหนังสือเตือนให้โจทก์ที่ 1 ชำระโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ไม่มีผู้ใดรับ จำเลยที่ 2 ไปทวงหนี้จากโจทก์ที่ 2 อีก และบอกว่าหากไม่ชำระให้จะเอาประกาศปิดให้เสียชื่อเสียง โจทก์ที่ 2 กลัว จึงรับปากว่าจะชำระแต่แล้วก็ไม่ชำระให้ จำเลยที่ 1,2 จึงมอบให้จำเลยที่ 3 ผู้เป็นทนายความทำประกาศบอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1ชำระหนี้ แล้วให้จำเลยที่ 4 นำไปให้ตำรวจปิดในที่เปิดเผย 3 แห่ง การที่จำเลยที่ 2 บอกโจทก์ที่ 2ว่าหากไม่ชำระหนี้จะปิดประกาศทวงหนี้ก็ได้ การทำประกาศบอกกล่าวให้ชำระหนี้ไปปิดไว้ก็ดี เป็นการเตือนให้โจทก์ที่ 1 ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204วรรคแรก ทั้งข้อความก็ตรงกับความจริงไม่มีข้อความอันเป็นการใส่ความ หรือดูหมิ่นโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84,86,309,326,328,337,338,392,393 ดังที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1153/2515

ผู้เสียหายซื้อเนื้อกระบือไว้จากจำเลยคนหนึ่ง ต่อมา จำเลยทั้งสองกับพวกได้สมคบกันไปแกล้งกล่าวหาว่าผู้เสียหายได้ซื้อเนื้อกระบือของพรรคพวกจำเลยซึ่งถูกคนร้ายลักมาฆ่า และได้ร่วมกันขู่เข็ญบังคับให้ผู้เสียหายใช้เงินให้โดยอ้างว่าเป็นค่าเสียหาย โดยจำเลยที่ 1 ใช้กำลังเข้าชกต่อยผู้เสียหาย และยิงปืนขู่ให้ผู้เสียหายเกรงกลัวจนผู้เสียหายยอมส่งเงินให้ ดังนี้ จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานปล้นทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2105/2514

จำเลยกับพวกไปตรวจไม้แปรรูปที่ผู้เสียหายทั้งสองมีไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต แล้วจำเลยได้เรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายทั้งสองคนละ 10 บาท โดยขู่เข็ญว่าถ้าไม่ให้เงินแก่จำเลย จำเลยก็จะส่งตัวผู้เสียหายไปดำเนินคดี ผู้เสียหายกลัวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1942/2514

ปัญหาว่าจำเลยทั้งสี่มีความผิดฐานกรรโชกหรือไม่ วินิจฉัยว่าการที่จำเลยทั้งสามได้ร่วมกับนายตุ๋ยจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของโคเรียกร้องเอาเงินค่าโคจากผู้เสียหายผู้ซื้อเนื้อโคคนละ 375 บาท ถ้าไม่ให้จะเอาตำรวจจับตัวมาดำเนินคดีฐานรับซื้อเนื้อโคของร้าย ผู้เสียหายกลัวจะถูกดำเนินคดีจึงยอมรับใช้และให้เงินแก่นายตุ๋ยจำเลยที่ 3 เจ้าของโค ซึ่งการเรียกร้องเอาเงินนั้นก็มิใช่เป็นประโยชน์ส่วนตัวของนายจ้าวจำเลยที่ 1 นายคูณจำเลยที่ 2 และนายทูลจำเลยที่ 4 แต่เพื่อประโยชน์ของเจ้าของโคโดยเฉพาะ ดังนี้ การที่จำเลยทั้งสี่เรียกร้องเอาเงินในพฤติการณ์เช่นนี้ จะถือว่าเป็นการข่มขืนและขู่เข็ญผู้เสียหายหาได้ไม่ เพราะนายตุ๋ยจำเลยที่ 3เจ้าของโคมีความชอบธรรมที่จะฟ้องผู้เสียหายทางอาญาฐานรับของโจรได้การเรียกร้องเอาเงินก็เพื่อตกลงคดีกันต่างหาก ทั้งจำนวนเงินที่เรียกร้องถ้าได้ครบทั้ง 11 คนก็มีจำเลยไล่เรี่ยกับราคาโคที่ถูกลักไป ฉะนี้แล้วจึงหาใช่เป็นเรื่องจำเลยมีเจตนาทุจริตไม่ จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีความผิดฐานกรรโชกดังโจทก์ฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1615/2513

กระบือของจำเลยหายไปโดยที่ผู้เสียหายมิได้ลักไป จำเลยไปเรียกเงินจากผู้เสียหายจำนวนหนึ่ง โดยกล่าวหาว่าผู้เสียหายลักกระบือของจำเลยไปและพูดจาขู่เข็ญผู้เสียหายว่า ถ้าไม่ให้เงินจะพาตำรวจมาจับและผู้เสียหายจะต้องติดคุก ทั้ง ๆ ที่จำเลยไม่ทราบว่า ผู้เสียหายลักกระบือจำเลยไปจริงหรือไม่ ผู้เสียหายกลัวจะเสียเวลาทำมาหากิน จึงให้เงินจำเลยไปโดยไม่สมัครใจ เช่นนี้ย่อมแสดงว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต จึงมีความผิดฐานกรรโชก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1447/2513

จำเลยกับโจทก์ร่วมเข้าหุ้นทำการก่อสร้างโรงเรียนร่วมกัน จำเลยพาพวกซึ่งมีอาวุธปืนติดตัวไปขู่เข็ญให้โจทก์ร่วมคิดบัญชีการเงินเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงเรียน โจทก์ร่วมไม่ยอมคิดบัญชีประกอบกับขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามา จำเลยกับพวกจึงบังคับให้โจทก์ร่วมคิดบัญชีไม่สำเร็จ เช่นนี้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานพยายามกรรโชก เพราะจำเลยไม่มีทางได้ประโยชน์ในทางทรัพย์สินโดยมิชอบแต่อย่างใด แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามกระทำผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง ประกอบมาตรา 80, 83เพราะจำเลยมีเจตนาที่จะทำให้โจทก์ร่วมกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตจนยอมคิดบัญชีให้ และจำเลยได้กระทำไปโดยตลอดแล้วเพื่อให้โจทก์ร่วมกลัวและปฏิบัติตามความประสงค์ของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 173/2510

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมานั้น ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้สมคบร่วมกันทำการขู่เข็ญขืนใจผู้เสียหายแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกำนันได้พูดกับผู้เสียหายว่าถ้าไม่ยอมให้เงินแก่จำเลยที่ 2 ก็จะส่งไปอำเภอจะต้องเสียเงินมากกว่านี้นั้น หาใช่คำขู่เข็ญแต่อย่างใดไม่ เพราะจำเลยอาจเห็นว่าถ้าผู้เสียหายตกลงกับจำเลยที่ 2 ไม่ได้ จำเลยที่ 1 ก็ต้องส่งตัวผู้เสียหายไปอำเภอซึ่งจำเลยที่ 1 คิดว่าถ้าเรื่องดำเนินต่อไปผู้เสียหายจะสิ้นเปลืองเงินมาก จึงได้พูดเป็นทำนองไกล่เกลี่ยให้เลิกแล้วต่อกันก็ได้ ส่วนคดีสำหรับตัวจำเลยที่ 2 นั้น ตามพฤติการณ์ที่ได้ความในเวลานั้น ผู้เสียหายก็เข้าใจว่าบาดแผลของจำเลยที่ 2 นั้น คงเนื่องมาจากอาวุธปืนของผู้เสียหาย ในฐานที่จำเลยที่ 2 ถูกยิงมีบาดเจ็บ จำเลยจึงขอให้ผู้เสียหายชดใช้ค่าเสียหาย แล้วจำเลยจะไม่เอาความ เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 2 และผู้เสียหายต่อรองกัน แม้จำเลยจะพูดว่า ถ้าไม่ยอมให้เงินแล้ว จำเลยจะขอให้ส่งตัวผู้เสียหายไปอำเภอ ซึ่งตามรูปเรื่องก็เป็นที่เข้าใจกันว่าเพื่อดำเนินคดีต่อไปเท่านั้น หาใช่เรื่องแกล้งกล่าวหาเพื่อจะขู่กรรโชกเอาเงินจากผู้เสียหายแต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาทุจริตนั้นชอบแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 700 บาท แสดงว่าจำเลยทั้งสองได้มีเจตนาทุจริตร่วมกันขู่เข็ญเอาเงินจากผู้เสียหายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 1 หาได้รับเงินจากจำเลยที่ 2 ดังโจทก์ฎีกาขึ้นมาไม่ กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเงินจำนวนนี้แต่อย่างใดเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1123/2509

เรื่องเรียกเงินวิ่งเต้นคดี ส่วนปัญหาตามมาตรา 337 ฟังได้ว่า หลังจากที่นายทองดีโจทก์ร่วมได้จ่ายเงินให้จำเลยรับไปแล้วห้าแสนบาท จำเลยได้ตั้งข้อเรียกร้องเอาเงินค่าวิ่งเต้นให้โจทก์ร่วมจ่ายเพิ่มขึ้นอีกโดยจำเลยทั้งพูดขู่ด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษรว่า ถ้าโจทก์ร่วมไม่ตกลงจ่ายเงินตามที่จำเลยเรียกร้องก็ให้เตรียมตัวเข้าคุกการกระทำของจำเลยดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่าเป็นการข่มขืนใจให้โจทก์ร่วมยอมจะจ่ายเงินเพิ่มให้อีก 200,000 บาท รวมทั้งที่ค้างอยู่เดิมเป็น 700,000 บาท จนโจทก์ร่วมผู้ถูกข่มขืนใจยอมจะให้เงินเพิ่มขึ้นตามคำขู่ของจำเลย เพราะโจทก์ร่วมเกรงว่าถ้าไม่ยอมทำตาม โจทก์ร่วมจะต้องได้รับโทษจำคุก ซึ่งเป็นอันตรายต่อเสรีภาพ ชื่อเสียง ของโจทก์ร่วม ตามมาตรา 337

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 692 – 693/2502

กล่าวฟ้องใจความว่า จำเลยบังคับให้ผู้เสียหายสัญญาว่าจะส่งทรัพย์ให้ มิฉะนั้น จะดำเนินการฟ้องร้องให้ได้รับโทษ เช่นนี้อาจเป็นผิดฐานกรรโชกตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 303 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 หรือไม่ก็ได้ แล้วแต่พฤติการณ์ของรูปคดี ถ้าข้อเท็จจริงเป็นเรื่องจำเลยพูดไกล่เกลี่ยก็ไม่ผิดฐานกรรโชก

แต่ถ้าพ้นเขตของการไกล่เกลี่ยโดยเป็นไปในทางบังคับให้เขาสัญญาว่าจะส่งทรัพย์ให้ ถ้าไม่ส่งจะดำเนินคดี เช่นนี้ เป็นการขู่เข็ญขืนใจโดยชัด ย่อมเป็นผิดฐานกรรโชก แม้ว่าจำเลยมีสิทธิตามกฎหมายในการจะฟ้องเรียกเงินจากผู้เสียหายก็ตาม หรือแม้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จับกุมฟ้องร้องดำเนินคดี และจำเลยบังคับผู้เสียหายเช่นกล่าวข้างต้นจนพ้นเขตของการไกล่เกลี่ย และการที่ผู้เสียหายต้องสัญญาว่าจะส่งทรัพย์ก็เพื่อมิให้ถูกดำเนินคดีฟ้องร้อง เพราะถูกขู่เข็ญขืนใจก็เป็นผิดฐานกรรโชกด้วย

 

Express your opinion about this article

comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น