หากเรายื่นคำร้องขอประกันตัวหรือขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลไปแล้ว ปรากฏว่าศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว
ไม่ว่าจะเป็นเพราะ ศาลเห็นว่าข้อหาหนักเกินกลัวจะหลบหนี หรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือสาเหตุอื่นๆเราจะต้องทำยังไง
สำหรับวิธีการแก้เมื่อศาลไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ให้ประกันตัวมีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน
วิธีแรกก็คือการยื่นขอประกันตัวใหม่โดยเพิ่มหลักประกันหรืออ้างเหตุผลเพิ่มเติม
ซึ่งมักนิยมใช้เมื่อปรากฏพฤติการณ์ใหม่ ข้อเท็จจริงใหม่ แต่ธรรมดาแล้วมักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จหากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ หรือพยานหลักฐานใหม่เพราะศาลจะยืนตามคำสั่งเดิมเสมอ
ส่วนวิธีที่ 2 ที่นิยมทำกัน ก็คือการอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งจะอธิบายโดยละเอียดในวันนี้
การอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวคืออะไร
การอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวก็คือ การยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลอุทธรณ์ ทบทวนและกลับคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่ให้ประกันตัว โดยร้องขอให้ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนแปลงคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นอนุญาตให้ประกันตัว
โดยการอุทธรณ์นั้น เราจะบรรยายให้ศาลทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นรวมถึงเหตุอันควรที่จะให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว
ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ทวิ
มาตรา ๑๑๙ ทวิ๒๐ ในกรณีที่ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ร้องขอมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ ดังต่อไปนี้
(๑) คำสั่งของศาลชั้นต้น ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์
(๒) คำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา
ให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งรีบส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมด้วยสำนวนความ หรือสำเนาสำนวนความเท่าที่จำเป็นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณา และมีคำสั่งโดยเร็ว
คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยืนตามศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิที่จะยื่นคำร้องให้ปล่อยชั่วคราวใหม่
ใครเป็นผู้มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว
1.ตัวจำเลยหรือผู้ต้องหาเอง ในกรณีที่ขอประกันตัวเอง
2.ผู้ขอประกัน
3.ทนายความจำเลยหรือทนายความผู้ต้องหา
ธรรมดาแล้วจำเลยหรือผู้ต้องหาหากไม่ได้รับการประกันตัวก็จะถูกส่งไปเรือนจำ อาจจะไม่ได้รับความสะดวกนักในการยื่นอุทธรณ์คำสั่งประกันตัวด้วยตนเอง
ดังนั้นแล้วทนายความจำเลยควรจะให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยเซ็นใบแต่งตั้งทนายความไว้ก่อน ตอนที่ผู้ต้องหายังอยู่ที่โรงพัก หรือยังติดต่อกับทนายได้
เพื่อที่ผู้ต้องหาจะถูกเข้าเรือนจำจะได้สามารถยื่นประกันตัวได้เลย ไม่ต้องวิ่งเข้าไปเอาเอกสารให้ผู้ต้องหาเซ็นในเรือนจำอีก
วิธีการทำคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว
1.ต้องใช้แบบฟอร์มคำร้องไม่ใช่แบบฟอร์มอุทธรณ์ เพราะว่าเป็นการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ใช่ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง
2.เนื้อหาให้เริ่มด้วยการบรรยายว่าคดีนี้ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวเพราะอะไร ซึ่งดูได้จากคำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวของศาลชั้นต้น
3.ให้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งที่ศาลไม่ให้ประกันตัวชั่วคราวด้วยเหตุผลต่างๆและชี้ให้ศาลเห็นว่า เราควรได้รับการประกันตัว โดยพิจารณาจากมาตรา 108 กับมาตรา 108/1 เป็นหลัก
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๐๘๔ ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบ
(๑) ความหนักเบาแห่งข้อหา
(๒) พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด
(๓) พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร
(๔) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
(๕) ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่
(๖) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่
(๗) ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือศาลอาจรับฟังข้อเท็จจริง รายงานหรือความเห็นของเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการนั้นเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องด้วยก็ได้
ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือศาลจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่หรือเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ หรือในกรณีที่ผู้นั้นยินยอมจะสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราวก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น แต่ถ้าผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมีอายุไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ แม้ผู้นั้นยินยอม จะสั่งให้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวได้ต่อเมื่อผู้นั้นมีพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นอย่างร้ายแรง หรือมีเหตุสมควรประการอื่น๕
มาตรา ๑๐๘/๑๖ การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
(๒) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
(๓) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
(๔) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
(๕) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
คำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผล และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว
หลักการบรรยายคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว
3.1มีหลักฐานชี้ให้เห็นว่าเราไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดโดยหากมีเอกสารหลักฐานอะไรก็ให้แนบเข้าไปเลย
3.2เราให้ความร่วมมือกับตำรวจมาตลอด มามอบตัวด้วยตนเองไม่มีพฤติการณ์หลบหนี
3.3เรามีการทำงานเป็นหลักแหล่งมีอาชีพประจำมีเงินเดือนไม่มีความเสี่ยงที่จะหลบหนี หากไม่ได้รับการประกันตัวเขาอาจจะถูกไล่ออกจากงานเสียอนาคต
3.4มีที่อยู่แน่นอน มีบ้านพักอาศัยที่อยู่มาเป็นเวลานาน มีครอบครัวบุตรภรรยาสามีพ่อแม่ที่ต้องให้การเลี้ยงดูไม่มีความเสี่ยงที่จะหลบหนี
3.5หลักประกันของเรามีความน่าเชื่อถือ เป็นเงินสดที่มีจำนวนมาก เป็นที่ดินเป็นบ้านที่มีมูลค่าสูง
3.6 เรามีการชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายไปแล้วผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความกับคดีนี้มีโอกาสที่จะตกลงเจรจากับผู้เสียหายได้
3.7เรามีโรคประจำตัวหากไม่ได้รับการประกันตัว ก็อาจจะได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือชีวิต
3.8 หากเราไม่ได้รับประกันตัวอาจจะกระทบต่อธุรกิจ หรือกิจการการค้าของเราเป็นอย่างมากหรือก่อให้เกิดความเสียหายอื่นๆ
3.9เรายินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อบังคับของศาลเช่นติดกำไล EM ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ หรือยินดีเพิ่มหลักประกันหรือวงเงินประกันตามที่ศาลกำหนด และเงื่อนไขอื่นๆตามที่ศาลจะกำหนด
4.สรุปส่งท้ายว่าขอให้ศาลอุทธรณ์โปรดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นให้ประกันตัว
5.เคล็ดลับง่ายๆคือเขียนสั้นๆอย่าไปเขียนเยอะ แต่ให้เน้นถึงเอกสารหลักฐานต่างๆที่แนบไปให้เยอะที่สุด
6.ควรจะต้องยื่นให้เร็วที่สุดหลังจากศาลมีคำสั่งธรรมดาแล้วก็ควรจะยื่นวันรุ่งขึ้นนั้นเลยเพื่อให้ผู้ต้องหา-จำเลยได้รับการประกันตัวเร็วที่สุด ยกเว้นว่ามีความจำเป็นจะต้องสืบหาพยานหลักฐาน หาข้อมูลเพิ่มเติม
7.ก่อนยื่นควรจะรวบรวมพยานหลักฐานให้หนักแน่นและมากที่สุด
ตัวอย่างคำร้องที่น่าสนใจ
-
ตัวอย่างอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว คดีเรื่องข่มขืน
คดีนี้ศาลที่เคารพโปรดมีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาของผู้ร้อง โดยให้เหตุผลว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง “ ซึ่งตามคำสั่งเดิมมีเหตุผลที่ศาลไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาคือ “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำชำเราผู้สืบสันดานคดีเป็นเรื่องกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรง ผู้เสียหายยังเป็นเด็กอาจถูกข่มขู่ได้ง่าย มีเหตุผลเชื่อว่าผู้ต้องหาอาจข่มขู่พยานผู้เสียหายจนเสียรูปคดี จึงไม่มีเหตุสมควรให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างสอบสวน ศาลชั้นต้นสั่งชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง “
ผู้ร้องขออุทธรณ์คัดค้านเหตุผลที่ไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาดังต่อไปนี้
ที่ศาลวินิจฉัยว่า ผู้เสียหายยังเป็นเด็กอาจถูกข่มขู่ได้ง่าย ผู้ต้องหาอาจจะไปข่มขู่พยานนั้น ผู้ร้องเห็นว่าเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะการป้องกันผู้ต้องไปข่มขู่หรือทำอันตรายต่อเด็กนั้นสามารถใช้มาตรการต่างๆตามที่กฎหมายกำหนดช่องทางไว้ เช่น มาตรการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กมาตรา 43 ที่กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดมาตรการคุมประพฤติของผู้ต้องหาไว้ เช่น ห้ามเข้าเขตกำหนด หรือห้ามเข้าใกล้ตัวเด็กในระยะที่ศาลกำหนด เป็นต้น และจะสั่งให้ผู้นั้นทำทันฑ์บนไว้ก็ได้ หรืออาจจะใช้มาตรการตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวมาตรา10 ที่บัญญัติไว้ในทำนองเดียวกัน ซึ่งในการใช้มาตรการต่างๆเหล่านี้ย่อมคุ้มครองให้พยานไม่ถูกข่มขู่ได้เป็นอย่างดี ศาลหาจำต้องใช้การคุมขังผู้ต้องหาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ข่มขู่พยานไม่ เพราะตามกฎหมายนั้น ผู้ต้องหาถือเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำผิดจริง และผู้ต้องหามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะได้รับการประกันตัว โดยผู้ต้องหาและญาติพี่น้องรวมทั้งเพื่อนๆที่ต่างรู้ว่าผู้ต้องหาไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดจริง พร้อมที่จะวางเงินหรือทรัพย์สินประกอบการประกันตัวได้ในวงเงินประมาณ 1,500,000 บาท (หนึ่งล้านห้2แสนบาท) ซึ่งเป็นวงเงินที่สูงมาก อีกทั้งเงินและทรัพย์สินดังกล่าวก็ล้วนเป็นทรัพย์สินของบรรดาญาติๆผู้ต้องหา ดังนั้นการที่ศาลจะพรากเอาอิสรภาพของผู้ต้องหาซึ่งยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์เพียงเพราะคาดเดาเอาว่า ผู้ต้องหาอาจจะไปข่มขู่พยานทั้งๆที่ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดๆ และยังมีช่องทางอื่นที่อาจจะป้องกันการข่มขู่พยานได้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งภายหลังหากผู้ต้องหาสามารถพิสูจน์ตนเองได้ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ผู้ต้องหาก็จะได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เพราะผู้ต้องหาจะต้องตกงาน สูญเสียรายได้ ครอบครัวของผู้ต้องหาจะต้องเดือดร้อน และผู้ต้องหาจะต้องถูกจำขังเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี เนื่องจากระบบการพิจารณาคดีต่อเนื่องที่นัดความอย่างอย่างนาน ดังนั้นจึงขอศาลที่เคารพโปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหา โดยคำนึงถึงหลักกฎหมาย มิใช่เพียงแต่อาศัยพยานหลักฐานอันเลื่อนลอยทั้งนี้ผู้ร้องขอเรียนว่า ก่อนการใช้มาตรการคุ้มครองต่างๆ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวก็ดี พนักงานสอบสวนยังจะต้องมีการเสนอพยานหลักฐานต่างๆให้เป็นที่พอใจแก่ศาลหรือผู้ออกคำสั่งว่า พยานหลักฐานมีมูลที่จะออกคำสั่งคุ้มครองได้ แต่ในคดีนี้ พนักงานสอบสวนเพียงแต่กล่าวอ้างลอยๆโดยไม่มีพยานเอกสารหรือพยานบุคคลใดๆมายืนยันเลยว่า ผู้ต้องหามีพฤติการณ์ข่มขู่พยานต่างๆนาๆ ตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวอ้าง ซึ่งไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น เพราะผู้ต้องหาได้ให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนด้วยดีตลอดมา แต่พนักงานสอบสวนมีลักษณะของการวางตัวไม่เป็นกลาง ฟังความข้างเดียว เช่นที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์ข่มขู่พยานนั้นเป็นความเท็จทั้งสิ้น เพราะผู้ต้องหาเองเป็นผู้หาพยานหลักฐานๆต่างไปให้พนักงานสอบสวนตลอดมา แต่พนักงานสอบสวนกลับไม่รับฟังพยานหลักฐานของผู้ต้องหา ทั้งนี้รายละเอียดปรากฎตามหนังสือขอให้สอบสวนพยาน เอกสารท้ายอุทธรณ์หมายเลข 1 และที่พนักงานสอบสวนกล่าวอ้างว่า ผู้ต้องหาข่มขู่พยานหรือพยายามจะไปรับเด็กหญิงณิชาภาฯออกจากโรงเรียนก็เป็นความเท็จทั้งสิ้น ซึ่งผู้ต้องหาจะได้ดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนที่ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังโดยอ้างว่าผู้ต้องหาข่มขู่พยานหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อไป และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมผู้ต้องหาขอให้ศาลโปรดมีคำสั่งให้ไต่สวนพยานของพนักงานสอบสวนผู้ร้องในประเด็นว่า ผู้ต้องหาพฤติการณ์ใดๆที่เป็นการข่มขู่พยานหรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน เพื่อที่ศาลจะได้มีคำสั่งได้อย่างถูกต้อง
ผู้ต้องหาขอกราบเรียนว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ผู้เสียหายไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเมื่อประมาณเดือน สิงหาคม 2557 แล้ว ผู้เสียหายและพนักงานสอบสวนก็ได้กีดกันไม่ให้ผู้ร้องได้พบกับเด็กหญิง อีกทั้งยังปิดบังไม่ให้ผู้ต้องหาทราบว่าได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องหาอีกด้วย ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะพนักงานสอบสวนหรือผู้เสียหายไม่มีสิทธิที่จะกีดกันผู้ต้องหาไม่ให้พบกับบุตรได้ และหากพนักงานสอบสวนหรือผู้เสียหายมีพยานหลักฐานที่บ่งชี้ว่าผู้ต้องหาจะไปข่มขู่เด็กหญิงจริง ก็ควรใช้มาตรการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก หรือมาตรการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อแสดงพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อออกคำสั่งคุ้มครองไม่ให้ผู้ต้องหาพบกับเด็กหญิง แต่พนักงานสอบสวนหรือผู้เสียหายก็หาใช้ช่องทางดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ไม่ ซึ่งก็เป็นเพราะไม่มีพยานหลักฐานใดๆ บ่งชี้ว่าผู้ต้องหาจะทำการข่มขู่พยาน แต่พนักงานสอบสวนและผู้เสียหายกลับใช้วิธีการหลบเลี่ยงไม่ให้ผู้ต้องหาไปพบบุตรผู้เยาว์ ครั้นผู้ต้องหาไปพบเยี่ยมบุตรผู้เยาว์ที่โรงเรียน ก็ถูกกล่าวหาว่าข่มขู่พยาน ทั้งๆ ที่ขณะนั้นผู้ต้องหายังไม่เคยทราบว่าตนเองถูกดำเนินคดีอาญาเลย จนผู้ต้องหาต้องฟ้องร้องคดีแพ่งต่อศาลเยาวชนและครอบครัว เพื่อขอเลี้ยงดูบุตรร่วมกับผู้เสียหาย ซึ่งเมื่อได้ยื่นฟ้องคดีดังกล่าวแล้ว ผู้ต้องหาจึงได้ทราบว่าผู้เสียหายได้แจ้งความกับผู้ต้องหาอันเป็นความเท็จ ผู้ต้องหาจึงได้ยื่นฟ้องผู้เสียหายในข้อหาแจ้งความเท็จต่อศาล ซึ่งทำให้ผู้เสียหายต้องหาพยานหลักฐานต่างๆ อันเป็นเท็จในคดีนี้มาเพิ่มเติม เพราะเกรงว่าตนเองจะได้รับโทษอาญา
ข้อ ๔. ด้วยเหตุดังที่ผู้ร้องได้กราบเรียนต่อศาลอุทธรณ์ที่เคารพ จึงขอศาลที่เคารพโปรดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลชั้นต้น เป็นคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา และหากศาลอุทธรณ์ประสงค์จะให้เปลี่ยนประเภทของหลักประกันหรือใช้หลักประกันเพิ่มเติม หรือต้องการให้ประกันตัวโดยใช้หลักประกันประเภทเงินสด หรือทรัพย์สินอื่นๆเพิ่มเติม ขอศาลอุทธรณ์ที่เคารพโปรดมีคำสั่งชี้แจง เนื่องจากขณะนี้ บรรดาญาติและคนรู้จักของผู้ต้องหา ซึ่งต่างก็รู้ว่าผู้ต้องหามิใช่ผู้กระทำผิด ต่างได้ช่วยกันขวนขวายรวบรวมเงินมาเพื่อช่วยกันประกันตัวผู้ต้องหา เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและเพื่อให้โอกาสผู้ต้องหาได้สู้คดีอย่างเต็มที่ ขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาต
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
2.ตัวอย่างอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว คดีลักทรัพย์
ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา โดยอ้างว่าความเสียหายมีจำนวนมาก และเกรงว่าจะหลบหนี จึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง
ด้วยความเคารพต่อคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นอย่างสูง ผู้ต้องหายังไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งดังกล่าว จึงขอยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ดังนี้
คดีนี้ ผู้เสียหายดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ซึ่งผู้ต้องหาไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดของบุคคลที่ได้รับสารภาพไปแล้วแต่อย่างใด
ที่อ้างว่าคดีนี้มีค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 13,121,051.45 บาท แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาจริงเป็นจำนวนประมาณ 1,200,000 บาท เท่านั้น โดยเป็นเงินที่บุคคลอื่นปลอมเช็คของบริษัทโอนเข้าบัญชีของผู้ต้องหา
ส่วนเงินจำนวนประมาณ 1,200,000 บาทที่โอนเข้ามาในบัญชีนั้น เกิดจากการชำระหนี้ตามสัญญากู้ ซึ่งผู้ร้องมีหลักฐานอย่างชัดเจน ธุรกรรมการโอนเงินระหว่างบุคคลนั้นกับผู้ต้องหาเป็นการโอนต่อเนื่องจากหลายครั้ง ซึ่งผู้ร้องมีหลักฐานชัดเจน
ลักษณะธุรกรรมระหว่างผู้ต้องหากับบุคคลนั้น ไม่ใช่เพิ่งทำธุรกรรมกัน แต่มีการทำธุรกรรมในลักษณะโอนไปโอนกลับกันมาเป็นเวลานาน
ผู้ต้องหาในฐานะผู้รับโอนเงิน ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่าเงินที่โอนมานั้นจะมาจากการโอนผ่านธนาคาร ผ่านเช็ค ผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ หรือตู้กดเงิน ดังนั้น ผู้ต้องหาจึงไม่อาจรับรู้ได้ว่าเงินที่โอนมานั้นมีที่มาจากไหน และไม่มีทางทราบเลยว่าบุคคลที่กระทำผิดในคดีนี้ จะโอนเงินผ่านเช็คของบริษัทที่ถูกปลอมแปลงเข้ามาให้ในบัญชีผู้ต้องหา
ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดมา พยานหลักฐานในคดีไม่หนักแน่น และผู้ต้องหามีโอกาสต่อสู้คดีได้
3.หลังเกิดเหตุ จนกระทั่งผู้ต้องหาถูกบริษัทเรียกสอบสวนก่อนถูกจับกุมหลายเดือน ผู้ต้องหายังคงทำงานอยู่ที่บริษัท ไอจิ ฟอร์จ (ไทยแลนด์) จำกัด (ผู้เสียหาย) จนถึงปัจุบัน ไม่ได้หลบหนี ไปไหน ทั้งๆที่รู้ว่าถูกเพ่งเล็งและดำเนินคดี แต่ก็ต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน พร้อมชี้แจงตลอดเวลา แต่พนักงานสอบสวนกลับเลือกใช้วิธีออกหมายจับผู้ต้องหา โดยไม่ให้ผู้ต้องหาชี้แจงข้อเท็จจริงก่อน
4.หลังหมายจับออกแล้ว ผู้เสียหายจึงเรียกผู้ต้องหาไปพบ และผู้ต้องหาจึงถูกจับกุม ผู้ต้องหาไม่ได้หลบหนี และให้ความร่วมมือโดยดีตลอดมา ผู้ต้องหาไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด
5.ผู้ต้องหา มีที่อยู่ที่แน่นอนคือ ผู้ต้องหาอาศัย 555/31 ดีทาวน์สวนเสือศรีราชา ตำบลหนองขาม
อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
6.ถ้าหากผู้ต้องหาถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาเป็นเวลายาวนานจะส่งผลกระทบต่อครอบครัว ที่ไม่สามารถทำงานจุนเจือครอบครัวได้ ผู้ร้องเป็นหัวหน้าครอบครัวซึ่งมีหน้าที่ต้อง อุปการะบิดาของผู้ร้อง หาเลี้ยงครอบครัว และผู้ร้องยังมีหนี้ค่าผ่อนบ้านซึ่งต้องชำระ เดือนละ 20,000 บาท ตลอดถึงหนี้ค่าบัตรเดรดิต อันต้องชำระ
ด้วยเหตุดังข้าพเจ้าประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพ จึงขอศาลอุทธรณ์ที่เคารพโปรดพิพากษากลับให้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา โดยหากศาลอุทธรณ์ที่เคารพเห็นสมควรให้วางเงินประกันเป็นจำนวนเท่าใดก็แล้วแต่ผู้ต้องหายินยอมที่จะหาเงินมาเท่าจำนวนที่ศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาต
-
อุทธรณ์คำสั่งประกันตัวคดีอาญา-ใช้ใบกำกับภาษีปลอม
ร่างคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราว
ข้อ1.คดีนี้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยพิเคราะห์ว่าในคดีนี้จำเลยทั้งสามหลีกเลี่ยงภาษีเป็นเงินจำนวน 4 ล้านกว่าบาท ทำให้ระบบจัดเก็บภาษีอากรของสรรพากรเสียหายอย่างร้ายแรงจึงถือว่าเป็นคดีร้ายแรง
ต่อมาจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งที่ 2 ฉบับลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยพิเคราะห์ว่าศาลนี้เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวกรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม รายละเอียดปรากฏตามคำสั่งของศาลชั้นต้นในสำนวนของศาลแล้ว
ข้อ2.ด้วยความเคารพต่อคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นอย่างสูง จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ยังไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงขอยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย ดังนี้
2.1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ขอกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ไม่ได้กระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด โดยจำเลยทั้ง 3 ไม่รู้เห็นและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกใบกำกับภาษีปลอมดังกล่าวและไม่รู้เลยว่าใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นใบกำกับภาษีปลอม
กล่าวคือ เดิมจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยมีผู้ถือหุ้น 2 คนคือจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 แต่มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ดูแลกิจการเพียงผู้เดียวโดยประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยทำธุรกิจโดยสุจริตตลอดมาไม่เคยเกิดปัญหาใดๆตั้งแต่ ปี พ.ศ 2539 รายละเอียดปรากฏตามหนังสือรับรองบริษัทของจำเลยที่ 1 เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1
ต่อมาปี 2557 จำเลยที่ 2 ได้เริ่มต้นประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง จึงได้เปลี่ยนฐานะจำเลยที่ 1 จากห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นบริษัทจำกัดจนถึงปัจจุบันเพื่อที่จะได้มีเครดิตในการรับงานก่อสร้างจากองค์กรต่างๆ และมีความสะดวกในการรับงานรับเหมาก่อสร้างมากกว่า
ในการเสียภาษีของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ไม่ได้จัดทำบัญชีเองแต่ได้ว่าจ้างสำนักงานบัญชี FRIEND AND FRIEND GROUP เป็นผู้รวบรวมข้อมูลและเอกสารในการจัดดำเนินการทำงบการเงินยื่นกรมสรรพกรของจำเลยที่ 1 ประจำทุกปี รายละเอียดปรากฏตามใบเสร็จรับเงินค่าทำบัญชี เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 2
ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้รับงานว่าจ้างงานจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ คือ งานก่อสร้างอาคารบ้านแถวพักอาศัย ค.ส.ล. 3 ชั้น จำนวน 10 ห้อง และปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางบนที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากเพลิงไหม้ ตำบลสามเสนใน ฝั่งเหนือตอนตึกดินเก่าริมถนนพระราม 5 เหมาราคารวมทั้งสิ้น 19,634,144,83 บาท (สิบเก้าล้านหกแสนสามหมื่นสี่พันหนึ่งร้อยสี่สิบสี่บาทแปดสิบสามสตางค์) รายละเอียดปรากฏตามสัญญาจ้างเหมาระหว่างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ,หนังสือแจ้งการทำสัญญาจ้างเหมางานก่อสร้างงานก่อสร้างอาคารบ้านแถวพักอาศัย ค.ส.ล. 3 ชั้น จำนวน 10 ห้อง ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2559 และเอกสารจัดส่งแบบแปลนผังอาคาร เลขที่ PPD-SSN-AR-01 เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 3 ถึง 5 ตามลำดับ
และจำเลยที่ 1 ยังได้รับงานว่าจ้างจาก มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช อีกด้วย กล่าวคือ งานปรับปรุงหอพักนักศึกษาแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เหมาราคารวมทั้งสิ้น 15,880,000 บาท รายละเอียดปรากฏตามสัญญาจ้างเหมาระหว่างมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชกับจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 10 มกราคม 2560 และเอกสารร่างงานงวดที่ 6 โครงการปรับปรุงหอนักศึกษา เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 6 และ 7
ในการดำเนินกิจการเกี่ยวกับการรับเหมาก่อสร้างอาคารบ้านแถวพักอาศัย ค.ส.ล. 3 ชั้น จำนวน 10 ห้อง ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างให้บริษัท แมสซีฟ เอ็นจิเนียริ่ง (2015) จำกัด เป็นผู้ทำงานโดยจ้างเหมารวมค่าแรงและค่าสินค้าด้วย ในราคารวมทั้งสิ้น 12,598,721.30 บาท (สิบสองล้านห้าแสนเก้าหมื่นแปดพันเจ็ดร้อยยี่สิบเอ็ดบาทสามสิบสตางค์) ซึ่งเป็นราคารวมค่าแรงและค่าสินค้า รายละเอียดปรากฏตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท แมสซีฟ เอ็นจิเนียริ่ง (2015) จำกัด ฉบับลงวันที่ 28 มิถุนายน 2559 เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 8
โดยขณะที่จำเลยที่ 1 ทำงานกับร่วมกับบริษัท แมสซีฟ เอ็นจิเนียริ่ง (2015) จำกัด นั้น จำเลยที่ 2 ได้แจ้งไปยังบริษัท แมสซีฟ เอ็นจิเนียริ่ง (2015) จำกัด ว่าให้ออกใบกำกับภาษีค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานให้จำเลยที่ 1 ด้วย เนื่องจากจำเลยที่ 1 จ่ายเงินค่าจ้างรวมทั้งค่าสินค้าที่ใช้จ่ายในงานก่อสร้างกับบริษัท แมสซีฟ เอ็นจิเนียริ่ง (2015) จำกัด ไปแล้ว
บริษัท แมสซีฟ เอ็นจิเนียริ่ง (2015) จำกัด จึงออกใบกำกับภาษีมาโดยใช้ชื่อ บริษัท 432 อินเตอร์เทรด จำกัด ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 2 ท้วงติงบริษัท แมสซีฟ เอ็นจิเนียริ่ง (2015) จำกัด ก็ได้ออกใบกำกับภาษีเป็นชื่อของบริษัทแมสซีฟฯเองบ้างปะปนไปกับใบกำกับภาษีที่ออกโดยบริษัท432 อินเตอร์เทรด จำกัด บ้าง
ซึ่งใบกำกับภาษีที่ได้ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในคดีนี้จำเลยทั้งสามได้มาด้วยการจ้างงานเหมารวมค่าแรงและค่าสินค้าวัสดุก่อสร้างตามปกติของการทำกิจการรับเหมาก่อสร้าง จากบริษัท แมสซีฟ เอ็นจิเนียริ่ง (2015) จำกัด และ บริษัท 432 อินเตอร์เทรด จำกัด
โดยในการจ้างงานเหมารวมค่าแรงและค่าสินค้าวัสดุก่อสร้างดังกล่าวจำเลยทั้งสามก็ทำถูกต้องตามกระบวนการทุกอย่างตั้งแต่การทำสัญญาว่าจ้าง ชำระค่าสินค้า จนกระทั่งได้ใบกำกับภาษีมาโดยที่ไม่มีโอกาสรู้เลยว่า บริษัท แมสซีฟ เอ็นจิเนียริ่ง (2015) จำกัด และ บริษัท 432 อินเตอร์เทรด จำกัด ได้กระทำการโดยทุจริตออกใบกำกับภาษีปลอมมา รายละเอียดปรากฏตามหลักฐานการชำระเงิน เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 9 ซึ่งถ้าหากจำเลยทั้งสามต้องการกระทำการโดยทุจริตโกงภาษีหรือซื้อใบกำกับภาษีปลอมจริงก็คงจะไม่ชำระเงินให้กับบริษัทดังกล่าว
จำเลยทั้งสามไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการออกใบกำกับภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของทั้งบริษัท แมสซีฟ เอ็นจิเนียริ่ง (2015) จำกัดและบริษัท 432 อินเตอร์เทรด จำกัด และจำเลยทั้งสามไม่ได้มีเจตนาในการใช้ใบกำกับภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวด้วย เพียงแต่จำเลยทั้งสามก็เป็นผู้เสียหายจากการถูกบริษัททั้ง สองบริษัทดังกล่าวหลอก ออกใบกำกับภาษีเท็จ แล้วปัจจุบันกรรมการของบริษัททั้งสองก็ได้หลบหนีไปแล้ว
จำเลยทั้งสามเชื่อโดยสุจริตว่าใบกำกับภาษีทั้งหมดในคดีนี้นั้นเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าจำเลยทั้งสามไม่ทราบถึงการออกใบกำกับภาษีปลอมดังกล่าวและไม่มีเจตนาที่จะใช้ใบกำกับภาษีปลอมนั้นแล้ว จำเลยทั้งสามจึงไม่ได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
และเมื่อกรมสรรพากรเรียกให้จำเลยทั้งสามเข้าพบ จำเลยทั้งสามก็ไปพบทุกครั้งไม่เคยขาดนัดหรือมีพฤติการณ์หลบหนี
ซึ่งในการดำเนินกิจการก่อสร้างนั้นจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการและดูแลกิจการแต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการกิจการก่อสร้างแต่อย่างใด จำเลยที่ 3 เคยลงลายมือชื่อเอกสารต่างๆแทนจำเลยที่ 2 บ้างแต่ก็ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ก่อนทุกครั้ง
โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 ซึ่งมีฐานะเป็นภรรยาของจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนรู้เห็นในการดำเนินกิจการรับเหมาก่อสร้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อจำเลยทั้งสามทราบว่าใบกำกับภาษีในคดีนี้เป็นใบกำกับภาษีปลอม จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ก็ได้ไปลงรายงานประจำวันแจ้งเป็นหลักฐานไว้ด้วย รายละเอียดปรากฎตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน เล่มที่ 0012/2563 ฉบับลงวันที่ 25 กันยายน 2563 เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 10
ด้วยเหตุดังที่กราบเรียนไปในข้างต้น จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จึงขอโอกาสในการแสดงความบริสุทธิ์ใจโดยขอออกมาเพื่อเตรียมเอกสารและวางแผนในการต่อสู้คดีกับทนายความจำเลยทั้งสาม เพื่อให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้มีโอกาสในการต่อสู้และชี้แจงข้อเท็จจริง รวมถึงรวบรวมข้อมูลเอกสารทั้งหมดเพื่อให้ทนายความจำเลยทั้งสามดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายได้อย่างเต็มที่ กล่าวคือ คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับภาษีอากร ซึ่งมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายประกอบกับเอกสารที่ยุ่งยากซับซ้อนต้องให้ผู้เชี่ยวชาญรวมถึงเจ้าของเอกสารตัวจริงชี้แจงรายละเอียดและรวบรวมเอกสารทั้งหมด
แต่ในปัจจุบันจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ผู้ที่รู้รายละเอียดข้อเท็จจริงภายในคดีมากที่สุด ถูกต้องขังอยู่ที่เรือนจำ ทั้งจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ยังถูกต้องขังคนละเรือนจำอีกด้วย ข้อมูลที่จะใช้ในการต่อสู้คดีนี้เป็นข้อมูลที่มีเพียงจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เท่านั้นที่จะชี้แจงได้ บุคคลภายนอกซึ่งแม้แต่บุตรสาวและบุตรชายของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ก็ไม่อาจทราบได้
หากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ไม่ได้รับการปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จะเสียโอกาสในการรวบรวมพยานหลักฐานที่ใช้ในการต่อสู้คดี การที่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จะรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดและชี้แจงข้อเท็จจริงให้แก่ทนายความจำเลยทั้งสามเข้าใจได้จึงเป็นการกระทำที่ทำได้ยาก จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ไม่สามารถชี้แจงข้อเท็จจริงโดยละเอียดได้ และการบอกกล่าวข้อมูลให้กับทนายความจำเลยทั้งสามรับทราบนั้นอาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้ซึ่งจะส่งผลร้ายแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3
นอกจากนี้จำเลยทั้ง 3 ยังขอประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่า พฤติการณ์แห่งคดีนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องร้ายแรง ยอดเงินความเสียหายทั้งหมดที่ปรากฏนั้น ไม่ได้สูงจนเกินสมควร ซึ่งจำเลยทั้งสามได้ตั้งใจไว้แล้วว่าถึงแม้คดีนี้ตนเองจะไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดและไม่รู้ว่าใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นใบกำกับภาษีปลอม แต่หากในเรื่องค่าปรับหรือความรับผิดในส่วนแพ่งที่จะต้องรับผิดกับกรมสรรพากร เป็นความรับผิดที่เกิดขึ้นและไม่อาจปฏิเสธได้จำเลยทั้งสามก็ยินยอมที่จะเสียค่าปรับและชำระเงินคืนให้กับสรรพากร และยอดเงินดังกล่าวเป็นยอดเงินที่จำเลยทั้งสามและครอบครัวอยู่ในกำลังที่จะสามารถชำระคืนให้กับสรรพากรได้
ดังนั้น จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 มีเหตุอันควรให้ศาลที่เคารพโปรดมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและเพื่อให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้เตรียมเอกสารและวางแผนในการต่อสู้คดีกับทนายความจำเลยทั้งสามเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ต่อไป จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จึงขอความอนุเคราะห์จากศาลที่เคารพให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 นี้ด้วย
2.2 จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีภูมิลำเนาเป็นหลักหล่งที่แน่นอน โดยจำเลยที่ 2 อาศัยอยู่ที่บ้านดังกล่าวกับบุตรคนแรกและภรรยาของบุตรชาย และจำเลยที่ 2 ยังมาอยู่อาศัยที่บ้านของจำเลยที่ 3 บ้างบางครั้ง เนื่องจากบุตรคนที่สองมีบุตรเล็ก จำเลยที่ 2 จึงมาเยี่ยมและเลี้ยงดูหลาน รายละเอียดปรากฏตามสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 2 และภาพถ่ายบริเวณบ้านของจำเลยที่ 2 เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 11 และ 12
จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีภูมิลำเนาเป็นหลักแหล่งที่แน่นอน โดยจำเลยที่ 3 อาศัยอยู่ที่บ้านดังกล่าวกับบุตรคนที่สองและสามีของบุตรสาว เนื่องจากบุตรคนที่สองมีบุตรเล็ก จำเลยที่ 3 จึงอยู่บ้านประจำเพื่อช่วยดูแลเลี้ยงดูหลาน รายละเอียดปรากฏตามสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 3 และภาพถ่ายบริเวณบ้านของจำเลยที่ 3 เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 13 และ 14
โดยจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 พักอาศัยอยู่บ้านหลังดังกล่าวมาโดยตลอด และเป็นบุคคลที่มีอายุมาก อยู่ในวัยชราแล้วจึงไม่มีเหตุใดเลยที่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จะต้องหลบหนี แต่เพื่อความบริสุทธิ์ใจของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ให้คำมั่นว่าจะไม่หลบหนีหรือไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานโดยเด็ดขาด และจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้พักอาศัยอยู่ที่ภูมิลำเนาดังกล่าวจนถึงก่อนถูกต้องขังในคดีนี้
2.3 ด้วยปัญหาด้านสุขภาพของจำเลยที่ 3 เนื่องจากจำเลยที่ 3 มีโรคประจำตัวคือภาวะความดันโลหิตต่ำ ประกอบกับปัจจุบันจำเลยที่ 3 มีอายุ 58 ปี จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบางอย่างได้ง่าย เช่น การหกล้มเนื่องจากอาการวิงเวียนศีรษะ อ่อนแรง และเป็นลม ภาวะความดันโลหิตต่ำที่รุนแรงอาจทำให้จำเลยที่ 3 ขาดออกซิเจนซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายต่อหัวใจและสมอง และจำเลยที่ 3 ยังเป็นโรคหอบหืดซึ่งต้องรับประทานยาและพบแพทย์เป็นระยะ จำเลยที่ 3 มีภาวะถุงน้ำที่เต้านมหรือซีสต์ และจำเลยที่ 3 ยังเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีโดยแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นพาหะ กล่าวคือ จำเลยที่ 3 มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ในร่างกายซึ่งสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ซึ่งตามคำแนะนำของแพทย์นั้นผู้ที่เป็นพาหะและมีอายุเกิน 30 ปี ต้องพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเฝ้าระวังมะเร็งตับอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ประมาณปีละ 1-2 ครั้ง ทั้งจำเลยที่ 3 ยังต้องงดทานอาหารที่ปนเปื้อนสารอัลฟาท็อกซิน เช่น ถั่วลิสงตากแห้งหรือพริกป่นอีกด้วย รายละเอียดปรากฏตามใบรับรองแพทย์คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ,ประวัติการตรวจ-รักษาของจำเลยที่ 3 กับโรงพยาบาลรามาธิบดี และบทความสุขภาพของโรงพยาบาลสมิติเวชเรื่องไวรัสตับอับเสบบี อันตรายกว่าที่คุณคิด เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 15 ถึง 17
ซึ่งปัจจุบันจำเลยที่ 3 ต้องขังอยู่ในเรือนจำจากปัญหาสุขภาพของจำเลยที่ 3 จึงอาจไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร และการต้องขังในเรือนจำทำให้จำเลยที่ 3 เกิดภาวะเครียดเป็นอย่างมาก หากจำเลยที่ 3 ไม่ได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพที่ถูกต้องอาจส่งผลให้เกิดอันตรายได้ เพื่อไม่ให้จำเลยที่ 3 มีสภาพร่างกายและสภาพจิตใจที่ย่ำแย่กว่าเดิม จำเลยที่ 3 จึงมีความจำเป็นที่ต้องออกมาเพื่อพบแพทย์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขออนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวด้วยเหตุปัญหาด้านสุขภาพของจำเลยที่ 3
2.4 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 มีบุตรร่วมกัน 2 คน บุตรคนแรกคือบุตรชาย โดยบุตรชายจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากวิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) หลักสูตร Hospitality and Tourism Management และเมื่อปี 2563 ได้จดทะเบียนสมรสกับบุตรสะใภ้ โดยบุตรสะใภ้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด หลักสูตร International Business Management และจบการศึกษาระดับปริญญาโทจาก Coventry University London Campus ประเทศอังกฤษ หลักสูตร International Marketing บุตรชายและบุตรสะใภ้ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว เป็นกรรมการบริษัทหนึ่งที่จัดจำหน่ายฟิล์มกรองแสงลดความร้อนสำหรับอาคาร โดยบุตรชายมีรายได้ 61,000 บาทต่อเดือน และบุตรสะใภ้มีรายได้ 25,000 บาทต่อเดือน โดยไม่รวมเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท ซึ่งบริษัทมีรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 300,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันบุตรชายอาศัยอยู่กับบุตรสะใภ้และบิดา (จำเลยที่ 2)
รายละเอียดปรากฏตามสำเนาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 18 ถึง 23 ตามลำดับ
บุตรคนที่สองคือบุตรสาว จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ต่อมาเมื่อปี 2563 ได้จดทะเบียนสมรสกับสามี ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโลจิสติกส์ ปัจจุบันบุตรสาวประกอบอาชีพเป็นพนักงานประจำที่บริษัทหนึ่ง ตำแหน่ง DevOps Engineer รายได้ 90,000 บาทต่อเดือน และสามีประกอบอาชีพตัวแทนฝ่ายขาย ตำแหน่งผู้จัดการศูนย์บริษัทหนึ่ง รายได้เฉลี่ย 100,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันบุตรสาวอาศัยอยู่กับสามีและมารดา (จำเลยที่ 3)
รายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองการศึกษาและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 24 ถึง 30 ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาจากประวัติและการศึกษาของบุตรทั้งสองของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จะเห็นได้ว่าบุตรทั้งสองคนนั้นมีอาชีพหน้าที่การงานรวมถึงรายได้ที่สูงและมั่นคง ประกอบกับบุตรคนแรกอาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกับบิดา และบุตรคนที่สองอาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกันกับมารดา มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง บุตรทั้งสองมีความสามารถในการดูแลบิดามารดาคือจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ให้ไปตามนัดศาลทุกนัดได้ และด้วยความมั่นคงที่กล่าวไปในข้างต้นเป็นที่เชื่อถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จะไม่หลบหนีอย่างแน่นอน
2.5 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 นั้นมีพฤติกรรมที่ดีมาโดยตลอดและบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมเสมอมา โดยจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เคยเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพในการบวชพระใหม่ เป็นเจ้าภาพในการไถ่ชีวิตโคกระบือ เป็นเจ้าภาพแจกอาหารและขนมให้กับผู้มาปฏิบัติธรรม เป็นเจ้าภาพบวชเณรภาคฤดูร้อน ร่วมเป็นเจ้าภาพงานทอดกฐิน เพื่อสร้างอุโบสถที่วัดปัญญาโชติวนาราม จังหวัดบุรีรัมย์ รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 31
หากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้รับการปล่อยตัวในครั้งนี้ จะถือเป็นพระคุณอย่างยิ่งและจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จะใช้โอกาสในครั้งนี้ระมัดระวังไม่ทำให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีก และขอแสดงความบริสุทธิ์ใจให้ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 มิได้กระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด และจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 พร้อมที่จะพิสูจน์ตนตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเคร่งครัด
ปัจจุบันจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 มีอายุ 58 ปี แต่มีประวัติที่ดีและปฏิบัติตามกฎระเบียบตลอดมา ไม่เคยต้องโทษในคดีใดมาก่อน ประกอบกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ยังปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด มารายงานตัวตามที่ศาลนัดไม่เคยขาด ไม่เคยละเลยนัดศาล ก่อนที่จะถูกฟ้องเป็นคดีนี้กรมสรรพากรเคยเรียกพบจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ก็ไปตามนัดทุกครั้งไม่เคยขาด และไม่มีพฤติกรรมจะหลบหนีแต่อย่างใด ด้วยเหตุดังกล่าวจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีแต่อย่างใด
ข้อ3.จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 มีความประสงค์ที่จะวางหลักประกันซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงมีความน่าเชื่อถือได้ ดังต่อไปนี้
3.1 ห้องชุดเลขที่ 18/335 ชั้นที่ 21 อาคารชุดชื่อ กรีเน่ แจ้งวัฒนะ คอนโดมิเนียม ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 9/2557 ตั้งอยู่บนโฉนดเลขที่ 27732 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พื้นที่ห้องชุด 33.19 ตารางเมตร รวมราคาประเมิน 1,981,443 บาท โดยมีนายพีระพัฒน์ อัมพรจรัส บุตรชายของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในหลักประกันดังกล่าว รายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 18/335 และหนังสือรับรองราคาประเมินของห้องชุดเลขที่ 18/335 ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 9/2557 เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 32 และ 33
3.2 เงินสดจำนวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน)
รวมเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ทั้งหมด 2,981,443 บาท (สองล้านเก้าแสนแปดหมื่นหนึ่งพันสี่ร้อยสี่สิบสามบาท) หรือหากศาลเห็นสมควรให้เพิ่มหลักประกันมากกว่านี้ ก็ขอศาลอุทธรณ์โปรดมีคำสั่ง จำเลยทั้งสามและครอบครัวจะขวนขวายหาเงินมาวางตามจำนวนที่ศาลเห็นเหมาะสม
ทั้งหากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว บุตรชายและบุตรสาวของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จะคอยสอดส่องดูพฤติกรรมของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ไม่ให้มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีได้ทั้งสิ้น
ข้อ 4. ด้วยเหตุดังผู้ร้องประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพ ชี้ให้เห็นว่าคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาลชั้นต้น ที่อ้างว่าคดีนี้เป็นคดีร้ายแรง พฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรงยังไม่ถูกต้องอยู่เพราะว่าจากพยานหลักฐานที่ปรากฏยังไม่ชี้ให้เห็นเด่นชัดว่าจำเลยทั้ง 3 กระทำความผิด อีกทั้งพฤติการณ์แห่งคดียอดเงินในคดีนี้ไม่ได้สูงจนเกินสมควร จำเลยที่ 2-3 ไม่มีเหตุใดๆที่จะหลบหนี จึงขอศาลอุทธรณ์ที่เคารพโปรดมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 อีกทั้งจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ยินยอมใส่กำไล EM พร้อมส่งพาสปอร์ตตัวจริงของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 และตั้งเงื่อนไขรายงานตัวต่อศาลทุกเดือน วางข้อจำกัดเกี่ยวกับสถานที่อยู่อาศัย หรือการเดินทางออกไปนอกสถานที่อยู่อาศัย วางข้อจำกัดเกี่ยวกับการประกอบอาชีพหรือการงานบางอย่าง หรือเพิ่มเงื่อนไข หรือเพิ่มเติมจำนวนหลักประกันตามที่ศาลเห็นสมควรได้ทุกประการ โดยจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ให้คำมั่นว่าจะมาศาลตามนัดทุกครั้งไม่ให้ขาดแต่อย่างใด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลที่เคารพได้โปรดอนุญาต
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
-
ตัวอย่างอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวคดียาเสพติด
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยพิเคราะห์ว่าข้อหามีอัตราโทษสูง มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี และมีคำสั่งยกคำร้องรายละเอียดปรากฏตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในสำนวนของศาลแล้วนั้น
ข้อ2.ด้วยความเคารพต่อคำสั่งของศาลอุทธรณ์เป็นอย่างสูง จำเลยยังไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าว จึงขอยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย ดังนี้
2.1คดีนี้จำเลยมีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์) มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็บสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไปแต่ไม่เกินยี่สิบกรัมไว้ในความครอบครอง เพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และเสพยาเสพติดให้โทษประเภท1 (เมทแอมเฟตามีน) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
จำเลยขอกราบเรียนต่อศาลฎีกาที่เคารพว่าจำเลยจบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จำเลยจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ณ สำนักทะเบียน อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ จำเลยประกอบอาชีพค้าขายออนไลน์อะไหล่รถยนต์และอุปกรณ์แต่งรถยนต์ รายละเอียดปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายใบสำคัญการสมรสของจำเลยและภาพถ่ายโพสต์ขายอุปกรณ์แต่งรถยนต์ของจำเลย เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1 และ 2
ปัจจุบันจำเลยพักอาศัยอยู่กับภริยา ตาของภริยา และหลานอีกสองคน จำเลยมีบิดาที่ต้องดูแล ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องพาบิดาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ และยังต้องดูแลตาของภริยาที่ป่วยกึ่งติดเตียง จำเลยมีหน้าที่พาตาของภริยาซึ่งมีโรคประจำตัวปอดอักเสบติดเชื้อ และต้องพาตาของภริยาเดินทุกเช้าเย็นเนื่องจากตาของภริยาไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังต้องพาไปพบแพทย์อยู่เป็นประจำ และคอยดูแลเป็นหลักอยู่ทุกวัน นอกจากนี้ จำเลยยังต้องดูแลหลานทั้งสองคน ซึ่งเป็นลูกของพี่ชาย ที่จำเลยรับมาอุปการะเลี้ยงดู ส่งเสียให้การศึกษา คือ หลานชายอายุ 5 ปี ศึกษาอยู่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 และหลานสาวอายุ 6 ปี ศึกษาอยู่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 รวมถึงดูแลภริยาของจำเลยอีกด้วย หากไม่มีจำเลย ครอบครัวของจำเลยจะได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก และหลานทั้งสองก็จะขาดการได้รับการศึกษาที่ดี ส่วนบิดาและตาของภริยาก็จะไม่มีผู้ดูแล ภริยาของจำเลยจะต้องขาดหัวหน้าครอบครัวที่จะพึ่งพาได้ เนื่องจากปัจจุบันจำเลยเป็นหัวหน้าครอบครัวมีหน้าที่ดูแลทุกคนในครอบครัวให้มีความเป็นอยู่ที่ดี รายละเอียดปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายใบรับรองแพทย์ ฉบับลงวันที่ 13 สิงหาคม 2565 ภาพถ่ายตาของภริยาที่จำเลยดูแล และภาพถ่ายจำเลยกับหลาน
ทั้งสองที่อุปการะเลี้ยงดู เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 3 ถึง 5
อีกทั้งจำเลยยังมีภาระหนี้สินที่กู้ยืมมาจากเจ้าหนี้นอกระบบเพื่อนำมาใช้จ่ายภายในครอบครัว ซึ่งต้องชำระทุกวัน วันละ 400 บาท และยังต้องดูแลค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว เช่น ค่าน้ำค่าไฟ หากไม่มีจำเลย จะทำให้ภาระทั้งหมดตกไปอยู่ที่ภริยาของจำเลย ซึ่งไม่สามารถแบกรับภาระทั้งหมดได้แต่เพียงผู้เดียวอย่างแน่นอน
โดยจำเลยเป็นหัวหน้าครอบครัว มีหน้าที่ต้องอุปการะดูแลภริยา บิดา ตาของภริยา และหลานทั้งสองของจำเลย จำเลยประกอบอาชีพค้าขายออนไลน์อะไหล่รถยนต์และอุปกรณ์แต่งรถยนต์ มีรายได้ต่อเดือนประมาณ 28,000-30,000 บาท จำเลยมีหน้าที่ต้องหาเงินมาอุปการะดูแลบุคคลดังกล่าวอยู่ตลอด
สาเหตุที่จำเลยเสพยาเสพติดและครอบครองเพื่อขายนั้น เนื่องจากจำเลยหลงผิดคิดว่าหากเสพยาดังกล่าวแล้วจะทำให้หายจากความเครียดที่จำเลยต้องพบเจอในชีวิตประจำวัน อีกทั้งจำเลยมีหนี้สินที่ต้องชำระเป็นหนี้นอกระบบทุกวัน จำเลยจึงหลงผิดเอายาเสพติดมาจำหน่าย แต่จำเลยไม่ได้จำหน่ายยาเสพติดเป็นอาชีพ เพียงแต่จำหน่ายเพื่อนำเงินมาหมุนในการชำระหนี้นอกระบบ ซึ่งหากจำเลยไม่ชำระหนี้นอกระบบให้ตรงตามกำหนด ครอบครัวของจำเลยที่มีทั้งผู้สูงอายุและเด็กเล็กอาจจะเป็นอันตรายได้ จำเลยจึงหลงผิดและจำเป็นต้องกระทำความผิดเป็นคดีนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเลยถูกฟ้องคดีนี้ จำเลยก็ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก หากจำเลยได้รับการปล่อยตัว จำเลยสัญญาว่าจะไม่กระทำพฤติกรรมดังกล่าวอีก และจะปรับปรุงตนเองให้เป็นคนดีของสังคม ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีกต่อไป และประกอบอาชีพสุจริตเพื่อหาเงินมาดูแลครอบครัวและชำระหนี้สินของตน
ถ้าหากจำเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะทำให้ครอบครัวของจำเลยได้รับความยากลำบาก ภริยา บิดา และตาของภริยาจะขาดการดูแล และหลานทั้งสองจะขาดการอุปการะเลี้ยงดูตามสมควรตามวัย
2.2จำเลยเป็นผู้มีภูมิลำเนาอยู่เป็นหลักแหล่งที่แน่นอน คือ บ้านเลขที่ 72 หมู่ที่ 10 ตำบลขะยูงอำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ รายละเอียดปรากฏตามสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลย เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 6 ปัจจุบันจำเลยได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 2 ตำบลขะยูง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นบ้านที่ ภริยา ตาของภริยา และหลานทั้งสองพักอาศัยอยู่ด้วย จำเลยจึงเป็นหัวหน้าครอบครัวแต่เพียงคนเดียวมีหน้าที่ต้องดูแลครอบครัวให้มีความเป็นอยู่ที่ดี โดยนับแต่วันที่เกิดเหตุคดีนี้จนถึงปัจจุบัน จำเลยก็พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน จึงไม่มีเหตุใดเลยที่จำเลยจะต้องหลบหนี เพราะหากจำเลยมีพฤติการณ์หรือคิดที่จะหลบหนีจริงๆจำเลยอาจจะมีพฤติกาณ์หลบหนีไปนานแล้ว แต่เพื่อความบริสุทธิ์ใจของจำเลยที่จะไม่หลบหนีหรือไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน จำเลยก็อาศัยที่ภูมิลำเนาดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน
ข้อ 3.ด้วยเหตุดังข้าพเจ้าประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพ จึงขอศาลฎีกาที่เคารพโปรดพิพากษากลับให้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยหากศาลฎีกาที่เคารพเห็นสมควรให้วางเงินประกันเป็นจำนวนเท่าใดก็สุดแล้วแต่โดยจำเลยยินยอมที่จะหาเงินมาเท่าจำนวนที่ศาลเห็นสมควร อีกทั้งจำเลยยินยอมใส่กำไล EM หรือเพิ่มหลักประกันตามที่ศาลเห็นสมควรได้ทุกประการ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาต
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ยื่นคำร้องที่ไหน
ธรรมดาแล้วก็จะต้องยื่นที่ศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งนั้นเอง หรืออาจจะยื่นผ่านระบบออนไลน์ cios ก็ได้
อุทธรณ์แล้วเป็นยังไง
หลังจากยื่นอุทธรณ์แล้วศาลชั้นต้นก็จะส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์
แต่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งประมาณ 1-3 วันหลังจากที่เรายื่น
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะโทรตามให้เราไปฟังคำสั่ง
ธรรมดาแล้วถ้าไม่ใช่คดีร้ายแรงจริงๆที่คดียาที่มีจำนวนสูงมากๆ แก๊งเครือข่ายค้ายาเสพติดที่หลบหนีหมายจับมาเป็นเวลานานส่วนใหญ่จะได้รับการประกันตัวหมด
เพียงแต่อาจจะโดนเพิ่มเงื่อนไขหลักประกันเพิ่มขึ้นหรือห้ามเดินทางออกนอกประเทศเป็นต้น
หากศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกลับให้ประกันตัวเราก็สามารถวางเงินหลักประกัน และผู้ต้องหาก็จะได้รับการปล่อยตัวในวันนั้นประมาณ 5-6 โมงเย็น
จากศาลอุทธรณ์ไม่คำสั่งไม่ให้ประกันตัวเราก็สามารถยื่นประกันใหม่ได้เรื่อยๆโดยอาศัยเหตุต่างๆเพิ่มเติมเข้าไปหากมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลง
แต่หากไม่มีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเช่นมีพยานหลักฐานใหม่มีข้อเท็จจริงขึ้นใหม่โอกาสที่ศาลจะให้ประกันตัวก็จะมีน้อย
สรุป
เมื่อศาลชั้นต้นไม่ให้ประกันตัว ทางปฏิบัติแล้วเรามีวิธีการแก้ไขอยู่ 2 วิธีคือการยื่นขอประกันตัวใหม่ กับการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว
การยื่นขอประกันตัวใหม่ควรจะต้องเป็นกรณีที่เราปรากฏพยานหลักฐาน ข้อมูลใหม่ นอกเหนือจากพยานหลักฐานเดิมที่เคยยื่นประกอบการขอประกันตัวครั้งแรกไปแล้ว มิฉะนั้นศาลชั้นต้นจะไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ส่วนวิธีการอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว จะเป็นวิธีการที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพมากกว่า เพียงแต่จะต้องอาศัยข้อมูลพยานฐานและศิลปะในการร่างคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
รับชมคลิปเพิ่มเติม