ค่าเลี้ยงชีพคืออะไร
ค่าเลี้ยงชีพคือเงินที่ศาลสั่งให้คู่สมรสฝ่ายที่ เป็นฝ่ายผิดและทำให้เกิดการหย่าขาดจากกัน ต้องชำระให้กับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่ได้มีส่วนผิดในการหย่า เช่นคู่สมรสฝ่ายที่เป็นฝ่ายประพฤติชั่ว มีเมียน้อย ละทิ้งร้างคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไป หรือกระทำผิดต่างๆ เป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งทนไม่ได้ต้องฟ้องหย่า กฎหมายจึงให้อำนาจคู่สมรสฝ่ายที่ไม่ได้มีส่วนผิดเรียกร้องเงินค่าเลี้ยงชีพภายหลังจากการหย่าไปแล้ว
วัตถุประสงค์ของกฎหมายข้อนี้ เป็นการลงโทษคู่สมรสที่กระทำผิด ทำให้การสมรสสิ้นสุดลง และเป็นการคุ้มครองคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่ได้กระทำความผิดอะไร แต่การสมรสกับต้องสิ้นสุดลงทำให้เกิดความเสียหาย โดยเฉพาะกับฝ่ายผู้หญิง
ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1526
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการฟ้องค่าเลี้ยงชีพ
1.เหตุหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว
ถ้าสาเหตุการหย่าเป็นเพราะความผิดของทั้งสองฝ่าย ตัวอย่างเช่นการสมัครใจแยกกันอยู่ ต่างคนต่างทำร้ายซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างมีชู้ แบบนี้ ถือว่าต่างคนต่างผิดไม่สามารถฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพได้
2.การหย่าทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส
อันนี้เป็นอีกหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่จะใช้ในการฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพ ถึงแม้การเกิดจากความชั่วความผิดของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจนแต่หากไม่ได้ทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งต้องยากจนลง หรือขาดรายได้ที่เคยมีระหว่างสมรสแล้วก็เรียกร้องไม่ได้อะไรคือความยากจนลง ตัวอย่างเช่นสามีภรรยาประกอบธุรกิจทำงานอยู่ด้วยกันเมื่อหย่ากันแล้วภรรยาที่ไม่ได้มีส่วนผิดต้องเลิกประกอบธุรกิจกับสามี ไม่มีรายได้เลี้ยงตัวเอง แบบนี้ก็ถือว่ายากจนลง ฎ.539/2511
3.จะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งเข้าไปในคดีฟ้องหย่าเท่านั้น
จะเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจะต้องกระทำการโดยการฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีเท่านั้น หากไปตกลงจดทะเบียนหย่าขาดจากกัน หรือทำสัญญาประนีประนอมอย่าขาดจากกันในศาล หรือแม้กระทั่งศาลพิพากษาให้หย่ากันแล้วจะมาเรียกร้องทีหลังก็ไม่ได้ จะต้องทำให้เสร็จไปในคราวเดียว
ดุลยพินิจการกำหนดค่าเลี้ยงชีพ
- ศาลจะให้หรือไม่ให้ก็ได้
- ศาลจะให้เท่าไหร่ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับ
- ศาลจะกำหนดให้เป็นงวดๆ ธรรมดาแล้วก็เป็นงวดรายเดือน จะให้เป็นเงินก้อนไม่ได้ยกเว้นแต่มีพฤติการณ์พิเศษ
การขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมค่าเลี้ยงชีพ
ถ้ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปภายหลังจากอย่าขาดไปแล้ว เช่นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยากจน หรือร่ำรวยมากขึ้น หรือกระทั่งมีแฟนใหม่แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แบบนี้ก็สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงค่าเลี้ยงชีพได้ตลอดเวลา โดยยื่นคำร้องให้สามเป็นคนกำหนด
การสิ้นสุดหน้าที่ในการจ่ายค่าเลี้ยงชีพ
- ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต เพราะเป็นสิทธิ-หน้าที่เฉพาะตัวไม่ตกเป็นมรดก
- ฝ่ายที่มีสิทธิ์ได้รับเงินจดทะเบียนสมรสใหม่ ตามมาตรา 1528
สรุป
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 1526 ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับและให้นำบทบัญญัติมาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1598/41 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น
มาตรา ๑๕๒๘ ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพย่อมหมดไป
มาตรา ๑๕๙๘/๓๙ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้
ในกรณีที่ศาลไม่พิพากษาให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะเหตุแต่เพียงอีกฝ่ายหนึ่งไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ในขณะนั้น หากพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป และพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของผู้เรียกร้องอยู่ในสภาพที่ควรได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ผู้เรียกร้องอาจร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งในคดีนั้นใหม่ได้
มาตรา ๑๕๙๘/๔๐ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นให้ชำระเป็นเงินโดยวิธีชำระเป็นครั้งคราวตามกำหนด เว้นแต่คู่กรณีจะตกลงกันให้ชำระเป็นอย่างอื่นหรือโดยวิธีอื่น ถ้าไม่มีการตกลงกันและมีเหตุพิเศษ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอและศาลเห็นสมควร จะกำหนดให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นอย่างอื่นหรือโดยวิธีอื่น โดยจะให้ชำระเป็นเงินด้วยหรือไม่ก็ได้
ในกรณีขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เมื่อมีเหตุพิเศษและศาลเห็นเป็นการสมควรเพื่อประโยชน์แก่บุตร จะกำหนดให้บุตรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยประการใด ๆ นอกจากที่คู่กรณีตกลงกัน หรือนอกจากที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอก็ได้ เช่นให้ไปอยู่ในสถานการศึกษาหรือวิชาชีพ โดยให้ผู้ที่มีหน้าที่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูออกค่าใช้จ่ายในการนี้
มาตรา ๑๕๙๘/๔๑ สิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น จะสละหรือโอนมิได้และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี
รับชมคลิปเพิ่มเติม