เคล็ดลับการกำหนดทฤษฎีประกอบการต่อสู้ในคดีอาญา
การต่อสู้คดีอาญาเป็นกระบวนการที่ต้องมีการวางแผนอย่างละเอียดถี่ถ้วน หนึ่งในเทคนิคสำคัญคือการกำหนด “ทฤษฎีประกอบ” พร้อมกับ “ประเด็นข้อต่อสู้” ที่จะใช้ในการดำเนินคดี เพื่อให้ศาลพิจารณาและตัดสินในแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายจำเลย
การตั้งประเด็นข้อต่อสู้ในคดีอาญา
ในการต่อสู้คดีอาญา จำเลยจะต้องมีการกำหนดประเด็นข้อต่อสู้ที่ชัดเจน ซึ่งประเด็นเหล่านี้อาจมีหลากหลายรูปแบบ เช่น:
- ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ
- อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ไม่ได้กระทำความผิด
- ได้กระทำ แต่ไม่ถึงขั้นผิดตามที่ถูกฟ้อง
- การกระทำไม่ครบองค์ประกอบความผิด
- การกระทำโดยขาดเจตนา หรือเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้ยังมีกรณีอื่น ๆ เช่น การกระทำที่ขาดอายุความ หรือการกระทำที่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย ซึ่งการตั้งประเด็นเหล่านี้จะเป็นแนวทางในการดำเนินคดี
การกำหนดทฤษฎีประกอบการต่อสู้คดี
นอกจากการกำหนดประเด็นข้อต่อสู้แล้ว การกำหนดทฤษฎีในการต่อสู้คดีก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยทฤษฎีนี้จะอธิบายถึงแรงจูงใจหรือเหตุผลที่ทำให้จำเลยถูกกล่าวหา
ว่าสาเหตุที่ทำให้เราถูกดำเนินคดี หรือที่ทำให้เราถูกใส่ร้ายเป็นเพราะอะไร
หมายความว่าเราจะต้องคิดพิจารณา หากเราไม่ได้กระทำความผิดจริง แล้วทำไมฝ่ายตรงข้ามถึงกล่าวหาว่าเรากระทำความผิด
ซึ่งทฤษฎีแรงจูงใจอาจเกิดได้หลายประการเช่น
- มีสาเหตุโกรธเคือง
- มีความอิจฉาริษยา
- ต้องการกลั่นแกล้ง
- ทำเพื่อให้ตัวเองได้รับประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง
- เกิดจากความเข้าใจผิด
- ต้องการเรียกร้องผลประโยชน์
ตัวอย่างการตั้งทฤษฎี
ต่อสู้ว่าไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ
- ผู้เสียหายหรือพยานอาจจะจดจำผิดพลาด ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น แสงไฟ ระยะทาง จังหวะมุมมองที่เห็น ระยะเวลาที่เห็น
- ผู้เสียหายหรือพยานอาจจะรับฟังมาจากคนอื่น
- ผู้เสียหายหรือพยานอาจจะคาดเดาเอาเองว่าเราอยู่ในที่เกิดเหตุเพราะเห็นเราเป็นเพื่อนอยู่ในกลุ่มผู้ก่อเหตุ
ต่อสู้คดีว่าอยู่ในที่เกิดเหตุไม่ได้ลงมือกระทำความผิด
- ผู้เสียหายเห็นเรามากับกลุ่มผู้ก่อเหตุ หรือรู้จักอยู่ในกลุ่มผู้ก่อเหตุ จึงคาดเดาเอาว่าเรามีส่วนร่วมในการลงมือ
- ผู้เสียหายอาจจะมองผิดพลาด หรือเข้าใจผิด
- ผู้เสียหายอาจจะไปรับฟังจากข่าวหรือมโนเอง
คดีข่มขืน คดีพรากผู้เยาว์ ต่อสู้ว่าเป็นเรื่องสมยอม
- ตอนมีอะไรกันยินยอม แต่พ่อแม่จับได้ จึงถูกบังคับให้มาแจ้งความ
- ตอนมีอะไรกันยินยอม แต่พอแฟนของตัวเองจับได้ จึงจำยอมกึ่งบังคับให้ต้องมาแจ้งความ
- ตอนมีอะไรกันสมยอม แต่ตอนหลังผิดใจกัน เช่นไม่ยอมคบหาต่อ หรือทราบว่ามีคนอื่น ก็เลยมาแจ้งว่าเป็นเรื่องข่มขืน
- ตั้งใจจะแบล็คเมล์เรียกร้องเงินมาตั้งแต่แรก
- อยากเป็นข่าวอยากได้ชื่อเสียงเพราะผู้ชายมีชื่อเสียงทางสังคม
คดียาเสพติด
อย่างน้อยเราต้องมีทฤษฎีว่าถ้าเราไม่ได้ทำผิดจริง ตำรวจจะใส่ร้ายเราทำไม เช่น
- ตำรวจอาจจะเกิดจากการเข้าใจผิด ได้ข้อมูลผิดจากสายลับ
- ตำรวจเชื่อว่าเราขายยาจริง แต่ไม่มีหลักฐานจึงสร้างเรื่องใส่ร้าย
- พฤติการณ์เราอาจจะชวนให้สงสัย แต่ไม่ถึงขั้นกระทำความผิด
- ตำรวจเคยเรียกรับผลประโยชน์จากเรา หรือต้องการให้เราเป็นสายล่อซื้อแล้วไม่ได้ เลยมาสร้างเรื่องใส่ร้าย
คดีฉ้อโกง สู้ว่าไม่มีเจตนากระทำความผิด
ความจริงแล้วเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ผู้เสียหายต้องการเอาคดีอาญามาบีบ แล้วผู้เสียหายเป็นผู้มีอิทธิพลที่สามารถบีบบังคับให้ตำรวจดำเนินคดีได้
คดียักยอก – ลักทรัพย์
เราสู้ว่าเราไม่ได้เอาทรัพย์สินไปเราก็อาจจะตั้งทฤษฎีว่า
- หายไปจากกระบวนการผลิต
- การลงบัญชีผิดพลาด
- มีโอกาสที่บุคคลอื่นจะเอาทรัพย์สินไป
ประโยชน์ของการตั้งทฤษฎีในการต่อสู้คดี
- เป็นแนวทางในการหาพยานหลักฐาน: การตั้งทฤษฎีช่วยให้การหาพยานหลักฐานมีทิศทางและความชัดเจนมากขึ้น ทั้งในชั้นสอบสวนและในระหว่างการพิจารณาคดี
- ใช้ในการถามค้านพยานฝ่ายตรงข้าม: การตั้งทฤษฎีจะช่วยให้สามารถวางแผนในการถามค้านพยานของฝ่ายโจทก์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ทำให้ศาลเข้าใจรูปคดีง่ายขึ้น: ทฤษฎีที่ชัดเจนจะช่วยให้ศาลมีความเข้าใจในมูลเหตุหรือแรงจูงใจที่อาจจะทำให้จำเลยถูกกล่าวหา
ทั้งเพราะถ้าหากศาลไม่เข้าใจว่ามีทฤษฎีหรือมีเหตุอะไรที่ทำให้เราจะต้องถูกใส่ร้ายถูกดำเนินคดี ศาลก็มักจะเชื่อถือพยานของฝ่ายโจทก์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรืออัยการ ว่าน่าจะทำหน้าที่ไปโดยสุจริต และหากเราไม่ผิดจริงก็คงจะไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเข้ามา
โดยจะปรากฏในคำพิพากษาของศาลอยู่หลายคดีในทำนองว่า
- ผู้เสียหายและพยานไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนไม่มีสาเหตุจะต้องใส่ร้าย
- ผู้เสียหายเป็นหญิง หากไม่ใช่เรื่องจริงคงไม่เอาความเท็จมากล่าวเพื่อใส่ร้ายจำเลย
- พยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพนักงานของรัฐปฏิบัติการไปตามหน้าที่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองไม่มีเรื่องที่จะต้องใส่ร้าย
แต่ถ้าเกิดเราสามารถหาทฤษฎีหรือข้อจูงใจที่เหมาะสม หรือสอดคล้องกับรูปคดีก็จะทำให้ศาลเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า มันเป็นเพราะอะไรเราถึงได้ถูกดำเนินคดีทั้งๆที่ไม่ได้กระทำผิด .ซึ่งอาจจะเกิดจากสาเหตุจงใจของพยานหรือผู้เสียหายหรือเกิดจากความเข้าใจผิดก็ได้ และลดโอกาสที่ศาลจะเชื่อถือพยานของฝ่ายโจทก์ รวมทั้งเชื่อถือข้อต่อสู้ของเราได้ง่ายขึ้น
วิธีการหาแรงจูงใจของฝ่ายตรงข้าม
หลังจากสอบข้อเท็จจริงของคดีแล้ว การมองหาว่าแรงจูงใจของฝ่ายตรงข้ามคืออะไรเป็นสิ่งสำคัญ หากจำเลยไม่ได้กระทำความผิดจริง ควรพิจารณาว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ฝ่ายโจทก์แจ้งความหรือต้องการดำเนินคดี โดยใช้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเป็นฐานในการกำหนดทฤษฎี
เช่น
- คิดว่าเราไม่ได้ถูกข่มขืนจริงๆมันจะมีสาเหตุอะไรบ้างที่เราจะต้องไปแจ้งความ
- ถ้าเราไม่ได้ถูกจำเลยทำร้ายมันจะมี สาเหตุอะไรบ้างที่เราจะต้องไปแจ้งความจำเลย
- จำเลยไม่ได้เป็นคนเอาทรัพย์สินของผู้ชายหายไปมันจะมีเหตุอะไรไหมที่จะทำให้ผู้เสียหายเข้าใจผิดว่าจำเลยเป็นคนเอาไป.
- จากนั้นก็มาดูตั้งสมมติฐานไว้หลายๆข้อ แล้วก็เอามาเป็นฐานตั้งของการต่อสู้คดี
สรุป
ในการต่อสู้คดีอาญานอกจากเราจะต้องหาประเด็นข้อต่อสู้ที่เหมาะสมกับรูปคดีแล้ว อย่าลืมคิดต่อไปว่า มันมีสาเหตุหรือแรงจูงใจอะไรที่อยู่เบื้องหลังที่ทำให้เราถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด อย่าลืมเอาแรงจูงใจมาตั้งเป็นทฤษฎีในการต่อสู้ เพื่อใช้เป็นไกด์ไลน์แนวทางในการทำงานของเราด้วยครับ ยกเว้นบางคดี ที่เรารับข้อเท็จจริงเกือบหมดและสู้ในเรื่องข้อกฎหมาย เช่นการต่อสู้คดีว่าการกระทำของเราไม่ครบองค์ประกอบความผิด การกระทำของเราทำโดยขาดเจตนา ต่อสู้คดีโดยป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย คดีอุบัติเหตุ คดีประมาท