การแจ้งความดำเนินคดีอาญา vs การจ้างทนายฟ้องเอง: เลือกแบบไหนดีกว่ากัน?
เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่คุณต้องตกเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา ไม่ว่าจะเป็นกรณีทำร้ายร่างกาย หมิ่นประมาท ลักทรัพย์ ยักยอก หรือคดีตาม พ.ร.บ. ต่าง ๆ เช่น พ.ร.บ. เช็คฯ หรือ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฯลฯ คุณอาจต้องตัดสินใจเลือกเส้นทางในการดำเนินคดีอาญา ซึ่งหลัก ๆ แล้วมีสองทางเลือก คือ
- แจ้งความร้องทุกข์ให้ตำรวจดำเนินคดี
- จ้างทนายความฟ้องคดีเอง
หลายคนอาจสงสัยว่าแต่ละวิธีมีความแตกต่างกันอย่างไร และวิธีไหนจะเหมาะสมกับคดีของคุณมากที่สุด เรามาดูกันว่าการเลือกใช้แต่ละวิธีมีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง
1 ความรวดเร็วในการดำเนินคดี
การว่าจ้างทนายความฟ้องคดี โดยรวมแล้วจะมีความรวดเร็วในการดำเนินคดีกว่ากรณีแจ้งความให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี ทั้งนี้เพราะพนักงานสอบสวนเองก็มีงานในความรับผิดชอบมากอยู่แล้ว แต่ละวันก็มีคดีในความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นทุกวัน บางท้องที่มีคดีจำนวนมากแต่มีพนักงานสอบสวนน้อยคนดังนั้นในการทำคดีมักเกิดปัญหาความล่าช้าในการดำเนินคดีบ่อยครั้ง
2.การถอนฟ้องหรือเจรจายอมความ
การว่าจ้างทนายความฟ้องคดีสามารถถอนฟ้องได้ตลอดเวลา แม้เป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ ซึ่งจะทำให้การเจรจาไกล่เกลี่ยเรื่องค่าเสียหายระหว่างผู้เสียหายและจำเลยทำได้ง่ายกว่า เพราะสามารถต่อรองให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแลกกับการถอนฟ้องได้ แตกต่างจากการมอบหมายให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี ซึ่งหากคดีนั้นเป็นความผิดต่อแผ่นดินอันยอมความไม่ได้ ถึงแม้ผู้เสียหายและจำเลยจะเจรจาเรื่องค่าเสียหายกันลงตัว แต่อัยการก็ไม่อาจถอนฟ้องคดีได้ ทำให้การเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นไปได้ยาก และอาจทำให้จำเลยจำต้องสู้คดีแบบหัวชนฝา
3.การแสวงหาพยานหลักฐานประกอบคดี
ในการว่าจ้างทนายความฟ้องคดีนั้น การแสวงหาพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดีของทนายความค่อนข้างจะลำบาก เพราะทนายความไม่มีอำนาจออกหมายเรียกพยานมาให้ข้อเท็จจริงได้ ในการทำงานของทนายความจึงทำได้แค่ขอความร่วมมือให้พยานให้ข้อเท็จจริง อีกทั้งยังมีความยุ่งยากในการแสวงหาพยานหลักฐานในทางเทคนิค เช่นพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่น เขม่าดินปืน ผลตรวจ dna หรือพยานวัตถุ เช่นการตรวจสอบกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ การตรวจสอบบันทึกหลักฐานต่างๆ เพราะทนายความไม่มีอำนาจในการแสวงหาพยานหลักฐานเหล่านี้ก่อนยื่นฟ้องคดี แตกต่างจากพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจหมายเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำเป็นพยาน และหมายเรียกพยานเอกสารและพยานวัตถุต่างๆมาประกอบการดำเนินคดีได้ การดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนจึงมีประสิทธิภาพมากกว่า ในแง่ของการแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐาน
4.การใส่ใจดูแลคดี
ธรรมดาแล้วพนักงานสอบสวนมีคดีต่างๆอยู่ในความรับผิดชอบเป็นจำนวนมาก ประกอบกับปัญหาปัจจุบันพนักงานสอบสวนมีไม่พอกับปริมาณงาน ดังนั้นแล้วในคดีที่มีความซับซ้อนมีเอกสารเป็นจำนวนมากพนักงานสอบสวนก็อาจจะไม่มีเวลามาดูแลคดีให้กับคุณอย่างเต็มที่ แต่หากเป็นทนายความ ซึ่งมีทีมงานหรือมีความชำนาญในคดีต่างๆก็อาจจะมีเวลาในการตรวจสอบพยานหลักฐานและให้เวลาในการเตรียมคดีให้กับคุณได้มากกว่า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับทนายความแต่ละคนอีกเช่นกัน
5.ค่าใช้จ่ายดำเนินคดี
การว่าจ้างทนายความฟ้องคดี มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีสูงกว่ามอบหมายให้คดีพนักงานสอบสวน ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
สรุป
ดังนั้นแล้ว เมื่อมีคดีอาญาเกิดขึ้น และท่านตกเป็นผู้เสียหายในคดีนั้น ท่านย่อมมีทางเลือกที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้สองทางด้วยกัน คือการแจ้งความร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนและอัยการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา และการว่าจ้างให้ทนายความฟ้องคดีอาญาเอากับผู้ต้องหาโดยตรง
ซึ่งการจะใช้วิธีการแบบไหนนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับรูปคดีของท่านและพฤติการณ์ต่างๆประกอบกัน
กล่าวคือ หากคดีนั้นเป็นคดีที่ไม่สลับซับซ้อนมีหลักฐานทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารครบพร้อมที่จะฟ้องคดีอยู่แล้ว เช่น ความผิด ตาม พ.ร.บ.เช็ค ความผิดฐานยักยอก ลักทรัพย์ ฉ้อโกง ปลอมเอกสาร หมิ่นประมาท ฯลฯ และท่านต้องการความรวดเร็วในการดำเนินคดี ก็สามารถมอบหมายให้ทนายความยื่นฟ้องคดีได้
แต่หากความผิดนั้นเป็นความผิดที่ยุ่งยากซับซ้อน พยานหลักฐานยังไม่ชัดเจน ต้องอาศัยหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ประกอบการดำเนินคดี เช่น ความผิดข้อหา ฆ่า ข่มขืน วางเพลิงเผาทรัพย์ ฯลฯ ก็ควรแจ้งความร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี
โดยอาจว่าจ้างทนายความให้ช่วยดูแลคดีในชั้นสอบสวน และเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลแล้วก็สามารถมอบหมายให้ทนายความยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีเพื่อดูแลคดีของท่านในชั้นศาลร่วมกับพนักงานอัยการก็ได้