ถ้าเรารับซื้อของโจรมาโดยไม่ รู้เลยจริงๆว่า มันเป็นของที่ได้มาจากการกระทำความผิด
แบบนี้ถึงเวลาถ้าเจ้าของเขามาตามคืน หรือตำรวจมาตามยึด เราจะต้องคืนเขาไหม?
แล้วถ้าเกิดเราได้ขายไปแล้วทรัพย์สินมันไม่อยู่แล้วเราจะต้องทำยังไง
วันนี้เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆครับ ?
ถ้าหากเรารับซื้อของไม่ว่าจะเป็นพระเครื่อง แก้วแหวนเงินทอง โทรศัพท์มือถืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือทรัพย์สินประเภทอื่นๆ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผิดกฎหมาย แบบนี้ถือว่าเรามีความผิดอาญา ฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357
ซึ่งแน่นอนเรามีหน้าที่จะต้องคืนหรือชดใช้ราคาแทนทรัพย์สินให้กับผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายเข้ามาติดตามเอาคืน หรือถ้าทรัพย์สินไม่อยู่แล้วก็ต้องชดใช้เงินแทนให้กับเขาไป
แต่ถ้าเรากระทำการโดยสุจริต รับซื้อของไว้ ไว้โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นของโจร แบบนี้เรายังจะมีหน้าที่จะต้องคืนทรัพย์สินให้กับผู้เสียหายหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ วันนี้ผม ทนายเพชร เอกสิทธิ์ ศรีสังข์ จะมาอธิบายข้อกฎหมายการให้ฟังแบบละเอียดเลยครับ
ข้อกฎหมาย
ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวก็ต้องไปดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่อง “ทรัพย์สิน”
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1332 บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา
เราจะพูดถึงกรณีเป็นการซื้อขายแบบปกติจากบุคคลหรือร้านค้าทั่วไปเท่านั้น สำหรับเรื่องการขายทอดตลาด เราจะไม่พูดถึงในที่นี้
หลักกฎหมายดังกล่าวได้ใจความสรุปอยู่ว่า หากเราซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในท้องตลาดหรือจากพ่อค้าที่ขายสินค้าประเภทนั้น เราจะได้รับความคุ้มครองพิเศษตามกฎหมาย
ดังนั้นหลักเบื้องต้นในการพิจารณาการได้รับความคุ้มครองพิเศษตามกฎหมาย คือ
- ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริต
- ซื้อจากท้องตลาด หรือ
- ซื้อจากพ่อค้าที่ขายสินค้าชนิดนั้น
1.คำว่าซื้อทรัพย์สินโดยสุจริต หมายถึงอะไร
หลักการซื้อทรัพย์สินโดยสุจริต สามารถใช้หลักการเดียวกับที่ศาลใช้วินิจฉัยในคดีรับของโจรก็คือการวิเคราะห์จากปัจจัยต่างๆเหล่านี้
- ราคาที่รับซื้อ
- อาชีพและความชำนาญของผู้ซื้อ
- ลักษณะผู้ขายว่ามีความน่าเชื่อถือแค่ไหน
- สภาพของสินค้าว่ามีพิรุธหรือไม่
- เป็นทรัพย์สินที่มีทะเบียนหรือไม่
- ได้กระทำการโดยเปิดเผยไหม
- สถานที่ทำการซื้อขาย
ซึ่งศาลก็มีหลากหลายอย่างในการพิจารณาซึ่งผมเคยได้อธิบายไว้แล้วว่าแบบไหนที่ศาลจะวิเคราะห์ว่าเป็นความผิดฐานรับของโจร แล้วแบบไหนที่ศาลมักจะพิจารณาว่าซื้อไว้โดยสุจริตไปติดตามคลิปกันได้
อ้างอิงบทความจากในเว็บไซต์
2.คำว่าซื้อจากท้องตลาด หมายถึงอะไร
คำว่าท้องตลาดหรือ Open Market หมายถึงที่ชุมนุมแห่งการค้าซึ่งเขามีสินค้ามาเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปโดยปกติ
ทั้งนี้การซื้อสินค้าจากท้องตลาดต้องดูว่าท้องตลาดนั้นเป็นท้องตลาดขายสินค้าชนิดใด เมื่อซื้อสินค้าชนิดนั้นจากตลาดนั้นย่อมได้รับความคุ้มครอง
ตัวอย่างเช่น
- สี่แยกคอกวัวเป็นท้องตลาดขายสลากกินแบ่งรัฐบาล
- วังบูรพา เป็นสถานที่ขายกระสุนปืน อาวุธปืน และอุปกรณ์ต่างๆเกี่ยวกับอาวุธปืน เช่นศูนย์เลเซอร์ ซองปืน
- ตลาดอ.ต.ก เป็นตลาดสำหรับงานซื้อขายต้นไม้ต่างๆ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 185/2508
คำว่า ท้องตลาด ตามมาตรา 1332 หมายถึง’ที่ชุมนุมแห่งการค้า’ ที่ใดเป็นที่ชุมนุมการค้าหรือไม่ย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ ไป
กรณีซื้อในตลาดแต่ซื้อผิดประเภท
อย่างไรก็ตามหากเป็นการซื้อสินค้าผิดประเภท จากท้องตลาด ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง เช่นไปซื้ออาวุธปืนหรือกระสุนปืนที่สี่แยกคอกวัว หรือไปซื้อหวยที่วังบูรพา
พ่อค้าในท้องตลาดรับซื้อของจากคนที่มาขาย ไม่ใช่เป็นการไปเดินซื้อในตลาด
เปิดร้านรับซื้ออยู่ในท้องตลาดที่ขายสินค้าในประเภทนั้น และมีคนเอาสินค้ามาขายที่ร้านของตนเอง ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้ขายสินค้าประเภทนั้นเป็นปกติไม่ได้รับความคุ้มครอง ฎ.847/2486 ฎ.655/2510
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3110/2539
การซื้อทรัพย์ในท้องตลาดหมายถึงการซื้อทรัพย์จากร้านค้าที่ตั้งอยู่ในท้องตลาดไม่ใช่เป็นการที่ร้านค้าซึ่งตั้งอยู่ในท้องตลาดซื้อทรัพย์จากบุคคลที่นำมาขายให้แก่ร้านค้านั้นจำเลยตั้งร้านค้าอยู่ในท้องตลาดซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลของโจทก์ที่ถูกคนร้ายลักไปจากผู้ที่นำมาขายถือไม่ได้ว่าจำเลยซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลในท้องตลาด
3.ค่าว่าซื้อจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น หมายถึงอะไร
คำว่าพ่อค้าที่ขายของชนิดนั้น อาจารย์บัญญัติ สุชีวะ ได้ให้ความหมายไว้ว่า ผู้ที่ประกอบอาชีพในทางซื้อขายของประเภทนั้นหรือชนิดนั้นๆเป็นปกติธุระไม่ใช่ทำเพียงชั่วครั้งชั่วคราว
ฎ.706/2492 ฎ.1120/2495 ฎ.680/25110 ฎ.377/2522
หรือพูดง่ายๆคือเป็นการซื้อสินค้าจากคนที่มีสัมมาอาชีพในการขายสินค้าประเภทนั้นเป็นปกติอยู่แล้ว
กรณีซื้อแบบนี้ถือว่าได้รับความคุ้มครองพิเศษตามกฎหมาย
ทั้งนี้การเป็นพ่อค้าถือเอาตามความเป็นจริงเป็นหลัก ไม่จำเป็นจะต้องมีการจดทะเบียน มีใบอนุญาต หรือถึงขั้นมีหน้าร้าน
เช่น พ่อค้าขายพระ แม่ค้าขายมือถือ เซลล์ขายสินค้าประเภทนั้น เป็นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6500/2540
โจทก์ซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพ่อค้าประกอบธุรกิจซื้อขายรถยนต์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นพ่อค้ารถยนต์อันถือได้ว่าเป็นพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ส่วนการที่จำเลยที่ 1มิได้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์คันพิพาทก็ดี จำเลยที่ 1 มิได้ประกอบการค้ารถยนต์โดยชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีทะเบียนการค้าทะเบียนพาณิชย์และใบอนุญาตค้าของเก่าก็ดี จำเลยที่ 1มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็ดี และจำเลยที่ 1 ไม่มีรถยนต์คันพิพาทอยู่ในความครอบครองที่สถานประกอบการของตนในขณะที่ โจทก์ตกลงซื้อกับจำเลยที่ 1 ก็ดี หาใช่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ในสถานะดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปไม่
กรณีเป็นการรับซื้อแบบผิดประเภทเช่น
- ซื้อพระจากพ่อค้าขายมือถือ
- ซื้อมือถือจากพ่อค้าขายพระ
- ซื้อวัสดุก่อสร้างจากเซลล์ขายเครื่องกรองน้ำ
แบบนี้ก็ไม่ถือว่าซื้อสินค้าจากพ่อค้าขายของชนิดนั้น
กรณีพ่อค้าซื้อสินค้าจากลูกค้า
ถ้าเราเปิดร้านรับซื้อของเก่า เปิดร้านทอง เปิดร้านเพชร เปิดร้านขายคอมพิวเตอร์ แล้วไปรับซื้อจากลูกค้าซึ่งโดยปกติแล้วลูกค้าเหล่านั้นไม่ได้มีอาชีพในการขายสินค้าประเภทนั้น ย่อมไม่ถือว่าเป็นการซื้อจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น เพราะตัวเราน่ะเป็นพ่อค้า แต่คนขายไม่ได้เป็นพ่อค้าด้วยครับ
สรุปหลักในเรื่องการได้รับความคุ้มครอง ม.1332 /
หลักในเรื่องการพิจารณาคืนทรัพย์สิน เราจะต้องพิจารณาเรื่อง “ สุจริต “ ก่อนเสมอ
เพราะว่าถ้าซื้อมาโดยไม่สุจริตแล้ว ยังไงก็ต้องคืนทรัพย์สินให้กับเจ้าของไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และยังจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาข้อหารับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 อีก
สมมุติว่าพิจารณาผ่านแล้วว่าเป็นการซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าเป็นการซื้อจากที่ไหน และซื้อจากใคร
ถ้าเป็นการซื้อจากท้องตลาดหรือซื้อจากพ่อค้าที่ขายสินค้าประเภทนั้น จะได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ
แต่ถ้าเป็นการซื้อจากบุคคลหรือสถานที่อื่นนอกเหนือจากนี้ ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ
ซึ่งเดี๋ยวจะอธิบายต่อไปว่าคุ้มครองขนาดไหน
สรุปผลในการซื้อแต่ละประเภท
มี 3 ประเภทด้วยกัน และมีผลแตกต่างกัน
- ซื้อทรัพย์สินโดยไม่สุจริต
- ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตและได้รับความคุ้มครองพิเศษ
- ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตแต่ไม่ได้รับความคุ้มครองพิเศษ
1.ซื้อทรัพย์สินโดยไม่สุจริต
ทรัพย์สินยังอยู่
- กรณีแบบนี้จะต้องคืนทรัพย์สินให้กับเจ้าของเขา
- ไม่มีสิทธิ์ที่จะต่อรองขอคืนเงินที่ได้จ่ายไปให้กับผู้ขายคืน
- เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดทรัพย์ไปเป็นของกลางได้
- เจ้าของทรัพย์รับทรัพย์คืนจากตำรวจได้
- ศาลสั่งคืนของกลางได้
- มีความผิดคดีอาญาข้อหารับของโจรด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 242/2511
ผู้ร้องรับซื้อไม้จากจำเลยซึ่งเป็นพ่อค้าไม้ โดยมีพฤติการณ์ที่ยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องสุจริต. ผู้ร้องจะยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1329,1332 ขึ้นมาอ้างเพื่อยึดถือไม้ไว้หาได้ไม่.
ทรัพย์สินไม่อยู่แล้ว
- กรณีแบบนี้ก็ต้องชดใช้เงินคืนแทนให้กับเจ้าของแทนการคืนทรัพย์สิน
- ไม่มีสิทธิ์หักเงินที่ตนเองได้จ่ายไปให้กับผู้ขาย
- มีความผิดคดีอาญาข้อหารับของโจรด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 881 – 882/2509
จำเลยซื้อโคของกลางจากตลาดซื้อขายโคกระบือ โดยไม่มีตั๋วพิมพ์รูปพรรณแต่ปรากฏว่าโคนั้นมีอายุ 10 กว่าปีใช้งานได้ และมีตั๋วพิมพ์รูปพรรณแล้ว ทั้งพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ.2482 มาตรา 8 ก็บังคับไว้ว่าโคที่ใช้งานได้แล้วให้นำไปจดทะเบียนทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณเป็นการแสดงว่าจำเลยย่อมจะรู้ว่าโคนั้นมีตั๋วพิมพ์รูปพรรณแล้ว การที่จำเลยซื้อไว้โดยอ้างว่าไม่มีตั๋วพิมพ์รูปพรรณจึงเป็นพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริต จะยกขึ้นโต้แย้งกรรมสิทธิ์ของเจ้าของโคหาได้ไม่
กรณีซื้อทรัพย์สินโดยสุจริต ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ
ทรัพย์สินยังอยู่
กรณีเจ้าของทรัพย์สินมาเรียกเอาทรัพย์สินคืน
- ไม่ต้องคืนทรัพย์ให้กับเจ้าของ
- ยกเว้นแต่เจ้าของชดใช้ราคา
- เรียกราคาได้เท่ากับที่ตนเองซื้อมาเท่านั้น บวกกำไรไม่ได้
- ได้รับความคุ้มครองไม่ผิดข้อหารับของโจร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1928/2534
จำเลยรับซื้อสินค้าไว้โดยไม่มีพฤติการณ์ใดส่อให้เห็นว่าเป็นการรับซื้อไว้โดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่ ร. ฉ้อโกงมาจากโจทก์ร่วม เป็นการซื้อไว้โดยสุจริตย่อมไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร การที่จำเลยรับซื้อสินค้าของโจทก์ร่วมไว้จาก ร.พนักงานขายของโจทก์ร่วมถือได้ว่าเป็นการซื้อสินค้าไว้จาก ร.ผู้ขายสินค้าชนิดนั้น เมื่อจำเลยซื้อมาโดยสุจริตและไม่ปรากฎว่าโจทก์ร่วมเสนอชดใช้ราคาให้ จำเลยจึงไม่จำต้องคืนสินค้าของกลางหรือชดใช้ราคาสินค้านั้นให้แก่โจทก์ร่วม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1052/2524 วินิจฉัยทำนองเดียวกัน
กรณีตำรวจยึดทรัพย์ไว้เป็นของกลาง
- ทางปฏิบัติหลายๆกรณี เจ้าของทรัพย์ใช้วิธีการให้ตำรวจใช้อำนาจตามกฎหมายยึดทรัพย์ดังกล่าวไว้เป็นของกลาง
- ตำรวจมีอำนาจยึดทรัพย์ไว้เป็นของกลางประกอบคดีได้ ตาม ปวิอ ม.132
- ถ้าตำรวจมายึดหรือมีหนังสือให้นำส่งไปเป็นของกลางก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
- เมื่อยึดแล้วตำรวจอาจใช้ดุลยพินิจส่งคืนทรัพย์ให้เจ้าของ / หรือยึดไว้เป็นหลักฐานถึงในชั้นพิจารณาก็ได้
- ผู้ซื้อน่าจะมีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอคืนของกลางต่อศาลได้
- ถ้าเจ้าของทรัพย์รับทรัพย์สินคืนจากตำรวจไปแล้ว ผู้เสียหายก็มีสิทธิ์ฟ้องเรียกทรัพย์คืนหรือเรียกค่าเสียหายเท่ากับจำนวนเงินที่ตนเองซื้อมาจากเจ้าของทรัพย์ได้ เทียบเคียง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 390/2518
- ถ้าผู้ซื้อไม่มีสิทธิ์เลยกฎหมายมาตรา 1332 นี้ก็คงจะถูกหลีกเลี่ยงไม่ให้ใช้โดยอาศัยอำนาจตามปวิอาญาเข้ามาแทน
- หรือผู้ซื้อจะไม่ใช้สิทธิ์เรียกร้องเอากับเจ้าของทรัพย์แต่ไปฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาจากผู้ขาย ฎ.2292/2515
หลักกฎหมาย
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๒ เพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมหลักฐาน ให้พนักงาสอบสวนมีอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๒) ค้นเพื่อพบสิ่งของ ซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทำผิด หรือได้ใช้หรือสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำผิด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยค้น
(๓) หมายเรียกบุคคลซึ่งครอบครองสิ่งของ ซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ แต่บุคคลที่ถูกหมายเรียกไม่จำต้องมาเอง เมื่อจัดส่งสิ่งของมาตามหมายแล้ว ให้ถือเสมือนว่าได้ปฏิบัติตามหมาย
(๔) ยึดไว้ซึ่งสิ่งของที่ค้นพบหรือส่งมาดังกล่าวไว้ในอนุมาตรา (๒) และ (๓)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10499/2555
โจทก์เป็นผู้ซื้อรถคันพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตรวจสอบทราบตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2543 แล้วว่าโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อรถคันพิพาทได้ไปจากบริษัท จ. ก็ควรจะไปขอคืนรถคันพิพาทจากโจทก์โดยการเตรียมเงินไปชดใช้ราคาที่ซื้อมาให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับใช้วิธีไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีในวันดังกล่าวแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ผู้เช่าซื้อ ในข้อหายักยอกรถคันพิพาท ทั้งที่ได้มีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2542 แล้ว และปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยนานถึง 1 ปี 4 เดือนเศษ เพิ่งจะมาแจ้งความร้องทุกข์ภายหลังจากทราบแล้วว่าโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อรถคันพิพาทไปจากบริษัท จ. พฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 โดยจงใจอาศัยอำนาจของเจ้าพนักงานในการที่จะปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. ว่าด้วยการค้นและยึดสิ่งของใด ๆ ซึ่งน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีข้อหายักยอกที่เพิ่งแจ้งความร้องทุกข์ในภายหลังมายึดรถคันพิพาทไป
จำเลยที่ 1 จะใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รถคันพิพาทเพื่อติดตามและเอารถคันพิพาทคืนจากโจทก์ไม่ได้ เว้นแต่จำเลยที่ 1 จะได้ชดใช้ราคารถคันพิพาทแก่โจทก์ เพราะสิทธิของจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ตกอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 1332 และแม้ว่ารถคันพิพาทจะเป็นรถคันเดียวกับรถคันที่จำเลยที่ 1 ให้เช่าซื้อไปในคดีข้อหายักยอก อันน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่ก็มีผลสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รถคันพิพาทเช่นกัน โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองดังกล่าว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการผู้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำการแทนในการยึดรถคันพิพาทจากโจทก์โดยไม่ชดใช้ราคาที่ซื้อมา จึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2922/2522
แม้จะปรากฏว่าทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นของโจทก์ไม่ใช่ของจำเลย แต่ผู้ร้องได้ซื้อมาโดยสุจริตในท้องตลาดผู้ร้องไม่จำต้องคืนให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของแท้จริงเว้นแต่ โจทก์จะชดใช้ราคาที่ซื้อมา ซึ่งเป็นสิทธิอย่างหนึ่งที่ผู้ร้องได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 โจทก์จึงนำยึดทรัพย์ดังกล่าวโดยไม่ชดใช้ราคา ที่ผู้ร้องซื้อมาไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 225/2538
ในคดีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริตจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นโจทก์มีสิทธิครอบครองรถยนต์พิพาทในฐานะผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จำเลยไม่ได้ชดใช้ราคารถยนต์ไม่มีสิทธิติดตามเอาคืนจากโจทก์พิพากษาให้จำเลยเพิกถอนการแจ้งอายัดรถยนต์พิพาทและยกฟ้องแย้งของจำเลยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกาเพียงขอให้ยกฟ้องโจทก์โดยไม่ขอให้บังคับคดีตามฟ้องแย้งของจำเลยดังนี้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งถึงที่สุดและผูกพันจำเลยจึงต้องฟังว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองรถยนต์พิพาทจำเลยไม่มีสิทธิติดตามเอาคืนโดยไม่ชดใช้ราคารถยนต์ให้โจทก์ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยเพิกถอนการอายัดรถยนต์พิพาทจึงรับฟังไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 390/2518
โจทก์ซื้อรถจักรยานยนต์จากร้านจำเลยร่วม ต่อมาความปรากฏว่ารถคันนั้นเป็นของ ค.ที่หายไป ตำรวจจับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการร้านจำเลยร่วมเป็นผู้ต้องหาฐานรับของโจทก์และยึดรถคันดังกล่าวไว้ ดังนี้แม้โจทก์จะได้รถจักรยานยนต์จากการซื้อขายในท้องตลาดและมีสิทธิที่จะติดตามเอารถคืนได้ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏชัดแจ้งแล้วว่ารถเป็นของ ค.ที่หายไป ซึ่งโจทก์จะต้องคืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริงและพนักงานสอบสวนคดีที่จำเลยต้องหาว่ารับของโจรนั้นก็ว่า ถึงโจทก์จะไปขอรับรถจักรยานยนต์นั้นคืนก็ไม่คืนให้ จำเลยในฐานะผู้ขายจึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะทรัพย์สินที่ซื้อขายหลุดไปจากโจทก์ เพราะเหตุแห่งการรอนสิทธิตามมาตรา 479 และแม้โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องเอารถคืนหรือขอให้ชดใช้ราคาจากบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าของรถโดยตรงตามมาตรา 1332 ก็มิได้หมายความว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องจากจำเลยในเหตุรอนสิทธิไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามไว้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2292/2515
โจทก์ซื้อรถยนต์โดยสุจริตจากจำเลยซึ่งเป็นพ่อค้าผู้ขายของชนิดนั้น แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มายึดรถยนต์นั้นจากโจทก์ไปเป็นของกลางในคดีอาญา และศาลอาญาพิพากษาให้คืนรถยนต์แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง
การที่โจทก์จำต้องยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดรถยนต์ไปและศาลอาญาได้พิพากษาให้คืนแก่เจ้าของที่แท้จริงไปแล้ว รถยนต์ที่ซื้อขายจึงหลุดไปจากโจทก์ผู้ซื้อ จำเลยผู้ขายต้องรับผิดชำระราคารถยนต์คืนให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 479 และใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามมาตรา 475 (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 26/2515)
ทรัพย์สินไม่อยู่
- ไม่ต้องชดใช้เงินหรือมอบผลกำไร ที่ได้จากการขายให้กับเจ้าของ
- เจ้าของไม่มีสิทธิ์เรียกร้องใดๆกับผู้ซื้อ
- ได้รับความคุ้มครองไม่ผิดข้อหารับของโจร
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1767/2531
- โจทก์มอบสลากกินแบ่งรัฐบาลให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ช่วยตรวจรางวัลแล้วสลากกินแบ่งของโจทก์ซึ่งถูกรางวัลได้หายไป ปรากฏภายหลังว่าจำเลยที่ 3 นำสลากกินแบ่งดังกล่าวไปขายให้แก่จำเลยที่ 5ผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่ที่สี่แยกคอกวัวซึ่งเป็นที่ชุมนุมแห่งการค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ปัจจุบันนี้เป็นทั้งที่ซื้อขายสลากกินแบ่งและรับซื้อสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลโดยทั่วไป และจำเลยที่ 5 ได้รับซื้อไว้โดยเปิดเผย ทั้งไม่ทราบว่าเป็นสลากกินแบ่งของโจทก์ที่หายไปและนำไปขึ้นเงินต่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยตนเองแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 5 ซื้อสลากกินแบ่งโดยสุจริตในท้องตลาด จำเลยที่ 5 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์และไม่จำต้องคืนเงินที่รับมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332
3.กรณีซื้อทรัพย์สินโดยสุจริต แต่ไม่ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ
ทรัพย์สินยังอยู่
- ต้องคืนทรัพย์ให้กับเจ้าของ
- ไม่มีสิทธิ์เรียกร้องให้เจ้าของชดใช้ราคาใดๆ
- เป็นไปตามหลักทั่วไปว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิ์ดีกว่าผู้โอน
- มีสิทธิ์ไปฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาจากคนขายได้ภายหลัง ตามที่ตนเองได้เสียหายไป
- ตำรวจสามารถยึดเพื่อคืนให้กับเจ้าของได้
- ศาลสามารถสั่งคืนของกลางให้กับเจ้าของได้
- ได้รับความคุ้มครองไม่ผิดข้อหารับของโจร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 185/2508
สลากกินแบ่งของโจทก์หายไป จำเลยซึ่งเป็นพ่อค้าจำหน่ายสลากกินแบ่งรับซื้อไว้โดยเปิดเผย และโดยสุจริต ไม่ทราบว่าเป็นสลากกินแบ่งของโจทก์ที่หายไปเช่นนี้ แต่เมื่อ บริเวณที่จำเลยตั้งร้านจำหน่ายสลากกินแบ่ง มิใช่ที่ชุมนุมการค้า จำเลยย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
เมื่อผู้ขายมิใช่เจ้าของสลากและไม่มีอำนาจจะเอามาขายได้ จำเลยผู้รับซื้อก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในสลากกินแบ่งนั้น พิพากษาให้จำเลยคืนสลากกินแบ่งรายพิพาทให้โจทก์ ห้ามมิให้จำเลยนำสลากพิพาทไปขอรับรางวัลจากเจ้าหน้าที่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 350/2506 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1938/2564 วินิจฉัยทำนองเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 493/2536
โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ โจทก์รับซื้อรถยนต์พิพาทไว้จาก ส. ซึ่งนำมาขายให้แก่โจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์ไม่ได้ความว่าที่ทำการของโจทก์เป็นท้องตลาด การที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์นั้นไม่ได้ทำให้ที่ทำการของโจทก์มีสภาพเป็นท้องตลาดสำหรับขายรถยนต์ไปด้วย โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาสืบสวนสอบสวนได้ความว่ารถยนต์พิพาทเป็นรถยนต์ของบริษัท ค. ซึ่งถูกคนร้ายปล้นไป จำเลยทั้งหกย่อมมีอำนาจยึดรถยนต์พิพาทไว้เพื่อประกอบคดีฐานปล้นทรัพย์และคืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริงได้.
ทรัพย์สินไม่อยู่แล้ว
- แต่เดิมมีคำพิพากษาศาลฎีกา ฎ.1275/2493ประชุมใหญ่บอกว่าไม่ต้องชดใช้เงินเพราะถือว่ากระทำการโดยสุจริตไม่ได้เป็นการกระทำละเมิด แล้วก็มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ฎ.3698/2529 พิพากษายืนตาม
- ต่อมามีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาล่าสุด 8816/2563พิพากษาว่าต้องคืนเงิน ถึงแม้จะสุจริต
- เป็นแนวข้อกฎหมายที่อาจจะต้องต่อสู้กันต่อไปให้ชัดเจน แต่สำหรับตัวผมผมเห็นว่าไม่ต้องคืน
- ไม่มีความผิดอาญาข้อหารับของโจร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1275/2493 ประชุมใหญ่
สิ่งของที่คนร้ายลักมาขายไว้ที่ร้านแห่งหนึ่ง แม้ร้านนั้นจะไม่ได้อยู่ในท้องตลาดก็ดี เมื่อผู้ซื้อได้ซื้อสิ่งของนั้นจากร้านนั้นโดยสุจริต แล้วขายต่อไป โดยสุจริต ดังนี้ ยังเรียกว่าผู้ซื้อทำละเมิดต่อเจ้าของสิ่งของนั้นมิได้
การที่ผู้ซื้อรับซื้อสิ่งของนั้นจากร้าน ซึ่งไม่ได้อยู่ในท้องตลาด ถ้าทรัพย์นั้นยังอยู่ในความครอบครองของผู้ซื้อ กฎหมายก็ให้เจ้าของใช้สิทธิติดตามเรียกเอาคืนได้โดยไม่ต้องใช้ราคา แต่เมื่อผู้รับซื้อ ซื้อไว้โดยสุจริตแล้วขายต่อไปแล้วโดยสุจริต สิ่งของนั้นจึงไม่ได้อยู่ในความครอบครองของผู้รับซื้อแล้ว เจ้าของก็จะเรียกให้ผู้รับซื้อชดใช้ราคาสิ่งของนั้นให้ตนไม่ได้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 15/2493)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3698/2529
ที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 58,100 บาทด้วยนั้น ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รู้จักกับผู้นำสลากมาขายให้มาก่อนแต่อย่างใด ทั้งปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับซื้อสลากไว้โดยเปิดเผยและนำไปขึ้นเงินต่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยตนเองโดยเปิดเผย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 รับซื้อสลากไว้โดยทุจริตตามที่โจทก์ฟ้อง ถึงแม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ซื้อสลากจากท้องตลาดก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์ตามที่ฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8816/2563
จำเลยรับซื้อทองคำของโจทก์โดยไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดข้อหาลักทรัพย์ แม้จะไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร แต่เมื่อทองคำที่จำเลยรับซื้อไว้เป็นของโจทก์ จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ติดตามเอาคืนได้ และแม้ห้างขายทองของจำเลยจะอยู่ในชุมชนการค้า แต่จำเลยมิได้ซื้อทองจากร้านค้า เพราะซื้อจาก ว. ที่นำมาขาย ถือไม่ได้ว่าซื้อทองคำในท้องตลาด จำเลยต้องคืนทองคำแก่โจทก์วัตถุแห่งหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ได้แก่ทองคำที่จำเลยรับซื้อไว้ เมื่อไม่ปรากฏว่า การปฏิบัติการชำระหนี้ด้วยการคืนทองคำเป็นการพ้นวิสัยตั้งแต่เมื่อใด จึงกำหนดให้ใช้ราคาตามราคาขายโดยเฉลี่ยของสมาคมค้าทองคำในวันฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยในขณะที่โจทก์ร้องขอให้ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 อันได้แก่วันฟ้อง
สรุป
การที่เรารับซื้อของโจรไว้โดยที่เราไม่รู้ว่ามันเป็นของที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย ถึงแม้ว่าเราจะสุจริต และอาจจะไม่ถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกง หรือไม่มีความผิดในส่วนอาญา
แต่เราก็ไม่ได้รับความคุ้มครองในทุกกรณี เพราะกฎหมายจะคุ้มครองให้ไม่ต้องคืนทรัพย์สินให้กับผู้เสียหาย เฉพาะในกรณีที่เราสินค้าประเภทนั้น จากท้องตลาด ที่ขายสินค้าประเภทนั้น หรือซื้อจากบุคคลที่มีอาชีพขายสินค้าประเภทนั้นอยู่แล้วเท่านั้น
ถ้าหากเรารับซื้อจากคนปกติทั่วไปที่ไม่ได้มีอาชีพขายสินค้าประเภทนั้น หรือซื้อจากตลาดที่ไม่ได้ขายสินค้าประเภทนั้นโดยเฉพาะ เราเป็นร้านรับซื้อของเก่ารับซื้อจากคนทั่วไปแบบนี้ในทางแพ่งแล้วเราก็ยังมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินให้กับผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริง
นอกจากนี้แล้วเนี่ย ถ้าหากผู้เสียหายเขาใช้วิธีการให้ตำรวจยึดเอาทรัพย์สินนั้นไปเลย หรือยึดทรัพย์เป็นของกลาง ในเบื้องต้นเราก็ต้องให้ความร่วมมือกับตำรวจก่อนเพราะตำรวจเขามีอำนาจตามกฎหมาย
แต่ถ้าหากเรามั่นใจว่าเราซื้อโดยสุจริต และมีโอกาสได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษเราก็มีสิทธิ์ไปยื่นคำร้องขอคืนของกลางหรือยื่นฟ้องเพื่อเรียกทรัพย์สินดังกล่าวจากเจ้าของทรัพย์สินได้ครับ โดยอาศัยติดตามมาตรา 1332