หลายๆคนที่มีปัญหา มีคดีความ ถูกออกหมายเรียก ต้องการฟ้องร้องดำเนินคดี และอยากที่จะมาปรึกษาทนายความ
แต่ไม่รู้ขั้นตอน ว่าจะเริ่มปรึกษาอย่างไร ปรึกษาได้ถึงแค่ไหน มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ปรึกษาแล้วจะเกิดประโยชน์อย่างไร ?
วันนี้ในฐานะทนายความ ที่ทำงานให้คำปรึกษามาเป็นเวลากว่า 10 ปี พบเจอปัญหาและข้อสงสัยต่างๆมาเป็นจำนวนมาก
จึงได้รวบรวมคำถามที่ถูกถามบ่อยๆมาตอบ และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการจะปรึกษาทนายความมาแบ่งปันกันครับ
ปรึกษาทนายความ มีประโยชน์อย่างไร ?
การปรึกษาทนายความ มีประโยชน์อย่างไร ? ผมจะอธิบายให้ฟังแบบนี้ครับ
การตัดสินใจต่างๆ โดยเฉพาะการตัดสินใจในภาวะที่เรากำลังมีปัญหา มักจะส่งผลกระทบ ไม่ว่าจะในด้านดีหรือด้านร้ายกับเราเสมอ
ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหา และเราต้องตัดสินใจแก้ไขปัญหา หรือเราต้องลงมือตัดสินใจในเรื่องสำคัญที่เป็นเรื่องที่เราไม่มีความรู้ไม่มีความชำนาญ ไม่มีประสบการณ์ เราควรจะต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ก่อนการตัดสินใจ
และสำหรับผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษานั้น มีคำกล่าวอยู่ว่า
ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ให้คุณไปพบหมอ
ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องเงิน ให้ไปพบนายธนาคาร
และถ้าคุณมีปัญหาเรื่องอื่นนอกจากสองเรื่องนี้ให้ ปรึกษาทนายความ
คำกล่าวนี้หมายความว่า ปัญหาอื่นๆในชีวิตของคุณ นอกจากปัญหาเรื่องสุขภาพและปัญหาเรื่องการเงิน คุณสามารถขอคำปรึกษากับทนายความได้เสมอ
สาเหตุของคำกล่าวเรื่องนี้ คงจะเป็นเพราะทนายความจะทำงานโดยผูกพันอยู่กับปัญหาของคน และวิธีการแก้ไขปัญหา ป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตมนุษย์
ดังนั้นทนายความที่มีประสบการณ์ และทำงานเป็นทนายความแบบมืออาชีพ จะคุ้นเคยกับการแก้ปัญหา แทบจะทุกเรื่องในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ตั้งแต่ เรื่องครอบครัว เรื่องธุรกิจ เรื่องงาน เรื่องคน ฯลฯ
โดยทนายความจะเห็นปัญหาและวิธีแก้ปัญหามาทุกกระบวนการ ตั้งแต่ก่อนจะเริ่มเกิดปัญหา ขณะเกิดปัญหาแล้ว และภายหลังเมื่อเกิดปัญหาไปแล้ว
ตัวอย่างเช่นผมเอง เมื่อทำงานมาเป็นทนายความครบ 10 ปี ก็เรียกได้ว่าพบเจอปัญหาในสังคมมนุษย์มาแทบครบทุกเรื่อง
- ตั้งแต่เรื่อง ครอบครัว เช่น การหย่าร้าง การมีชู้ การแย่งกันเลี้ยงดูลูก การเลี้ยงดูบุตร
- เรื่องธุรกิจ เช่น การร่วมกันลงทุน การแบ่งปันผลกำไรในธุรกิจ การแข่งขันทางธุรกิจ การฉ้อโกง การผิดสัญญาต่างๆ
- เรื่องงาน เช่น การทุจริตภายในองค์กร การนินทาเจ้านาย ปัญหาด้านความสัมพันธ์เรื่องแรงงาน การเลิกจ้าง การรับสมัครงาน
และแทบจะครอบคลุมในทุกเรื่อง ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ส่วนใหญ่แล้วก็ต้องอาศัยทนายความในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น หรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วทั้งนั้น
ดังนั้นแล้วทนายความที่มีประสบการณ์ จึงจะสามารถให้คำแนะนำกับคุณเมื่อคุณต้องการ หรือเมื่อคุณมีปัญหาได้อยู่เสมอ
นอกเหนือจากปัญหาเรื่องสุขภาพที่คุณจะต้องไปปรึกษาหมอ และปัญหาเรื่องการเงินที่คุณจะต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ปัญหาอื่นนอกจากนี้เรามักจะให้คำปรึกษาได้ทั้งหมด
เพราะอาชีพทนายความเรานั้น อยู่กับปัญหาของมนุษย์ และเชี่ยวชาญในการแก้ไขและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น เราจึงให้คำแนะนำที่ดีและเป็นประโยชน์กับคุณได้อยู่เสมอ
ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณมีปัญหา หรือจะต้องตัดสินใจในการแก้ไขปัญหา หรือต้องการแนวทางป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
คุณควรปรึกษาทนายความที่มีความรู้มีประสบการณ์ เพื่อหาแนวทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคุณมีปัญหาด้านคดีความ ไม่ว่าจะมีปัญหาข้อพิพาททางธุรกิจ ทางคดีอาญา ต้องการฟ้องร้อง ถูกฟ้องร้อง ถูกแจ้งความ ต้องการแจ้งความดำเนินคดี ต้องการทำสัญญา พินัยกรรม หรือเอกสารทางกฎหมายอื่นๆ
คุณควรเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรึกษาทนายความก่อนตัดสินใจ เพราะการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องคดีความ มักจะส่งผลกระทบที่สำคัญมากกับชีวิตและทรัพย์สินของคุณเสมอ
และทนายความเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะสามารถแนะนำทางออกที่ดีที่สุดให้กับปัญหาของคุณครับ
ปรึกษาทนายความ ควรเริ่มตอนไหน
การแก้ไขปัญหานั้น ย่อมจะต้องทำตั้งแต่ตอนที่ปัญหาเพิ่งเริ่มเกิด ก็จะแก้ไขได้ง่ายที่สุด
และวิธีที่ดีที่สุดก็ควรป้องกันเสียตั้งแต่ตอนที่ยังไม่มีปัญหา
ดังนั้นหากคุณมีปัญหาต่างๆไม่ว่าจะโดนฟ้อง โดนแจ้งความ ได้รับหมายเรียก ต้องไปดำเนินการทางกฎหมายต่างๆ
หรือถูกรบกวนสิทธิ โต้แย้งสิทธิทางกฎหมาย เกิดปัญหาข้อพิพาท มีแนวโน้มจะไปสู่คดีความในอนาคต
หรือแม้กระทั่งต้องการทำนิติกรรมสัญญาหรือตัดสินใจกระทำการในเรื่องใดๆที่คิดว่าอาจจะเกิดปัญหาได้ในอนาคต
คุณก็ควรจะต้องมาปรึกษาทนายความทันที
สิ่งที่คุณไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งก็คือ เมื่อเกิดปัญหาหรือมีคดีความใดๆขึ้นแล้ว ก็ไม่ยอมมาปรึกษาทนายความ ไปแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง
หรือไปปรึกษาคนอื่นๆที่ไม่ใช่เป็นทนายความอาชีพ ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีทักษะในการแก้ไขปัญหาหรือดำเนินคดี
สุดท้ายแล้วหากคุณแก้ไขปัญหาผิดวิธี ตัดสินใจเลือกทางแก้ไขปัญหาหรือทางเดินผิดพลาด ไปทำข้อตกลง หรือดำเนินการต่างๆไปด้วยตนเองแล้ว
เมื่อจะต้องกลับมาหาทนายความอาจจะสายเกินแก้ หรือจะทำให้ปัญหายากจะแก้ไขขึ้นไปอีก
เหมือนกับคนไข้ที่มีอาการเจ็บป่วย แต่ไม่ยอมมารักษากับแพทย์ พยายามไปหายาซื้อกินกันเอง ซื้อยาผีบอก หรือไปหาผู้ที่ไม่ใช่เชี่ยวชาญไม่ใช่แพทย์ ให้หมอผีเป่ากระหม่อม
สุดท้ายเมื่ออาการหนัก จะต้องกลับมาหาแพทย์ ก็อาจยากเกินกว่าที่จะเยียวยารักษา หรืออาจจะต้องเสียค่ารักษาเป็นจำนวนมากกว่าที่ควรจะเป็น
ดังนั้นแล้วการปรึกษาทนายความ คุณควรจะเริ่มทำตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดปัญหา ตั้งแต่เริ่มทำสัญญา ก่อนที่จะตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไร ก็จะเป็นประโยชน์ที่สุด
นอกจากนี้เมื่อเกิดปัญหา มีข้อพิพาท มีคดีความ ได้รับหมายศาลหรือหมายเรียก หรือต้องการที่จะเริ่มดำเนินคดีความใดๆก็ตาม
ก็ควรจะมาปรึกษาทนายความตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้ทนายความวิเคราะห์โอกาสทางได้ทางเสียและแนวทางการดำเนินคดีที่ถูกต้อง จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดครับ
ปรึกษาทนายความ มีค่าใช้จ่ายไหม ?
สำหรับหลายๆคนที่ยังไม่เคยปรึกษาทนายความ ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะสงสัยว่าในการปรึกษาทนายความมีค่าใช้จ่ายไหม และค่าใช้จ่ายจะสูงเท่าไหร่
หลายๆคนก็คิดไปเองว่าทนายความมีหน้าที่จะต้องให้คำปรึกษาฟรี และก็มักจะสอบถามหรือปรึกษาทนายความทันทีโดยที่ไม่เคยถามเรื่องค่าใช้จ่ายกับทนายความมาก่อน
หรือบางคนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเพียงแค่ปรึกษา จะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับทนายความด้วย ทำไมทนายความไม่ให้คำปรึกษาฟรี เพียงแค่ให้คำปรึกษาทนายความก็ไม่ได้เสียอะไรเลย
ผมต้องบอกว่าสำหรับตัวผมเองและทนายความมืออาชีพส่วนใหญ่ โดยเฉพาะทนายประเภทที่มีประสบการณ์ แล้วทำงานเป็นทนายอาชีพอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ให้คำปรึกษาฟรี
อาจจะมีบ้างทนายบางคนที่โฆษณาว่าตนเองรับให้คำปรึกษาฟรี แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเป็นการให้คำปรึกษาเบื้องต้นเล็กๆน้อยๆเท่านั้น
หากจะต้องการปรึกษาลงรายละเอียดเชิงลึก ส่วนใหญ่ก็มีความจำเป็นต้องเก็บค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ยกเว้นทนายความที่มีเวลา และมีจิตอาสาจริงๆ
ซึ่งผมจะอธิบายให้ฟังว่าทำไมทนายความมืออาชีพจะต้องเก็บค่าใช้จ่ายในการให้คำปรึกษา ด้วยเหตุผลทั้ง 5 ข้อดังต่อไปนี้
1.การให้คำปรึกษาฟรี เป็นการเอาเปรียบลูกค้าที่ว่าจ้างเรา
แน่นอนว่าทนายความมืออาชีพ ที่รับว่าความ ทำอาชีพทนายความเป็นอย่างเดียว ย่อมจะต้องมีภาระหน้าที่ในการดูแลคดีความต่างๆเป็นจำนวนมาก
ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมคดี การขึ้นว่าความ การค้นคว้าข้อกฎหมาย และภาระความรับผิดชอบในการซักซ้อมเตรียมพยาน ฯลฯ
ซึ่งภารกิจต่างๆในวิชาชีพของทนายความ มีเป็นจำนวนมาก และเราจะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 กับลูกความที่ชำระเงินว่าจ้างเรา มอบหมายให้เรารับผิดชอบดูแลชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด
การให้คำปรึกษากับลูกความท่านอื่น ถึงแม้จะใช้เวลาไม่นานอาจจะเพียง 10 นาที 20 นาที ก็ถือว่าเป็นการกินเวลา เป็นการเสียสมาธิ เสียสละเวลา ที่เราจะต้องใช้สำหรับการดูแลลูกความคนอื่น ให้ความปรึกษากับลูกความคนอื่นที่ตกลงว่าจ้างเรา
ดังนั้นแล้วสำหรับผมและทนายความมืออาชีพ เราจึงไม่รับให้คำปรึกษาฟรี เพราะถือว่าเป็นการเบียดเบียนเวลา เป็นการเอาเปรียบลูกค้าท่านอื่นที่ตกลงว่าจ้างเรา
เรายินยอมสละเวลา ทุ่มเทการทำงานให้กับลูกค้าที่ว่าจ้างเรา เพื่อให้งานออกมาดีที่สุดจะดีเสียกว่าการสละเวลา รวมทั้งสมอง ความคิด เพื่อให้คำปรึกษากับคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นลูกค้าที่ว่าจ้างเรา
2.ทนายความมีความรับผิดชอบหากให้คำปรึกษาผิดพลาด
ในการให้คำปรึกษาของทนายความ หากเราให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำที่ผิดพลาด ปรับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่คาดเคลื่อน แนะนำให้คุณทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย หรือสิ่งที่ทำให้คุณเกิดความเสียหาย
ต่อมาคุณเชื่อตามคำแนะนำของเรา และปฏิบัติตามที่เราแนะนำ จนกระทั่งเกิดความเสียหายต่อตัวคุณเองหรือผู้อื่น หรืออาจจะถึงขั้นเป็นการกระทำที่เป็นการผิดกฎหมาย
ทนายความเองมีความรับผิดและความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นกับความเสียหายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดทางแพ่งหรือทางอาญาแล้วแต่กรณี และทนายความซึ่งอาจจะถูกดำเนินคดีมรรยาททนายความได้อีกด้วย
ดังนั้นแล้วคงจะเป็นการที่ไม่ยุติธรรมต่อเราเลย หากเราจะต้องใช้ความระมัดระวัง ใช้ความรู้ความสามารถ ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพื่อให้คำปรึกษาฟรีกับคุณ
แต่หากเกิดความเสียหาย หรือเกิดข้อผิดพลาดเราจะต้องเป็นคนรับผิดชอบ โดยที่เราไม่ได้รับค่าเสียเวลาหรือค่าตอบแทนใดๆ
ดังนั้นทนายความมืออาชีพส่วนใหญ่จึงไม่ได้เลือกให้คำปรึกษาฟรีแต่อย่างใด
3.ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และค้นคว้าข้อกฎหมาย ก่อนให้คำปรึกษา
สืบเนื่องจากที่กล่าวในข้อ 2 ว่า หากทนายความให้คำปรึกษาที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปทนายความจะต้องรับผิดชอบ
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดและเพื่อให้คำปรึกษาที่ดีที่สุดกับคุณ ทนายความจะต้องใช้เวลาเป็นอย่างมากในการให้คำปรึกษา
ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมข้อเท็จจริงด้วยการสอบข้อเท็จจริงจากตัวคุณ จากการตรวจสอบพยานเอกสารพยานวัตถุ และคำคู่ความเอกสารทางกฎหมายต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้เราจะต้องค้นคว้าข้อกฎหมาย ศึกษาแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ทฤษฎีทางกฎหมาย เพื่อประกอบการให้คำปรึกษาในกรณีที่ข้อกฎหมายมีความซับซ้อน
ซึ่งเวลาถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดสำหรับมนุษย์ เป็นสิ่งที่ไม่อาจประเมินค่าได้แล้วไม่สามารถหวนกลับคืนได้
ก่อนให้คำปรึกษาคุณเราจะต้องเสียเวลาไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งเวลาดังกล่าวเราสามารถเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างอื่นได้ดังที่กล่าวไว้แล้วในข้อ 1.
ดังนั้นผมและทนายความมืออาชีพอีกหลายคน จึงเลือกไม่ให้คำปรึกษาฟรี เพื่อประหยัดเวลาเอาไปใช้กับสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างอื่นมากกว่าครับ
4.เราใช้เวลาทุ่มเทศึกษากฎหมาย และเก็บประสบการณ์มานานกว่าจะให้คำปรึกษาได้
มีคำกล่าวอยู่ว่า
“งานที่คุณเห็นว่าผมทำเสร็จได้ใน 5 นาที ก็เป็นเพราะผมใช้เวลา 10 ปี ในการเรียนรู้และฝึกฝน ดังนั้นจึงอย่าประเมินคุณค่างานของผมต่ำ “
คำกล่าวนี้ใช้ได้เป็นอย่างดี เกี่ยวกับการให้คำปรึกษาของทนายความ
หลายๆคนไม่เห็นคุณค่าในการให้คำปรึกษาของทนายความ และเห็นว่าตนเองไม่ควรจะจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าปรึกษาทนายความ
เพราะทนายความเพียงใช้เวลา 10 นาที ในการให้คำปรึกษา
หรือเพียงแต่พิมพ์ตอบคำถามใน Lineหรืออีเมล์เพียงไม่กี่คำ ในการให้คำปรึกษาเท่านั้น ดูแล้วไม่เห็นจะเหนื่อยอะไร ทำไมถึงจะต้องเก็บค่าใช้จ่าย
แต่ความจริงแล้วก่อนที่เราจะให้คำปรึกษาคุณได้อย่างถูกต้อง ให้คำแนะนำหาทางออกที่ดีที่สุดกับคุณได้นั้น
เราต้องผ่านกระบวนการศึกษากฎหมายทั้งในระดับมหาวิทยาลัย การอบรมของสภาทนายความ รวมทั้งการศึกษากฎหมายในระดับที่สูงกว่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้นต่อให้เราจบการศึกษากฎหมาย จบเนติบัณฑิต สอบผ่านใบอนุญาตทนายความ ส่วนใหญ่แล้วเราก็ยังไม่สามารถให้คำปรึกษากฎหมายที่ดีได้
เพราะเป็นการเรียนรู้แต่เพียงทฤษฎีเท่านั้น ยังไม่สามารถนำมาใช้ในทางปฏิบัติได้
ทนายความมืออาชีพที่จะให้คำปรึกษาได้ดี ตามความเห็นผมจะต้องผ่านประสบการณ์สนามการทำงาน ผ่านการแก้ไขปัญหาให้กับลูกความ ฝึกและเก็บประสบการณ์คดีความ ลองผิดลองถูก และใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี
โดยจะต้องผ่านการว่าความแบบจริงจัง การแก้ไขปัญหาให้ลูกความแบบจริงจัง เผชิญสถานการณ์ต่างๆ ฝึกหัดพบกับปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหา กว่าจะเข้าใจลึกซึ้งถึงแนวทางที่ถูกต้องในการให้คำปรึกษา
และเมื่อเราเข้าใจระบบการทำงาน เข้าใจกระบวนการศาล และผ่านปัญหามาอย่างพอสมควรแล้ว เราถึงจะเชี่ยวชาญและสามารถให้คำปรึกษาที่ถูกต้องและสามารถแก้ไขปัญหาให้กับคุณได้
ดังนั้นแล้วกว่าเราจะให้คำปรึกษาคุณได้ เราจะต้องเสียเวลา เสียความทุ่มเทในการทำงาน เก็บประสบการณ์มาเป็นเวลานานกว่าที่จะให้คำปรึกษาที่ถูกต้องกับคุณได้ สิ่งดังกล่าวไม่ใช่เป็นสิ่งที่ได้มาฟรีๆ
ดังนั้นจึงเป็นการเหมาะสมที่เราจะเก็บค่าใช้จ่ายในการให้คำปรึกษาครับ
5.คำปรึกษาของเราสามารถเอาไปใช้แก้ปัญหาและเกิดประโยชน์กับคุณเป็นอย่างมาก
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า การให้คำปรึกษากฎหมายของทนายความนั้น มันจะแก้ไขและป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นกับคุณได้เป็นอย่างดี อาจจะทำให้คุณลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหา ที่จะต้องสูญเสียทรัพย์สิน ถูกจำคุก ความเสี่ยงอันตรายอื่น
อาจจะทำให้คุณได้ทรัพย์สินมาเป็นจำนวนมาก ทำให้คุณแก้ไขปัญหาที่ไม่อาจจะแก้ได้ ทำให้คุณไม่ต้องมีปัญหามีคดีความเกิดขึ้นภายหลัง หรือทำให้คดีความคุณจบหรือเสร็จสิ้นไปโดยเร็วโดยที่คุณไม่ต้องไปขึ้นศาล
ดังนั้นแล้วย่อมเป็นการสมเหตุสมผล ที่เราจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนไม่มากนัก มาแลกกับผลประโยชน์ที่คุณจะได้รับครับ
ค่าใช้จ่ายในการปรึกษาทนายความอยู่ที่เท่าไหร่ ?
ด้วยเหตุผลดังที่ผมกล่าวข้างต้นแล้ว สำหรับตัวผมเอง ผมจะให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ก็ต่อเมื่อมีการชำระค่าปรึกษาเท่านั้น
และเมื่อรับเงินค่าปรึกษามาแล้ว ผมก็จะทุ่มเทศึกษาใช้เวลา และความตั้งใจอย่างเต็มที่ในการให้คำปรึกษาเพื่อให้ถูกต้องและเกิดประโยชน์มากที่สุด
ธรรมดาแล้วหากเป็นขั้นให้คำปรึกษาในสถานที่ หรือโทรศัพท์ หรือการผ่านระบบออนไลน์ต่างๆเช่น Google Meet / Zoom/ Microsoft Team / หรือ LINE
จะมีใช้ค่าใช้จ่ายเริ่มต้น ประมาณ 3,000-5,000 บาท ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของรูปคดี
ส่วนการให้คำปรึกษากับลูกความชาวต่างชาติ ที่ต้องการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ก็จะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 5,000 ถึง 10,000 บาทขึ้นอยู่กับรูปคดีเช่นเดียวกัน
ส่วนการให้คำปรึกษานอกสถานที่ ก็จะต้องมีค่าเสียเวลาและค่าเดินทางเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับระยะทางแล้วแต่จะตกลงกัน
ยกเว้นแต่จะเป็นการศึกษาในเรื่องเล็กๆน้อยๆเบื้องต้นจริงๆ หรือเป็นการให้คำปรึกษาลูกค้าเก่า หรือเพื่อนฝูงที่สนิทสนมกัน หรือลูกความที่ยากจนดูแล้วได้รับความเดือดร้อนเสียหายจริงๆทนายความเพื่อจะพิจารณาให้คำปรึกษาฟรีเป็นกรณีไป
ซึ่งธรรมดาแล้วเมื่อคุณชำระค่าใช้จ่ายในการปรึกษาทนายความ ทนายความก็จะให้คำปรึกษาในเรื่องที่คุณสงสัย จนกว่าจะหายสงสัย หรือจนกว่าจะได้คำตอบที่เป็นประโยชน์กับคุณ
ซึ่งอาจจะใช้เวลาไม่นาน เพียงแค่ 15 -20 นาที ในกรณีที่ปัญหาไม่มีความซับซ้อน หรือทนายความที่มีความสามารถจับประเด็นปัญหาได้รวดเร็ว และแนะนำวิธีการที่กระชับ เข้าใจง่าย
หรืออาจจะใช้เวลานานกว่านั้น ในกรณีที่เคสมีความซับซ้อน มีพยานเอกสาร พยานวัตถุเป็นจำนวนมาก และต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจครับ
ข้อควรรู้ก่อน ปรึกษาทนายความ
ในการปรึกษาทนายความ มีกฎหรือสิ่งที่ควรจะต้องรู้อยู่บางข้อ เพื่อให้คุณได้ประโยชน์สูงสุด ดังนี้
1.พูดเรื่องจริง
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับการปรึกษาทนายความ ก็คือคุณจะต้องเอาเรื่องจริงทั้งหมดมาเล่าให้กับทนายความฟัง ทนายความจึงจะสามารถให้คำปรึกษาและแนะนำทางออกที่ถูกต้องที่สุดกับคุณได้
หากคุณเล่าเรื่องไม่จริง เอาเรื่องโกหกมาเล่าให้กับทนายความฟังเพราะหวังว่าจะได้คำตอบที่ตนเองต้องการ หรือคิดว่าหากเล่าเรื่องจริงทั้งหมดไปแล้วทนายความจะไม่รับว่าความหรือให้คำปรึกษาช่วยเหลือให้
ทนายความก็จะตั้งรูปคดีหรือให้คำแนะนำไปจากเรื่องราวที่ไม่ถูกต้องของคุณ
และสุดท้ายแล้วเมื่อตั้งรูปหรือให้คำแนะนำผิดพลาดไป คุณเองก็จะได้รับความเสียหายจากการให้คำปรึกษาที่ไม่ถูกต้อง ได้รับวิธีการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกต้อง หรือการวางรูปคดีที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน
จำไว้ว่าทุกเรื่องที่คุณเล่าให้กับทนายความฟัง ทนายความไม่มีสิทธิ์เผยแพร่หรือไปบอกต่อให้กับบุคคลอื่น แม้กระทั่งได้รับหมายเรียกจากศาล ทนายความก็ไม่สามารถเล่าเรื่องราวความลับหรือสิ่งที่คุณปรึกษาได้
เพราะเป็นเอกสิทธิ์ความคุ้มครองเฉพาะระหว่างทนายและลูกความ เป็นความลับที่ห้ามเปิดเผย และหากทนายความเผยแพร่ก็จะมีความผิดทั้งตามกฎหมายและมรรยาททนายความ
ดังนั้นคุณควรเล่าความจริงทุกอย่างให้กับทนายความฟัง เพื่อที่ทนายความจะได้เข้าใจเรื่องราวและให้คำปรึกษาอย่างถูกต้องกับคุณตามรูปคดีครับ
2.เล่าเรื่องแบบละเอียด
ในการให้คำปรึกษาและหาทางออกให้กับคุณนั้นทนายความจะต้องเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดโดยละเอียด และรู้เรื่องราวในคดีเสมือนกับเป็นตัวคุณเอง
ดังนั้นคุณควรที่จะเล่าเรื่องราวทั้งหมดโดยละเอียดไม่ตัดทอนหรือปิดบัง
อย่าคิดว่าข้อเท็จจริงไหนไม่สำคัญก็ไม่ต้องเล่าให้กับทนายความฟัง แต่ควรจะเล่าข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้กับทนายความทราบ แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยก็ตาม
และอย่ารำคาญเวลาถูกทนายความซักถามโดยละเอียดเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนรอบด้าน
เพราะหากทนายความไม่เข้าใจเรื่องราวและข้อเท็จจริงในคดีโดยละเอียดก็อาจจะตั้งรูปคดีผิดพลาด ให้คำแนะนำที่ผิด และก่อให้เกิดความเสียหายกับคุณในภายหลัง
ดังนั้นทนายความที่มีความสามารถ จึงจะต้องซักถามและสอบข้อเท็จจริงกับคุณอย่างละเอียดก่อนที่จะแนะนำหรือให้คำปรึกษา
3.คุยกันต่อหน้าดีที่สุด
สำหรับการให้คำปรึกษากฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องที่ซับซ้อนหรือเข้าใจยาก การพูดคุยกันต่อหน้า น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
เพราะการพูดคุยกันต่อหน้านั้น จะทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเข้าใจกันได้โดยละเอียด เพราะนอกจากการสื่อสารด้วยวาจาแล้วยังมีการสื่อสารด้วยภาษากายประกอบ
และทั้งสองฝ่ายสามารถจับอากัปกิริยาและอาการของคู่กรณีเพื่อประกอบการสนทนาเพื่อให้เข้าใจเรื่องราวได้ดีขึ้นยิ่งขึ้น
ซึ่งมีผลวิจัยมาแล้วว่าในการสื่อสารของมนุษย์นั้นนอกจากใช้ภาษาคำพูดแล้ว ภาษากายยังถือว่าเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันได้มากกว่าคำพูดซะอีก
ซึ่งการให้คำปรึกษากฎหมายหากทนายความเข้าใจคุณคลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน ทนายความก็อาจจะให้คำปรึกษาที่ผิดพลาด
และการที่คุณปรึกษาทนายความหากคุณเข้าใจคำแนะนำของทนายความไม่ถูกต้อง ก็อาจนำไปปฏิบัติอย่างคลาดเคลื่อนและเกิดความเสียหายกับตัวคุณเอง
การให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ ผ่านการพิมพ์โต้ตอบกันใน application เช่น LINE facebook หรืออีเมล อาจทำได้ในระดับหนึ่งในเรื่องที่ไม่ซับซ้อนมาก
แต่ในเรื่องที่สำคัญจะต้องทำความเข้าใจกันโดยละเอียดหรือต้องสอบข้อเท็จจริงเชิงลึก
สำหรับผมการให้คำปรึกษากฎหมายโดยการพูดคุยต่อหน้ากันจะเป็นการให้คำปรึกษาที่ดีที่สุดครับ
อย่างไรก็ตามหากไม่สะดวกมาพบหรือพูดคุยต่อหน้าการพูดคุยผ่านโปรแกรมประชุมออนไลน์ต่างๆไม่ว่าจะเป็น zoom google meeting หรือ microsoft team ก็เป็นทางเลือกที่สามารถนำมาปรับใช้ทดเแทนได้ในระดับหนึ่งครับ
4.เรียบเรียงเรื่องราวก่อนเข้าปรึกษา
อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่าการที่ทนายความจะให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำกับคุณได้อย่างดีที่สุดนั้น ทนายความจะต้องเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดโดยละเอียดครบถ้วนรอบด้าน
ดังนั้นหากคุณมีเวลา ก่อนเข้ามาปรึกษาทนายความ คุณอาจจะรวบรวมข้อเท็จจริงเรื่องราวทั้งหมด พิมพ์หรือส่งเป็นข้อความมาให้กับทนายความทางช่องทางต่างๆก่อน
โดยอาจจะพิมพ์หรือส่งข้อความมาเป็นภาษาง่ายๆ ตามความเข้าใจหรือตามภาษาของคุณเองไม่ต้องเป็นทางการมากนัก
ทนายความส่วนใหญ่มีทักษะหรือความสามารถในการอ่านและการจับเรื่องราวได้ดีอยู่แล้ว เมื่อได้อ่านเรื่องราวทั้งหมดของคุณเมื่อคุณเข้ามาปรึกษาจะสามารถสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้อย่างรวดเร็วและทำความเข้าใจได้โดยง่าย
ด้วยวิธีนี้จะทำให้คุณประหยัดเวลา แล้วได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วครับ
5.รวบรวมเอกสารหลักฐาน พยานที่เกี่ยวข้อง มาพร้อมกันด้วย
ธรรมดาแล้วในการให้คำปรึกษากฎหมาย นอกจากการได้ข้อเท็จจริงโดยละเอียดครบถ้วนรอบด้าน พยานเอกสารหรือพยานวัตถุที่เกี่ยวข้องก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
ดังนั้นแล้วก่อนคุณปรึกษากับทนายความ คุณควรส่งมอบเอกสารหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง
ไม่ว่าจะเป็นคำฟ้อง เอกสารในสำนวนคดี บันทึกการจับกุม หลักฐานนิติกรรมสัญญา หลักฐานการสนทนาผ่านโปรแกรม LINE facebook หรือวีดีโอและพยานฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้กับทนายความตรวจสอบก่อน
เมื่อทนายความทำการตรวจสอบแล้วก็จะสามารถเข้าใจเรื่องราวได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และให้คำปรึกษาของกับคุณได้อย่างถูกต้องต่อไป
6.ความชำนาญเฉพาะทาง
ต้องเข้าใจว่าถึงแม้ทนายความจะอยู่กับปัญหาของบุคคลและมีความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
แต่ไม่ใช่ว่าทนายความทุกคนจะเก่งหรือเชี่ยวชาญในทุกเรื่อง เพราะแต่ละคนย่อมผ่านประสบการณ์การทำงานมาไม่เหมือนกัน
อย่างเช่นตัวผมเองที่มีความถนัดเชี่ยวชาญ เกี่ยวกับคดีประเภทครอบครัว มรดก คดีอาญา ทรัพย์สิน ติดตามหนี้สิน แรงงาน หรือเรื่องต่างๆที่เป็นปัญหาที่ผมต้องเจออยู่เป็นประจำ
แต่ผมจะไม่ถนัดเลยเกี่ยวกับคดีประเภท ภาษีอากร การค้าระหว่างประเทศ สิทธิบัตร เพราะเป็นคดีที่ผมไม่ค่อยได้ว่าความและไม่ค่อยมีความชำนาญ
ดังนั้นแล้วก่อนคุณปรึกษาทนายความ ก็ควรสอบถามว่าเขามีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวหรือมีประสบการณ์ในด้านดังกล่าวหรือไม่
ธรรมดาแล้วทนายความที่ดี หากตนเองไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวก็จะไม่รับให้คำปรึกษา และจะแนะนำเพื่อนทนายความคนอื่นที่มีความสามารถและมีความชำนาญในข้อกฎหมายเรื่องดังกล่าวให้กับคุณแทน
7.ทนายไม่ใช่ที่ระบาย นักจิตวิทยา
สำหรับปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่ผมพบเจออยู่เป็นประจำ ก็คือการโทรมาระบาย หรือแสดงอารมณ์ความเกรี้ยวกราดหรือโศกเศร้าให้กับทนายความฟัง
ถึงแม้ทนายความจะต้องสอบข้อเท็จจริงโดยละเอียดเพื่อจะให้คำปรึกษากับคุณได้อย่างถูกต้อง แต่สิ่งที่เราต้องการคือข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่ได้ต้องการรับฟังหรือเป็นที่ระบายอารมณ์ให้กับคุณ
ดังนั้นในการปรึกษาทนายความจึงควรจะปรึกษาหรือเล่าให้ทนายความฟัง เพียงข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเล่าหรือแสดงอารมณ์จนเกินสมควรเพราะจะเกิดความเสียเวลากับทุกฝ่าย
8.เคารพเวลา รู้จักกาละเทศะ
อย่างที่บอกไว้แล้วว่า ธรรมดาแล้วทนายความอาชีพ จะต้องรักษาเวลาและเวลาของเขามีคุณค่าเสมอ
ดังนั้นแล้วหากคุณได้ทำการนัดหมายนัดเวลาในการเข้าพบหรือขอคำปรึกษา คุณก็ควรจะต้องรักษาเวลาและมาตามกำหนดนัด
มิฉะนั้นอาจจะทำให้กำหนดนัดของทนายความคลาดเคลื่อนไปทั้งหมดหรือทนายความจะต้องรีบให้คำปรึกษาคุณมากเกินไป
นอกจากนี้อีกอย่างหนึ่งที่มักจะอยู่เป็นประจำ ก็คือการปรึกษาโดยไม่ดูกาลเทศะหรือเวลา
เช่นการโทรมาปรึกษาเวลา 4-5 ทุ่มในเรื่องที่ไม่ด่วน และเร่งรัดขอคำตอบ ซึ่งจะทำให้ทนายความไม่อยากจะร่วมงานกับคุณ
9.ทนายความมืออาชีพส่วนใหญ่ไม่ได้รับให้คำปรึกษาฟรี
อย่างที่ผมบอกไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าทนายความมืออาชีพ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับให้คำปรึกษาฟรี ด้วยเหตุผลที่ผมได้อธิบายอย่างละเอียด
ดังนั้นแล้ว หากคุณคาดหวังว่าคุณสามารถสอบถามทนายความได้ และทนายความจะต้องให้คำตอบ โดยที่คุณคิดว่าคุณไม่จำเป็นจะต้องเสียค่าปรึกษา
แสดงว่าคุณกำลังคิดผิด และคุณไม่เคารพวิชาชีพทนายความ และคนประเภทนี้ทนายความมืออาชีพส่วนใหญ่ไม่นิยมทำงานด้วยครับ
สิ่งที่ไม่ควรทำในการปรึกษาทนายความ
ผมรวบรวมเรื่องราวที่คุณไม่ควรจะต้องทำหากมาปรึกษาทนายความดังนี้ครับ
1.ปรึกษาทั้งที่มีทนายความอยู่แล้ว
เรื่องนี้เป็นปัญหาที่สำคัญมากที่ผมพบเจออยู่เป็นประจำ แล้วผมระมัดระวังและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
ก็คือการที่คุณมาปรึกษาทนายความทั้งๆที่ตัวคุณเองได้ว่าจ้างหรือมีทนายความดูแลคดีอยู่แล้ว
ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องห้ามและเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความ เพราะทนายความคนอื่นไม่สามารถให้คำปรึกษาซ้ำซ้อน ในเรื่องที่คุณมีทนายความอยู่แล้ว
ทนายความที่กระทำการดังกล่าวโดยรู้อยู่แล้วว่าเขามีทนายความอยู่แล้วและยังไปให้คำปรึกษาเขา อาจจะถูกร้องเรียนดำเนินคดีมรรยาททนายความได้
แล้วคุณต้องเข้าใจว่าทนายความคนอื่นไม่มีทางที่จะเข้าใจและให้คำปรึกษาเรื่องราวในสำนวนได้ดีเท่ากับทนายความของคุณเอง เพราะการที่จะให้คำปรึกษาได้ดีนั้นทนายความจะต้องเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดโดยละเอียดเสียก่อน
ดังนั้นหากคุณมีทนายความอยู่แล้วคุณจะต้องปรึกษาทนายความของคุณ ไม่ใช่ไปไล่ถามทนายความคนอื่นๆ
และหากคุณไม่พอใจ หรือมีความเห็นในการดำเนินคดีไม่ตรงกับทนายความของคุณ คุณก็ต้องแจ้งทนายความของคุณว่าจะเปลี่ยนทนายหรือถอนทนายออกก่อนที่จะมาปรึกษาทนายความคนอื่น
2.ปรึกษาเรื่องของคนอื่น ไม่ยอมเอาเจ้าตัวมาคุยเอง
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมพบเจออยู่เป็นประจำเช่นเดียวกัน ก็คือ การนำเรื่องของคนอื่นมาปรึกษากับทนายความโดยไม่ยอมพาเจ้าตัวมาปรึกษาหรือพูดคุยกับทนายความด้วยตนเอง
แน่นอนว่าคนที่รู้เรื่องราวในคดีดีที่สุดย่อมเป็นเจ้าตัวที่ประสบพบเหตุการณ์และรู้เรื่องราวมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นคนที่ควรจะมาขอคำปรึกษาและเล่าเรื่องราวให้กับทนายความฟังก็ควรจะต้องเป็นคนที่เป็นเจ้าตัวเอง
การที่คุณซึ่งเป็นคนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของเรื่องมาปรึกษากับทนายความ นอกจากจะทำให้คุณไม่สามารถเล่าเรื่องราวทั้งหมดโดยละเอียดให้ทนายความฟังได้แล้ว
เมื่อคุณได้รับคำแนะนำจากทนายความและไปถ่ายทอดต่อก็อาจจะเกิดความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนก็ได้ เพราะคุณไม่ใช่นักกฎหมายและอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน
ดังนั้นแล้วหากคุณต้องการปรึกษาทนายความก็ควรจะพาเจ้าตัวหรือคนที่รู้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมดมาพูดคุยด้วยก็จะดีกว่า ทั้งนี้ยกเว้นแต่กรณีที่เจ้าตัวไม่สามารถมาได้จริงๆเช่นถูกจำคุกไม่ได้รับการประกันตัวหรือมีสาเหตุอื่น
3.ปิดบังข้อเท็จจริง หรือไม่ส่งมอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้
อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า การที่ทนายความจะให้คำปรึกษาได้อย่างดีนั้นทนายความจะต้องรู้เรื่องราวทั้งหมดโดยละเอียดมิฉะนั้นอาจจะเกิดความผิดพลาดในการให้คำปรึกษา
ดังนั้นในการปรึกษาทนายความ คุณไม่ควรปิดบังข้อเท็จจริงหรือเล่าเรื่องราวแค่เพียงบางส่วน หรือปกปิดไม่ยอมส่งมอบเอกสารหลักฐานให้กับทนายความไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
เพราะการกระทำอย่างนั้นสุดท้ายแล้วคนที่เสียผลประโยชน์ที่สุดก็คือตัวคุณเองที่จะได้รับคำแนะนำอย่างไม่ถูกต้องและเกิดผลเสียในที่สุด
4.ต้องการให้ทนายความให้ความเห็นหรือดำเนินคดี ไปตามความต้องการของตนเองอย่างเดียว
ปัญหาข้อนี้ตัวผมและเชื่อว่าทนายความอีกหลายๆคนก็คงจะต้องเจอ
โดยเฉพาะกับลูกความหรือคนที่มาปรึกษาคดีความ ที่เป็นประเภทคนที่มีอำนาจ มีฐานะร่ำรวย มีความรู้หรือมีความมั่นใจในตัวเองสูง
คนประเภทนี้ มักจะมีความคิดเป็นของตัวเองและคิดว่าตัวเองถูกเสมอ และมีแนวโน้มจะไม่รับฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่น
เมื่อทนายความแนะนำหรือให้ความเห็นทางกฎหมายอะไรไปก็ไม่รับฟัง ต้องการที่จะให้ทนายความให้คำปรึกษาหรือให้ความเห็น หรือชี้แจงแนวทางดำเนินคดีไปในแนวทางที่ตนเองต้องการแต่เพียงอย่างเดียว
ซึ่งทนายความหลายคนอยากจะได้รับค่าวิชาชีพหรืออยากจะเอาใจลูกความก็อาจจะ ยอมตามลูกความไปซึ่งสุดท้ายก็อาจจะเกิดความเสียหายกับตัวลูกความเอง
ดังนั้นแล้วในการปรึกษาทนายความคุณควรจะกำจัดอคติและความคิดของคุณออกไปเสียทั้งหมด และเปิดใจรับฟังเหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพื่อให้รับประโยชน์อย่างสูงสุดครับ
5.เน้นย้ำให้ทนายฟันธง หรือยืนยันผลแพ้ชนะคดี
ธรรมดาแล้วในเรื่องคดีความต่างๆทนายความไม่ได้เป็นคนตัดสินคดีเองเป็นเพียงผู้นำเสนอข้อเท็จจริงให้ศาลเป็นคนตัดสินเท่านั้น
และในเรื่องของคดีความ อ้าวไม่ใช่เป็นคดีง่ายๆที่มีพยานฐานชัดเจนจริงๆมักมีปัจจัยหลายอย่างที่จะก่อให้เกิดโอกาสแพ้ชนะคดีได้ แทบจะไม่ใช่สิ่งที่คำนวณได้อย่างแน่นอน 100%
ดังนั้นแล้วทนายความจึงสามารถบอกได้เพียงโอกาสความน่าจะเป็นเท่านั้น ธรรมดาแล้วเราไม่สามารถยืนยันหรือให้ความมั่นใจ 100% ว่าคุณจะชนะคดี (ยกเว้นเป็นคดีง่ายๆที่มีพยานหลักฐานชัดเจนไม่ซับซ้อน)
แต่หลายคนมักจะขอให้ทนายความยืนยันหรือให้โอกาสในการชนะคดีแน่นอน 100% ถึงจะตกลงว่าจ้างหรือยอมเชื่อตามคำปรึกษาซึ่งเป็นวิธีที่ผิด
6.บันทึกเสียงการสนทนาโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต
สำหรับเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมพบเจอบ่อยอยู่เหมือนกัน ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่มีมารยาทและไม่ให้เกียรติกันเป็นอย่างมาก
ธรรมดาแล้วหากคุณต้องการบันทึกเสียงสนทนาไว้เพื่อใช้ทบทวนความจำ กรณีที่คุณต้องการใช้สำหรับอ้างอิงหรือดำเนินการภายหลังย่อมสามารถทำได้
เพียงแต่คุณจะต้องขออนุญาตและแจ้งให้ทนายความทราบก่อน ซึ่งธรรมดาแล้วทนายความส่วนใหญ่รวมทั้งตัวผมเองก็ยินดีที่จะให้คุณบันทึกเสียงสนทนาไว้อยู่แล้ว
ขั้นตอนการ ปรึกษาทนายความ
สำหรับคนที่ต้องการจะปรึกษาปัญหาทางกฎหมายหรือคดีความมีขั้นตอนอย่างไร ?
ทนายความแต่ละที่อาจจะมีขั้นตอนและวิธีการแตกต่างกันไป
แต่สำหรับผม มีวิธีการของผมเองที่ได้ลองปรับใช้มาจากประสบการณ์เป็นเวลากว่า 10 ปีและเห็นว่าเป็นประโยชน์ดังนี้ครับ
- add LINE มาที่ @srisunglaw หรือโทรศัพท์ติดต่อเบอร์ 0982477807 ,0873357764ลองเล่าข้อเท็จจริงเบื้องต้นสั้นๆมาว่าเรื่องราวเป็นอย่างไรหากเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆผมจะให้คำแนะนำเบื้องต้นโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
- หากดูแล้วเป็นเรื่องที่ซับซ้อนหรือจะต้องสอบข้อเท็จจริงโดยละเอียด ทางผมจะแจ้งว่าเริ่มมีค่าใช้จ่ายในการปรึกษาเท่าไหร่ซึ่งเริ่มต้นที่ 3,000 บาท
- ชำระค่าใช้จ่ายก่อนให้คำปรึกษา
- พิมพ์เล่าเรื่องราวมาโดยละเอียด หรือเล่าข้อเท็จจริงทั้งหมดโดยละเอียด
- ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคลิปวีดีโอรูปถ่าย หลักฐานการสนทนาต่างๆ ถ้ามี
- ทนายความให้คำปรึกษา พร้อมสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอย่างละเอียดจนกว่าจะหายสงสัยในเรื่องดังกล่าว
- ติดตามผลสอบถามในเรื่องเดียวกันได้เพิ่มโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามสมควร
โดยวิธีการตามที่ผมใช้มานี้ ถือว่าก่อให้เกิดประโยชน์และความสะดวกสบายใจกับทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายผมเองที่ไม่ต้องเสียเวลาให้คำปรึกษาฟรี ในทุกเรื่องจนกระทบคุณภาพงานเรื่องอื่น
และฝั่งลูกความที่สามารถทราบได้ว่าตนเองจะต้องเสียค่าปรึกษาเมื่อไหร่และสามารถปรึกษาได้ถึงแค่ไหนครับ