คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

9   หลักการต่อสู้คดีอ้างเหตุ “ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย”

 

การต่อสู้คดีโดยการอ้างเหตุป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีหลักเกณฑ์ที่ศาลใช้ในการวินิจฉัยอย่างไร

วันนี้ผมจะมาอธิบายให้ฟังถึงการต่อสู้คดีอาญา โดยอ้างเหตุป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

โดยผมจะเน้นหนักเป็นเรื่องของทางปฏิบัติเวลาที่เราจะหยิบยกประเด็นข้อต่อสู้นี้ขึ้นสู้เราจะต้องนำสืบถามค้านอย่างไร

รวมทั้งกรณีที่ฝ่ายตรงข้ามยกประเด็นดังกล่าวขึ้นต่อสู้เนี่ยเราจะแก้ยังไง เพื่อสามารถนำไปปรับใช้ได้ในทางปฏิบัติครับ

การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายคืออะไร

หลักทฤษฎีกฎหมายของการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายเนี่ยก็มีหลักการอยู่ว่า ธรรมดาแล้วรัฐมีหน้าที่ต้องให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้อย่างทันท่วงทีไม่ให้มีใครมาละเมิดสิทธิ์ต่างๆได้

แต่อย่างไรก็ตามเนี่ยทางปฏิบัติแล้วรัฐไม่สามารถไปให้ความคุ้มครองได้อย่างทันท่วงทีในทุกกรณี

ดังนั้นในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ที่รักไม่สามารถคุ้มครองประชาชนได้

รัฐจึงให้อำนาจของประชาชนที่จะขจัดปัดเป่าภยันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตนเองได้ด้วยการป้องกัน โดยถือว่าไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย

มีหลักเกณฑ์อยู่ใน

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด

 

1.ต้องเป็นการทำเพื่อป้องกัน “สิทธิ”  

 

สิทธิ คืออะไร ?

คำว่าสิทธิ์นั้นมีหลายประเภท  เช่นสิทธิ์ในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ

ชื่อเสียง ทรัพย์สิน ครอบครัว

ตัวอย่างเช่น

  • สิทธิ์ในชีวิตและร่างกายที่จะไม่ถูกทำร้าย
  • สิทธิ์ในทรัพย์สินที่บุคคลอื่นจะมาเอาของเราทำลายของเราหรือล่วงละเมิดทรัพย์สินเราไม่ได้
  • สิทธิในเสรีภาพที่จะไม่ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขัง
  • สิทธิ์ในชื่อเสียงที่จะไม่ถูกล่วงล้ำหมิ่นประมาท
  • สิทธิ์ในครอบครัว เช่นสามีที่จะไม่ถูกชายอื่นล่วงล้ำล่วงเกินภรรยาของตนเอง

ดังนั้นแล้วเนี่ยถ้าหากว่าเราจะสู้คดีเรื่องการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เบื้องต้นเราต้องดูก่อนว่าเรามีสิทธิ์อะไรอยู่บ้าง ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่กฎหมายรองรับ แล้วมาดูว่าการกระทำของจำเลยเราเนี่ยมันถือว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิ์หรือเปล่า

 ตัวอย่างเช่นเป็นสามีที่ไม่จดทะเบียนก็ไม่มีสิทธิ์ป้องกันสิทธิ์หากมีใครมามีอะไรกับภรรยาตัวเอง / ในทางกลับกันเนี่ยหากเป็นภรรยาที่จดทะเบียนสมรสก็ย่อมมีสิทธิ์ป้องกันสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2373/2544

การกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนที่จะถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย สิทธิอันบุคคลมีอยู่นั้นต้องเป็นสิทธิที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ด้วย การที่จำเลยยิงผู้เสียหายขณะที่ผู้เสียหายลักลอบหลับนอน ร่วมประเวณีกับ ส. ซึ่งมิได้เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีภยันอันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายต่อ ส. การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันสิทธิโดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 808/2540

ผู้ตายเคยกอดปล้ำข่มขืนกระทำชำเราล. ภรรยาจำเลยมาครั้งหนึ่งแล้วจำเลยก็ไม่เอาเรื่องครั้นถูกจำเลยต่อว่าผู้ตายยังพูดสบประมาทจำเลยกับภรรยาอีกวันเกิดเหตุผู้ตายมาพูดขอล. ไปเป็นภรรยาจากพ่อตาแม่ยายจำเลยการที่ผู้ตายจับแขนล.ดึงเข้ามาหาตัวแม้จะมิได้มีเจตนาจะทำร้ายก็ตามแต่ก็ถือได้ว่ามีเจตนากระทำอนาจารต่อล. เมื่อผู้ตายกระทำการละเมิดต่อกฎหมายและศีลธรรมอย่างร้ายแรงจำเลยย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะกระทำการป้องกันเกียรติยศชื่อเสียงและเสรีภาพของล. ผู้เป็นภรรยาของตนได้โดยชอบขณะเกิดเหตุจำเลยไม่มีอาวุธใดหากจำเลยจะเข้าช่วยเหลือล.ภรรยาของตนด้วยการเข้าทำร้ายผู้ตายด้วยมือเปล่าก็อาจถูกผู้ตายชักอาวุธปืนออกมายิงได้ในภาวะเช่นนั้นจึงไม่มีทางเลือกนอกจากแย่งอาวุธปืนจากผู้ตายแล้วยิงผู้ตายถ้าเพียงจะใช้อาวุธปืนตีผู้ตายปืนอาจลั่นไปถูกคนอื่นหรือผู้ตายอาจแย่งคืนมายิงเอาได้จำเลยแย่งอาวุธปืนได้ก็ยิงทันทีโดยไม่เลือกว่าจะถูกตรงไหนแล้วทิ้งอาวุธปืนวิ่งหนีการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำไปพอสมควรแก่เหตุจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา68

 ป้องกันสิทธิ์ของตนเอง หรือสิทธิ์ของผู้อื่นก็ได้

การป้องกันนี้จะเป็นการ ป้องกันสิทธิ์ของตนเองหรือของผู้อื่นก็ได้

ผู้อื่นจะเป็นใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องมีความเกี่ยวพันทางการเช่นเป็นบิดามารดาเป็นบุตรเป็นสามีภรรยา

ทั้งนี้เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของพลเมืองดีที่จะต้องป้องกันบุคคลอื่น

บุคคลอื่นที่จะป้องกันนั้น ต้องเป็นคนที่มีสิทธิ์ที่จะต้องป้องกันตนเองด้วย ไม่ใช่เป็นคนที่ละเมิดหรือก่อภัยมาตั้งแต่ต้นที่ทำให้ตนเองไม่มีสิทธิ์ป้องกัน

ดังนั้นในการตั้งรูปต่อสู้คดีเนี่ย เราก็สามารถตั้งรูปได้กว้างขวางนะครับว่าถึงแม้บางครั้งการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิ์ก่อให้เกิดอันตรายเนี่ยจะไม่ได้เกิดกับเราเอง แต่หากเกิดกับบุคคลอื่นและเราเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรจะทำเพื่อป้องกันเราก็สามารถตั้งรูปต่อสู้คดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 919/2552

จำเลยที่ 2 เข้าไปกอดรัด ป. หลังจากที่ถูก ป. ใช้ขวดตีที่บริเวณศีรษะ แต่ ป. ยังไม่หยุดทำร้ายโดยใช้ปากกัดที่บริเวณแขนของจำเลยที่ 2 และยังใช้มือบีบคอจำเลยที่ 2 ด้วย ย่อมเป็นการกระทำอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิเข้าช่วยเหลือป้องกันจำเลยที่ 2 ให้พ้นจากภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้นได้ การที่จำเลยที่ 1 ใช้ค้อนตีศรีษะ ป. 3 ถึง 4 ครั้ง เป็นเพียงแผลแตกแสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ตีเต็มกำลังให้ถึงตาย แต่จำเลยที่ 1 กระทำเพื่อให้ ป. หยุดทำร้ายและปล่อยตัวจำเลยที่ 2 เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการป้องกันจำเลยที่ 2 พอสมควรแก่เหตุ

 

2.จะต้องมี “ภยันตราย” กำลังเกิดขึ้นต่อสิทธิ

ภยันตรายคืออะไรคำว่าภยันตรายหมายถึงภัยที่เป็นความเสียหายแก่สิทธิต่างๆที่กฎหมายรองรับ       

  • เช่นบุคคลที่จะเข้ามาทำร้าย ร่างกายหรือชีวิตทรัพย์สิน
  • มีบุคคลจะเข้ามาทำลายทรัพย์สินหรือบุกรุกเข้ามาในทรัพย์สินของเรา
  • มีบุคคลจะเข้าจับกุม คุมขังเราโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  • มีบุคคลอื่นมาด่าทอ หมิ่นประมาท
  • ชายอื่นมาล่วงล้ำภรรยาของเรา

ดังนั้นการที่จะป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้เราจะต้องมีสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายรองรับก่อน และมีบุคคลอื่นจะเข้ามาล่วงล้ำสิทธิ์นั้น

ถ้าหากบุคคลอื่นยังไม่ล่วงล้ำสิทธิ์ ยังไม่ถึงขั้นจะก่อให้เกิดภัยแก่สิทธิ์แต่เรากังวลหรือกลัวไปเอง  หรือเพียงแค่ยั่วยุให้เราโมโห อันนี้ก็ไม่ถือว่ามีการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นในการต่อสู้คดีประเภทป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายเนี่ย นอกจากดูว่าเรามีสิทธิ์แล้ว เราก็ต้องดูว่าการกระทำของฝ่ายตรงข้ามเนี่ยถึงขั้นที่จะก่อให้เกิดภยันตรายต่อสิทธิที่เรามีอยู่หรือไม่ เพราะบางครั้งเนี่ยอาจารย์จะทำมันยังไม่ถึงขั้นเป็นภยันตราย อาจจะเป็นการกระทำที่เรียกว่าไม่สมควรเป็นการย้วยอายุยั่วโมโห หรือจะทำการอะไรที่ไม่สมควรต่างๆแต่ไม่ถึงขั้นว่าจะเป็นการล่วงละเมิดต่อศิษย์ แบบนี้มันก็ไม่ถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่จะถือว่าเป็นบันดาลโทสะหรือเปล่าก็ต้องเป็นอีกเรื่องนึง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยได้ทำนองว่ายังไม่เกิดอันตรายขึ้น

  • ลำพังเพียงชี้หน้าด่า หรือพูดจาหาเรื่อง อะไรแบบนี้ยังไม่ถึงขั้นเป็นภยันตราย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5736/2539 ผู้ตายทั้งสองมีเรื่องไม่พอใจน้องชายจำเลยแต่กลับไปหาเรื่องกับจำเลยและชี้หน้าด่าแม่จำเลยเห็นว่าการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองด้วยสาเหตุเพียงเท่านี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการป้องกันสิทธิของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา68แต่การที่ผู้ตายทั้งสองไปหาเรื่องกับจำเลยและชี้หน้าด่าแม่จำเลยนั้นถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองในขณะนั้นจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483 – 484/2550

แม้จะได้ความว่าเมื่อจำเลยเดินออกจากร้านไปจ่าสิบตำรวจ ส. จะต่อว่าผู้ตายว่าเป็นผู้ใหญ่ไม่น่าใช้คำหยาบ และผู้ตายพูดว่า “พี่ผิดไปแล้ว” ก็ตาม คำหยาบดังกล่าวก็เป็นเพียงคำพูดที่ไม่สมควรอาจยั่วยุให้จำเลยรู้สึกเจ็บแค้นและโมโหเท่านั้น หาได้เป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง อันจะเป็นเหตุให้จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตัวไม่

  • ยิงปืนขึ้นฟ้ายังไม่ถึงขั้นเป็นภยันตราย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252/2537

ผู้ตายไปถามหาจำเลยกับบุตรและมารดาจำเลย บุตรจำเลยวิ่งหนีส่วนมารดาจำเลยแจ้งว่าจำเลยไม่อยู่บ้าน ผู้ตายเดินไปห่างบ้านจำเลยประมาณ 2 วา แล้วยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อระบายอารมณ์ การที่จำเลยยิงผู้ตาย ขณะที่จำเลยแอบอยู่ในครัวโดยที่ไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้ก่อภัยอันใดขึ้นที่จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตัว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันเพื่อให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายตามฟ้อง

  • ถ้าพฤติการณ์ของฝ่ายตรงข้ามยังไม่ถึงขั้นจะใช้อาวุธทำร้ายแค่กลัวแค่กังวลไปเอง ก็ยังไม่ถึงขั้นว่าเกิดภยันตราย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2645/2547

ผู้ตายกับจำเลยเป็นสามีภริยากัน แต่มีเรื่องทะเลาะกันเป็นประจำจึงแยกกันอยู่ วันเกิดเหตุผู้ตายกับจำเลยไปบ้านเกิดเหตุเพื่อตกลงปัญหาเรื่องครอบครัวแต่ตกลงกันไม่ได้ จำเลยจึงจะออกจากบ้าน ผู้ตายนำอาวุธปืนออกมาวางที่ปลายเตียงเพื่อขู่ให้จำเลยอยู่กับผู้ตายและที่ผู้ตายพูดขู่จำเลยขณะจำเลยขยับตัวจะวิ่งก็เป็นเพียงขู่ไม่ใช่จำเลยหนีไปเท่านั้น แต่จำเลยเกรงว่าผู้ตายจะใช้อาวุธปืนของกลางยิงจำเลย ทั้งที่ไม่ปรากฏพฤติการณ์ที่จะส่อว่าผู้ตายจะทำเช่นนั้น จึงถือว่าไม่มีภยันตรายที่จำเลยจำต้องป้องกันแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันตามกฎหมาย

  • พูดคุยเคลียร์ปัญหากันจบแล้วถึงแม้ตอนแรกอาจจะก่อให้เกิดภยันตรายได้ แต่ภายหลังไม่มีท่าทีจะก่อให้เกิดเหตุไปทำร้ายก็ ไม่ใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8173/2544

แม้ผู้เสียหายจะถือมีดเข้าไปในบ้านของมารดาจำเลยในเวลากลางคืนโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรก็ตาม แต่เมื่อจำเลยมาพบได้มีการพูดจาโต้ตอบกันและผู้เสียหายได้บอกแก่จำเลยแล้วว่าไม่ใช่ขโมย เหตุที่ทำให้จำเลยเข้าใจผิดว่าผู้เสียหายเป็นคนร้ายเข้ามาลักทรัพย์จึงหมดไปแล้ว ไม่มีภยันตรายที่จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันอีก การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายจึงไม่เป็นการกระทำเพื่อป้องกัน โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80

การที่จะถือว่าเป็นการป้องกันสิทธิ์จะต้องแน่ชัดว่าจะเกิดอันตรายเกิดขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2176/2540การที่ผู้เสียหายเมาสุราไม่เชื่อฟังมารดาพูดจาท้าทายจำเลยและถือมีดปลายแหลมซึ่งมีใบมีดยาวถึง17เซนติเมตรเดินไปตบหน้าภริยาจำเลยที่หน้าประตูห้องน้ำในขณะที่จำเลยอยู่ในห้องน้ำและอยู่ห่างกันเพียง1ว่าไม่มีทางที่จำเลยจะหลบหนีไปทางใดได้บุคคลที่อยู่ในภาวะเช่นจำเลยต้องเห็นว่าผู้เสียหายมีเจตนาจะทำร้ายจำเลยโดยใช้มีดที่ถือมาแทงจำเลยอย่างแน่นอนและอาจถึงแก่ความตายได้จึงเป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงการที่จำเลยเปิดประตูห้องน้ำออกมาแล้วใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายเพียง1นับแล้วหลบหนีจึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5215/2539

ผู้ตายมีนิสัยเป็นนักเลงอันธพาลใจคอดุร้ายวันเกิดเหตุผู้ตายได้กล่าวคำอาฆาตจำเลยกับบุตรจำเลยแล้วดื่มสุราก่อนมาหาจำเลยเมื่อผู้ตายเข้ามาในบริเวณบ้านจำเลยจำเลยบอกให้ผู้ตายหยุดแต่ผู้ตายไม่ยอมหยุดและเดินตรงเข้าหาจำเลยระยะห่างเพียง5วาพฤติการณ์ของผู้ตายส่อลักษณะอาการที่มุ่งร้ายต่อชีวิตของจำเลยและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงจำเลยมีความชอบธรรมที่จะป้องกันภยันตรายได้ตามสมควรจำเลยอายุ68ปีอยู่ในวัยชราส่วนผู้ตายอายุ26ปีเป็นชายฉกรรจ์ในภาระเช่นจำเลยต้องประสบในขณะนั้นย่อมต้องเข้าใจว่าผู้ตายคงจะต้องมีอาวุธติดตัวมาและจะมาฆ่าจำเลยโอกาสไม่อำนวยให้จำเลยได้ตั้งสติไตร่ตรองได้ว่าผู้ตายมีอาวุธร้ายแรงแค่ไหนการที่จำเลยยิงปืนใส่ผู้ตายเพียง1นัดกระสุนปืนถูกผู้ตายและผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นถือได้ว่าการกระทำของจำเลยพอสมควรแก่เหตุเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

3.เป็นภยันตรายที่ “ใกล้จะถึง”     

ภยันตรายดังกล่าวจะต้องใกล้จะถึง เพราะถ้าหากไม่ใช่ภัยที่จะใกล้จะถึงเนี่ยเราก็สามารถที่จะใช้อำนาจของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือวิธีการอื่นในการป้องกันได้เช่นการแจ้งตำรวจ

เพราะโดยหลักแล้วเนี่ยหน้าที่ในการขจัดปัดเป่าภยันตรายมันเป็นหน้าที่ของรัฐครับ เราจะมีสิทธิ์จะทำเองได้ก็ต่อเมื่อ เป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่สามารถใช้วิธีของรัฐดำเนินการได้คำว่าใกล้จะถึงหมายถึงอะไร?ก็หมายความว่ามันเห็นชัดเจนหรือมีโอกาสสูงมากๆ ที่หากเราไม่ทำการเพื่อป้องกันในตอนนั้น ไปรอแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าหน้าที่รัฐ มันจะเกิดอันตรายขึ้นลิขสิทธิ์กับตัวเราเองหรือของบุคคลอื่น โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นก่อน ดังนั้นแล้วเนี่ยในคดีเรื่องการต่อสู้คดีเริ่มป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายเนี่ยเราต้องดูนะครับว่า มันเป็นเรื่องที่ใกล้จะถึงโดยที่เราไม่สามารถหลบเลี่ยงหรือใช้วิธีการอื่นในการแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ เรื่องไหนถือว่าเป็นภัยที่ใกล้จะถึง เป็นเรื่องที่จะต้องดูตามพฤติการณ์เป็นเรื่องๆไป

ตัวอย่างภัยที่ใกล้จะถึง แนวคำพิพากษา

ขับรถมาไล่ตามยิงถึงแม้ว่าจะหลบซ่อนตัวอยู่ยังไม่เห็นตัว แต่ถ้าเกิดถูกเห็นตัวก็จะต้องถูกยิงแน่ๆแบบนี้ชิงยิงก่อนถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6594/2559

จำเลยที่ 3 ขับรถกระบะพาจำเลยที่ 2 มาตามหาผู้เสียหายในเวลาค่ำคืน แล้วใช้อาวุธปืนยิงบริเวณท้ายซอยห่างจากบ้านของผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 ประมาณ 500 เมตร 1 นัด และยังใช้อาวุธปืนยิงบริเวณข้างบ้านจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ใกล้บ้านผู้เสียหายและบ้านจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่า ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อข่มขู่ แต่เป็นการกระทำโดยไม่มีเหตุสมควรอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย การที่จำเลยที่ 1 กลับไปเอาอาวุธปืนลูกซองยาวของบิดาแล้วไปหลบซ่อนตัวกับผู้เสียหาย จะถือว่าจำเลยที่ 1 สมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้ไม่ เพราะบริเวณที่จำเลยที่ 1 และผู้เสียหายหลบซ่อนตัว อยู่บริเวณข้างบ้านจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความจำเป็นที่จำเลยที่ 1 จะหลบหนีไปที่ใด และมีสิทธิที่จะกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหากมีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ แม้ขณะที่จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงในครั้งหลัง จำเลยที่ 2 จะไม่ทราบว่าผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 หลบซ่อนบริเวณใด แต่ตามพฤติการณ์ที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงถึงสองครั้งพร้อมทั้งท้าทายให้ผู้เสียหายออกมา ย่อมมีเหตุให้จำเลยที่ 1 เข้าใจได้ว่าหากจำเลยที่ 2 เห็นจำเลยที่ 1 และผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 อาจใช้อาวุธปืนยิงบริเวณที่จำเลยที่ 1 และผู้เสียหายหลบซ่อนก็ได้ จึงถือว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงไปทางจำเลยที่ 2 ทันทีหลังจากที่จำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงในครั้งหลัง ถือได้ว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมายและพอสมควรแก่เหตุ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิด

ขับรถเข้ามาในบ้านเวลากลางคืน ในลักษณะอันตรายและน่ากลัวถึงแม้ว่าจะยังไม่เห็นว่ามีอาวุธปืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2550/2553

ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน จำเลยนอนในเปลที่ขนำในนากุ้งเพื่อเฝ้าดูแลรักษาทรัพย์สินของตน เมื่อจำเลยเห็นรถยนต์แล่นผ่านเข้ามาใกล้ก็ใช้สปอทไลท์ส่องซึ่งจะทำให้ผู้ที่ผ่านมาทราบว่ามีผู้เฝ้าดูแลอยู่ในบริเวณนั้น อันเป็นการกระทำเพื่อรักษาทรัพย์สินของตน แต่โจทก์ร่วมกลับขับรถแล่นเข้ามาบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งมิใช่ถนนสาธารณะที่ใช้สัญจรทั่วไป แต่เป็นถนนทางเข้านากุ้งในยามวิกาลเวลาประมาณ 3 นาฬิกา แล้วชนรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งจอดอยู่หน้าขนำ ย่อมทำให้จำเลยตกใจกลัวและสำคัญผิดว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงจากคนร้ายที่มุ่งเข้าทำร้ายตน การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าก่อนและยิงอีก 1 นัด ในระยะเวลาที่ใกล้ชิดต่อเนื่องกันขณะ ช. และโจทก์ร่วมกำลังเปิดประตูรถออกมา ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจว่าผู้ที่อยู่ในรถมีอาวุธหากจำเลยช้าเพียงเล็กน้อย จำเลยก็อาจได้รับอันตรายร้ายแรงได้ จึงเป็นการป้องกันตนให้พ้นจากภยันตรายที่จำเลยสำคัญผิดว่าจะเกิดขึ้นแก่ตนและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง อีกทั้งหลังจากจำเลยยิงปืนนัดที่สองไปแล้ว จำเลยก็วิ่งหลบหนีไปในทันทีโดยมิได้ยิงหรือทำร้ายโจทก์ร่วมหรือ ช. ซ้ำอีก ทั้งที่มีโอกาสเนื่องจากโจทก์ร่วมถูกกระสุนปืนได้รับบาดเจ็บและลงมาจากรถแล้ว การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำพอสมควรแก่เหตุเพื่อให้ตนพ้นจากภยันตรายที่จำเลยสำคัญผิดว่าจะเกิดขึ้น อันเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสำคัญผิดตาม ป.อ. มาตรา 68 ประกอบมาตรา 62 วรรคแรก

คนโกรธกันมีเรื่องกัน ชักอาวุธปืนออกมาถึงแม้ว่าจะยังไม่ทันได้เล็งยิง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8079/2549

จำเลยและผู้เสียหายมีสาเหตุขุ่นข้องหมองใจกันจนต่างฝ่ายต่างหวาดระแวงว่าอีกฝ่ายจะมาทำร้ายตน ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ผู้เสียหายเรียกชื่อจำเลยและชักอาวุธปืนออกมาจากเอว วิญญูชนเช่นจำเลยย่อมเข้าใจได้ว่าผู้เสียหายจะใช้อาวุธปืนนั้นยิงจำเลย ถือได้ว่าเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงตาม ป.อ. มาตรา 68 แล้ว การที่จำเลยหยิบอาวุธมีดพร้าที่วางอยู่พื้นถนนซึ่งเป็นของบุคคลอื่นฟันทำร้ายผู้เสียหายไปเพียงครั้งเดียวแล้ววิ่งหลบหนีไป จึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันพอสมควรแก่เหตุ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่มีความผิด

ปีนเข้าบ้านเวลากลางคืน มีลักษณะน่าเชื่อว่าจะเป็นคนร้ายเข้ามาลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3869/2546

ในช่วงเวลาเกิดเหตุในละแวกบ้านจำเลยมีโจรผู้ร้ายชุกชุม และก่อนเกิดเหตุจำเลยเคยถูกคนร้ายเข้ามาลักทรัพย์ในบ้าน คืนเกิดเหตุผู้ตายได้ปีนเข้าบ้านจำเลยทางช่องลมโดยปราศจากเหตุสมควร ย่อมทำให้จำเลยสำคัญผิดว่าผู้ตายเป็นคนร้ายและในขณะนั้นจำเลยย่อมไม่อาจรู้ได้ว่าผู้ตายจะมีอาวุธหรือไม่ เพราะในห้องที่เกิดเหตุมืดและเป็นเวลากะทันหัน ถ้าเป็นคนร้ายซึ่งจะมาทำร้ายจำเลยจริงแล้ว การที่จะให้จำเลยรออยู่จนกว่าคนร้ายจะแสดงกิริยาทำร้ายแล้ว จำเลยก็อาจได้รับอันตรายก่อนที่จะทำการป้องกันได้ทันท่วงที และจำเลยก็ยิงผู้ตายไปเพียง 1 นัด เมื่อผู้ตายล้มลงจำเลยก็มิได้ซ้ำแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงพอสมควรแก่เหตุเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสำคัญผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ประกอบด้วยมาตรา 62 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5758/2537

ผู้ตายกับพวกถือสิ่งของคล้ายอาวุธปืนเดินเข้ามาหาจำเลยในเขตนากุ้งของจำเลยในเวลาค่ำคืน จำเลยร้องห้ามให้วางสิ่งของดังกล่าว แล้วผู้ตายกับพวกกลับจู่โจมเข้ามาใกล้ประมาณ 2-3 เมตรย่อมมีเหตุให้จำเลยอยู่ในภาวะเข้าใจได้ว่าผู้ตายกับพวกจะเข้ามาทำร้ายและถือได้ว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงไปทางผู้ตายกับพวกในภาวะและพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมายและพอสมควรแก่เหตุ

 

4.ภยันตรายต้องเป็น “การละเมิดต่อกฎหมาย”

 

1.ต้องเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

ถ้าอีกฝ่ายทำโดยมีอำนาจย่อมไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็นสิ่งที่เราจะต้องยอมรับ

หมายถึงการใช้อำนาจภายในขอบเขตของกฎหมาย ถ้าใช้อำนาจนอกขอบเขตของกฎหมาย แบบนี้ก็สามารถป้องกันได้เช่นเดียวกัน

2.การละเมิดกฎหมายนั้นอาจจะเป็นกฎหมายแพ่งหรืออาญาก็ได้ เช่นการไปเป็นชู้กับภรรยาของชาวบ้านไปมีอะไรกับภรรยาของชาวบ้าน ถึงแม้จะไม่เป็นความผิดอาญา เป็นการละเมิดสิทธิ์ทางแพ่งของสามี

3.การละเมิดต่อกฎหมายจะเป็นการตั้งใจทำหรือทำโดยประมาทก็ได้ เช่นขับรถโดยประมาทจนเกือบจะมาชนเรา

4.อาจจะมีอำนาจตามกฎหมาย หรือมีอำนาจโดยพฤติการณ์ก็ได้ เช่น เจ้าบพนักงานใช้อำนาจตามกฎหมาย ในการจับกุม อาจารย์ลงโทษลูกศิษย์ พ่อแม่ลงโทษลูก ดังนั้นประเด็นเรื่องการที่ฝ่ายตรงข้ามเนี่ยมีอำนาจจะกระทำตามกฎหมายหรือไม่เป็นประเด็นที่สำคัญมากในการต่อสู้คดีเรื่องป้องกันด้วยชอบด้วยกฎหมาย ในการต่อสู้คดีประเภทนี้ ก็ต้องนำสืบหรือถามค้านลึกไปถึงเรื่องประเด็นว่าฝ่ายตรงข้ามมีสิทธิ์ในการดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่ เป็นการใช้อำนาจนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ในทำนอง กลับกันถ้าเราเป็นฝ่ายตรงข้ามก็ต้องพยายามถามค้าและนำเสนอให้เห็นว่าการกระทำของเราเนี่ยเป็นการกระทำที่มีสิทธิ์จะทำมีอำนาจจะทำได้ตามกฎหมาย

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกากรณี ที่ไม่ถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบ เพราะอีกฝ่ายมีอำนาจตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6884/2543

การอ้างเหตุป้องกันตัวตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68 นั้น ผู้ยกขึ้นอ้างเป็นผู้ถูกกระทำโดยผู้กระทำได้กระทำโดยละเมิดต่อกฎหมาย จำเลยยอมรับว่าได้ใช้อาวุธปืนยิงในหมู่บ้านโดยใช่เหตุอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจะเข้าจับกุมจำเลย จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยวิ่งหนี เมื่อผู้เสียหายกับพวกไล่ตามไปเพื่อจับกุม จำเลยก็ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายแม้จะฟังอย่างที่จำเลยอ้างว่าเจ้าพนักงานตำรวจใช้อาวุธปืนยิงก็คงเป็นการยิงขู่เพื่อให้จำเลยยอมให้จับกุมมากกว่ามีเจตนาฆ่าจำเลย เพราะหากเป็นเช่นนั้นจำเลยคงต้องถูกกระสุนปืนบ้างไม่มากก็น้อย ข้อเท็จจริงจึงเป็นเรื่องที่จำเลยเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุป้องกันตัวขึ้นมาอ้างได้

ฎ.429-430/2505

ผู้เสียหายเป็นภิกษุ บังคับจะเอามีดจากจำเลยซึ่งเป็นศิษย์ เนื่องจากจำเลยเป็นคนโมโหร้ายมีมีดไว้กลัวจะมีเรื่อง จำเลยแสดงกิริยาขัดขืนจะต่อสู้ ผู้เสียหายจึงใช้ไม้ฟาดไปทีหนึ่งจำเลยยกแขนขึ้นรับปัดไม้กระเด็นไปจำเลยโถมเข้าหาผู้เสียหายล้มลงกอดปล้ำกันกลิ้งไปมาจำเลยใช้มีดที่ถืออยู่แทงผู้เสียหายเช่นนี้ ไม่เป็นการป้องกันสิทธิของตนตามมาตรา 68 เพราะเมื่อจำเลยปัดไม้กระเด็นไป อันตรายจากไม้นั้นก็สิ้นไปแล้วและการที่ผู้เสียหายใช้ไม้ฟาดจำเลยไปทีหนึ่ง ก็เป็นการใช้อำนาจของอาจารย์ภายในขอบเขตอันสมควร ไม่ใช่เป็นการข่มเหงจำเลยด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมแม้จำเลยจะบันดาลโทสะขึ้นเพราะเหตุนี้ก็เป็นการลุแก่โทสะโดยมิบังควรจะปรับว่าเป็นการบันดาลโทสะตามมาตรา 72 ไม่ได้

กรณีถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบเพราะอีกฝ่ายไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

ฎ.2353/2530

กรณีที่มิใช่เป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า ราษฎรย่อมไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะจับกุมผู้กระทำความผิด ดังนั้น การที่ ข.กับผู้ตายซึ่งเป็นเพียงราษฎรจะเข้าจับกุมจำเลยภายหลังเกิดเหตุจำเลยทำร้ายผู้อื่นแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันเพื่อให้พ้นจากการที่จะต้องถูกจับได้ แต่การที่จำเลยใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงผู้ตายที่หน้าอกส่วนล่างใต้นมเหนือชายโครงซ้าย และผู้ตายถึงแก่ความตายในคืนเกิดเหตุนั้นเอง แสดงว่าจำเลยแทงโดยแรง และเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยเลือกแทงที่อวัยวะสำคัญ โดยไม่ปรากฏว่า ช.กับผู้ตายมีอาวุธหรือแสดงอาการในลักษณะที่จะทำร้ายจำเลยนอกเหนือจากการกระทำเพื่อจับกุมจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1035/2536

การที่ผู้เสียหายกับพวกเข้าไปจับกุมจำเลยในบ้านดังกล่าวตามหมายจับแต่ไม่มีหมายค้น ทั้งผู้เสียหายกับพวกมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่จะทำการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น จึงเป็นการจับกุมโดยไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 81 และเป็นการจับกุมโดยไม่มีอำนาจ จำเลยจึงชอบที่จะป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการจับกุมโดยไม่ชอบเช่นนั้นได้หากจำเลยจะชกต่อยผู้เสียหายจริงก็เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนพอสมควรแก่เหตุ และไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และทำร้ายร่างกาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 77/2541

ต.มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าพนักงานเวรฝ่ายรักษาความปลอดภัยต.เป็นเจ้าพนักงานตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานเพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 ซึ่งแต่งตั้งให้หัวหน้าพนักงานเวรฝ่ายรักษาความปลอดภัยเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ขณะเกิดเหตุ ต.ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานไม่ได้เข้าจับกุมจำเลยทั้งหก เพียงแต่ ต.อนุญาตให้อ.และ ย.ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานเข้าทำการจับกุมจำเลยทั้งหก โดย ต.ไปถึงที่เกิดเหตุหลังจากจำเลยทั้งหกหลบหนีไปแล้ว กรณีจึงไม่อาจถือว่า ต.เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการหรือกระทำตามหน้าที่ เพราะ ต.ไม่ได้เข้าจับกุมจำเลยทั้งหก และเมื่อไม่มีเจ้าพนักงานปฏิบัติการหรือกระทำตามหน้าที่เช่นนี้แล้ว การที่ อ.และ ย.เข้าจับกุมจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานปฏิบัติการหรือกระทำตามหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. แต่เป็นการเข้าจับกุมโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยทั้งหกจะต่อสู้ขัดขวางเป็นเหตุให้ อ.และ ย.ได้รับอันตรายเป็นรอยถลอกและบวมเล็กน้อยตามบริเวณแขนข้อมือและขมับ ก็ต้องถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่เกินสมควรแก่เหตุ การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงไม่เป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางการจับกุมและทำร้ายผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่

 

5.ควรหลีกเลี่ยง ถ้าหลีกเลี่ยงได้     

ธรรมดาถ้าในเหตุการณ์นั้นเราสามารถหลบเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ได้ เราควรจะหลบเลี่ยง เช่นเดินหนีไป หรือไม่เข้าไปเสี่ยงภัยเอง ถ้าภัยที่เกิดขึ้นเนี่ย มันเกิดอยู่ในเคหสถานอยู่ในบ้านอยู่ในสถานที่ที่เราครอบครอง เราไม่จำเป็นต้องหลบ

หนี ออกจากสถานที่ของเราเอง เพราะกฎหมายให้ความคุ้มครองสิทธิในสถานที่อยู่อาศัยของเรา ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นต้องหลบออกจากสถานที่ของเราเอง แต่ถ้าคู่กรณีไม่ถึงขั้นบุกเข้ามาในสถานที่ของเรา ไม่ควรกระทำการถึงขั้นเสี่ยงภัยเข้าไปต่อสู้ควรจะอยู่เฉยๆ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7940/2551

บ้านและบริเวณบ้านของจำเลยถือว่าเป็นเคหสถานที่ประชาชนทั่วไปย่อมเห็นว่าเป็นที่ปลอดภัยไม่ควรถูกบุคคลอื่นรุกล้ำเข้ามากระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่จำเป็นต้องหลบหนีและมีสิทธิที่จะป้องกันสิทธิของตนเพราะจำเลยเป็นผู้สุจริตหาต้องถูกบังคับให้ไปเสียจากเคหสถานของจำเลยซึ่งมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยและเคลื่อนไหวโดยอิสระ หากจำเลยจำต้องหนีแล้วเสรีภาพของจำเลยก็จะถูกกระทบกระเทือน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1643/2554 ฎีกาเหมือนคดีบาสดาบคู่ ถูกยั่วยุจนทนไม่ไหว ถือมีดเข้าไปฟัน

ตามพฤติการณ์ที่ผู้ตายยืนร้องตะโกนด่าอยู่หน้าบ้านแล้วจำเลยที่ 2 ออกไปแย่งอาวุธปืนแล้วตีศีรษะผู้ตายโดยแรงทันที แม้ข้างศพผู้ตายจะมีมีดปลายแหลมตกอยู่โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่าเมื่อแย่งอาวุธปืนจากผู้ตายแล้วผู้ตายชักอาวุธมีดจะแทงจำเลยที่ 2 แต่การที่จำเลยที่ 2 ตะโกนว่า “ทนไม่ไหวแล้วโว้ย” แล้ววิ่งเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากผู้ตายอันมีลักษณะเหมือนจะทำร้ายผู้ตาย จึงมีสภาพเสมือนจำเลยที่ 2 สมัครใจเข้าไปวิวาทกับผู้ตาย ไม่อาจยกเอาการป้องกันสิทธิของตนขึ้นอ้างเพื่อลบล้างความผิดของตนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3089/2541

การที่ผู้เสียหายที่ 1 ไปท้าทายจำเลยโดยพูดเพียงว่า”มึงออกมาต่อยกับกูตัวต่อตัวถ้าแน่จริง” แม้จำเลยไม่มีหน้าที่ จะต้องหลบหนีก็ตาม แต่หากจำเลยไม่สมัครใจที่จะวิวาท หรือต่อสู้กับผู้เสียหายที่ 1 จำเลยก็ชอบที่จะไม่ตอบโต้ หรือ ออกไปพบผู้เสียหายที่ 1 แต่จำเลยกลับออกไปพบผู้เสียหายที่ 1 โดยพกอาวุธปืนไปด้วย แสดงว่าจำเลยสมัครใจเข้าวิวาทและต่อสู้กับผู้เสียหายที่ 1 และเข้าสู่ภัยโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ แม้ผู้เสียหายที่ 1 จะชักมีดออกมาเพื่อจ้วงแทงจำเลย ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะวิวาทกัน จำเลยไม่มีสิทธิ ใช้ไม้ตีผู้เสียหายทั้งสองและใช้ปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 โดยอ้างเหตุป้องกันตามกฎหมาย ทั้งการที่ผู้เสียหายที่ 1มาเรียกจำเลยให้ออกไปชกต่อยกันตัวต่อตัว ไม่เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 จำเลยใช้ไม้กลมยาวประมาณ 1 ศอก ตีที่ศีรษะ ผู้เสียหายที่ 2 เป็นเหตุให้มีรอยช้ำที่บริเวณท้ายทอยใช้เวลารักษาประมาณ 5 วัน เป็นการใช้อาวุธทำร้ายที่บริเวณอวัยวะสำคัญ เป็นเหตุ ให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แต่ถ้าอยู่ในสถานที่สาธารณะอยู่ในวิสัยที่จะหลบเลี่ยงได้ก็ควรเลือกที่จะหลบเลี่ยง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 410/2546

จำเลยกับผู้ตายเล่นสนุกเกอร์พนันเอาทรัพย์สินกันแล้วเกิดเรื่องทะเลาะวิวาทแม้ผู้ตายจะเป็นฝ่ายลงมือทำร้ายจำเลยก่อน แต่การที่จำเลยใช้กรรไกรเป็นอาวุธแทงสวนไปในทันทีทั้งที่ผู้ตายไม่มีอาวุธ และเมื่อผู้ตายถูกแทงแล้วเดินเข้าไปในซอยถือไม้กวาดเพื่อไล่ตีจำเลย หากจำเลยไม่ประสงค์จะต่อสู้กับผู้ตายย่อมหลบเลี่ยงเสียได้เพราะผู้ตายบาดเจ็บ การที่จำเลยยังคงยืนอยู่ในที่เกิดเหตุรอจนกระทั่งผู้ตายถือไม้กวาดเข้ามาไล่ตีจำเลย จำเลยจึงวิ่งไปหยิบท่อนเหล็กแป๊ปน้ำตีผู้ตายจนล้มลง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยสมัครใจทะเลาะวิวาทกับผู้ตาย จะอ้างเหตุว่าจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตัวไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1402/2553

ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของพยานทั้งสองว่า หลังจากผู้ตายเปิดประตูรถและเกาะประตูรถถีบจำเลยแล้ว ช. ได้เข้าไปดึงตัวผู้ตายจากรถของจำเลยในเวลานั้นหากจำเลยซึ่งนั่งอยู่ในรถไม่ประสงค์จะมีเรื่องกับผู้ตายก็น่าจะขับรถออกจากบริเวณนั้นไปเสีย แต่จำเลยกลับลงจากรถตามผู้ตายไปจนเกิดเหตุชกต่อยกันแสดงให้เห็นว่าจำเลยสมัครใจลงไปทะเลาะวิวาทกับผู้ตาย ดังนั้น แม้จำเลยจะถูกผู้ตายใช้ไม้ตีที่ศีรษะก่อนและจะตีซ้ำอีกจำเลยจึงใช้มีดแทงผู้ตายถึงแก่ความตายจำเลยก็ไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 68 ได้

 

6.ต้องกระทำก่อนภยันตรายนั้นสิ้นสุดลง    

การกระทำที่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้นั้น ในขณะที่กระทำการไปภัยอันตรายที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องยังไม่สิ้นสุดลง อยู่ในสถานะที่ยังอาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ศิษย์ของเราได้

ภาพยนตรายนั้นเกิดไปแล้วสิ้นสุดไปแล้ว ย่อมไม่สามารถอ้างเหตุป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้ แต่อาจจะเป็นเหตุบันดาลโทสะ

กรณีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ถือว่าภยันตรายนั้นสิ้นสุดลงแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6936/2562

แม้ก่อนเกิดเหตุผู้ตายทำร้ายจำเลยฝ่ายเดียว ด้วยการชกต่อยและบีบคอจำเลย อันถือว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้เกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่หลังจากเด็กชาย ช. วิ่งออกจากบ้านเข้ามาดึงแยกจำเลยออกจากผู้ตายแล้ว จำเลยก็วิ่งเข้าไปในบ้าน ส่วนผู้ตายวิ่งไปที่รถจักรยานยนต์ ถือได้ว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายดังกล่าวที่มีต่อจำเลยได้หมดไปแล้ว จำเลยจะใช้อ้างเพื่อกระทำการป้องกันสิทธิของตนย่อมหมดไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2448/2544

ผู้ตายใช้มีดฟันจำเลยแล้วต่างล้มลงแย่งมีดกัน จำเลยลุกขึ้นได้ก่อนชักอาวุธปืนออกมายิงผู้ตาย 1 นัด ผู้ตายมุดหนีไปใต้แคร่จำเลยก้มมองและส่ายอาวุธปืนไปมาแล้วเดินอ้อมไปอีกด้านหนึ่งของแคร่ยิงผู้ตายอีก 2 นัด จากนั้นจำเลยใช้มีดของผู้ตายฟันผู้ตายตรงส่วนของร่างกายที่โผล่พ้นออกมานอกแคร่มากกว่า 3 ครั้งโดยผู้ตายไม่มีโอกาสจะทำร้ายจำเลยได้อีก ภยันตรายเป็นอันผ่านพ้นและสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยจึงไม่อาจกระทำการป้องกันสิทธิของตนได้ทั้งการกระทำดังกล่าวเป็นการหาโอกาสเลือกยิงและฟันผู้ตายโดยเจตนาฆ่าผู้ตาย มิใช่เป็นการกระทำในขณะไม่อาจควบคุมอารมณ์ได้เพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมอันจะอ้างได้ว่าเป็นเหตุบันดาลโทสะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5486/2560

จำเลยเห็นผู้ตายขณะมีเพศสัมพันธ์กับภริยาจำเลย จึงเข้าไปชกต่อยต่อสู้กับผู้ตาย เมื่อจำเลยเพลี่ยงพล้ำ ภริยาจำเลยและผู้ตายรีบสวมใส่กางเกง แล้วภริยาจำเลยไปติดเครื่องรถจักรยานยนต์และเรียกผู้ตายขึ้นรถ ผู้ตายก็รีบวิ่งไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ภริยาจำเลยขับออกไป ดังนี้ ภยันอันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ผ่านพ้นไปแล้ว การที่จำเลยวิ่งตามไปทันทีแล้วใช้ไม้และเสียมตีผู้ตายจึงไม่อาจอ้างว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21/2553

พฤติการณ์ที่ผู้ตายทำร้าย ส. ล้มลงแล้วจะตามไปทำร้าย ส. อีก เมื่อจำเลยเข้าห้ามปราม ผู้ตายก็ใช้มีดแทงจำเลย ถือว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ส. และจำเลยแล้ว การที่จำเลยใช้ด้ามพร้าตีผู้ตายจนล้มลงนั้น เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อผู้ตายพยายามจะลุกขึ้นอีก แต่จำเลยใช้เท้าขวาเหยียบมือผู้ตายที่กำลังถือมีดอยู่แสดงว่าภยันตรายที่เกิดจากการกระทำของผู้ตายนั้นถูกจำเลยควบคุมมิให้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นอีกได้ ถือว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่ ส. และจำเลยหมดไปแล้ว จำเลยไม่จำเป็นต้องทำร้ายผู้ตายอย่างใดอีก ดังนั้น การที่จำเลยใช้มือซ้ายจับคางผู้ตายใช้มือขวาซึ่งถือมีดเชือดคอผู้ตาย 1 ครั้ง และเมื่อผู้ตายยังดิ้นรนอยู่จำเลยยังเอามีดพกส่วนตัวของจำเลยอีกเล่มหนึ่งมาแทงผู้ตายถึง 2 แผลอีก นับเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69 เพราะหากจำเลยไม่เชือดคอผู้ตาย ผู้ตายก็คงไม่ถึงแก่ความตาย คดีจึงฟังไม่ได้ว่าการที่จำเลยฆ่าผู้ตายเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5638/2533

การที่โจทก์ร่วมซึ่งไม่มีอาวุธติดตัวได้เข้าไปในบริเวณบ้านของผู้อื่นในเวลากลางคืนโดยไม่มีเหตุสมควร ถือว่าเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย เมื่อจำเลยมาพบเข้า โจทก์ร่วมก็วิ่งหนีออกมาเหตุละเมิดจึงหมดไป การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมด้านหลัง ไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อป้องกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงโจทก์ร่วม จำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำว่าหากกระสุนปืนถูกโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมย่อมได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เมื่อการกระทำนั้นไม่บรรลุผลจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,80.

กรณีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ถือว่าภยันตรายยังไม่สิ้นสุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8345/2544 แย่งมีดได้แล้วแต่ก็อาจจะถูกแย่งกลับได้

ก่อนเกิดเหตุขณะอยู่ในงานเลี้ยงที่บ้าน ป. ผู้ตายกับจำเลยมีเหตุทะเลาะจะทำร้ายกันเรื่องเล่นการพนันไฮโลว์ แต่มีคนห้ามไว้และให้จำเลยกลับบ้าน จำเลยจึงขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้าน ป. เพื่อกลับบ้านต่อมาผู้ตายได้ออกตามไป ซึ่งแสดงว่าผู้ตายตามไปหาเรื่องจำเลยจนเกิดเหตุเป็นคดีนี้ การที่ผู้ตายตามไปทันจำเลยระหว่างทางพร้อมกับพูดทำนองว่าตายไปข้างหนึ่งและเข้าไปชกต่อยแล้วชักมีดออกมาจากข้างหลังจะแทงทำร้ายจำเลยก่อนเช่นนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตนเองได้ ถึงแม้จำเลยจะแย่งมีดจากมือผู้ตายได้แล้วก็มิใช่ว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่ จำเลยจากผู้ตายได้ผ่านพ้นหรือสิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ตายมีรูปร่างสูงใหญ่และกำยำกว่าจำเลยซึ่งขาข้างซ้ายพิการใส่ขาเทียม โอกาสที่ผู้ตายจะแย่งมีดคืนจากจำเลยก็ยังมีอยู่ ซึ่งหากผู้ตายแย่งมีดคืนจากจำเลยมาได้ก็น่าเชื่อได้ว่าผู้ตายจะต้องแทงทำร้ายจำเลยได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ มิฉะนั้นผู้ตายคงไม่ตามไปหาเรื่องจำเลยอีก ส่วนเหตุการณ์ในขณะที่แทงนั้นนับได้ว่าเป็นช่วงฉุกละหุก ประกอบกับขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนจำเลยไม่น่าจะมีโอกาสเลือกแทงผู้ตายตรงบริเวณอวัยวะที่สำคัญได้ถนัดชัดเจน ดังนี้ แม้จำเลยจะแทงผู้ตายถูกที่บริเวณราวนมด้านซ้ายทะลุถึงหัวใจอันเป็นอวัยวะที่สำคัญเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา ก็เป็นพฤติการณ์ที่ฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุที่จำต้อง กระทำเพื่อป้องกันในสถานการณ์เช่นนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกัน โดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68

 

7.ต้องไม่มีส่วนผิดในเหตุการณ์นั้น   

เช่น

1.ไม่ใช่เป็นผู้ยั่วยุ-ผู้ก่อให้เกิดการกระทำความผิด

 2.ลงมือก่อเหตุก่อน                                                                                            

 3.สมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้กัน

 ดังนั้นในการต่อสู้คดีประเภทนี้ ก็ต้องดูด้วยว่าฝ่ายเราเนี่ยเป็นฝ่ายเริ่มเรื่องก่อน ลงมือก่อเหตุก่อน สมัครใจเข้าวืวาทต่อสู้กับเขาไหม ถ้าเป็นอย่างนั้นเนี่ยก็อาจจะไม่เข้าเป็นเหตุป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แล้วถ้าเราเป็นฝ่ายตรงข้ามเราก็ต้องถามค้านให้เห็นเป็นข้อเท็จจริงประมาณนี้

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5371/2542 ไปฉี่ใส่ล้อรถเขา

การที่จำเลยยืนใช้มือข้างหนึ่งเกาะรถยนต์ และถ่ายปัสสาวะรดตรงท้ายประตูด้านขวาปัสสาวะที่จำเลยถ่ายออกย่อมจะต้องถูกรถยนต์ไม่มากเป็นความประพฤติที่ไม่สมควร ก็น้อย การกระทำของจำเลยที่ใช้รถยนต์ของผู้อื่นเป็นที่กำบังในการถ่ายปัสสาวะอย่างยิ่งจำเลยเป็นผู้ก่อเรื่องไม่งดงามขึ้นก่อน เมื่อจำเลยถูกต่อว่าและไม่ว่าจะถูกตบท้ายทอยโดยบุคคลใดในฝ่ายผู้เสียหายหรือไม่ จำเลยพึงต้องอดทน การที่จำเลยตอบโต้โดยมีการต่อปากต่อคำนำไปสู่การวิวาทที่รุนแรง แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนในการวิวาท โดยไม่ปรากฏว่าฝ่ายผู้เสียหายมีใครใช้อาวุธปืนเช่นจำเลย ดังนี้ จำเลยหามีสิทธิที่จะอ้าง ว่ากระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือกระทำเพราะบันดาลโทสะได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2554

การที่จำเลยพกมีดปลายแหลมไปตามหาผู้เสียหายที่บ้าน เพราะโกรธผู้เสียหายที่ไปทำร้าย ส. บุตรเขยจำเลย เมื่อผู้เสียหายได้ยินจึงเดินออกจากบ้าน แล้วต่างฝ่ายต่างเดินเข้าหากัน ผู้เสียหายชกต่อยจำเลยไป 1 ครั้ง ขณะเดียวกันจำเลยก็ใช้มีดปลายแหลมแทงผู้เสียหายหลายครั้ง ตามพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยสมัครใจวิวาทกับผู้เสียหาย จะอ้างเหตุว่าจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตัวไม่ได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7135/2547

เหตุคดีนี้เกิดเพราะจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุขึ้นก่อน และเป็นการสมัครใจทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน มิใช่เป็นภยันอันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย จำเลยจะอ้างว่าการกระทำเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ได้

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาศาลเห็นว่าลำพังเพียงแค่โต้เถียงกันไม่ถึงขั้นเป็นการสมัครใจวิวาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 668/2489

แม้จำเลยและผู้ตายจะได้โต้เถียงกันก่อน แต่การโต้เถียงก็หาใช่เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายสมัครใจทำร้ายซึ่งกันและกันไม่ การที่ผู้ตายจะใช้ขวานฟันจำเลยจึงเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง เมื่อจำเลยใช้มีดแทงผู้ตายไปเพียงทีเดียว แม้จะถูกที่สำคัญก็เป็นที่เห็นได้ว่าเป็นการฉุกเฉินเพื่อให้ตนเองพ้นอันตราย จำเลยย่อมไม่มีโอกาสไตร่ตรองว่าอวัยวะส่วนใดสำคัญหรือไม่การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ

8.การกระทำต้องเป็นการสมควรแก่เหตุ

กฎหมายประมวลกฎหมายอาญาใช้คำว่าใช้คำว่า

-เกินสมควรแก่เหตุ

-เกินกว่ากรณีแห่งการจำเป็นที่ต้องกระทำเพื่อป้องกัน

การกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นจะต้องเป็นการกระทำที่เหมาะสมและไม่รุนแรงเกินกว่าเหตุ

อย่างไรจะเป็นการป้องกันที่ไม่เกินกว่าเหตุมันก็ต้องดูพฤติการณ์เป็นเรื่องๆไป โดยมีหลายปัจจัยที่จะต้องดูประกอบกันเช่น

  • รูปร่างลักษณะของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย
  • เพศ อายุ ความชำนาญเรื่องการต่อสู้
  • อาวุธที่แต่ละฝ่ายมี มีดกับปืน มีดกับไม้ มีดกับมีด
  • ภยันตรายที่เกิดขึ้นรุนแรงแค่ไหน
  • สิทธิ์ที่ป้องกันคือสิทธิ์อะไร
  • โอกาสที่จะเลือกทำร้าย
  • ได้ลงมือกระทำไปกี่ครั้ง

 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ศาลวินิจฉัยว่าเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4471/2536

ผู้เสียหายใช้อาวุธปืนข่มขู่จำเลยเข้าไปในโรงแรมที่เกิดเหตุแล้วผู้เสียหายได้ปลุกปล้ำจำเลย จำเลยต่อสู้ปัดป้อง แต่สู้ไม่ได้เพราะผู้เสียหายเป็นชายมีรูปร่างสูงใหญ่ จำเลยจึงหลอกให้ผู้เสียหายวางอาวุธปืนโดยแกล้งทำเป็นสมยอม เมื่อผู้เสียหายวางอาวุธปืนไว้ที่โต๊ะข้างเตียงและถอดเสื้อผ้าออกแล้วเดินกลับขึ้นเตียง จำเลยจึงพลิกตัวไปหยิบอาวุธปืนยิงผู้เสียหาย 1 นัด กระสุนปืนถูกบริเวณทรวงอก แต่ผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย เช่นนี้ เป็นการที่จำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายเพื่อป้องกันมิให้ผู้เสียหายปลุกปล้ำกระทำอนาจารและข่มขืนกระทำชำเราจำเลย อันจำเลยจำต้องกระทำเพื่อให้ตนเองพ้นจากอันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและจำเลยได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ จึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2755/2539

การที่จำเลยใช้อาวุธแทงผู้เสียหาย3ครั้งเพื่อยับยั้งมิให้ผู้เสียหายใช้ไม้ท่อนตีทำร้ายร่างกายจำเลยอีกต่อไปเมื่อเปรียบเทียบอาวุธที่ใช้แล้วถือว่าจำเลยกระทำพอสมควรแก่เหตุเป็นการป้องกันตนเองโดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10497/2553

ผู้ตายเมาสุราก่อเหตุขึ้นก่อน โดยพูดจาทำนองหาเรื่องจำเลยเมื่อจำเลยเดินหนีไม่ตอบโต้ ผู้ตายยังเดินตามและใช้ไม้ตีจำเลยที่หลัง 1 ครั้ง แล้วผู้ตายจะใช้ไม่ตีจำเลยอีก นับเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ การที่จำเลยหันกลับมาชกผู้ตายซึ่งอยู่ในระยะประชิดเพื่อป้องกันตัวแม้จะเป็นการชกโดยแรงแต่ก็เป็นการชกเพียงครั้งเดียว และเมื่อจำเลยชกผู้ตายล้มลงจำเลยก็ไม่ได้ชกผู้ตายซ้ำอีก การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุและไม่เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 68

ตัวอย่างที่ศาลเห็นว่าเป็นการป้องกันเกินกว่าเหตุ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3374/2534

ก่อนเกิดเหตุผู้ตายกับเพื่อคนหนึ่งได้พากันดื่มสุราจนเมาจากนั้นได้ไปเล่นไฮโลซึ่งจำเละเป็นเจ้ามือ ผู้ตายยักเงินผู้อื่นจึงเกิดทะเลาะกับจำเลย ผู้ตายชกจำเลยก่อนหนึ่งถูกที่หัวไหล่เมื่อมีผู้เข้ารัดคอผู้ตายไว้จำเลยก็เดินหนีไป แต่พอผู้ตายดิ้นหลุดได้วิ่งเข้าไปหาจำเลยเพื่อจะทำร้าย จำเลยจึงใช้มีดซึ่งยาวทั้งตัวและด้ามประมาณ 1 ฟุต แทงผู้ตายหนึ่งทีแล้วหนีไป ผู้ตายถึงแก่ความตายการที่ผู้ตายอยู่ในลักษณะเมาสุรามากประกอบกับทั้งไม่มีอาวุธแทบจะช่วยตัวเองไม่ได้อยู่แล้ว ตามไปทำร้ายจำเลยก็เพียงทำไปตามประสาคนเมา มิใช่ภัยร้ายแรงแต่อย่างใด เพียงจำเลยใช้เท้าเตะหรือใช้มือผลักผู้ตายก็สู้จำเลยไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่จำเลยใช้มีดยาว 1 ฟุต แทงอวัยวะที่สำคัญย่อมถือว่าเป็นการป้องกันสิทธิของจำเลยเกินสมควรแก่เหตุ

คำพิพากษาฎีกาที่  7516/2555   แม้โจทก์ร่วมจะไม่มีอาวุธติดตัว แต่ด้วยการที่จำเลยขาพิการย่อมอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบหากจะป้องกันตัวโดยการต่อสู้กับโจทก์ร่วมด้วยมือเปล่า การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงใส่โจทก์ร่วมจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตน ให้พ้นอันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง แต่การที่จำเลยยิงปืนใส่บริเวณลำตัวตนถูกแขนของโจทก์ร่วมอาจพลาดไปโดนอวัยวะสำคัญทำให้ถึงตายได้ จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่า ซึ่งเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ซึ่งศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ตาม ป.อ. มาตรา 68 และ 69

คำพิพากษาฎีกาที่  501/2555  มีดของกลางมีขนาดใหญ่พอที่จะทำอันตรายแก่ชีวิตได้ การที่จำเลยใช้มีดของกลางแทงผู้ตายมีบาดแผลถึง 3 แห่ง แสดงว่าจำเลยแทงไปหลายครั้ง และลักษณะบาดแผลที่ทะลุแขนไปอีกด้านหนึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นการแทงโดยแรงโดยมุ่งประสงค์ต่อชีวิต  ฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่ามิใช่เพียงเจตนาทำร้ายร่างกายเท่านั้น เมื่อการกระทำของจำเลยเกิดจากการที่ถูกผู้ตายใช้ไม้เท้าตีทำร้ายก่อน ซึ่งเป็นภยันตรายที่ละเมิดต่อกฎหมายและใกล้จะถึงโดยจำเลยมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น จำเลยจึงมีเหตุจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย แต่การที่จำเลยใช้มีดของกลางแทงผู้ตายไปโดยแรงหลายครั้ง ทั้งๆ ที่ผู้ตายมีสภาพร่างการพิการเดินไม่สะดวกและมีเพียงไม้เท้าที่ใช้ค้ำยันร่างกายเป็นอาวุธเท่านั้น จึงเป็นการกระทำเกินกว่ากรณีแห่งการที่จำต้องกระทำเพื่อป้องกัน

ผลของการป้องกันเกินกว่าเหตุ

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๖๙  ในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๗ และมาตรา ๖๘ นั้น ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้

ผล

-ศาลจะลดโทษหรือไม่ลดโทษก็ได้

-ถ้าลดโทษจะลดโทษเท่าไหร่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แล้วแต่เรื่อง

-กรณีที่ศาลจะไม่ลงโทษเลยศาลอาจจะเห็นว่าเกิดจากความตื่นเต้นตกใจหรือความหวาดกลัว

9.สามารถนำไปต่อสู้คดีความผิดอาญาได้ทุกข้อหา

ธรรมดาแล้วเนี่ยเวลาเราพูดถึงเรื่องการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เราก็จะมักคิดถึงการป้องกันตัว หรือป้องกันสิทธิ์ในร่างกายเท่านั้น  แล้วก็คิดว่าจะต้องจะยกขึ้นไปต่อสู้ในคดีในความผิดฐานยิงกัน ทำร้ายกัน อะไรในทำนองนั้น

แต่ความจริงแล้วเนี่ยการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถนำไปปรับใช้ได้ในสถานการณ์และความผิดหลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็น

1.บุกรุก

2.ทำให้เสียทรัพย์

3.ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์

4.ดูหมิ่น

หรือแม้กระทั่งคดีความผิด ตามพรบ. ต่างๆ

ถ้าเข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดตามที่ผมอธิบายไว้ทั้ง 9 ข้อ เราก็สามารถนำไปปรับใช้ได้หมดครับ

ท่านอาจารย์เกียรติขจร ได้อธิบายไว้ว่า หลักการต่อสู้คดีในการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นใช้ยกความผิดได้ทุกฐาน

ฎ.2508/2529  เป็นการยกเว้นความผิดตามพรบอาวุธปืนด้วยไม่ใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอย่างเดียว

เมื่อเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าและฐานยิงปืนโดยใช่เหตุในเมืองหมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน.

สรุป

การต่อสู้คดีในประเด็นเรื่องการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68  มีทั้งหลักเกณฑ์และข้อยกเว้นที่ต้องรู้เยอะมาก

ดังนั้นหากเข้าใจข้อกฎหมายอย่างถ่องแท้ก็สามารถเอาไปปรับใช้ได้ทั้งการต่อสู้คดีในกรณีที่เราเป็นฝ่ายจำเลยเอง หรือกรณีที่เราเป็นฝ่ายผู้เสียหาย ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ในการทำงานเป็นอย่างยิ่งครับ

Express your opinion about this article

comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น