คดีที่ฟ้องร้องสู้กันเกี่ยวกับที่ดินทรัพย์สินบ้านคอนโด อ้างว่าเป็นเจ้าของ ให้อีกฝ่ายหนึ่งครอบครองแทนหรือถือทรัพย์สินไว้แทนตัวเอง แบบนี้มันจะแพ้ชนะคดีกันตรงไหน จะต้องสู้กันยังไงวันนี้เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังครับ
คดีที่ดินมีขึ้นสู่ศาลประเทศไทยเยอะมากเลยนะครับ และอีกหนึ่งประเด็นที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกันบ่อยมากเลย ประเด็นว่าใครเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทกันแน่
หลายๆครั้งมีการยกข้ออ้างว่าความจริงแล้วเนี่ยที่ดินพิพาทมีชื่อคนหนึ่งอยู่ในเอกสาร แต่ความจริงแล้วเป็นการครอบครองแทนหรือถือไว้แทนคนอื่นเท่านั้น
หรือที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าไม่มีชื่อใครเป็นเจ้าของ แต่ก็มีคนอื่นอ้างว่าไอ้คนที่ครอบครองอยู่เนี่ยไม่ใช่เจ้าของ ความจริงเป็นการครอบครองแทนคนอื่น
ตัวอย่างลักษณะคดีนี้พบบ่อยเช่น
1.ทำธุรกิจมาร่วมกัน
2.ร่วมกันซื้อทรัพย์สินมา
3.มรดก-ญาติพี่น้อง
4.ทรัพย์สินในลักษณะกงสี พ่อแม่ญาติพี่น้องถือแทนกัน
5.คนรักหรือคนใกล้ตัวถือทรัพย์สินแทนกันโดยเฉพาะกรณีคนต่างชาติ
แบบนี้เวลาต่อสู้คดีกันมันจะไปตัดสินแพ้ชนะกันตรงไหน พยานหลักฐานตรงไหนที่ถือว่าเป็นข้อสำคัญที่จะแพ้ชนะคดีกัน วันนี้เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆครับ
ก่อนอื่นไปปูพื้นฐานข้อกฎหมายให้ฟังกันแบบเข้าใจง่ายๆก่อน
อธิบาย
ธรรมดาแล้วทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน คอนโด บ้าน เนี่ยคนที่เป็นเจ้าของไม่จำเป็นต้องปรากฏชื่อในเอกสารหรือต้องเป็นคนครอบครองทรัพย์สินนั้นเสมอไป
หลายครั้งหลายเหตุผลคนที่เป็นเจ้าของหรือเจ้าของร่วมเนี่ยก็ไม่ได้มีชื่อในเอกสาร หรือไม่ได้เข้ามาเข้าครองทรัพย์สิน
แต่มอบหมายให้บุคคลอื่นลงชื่อไว้ในทรัพย์สินแทน หรือมอบหมายให้คนอื่นดูแลทำประโยชน์ในทรัพย์สินแทน ด้วยหลายเหตุผล ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ตาม ป.พ.พ.ม.1368
ซึ่งถ้าอยู่กันไปดีๆมันก็ไม่มีปัญหาหรอกครับ แต่ปัญหามันจะเกิดก็ตอนที่ คนที่ไม่มีชื่อหรือไม่ได้พักอาศัยอยู่ในทรัพย์สินจะเรียกร้องขอให้คืนทรัพย์สินหรือขอให้ลงชื่อในทรัพย์สินและมีการปฏิเสธโต้แย้งกัน แบบนี้ก็ต้องพิสูจน์ครับว่าสรุปแล้ว ใครเป็นเจ้าของทรัพย์สินกันแน่
ซึ่งประเด็นอย่างนี้มันเป็นประเด็นที่สามารถฟ้องแล้วก็ต่อสู้คดีกันได้หากสู้ได้ว่าเป็นเจ้าของที่แท้จริงให้คนอื่นถือไว้แทน ศาลก็สามารถพิพากษาให้เรากลับไปเป็นเจ้าของหรือเจ้าของร่วมได้
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
โจทก์ฟ้องเรียกเอาประโยชน์ที่อ้างว่าตัวแทนได้รับไว้จากการที่โจทก์มอบหมายให้ไปทำการแทน ดังนั้น ถึงการตั้งตัวแทนนั้นจะไม่ได้ทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสือ โจทก์ก็ย่อมฟ้องได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ (อ้างฎีกาที่ 640/2489 และ 418/2501)
เอกสารมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของ โจทก์ก็นำสืบได้ว่าที่จำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของที่พิพาทนั้นได้กระทำในงบฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ หาใช่นำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่.792/2540 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่านายลั่นทมเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของนายลั่นทมที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระบุว่าจำเลยเป็นผู้ซื้อโจทก์จะนำสืบว่าจำเลยทำแทนหรือถือกรรมสิทธิ์แทนนายลั่นทมไม่ได้เพราะเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) นั้น เห็นว่าการที่โจทก์นำสืบดังกล่าวก็เพื่อแสดงถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายลั่นทมจำเลยมีชื่อในโฉนดที่ดินแทนนายลั่นทมการนำสืบเช่นนี้เป็นการนำสืบถึงการเป็นตัวการตัวแทนอีกส่วนหนึ่งหาใช่เป็นการนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารไม่กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นคำมั่นจะให้ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะบังคับได้นั้น จำเลยมิได้ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายลั่นทมจึงต้องแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
มาตรา ๑๓๖๗ บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง
มาตรา ๑๓๖๘ บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้
มาตรา ๑๓๖๙ บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน
มาตรา ๑๓๘๑ บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก
ซึ่งมันก็มีทั้งกรณีที่ คนที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงเนี่ยมาเรียกร้องสิทธิ์เพราะว่าความจริงแล้วตัวเองเป็นเจ้าของจริงๆ กับพวกที่ไม่ได้เป็นเจ้าของและมาแอบอ้างว่าตัวเองเป็นเจ้าของเยอะแยะไปหมดเลยครับคดีประเภทนี้
วันนี้ผมเลยมาวิเคราะห์ให้ฟังครับว่าจากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วก็ทางปฏิบัติในการทำงานเนี่ยเวลาต่อสู้คดีประเภทนี้เราจะต้องนำสืบต้องต่อสู้ยังไงบ้างให้สายเขารับฟังไปตามข้อต่อสู้ของเราได้
ชื่อที่ปรากฏในเอกสาร
- ใครมีชื่อคนนั้นได้เปรียบ ! โดยเฉพาะที่ดินมีโฉนดหรือนส. 3
ธรรมดาแล้วเนี่ยถ้าที่ดินเป็นที่ดินมีโฉนดหรือที่ดินมีน.ส. 3 ก็จะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าใครมีชื่อในโฉนดคนนั้นเป็นเจ้าของ
แต่ก็ไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดความจริงคนที่มีชื่อในเอกสารอาจจะไม่ใช่เจ้าของเลย หรืออาจจะเป็นเจ้าของแค่บางส่วนไม่ใช่เจ้าของทั้งหมด อาจจะถือไว้แทนคนอื่นก็ได้ด้วยหลายเหตุผล
แต่อย่างไรก็ตามที่ดินประเภทที่ดินมีโฉนดกับที่ดินนส 3 คนที่มีชื่อได้เปรียบไว้ก่อนอยู่แล้วครับ เขาได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายตามมาตรา
มาตรา ๑๓๗๓ ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
ตัวอย่างคำพิพากษา
คำพิพากษาฎีกาที่ 3565/2538 ที่พิพาทซึ่งจำเลยครอบครองอยู่เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตาม น.ส.3 กที่โจทก์มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่า โจทก์ซึ่งมีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติดังกล่าวรวมถึงที่ดินที่มี น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก. ด้วย
และ ฎ.985/2536 ฎ.4343/2539 ฎ.2153/2539
แต่ถ้าเอกสารนั้นเป็นเอกสารอื่นๆที่ไม่ใช่เอกสารประเภท โฉนดที่ดินหรือน.ส. 3 คนที่ถือหรือมีชื่อในเอกสารเนี่ยก็ยังถือว่าได้เปรียบกว่าคนที่ไม่มีชื่ออยู่ดีนะครับ เพียงแต่อาจจะไม่ถึงขั้นได้รับประโยชน์เป็นข้อสันนิษฐานทางกฎหมาย เหมือนกรณีโฉนดที่ดินหรือนส.3
ตัวอย่างเช่น
- ที่ดินสค 1
- ที่ดินภบท 5
- ใบไต่สวน (น.ส.5)
- ใบจอง (น.ส.2)
- ใบเหยียบย่ำ
- ทะเบียนบ้าน
- ใบอนุญาตปลูกสร้าง
สรุปแล้วเนี่ยมีชื่อใครในเอกสารคนนั้นก็ได้เปรียบในเชิงคดีอยู่แล้วครับ ได้เปรียบมากหรือได้เปรียบน้อย ก็ขึ้นอยู่ว่าเป็นเอกสารประเภทไหน
เหตุผลที่ปรากฎชื่อบุคคลในเอกสาร
ทำไมถึงมีชื่อเขาเป็นเจ้าของ เราไม่มีชื่อเป็นเพราะอะไร ?
อย่างที่ผมบอกแล้วครับคนที่มีชื่อในทรัพย์สินเนี่ยได้เปรียบอยู่แล้วครับได้เปรียบมากได้เปรียบน้อยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ดังนั้นแล้วสาเหตุที่บุคคลนั้นเนี่ยมีชื่อในเอกสารเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ฝ่ายที่ไม่มีชื่อเนี่ยจะต้องนำสืบให้เห็นอย่างชัดเจน แล้วก็เป็นประเด็นที่ศาลหยิบยกมาแพ้ชนะคดีบ่อยมาก
สำหรับเหตุผลที่ปรากฏอยู่เป็นประจำว่าทำไมมีชื่อคนอื่นอยู่ในเอกสาร หรืออยู่ในทรัพย์สิน ที่หยิบยกมาแล้วมีเหตุผลให้รับฟังเช่น
- เป็นคนต่างด้าวไม่สามารถลงชื่อในทรัพย์สินเองได้ ฎ.9801/2558 ฎ.7568/2541 ฎ.2749/2530
- เป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง รอการแบ่ง ฎ.7968/2544 ฎ.3527/2533 ฎ.792/2540 ฎ.3254/2528
- ลงชื่อไว้แทนเพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายจัดสรรที่ดิน ฎ.19287/2555
- ลงชื่อถือไว้แทนระหว่างที่ยังไม่ได้ตั้งบริษัท หรือเพื่อความสะดวกในการทำธุรกิจ ฎ.1277/2541
- ลงชื่อถือไว้เพื่อหลบเลี่ยงปัญหาที่กำลังจะเกิดหรืออาจจะเกิด เช่นเรื่องหนี้สิน เรื่องกฎหมาย ฎ.5435/2537 ฎ.165/2544
- ให้ถือไว้แทนเพื่อเอาไปกู้ยืมเงินเพราะเครดิตดีกว่า หรือเพื่อให้ไปทำธุรกิจอื่นๆเพราะมีความเหมาะสมมากกว่า ฎ.3866/2547
การครอบครอง
กรณีที่ดินมือเปล่า คนไหนครอบครองคนนั้น ก็มีน้ำหนัก !
ธรรมดาแล้วคนที่เป็นเจ้าของก็ต้องเข้าครอบครองทรัพย์สินนั้น ดังนั้นถ้าทรัพย์สินนั้นเนี่ย ใครเป็นคนครอบครองอยู่ส่วนใหญ่คนนั้นก็มักจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานทางกฎหมายว่าน่าจะเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะทรัพย์สินประเภทที่ดินมือเปล่า คือที่ดินที่ไม่มีโฉนดที่ดิน หรือไม่มีน.ส.3
ธรรมดาทรัพย์สินประเภทที่ดินมือเปล่า ใครเป็นคนครอบครองทำประโยชน์อยู่ กฎหมายจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าคนนั้นเป็นเจ้าของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1369
มาตรา ๑๓๖๙ บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน
โจทก์ฟ้องว่า ได้ที่พิพาทมาโดยจำเลยตีราคาชำระหนี้ให้โจทก์จำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่เคยเอาที่พิพาทตีราคาใช้หนี้โจทก์โจทก์เข้าอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยจำเลยดังนี้ เมื่อที่พิพาทเป็นที่ดินที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน และโจทก์เป็นฝ่ายครอบครองที่พิพาทจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าโจทก์เข้ายึดถือที่พิพาทเพื่อตนโจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองจำเลยจึงมีหน้าที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่สืบต้องถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายได้สิทธิครอบครองในที่พิพาทจำเลยต้องแพ้คดีโจทก์
ดังนั้นการนำสืบคดีประเภทนี้ ใครเป็นคนครอบครองอยู่และครอบครองด้วยเหตุใดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คนที่ครอบครองอยู่ก็ได้เปรียบอยู่แล้วถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีชื่อในเอกสาร
ฝ่ายที่ครอบครอง ก็ต้องนำสืบให้เห็นว่า ใช้ประโยชน์ในที่ดินในบ้านหลังดังกล่าวอย่างเจ้าของมาโดยตลอด ครอบและมีการแสดงตัวอย่างเจ้าของคนทั่วไปรับรู้เข้าใจว่าเป็นเจ้าของ ถึงแม้จะไม่มีชื่อตัวเองอยู่ในเอกสาร
ฝ่ายที่เป็นฝ่ายอ้างว่าให้คนอื่นครอบครองแทนตนเอง ก็จะต้องมีเหตุผลความจำเป็นและหลักฐานมาแสดงเช่น
- ให้อยู่เพราะเป็นญาติพี่น้อง ฎ.1579/2514 ฎ.2489/2517
- ให้อยู่เพราะว่าเป็นมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
- ให้อยู่เพราะมีสัญญาเช่า ฎ.984/2509
- ให้อยู่พร้อมเมตตาให้อยู่อาศัยเพราะไม่มีที่อยู่ ฎ.1649/2505
ข้ออ้าง-หลักฐานในการเรียกร้อง
ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก ที่ฝ่ายที่ไม่ได้มีชื่อในทรัพย์สินหรือไม่ได้เป็นฝ่ายครอบครองทรัพย์สินจะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายให้ได้ ว่าทำไมตนเองถึงมีสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าว ใช้อะไรเรียกร้อง แล้วมีหลักฐานอะไรบ้าง
- การเป็นทายาทโดยธรรม
- การเป็นสามีภรรยาแบบมีทะเบียนสมรส
- การเป็นสามีภริยาแบบไม่ได้จดทะเบียนสมรส (หลักหุ้นส่วนชีวิต)
- หลักฐานการให้ถือไว้แทนเพราะเหตุผลต่างๆ
- หลักฐานการชำระเงินในการซื้อทรัพย์สินพิพาท ฎ.3857/2565
- หลักฐานการลงเงินลงทุนการก่อสร้างอาคาร โรงเรือน
- สัญญา-บันทึกข้อตกลงที่มีระหว่างกัน เป็นเรื่องมี่มีน้ำหนักมาก ฎ.1277/2541
- เป็นฝ่ายถือโฉนดอยู่ ฎ.19287/2555 ฎ.4044 – 4046/2566
- เอกสารการพูดคุยที่ผ่านมา
ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย
ประเด็นนี้ก็จะเกี่ยวเนื่องกับข้ออ้างและก็หลักฐานในการเรียกร้องครับ ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายจะบ่งบอกสิ่งที่เป็นไปเป็นมาได้ ว่ามีโอกาสที่จะเป็นลักษณะของการถือทรัพย์สินไว้แทนหรือไม่ เพราะอะไร เช่น
- เป็นญาติพี่น้องกัน ฎ.3340/2526 ฎ.6455/2537
- เป็นทายาทโดยธรรม ฎ.1986/2511 ฎ.2128/2518
- ผู้จัดการมรดกกับทายาท ฎ.1415/2512 ฎ.787/2524 ฎ.8286/2544 ฎ.7856/2561
- เป็นคนรัก ฎ.3135/2529
- เป็นเพื่อนสนิทกัน
- ร่วมทำธุรกิจกัน
- เป็นลูกน้อง-เจ้านายกัน ฎ.1120/2501
เหตุปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ
- ระยะเวลาที่ครอบครอง
- สาเหตุที่ต้องการใช้สิทธิ์เรียกร้อง / เกิดข้อพิพาท
- การบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนการยึดถือ
- การแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์สินนั้น
- หลักฐานการชำระค่าสาธารณูปโภค
- การขออนุญาตปลูกสร้าง