ในคดีฉ้อโกงที่เราต่อสู้เรื่องอายุความเนี่ยเราจะถามค้านพยานฝ่ายโจทก์ยังไง ?
วันนี้เดี๋ยวผมจะมาแบ่งปันเทคนิค 5 ขั้นตอนในการถามค้านประเด็นเรื่องอายุความในคดีฉ้อโกงให้เพื่อนฟังในแบบเข้าใจง่ายๆ
ความผิดฐานฉ้อโกงเนี่ยเป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายจะต้องมีการฟ้องหรือแจ้งความภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด.มิฉะนั้นคดีเป็นอันขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96
มาตรา 96 ภายใต้บังคับมาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
ซึ่งจุดตัดที่สำคัญเนี่ยมันก็อยู่ที่ว่าวันที่รู้เรื่องหรือรู้ตัวผู้กระทำความผิดมันอยู่ที่วันไหน
แล้วถ้าเราเป็นทนายความฝั่งจำเลยเราจะต่อสู้หรือถามค้านยังไง ให้เห็นได้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว
วันนี้เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟัง
สอบถามสาเหตุของการส่งมอบเงินหรือทรัพย์สิน
สาเหตุที่ไปที่มาที่โจทก์มอบเงินให้กับจำเลยนั้นเป็นประเด็นสำคัญมากในคดีฉ้อโกง
ที่จะเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า สรุปแล้วจำเลยได้นำเงินหรือทำทรัพย์สินนั้นไปทำตามที่กล่าวอ้างจริงไหม
แล้วถ้าไม่เอาเงินหรือเอาทรัพย์สินไปดำเนินการตามที่กล่าวอ้างจริงเนี่ยโจทก์รู้หรือควรจะรู้ความจริงเมื่อไหร่
ดังนั้นจึงจะต้องเป็นประเด็นที่จะต้องสอบถามให้ปรากฏชัดเจน
แต่ประเด็นนี้หากโจทก์นำสืบโดยละเอียดแล้วไม่จำเป็นต้องถามก็ได้.
ยกเว้นแต่ว่าฝ่ายโจทก์นำสืบแบบยังมีข้อสงสัย ยังพูดไม่หมด หรือยังปิดบังความจริงอยู่
เราจะต้องสอบถามให้ชัดเจนถึงแรงจูงใจ สิ่งที่จำเลยพูด หรือสิ่งที่จำเลยปิดบังความจริง ที่เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้ตัวโจทก์มอบเงินหรือทรัพย์สินให้
วัตถุประสงค์
เพื่อสอบถามรายละเอียดและชี้ให้เห็นว่าประเด็นหรือข้อเท็จจริงที่สำคัญจริงๆ ที่ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ และยอมส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินให้กับจำเลยไปคืออะไร
ซึ่งจะไปสอดคล้องสัมพันธ์กับเรื่องที่ว่ารู้หรือควรจะรู้ ว่าฝ่ายจำเลยไม่ได้ทำตามที่กล่าวอ้างเมื่อไหร่
ตัวอย่างคำถาม
- สาเหตุที่พยานมอบเงินให้กับจำเลย เพราะเชื่อว่าเขาจำเลยบอกว่าจะไปลงทุนทำธุรกิจเหมืองแร่นะครับ
- จำเลยบอกว่า จะเอาไปปล่อยกู้ต่อใช่ไหมครับ
- จำเลยบอกว่าไปดำเนินการขอใบอนุญาตโรงงานใช่ไหม
อะไรเป็นเหตุให้เริ่มสงสัย
ประเด็นว่าอะไรเป็นเหตุให้โจทก์หรือผู้เสียหายเกิดความสงสัย
เป็นประเด็นที่สำคัญที่จะบ่งชี้ว่าตัวโจทก์หรือตัวผู้เสียหายเนี่ยรู้ถึงเรื่องการฉ้อโกงเมื่อไหร่
ดังนั้นในประเด็นนี้เราจะต้องสอบถามให้ได้ความชัดเจน
ประเด็นนี้หากโจทก์นำสืบโดยละเอียดแล้วเราไม่ต้องถามซ้ำ
ยกเว้นยังมีการพูดที่ยังไม่ค่อยละเอียด.เราค่อยถามเพิ่มเติมตอนถามค้าน
- ถามเจาะให้ชัดเจนเลยว่าเริ่มสงสัยวันไหน
- เริ่มสงสัยเพราะอะไร
- มีพยานบคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ อะไรประกอบไหม
วัตถุประสงค์
เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีเหตุเช่นนี้ก็สงสัยได้
ดังนั้นถ้ามีเหตุอื่นๆก่อนหน้านี้ควรจะสงสัยในเหตุอื่นๆ ที่มีขึ้นก่อนหน้านี้ด้วย และน่าจะรู้ก่อนหน้านี้แล้ว
ตัวอย่างคำถาม
- พยานเริ่มเอะใจเรื่องนี้เนื่องจากลูกค้าทักท้วงว่าไม่ได้รับเงินใช่ไหม
- พยานเริ่มคิดว่าตัวเองน่าจะถูกหลอกเพราะเห็นข่าวจากสื่ออินเตอร์เน็ตใช่ไหม
- พยานเริ่มสงสัยเรื่องนี้เพราะเริ่มไม่ได้ผลตอบแทนใช่ไหม
- พยานเริ่มสงสัยเพราะถามไปจำเลยเริ่มไม่ตอบใช่ไหม
- พยานเริ่มสงสัยเพราะเวลาผ่านมานานมากเลยใช่ไหม
ถามให้เห็นว่ารู้หรือควรรู้ก่อนหน้านี้แล้ว
เป็นคำถามสำคัญหรือจุดตัดของคดี
เป็นคำถามที่มีวัตถุประสงค์ ที่จะชี้ให้เห็นว่า ผู้เสียทราบหรือควรต้องทราบการกระทำความผิดเมื่อไหร่และอายุความ 3 เดือนก็ต้องนับตั้งแต่เมื่อนั้น
จะสัมพันธ์กับที่เราถามไว้ก่อนหน้านี้เรื่องข้อที่เขาสงสัยเพราะอะไร และเราจะยกเหตุอื่น ที่เขาควรจะสงสัยก่อนหน้านี้มาถามประกอบ
วัตถุประสงค์
- ถามให้ชัดว่ามั่นใจตอนไหนว่าถูกฉ้อโกง
- แน่ใจจากพยานหลักฐานตรงไหน
- ต้องถามให้เห็นว่าก่อนหน้านั้นก็มีพฤติการณ์อื่นๆ ที่เห็นชัดเจนหรือเขาต้องอยู่แล้วว่าฉ้อโกง แต่แกล้งทำเป็นไม่เห็น หรือปิดบังความจริง
ตัวอย่างคำถาม
- พยานอ้างว่าเพิ่งมารู้ตัวว่าถูกหลอกเนื่องจากเห็นในข่าว แต่ความจริงจำเลยก็หยุดจ่ายเงินให้กับพยานมานานแล้วใช่ไหม
- ความจริงแต่พยานเองก็มีข้อสงสัยมานานแล้ว แต่ไม่ได้สนใจคิดว่าหากเขาจ่ายค่าตอบแทนอยู่ก็ไม่ได้ติดใจอะไรใช่ไหม
- ตอนที่เขาเริ่มไม่จ่ายเงินพยานก็เริ่มสงสัยแล้วใช่ไหม
- ยิ่งพยานถามหาเอกสารหลักฐานเขาก็ไม่ส่งให้พยานก็เริ่มสงสัยมากขึ้นแล้วใช่ไหม
- พยานเริ่มรู้ว่าถูกหลอกลวงแต่ว่ายังไม่แจ้งความเพราะยังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน
- แต่ตอนนั้นพยานสงสัยว่าถูกหลอก แต่ยังให้เวลายังให้โอกาสเขาผัดผ่อนอยู่ใช่ไหม
- สาเหตุที่ยังไม่แจ้งความหรือฟ้องเลยเพราะยังไม่มีหลักฐานใช่หรือไม่ / แต่ก็รู้ตัวว่าถูกหลอกแล้วนะ
- ตอนหลังพยานรู้อยู่แล้วว่าไม่ได้เอาเงินไปลงทุน แต่เห็นว่าจำเลยยังจ่ายเงินอยู่จึงยังไม่แจ้งความใช่ไหม
- เห็นว่าจำเลยยังพูดคุยเจรจาอยู่ถึงแม้ตอนนั้นมั่นใจว่าจำเลยหลอกลวงแล้วแต่ก็ยังให้โอกาสใช่ไหม
คำพิพากษาที่น่าสนใจ
ฎ.1333/2564 รู้ว่าฉ้อโกงตั้งแต่นำที่ดินคนละแปลงมาขายแล้วแต่ยังให้โอกาสมาซื้อคืน ถึงเวลาไม่ซื้อคืน อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่รู้ว่าฉ้อโกง ไม่ใช่วันที่ผิดสัญญาไม่มาซื้อที่ดินคืน
ฎ. 4225/2559 ก็วินิจฉัยประเด็นทำนองเดียวกัน ก็คืออ้างว่าตัวเองถูกหลอกขายที่ดินสปก วันที่รู้ว่าตัวเองถูกหลอกก็คือวันที่ไปตรวจสอบที่ดินที่สปก ไม่ใช่มาอ้างว่ารู้ทีหลังเนื่องจากจำเลยโอนขายที่ดินของตัวเองให้บุคคลอื่นมาเป็นเหตุไม่ได้
ฎ.39/2552 ควรจะรู้ว่าถูกฉ้อโกงตั้งแต่เขาเอาทรัพย์สินไปแล้วไม่จ่ายเงินแล้วติดต่อเขาไม่ได้แล้ว ส่วนหลังจากนั้นถึงแม้ว่าเขาจะเจรจาไกล่เกลี่ยขอต่อรองที่จะผ่อนชำระแล้วถึงเวลาไม่ผ่อนชำระ อายุความก็ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่รู้ไม่ใช่วันที่เขาไม่ผ่อนชำระ
หลังจากรู้เหตุสงสัยแล้วดำเนินการยังไงต่อ
คำถามตัวนี้จะเป็นคำถามที่ช่วยเสริมประเด็นข้อที่ 3 ให้ดียิ่งขึ้น
เป็นคำถามที่จะทำให้เห็นว่าความจริงแล้วน่าจะรู้ก่อนหน้านี้ ชัดเจนขึ้น เป็นคำถามที่มีวัตถุประสงค์ว่า
สิ่งที่เขาอ้างว่าตรวจสอบและทำให้รู้ว่าตัวเองถูกฉ้อโกงนั้นไม่มีน้ำหนัก ความจริงแล้วน่าจะรู้มาก่อนหน้านั้นตั้งนานแล้ว ถามเจาะให้ชัดเจนเลยว่า หลังจากทราบเรื่องแล้วทำอะไรต่อ
- เช่นการสอบสวน
- การสืบสวนหาข้อมูล
- การค้นหาพยานเอกสาร พยานวัตถุ พยานบุคคล
ผลจากการดำเนินการเป็นยังไง
- ถามให้ละเอียดเลยว่า ผลจากการดำเนินการดังกล่าวเกิดอะไรขึ้นทราบความจริงอะไร
- ความจริงดังกล่าวเป็นเรื่องที่ตนเองรู้หรือควรรู้อยู่แล้วหรือเปล่า
- วันที่ที่แน่นอนที่ทราบความจริงดังยาว
ถ้าตอบตรงนี้ไม่ชัดเจน ตอบไม่ขาด ไม่ชัดเจนว่าเราเอาไปทำหรือไม่เอาไปทำ ก็อาจจะไปยกฟ้องเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งหรือไม่ใช่เรื่องฉ้อโกง
แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจคือ
ฎ.3638/2534 การมั่นใจกับการแสวงหาพยานหลักฐานเป็นคนละเรื่องกัน ถ้ารู้ว่าฉ้อโกงแล้วถูกหลอกแล้วก็ถือว่าอายุความนับไม่ใช่ให้ต้องไปหาพยานหลักฐานอีก
ฎ.12888/2558 ถ้ารู้ว่าฉ้อโกงแล้วเนี่ยถึงแม้ว่าจะไม่รู้ รายละเอียดว่าฉ้อโกงไปยอดเท่าไหร่ ฉ้อโกงด้วยวิธีการไหน อายุความก็นับแล้ว เพราะฉะนั้นอายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่รู้ไม่ใช่วันที่สอบสวนจนกระทั่งทราบวิธีการ หรือยอดที่แน่นอน
การแจ้งความ
เป็นคำถามโบนัส
- ถ้าการร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าไม่มีอำนาจฟ้อง คดีขาดอายุความแล้ว
- เนื้อหาไม่ชัดเจนว่าเป็นการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี เป็นแค่การลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน
- เนื้อหาไม่ชัดเจนว่าระบุถึงตัวเราด้วย
- นับจากวันรู้เรื่องถึงวันร้องทุกข์ขาดอายุความแล้ว
ธรรมดาคำถามลักษณะนี้จะต้องถามตามเอกสารเป็นหลัก เช่น
- ในบันทึกประจำวันไม่มีการระบุว่าแจ้งความจำเลยที่ 3 ด้วยนะ
- ในบันทึกประจำวันระบุว่าพยานจะไปดำเนินการด้วยตนเองนะ
- ในบันทึกประจำวันระบุว่าแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อไปใช่ไหม
ฎีกาที่น่าสนใจ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1729/2565คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3367/2546
สรุป 5 ขั้นตอนในการถามค้านเรื่องอายุความ
- สาเหตุที่ตกลงมอบเงินและทรัพย์สินให้
- สาเหตุที่เริ่มสงสัย
- ควรเริ่มรู้ก่อนหน้านั้นแล้ว
- สงสัยแล้วตรวจสอบด้วยวิธีการไหนได้ผลยังไง
- การแจ้งความถูกต้องตามกฎหมายไหม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1729/2565
โจทก์ร่วมทราบว่าถูกหลอกลวงเมื่อโจทก์ร่วมไปตามหาจําเลยที่หน่วยงานของจําเลย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 โจทก์ร่วมย่อมทราบได้ว่า จําเลยคือผู้ที่หลอกลวงโจทก์ร่วมตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ร่วมไปพบพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ข้อความที่ปรากฏในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานระบุแจ้งชัดว่า เป็นการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานและผู้แจ้งขอไปติดตามการสนทนาระหว่างผู้แจ้งกับจําเลยเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป มิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ การแจ้งความตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน จึงไม่เป็นคําร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ โจทก์ร่วมเพิ่งแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจําเลย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 เมื่อโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ว่าจําเลยเป็นผู้กระทำความผิด ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2561 การร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมจึงพ้นกำหนดระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ สิทธิของโจทก์และโจทก์ร่วมในการนําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3367/2546
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2537 ที่โจทก์ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนนั้น โจทก์ยังไม่รู้เรื่องความผิด เพราะโจทก์มีเอกสารคือสำเนาบัญชีเงินฝากเอกสารหมาย จ.43 เพียงอย่างเดียวไปแจ้งความทั้งพนักงานสอบสวนก็แจ้งว่ากรณีของโจทก์เป็นเรื่องทางแพ่ง แสดงว่าพนักงานสอบสวนเองก็ยังไม่รู้ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความผิดอาญา เนื่องจากยังไม่รู้ข้อเท็จจริงละเอียดว่าเป็นมาอย่างไรมีการฉ้อโกงกันอย่างไร เมื่อพนักงานสอบสวนยังไม่รู้ว่าเป็นการกระทำความผิดทางอาญาแล้วโจทก์จะรู้เรื่องความผิดได้อย่างไร เห็นว่า ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.63 (ล.4) ได้มีรายละเอียดที่โจทก์แจ้งต่อพนักงานสอบสวนถึงข้อเท็จจริงที่โจทก์เห็นว่าทางธนาคารจำเลยที่ 1 ถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์โดยไม่ถูกต้อง เมื่อโจทก์สอบถามจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็ได้ชี้แจงถึงเหตุที่ทางธนาคารจำเลยที่ 1 ต้องหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ชำระหนี้ของลูกหนี้ที่โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันไว้ แสดงว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่าธนาคารจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 คือผู้ที่หักเอาเงินของโจทก์ไปจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ โจทก์จึงไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองซึ่งนายพรชัย ภู่ขาว พยานโจทก์ผู้แนะนำให้โจทก์ไปแจ้งความก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายความจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ตั้งใจว่าจะแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในข้อหาฉ้อโกง จึงรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าโจทก์ได้รู้เรื่องความผิดที่จำเลยทั้งสองกระทำการฉ้อโกงโจทก์ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2537 ส่วนเมื่อโจทก์แจ้งความแล้วพนักงานสอบสวนผู้รับแจ้งจะเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดทางอาญา แต่เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องดำเนินการเรียกร้องทางแพ่ง จึงเพียงบันทึกการรับแจ้งความไว้เป็นหลักฐานนั้นก็เป็นเพียงความเห็นของพนักงานสอบสวนซึ่งไม่อาจลบล้างข้อเท็จจริงที่ถือว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงดังกล่าวไปได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลา 3 เดือนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2836/2564
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ความผิดฐานฉ้อโกงขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า จำเลยกู้ยืมเงินผู้เสียหายโดยจำเลยนำโฉนดที่ดินพิพาทมามอบให้ผู้เสียหาย ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2560 จำเลยมาขอรับโฉนดที่ดินพิพาทคืนไปจากผู้เสียหายบอกว่าจะนำไปติดต่อขอกู้ยืมเงินมาใช้หนี้แก่ผู้เสียหาย และจะนำเงินที่กู้ยืมมาคืนให้ในวันเดียวกัน ผู้เสียหายจึงมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยไป แต่จำเลยไม่ได้นำเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหายตามที่ตกลงกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 ผู้เสียหายพบนางสาวคฑาทิพ มาทวงหนี้จำเลยที่บ้านจำเลย นางสาวคฑาทิพเปิดกระเป๋าแล้วนำโฉนดที่ดินขึ้นมาฉบับหนึ่ง ผู้เสียหายจำได้ว่าเป็นโฉนดที่ดินพิพาท แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายทราบตั้งแต่เห็นโฉนดที่ดินพิพาทอยู่กับนางสาวคฑาทิพแล้วว่าถูกจำเลยหลอกลวงเอาโฉนดที่ดินพิพาทไปให้บุคคลอื่นและไม่นำเงินที่กู้ยืมคืนให้ผู้เสียหาย ถือได้ว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2560 เมื่อความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ” เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 จึงพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีของโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องความผิดฐานฉ้อโกง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3812 – 3814/2556
ซึ่งทั้งความผิดฐานยักยอกและฉ้อโกงถือเป็นความผิดต่อส่วนตัวที่ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ตามข้อเท็จจริงยุติคดีนี้ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2539 อำเภอโนนแดงโดยนายไชยยศนายอำเภอได้มอบอำนาจให้นายณรงค์ปลัดอำเภอแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลยในความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกเงินค่าวัสดุก่อสร้างฝาย 1,308,104.50 บาท ตรวจดูแล้วถือได้ว่าเป็นให้ร้องทุกข์ในข้อหาความผิดต่อส่วนตัวที่จำเลยกระทำดังกล่าวด้วย และที่มีการแจ้งความเนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้สั่งการตามบันทึกสรุปเรื่องที่เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดให้อำเภอโนนแดงดำเนินคดีกับจำเลย ฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 ซึ่งก่อนนี้ได้มีคำสั่งจังหวัดนครราชสีมาลงวันที่ 28 มีนาคม 2539 ที่ลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่องลงโทษข้าราชการออกจากราชการ โดยลงโทษไล่จำเลยออกจากราชการ ระบุข้อความสรุปว่ากรณีจำเลยยักยอกเงินโครงการฝายประชาอาสาของอำเภอโนนแดง 4 โครงการ รวมเป็นเงิน 1,308,104.50 บาท ได้มีการตรวจพบการทุจริตเดือนกันยายน 2538 ทั้งตามคำสั่ง สั่ง ณ วันที่ 28 มีนาคม 2539 ทั้งนายไชยยศและผู้ว่าราชการจังหวัดย่อมต้องรู้เรื่องจำเลยกระทำการทุจริตดังกล่าวก่อนวันออกคำสั่งฉบับนี้ หากนับจากวันมีคำสั่งถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2539 ซึ่งมีการแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยตามหนังสือมอบอำนาจ เป็นการร้องทุกข์เมื่อล่วงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดต่อส่วนตัวดังวินิจฉัยจึงขาดอายุความ เรื่องคดีขาดอายุความหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษา นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลที่ยกคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 1,304,104.40 บาท แก่ผู้เสียหายเท่านั้น ฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6351/2553
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง บริษัทเอส.เอส.บี.กรุ๊ป จำกัด จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มว่าเป็นผู้ประกอบกิจการส่งออกและนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปรวมทั้งอุปกรณ์การแต่งกายได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนสิงหาคม 2537 ว่ามีสิทธิที่จะได้รับเงินภาษีมูลค่าเพิ่มคืนจากผู้เสียหาย มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาฟ้องของโจทก์อ้างว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานพยายามฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 80, 83 อันเป็นคดีความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นคดีเป็นอันขาดอายุความ แม้ในคำฟ้องโจทก์บรรยายว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในอายุความตามกฎหมายแล้ว แต่จำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าผู้เสียหายได้ทราบเรื่องความผิดและรู้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อใด เพื่อที่จะได้รู้ว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดสามเดือนหรือไม่ เห็นว่า ในคดีอาญาจำเลยจะให้การอย่างไรก็ได้ เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ แม้ไม่ได้ให้การปฏิเสธเป็นประเด็นไว้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เพื่อให้ฟังได้ว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีตรวจแบบการยื่นคำขอภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทเอส.เอส.บี.กรุ๊ป จำกัด ตามที่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาแล้วรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและผู้บังคับบัญชาได้รายงานขึ้นไปตามลำดับชั้นจนผู้อำนวยการกองตรวจและปฏิบัติการพิเศษสั่งให้รายงานผู้เสียหายและพิจารณาดำเนินคดีอาญา ต่อมากรมสรรพากรโดยรองอธิบดีซึ่งปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลย จึงไม่แน่ชัดว่านับแต่อธิบดีกรมสรรพากรทราบเรื่องความผิดและรู้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดจนถึงวันร้องทุกข์ยังไม่เกินกว่าสามเดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 หรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบยังไม่อาจรับฟังเป็นยุติว่าผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเกินสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2552
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นคดีเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาทำนองว่า เหตุที่โจทก์ร่วมมิได้ร้องทุกข์ตั้งแต่เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2543 เป็นเพราะจำเลยเคยยืมเงินหรือทรัพย์สินของโจทก์ร่วมไปแล้วมักจะผิดนัด ต้องให้โจทก์ร่วมติดตามทวงถามหลายครั้ง ทำให้โจทก์ร่วมยังไม่แน่ใจว่าจำเลยมีเจตนาฉ้อโกงหรือไม่
จนกระทั่งวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยอ้างต่อพันตำรวจโทบุญเลิศ ว่าได้ให้เงินโจทก์ร่วมแล้ว 300,000 บาท โจทก์ร่วมจึงแน่ใจว่า จำเลยมีเจตนาฉ้อโกงโจทก์ร่วมมาแต่ต้น ต้องถือว่าโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 นั้น
เห็นว่า ตามคำเบิกความโจทก์ร่วมและนางนันทิยา ภริยาของโจทก์ร่วมได้ความว่า หลังจากมอบรังนกนางแอ่นและไม่จันทร์หอมให้จำเลยแล้ว จำเลยบอกให้โจทก์ร่วมรอรับเงินอยู่ที่ลานจอดรถซึ่งเป็นสถานที่ส่งมอบสินค้านั่นเอง โจทก์ร่วมและนางนันทิยาจึงรอจำเลยอยู่บริเวณดังกล่าว ตั้งแต่เวลาประมาณ 16 ถึง 17 นาฬิกา จนกระทั่งเที่ยงคืนจำเลยก็ไม่ไปตามนัด เมื่อโจทก์ร่วมโทรศัพท์ติดต่อไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย จำเลยก็ปิดเครื่องโทรศัพท์ของจำเลยเสีย พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวโจทก์ร่วมควรจะรู้เสียตั้งแต่ในขณะนั้นแล้วว่าจำเลยเจตนาฉ้อโกงตน
การที่โจทก์ร่วมพยายามโทรศัพท์ถึงจำเลยอีกหลายครั้งหลายหนในเวลาต่อมาทั้งๆ ที่จำเลยรับบ้างไม่รับบ้าง หรือบางครั้งรับปากว่าจะนำเงินไปชำระแต่แล้วก็ผิดนัด เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลย ซึ่งถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเพิ่งทราบหรือแน่ใจถึงการกระทำของจำเลยในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 อันเป็นวันที่จำเลยอ้างต่อพันตำรวจโทบุญเลิศว่าได้ให้เงินโจทก์ร่วมแล้วแต่อย่างใด
การร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมในวันที่ 23 มีนาคม 2544 จึงเป็นการร้องทุกข์เมื่อพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้วคดีโจทก์จึงขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาชอบแล้ว”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1465/2552
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่นั้นเห็นว่า ตามใบจองหุ้นสามัญที่โจทก์ทำสัญญาจองซื้อหุ้นนั้นเป็นเพียงให้โจทก์เป็นผู้จองเพื่อได้สิทธิในการเป็นผู้ซื้อหุ้นที่บริษัทหลุยส์เปเปอร์ กรุ๊ป จำกัด จะจัดสรรให้เมื่อมีการจดทะเบียนเพิ่มทุนแล้ว ระหว่างที่รอบริษัทจดทะเบียนเพิ่มทุนแม้จะเป็นเวลานานที่รอการจดทะเบียนเพิ่มทุนเป็นปี โจทก์ยังไม่ได้รับใบหุ้นและพยายามทวงถามจำเลยทั้งสองก็ตาม โจทก์ก็ย่อมยังไม่ทราบว่าถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวงหรือไม่เพราะอาจมีปัญหาเกี่ยวกับบริษัทโดยตรงที่ไม่สามารถจดทะเบียนเพิ่มทุนได้ ระหว่างที่รอโจทก์จึงไม่สามารถทราบได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาฉ้อโกงโจทก์ จนกระทั่งโจทก์เจรจากับจำเลยทั้งสองในวันที่ 20 มีนาคม 2541 จำเลยทั้งสองจึงยอมรับว่าไม่มีการจดทะเบียนเพิ่มทุน จึงไม่มีหุ้นโอนให้โจทก์ พร้อมคืนเงินค่าจองหุ้นและชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์รวมเป็นเงิน 2,000,000 บาท เพื่อไม่ให้โจทก์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองโจทก์จึงทราบว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ในวันที่ 20 มีนาคม 2541 ดังกล่าวเมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 19 มิถุนายน 2541 เป็นระยะเวลาภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2551
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง โจทก์ร่วมโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย รวม 13 ครั้ง เป็นเงิน 1,092,350 บาท ตามใบรับฝากและใบนำฝาก ต่อมาจำเลยสั่งจ่ายเช็คให้โจทก์ร่วม 2 ฉบับ ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2543 จำนวนเงิน 40,000 บาท และวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 จำนวนเงิน 200,000 บาท โจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน และวันที่ 1 ตุลาคม 2544 โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาฉ้อโกง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ร่วมเบิกความว่า จำเลยชักชวนโจทก์ร่วมให้ลงทุนทำธุรกิจกับจำเลยโดยอ้างว่าจะนำเงินลงทุนไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่โรงแรมเพื่อจัดแสดงสินค้าหัตถกรรมไทยให้ชาวต่างประเทศมาซื้อ และนำไปทำกล่องปากกาย่านลิเภาส่งให้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมกับนำหลักฐานการติดต่อโรงแรมและบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) มาให้ดู โจทก์ร่วมจึงโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย รวม 13 ครั้ง เป็นเงิน 1,092,350 บาท โดยเริ่มโอนเงินให้ครั้งแรกวันที่ 28 เมษายน 2543 ตามใบรับฝากและใบนำฝาก จากนั้นโจทก์ร่วมก็ไม่เห็นว่าจำเลยจะดำเนินการใดๆ และคอยติดตามทวงถามจำเลยว่าดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจไปมากน้อยเพียงใด
จำเลยบ่ายเบี่ยงว่ากำลังติดต่ออยู่ยังดำเนินการไม่เสร็จ โจทก์ร่วมจึงทวงเงินคืน จำเลยสั่งจ่ายเช็คให้โจทก์ร่วม 2 ฉบับ โจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร่วมติดต่อทวงถามอีก แต่จำเลยผัดผ่อนว่าจะนำเงินสดมาชำระคืนและขอให้โจทก์ร่วมไปดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่โจทก์ร่วมยังไม่ได้รับเงินคืนจากจำเลย โจทก์ร่วมตรวจสอบจนทราบว่าจำเลยไม่เคยนำสินค้าไปแสดงและจำหน่ายตามโรงแรมต่างๆ และไม่เคยขายสินค้าให้แก่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จึงรู้ว่าตนถูกจำเลยหลอกลวง และไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน
เห็นว่า หลังจากโจทก์ร่วมโอนเงินเข้าบัญชีให้แก่จำเลยแล้วโจทก์ร่วมก็ไม่เห็นว่าจำเลยจะดำเนินการใดๆ และคอยติดตามทวงถามจำเลยว่าดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจไปมากน้อยเพียงใด จำเลยบ่ายเบี่ยงว่ากำลังติดต่ออยู่และยังดำเนินการไม่เสร็จ โจทก์ร่วมจึงทวงเงินคืนแต่แทนที่จำเลยจะคืนเงินกลับสั่งจ่ายเช็คให้ ซึ่งนับแต่วันที่ 28 เมษายน 2543 อันเป็นวันที่โจทก์ร่วมโอนเงินให้จำเลยครั้งแรกถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2543 อันเป็นวันที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คฉบับแรกให้โจทก์ร่วมนั้นก็เป็นระยะเวลาหลายเดือน โจทก์ร่วมย่อมน่าจะรู้แต่นั้นแล้วว่าจำเลยหลอกลวงเอาเงินไปโดยมิได้ดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจตามที่ชักชวนไว้
ครั้นโจทก์ร่วมนำเช็คไปเรียกเก็บเงินธนาคารก็ปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร่วมติดต่อทวงถาม แต่จำเลยผัดผ่อนว่าจะนำเงินสดมาชำระคืนและขอให้โจทก์ร่วมไม่ดำเนินคดีตามกฎหมายอีก ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่มาสนับสนุนให้โจทก์ร่วมรู้แน่ชัดยิ่งขึ้นอีกว่าถูกจำเลยหลอกลวงแล้ว การที่จำเลยผัดผ่อนว่าจะนำเงินสดมาชำระคืนและขอให้โจทก์ร่วมไม่ดำเนินคดีตามกฎหมายนั้น ไม่เป็นผลลบล้างการรับรู้ของโจทก์ร่วมที่ถูกจำเลยหลอกลวงดังวินิจฉัยมาข้างต้นเสียไป
แต่วันที่โจทก์ร่วมไปทวงถามเงินคืนจากจำเลยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเป็นวันใด จึงต้องถือเอาวันที่ 10 ตุลาคม 2543 อันเป็นวันที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คฉบับแรกให้โจทก์ร่วมเป็นวันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงโจทก์ร่วมแล้ว เมื่อโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยวันที่ 1 ตุลาคม 2544 จึงเกินกว่า 3 เดือน คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96
ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า หลังจากโจทก์ร่วมนำเช็คไปเรียกเก็บเงินไม่ได้โจทก์ร่วมติดต่อทวงถามอีก แต่จำเลยผัดผ่อนว่าจะนำเงินสดมาชำระคืนและขอให้โจทก์ร่วมไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่โจทก์ร่วมก็ยังไม่ได้รับเงินคืนจากจำเลย จึงไปตรวจสอบจนทราบว่าจำเลยไม่เคยนำสินค้าไปแสดงและจำหน่ายตามโรงแรมต่างๆ และไม่เคยขายสินค้าให้แก่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ร่วมจึงรู้ว่าตนถูกจำเลยหลอกลวงนับแต่นั้นมานั้น เห็นว่า แม้จะมีนางศรัญญาและนางสาววนิดามาเบิกความสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ร่วมเกี่ยวกับเรื่องการตรวจสอบแล้วพบว่าจำเลยไม่เคยนำสินค้าไปแสดงและจำหน่ายตามโรงแรมต่างๆ และไม่เคยขายสินค้าให้แก่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ก็ตามแต่ก็ไม่ได้ความว่าโจทก์ร่วมไปติดต่อตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในช่วงเวลาใดจึงเป็นการง่ายที่โจทก์ร่วมจะยกเอาเรื่องดังกล่าวขึ้นมาอ้างเพื่อไม่ให้คดีของโจทก์ร่วมขาดอายุความ เมื่อโจทก์ร่วมยกเอาเรื่องดังกล่าวขึ้นมาอ้างลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอย่างอื่นมาสนับสนุนแล้วเช่นนี้ ข้ออ้างของโจทก์ร่วมดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”พิพากษายืน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4752/2545
ข้อเท็จจริงคงรับฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 348ผู้เสียหายทั้งห้าต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ผู้เสียหายทั้งห้ารู้ว่านายกอบพลซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำผิดกับจำเลยได้หลบหนีไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2536 และรู้ว่าจำเลยยอมรับผิดชดใช้เงินแก่คนหางาน 5 คน ที่จำเลยเป็นผู้ติดต่อจัดหางานเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2536 แสดงว่าผู้เสียหายทั้งห้ารู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดอย่างช้าตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2536 แต่ผู้เสียหายทั้งห้าโดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดพะเยาผู้ดำเนินการแทนได้ร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2537 ซึ่งเกินเวลาสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5พิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”พิพากษายืน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1035/2540
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 268 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์จำเลยไม่อุทธรณ์คดีเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์แต่เพียงว่า ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 อันเป็นคดีความผิดอันยอมความได้นั้นโจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความว่าผู้เสียหายได้ทราบเรื่องความผิดและรู้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อใดเพื่อที่จะได้รู้ว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดสามเดือนหรือไม่ เห็นว่า ถ้ามิได้มีการร้องทุกข์ภายในกำหนดสามเดือนคดีของโจทก์ก็ขาดอายุความโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คดีของโจทก์จะขาดอายุความหรือไม่เป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบเพื่อให้เห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องทางนำสืบของโจทก์ปรากฎว่าพนักงานตรวจเงินแผ่นดินสรุปการสอบสวนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2532 ว่าจำเลยกระทำความผิดดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีมีหนังสือถึงนายอำเภอหนองแคเมื่อปี 2534 จึงไม่แน่ชัดว่านับแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบเรื่องความผิดและรู้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดจนถึงวันร้องทุกข์คือวันที่ 30ธันวาคม 2534 เกินกว่าสามเดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96หรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ความผิดฐานฉ้อโกงภายในกำหนดสามเดือนตามกฎหมาย คดีโจทก์ข้อหาฉ้อโกงจึงขาดอายุความ โจทก์ฎีกาว่า การร้องทุกข์เมื่อใดมิใช่เป็นองค์แห่งความผิดอันโจทก์จะต้องนำสืบให้สมฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธว่ามิได้กระทำความผิดหมายถึงแต่เพียงปฏิเสธว่ามิได้กระทำผิดตามฟ้องเท่านั้น หากจำเลยจะต่อสู้คดีในประเด็นอื่นก็ชอบที่จะให้การด้วยเพื่อโจทก์จะได้นำสืบ มิฉะนั้นบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 ที่ว่าจำเลย”จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง” ก็จะไม่มีที่ใช้ เห็นว่า ในคดีอาญานั้นจำเลยจะให้การอย่างไรก็ได้ แม้จะไม่ให้การก็ได้ เมื่อจำเลยให้การอย่างไร หรือจำเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้ จำเลยหาต้องให้การปฏิเสธเป็นประเด็นไว้ตามที่โจทก์ฎีกาไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 665/2540
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์อ้างว่าโจทก์เพิ่งรู้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2535โดยจำเลยที่ 2 ได้ไปเบิกความเป็นพยานในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2855/2535 ของศาลอาญา แต่ปรากฏว่าคดีอาญาดังกล่าวนั้นโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านรับว่ามีการส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องและสำเนาคำฟ้องให้โจทก์โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2535ตามสำเนารายงานเดินหมายเอกสารหมาย ล.11 และยังมีการส่งหมายนัดให้โจทก์อีกครั้ง ตามคำฟ้องคดีอาญาดังกล่าวกล่าวหาว่าโจทก์ในคดีนี้ยุยงใช้ให้ผู้อื่นเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของจำเลยที่ 2ในคดีนี้ แล้วขนย้ายเครื่องพิมพ์และเครื่องตัดกระดาษของห้างหุ้นส่วนจำกัดรัตนสยามไปโดยทุจริต โจทก์ในคดีนี้แต่งตั้งทนายความต่อสู้คดีจากข้อเท็จจริงดังกล่าวน่าเชื่อว่า โจทก์ได้ทราบว่าโจทก์ถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวงว่า เครื่องตัดกระดาษไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 ถือได้ว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองฉ้อโกงโจทก์และรู้ตัวผู้กระทำผิดอย่างช้าก็ก่อนวันที่ 18 กันยายน 2535 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 2 ไปเบิกความในคดีอาญาดังกล่าวแล้ว คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2535 เกินกำหนด 3 เดือนโดยโจทก์มิได้ร้องทุกข์ไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
พิพากษายืน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9339/2538
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายมีว่า คดีของโจทก์ร่วมขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกา โจทก์ร่วมควรจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดคดีนี้อย่างช้าในวันที่ 24 สิงหาคม 2534 เพราะโจทก์ร่วมเคยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1เอากรมธรรม์ประกันชีวิตและใบเสร็จรับเงินมาให้ดู โจทก์ร่วมดูแล้วเห็นว่าผิดจากข้อตกลง โจทก์ร่วมจึงต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2534 ซึ่งเป็นวาระแรกที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด แต่โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 คดีของโจทก์ร่วมจึงขาดอายุความแล้วเห็นว่า เมื่อโจทก์ร่วมรู้ว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตไม่ได้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ดังกล่าว จึงทักท้วงต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ได้ขอเวลาแก้ไขให้ภายใน 1 เดือน ในระยะเวลาดังกล่าวโจทก์ร่วมย่อมไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิดหรือไม่เพราะการออกกรมธรรม์ประกันชีวิตอาจมีข้อบกพร่องผิดพลาดโดยไม่ได้เจตนาก็เป็นได้ ต่อเมื่อโจทก์ร่วมพบกับจำเลยที่ 1อีกครั้งในวันที่ 24 กันยายน 2534 และจำเลยที่ 1 ได้ปฏิเสธว่าโจทก์ร่วมและนางมาลีไม่ได้ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากบุคคลทั้งสองนับแต่วันนั้นจึงถือได้ว่าโจทก์ร่วมรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิด เมื่อโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่9 ธันวาคม 2534 คดีของโจทก์ร่วมจึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2040/2535
หลังจากจำเลยนำเช็คไปแลกเงินสดจากโจทก์แล้ว จำเลยไม่ไปขายของและไม่นำดอกเบี้ยไปจ่ายให้โจทก์ โจทก์เข้าใจว่าจำเลยหลบหนีและฉ้อโกง วันที่ 6 มิถุนายน 2531 โจทก์จึงนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน อ้างว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่เหมือนและมีคำสั่งให้ระงับการจ่าย แสดงว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดมาตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแล้ว ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดอันยอมความกันได้ โจทก์มิได้ร้องทุกข์ แต่มาฟ้องคดีเกิน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6368/2534
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมได้ทำสัญญาเข้าหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 และมอบเงินจำนวน 116,000มาร์คเยอรมนี ให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2527ทำสัญญาแล้วโจทก์ร่วมกลับไปประเทศเยอรมนีได้พูดคุยกับบุคคลต่าง ๆที่ประเทศเยอรมนี ทราบว่าจำเลยที่ 2 คดโกงคนจนหลบหนีจากประเทศเยอรมนี เป็นคนต้องห้ามมิให้กลับประเทศ โจทก์ร่วมกลับมาประเทศไทยในเดือนกันยายน 2527 และขอถอนสัญญากับจำเลยที่ 2แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมให้ถอน โจทก์ร่วมทราบว่าหนังสือเดินทางของจำเลยที่ 2 จะหมดอายุในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2528 โจทก์ร่วมจึงต่อรองขอให้จำเลยที่ 2 คืนเงินให้ เพราะจำเลยที่ 2 โกงเงินคนมามากจะต้องเดินทางหนีไปก่อนหนังสือเดินทางหมดอายุ ข้อเท็จจริงตามคำของโจทก์ร่วมดังกล่าวนั้น การที่โจทก์ร่วมขอเงินคืนจากจำเลยที่ 2 โจทก์ร่วมมิได้อ้างถึงเหตุผลใดที่จะขอถอนหุ้นและเงินคืนเมื่อกลับมาจากประเทศเยอรมนีในเดือนกันยายน 2527 ดังนั้นเหตุที่โจทก์ร่วมขอเงินคืนและถอนหุ้นเช่นนั้น จึงเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ร่วมรู้ว่าถูกหลอกลวงให้ร่วมหุ้นซึ่งถ้ากรณีมีการหลอกลวงกันจริงก็แสดงว่าโจทก์ร่วมได้รู้ถึงการหลอกลวงตั้งแต่เดือนกันยายน 2527 ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่าโจทก์ร่วมได้สืบทราบในเดือนธันวาคม 2527 โดยมีหลักฐานแสดงว่าจำเลยทั้งสองฉ้อโกงโจทก์ร่วมนั้น เป็นเรื่องของการหาหลักฐานในการดำเนินคดี อันเป็นคนละกรณีกับที่โจทก์ร่วมรู้ว่าถูกหลอกลวง จะเอาเดือนธันวาคม 2527มานับเริ่มต้นอายุความไม่ได้ อายุความต้องเริ่มนับแต่เดือนกันยายน 2527 อันเป็นวันที่ถือว่าโจทก์ร่วมรู้ว่าถูกหลอกลวงโจทก์ร่วมมาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 19กุมภาพันธ์ 2528 ซึ่งเกินกำหนด 3 เดือน เมื่อคดีนี้เป็นคดีความผิดอันยอมความได้ คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”พิพากษายืน.