การต่อสู้คดีลักทรัพย์โดยอ้างว่าไม่มีเจตนากระทำความผิด สามารถยกขึ้นมาต่อสู้แบบไหนยังไงได้บ้างวันนี้เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆครับ
คดีลักทรัพย์เนี่ยเป็นอีกคดีนึงที่สามารถมีประเด็นข้อต่อสู้ได้หลากหลายเช่น
1.ไม่ได้เอาทรัพย์สินนั้นไป
2 ทรัพย์สินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์เราเอง
3.ผู้เสียหายไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สิน ฎ.1684/2513 ฎ.2763/2541 ฎ.3896/2528
อย่างไรก็ตามมีบางคดีข้อเท็จจริงชัดเจนว่าเราไปเอาทรัพย์สินของผู้อื่นมาจริงๆ
แต่เรามีประเด็นข้อต่อสู้ว่าเราไม่มีเจตนากระทำความผิดเราสามารถหยิบยกประเด็นขึ้นมาต่อสู้ได้ยังไงบ้าง
ผมจะมาเล่าให้ฟังครับ
สำหรับประเด็นข้อต่อสู้เรื่องเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญานั้นก็ต้องไปดู
มาตรา 59 บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย
มาตรา 62 ข้อเท็จจริงใด ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด หรือได้รับยกเว้นโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง แล้วแต่กรณี
ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา 59 หรือความสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทำความผิด ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท
บุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้น
มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
1.ไม่มีเจตนาทุจริต
2.ไม่ได้มีเจตนาจะเอาทรัพย์สินนั้นไปเป็นของตัวเอง
3. ขาดเจตนาในการกระทำความผิด
4.ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบแห่งการกระทำความผิด
1.ไม่ได้ตั้งใจเอาไปแบบเอาทรัพย์สินไปเป็นของตนเองโดยเด็ดขาด
การจะเป็นการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ได้นั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนายึดเอากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นเป็นของตนเอง ต้องการที่จะเอาทรัพย์สินนั้นไปในลักษณะที่เอาไปโดยเด็ดขาด ไม่คืนให้กับผู้เสียหาย
ถ้าลักษณะการกระทำของจำเลยนั้นยังไม่ถึงขั้นเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ ไม่ได้เป็นการเอาไปโดยเด็ดขาด ถึงแม้จะมีการแย่งการครอบครอง เอาทรัพย์สินไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ก็ไม่ถึงขั้นจะเอาไปเป็นของตัวเอง มีเจตนาจะคืนให้ ก็อาจจะถือว่าไม่เป็นความผิดได้ อาจจะเป็นเพียงเรื่องความรับผิดทางแพ่งเท่านั้น
ลักษณะการกระทำที่ไม่เป็นความผิดเช่น
-เอาไปใช้ชั่วคราว
-เอาไปแล้วเอามาคืน
-ไม่ได้มีเจตนาจะเอาไว้เป็นของตัวเอง
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
ฎ.443/2515 จำเลยแอบเอารถของผู้เสียหายออกมาเพื่อจะขับไปกินข้าวต้มแล้วจะเอามาคืน แสดงว่าไม่มีเจตนาจะเอารถนั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่น การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ฎ.1002/2535 การกระทำที่จะถือว่าเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปอันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์นั้น จะต้องเป็นการกระทำเพื่อตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์ตลอดไป จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย มีหน้าที่ตรวจสภาพรถยนต์นำรถไปส่งให้ผู้เช่าและติดตามรถคืน ได้นำรถยนต์ของผู้เสียหายไปทำความสะอาด ต่อมาจำเลยได้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อรับน้าชายกับครอบครัวไปจังหวัดนครราชสีมา แต่เฟืองท้ายรถเสียจำเลยไม่สามารถหาเฟืองท้ายไปซ่อมรถยนต์คันดังกล่าว ตำรวจจึงให้ลากรถยนต์ไปจอดไว้ที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ จำเลยมอบกุญแจรถยนต์ไว้กับเจ้าของฟาร์มเก็บใบขับขี่ บัตรประจำตัวและหลักฐานเกี่ยวกับทะเบียนรถไว้ในรถแล้วจำเลยกลับกรุงเทพมหานคร และไปทำงานที่ห้างผู้เสียหายตามปกติจำเลยพยายามหาซื้อเฟืองท้ายแล้ว แต่ซื้อไม่ได้ ต่อมาผู้เสียหายได้รับรถยนต์คืนจากตำรวจท้องที่ ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการพารถยนต์ของผู้เสียหายเคลื่อนที่ไป อาจเป็นการแย่งการครอบครองไปจากผู้เสียหาย ถือเป็นการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปอันอาจเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้ แต่ตามพฤติการณ์จำเลยเจตนาเอารถของผู้เสียหายไปใช้ชั่วคราว มิได้กระทำเพื่อเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายตลอดไป จึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปอันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ฎ.1533/2521 จำเลยเอาไม้ที่ปูพื้นเรือนของโจทก์ร่วม 8 แผ่น ไปปูบนร่องสวนเพื่อใช้จัดงานศพชั่วคราว มิได้มีเจตนาเอาไปเลย ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ฎ.216/2509 จำเลยยอมให้ผู้เสียหายร่วมประเวณีมีสิ่งตอบแทน แต่ผู้เสียหายผิดข้อตกลงจำเลยไม่พอใจ จึงได้ทำร้ายผู้เสียหายแล้วเอาปืนผู้เสียหายไปทิ้งที่ปรักน้ำกลางทุ่งนาเพราะกลัวผู้เสียหายจะยิงเอาการเอาปืนไปทิ้งน้ำโดยไม่นำเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่น แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาประสงค์จะเอาทรัพย์ การเอาปืนของผู้เสียหายไปทิ้งจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ ส่วนไฟฉายนั้นผู้เสียหายก็ให้จำเลยไปส่องทาง จำเลยเอาไปไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์เช่นเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1425/2517 จำเลยทะเลาะกับ ท. ภริยาซึ่งเป็นหลานของผู้เสียหายท.หนีไปอยู่บ้านผู้เสียหายจำเลยไปตาม ท. และจะทำร้าย ท. ผู้เสียหายตบจำเลยบอกให้จำเลยกลับบ้าน และรับปากว่าจะพา ท. ไปส่งที่บ้านจำเลยแต่แล้วก็ไม่พาไปส่ง จำเลยไปบ้านผู้เสียหายอีกพบแต่ภริยาของผู้เสียหายจำเลยโกรธจึงหยิบเอาเครื่องรับวิทยุของผู้เสียหายไปต่อหน้า โดยบอกแก่ภริยาผู้เสียหายว่า ถ้าจะเอาคืน ก็ให้พา ท. ไปเอาคืนที่บ้าน จำเลยเปิดวิทยุฟังจนถึงบ้าน พอได้ยินเพลงเมียหายต้องตามหา ก็เกิดโมโหเลยทุ่มและกระทืบเครื่องรับวิทยุเสีย ที่จำเลยเอาเครื่องรับวิทยุของผู้เสียหายไปเช่นนี้มิได้มีเจตนาทุจริตลักเอาเครื่องรับวิทยุนั้น หากแต่เอาไปเพราะความโกรธ จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ฎ.1643/2535 จำเลยเอาปืนของผู้เสียหายไปเพื่อจะยิงทำร้าย ส.ซึ่งเป็นชู้กับภริยาของจำเลยด้วยความบันดาลโทสะที่เห็น ส. นั่งอยู่กับภริยาของจำเลย มิได้มีเจตนาที่จะเอาปืนของผู้เสียหายไปเป็นของตนโดยทุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์.
ฎ.2749/2529 จำเลยกับผู้เสียหายได้เสียเป็นสามีภริยากันผู้เสียหายไปนอนที่บ้านจำเลยบ้างนอนที่บ้านบิดาบ้างถ้าจำเลยให้ไปนอนผู้เสียหายก็ไปแต่บางครั้งผู้เสียหายก็หลบไม่ไปนอนวันเกิดเหตุจำเลยให้ผู้เสียหายไปหาจำเลยแต่ผู้เสียหายไม่ไปและจำเลยมาพบรถจักรยานสองล้อของผู้เสียหายจอดทิ้งไว้จึงนำรถจักรยานสองล้อของผู้เสียหายไปเก็บไว้ที่บ้านจำเลยเพื่อให้ผู้เสียหายไปพบจำเลย ดังนี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยเอารถจักรยานสองล้อของผู้เสียหายไปโดยเจตนาทุจริตการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์.
ฎ. 7880 / 2547 หลังจากจำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 แล้ว จำเลยทั้งสองหลบหนีไป โดยจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4 ไปด้วย หลังเกิดเหตุ 2 วัน พบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4จอดอยู่ที่ป้อมตำรวจ หากจำเลยทั้งสองมีเจตนาจะเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4 ไปโดยทุจริตก็สามารถทำได้ แต่จำเลยที่ 2 กลับไปจอดไว้ที่ป้อมตำรวจ แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเพียงใช้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4 เป็นยานพาหนะหลบหนีเท่านั้นหาได้มีเจตนาเอาไปโดยทุจริตไม่ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 4
*ฎีกาที่ 9393/2557 รถจักรยานของผู้เสียหายถูกทิ้งไว้ข้างถนนห่างจากถนนเพียง 5 เมตร ซึ่งสามารถพบเห็นได้โดยง่าย และเมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงวันที่พบรถเป็นเวลา 9 วัน ซึ่งถ้าหากจำเลยมีเจตนาที่จะลักเอารถจักรยานดังกล่าวไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน ย่อมต้องนำรถจักรยานดังกล่าวไปจากบริเวณสถานที่เกิดเหตุแล้ว มิใช่นำมาทิ้งไว้บริเวณข้างถนนเป็นเวลาถึง 9 วัน อีกทั้งจุดที่พบก็อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 20 เมตร จึงเชื่อว่าจำเลยกับพวกนำรถดังกล่าวมาทิ้งไว้ โดยมีเจตนาเพื่อที่จะไม่ให้ผู้เสียหายใช้รถจักรยานดังกล่าวในการหลบหนีหรือขี่กลับบ้าน จำเลยกับพวกไม่ได้ประสงค์จะเอารถจักรยานไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของผู้เสียหาย ไม่ผิดลักทรัพย์
ฎ.1915/2543 จำเลยทั้งสองว่าจ้างให้ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปส่งระหว่างทางมีการบังคับให้ผู้เสียหายเข้าไปในกระท่อมแต่ผู้เสียหายไม่ยอม จำเลยที่ 2 เอามือรัดคอผู้เสียหายและดึงเอากุญแจมาส่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์อยู่ เมื่อมีคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างเข้ามาช่วย จำเลยทั้งสองก็เอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายขับหลบหนีไป ก่อนจำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปมีจำเลยคนหนึ่งพูดว่าให้ผู้เสียหายไปเอารถจักรยานยนต์คืนที่โรงเรียนวัด บ. แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองเพียงต้องการนำรถจักรยานยนต์คันที่ผู้เสียหายขับไปใช้ชั่วคราวโดยตั้งใจจะคืนให้ภายหลัง มิได้กระทำเพื่อเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ตลอดไป จึงมิใช่เป็นการกระทำที่ถือว่าเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป อันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์
ฎ.4200/2545 รองเท้าแตะของโจทก์ร่วมตกอยู่ที่บริเวณประตูบ้านของจำเลยก็เพราะโจทก์ร่วมทำหลุดไว้ เนื่องจากเหตุวิวาทชกต่อยกันระหว่างจำเลยกับ ส. จำเลยจึงถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานแล้วเก็บรองเท้าแตะของโจทก์ร่วมและนำไปมอบให้พนักงานสอบสวนแสดงว่าจำเลยมิได้เอารองเท้าแตะของโจทก์ร่วมไปเป็นของตนหรือผู้อื่นในลักษณะที่เป็นการประทุษร้ายต่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของโจทก์ร่วม แม้จำเลยจะไม่มีสิทธิเก็บเอารองเท้าแตะของโจทก์ร่วมไว้ก็ตาม ก็มิใช่เหตุที่จะถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงไม่มีเจตนาทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
2.เอาไปโดยได้รับอนุญาต
การจะเป็นการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ได้นั้น ผู้กระทำต้องก็ทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคนที่เป็นเจ้าของ
ถ้าการกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยที่ได้รับอนุญาตจากผู้เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ย่อมไม่ถือว่าเป็นความผิด
นอกจากนี้ถึงแม้ว่าคนที่เป็นเจ้าของจะไม่ได้อนุญาตเองโดยตรง แต่มีลักษณะเป็นการให้การอนุญาตโดยปริยาย
หรือผู้กระทำเข้าใจผิดว่าเจ้าของอนุญาตแล้ว หรือได้รับการอนุญาตจากบุคคลอื่นที่มีสิทธิครอบครองทรัพย์สินนั้น ก็ยังไม่ถึงขั้นเป็นความผิดอาญา เป็นเพียงเครื่องมือที่ถูกใช้ในการกระทำความผิดหรือที่ตามกฎหมายเรียกว่า Innocent Agent เท่านั้น
ลักษณะการกระทำที่ถือว่าไม่เป็นความผิดเช่น
-ได้รับอนุญาตโดยตรงจากผู้ครอบครอง
-เข้าใจว่าคนที่อนุญาตเป็นเจ้าของ
-เคยได้รับการอนุญาตจากเจ้าของมาก่อน
-เข้าใจว่าครั้งนี้ก็คงได้รับอนุญาตเหมือนครั้งที่ผ่านๆมา
-กระทำอย่างเปิดเผยให้คนทั่วไปรู้
ฎีกา 5907/2546 จำเลยเคยเป็นผู้ดูแลรักษาต้นไม้ของผู้เสียหาย ต่อมา ผู้เสียหาย ได้ให้บุตรของจำเลยดูแลแทน จำเลยจึงเข้าใจว่าตนมีหน้าที่ดูแลรักษาตามเดิม และก่อนการตัดต้นไม้ จำเลยแสดงเจตนาว่าต้องได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายก่อน เมื่อจำเลยตัดต้นไม้ของผู้เสียหายโดยเข้าใจผิดว่าได้รับอนุญาตแล้ว จำเลยจึงไม่มีเจตนาลักทรัพย
ฎ.4423/2564 การกระทำอันจะถือเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 83 ได้นั้น บุคคลผู้ร่วมกระทำความผิดจะต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด และมีการกระทำโดยเจตนาที่จะร่วมกันกระทำความผิดนั้น จึงจะเป็นตัวการตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้ ตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม เมื่อพวกของจำเลยที่ขับรถแบ็กโฮเข้าขุดดินในที่ดินของผู้เสียหาย มิได้รู้เท็จจริงว่าดินที่ขุดออกไปเป็นของผู้เสียหายโดยเข้าใจว่าเป็นการขุดดินของจำเลย ก็ย่อมจะถือไม่ได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง แต่ต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความเองโดยอ้อมโดยใช้พวกของจำเลยเป็นตัวแทนโดยบริสุทธิ์ (Innocent Agent) เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดของจำเลยเอง เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังไม่ได้ความกระจ่างชัดว่าพวกของจำเลยรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดและมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยอันจะถือเป็นการลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป กรณีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นคุณแก่จำเลยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปโดยใช้ยานพาหนะ
ฎ.2960/2552 จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า ป. ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจบริษัทโจทก์ร่วมอนุมัติให้จำเลยเบิกเงินเดือนของจำเลยล่วงหน้าได้ แม้จำเลยจะไม่ได้ขออนุมัติจาก ป. ก่อนตามระเบียบการเบิกเงินเดือนล่วงหน้าของพนักงาน ก็ไม่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยมีเจตนาทุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
ฎ.8387/2544 เช่าซื้อบอกให้จำเลยไปขับรถออกมา เพราะผู้เช่าซื้อกับบริษัทผู้ให้เช่าซื้อตกลงกันได้แล้ว จำเลยก็ไปเอารถคืนมาและมอบให้แก่ผู้เช่าซื้อในทันที การที่จำเลยเข้าไปเอารถที่จอดอยู่และขับออกมาจากบริษัทผู้ให้เช่าซื้ออย่างเปิดเผยเป็นการกระทำโดยสุจริตและโดยเชื่อว่ามีการตกลงกันได้ตามที่ผู้เช่าซื้อบอกจำเลย การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาทุจริต ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
3.เป็นการถือวิสาสะ
การกระทำที่จะเป็นความผิดนั้น จะต้องมีการเอาทรัพย์สินนั้นไปโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของอย่างที่ได้อธิบายไปแล้วในข้อกล่าวข้างต้น
แต่ในบางกรณีผู้กระทำกับเจ้าของทรัพย์สินนั้นมีความสนิทสนมกันมาก หรือเกี่ยวข้องตามสายเลือด ราคาทรัพย์สินก็เป็นราคาเล็กน้อย มีความคุ้นเคยกันและมีการหยิบยืมหรือถือวิสาสะในการใช้ทรัพย์สินของกันและกันมา
ดังนี้อาจจะถือได้ว่าเป็นการถือวิสาสะ โดยคิดว่าเจ้าของให้ความยินยอม และถือว่าไม่มีเจตนากระทำความผิด ไม่เป็นการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์
คำว่าวิสาสะ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2544 หมายถึงความคุ้นเคยความสนิทสนมการถือว่าการเป็นกันเอง การถือวิสารจึงเป็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยความสนิทสนม ความคุ้นเคย ซึ่งผู้กระทำเชื่อว่าอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้ความยินยอมโดยปริยายให้สามารถกระทำการบางอย่างได้
ลักษณะการกระทำที่จะไม่เป็นความผิด
-มีความสนิทสนมกับเจ้าของทรัพย์ หรือเกี่ยวข้องกันทางญาติ ทางสายเลือด
-เป็นทรัพย์สินเล็กๆน้อยๆไม่ได้มีราคาค่างวดเป็นจำนวนมาก
-อยู่ในวิสัยที่วิสัยที่ยืมใช้หรือทำต่อๆกันมา
-ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าคนอื่นๆ
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเช่น
ฎ.757/2534 วัดเป็นเสมือนสมบัติส่วนกลางซึ่งชาวบ้านใช้สอยร่วมกันและแม้แต่สถานที่ของวัดชาวบ้านก็ร่วมกันใช้ประกอบกิจการต่าง ๆอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมดังกรณีสาธิต การทำปุ๋ยหมักในวันเกิดเหตุการจับปลาในสระของวัดก็เช่นกัน เกิดจากอาหารไม่เพียงพอในการเลี้ยงดูสำหรับมื้อกลางวัน จึงปรารภกันทอดแหจับปลาในสระของวัดขึ้นมาประกอบอาหารด้วยความรู้สึกร่วมกันโดยปริยายว่าเจ้าอาวาสยินยอมให้กระทำได้ดังที่เจ้าอาวาสได้พูดไว้ก่อนหน้าวันเกิดเหตุให้ใช้ของวัดในกรณีขาดแคลนได้ ดังนี้เมื่อจำเลยกับพวกร่วมกันจับปลาขึ้นมาประกอบอาหารรับประทานกัน พฤติการณ์จึงเป็นการกระทำด้วยวิสาสะขาดเจตนาทุจริต
ฎ.3772/2529 จำเลยกับผู้เสียหายเป็นคู่เขยและไม่มีสาเหตุกันจำเลยเข้าไปเอาปืนของผู้เสียหายต่อหน้าเด็กหญิงอ.บุตรของผู้เสียหายในบ้านของผู้เสียหายเพื่อเฝ้าข้าวในนาโดยมิได้เอาทรัพย์สินอย่างอื่นในบ้านของผู้เสียหายด้วยแสดงว่าจำเลยเอาอาวุธปืนไปโดยถือวิสาสะในฐานะเป็นญาติกันจำเลยไม่มีเจตนาทุจริตอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ฎ.3894/2531 จำเลยและ ป. ผู้เสียหายเป็นพี่น้องกัน จำเลยมาขอยืมรถจักรยานยนต์ จากป. ป.ไม่ให้ จำเลยแสดงกิริยาเอะอะโวยวายแล้วต่อมาก็ได้มาเอารถจักรยานยนต์ไปขับขี่พาเพื่อนไปรับประทานอาหาร การกระทำของจำเลยในการเอารถจักรยานยนต์ไป เป็นเพียงการถือวิสาสะฉันพี่น้อง และเมื่อเอาไปแล้วก็มิได้พาหลบหนีแต่อย่างใด จำเลยจึงขาดเจตนาทุจริต ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
ฎ.2708/2554 จำเลยทั้งสามมิได้มีเจตนาทุจริตที่จะร่วมกันลักเงินของผู้เสียหาย เนื่องจากสนิทสนมกันเป็นญาติและเป็นเพื่อนกัน ทั้งเกิดความคึกคะนองตามประสาของวัยรุ่นและขณะนั้นก็นั่งดื่มสุราอยู่ด้วยกันจนหมด จึงน่าจะช่วยกันออกเงินค่าสุราบ้างเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 พูดขอเงินหลายครั้งแล้ว แต่ผู้เสียหายไม่ให้ จึงได้ถือวิสาสะเข้าค้นตัวผู้เสียหายเพื่อค้นเอาเงิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพียงแต่จับแขนขาของผู้เสียหายไว้แน่นเท่านั้น ไม่ได้ทำร้าย ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่เข้ายึดแขนขาของผู้เสียหายเป็นเพียงการยึดตัวผู้เสียหายให้อยู่นิ่งเพื่อให้จำเลยที่ 1 ค้นตัวได้สะดวกเท่านั้นการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้เสียหายต้องจำยอมให้จำเลยทั้งสามค้นตัวและเอาเงินไป มิใช่ความผิดฐานปล้นทรัพย์
ฎ.2263/2555 จำเลยนำกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายจากหัวเตียงมาไว้ที่ปลายเตียงและค้นหาสิ่งของในกระเป๋า ซึ่งไม่แน่ชัดว่าจำเลยค้นหาอะไรและมีวัตถุประสงค์อย่างไร โดยจำเลยบอกผู้เสียหายว่าค้นหาบุหรี่ เมื่อผู้เสียหายบอกว่าบุหรี่อยู่ที่โต๊ะหลังบ้าน จำเลยก็วางเป๋าลงที่เตียง แล้วออกจากห้องไป โดยจำเลยเป็นเพื่อนบ้านของผู้เสียหายรู้จักกันดีไปมาหาสู่กันเป็นประจำ การที่จำเลยค้นหาสิ่งของในกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายอาจเป็นเพียงการถือวิสาสะเนื่องจากรู้จักสนิทสนมกันก็เป็นได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไปโดยทุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ฎ.13417/2555 ผู้เสียหายและจำเลยรู้จักกันก่อนเกิดเหตุ 2 เดือน และเคยทำงานด้วยกัน โดยจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้ผู้เสียหายนำต้นกล้ายางไปส่งมอบให้เกษตรกร วันเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นฝ่ายเชื้อเชิญให้จำเลยเข้าไปในบ้านและไปนั่งพูดคุยกันที่โต๊ะอาหาร บ่งชี้ว่าผู้เสียหายและจำเลยรู้จักและมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ขณะที่จำเลยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไป แม้เป็นเรื่องที่กระทำไปโดยพลการแต่ก็มี ถ. น้องเขยของผู้เสียหายรู้เห็น จึงเป็นการเอาไปอย่างเปิดเผย ถ. ยังให้การในชั้นสอบสวนว่า เห็นจำเลยหยิบอาวุธปืนของผู้เสียหายไปโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายอนุญาตจึงไม่ได้ทักท้วง อันแสดงว่า ถ. ก็เห็นว่าผู้เสียหายกับจำเลยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและจำเลยมิได้กระทำการอย่างใดที่มีพิรุธอันแสดงให้เห็นว่า ต้องการลักอาวุธปืนของผู้เสียหาย ครั้นผู้เสียหายทราบจาก ถ. ว่าจำเลยเอาอาวุธปืนไปและติดต่อสอบถามจำเลยทางโทรศัพท์ จำเลยก็รับว่าเอาอาวุธปืนไปจริงและยังบอกว่าจะนำไปคืนให้ ซึ่งผิดวิสัยของผู้ที่ต้องการลักทรัพย์ของผู้อื่นที่ย่อมปฏิเสธการกระทำของตน แม้จำเลยจะนำอาวุธปืนไปคืนล่าช้าจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายต้องเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แต่จำเลยมิได้นำอาวุธปืนไปแสวงหาประโยชน์ด้วยการนำไปจำหน่ายหรือก่อหนี้ผูกพันอื่นใด และนำไปคืนผู้เสียหายพร้อมกระสุนปืนครบถ้วน พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไปโดยถือวิสาสะ มิได้มีเจตนาเอาไปโดยทุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่าไม่ได้สนิทสนมกันขนาดนั้นอ้างวิสาสะไม่ได้
ฎ.1147/2540 จำเลยเอาวิทยุมือถือของผู้เสียหายไปโดยปราศจากความรู้เห็นยินยอมของผู้เสียหายเพราะขณะนั้นผู้เสียหายนอนหลับแม้จำเลยจะรู้จักกับผู้เสียหายแต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยและผู้เสียหายมีความสนิทสนมกันถึงขนาดที่จำเลยสามารถหยิบฉวยสิ่งของของผู้เสียหายไปได้โดยพลการแสดงให้เห็นว่าจำเลยเอาวิทยุมือถือของผู้เสียหายไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การที่จำเลยลักเอาเครื่องส่งวิทยุไปเป็นความผิดสำเร็จกระทงหนึ่งและเมื่อจำเลยครอบครองเครื่องส่งวิทยุนั้นต่อมาก็ย่อมเป็นความผิดอีกกระทงหนึ่งการกระทำของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นความผิดสองกรรมต่างหากจากกันแต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเครื่องส่งวิทยุมือถือโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดกระทงนี้ได้
4.เข้าใจผิดว่าเป็นทรัพย์สินของตนเอง
การกระทำที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาข้อหาลักทรัพย์ จะต้องเป็นการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นไป แต่ถ้าผู้กระทำเข้าใจผิดว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินของตนเอง หรือมีเหตุให้เข้าใจโดยสุจริตได้ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของตนเอง หรือยังมีการโต้เถียงกรรมสิทธิ์อยู่ทรัพย์สินนั้นจะเป็นของใคร โดยมีข้อโต้แย้งด้วยความสมเหตุสมผล ย่อมไม่ถือว่าเป็นความผิด เป็นเพียงเรื่องข้อพิพาททางแพ่งเท่านั้น
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3774/2532 จำเลยเป็นสามีของ ส. บุตรของผู้เสียหายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จำเลยและ ส. ทำนาขายข้าวได้เงิน7,500บาท ส.นำเงินดังกล่าวใส่ไว้ในกระเป๋าถือฝากเก็บไว้ในหีบของผู้เสียหายเช่นนี้ การที่จำเลยไขกุญแจเปิดหีบของผู้เสียหายแล้วเอาเงินดังกล่าวไปโดยเข้าใจว่าเป็นเงินของจำเลย จำเลยมีสิทธิเอาไปได้จึงเป็นการกระทำที่ขาดเจตนาทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์.
ฎ.294/2537 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างนำสืบโต้เถียงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกันอยู่ ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ความชัดว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์จริงหรือไม่ มูลกรณีจึงเป็นเรื่องคดีแพ่งไม่ใช่คดีอาญา การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามที่โจทก์นำสืบหาว่า ร่วมกันเข้าไปในที่ดินพิพาทแล้วตักเอาดินและต้นไม้ไปจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์
ฎ.3494/2499 การที่จำเลยเก็บผักสะตอในที่ซึ่งผู้เสียหายและจำเลยยังเถียงกรรมสิทธิในเรื่องที่ดินและต้นสะตอรายนี้อยู่โดยมีเหตุผลนั้นย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยเก็บสะตอไปโดยการทุจริตอันเป็นผิดฐานลักทรัพย์
ฎ.1673/2535 ก.ภริยาของโจทก์ร่วมเป็นหนี้จำเลยที่ 3 แล้วไม่ชำระจำเลยที่ 3 ได้ฟ้องคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของ ก.เพื่อบังคับคดี ในที่ดินดังกล่าวมีต้นยูคาลิปตัส ของโจทก์ร่วมปลูกอยู่ และ ก. เคยตกลงเอาต้นกล้ายูคาลิปตัส ตีใช้หนี้จำเลยที่ 3พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยทั้งสามเข้าใจว่าต้นยูคาลิปตัสในที่ดินเป็นของ ก. การที่จำเลยทั้งสามตัดเอาต้นยูคาลิปตัสของโจทก์ร่วมไป แสดงว่ามีเจตนาเพื่อใช้หนี้จำเลยที่ 3 ไม่มีเจตนาทุจริต จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2550 แม้ต่อมาข้อเท็จจริงจะได้ความว่ากระบือเป็นของโจทก์ร่วมแต่ขณะเกิดเหตุนายนิพนธ์ทำให้จำเลยเชื่อว่ากระบือเป็นของนายนิพนธ์มีสิทธิยกให้จำเลยเป็นการชดใช้ค่าเสียหาย การที่จำเลยนำซากกระบือไปชำแหละขายจึงกระทำไปโดยเข้าใจว่ามีสิทธิกระทำได้ จำเลยไม่มีเจตนาทุจริตการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องข้อหานี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ฎ.3887/2529 การรับโอนทรัพย์ของผู้ตายภายหลังเจ้าของทรัพย์ตายแล้วไม่แน่เสมอไปว่าผู้รับโอนจะไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะอาจได้รับโอนทรัพย์มาจากทายาทของผู้ตายก็ได้ จำเลยมีทะเบียนรถแสดงว่าได้รับโอนรถจักรยานยนต์คันพิพาทจากเจ้าของก่อนนำรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปจำเลยบอกกับโจทก์ว่ารถจักรยานยนต์เป็นของจำเลยและเอาทะเบียนรถให้ดูเมื่อพนักงานสอบสวนเรียกจำเลยไปพบจำเลยก็นำทะเบียนรถไปแสดงพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่ารถจักรยานยนต์คันพิพาทเป็นของตนและเอารถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปจากความครอบครองของโจทก์โดยขาดเจตนาทุจริตจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์.
ฎ.301/2477 ตัดต้นไม้ในป่าที่ดินสาธารณะไม่รู้ว่าไม้ที่ตัดมีเจ้าของหรือมีผู้ครอบครองอยู่ไม่มีผิดฐานลักทรัพย์
5. เอาไปโดยมีอำนาจ
การกระทำที่จะเป็นการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ได้นั้น ผู้กระทำจะต้องกระทำไปโดยไม่มีสิทธิไม่มีอำนาจ
แต่ถ้าผู้กระทำมีสิทธิ์ที่จะยึดถือหรือเก็บทรัพย์สินนั้นหรือรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ การกระทำย่อมไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย
อำนาจที่จะกระทำได้นั้นอาจจะมาจากอำนาจตามกฎหมาย
ทั้งกฎหมายแพ่ง เช่นอำนาจของผู้จัดการมรดกในการรวบรวมทรัพย์สิน สิทธิยึดหน่วงในทางแพ่ง
กฎหมายอาญา เรื่องการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
อำนาจตามสัญญา นิติกรรม ข้อตกลง ที่มีระหว่างกันก็ได้
ถ้าหากผู้กระทำก็ทำไปโดยที่มีอำนาจตามที่กฎหมายวางหลักไว้หรือตามข้อตกลง ย่อมถือว่าไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย
หรือแม้กระทั่งบางครั้งก็ทำไปโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจแต่มีเหตุทำให้เชื่อโดยสุจริตได้ว่าตนเองมีอำนาจเช่นนั้นก็อาจจะไม่ถือว่ากระทำความผิดอาญา
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2188/2545 จำเลยกับผู้เสียหายอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก่อนวันเกิดเหตุทะเลาะกันแล้วจำเลยหนีออกจากบ้าน ครั้นวันเกิดเหตุจำเลยไปพบผู้เสียหายที่บ้านและขอคืนดีผู้เสียหายขอค่าทำขวัญ แต่ตกลงจำนวนเงินกันไม่ได้ จำเลยโกรธทำร้ายผู้เสียหายและเอาสร้อยคอทองคำ 2 เส้น แหวนทองคำ 3 วง กับตุ้มหูทองคำ 1 คู่ ต่อมาจำเลยนำทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดคืนผู้เสียหาย และกลับมาอยู่กินด้วยกัน จำเลยเอาทรัพย์ดังกล่าวไป เนื่องจากจำเลยไม่ต้องการให้ผู้เสียหายนำไปขายเล่นการพนัน การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยเปิดเผยต่อหน้าผู้อื่น เป็นการใช้อำนาจของการเป็นสามีปกป้องทรัพย์สินของครอบครัวด้วยความโกรธโดยเข้าใจว่ามีสิทธิกระทำได้ และการที่จำเลยได้นำทรัพย์ทั้งหมดคืนแก่ผู้เสียหายก็แสดงว่าไม่มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยหรือผู้อื่น จำเลยไม่มีเจตนาทุจริต จึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์คงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย
ฎ.296/2567 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง และคดีมีเหตุให้ลงโทษจำเลยสถานหนักหรือไม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ร่วมกับจำเลยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันฉันเครือญาติ ทั้งเป็นสมาชิกของกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ด้วยกัน มูลเหตุของคดีนี้ก็สืบเนื่องมาจากเสื้อยืดคอกลม 1 ตัว ราคา 120 บาท ที่ทางกลุ่มจัดทำให้สมาชิกสั่งซื้อเพื่อสวมใส่ไปทัศนศึกษาที่จังหวัดระยอง โดยจำเลยเป็นผู้ร่วมดำเนินการรับสั่งจองเสื้อดังกล่าวด้วย โจทก์ร่วมมิได้สั่งจองซื้อเสื้อจากจำเลย ต่อมาเมื่อจำเลยทราบเหตุว่าสมาชิกผู้สั่งซื้อยังไม่ได้รับเสื้อ จึงไปพบเพื่อสอบถามและทวงเสื้อคืนจากโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมยืนยันว่าได้สั่งซื้อมาโดยถูกต้อง แต่ต่อมาจำเลยได้แจ้งให้ผู้อื่นไปเอาเสื้อคืนจากบ้านของโจทก์ร่วมแล้วฝากเงินค่าซื้อเสื้อคืนให้โจทก์ร่วมแล้วด้วย ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับพฤติกรรมของจำเลยและความสัมพันธ์ฉันญาติของโจทก์ร่วมกับจำเลยแล้ว กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยเข้าใจโดยสุจริตเกี่ยวกับเสื้อที่โจทก์ร่วมมีไว้ในครอบครองว่าโจทก์ร่วมได้รับไปโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องติดตามเอาคืนมาเพื่อส่งมอบให้แก่สมาชิกผู้สั่งซื้อตามความรับผิดชอบของตน การได้เสื้อคืนมาจำเลยก็กระทำการไปโดยเปิดเผยในลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ ทั้งจำเลยยังฝากเงินค่าซื้อเสื้อคืนให้โจทก์ร่วมแล้วและรีบนำเสื้อดังกล่าวไปมอบให้แก่สมาชิกผู้สั่งซื้อทันที การกระทำของจำเลยหาใช่เจตนาเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายที่เป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน อันเป็นการกระทำโดยทุจริตแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำโดยขาดเจตนาทุจริตในการลักทรัพย์แล้วพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
ฎ.647/2555 นาง ว. ลักลอบนำสินค้าไปฝากคนขับรถโดยสารปรับอากาศของ บริษัท ป.ทัวร์ โดยไม่ยอมเสียค่าระวางขนส่งตามระเบียบ นาง ว. คบคิดกับพนักงานขับรถหรือเด็กประจำรถให้ขนสินค้าของ นาง ว. จากอำเภอหาดใหญ่ มาส่งที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก จังหวัดสมุทรสาคร โดย นาง ว. ยอมจ่ายเงินให้แก่พนักงานขับรถหรือเด็กประจำรถซึ่งถูกกว่าที่จะจ่ายให้แก่บริษัท ป.ทัวร์ การกระทำดังกล่าวเป็นการร่วมกับพนักงานขับรถกระทำการทุจริตต่อบริษัท ป.ทัวร์ เมื่อ นาย ส. ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทราบเรื่องจึงวางแผนจับผิดพนักงานขับรถและสั่งไม่ให้ส่งสินค้าให้แก่ นาง ว. ตามที่ นาง ว. นัดแนะกับพนักงานขับรถไว้ แล้วให้นำสินค้ามาเก็บรักษาไว้ที่บ้านของ นาย ส. เพื่อเรียกค่าระวางขนส่งสินค้า การที่ นาย ส. ไม่ยอมเจรจาและคืนสินค้าในตอนแรกก็เพราะรู้สึกโกรธและไม่พอใจที่ นาง ว. กระทำการเช่นนั้น เมื่อ นาง ว. ยังไม่ยอมเสียค่าระวางขนส่งสินค้า นาย ส. ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ป. ทัวร์ ผู้ขนส่งชอบที่จะยึดหน่วงเอาของไว้ก่อนได้ตามที่จำเป็นเพื่อประกันการใช้เงินค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 630 ครั้นเมื่อ นาง ว. ชำระค่าระวางสินค้าแล้ว นาย ส. ก็สั่งให้คืนสินค้าแก่ นาง ว. จากพฤติการณ์ดังกล่าว นาย ส. มิได้มีเจตนาทุจริตที่จะเอาสินค้าของ นาง ว. ไปเป็นประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ฎ.3670 / 2542 ผู้เสียหายฟ้องจำเลยทั้งสองขอแบ่งนามรดก และข้าวเปลือกเหนียวที่เก็บเกี่ยวได้จากนาพิพาท ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ผู้เสียหายและจำเลยทั้งสองได้ไปตกลงกันที่สถานีตำรวจว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่เอาข้าวเปลือกเหนียวที่ได้จากการทำนาพิพาทไปขาย แต่ยอมให้แต่ละฝ่ายเอาไปสีรับประทานได้ ผู้เสียหายทำผิดข้อตกลงดังกล่าว โดยผู้เสียหายเอาข้าวเปลือกเหนียวจำนวน50 ถุงปุ๋ย ไปให้ น. เพื่อเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่ผู้เสียหายยืมจาก น. มา จำเลยทั้งสองจึงปิดยุ้งข้าวพิพาทการกระทำของจำเลยทั้งสองก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ในทรัพย์พิพาท ซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีนั่นเอง ดังนั้น แม้จะปรากฏว่า จำเลยทั้งสองจะได้กวาดข้าวเปลือกเหนียวไปกองรวมไว้ ในยุ้งข้าวด้วยก็ตามพฤติการณ์การกระทำของจำเลยทั้งสอง ก็ขาดเจตนาทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5616/2550 องค์ประกอบเบื้องต้นในความผิดฐานลักทรัพย์ต้องได้ความว่า จำเลยเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบแต่เพียงว่า จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม นำบัตรโทรศัพท์ของโจทก์ร่วมไปให้ ร. นำไปจำหน่ายตั้งแต่เดือนมกราคม 2542 ถึงมีนาคม 2543 เป็นเงิน 1,240,000 บาท แล้วไม่นำเงินส่งคืนให้แก่โจทก์ร่วม โดยไม่ปรากฏว่าขณะที่จำเลยนำบัตรโทรศัพท์ของโจทก์ร่วมไปให้ ร. จำหน่ายนั้นจำเลยมีเจตนาทุจริตหรือสมคบกับ ร. กระทำการโดยทุจริตอย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับผลประโยชน์อื่นใดจากการกระทำดังกล่าว จำเลยนำบัตรโทรศัพท์ของโจทก์ร่วมไปให้ใครจำหน่ายก็ได้โดยไม่จำต้องขออนุญาตโจทก์ร่วมก่อน เว้นแต่บัตรโทรศัพท์ที่นำไปจำหน่ายมีจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าจำนวนเท่าใดจึงต้องขออนุญาตโจทก์ร่วมก่อน อย่างไรก็ดี แม้จะฟังว่าการที่จำเลยนำบัตรโทรศัพท์ไปให้ ร. จำหน่ายโดยไม่ได้ขออนุญาตโจทก์ร่วม จำเลยก็เพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบที่โจทก์ร่วมวางไว้เท่านั้น ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต หากโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายเพราะเหตุที่จำเลยปฏิบัติงานไม่ถูกต้องหรือ ร. นำบัตรโทรศัพท์ไปจำหน่ายแล้วไม่ส่งเงินคืนโจทก์ร่วมก็เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมจะต้องว่ากล่าวในทางอื่นกับบุคคลทั้งสองต่อไป ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์
ฎ.593/2549 จำเลยที่ 1 ถือหุ้นจำนวน 5,000 หุ้น รองจากนาง ส. ย่อมมีสิทธิได้รับการแบ่งผลกำไรจากการทำธุรกิจร่วมกับโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์กัน โดยจำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์ไม่แบ่งผลประโยชน์ให้ จึงถอดเครื่องอุปกรณ์ของเครื่องจักรในโรงงานและเอาสีต่าง ๆ ไปเก็บไว้เพื่อต่อรองให้โจทก์จ่ายผลประโยชน์ในส่วนที่ตนพึงจะได้รับ เครื่องอุปกรณ์ชิ้นส่วนดังกล่าวเมื่อนำมาติดตั้งใหม่ก็สามารถติดตั้งและใช้งานได้ดีตามปกติ การกระทำเช่นนี้ของจำเลยที่ 1 เห็นได้ว่ามิได้ประสงค์ต่อผลที่จะเอาทรัพย์ของโจทก์ไปเป็นของตนหรือของผู้อื่น แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์นำสิ่งของดังกล่าวไปฝากที่บ้านของจำเลยที่ 3 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ และจำเลยที่ 3 ผู้รับฝากทรัพย์ข้างต้นย่อมไม่มีความผิดฐานรับของโจร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4548/2558 การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 334 ผู้กระทำจะต้องแย่งการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น ในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาด โดยมีมูลเหตุชักจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น แต่จากคำเบิกความของโจทก์ร่วมปรากฏว่า โจทก์ร่วมต้องการตัดไม้ยางเพื่อจะสร้างบ้านให้บุตรชายของตน แต่ไม่มีทุนจ้างคนเลื่อยไม้ โจทก์ร่วมไปปรึกษาจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการ จำเลยรับดำเนินการขออนุญาตตัดไม้ยาง โดยมีข้อตกลงแบ่งไม้ยางที่ได้จากการตัดและแปรรูป แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดเนื่องจากยังไม่ทราบจำนวนไม้ยางที่แปรรูปแน่นอน และจำเลยนำสืบต่อสู้ว่า โจทก์ร่วมต้องการสร้างบ้านให้แก่บุตรชายของตนตรงบริเวณที่มีต้นยางปลูกอยู่จำนวน 2 ต้น แต่โจทก์ร่วมไม่สามารถขออนุญาตตัดไม้ยางได้ด้วยตนเอง โจทก์ร่วมจึงยกไม้ยางทั้งสองต้นให้แก่จำเลย โดยไม่เคยมีข้อตกลงแบ่งไม้ยางแปรรูปที่ได้จากการตัดแต่ประการใด ดังนั้น การที่จำเลยตัดต้นยางและชักลากไปแปรรูปในที่ดินของจำเลย ย่อมเป็นไปโดยอาศัยข้อตกลงระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยตามที่โจทก์ร่วมนำสืบ มิใช่เป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วม ในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมโดยเด็ดขาด โดยมีมูลเหตุชักจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพียงแต่หลังจากที่จำเลยเข้าตัดต้นยางของโจทก์ร่วมแล้ว โจทก์ร่วมกับจำเลยต่างมีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับข้อตกลงในการแบ่งไม้ยางที่ได้จากการแปรรูปว่าเป็นประการใด อันเป็นข้อโต้แย้งสิทธิเรียกร้องในทางแพ่งระหว่างกันเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ฎ.2586/2525 ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าความจริงผู้เสียหายตกลงขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 1 หาใช่ให้จำเลยที่ 1 เช่านาพิพาทไม่ พยานโจทก์ที่อ้างว่าผู้เสียหายเพียงแต่ให้จำเลยที่ 1 เช่านาพิพาทก็มีแต่ตัวผู้เสียหาย ภรรยาและญาติสนิทของผู้เสียหายไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือ การวิดน้ำและจับปลาในบ่อตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ก็กระทำโดยเปิดเผย นายเฉลิม ดวดกระโทก และนายยอด แตงกระโทก พยานโจทก์ก็แวะไปดูและพูดคุยกับจำเลย ทั้ง ๆ นายเฉลิมเป็นน้องเขยผู้เสียหาย และมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านท้องที่เกิดเหตุ จำเลยก็มิได้ตกใจกลัวแต่อย่างใด ก่อนที่จะทำการวิดน้ำจำเลยที่ 1 ก็บอกให้นายสุข โถมกระโทก พยานโจทก์ทราบในขณะที่ไปยืมเครื่องสูบน้ำจากนายสุขว่า จำเลยจะนำไปสูบน้ำจับปลาที่นา พฤติการณ์แห่งการกระทำที่จำเลยที่ 1 แสดงออกดังกล่าวส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ทำการวิดน้ำและจับปลาในบ่อโดยสำนึกว่ามีสิทธิจะทำได้โดยชอบ ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า ในการที่ผู้เสียหายตกลงขายนาพิพาทให้กับจำเลยที่ 1 นั้นต่อมา ผู้เสียหายได้บอกเลิกการขาย โดยผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยที่ 1 เกี่ยวข้าวในนาและวิดน้ำจับเอาปลาในบ่อไปได้ การที่จำเลยที่ 1 จับเอาปลาในบ่อที่นาของผู้เสียหายไปจึงไม่เป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง
เอาไปเพื่อชำระหนี้ตามที่เป็นหนี้กันอยู่ หรือต่อรองหนี้สิน
แต่เดิมเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาถือว่าไม่ผิดลักทรัพย์เพราะขาดเจตนาทุจริต ฎ.200/2544 ฎ.3576/2531 ฎ.1715/2534
ฎ.251/2513 ตวงข้าวในนาออกไป ตามราคาค่าเช่าที่ตกลงกัน ไม่ได้เอาไปมากกว่านั้น ถึงแม้จะไม่ได้รับอนุญาตก็ไม่ถึงขั้นเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะไม่มีเจตนาทุจริต
แต่ช่วงหลังคำพิพากษาศาลฎีกาประชุมใหญ่ถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์อันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
เพราะฉะนั้นประเด็นแบบนี้อาจจะสู้ยากครับ
ฎ.9603/2553โจทก์ร่วมตกลงซื้อรถยนต์ตู้กับจำเลยในราคา 310,000 บาท ซึ่งในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า จำเลยตกลงรับชำระราคารถยนต์จำนวน 200,000 บาท ในวันที่ 27 ตุลาคม 2540 ส่วนจำนวนที่เหลือจะชำระให้จำเลยในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้แต่ประการใดจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ย่อมโอนให้แก่โจทก์ร่วมตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 453, 458
ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์มิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปีและแสดงว่าผู้มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้น คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ตู้คันดังกล่าว ดังนั้น การที่จำเลยขับรถยนต์ตู้ไปจากที่จอดรถ จึงเป็นการเอารถยนต์ตู้ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไปโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยจะอ้างว่าสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้าง แต่ก็เป็นการใช้อำนาจบังคับให้ชำระหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ร่วมค้างชำระราคารถยนต์แก่จำเลยเพียงประมาณ 20,000 บาท แต่จำเลยจะให้โจทก์ร่วมชำระเงินแก่จำเลยถึง 100,000 บาท การที่จำเลยเอารถยนต์ตู้ไปจากโจทก์ร่วมเพื่อเรียกร้องให้โจทก์ร่วมชำระหนี้นั้น เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
(ประชมใหญ่ครั้งที่ 9/2553)
ฎ.674/2554 แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จำเลยกับพวกเข้าไปทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนได้รับบาดเจ็บและบังคับเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไปเท่าที่คิดว่าพอกับค่าจ้างที่ผู้เสียหายเป็นหนี้พวกจำเลยอยู่เท่านั้น ไม่ได้เอาทรัพย์สินอื่นๆ ที่มีค่ามากไปด้วยก็ตามแต่การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริตแล้ว การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2553)
ฎ.11225/2555 จำเลยทั้งสามเอาทรัพย์ของกลางของผู้เสียหายไปเพื่อให้ผู้เสียหายไปติดต่อชำระหนี้เงินกู้ที่ค้างชำระจำเลยที่ 1 แต่การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการบังคับให้ผู้เสียหายชำระหนี้โดยพลการ ซึ่งไม่มีอำนาจจะกระทำได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสามถือเป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริตแล้ว จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ แต่สำหรับรถยนต์กระบะของกลาง แม้เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ก็ตาม แต่พฤติการณ์แห่งความผิดของจำเลยทั้งสามไม่ร้ายแรงมากนัก โทษจำคุกและโทษปรับที่กำหนด เชื่อว่าทำให้จำเลยทั้งสามหลาบจำ จึงไม่กำหนดโทษริบทรัพย์สินอีก
สรุป
การต่อสู้คดีลักทรัพย์ในประเด็นว่าไม่ได้มีเจตนา เป็นอีกประเด็นข้อต่อสู้หนึ่งที่สามารถหยิบยกขึ้นมาสู้ได้ โดยหลักแล้วจะต้องพิจารณาว่ามีเจตนาจะเอาทรัพย์สินไปเป็นของตนเองโดยเด็ดขาดหรือไม่ มีเจตนาทุจริตหรือไม่ เข้าใจไปโดยสุจริตว่าตนเองมีอำนาจเอาทรัพย์สินนั้นไป หรือเข้าใจว่าตนเองเป็นเจ้าของโดยสุจริต ก็อาจเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สามารถหยิบยกมาต่อสู้ให้ชนะคดีได้ครับ