คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

10 ประเด็นถามค้านพนักงานสอบสวน ให้เกิดประสิทธิภาพในการต่อสู้คดีอาญา

ในคดีอาญา หากเราเป็นทนายความจำเลย เราจะถามค้านพนักงานสอบสวนในประเด็นอะไรได้บ้างที่ จะสามารถทำลายน้ำหนักความน่าเชื่อถือหรือเกิดประโยชน์ในรูปคดี วันนี้เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆครับ

หลายๆคนที่เป็นฝ่ายจำเลยในคดีอาญา อาจจะยังไม่รู้ว่าเมื่อพนักงานสอบสวนขึ้นเบิกความแล้ว เราจะสามารถถามค้านในประเด็นอะไรบ้าง ที่จะเป็นประโยชน์กับรูปคดีของเรา วันนี้ผมเลยจะมาแชร์ไอเดียในการถามค้านพนักงานสอบสวนจากประสบการณ์ของผมครับ

1.ไม่สอบปากคำพยานที่สำคัญ

ทั้งนี้พนักงานสอบสวนมีอำนาจรวบรวมพยานฐานทั้งที่พิสูจน์ว่าจำเลยจะทำความผิดหรือจำเลยบริสุทธิ์

ถ้าพนักงานสอบสวนเลือกสอบสวนเฉพาะพยานหลักฐานของฝ่ายผู้กล่าวหา ไม่สอบปากคำพยานบุคคลที่เป็นคนกลางหรือพยานของฝ่ายจำเลย ความน่าเชื่อถือของพนักงานสอบสวนรวมถึงสำนวนสอบสวนย่อมลดน้อยลง

โดยเฉพาะกรณีที่ เราร้องขอให้สอบสวนพยานบุคคลคนใดคนหนึ่งซึ่งเป็นข้อสำคัญในคดีแล้ว โดยมีหลักฐานชัดเจน แต่พนักงานสอบสวนไม่สอบ

อาจแสดงให้เห็นถึงน้ำหนักความน่าเชื่อถือของพนักงานสอบสวน ที่มีลักษณะการเลือกปฏิบัติ หรือใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบ และการทำสำนวนสอบสวนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการฟังความข้างเดียวย่อมมีน้ำหนักน้อย

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา ๑๓๑  ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา

มาตรา ๑๓๓  พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายเรียกผู้เสียหายหรือบุคคลใดซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้อยคำของเขาอาจเป็นประโยชน์แก่คดีให้มาตามเวลาและสถานที่ในหมายแล้วให้ถามปากคำบุคคลนั้นไว้

    มาตรา ๑๓๔ วรรคสี่  พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้

ทั้งนี้ ถึงแม้ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาถือว่าเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะเลือกสอบสวนพยานคนไหนก็ได้ก็จริง แต่การที่พนักงานสอบสวนเลือกสอบสวนแต่พยานฝ่ายผู้กล่าวหาย่อมทำให้น้ำหนักน้อยลง

ฎ.6300/2558 ฎ.7886/2553 , ฎ.5766/2549 ฎ.3110/2551

2.สอบพยานบุคคลไม่ครบกระบวนความ

พนักงานสอบสวนเมื่อสอบปากคำพยานบุคคลแล้ว ย่อมจะต้องสอบให้ครบถ้วนกระบวนความถึงความรู้เห็น ความน่าเชื่อถือ เหตุผลและตรรกะต่างๆ ตามที่ปรากฏใน ระเบียบตำรวจเกี่ยวกับคดีบทที่ 5 ว่าด้วยการถามปากคำ ข้อ 245-254

แต่ถ้าปรากฏว่าพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนไม่ครบถ้วนกระบวนความ และเป็นไปในลักษณะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น

  • สอบแต่ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
  • ไม่สอบว่าใครร่วมรู้เห็นเหตุการณ์ด้วย แต่ผู้เสียหายมาอ้างทีหลัง ระเบียบข้อ 246
  • ไม่ถามประเด็นสำคัญในคดี ระเบียบข้อ 251
  • ไม่ถามถึงข้อพิรุธที่ปรากฎชัดแจ้ง หรือพิสูจน์ความจริงของถ้อยคำ ระเบียบ ข้อ 252
  • ไม่สอบถามถึงเหตุผลของพยานที่จะพิสูจน์ความจริงความเท็จได้ ระเบียบข้อ 253

ความน่าเชื่อถือของพนักงานสอบสวนย่อมลดน้อยถอยลง ซึ่งในการถามพยานในประเด็นต่างๆเหล่านี้เราสามารถหยิบยกเอาระเบียบตำรวจเกี่ยวกับคดีในแต่ละข้อมาถามค้านได้ว่า พนักงานสอบสวนสอบสวนโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบ

3.ไม่รวบรวมพยานเอกสาร-พยานวัตถุ-ตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญ

เช่นเดียวกันกับหลักการตามที่ระบุไว้ในข้อ 1 พนักงานสอบสวนมีหน้าที่จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลย หรือผู้ต้องหา

ถ้าในการสอบสวนพนักงานสอบสวนมุ่งแต่รวบรวมพยานฐานที่ชี้ให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิด แต่พยานหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าจำเลยบริสุทธิ์

เช่น กล้องวงจรปิด พยานเอกสาร การตรวจวิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ต่างๆ พนักงานสอบสวนไม่สอบสวนไม่รวบรวมเลย

โดยเฉพาะในกรณี ที่จำเลยหรือทนายความจำเลยขอให้พนักงานสอบสวนรวบรวมแล้วแต่พนักงานสอบละเลยเพิกเฉย ความน่าเชื่อถือของสำนวนสอบสวนและตัวพนักงานสอบสวนย่อมลดน้อยถอยลง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา ๑๓๑  ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา

มาตรา ๑๓๑/๑  ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามมาตรา ๑๓๑ ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุหรือเอกสารใด ๆ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้

       มาตรา ๑๓๒  เพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมหลักฐาน ให้พนักงาสอบสวนมีอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๒) ค้นเพื่อพบสิ่งของ ซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทำผิด หรือได้ใช้หรือสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำผิด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยค้น

(๓) หมายเรียกบุคคลซึ่งครอบครองสิ่งของ ซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ แต่บุคคลที่ถูกหมายเรียกไม่จำต้องมาเอง เมื่อจัดส่งสิ่งของมาตามหมายแล้ว ให้ถือเสมือนว่าได้ปฏิบัติตามหมาย

(๔) ยึดไว้ซึ่งสิ่งของที่ค้นพบหรือส่งมาดังกล่าวไว้ในอนุมาตรา (๒) และ (๓)

ฎ.869/2557 ฎ.1512/2559

ทั้งนี้การถามค้าในประเด็นนี้ รวมถึงความบกพร่องในการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่น

  • การส่งเอกสารไปตรวจพิสูจน์
  • การส่งยาเสพติดไปตรวจพิสูจน์
  • ความเร็วของรถ

ที่ที่อาจจะชี้ให้เห็นว่าพนักงานสอบสวนอาจจะมีข้อบกพร่องในการส่งเอกสารหลักฐานไปตรวจพิสูจน์เช่นส่งตัวอย่างเอกสารไปไม่มากพอ ขั้นตอนการจัดเก็บของกลาง วิธีการตรวจพิสูจน์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เป็นต้น

4.ความบกพร่องในการจัดทำเอกสาร

ในการทำสำนวนสอบสวน พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจทำเอกสารต่างๆเพื่อประกอบสำนวนสอบสวนเช่นแผนที่ ภาพวาดจำลอง รูปถ่ายแผนที่เกิดเหตุ รวมทั้งพยานวัตถุและพยานเอกสารต่างๆเพื่อชี้ให้เห็นถึงลักษณะรูปคดีโดยละเอียดชัดเจน

ถ้าปรากฏว่าในการทำเอกสารประกอบสำนวนสอบสวนดังกล่าวมีความบกพร่อง มีข้อพิรุธซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรูปคดีไม่เป็นไปตามระเบียบตำรวจเกี่ยวกับคดี เราย่อมสามารถใช้ตรงนี้มาเป็นประเด็นในการถามค้านเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของพนักงานสอบสวนได้

     มาตรา ๑๓๒  เพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมหลักฐาน ให้พนักงาสอบสวนมีอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) ตรวจตัวผู้เสียหายเมื่อผู้นั้นยินยอม หรือตรวจตัวผู้ต้องหา หรือตรวจสิ่งของหรือที่ทางอันสามารถอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ให้รวมทั้งทำภาพถ่าย แผนที่ หรือภาพวาดจำลอง หรือพิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือหรือลายเท้า กับให้บันทึกรายละเอียดทั้งหลายซึ่งน่าจะกระทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้น

ยกตัวอย่างการถามค้าในประเด็นนี้เช่น ในเรื่องต่างๆดังต่อไปนี้

  • แผนที่ที่เกิดเหตุ
  • รูปถ่ายที่เกิดเหตุ

ซึ่งจะอยู่ในระเบียบตำรวจเกี่ยวคดีข้อ 265 ถึง 268

*หรือกดดูคลิปที่ผมได้อธิบายไว้แล้วครับ*

  • การชี้รูป ชี้ตัว ผู้ต้องหา

ซึ่งจะอยู่ในระเบียบตำรวจเกี่ยวกับคดีข้อ 260 ถึง 264

*หรือกดดูคลิปที่ผมได้อธิบายไว้แล้วครับ*

  • การชี้รูปของกลาง
  • บันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดี
  • ลักษณะเอกสารที่มีการแก้ไขโดยไม่ชอบ หรือมีพิรุธ

ซึ่งแนวทางในการถามค้านในประเด็นนี้ เราก็จะต้องหยิบยกเอาระเบียบหรือข้อกฎหมายในเรื่องนั้นๆขึ้นมาชี้ให้เห็นว่า พนักงานสอบสวนทำไม่สอดคล้องกับระเบียบหรือกฎหมายน้ำหนักความน่าเชื่อถือของเอกสารและตัวพนักงานสอบสวนย่อมลดน้อยลง ฎ.4546/2546

5.การข่มขู่-กดดัน-จูงใจ -ทำร้าย

ถ้าในการสอบสวนพยานหรือผู้ต้องหาก็ดี พนักงานสอบสวนมีการสอบสวนโดยใช้วิธีข่มขู่ กดดัน หรือใช้วิธีการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต่างๆ

ถึงแม้จะไม่ทำให้สำนวนสอบสวนเสียไปทั้งหมด แต่ก็ทำให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือ หรือคำให้การที่เป็นผลร้ายของผู้ต้องหาหรือพยานนั้นไม่สามารถรับฟังได้

ตัวอย่างเช่น

  • สอบปากคำยาวนานต่อเนื่องหลายชั่วโมง โดยไม่มีญาติหรือทนายความเข้าร่วมด้วย ฎ.1029/2548
  • ข่มขู่ ว่ามีหลักฐานชัดเจน ทั้งๆที่ความจริงอาจจะไม่มี ฎ.218/2475 ฎ.598/2482
  • บอกว่าจะรับสารภาพจะกันตัวไว้เป็นพยาน 500/2474 ,1039/2482
  • บอกว่าจะไม่รับสารภาพคนอื่นจะโดนจับไปด้วยคนอื่นจะเดือดร้อนไปด้วย ฎ.365/2481 ,473/2539
  • แต่ถ้าบอกว่ารับสารภาพแล้วโทษจะเบาลงแค่นี้ไม่ถึงขั้นเป็นการข่มขู่หรือจูงใจ ฎ.1542/2540

6.ขั้นตอนการสอบสวนที่ไม่ถูกต้องกับระเบียบ -กฎหมาย

ถ้าในการสอบสวนมีกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาและขั้นตอนต่างๆเช่น

  • ไม่มีการแจ้งสิทธิ แจ้งญาติ หรือให้ทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวน ปวิอ.ม.134/3 ม.134/4
  • ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาโดยชอบ ม.134
  • สอบสวนเด็กโดยไม่มีสหวิชาชีพ 133 ทวิ
  • ไม่มีการบันทึกวีดีโอไว้ในขณะสอบสวนเด็ก 133 ทวิ

ประเด็นต่างๆเหล่านี้เราสามารถถามค้านเพื่อชี้ให้เห็นถึงกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย ถึงแม้จะไม่ทำให้การสอบสวนเสียไปจะทำให้น้ำหนักลดลงและไม่สามารถรับฟังคำให้การดังกล่าวได้ ยกเว้นแต่การไม่แจ้งข้อกล่าวหาอาจจะทำให้ไม่มีอำนาจฟ้อง

7.ถามค้านให้รับรอง ข้อเท็จจริง พยานบุคคล,พยานเอกสาร,พยานวัตถุ ที่เป็นประโยชน์กับเรา

ธรรมดาแล้วพนักงานสอบสวนถือว่าเป็นพยานคนกลางมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ดังนั้นแล้วสิ่งที่พนักงานสอบสวนเบิกความสามารถจะให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือ

ดังนั้นถ้าหากเราสามารถถามค้าให้พนักงานสอบสวนรับข้อเท็จจริงใดที่เป็นประโยชน์กับรูปคดีเรา เจืิอสมกับแนวทางข้อต่อสู้ของเรา ข้อเท็จจริงนั้นย่อมรับฟังได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถามค้านให้พนักงานสอบสวนรับพยานวัตถุ พยานเอกสาร เช่น รูปถ่าย หลักฐานการสนทนาผ่านโปรแกรม LINE หรือ facebook กล้องวงจรปิด ที่เกี่ยวข้องกับคดีก็จะเป็นประโยชน์กับแนวทางข้อต่อสู้เราอย่างยิ่ง

*หรือกดดูคลิปที่ผมได้อธิบายไว้แล้วครับ*

8.ถามถึงคำให้การของฝ่ายตรงข้ามในชั้นสอบสวนที่ขัดกับชั้นศาล

ธรรมดาแล้วพยานของฝ่ายโจทก์ในคดีอาญา โดยเฉพาะพยานของพนักงานอัยการ จะต้องผ่านการสอบสวนของพนักงานสอบสวนมาก่อน

และธรรมดาแล้วพยานของฝ่ายโจทก์จะมาเบิกความก่อนหน้าพนักงานสอบสวนจะมาเบิกความเสมอ.โดยพนักงานสอบสวนพนักงานอัยการจะเก็บไว้เป็นพยานปากปิดท้าย.

ดังนั้นแล้วเราจะได้รับฟังคำให้การของพยานโจทก์ปากอื่นๆ มาก่อนพนักงานสอบสวนอยู่แล้ว ดังนั้นในวังที่เราฟังคำให้การพยานโจทก์ปากคนอื่นๆ และเก็บข้อมูลหรือจับข้อพิรุธได้ว่าได้ว่าพยานโจทก์ปากนั้นให้การไม่ตรงกับที่ตนเองให้การในชั้นสอบสวน

เราสามารถนำเอาประเด็นดังกล่าวมาถามค้านให้พนักงานสอบสวนเบิกความอธิบายได้

ตัวอย่างเช่นพยานปากนึงตอนให้การกับพนักงานสอบสวน ให้การว่าไม่เห็นตัวจำเลยหรือเห็นไม่ชัด แต่ว่ามาในชั้นศาลกลับมาให้การว่าเห็นจำเลยอย่างชัดเจน

แบบนี้เราสามารถถามค้านกับพนักงานสอบสวนถึงกระบวนการสอบสวนพยานปากนี้ และพยานปากนี้ให้การอย่างชัดเจนว่าตนเองไม่แน่ใจว่าเห็นจำเลยหรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่น่าเชื่อถือของพยานปากดังกล่าว

แนวทางนี้เราสามารถใช้แนวทางคล้ายกับการถามค้านพยานคู่ได้ คือดูว่าคำให้การของพยานโจทก์ในชั้นศาล ขัดแย้งกับคำให้การในชั้นสอบสวนที่ให้ไว้กับพนักงานสอบสวนในข้อสาระสำคัญหรือไม่

*หรือกดดูคลิปที่ผมได้อธิบายไว้แล้วครับ*

9.มีพยานบุคคล-เอกสารหลักฐานที่สำคัญแต่อัยการไม่อ้างส่ง

ธรรมดาแล้วในการสอบสวนคดีของพนักงานสอบสวน ย่อมจะต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคลหรือพยานเอกสารและพยานวัตถุเข้าสู่สำนวน จากนั้นก็สรุปทำความเห็นส่งให้กับพนักงานอัยการต่อไป

ในชั้นพิจารณาคดี พนักงานอัยการมีอำนาจที่จะเลือกเอาเฉพาะพยานบุคคลบางปากที่เห็นว่าสำคัญ พยานเอกสารหรือพยานวัตถุบางชิ้นที่เห็นว่าเป็นประโยชน์กับรูปคดีเข้าสู่สำนวนของศาล ไม่ได้อ้างส่งพยานหลักฐานทั้งหมดที่พนักงานสอบสวนรวบรวมไว้

ซึ่งถ้าเราเห็นว่าพนักงานสอบสวนน่าจะได้รวบรวมพยานบุคคล พยานเอกสารหรือพยานวัตถุ อะไรไว้ที่น่าจะเป็นประโยชน์กับรูปคดีของเรา แต่พนักงานอัยการไม่ได้อ้างส่งไว้เป็นพยานหลักฐานต่อศาล

เราสามารถหยิบยกเอาประเด็นนี้มาถามค้านพนักงานสอบสวนได้ว่า ได้มีการรวบรวมพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุดังกล่าว เข้าสู่สำนวนแล้วแต่พนักงานอัยการไม่อ้างส่งเป็นพยานต่อศาล

เพื่อทำลายน้ำหนักความน่าเชื่อถือของรูปคดีฝ่ายโจทก์ เหลือเพื่อใช้สิทธิ์ในการยื่นคำร้องขอเรียกสำนวนสอบสวนมาประกอบการพิจารณาต่อไป

*หรือกดดูคลิปที่ผมได้อธิบายไว้แล้วครับ*

10.การถูกแทรกแซงโดยอำนาจโดยมิชอบ

ธรรมดาพนักงานสอบสวน จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางไม่เลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติจริงๆแล้ว พนักงานสอบสวนถูกแทรกแซงได้จากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชา นักการเมือง นักธุรกิจที่มีอำนาจมีอิทธิพล หรือมีปัจจัยเงินในการดูแลผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจ

หลายครั้งที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยเลือกปฏิบัติ ช่วยเหลือผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหา หรือกระทำการต่างๆที่เป็นข้อพิรุธดังที่ปรากฏแล้วในข้อ 1-3.เช่นนี้หากเรามีข้อมูลเบื้องลึกว่าสาเหตุที่พนักงานสอบสวนดำเนินการดังกล่าว เพราะมีความสนิทสนมหรือถูกกดดันจากผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจ ก็สามารถใช้ถามค้านเพื่อทำลายน้ำหนักความน่าเชื่อถือของพนักงานสอบสวนได้

สรุป

แนวทางข้างต้นคือไอเดียในการถามค้านพนักงานสอบสวน.เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับรูปคดีในคดีอาญากรณีที่ท่านเป็นทนายความจำเลย

อย่างไรก็ตามในแต่ละรูปคดีย่อมมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันไป ท่านอย่าได้ยึดถือเอาเฉพาะตามตัวอย่างที่ผมยกให้ดู แต่ท่านจะต้องปรับและคิดหาแนวทางที่เหมาะสมกับรูปคดีของท่านมากที่สุด โดยใช้บทความของผมเป็นเพียงแนวทางในการคิดเท่านั้น

หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆครับ

 

Express your opinion about this article

comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น