คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

10 ประเด็นข้อต่อสู้ในคดี “บุกรุก” ถามค้าน-นำสืบ อย่างไรให้ชนะคดี

ในคดีบุกรุกมีประเด็นอะไรที่สามารถใช้ต่อสู้คดีให้ชนะได้บ้าง วันนี้จะมาอธิบายถึง 9 ประเด็นข้อต่อสู้ที่สามารถหยิบยกขึ้นมาใช้ในคดีบุกรุกให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆ

1.จำเลยไม่ได้เข้าไปในที่เกิดเหตุ

  • เป็นการต่อสู้คดีอ้างฐานที่อยู่
  • จำเลยไม่ได้เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายตามที่ถูกกล่าวหา อาจมีพยานบุคคลหรือพยานหลักฐานอื่น เช่น กล้องวงจรปิดมายืนยัน
  • จำเลยอยู่ในสถานที่อื่นในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ
  • ผู้เสียหายจำคนผิดพลาด หรือเข้าใจผิดไปเองว่าจำเลยเข้าไปพร้อมกับคนอื่น

ดูคลิปต่อสู้คดีอ้างฐานที่อยู่

2.ได้รับความยินยอมให้เข้าในที่เกิดเหตุ

  • ฝ่ายผู้เสียหายยินยอมให้เขาไปตั้งแต่แรก เช่นบอกว่าเดี๋ยวค่อยมาเจอกันดึกๆ เดี๋ยวพรุ่งนี้ให้เข้ามา ฎ.951/2529 ฎ.32/2536
  • จำเลยได้รับอนุญาตจากบุคคลอื่นผู้มีสิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ให้เข้าไปในสถานที่นั้น เช่น เจ้าของบ้าน ผู้เช่า สามี ภรรยา บุคคลผู้ให้ความดูแล ฎ.3712/2531 ,5177/2549 ฎ.704/2536
  • หรือแม้กระทั่งเป็นชู้ ภรรยาเป็นคนพาเข้าไปในบ้านถึงแม้สามีจะเป็นเจ้าของบ้านก็ยังไม่ถึงขั้นบุกรุก
  • ยกเว้นว่าจะรู้อยู่แล้วว่าคนที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงประกาศห้ามเข้า หรือห้ามโดยชัดแจ้งไม่ให้เข้า แล้วยังเข้าไปแบบนี้ก็อาจจะถือว่าเป็นความผิดได้ ฎ.279/2539
  • มีลักษณะเป็นการเข้าออกอยู่บ่อยครั้งเป็นประจำ ไม่เคยห้ามปราม ฎ.5428/2540
  • มีลักษณะเป็นการให้ความยินยอมโดยปริยาย เข้าไปก็ไม่ว่าอะไร
  • ภายหลังเมื่อถูกเพิกถอนความยินยอม หรือทราบว่าเจ้าของไม่ให้ความยินยอมก็ออกทันที
  • ต้องดูให้ดีด้วยตอนแรกอาจจะมีสิทธิ์เข้าไปเพราะเขายินยอมแต่ถ้าเขาไล่ก็ต้องออก ถ้าเขาไล่แล้วไม่ออกก็จะเป็นความผิด ตามมาตรา 364

3.ผู้เสียหายไม่ใช่เจ้าของ/ไม่มีสิทธิ์ครอบครองหรือกรรมสิทธิ์

  • ผู้เสียหายไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์การเช่า ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครอง ไม่มีกรรมสิทธิ์
  • ที่เกิดเหตุเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ใช่ของผู้เสียหาย

เช่น เป็นที่ดินของกรมชลประทาน เป็นที่สาธารณสมบัติที่ทุกคนต้องใช้ร่วมกัน เป็นที่นาอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ได้จัดให้เป็นที่ทำกินของราษฎร เป็นที่ดินสปก.ที่ทางสปกยังไม่ได้อนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ฎ.723/2509 ฎ.9132/2544 ฎ.3600/2554 ฎ.4132/2550 ฎ.3884/2556 ฎ.172/2535

  • ผู้เสียหายเพิ่งซื้อทรัพย์สินมาทีหลัง จำเลยเข้าไปอยู่ก่อนหน้านี้นานแล้ว และความผิดฐานบุกรุกไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง ดังนั้นผู้เสียหายจึงไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินในขณะที่จำเลยกระทำความผิด (ต้องไปฟ้องขับไล่เป็นคดีแพ่ง) ฎ.1881/2538 ฎ.2244/2532 ฎ.1552/2535 ฎ.1552/2535
  • ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้กรรมสิทธิ์ด้วยการครอบครองปรปักษ์แล้ว เสียหายไม่ใช่เจ้าของอีกต่อไป ฎ433/2458
  • ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้แย่งสิทธิที่ดินมือเปล่าเกินกว่า 1 ปีแล้ว ผู้เสียหายย่อมหมดสิทธิ์ในที่ดินแปลง ฎ.2137/2530 ฎ.3816/2538

อ้างคลิปทนายฟลุ๊ค

4.สถานที่เกิดเหตุเป็นสาธารณสถาน ไม่ใช่เคหสถาน

กรณีสถานที่ดังกล่าวเป็นสาธารณะสถานที่บุคคลทั่วไปเข้าไปได้อยู่แล้ว เช่นเป็นร้านอาหาร สำนักงานทนายความ  ร้านเสริมสวย คาราโอเกะ ร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ การเข้าไปย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุก

ประเด็นก็คือ

  • ต้องดูเวลาเปิด-ปิดทำการด้วย
  • ต้องดูบริเวณที่เข้าไปด้วยว่าเป็นบริเวณที่เขาเปิดให้เข้าไปไหม

5.ไม่ได้มีเจตนาพิเศษ / มีเหตุสมควร

  • ไม่ได้เข้าไปถือการครอบครองหรือแย่งการครอบครอง ม.362
  • ไม่ได้เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุข ม.362
  • มีเหตุสมควรที่จะเข้าไปได้ ม.364

ตัวอย่างเช่น

  1. เข้าไปกลับรถในที่ดินแป๊บเดียว โดยไม่ได้เกิดความเสียหายใดๆ
  2. เตะบอลแล้วลูกบอลเข้าไปในที่ดินวิ่งเข้าไปเก็บลูกบอลแป๊บเดียว
  3. แมวหายเข้าไปตามแมว
  4. ถือวิสาสะผ่านทาง ดังเช่นที่คนอื่นๆใช้ผ่านมา
  5. เข้าไปเพื่อเป็นการหลบภัยถูกทำร้าย ถูกทำอันตรายจากที่อื่นมา
  6. เป็นสามีเข้าไปติดตามภรรยาเพราะมีเหตุอันควร ฎ.6506/2542 ฎ.2075/2529
  7. เข้าไปติดตามตัวบุตรผู้เยาว์ 473/2522

6.มีอำนาจตามกฎหมายที่เข้าไปได้

  • มีภารกิจจำเป็นต้องเข้าไป เช่น เจ้าพนักงานมีหมายค้น หรือมีอำนาจค้นได้โดยไม่มีหมายค้นกรณีเป็นเจ้าหน้าที่ปปปส หรือพบความผิดซึ่งหน้าในเคหสถาน ฎ.1194/2517 ฎ.4711/2542
  • มีอำนาจที่ระบุไว้ตามกฎหมายอื่นๆ เช่นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการเข้าครอบครองทรัพย์
  • การให้ความยินยอมไว้ล่วงหน้าตามที่ระบุไว้ในสัญญา หรือข้อตกลง ฎ.3025/2541 ฎ. 5396/2549 แต่ในกรณีสัญญาเช่า แต่ปัจจุบันอาจจะใช้บังคับไม่ได้แล้วเพราะว่ามีการประกาศว่าธุรกิจการเช่าเป็นธุรกิจควบคุมแล้วก็ห้ามไม่ให้ ระบุไว้ในสัญญาเช่นนี้ แต่ถ้าเป็นสัญญาประเภทอื่นก็อาจจะยังถือว่าใช้บังคับได้อยู่ เช่นสัญญาให้พักอาศัยฟรี หรือสัญญาต่างตอบแทนประเภทอื่น
  • มีเหตุภยันตราย ภายในอสังหาริมทรัพย์นั้นเช่นเกิดเพลิงไหม้ เข้าไปช่วยดับเพลิง
  • มีคนถูกทำร้ายอยู่ภายในที่เกิดเหตุ เห็นเจ้าของบ้านกำลังทำร้าย หรือทำร้ายบุคคลอื่นอยู่ จึงเข้าไปช่วย

อ้างคลิปป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

7.สำคัญผิด – เชื่อโดยสุจริต

  • ไม่รู้ว่าเป็นที่ดินหรือเคหสถานของบุคคลอื่น เช่นซื้อที่ดินมาโดยที่ยังไม่ได้รังวัด
  • สร้างรั้วในที่ดินโดยเข้าใจว่าเป็นของตนเอง 3060/2525 ฎ.6303/2539
  • เช่นเราเป็นช่าง เข้าไปรื้อของ เข้าใจว่าคนที่พาเข้าไปเป็นเจ้าของ โดยเข้าใจโดยสุจริต ฎ.3115/2526
  • เข้าใจว่ามีสิทธิ์อยู่และสิทธิครอบครองได้โดยชอบ โดนหลอกขายมา ฎ.291/2537
  • เดินเข้าผิดบ้าน หลงทางเข้ามา

อ้างคลิปทนายบอล

8.เป็นเพียงเรื่องการผิดสัญญาทางแพ่ง

  • เป็นการอยู่ต่อเนื่องมา จากการที่มีสิทธิ์การเช่า หรือข้อตกลงให้อาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท แม้ไม่ออกไปก็ต้องเป็นเรื่องใช้สิทธิ์ทางแพ่งฟ้องร้อง ไม่เป็นบุกรุก เพราะผู้ให้เช่าสละการครอบครองตั้งแต่แรกแล้ว ฎ.2257/2524 ฎ.2720/2551
  • เป็นเพียงการโต้แย้งสิทธิ์ทางแพ่ง เนื่องจากมีข้อถกเถียงเรื่องกรรมสิทธิ์อยู่ ว่าใครเป็นเจ้าของกันแน่โดยเป็นการโต้เถียงโดยมีเหตุผลมีพยานหลักฐานยืนยัน ฎ.394/2537 ฎ.3548/2539 ฎ.3490/2553

9.ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย

ความผิดฐานบุกรุกเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวอันยอมความได้ ถ้าไม่ใช่เป็นคดีที่มีเหตุฉกรรจ์ตามมาตรา 365

ดังนั้นถ้าผู้เสียหายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดหรือเป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำความผิด ย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ หรือฟ้องคดีเองโดยตรงต่อศาลได้

ตัวอย่างเช่น

ผู้เสียหายกล่าวท้าทายให้จำเลยเข้าไปในที่เกิดเหตุ หรือทำร้ายเขาก่อนแล้ววิ่งหนีเข้าบ้าน

10.คดีขาดอายุความแล้ว /ตกลงยอมความกันแล้ว

เฉพาะคดีที่ไม่มีเหตุฉกรรจ์ ตามมาตรา 365

สู้ประเด็นเรื่องอายุความ

คดีบุกรุก ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 362 หรือ 364 อายุความ 3 เดือนเพราะเป็นคดีความผิดยอมความได้

ความผิดบุกรุกไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง เป็นความผิดสำเร็จทันทีนับแต่ครั้งแรกที่เข้าไป

ดังนั้นอายุความ 3 เดือนนับแต่วันที่บุกรุกเข้าไปสำเร็จหากเกินกว่า 3 เดือนแล้วไปฟ้องคดีก็ขาดอายุความ  ฎ.2269/2538

สู้ประเด็นเรื่องมีการตกลงกันแล้ว

เช่นบุกรุกแล้วต่อมามีการทำข้อตกลงว่าไม่ติดใจเอาความกันทำบันทึกประจำวันหรือทำหลักฐานไว้เป็นหนังสือ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ฎ.67/2524

สรุป

สรุปแล้วเนี่ยในประเด็นข้อต่อสู้ในคดีบุกรุกทั้ง 10 ข้อก็ลองเอาไปปรับใช้กันดูนะครับให้เหมาะสมกับรูปคดี นอกจากนี้ในแต่ละคดีก็อาจจะมีประเด็นข้อต่อสู้อย่างอื่นที่สามารถหยิบยกมาได้แล้วแต่ประเด็นแล้วแต่รูปคดีอีก

Express your opinion about this article

comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น