คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

“ฟ้องแย้ง” ข้อกฎหมายและเทคนิคทางปฏิบัติในการพิจารณาคดี

ฟ้องแย้งคืออะไร มีประโยชน์ในการทำงานยังไงบ้าง มีข้อกฎหมายและเทคนิคทางปฏิบัติอะไรบ้างที่เราจะต้องรู้วันนี้เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังครับ

ฟ้องแย้งคืออะไร

ฟ้องแย้ง คือ การที่เราเนี่ยตกเป็นจำเลยถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กู้ยืม ผิดสัญญา ละเมิด ขับไล่ มรดก หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่

เมื่อเราถูกฟ้องแล้วเราก็ต้องยื่นคำให้การภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อชี้แจงว่าเราผิดหรือไม่ผิดอย่างไร จะต่อสู้คดียังไงบ้าง

ซึ่งถ้าหากเราพิจารณารูปเรื่องทั้งหมดแล้วเราเห็นว่า ความจริงแล้วเราเอง ก็มีสิทธิเรียกร้องให้ฝ่ายโจทก์ ต้องชำระเงินให้กับเรา โอนทรัพย์สิน หรือต้องให้ฝ่ายตรงข้ามกระทำการหรืองดเว้นการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือโอนทรัพย์สินให้กับเรา อยู่แล้ว

เราก็สามารถที่จะเรียกร้องให้ฝ่ายตรงข้ามกระทำการดังกล่าวไปพร้อมกับการยื่นคำให้การไปพร้อมกันเลย โดยที่ไม่ต้องไปยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ให้มันยุ่งยากซ้ำซ้อนอีก

หรือพูดง่ายๆก็คือการฟ้องกลับในคดีเดียวกันไม่ต้องไปแยกฟ้องในคดีใหม่

ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177

มาตรา 177  เมื่อได้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว ให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน
ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น
จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก
ให้ศาลตรวจดูคำให้การนั้นแล้วสั่งให้รับไว้ หรือให้คืนไปหรือสั่งไม่รับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18

ฟ้องแย้งมีประโยชน์อะไรบ้าง

1.ไม่ต้องเสียเวลาไปฟ้องคดีใหม่
2.ทำงานง่ายกว่า ในกรณีเป็นฝ่ายจำเลย
3.ใช้เป็นข้อเจรจาต่อรอง-ไกล่เกลี่ย

ฟ้องแย้งได้ในกรณีแบบไหน

หลักในการฟ้องแย้งเหมือนกับการฟ้องคดีปกติคือจะต้องมีการโต้แย้ง สิทธิหรือหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้

ต้องใช้สิทธิของตนเองจะไปใช้สิทธิของคนอื่นไม่ได้ ฎ.802/2515 ฎ.1897/1898/2549 ฎ.3932/2549

 

หลักที่สำคัญของฟ้องแย้งคือจะต้องเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม

เพียงพอที่จะรวมพิจารณาด้วยกันได้ ตามมาตรา 177 วรรค 3

 

ตัวอย่างการฟ้องแย้งที่สามารถทำได้

● สัญญาพิพาทเป็นสัญญาเดียวกัน เช่น ฟ้องเรื่องกู้ยืมเงิน จำเลยบอกชำระหนี้เงินกู้ครบถ้วนแล้ว ขอให้ฝ่ายโจทก์คืนหลักประกันจึงฟ้องแย้งเข้ามา ฎ.857/2519 ฎ.1917/2519 ฎ.3574/2537
● ทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์เดียวกัน ฟ้องเรื่องขับไล่ ฝ่ายจำเลยสู้ว่าฝ่ายโจทก์ตกลงขายที่ดินพิพาทให้แล้ว ขอให้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ ฎ.57/2519 ฎ.5741/2534 ฎ.1332/2535 ฎ.1272/2539 ฎ.4650/2545 ฎ.6868/2546
● มูลคดีที่พิพาทเป็นเรื่องเดียวกัน เช่น เรื่องประมาทขับรถชนเถียงว่าใครประมาทไม่ประมาท

กรณีที่ไม่สามารถฟ้องแย้งได้

2.1 ฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม

● สัญญาที่พิพาทเป็นคนละฉบับกันคนละเรื่องกัน เช่นฟ้องเรื่องกู้ยืมเงิน จะมาฟ้องแย้งเรื่องผิดสัญญาซื้อขายไม่ได้ ฎ.249/2512 ฎ.1613/2513 ฎ.3497/2538 ฎ.6350/2539
● ข้ออ้างตามฟ้องแย้งและของเดิมเป็นคนละเรื่องกัน เช่น ถูกฟ้องเรื่องกู้ยืมเงิน จะบอกว่าเจ้าหนี้ละเมิดทำร้ายร่างกายในการทวงหนี้แล้วมาฟ้องแย้งไม่ได้ ฎ.1195/2521 ฎ.2141/2523 ฎ.394/2525 ฎ.248/2530 ฎ.6430/2534 ฎ.3903/2535
● ทรัพย์พิพาทตามฟ้อง เป็นคนละชิ้นกัน ฎ.2157/2519 ฎ.1109/2539

2.2 ฟ้องแย้งที่ขัดกับฟ้องเดิม

● ให้การว่าสัญญาเป็นโมฆะ แต่ก็ยังมาเรียกร้องให้บังคับตามสัญญา ฎ.2648/2541
● การขอหักกลบลบหนี้ถือว่าเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมเสมอ ไม่ว่ามูลหนี้ที่หักกลบลบกันจะเกี่ยวหรือไม่ ฎ.609/2521 ฎ.465/2541

2.3 ฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไข

● ถ้าหากศาลพิพากษาให้ตนแพ้คดี ก็ขอฟ้องแย้งเรียกร้องอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ถ้าศาลพิพากษาขับไล่ตนเองจากอาคารพิพาทก็ขอเรียกค่าซ่อมแซม หรือหากถูกขับไล่จริงๆก็ขอเรียกเงินประกันคืน หรือขอเรียกค่าถมที่ดินที่จ่ายไป ฎ.153/2512 ฎ.200/2522 ฎ.218/2522 ฎ.2976/2526
● ยกเว้นบางกรณีไม่ได้ต่อสู้เช่นถูกฟ้องขับไล่ก็ยอมออก แต่โดยดีแต่ฟ้องแย้งขอชดใช้เงินค่าก่อสร้าง ค่าถมที่ดินหรือค่าเสียหายอื่นๆ ฎ.592/2506

2.4 เอาสาเหตุที่ถูกฟ้องมาเป็นเหตุฟ้องแย้ง

● อ้างว่าถูกกลั่นแกล้งฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ อ้างว่าฟ้องคดีเป็นการละเมิด ฎ.7300/2544 ฎ.4002/2533 ฎ.4448/2536 ฎ.2486/2548
● อ้างว่าการขอคุ้มครองชั่วคราวไปละเมิด ฎ.1002/2529 ฎ.4947/2538

2.5 ฟ้องแย้งบุคคลอื่นที่ไม่ใช่โจทก์ในคดี

ฟ้องแย้ง ฟ้องได้เฉพาะตัวโจทก์เท่านั้น จะไปฟ้องแย้งบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่ความไม่มีสิทธิไม่ได้ ถ้าจะทำแบบนั้นต้องใช้ลักษณะของการออกหมายเรียกเข้ามาเป็นโจทก์หรือจำเลยร่วมอีกกรณีหนึ่ง ฎ.3557/2538 ฎ9156/2539

และในทำนองเดียวกันก็ไม่สามารถฟ้องแย้ง บังคับเอากับจำเลยร่วมในคดีได้ ฎ.3045/2530

2.6 ถ้าทุนทรัพย์อยู่คนละเขตอำนาจฟ้องแย้งไม่ได้

ฟ้องเดิมอยู่ในเขตอำนาจศาลแขวง จะฟ้องแย้งทุนทรัพย์เกินกว่า 300,000 บาทไม่ได้

2.7 ฟ้องแย้งในกรณีที่ไม่จำเป็น

เช่นต่อสู้กับสัญญากู้ปลอม ถ้าหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญากู้ปลอม ก็ใช้บังคับไม่ได้อยู่แล้ว จะไปหาให้ส่งมอบมาทำลายไม่ได้ ฎ.625/2548 ฎ.4906/2542 ฎ.8525/2547

2.8 ฟ้องแย้งกรณีฟ้องเดิมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ฟ้องเดิมเป็นฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ มอบอำนาจฟ้องคดีไม่ชอบ หรือโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ในกรณีแบบนี้ถือว่าฟ้องเดิมไม่มีอยู่เลย ไม่มีสิทธิฟ้องตั้งแต่แรกดังนั้นจึงฟ้องแย้งไม่ได้

ฎ.736/2503 ฎ.2400/2523 ฎ.7265/2544

แต่ถ้าฟ้องเดิมชอบแล้วไปทิ้งฟ้อง ศาลจำหน่ายคดีก็ถือว่าฟ้องแย้งยังอยู่

เทคนิคทางปฏิบัติในการทำฟ้องแย้ง

1. แบบฟอร์มและวิธีการ

● ฟ้องแย้งต้องทำไปพร้อมคำให้การ
● ถ้าจะทำทีหลังก็ต้องยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด

https://www.youtube.com/watch?v=xybVWbUklss&t=574s

แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำควรจะทำให้เสร็จตั้งแต่ทีแรก ฎ.629/2524 (ป.)
● ใช้แบบฟอร์มคำให้การได้เลยเพียงแต่เพิ่มรายละเอียดขึ้นมา
● แบ่งแยกให้ชัดเจนเป็นข้อๆในส่วนที่เป็นฟ้องแย้ง

2. บรรยายให้ครบองค์ประกอบเหมือนกับทำคำฟ้อง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 ประกอบมาตรา 55 และมาตรา 18

กล่าวคือ ตามปวิพ ม.172 คำฟ้องจะต้องแสดงโดยแจ้งชัดถึงสภาพแห่งข้อหาคำขอบังคับและข้ออ้างที่เป็นหลักแหล่งแห่งข้อหาเช่นว่านั้น

ถ้าบรรยายไม่ชัดเจนก็อาจจะเป็นฟ้องเคลือบคลุมได้ ฎ.1499/2514

● ข้อเท็จจริงให้ชัดเจน
● โต้แย้งสิทธิตรงไหน
● ความเสียหาย
● ค่าเสียหาย
● ข้อเรียกร้อง
● คำขอบังคับ

3. คำสั่งของศาล

คู่มือปฏิบัติราชการของตุลาการส่วนวิธีพิจารณาความแพ่ง บทที่ 4 ว่าด้วยคำให้การแล้วฟ้องแย้งหน้า ที่ 56

https://anyflip.com/zhvkw/behu/basic/151-200

3.1 รับเป็นคำให้การและฟ้องแย้ง

ทางปฏิบัติศาลจะทำเป็นคำสั่งว่า “รับคำให้การและฟ้อง ส่งสำเนาและหมายเรียกโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งตามข้อบังคับว่าด้วยการส่งคำคู่ความและเอกสารทางคดี พ.ศ.2545 ให้จำเลยวางเงินค่าใช้จ่ายในการจัดส่งภายในวันทำการถัดไปมิฉะนั้นจะถือว่าทิ้งฟ้องแย้ง “

● เสียค่าธรรมเนียมศาลเหมือนคดีแพ่งปกติ
● ต้องวางค่านำส่งหมายให้กับฝ่ายโจทก์ด้วย
● ถ้าฝ่ายโจทก์ไม่ยื่นคำให้การจะต้องยื่นคำร้องขอชนะคดีโดยขาดนัดด้วย

3.2 รับเฉพาะคำให้การไม่รับฟ้องแย้ง

“รับคำให้การ สำเนาให้โจทก์ นัดชี้สองสถานตามที่กำหนดไว้เดิมส่วนฟ้องแย้งของจำเลยนั้นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมไม่รับฟ้องแย้งคืนค่าขึ้นศาลให้กับจำเลยทั้งหมด”

ให้ไปแยกฟ้องต่างหากหรือสั่งไม่รับเลยก็ได้

● รับคำให้การและยกฟ้องแย้ง

● ไม่รับคำให้การและฟ้องแย้ง

4. ทำยังไงเมื่อศาลไม่รับฟ้องแย้ง

คำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง ไม่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาและสามารถอุทธรณ์ได้ทันทีสามารถขยายและเวลาและยื่นอุทธรณ์คำสั่งได้

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 227 คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรา 18 หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องนั้น มิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณา และให้อยู่ภายในข้อบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี

ตัวอย่างฟ้องแย้ง

ตัวอย่างแรกคดีผิดสัญญาว่าจ้าง
คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
แต่เดิมจำเลยที่ 1 เคยเป็นคู่ค้าและใช้บริการของโจทก์ มาเป็นเวลาหลายปี จำเลยที่ 1 เคยซื้อเครื่องจักรผลิตน้ำแข็งจากโจทก์ มาในปี พ.ศ. 2551
ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีโครงการที่จะขยายโรงงานผลิตน้ำแข็ง จำเลยที่ 1 จึงมีความประสงค์ที่จะซื้อเครื่องจักรผลิตน้ำแข็งเครื่องใหม่อีก 1 เครื่องจากโจทก์ โดยเป็นเครื่องจักรคล้ายรุ่นเดิมที่เคยซื้อจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงติดต่อขอซื้อเครื่องจักรจากโจทก์ ในเดือนมิถุนายน 2559
โจทก์ตกลงขายเครื่องจักรและทำสัญญาซื้อขายเครื่องจักรกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่ามัดจำเครื่องจักรบางส่วนเป็น จำนวนเงิน 2,175,000 บาท ให้กับโจทก์ไปแล้วในเดือนมิถุนายน 2559 รายละเอียดปรากฎตามสัญญาซื้อขายอุปกรณ์เลขที่ SARA-59/02-PAT ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1
ต่อมาโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาและไม่ยอมส่งมอบเครื่องจักรที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อตามสัญญา จนเวลาล่วงเลยไปนาน จำเลยได้ทวงถามกับโจทก์หลายครั้ง โจทก์ก็บ่ายเบี่ยงจนสุดท้ายโจทก์ได้แจ้งกับจำเลย ที่1 ว่า โจทก์ไม่สามารถนำเครื่องจักรผลิตน้ำแข็งมาส่งมอบให้ได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยที่ 1 จึงแจ้งให้โจทก์นำเงินจำนวน 2,175,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระเป็นค่ามัดจำเครื่องจักรไปแล้ว กลับคืนมาให้จำเลยที่ 1แต่โจทก์ โดยนายท. กรรมการบริษัทโจทก์ แจ้งว่า ไม่สามารถนำเงินมาคืนให้ได้
ทั้งนี้แต่เดิมบริษัทโจทก์มีการบริหารงานโดยภรรยาและญาติภรรยาของโจทก์ ซึ่งทำงานกับจำเลยที่ 1 มาด้วยดีไม่เคยมีปัญหา ทำให้จำเลยที่ 1 ไว้วางใจ จึงยินยอมมอบเงินมัดจำเครื่องจักรเป็นจำนวน 2 ล้านกว่าบาทตามที่ระบุไว้ในสัญญาให้กับโจทก์เพื่อเป็นค่ามัดจำเครื่องจักร แต่ปรากฎว่าเมื่อ นายท.มาเป็นผู้บริหารงานบริษัทโจทก์ ซึ่งปรากฏว่านายท. ได้มีการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพและมีปัญหาจึงไม่สามารถส่งมอบเครื่องจักรให้กับจำเลยที่ 1 ได้
โจทก์ โดยนายทวีสิทธิ์ได้มาขอร้องจำเลยที่ 1 ว่าไม่มีเงินคืนให้กับจำเลยที่ 1 จริงๆและขอร้องให้อย่าฟ้องร้องดำเนินคดีกับโจทก์และนายทวีสิทธิ์ และขอเปลี่ยนแปลงเป็นว่า เงินจำนวน 2,175,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระมานั้นขอเปลี่ยนเป็นค่าซ่อมเครื่องจักรเครื่องเก่า โดยในการซ่อมเครื่องจักรของโจทก์นั้น โจทก์จะหักค่าซ่อมเครื่องจักรเครื่องเก่า จากเงินจำนวน 2,175,000 บาท ที่โจทก์รับไปแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีทางเลือกเพราะมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรในการทำงานผลิตสินค้า และรู้ว่าถึงฟ้องร้องดำเนินคดีไปโจทก์ก็จะไม่มีเงินคืนให้เพราะนายท.มีการบริหารงานที่แย่กว่าผู้บริหารรุ่นก่อน เนื่องจากติดการพนัน ทำให้บริษัทโจทก์ รวมทั้งตัวนายท.ไม่มีทรัพย์สินใดๆ จำเลยที่ 1 จึงยินยอมให้โจทก์โดยนายท. มาดำเนินการซ่อมเครื่องจักรเครื่องเก่าให้กับโจทก์ โดยหักค่าซ่อมจากเงินมัดจำเครื่องจักร 2,175,000 บาท ที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 1 ไปแล้ว ซึ่งได้มีการหักเงินค่ามัดจำที่โจทก์ได้รับไป กับค่าซ่อมมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับตลอดมา
แต่ปรากฏว่า เมื่อโจทก์ โดยนายท.มาดำเนินการซ่อมเครื่องจักรให้กับจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์กลับใช้วิธีอันไม่สุจริต มีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขค่าซ่อมให้แพงเกินกว่าความจริงเพื่อให้ยอดเงินที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยหมดไปโดยเร็ว ซึ่งค่าซ่อมในครั้งต่อๆมานั้นเป็นตัวเลขค่าซ่อมที่สูงกว่าครั้งก่อนๆเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในครั้งที่โจทก์มายื่นฟ้องนี้ ถึงกับได้ทำใบเสนอราคาปลอม ซึ่งขัดแย้งกับใบเสนอราคาตัวจริงที่โจทก์ส่งให้จำเลยที่ 1 ในเดือน กันยายน 2562 ซึ่งในส่วนนี้จำเลยที่ 1มีพยานหลักฐานชัดเจนและจะนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป
โดยการกระทำของโจทก์ที่คำนวณค่าซ่อมมา ใน วันที่ 27 กันยายน 2562 เป็นเงินสูงถึง 1,163,480 บาท โดยค่าซ่อมดังกล่าว โจทก์ไม่เคยเสนอให้กับจำเลยที่ 1 อนุมัติ และเป็นเอกสารปลอม เนื่องจาก ความจริงแล้วค่าใช้จ่ายในการซ่อมรวมค่าแรงครั้งนี้จะไม่สูงถึงจำนวนดังกล่าว
กล่าวคือ ในการซ่อมเครื่องจักเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 โจทก์ได้มีการเสนอราคา การซ่อมเครื่องดังกล่าวในราคา 779,024.50 บาท และเมื่อการซ่อมเสร็จสมบูรณ์แล้ว โจทก์ได้หักค่าซ่อมนี้ออกจากเงินมัดจำเครื่องจักร 2,175,000 บาท ที่โจทก์ได้รับเงินจำนวนนี้ไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2559
และเพื่อเป็นการแสดงว่า โจทก์ได้รับเงินค่าซ่อมไปเรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงได้ออกใบเสร็จรับเงิน เลขที่ 62015 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2562 และใบกำกับภาษีเลขที่ 62015 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2562 มาให้จำเลยไว้เป็นหลักฐานว่าได้มีการชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเอกสารใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีนี้ จำเลยที่ 1 ได้นำส่งกรมสรรพากรตามกฎหมายเรียบร้อยแล้วในปี 2562 ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3
ดังนั้นการที่โจทก์อ้างตัวเลขค่าซ่อม ในวันที่ 27 กันยายน 2562 เป็นจำนวนเงิน 1,163,480 โดยอ้างเอกสารใบเสนอราคาปลอม มาส่งศาล และกล่าวหาว่าจำเลยยังไม่ได้ชำระค่าซ่อม จึงเป็นการนำความเท็จมากล่าวหาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต และจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในยอดเงินดังกล่าว เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่าซ่อมที่ตกลงกันไว้ตามความเป็นจริง คือ 779,024.50 บาท ไปแล้ว ด้วยการหักออกจากเงินที่โจทก์จะต้องคืนให้กับจำเลยที่ 1
นอกจากนี้โจทก์ยังมีหน้าที่ต้องชำระค่าเสียหายให้กับจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์ผิดสัญญา ดังต่อไปนี้
1. ค่าปรับเนื่องจากทำผิดสัญญาซื้อขายอุปกรณ์ เลขที่ SARA-59/02-PAT
จำนวนเงินค่าปรับ 362,500 บาท ซึ่งมีการระบุไว้ในสัญญาหากมีการทำผิดสัญญา
2. ค่าเสียโอกาสในการผลิตน้ำแข็งจำหน่ายเป็นจำนวนเงิน 750,000 บาท
3. เงินที่โจทก์ได้รับไปจากสัญญาซื้อขายเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 และยังไม่ได้หักจากค่าซ่อม จำนวน 44,975 บาท
ด้วยเหตุดังที่ได้อธิบายมาข้างต้น จำเลยที่ 1 ขอประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพ จึงขอศาลที่เคารพโปรดพิพากษายกฟ้องโจทก์ เสียทั้งสิ้นและจำเลยที่ 1 ขอถือเอาคำให้การฉบับนี้เป็นฟ้องแย้งขอเรียกให้โจทก์ชำระเงินจำนวน รวม 1,157,475 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความอย่างสูงแทนจำเลยที่ 1
ควรไม่ควรแล้วแต่จะโปรด

ตัวอย่างที่ 2 คดีที่ดิน
คำให้การและฟ้องแย้ง
นายว. สามีของโจทก์ เป็นบุตรของนางต.ซึ่งนางต.มีฐานะเป็นทายาทของนางถ. และนางต. ได้รับมรดกของนางภ.ในส่วนของตนเองไปครบถ้วนแล้ว นายว. จึงไม่มีสิทธิ์ใดๆในที่ดินพิพาทอีกต่อไปรายละเอียดจำเลยทั้งสามจะนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป
นายว.และโจทก์ ไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวาตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ด้วยความสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของแต่อย่างใด โดยแต่เดิมก่อนที่จะได้มีการแบ่งที่ดินมรดกของนางแถม ออกเป็นสัดส่วนนั้น นายว.ได้ขออาศัยบรรพบุรุษและทายาทคนอื่นๆอยู่ในที่ดินส่วนดังกล่าวเป็นการชั่วคราว
กล่าวคือแต่เดิม เมื่อประมาณปีพ.ศ 2537 นายว.ได้มาปลูกบ้านในที่ดิน โฉนดเลขที่ …. ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 2 งาน 38 ตารางวา ซึ่งในขณะนั้นที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของ ของนางถ.และนายผ. แต่ในปีพ.ศ. 2537 นั้น นางถ.ได้ถึงแก่ความตายไปก่อนหน้านั้นกว่า 60 ปีแล้ว และทายาทยังไม่ได้มีการแบ่งมรดกของนางแถมออกเป็นสัดส่วนกัน นายว.ได้มาขออาศัย นายผ. และทายาทคนอื่นๆปลูกบ้านอยู่ในที่ดินชั่วคราวเนื่องจากขณะนั้นยังไม่ได้มีการแบ่งแยกที่ดินเป็นสัดส่วนแต่อย่างใด
ต่อมา บรรดาทายาทต้องการจะจัดแบ่งทรัพย์มรดกของนางแถมกันจึงได้มีมติให้นายเผื่อ ไปยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของนางถ. โดยขอให้แต่งตั้ง ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก ของนางถ.
ภายหลังเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่1 เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2540 จำเลยที่ 1ได้ทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินในส่วนของนางถ.  ออกเป็น 4 แปลง เพื่อแบ่งให้แก่ทายาททุกฝ่าย คือที่ดินโฉนดเลขที่ …. ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นแปลงพิพาทในคดีนี้ และที่ดินโฉนดเลขที่ …. …. ….  ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
ซึ่งในส่วนของนางต. มารดาของนายว.สามีโจทก์นั้น ได้รับส่วนแบ่งเป็นที่ดินในส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ …. ซึ่งรายละเอียดจำเลยทั้งสามจะนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป
และในส่วนของที่ดินพิพาทคดีนี้คือที่ดินโฉนดเลขที่ ….. ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ตกได้แก่ทายาทคนอื่นๆของนางถ. แต่ปรากฏว่าขณะนั้นมีบ้านของจำเลยปลูกอยู่เนื่องจากได้ปลูกไว้ก่อนที่จะมีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินออกเป็นสัดส่วน
โดยในขณะนั้นทายาทคนอื่นซึ่งมีสิทธิ์ได้รับมรดกในส่วนของในที่ดินโฉนดเลขที่ …. ยังไม่ได้มีความจำเป็นจะใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ประกอบกับนายว.สามีของโจทก์ได้ไปขอร้องนายผ. และทายาทคนอื่นๆว่าขออยู่อาศัยในที่ดินต่อไปก่อนหากยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ นายผ.และทายาทคนอื่นๆของนางถ.ซึ่งได้สิทธิ์ในที่ดินส่วนดังกล่าวจึงได้ให้นายวิ. สามีโจทก์อาศัยอยู่ในที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 99041 เป็นการชั่วคราวไปก่อน ซึ่งในการรังวัดที่ดินเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2540 นายว. สามีโจทก์ซึ่งพักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท หรือนางต. มารดาของนายว. ซึ่งขณะนั้นยังมีชีวิตอยู่ เองก็รับรู้และรู้เห็นด้วยแต่มิได้โต้แย้งคัดค้านว่าตนเองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด และตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีเศษ นายว.เองก็ไม่เคยมาเรียกร้องสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวแต่อย่างใดเพราะเข้าใจดีว่าตนเองเพียงแต่อาศัยสิทธิ์อยู่เป็นการชั่วคราวเท่านั้น รายละเอียดจำเลยทั้งสามจะนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ในการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ …. ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 เพื่อทำการ รังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ …. แบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อยอีก 7 แปลง โจทก์เองก็รับทราบและรู้เห็นในการรังวัดตลอดมาและมิได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใดเพราะทราบดีว่าตนเองและสามีเพียงแต่ขออาศัยสิทธิ์ อยู่ในที่ดินแปลงพิพาทเพียงชั่วคราวเท่านั้น
ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิ์ใดๆในที่ดินพิพาท และโจทก์จึงไม่มีสิทธิ์ และไม่มีอำนาจสองฟ้องขอเพิกถอน นิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 และนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 และนิติกรรมการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1
การทำนิติกรรมซื้อขาย ที่ดินโฉนดเลขที่ …. และ …. ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 และ ระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว ไม่ได้เป็นการทำกลฉ้อฉลหรือเจตนาลวงแต่อย่างใด
ปัจจุบันจำเลยที่2-3 ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ไม่มีความประสงค์ให้โจทก์และบริวารอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไป จำเลยทั้งสามจึงถือเอาคำให้การฉบับนี้เป็นฟ้องแย้ง ขอศาลที่เคารพโปรดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้โจทก์และบริวารรื้อถอนขนย้ายบ้านพิพาทออกจากที่ดินและห้ามโจทก์และบริวารห้ามยุ่งเกี่ยวกับที่ดินของจำเลยที่2-3อีกต่อไป รวมทั้งชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดิน โดยที่ดินแปลงดังกล่าวหากนำออกให้เช่าจะได้ราคาค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาทจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงขอเรียกร้องค่าเสียหายเป็นอัตรารายเดือนเดือนละ 20,000 บาท บาท
ด้วยเหตุผลดังจำเลยทั้งสามประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพจึงขอศาลที่เคารพพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียทั้งสิ้นและโปรดมีคำพิพากษาให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในอัตราอย่างสูงแทนจำเลยทั้งสามและมีคำพิพากษาบังคับตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามต่อไป

สรุป

การทำฟ้องแย้งเป็นกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่ง ที่หากทำให้ถูกที่ถูกเวลาก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำงาน ทำให้คดีจบไปโดยรวดเร็วไม่ต้องไปฟ้องร้องในคดีใหม่ ดังนั้นลองเอาไปปรับใช้กันดูครับ

Express your opinion about this article

comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น