บทความกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง

“ฟ้องซ้อน” (ป.วิ.พ.มาตรา173) ข้อกฎหมาย – ทางปฏิบัติ l srisunglaw

ฟ้องซ้อนคืออะไร เดี๋ยวผมจะมาอธิบายข้อกฎหมายเรื่องฟ้องซ้อนให้ฟังกันแบบละเอียด แล้วก็เข้าใจง่ายๆ พร้อมทั้งสอดแทรกเทคนิคแล้วก็ทางปฏิบัติในการทำงานให้ฟังกันครับ

ฟ้องซ้อนคืออะไร

หลักกฎหมายเรื่องฟ้องซ้อน เป็นหลักกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ ป้องกันไม่ให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกันโดยไม่จำเป็น

ถ้ามีการฟ้องร้องคดีในประเด็นอะไรกันอยู่แล้ว ก็ควรที่จะให้ศาลที่รับไว้พิจารณาเป็นคนตัดสินคดีนั้นตั้งแต่เริ่มจนจบ

ไม่ควรจะเอาเรื่องราวที่ศาลกำลังจะพิจารณาอยู่มาฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ให้มันซ้ำซ้อนอีก

เพราะถ้าปล่อยให้ทำอย่างนั้นได้ มันจะเกิดผลเสียหลายอย่างเลยครับ เช่น

1.สิ้นเปลืองเวลาและกำลังคนกำลังทรัพย์ของทุกฝ่าย
2.ผลคดีอาจจะออกมาแตกต่างกัน ทั้งที่ข้อเท็จจริงเดียวกัน

“ดังนั้นกฎหมายเลยห้ามว่าถ้ามีคดีเดียวกันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่ ห้ามไม่ให้เอาเรื่องเดียวกันมาฟ้องเป็นอีกคดี”

โดยหลักกฎหมายเรื่องฟ้องซ้อนเอามาใช้ได้ทั้งในคดีแพ่งแล้วก็คดีอาญาเลย  ตามป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.728/2519

ข้อกฎหมาย

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 เมื่อศาลได้รับคำฟ้องแล้ว ให้ศาลออกหมายส่งสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยเพื่อแก้คดี และภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันยื่นคำฟ้อง ให้โจทก์ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายนั้น

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้

ตัวอย่างคำพิพากษา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 728/2519
โจทก์ฟ้องจำเลยว่าเปรียบเทียบปรับ ร. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อช่วย ร. ให้รับโทษน้อยลง คดีแรกโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยขัดข้องไม่ส่งสำนวนการสอบสวนต่อศาล คดีหลัง โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเปรียบเทียบปรับโดยไม่มีอำนาจ คดีหลังนี้โจทก์ฟ้องระหว่างที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีแรก ดังนี้ อนุโลมใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ได้ เป็นฟ้องซ้อน ศาลไม่รับฟ้องคดีหลัง

ผลของการฟ้องซ้อน

ถ้าศาลตรวจจับเห็นการฟ้องซ้อนศาลจะต้องยกฟ้องในคดีหลังที่ฟ้องมาโดยไม่มีสิทธิเสมอครับ ไม่ว่าคู่ความฝ่ายตรงข้ามจะยกขึ้นมาต่อสู้เป็นประเด็นหรือไม่

ศาลพบเห็นข้อเท็จจริงตรงนี้ตอนไหนก็ต้องยกฟ้องตอนนั้นเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นชั้นตรวจฟ้อง ชั้นพิจารณา ไปจนถึงชั้นอุทธรณ์-ฎีกา

เพราะข้อกฎหมายเรื่องฟ้องซ้อนเนี่ย ถือเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลสามารถหยิบยกเอามาวินิจฉัยได้ตลอดเวลา ฎ.2977/2526 ,2520/2530 , 471/2541

ดังนั้นเรื่องฟ้องซ้อน ถ้าหยิบยกมาวินิจฉัยเร็วก็จะประหยัดเวลาทุกฝ่ายครับ แต่ถ้าศาลชั้นต้นหรือจำเลยไม่หยิบยกมาให้ถูกเวลาก็อาจจะต้องเสียเวลากว่าที่ศาลสูงจะมาพิจารณายกฟ้องด้วยเหตุฟ้องซ้อนทีหลัง

เพราะฉะนั้นหากเราเป็นฝ่ายจำเลย หากมีข้อเท็จจริงอะไรที่จะชี้ให้เห็นว่าเป็นการฟ้องซ้อนก็ต้องรีบยื่นพยานหลักฐานทำคำร้องเสนอศาลไป ไม่ว่าจะผ่านทางคำให้การ หรือทำคำร้องขอวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นครับ

ตัวอย่างคำพิพากษา

คำพิพากษาฎีกาที่ 6383/2550

ปัญหาเรื่องฟ้องซ้อนหรือไม่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องชอบที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหานี้ไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้ก่อนได้

ทำไมคนเราถึงฟ้องซ้อนกัน

ธรรมดาแล้วเนี่ยคนเรา เขาไม่อยากจะฟ้องซ้อนให้เสียเงินเสียเวลาหรอกครับ คงไม่มีใครตั้งใจฟ้องทั้งๆที่รู้ว่าศาลจะต้องยกฟ้องเพราะฟ้องซ้อน

แต่ส่วนใหญ่แล้วที่ฟ้องซ้อนกันเนี่ยมันเป็นเพราะเหตุผลดังต่อไปนี้ครับ

● ฟ้องคดีแรกผิด หรือเรียกร้องอะไรไปไม่ครบ ก็เลยจะยื่นฟ้องใหม่เป็นอีกเรื่องนึง
● ผู้มีสิทธิอาศัยสิทธิเดียวกัน แต่แยกฟ้องกันไปคนละคดี
● คดีแรกทำท่าจะไม่ดี เลยอยากตั้งเรื่องฟ้องใหม่
● ตั้งใจแยกฟ้องหลายเรื่อง เพราะเจตนาไม่ค่อยดี
● เข้าใจว่าคดีเดิมจบแล้ว ศาลสั่งยกฟ้อง จำหน่ายคดี ทิ้งฟ้อง ก็เลยไปฟ้องใหม่ แต่ปรากฏว่ายังมีการอุทธรณ์อยู่

เหตุผลต่างๆเหล่านี้เป็นเหตุผลที่พบบ่อยที่ทำให้มีการฟ้องซ้อน โดยเข้าใจผิดว่าตัวเองมีสิทธิฟ้องครับ ดังนั้นถ้าเราเป็นฝ่ายโจทก์ก็ต้องระมัดระวังอย่าให้พลาด ในประเด็นต่างๆเหล่านี้ครับ

หลักเกณฑ์การพิจารณาเรื่องฟ้องซ้อน

หลักในการพิจารณาว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีฟ้องซ้อนหรือเปล่ามีหลักอยู่ 3 ข้อจำง่ายๆครับ

1. มีคำฟ้องคดีแรกยังค้างอยู่ในศาล
2. มีการฟ้องใหม่โดยคู่ความเดียวกัน
3. คดีที่ฟ้องใหม่นั้นเป็นเรื่องเดียวกัน

หลักเกณฑ์ที่ 1 คำฟ้องคดีแรกยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

“คำฟ้อง”

มีทั้งคำฟ้องแบบแท้ๆ กับสิ่งที่เป็นเสมือนคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. ม.1

อะไรก็ตามที่เป็นการเสนอข้อหา โดยอาศัยการโต้แย้งสิทธิ การป.วิ.พ. มาตรา 55 ก็ถือว่าเป็นคำฟ้องทั้งนั้นถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบคำฟ้อง

ตัวอย่างเช่น

● คำร้องขอ ฎ.6066/2546
● คำคัดค้านและขอตั้งผู้จัดการมรดก ฎ.2214/2549 ฎ.371/2536
● คำร้องสอด ฎ.3129/2524 ฎ.122/2542 ฎ.8995/2545
● ฟ้องแย้ง ฎ.1673/2517 ฎ.3786/2546
● คำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ฎ.7603/2548
● คำร้องขัดทรัพย์ ฎ.864/2530

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 1 (3) “คำฟ้อง” หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาลไม่ว่าจะได้เสนอด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือ ไม่ว่าจะได้เสนอต่อศาลชั้นต้น หรือชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ไม่ว่าจะได้เสนอในขณะที่เริ่มคดีโดยคำฟ้องหรือคำร้องขอหรือเสนอในภายหลังโดยคำฟ้องเพิ่มเติมหรือแก้ไข หรือฟ้องแย้งหรือโดยสอดเข้ามาในคดีไม่ว่าด้วยสมัครใจ หรือถูกบังคับ หรือโดยมีคำขอให้พิจารณาใหม่

“ศาล”

ไม่ว่าคดีที่ฟ้องนั้นจะอยู่คนละศาลกัน ก็เป็นฟ้องซ้อน เช่น

● คนละเขตอำนาจศาล
● เป็นคดีแพ่งอย่างเดียวกับคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
● ศาลธรรมดากับศาลชำนาญพิเศษ

มาตรา 1 ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

(1) “ศาล” หมายความว่า ศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษาที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง

“อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี”

คำว่าคดีอยู่ในการพิจารณา เริ่มนับตั้งแต่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล คือถือเอาคำฟ้องไปยื่นกับเจ้าพนักงานศาลแล้วเจ้าพนักงานศาลปั๊มรับ ทั้งนี้ตามป.วิ.แพ่งมาตรา 1 (2)

ถึงแม้ว่าศาลจะยังไม่มีคำสั่งรับฟ้อง อยู่ในชั้นตรวจคำฟ้อง ในชั้นขอยกเว้นค่าธรรมเนียม ก็ถือว่าคดีอยู่ในการพิจารณาแล้ว ฎ38525/2538

มาตรา 1 ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
(2) “คดี” หมายความว่า กระบวนพิจารณานับตั้งแต่เสนอคำฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้รับรอง คุ้มครองบังคับตามหรือเพื่อการใช้ซึ่งสิทธิหรือหน้าที่

สิ้นสุดการพิจารณาตอนไหน ?

การพิจารณาเริ่มตั้งแต่มีการยื่นฟ้องและจะไปสิ้นสุดเมื่อศาลชี้ขาดตัดสินหรือจำหน่ายคดีโดยคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามป.วิ.พ ม.1 (8)

ดังนั้นจะถือว่าคดีสิ้นสุดการพิจารณาเมื่อ

● ศาลไม่รับฟ้อง
● จำหน่ายคดีออกจากระบบ
● ทิ้งฟ้อง
● ถอนฟ้อง
● ศาลมีคำพิพากษา

มาตรา 1 ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
(8) “การพิจารณา” หมายความว่า กระบวนพิจารณาทั้งหมดในศาลใดศาลหนึ่งก่อนศาลนั้นชี้ขาดตัดสินหรือจำหน่ายคดีโดยคำพิพากษาหรือคำสั่ง

ถ้ายังอุทธรณ์-ฎีกาอยู่จะเป็นอย่างไร

ถ้าศาลไม่รับฟ้อง จำหน่ายคดี ทิ้งฟ้อง ถอนฟ้อง มีคำพิพากษาแล้ว แต่คดีมันยังไม่ถึงที่สุดฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลยยังยื่นอุทธรณ์อยู่

เอาคดีไปฟ้องใหม่ก็ถือว่าเป็นฟ้องซ้อนนะครับ ฎ.2588/2523 ฎ.3132/2549 ฎ.2622/2516 ฎ.1068/2517

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าอยู่ในระยะเวลาอุทธรณ์ แต่หากไม่มีคู่ความอุทธรณ์ก็ยังไม่ถือว่าเป็นฟ้องซ้อน ฎ.2606-2616/2529 ฎ.5364/2538

คำพิพากษาฎีกาที่ 2807/2550
คำว่าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง นั้น หมายความว่าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็ได้ แม้จำเลยจะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาในคดีก่อนของศาลชั้นต้นโดยโต้แย้งเรื่องศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี แต่เมื่อคดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาก็ถือว่าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา จำเลยจึงไม่อาจนำคดีเรื่องเดียวกันมาฟ้องอีกได้ ฟ้องแย้งของจำเลยย่อมเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามมาตรา 173 วรรคสอง (1)

เล่าทางปฏิบัติให้ฟังเพราะเป็นเรื่องที่พลาดกันบ่อยๆ เป็นเทคนิคทางปฏิบัติ

หลักเกณฑ์ที่ 2 มีการฟ้องใหม่โดยคู่ความเดียวกัน

● โจทก์และจำเลยคนเดียวกัน

การจะเป็นฟ้องซ้อนโจทก์กับจำเลยจะต้องเป็นคนเดียวกัน ในทั้ง 2 คดี

การห้ามในหลักฟ้องซ้อนห้ามเฉพาะโจทก์ฟ้องจำเลย ไม่ได้ห้ามจำเลยฟ้องโจทก์ด้วย ฎ.2579/2525 ฎ.288/2536

แต่ในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์หรือโจทก์ฟ้องจำเลย หากคดีใดคดีหนึ่งมีคำพิพากษาไปก่อน อีกคดีหนึ่งอาจจะเป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำได้ ฎ.817/2519 ฎ.2579/2525

แต่ถ้าในคดีแรกยังไม่มีคำพิพากษา จำเลยยื่นฟ้องโจทก์ได้เสมอ แต่โจทก์ห้ามฟ้องจำเลย

● โจทก์ต่างคนแต่ใช้สิทธิเดียวกัน

พนักงานอัยการกับผู้เสียหาย

ในคดีบางข้อหาพนักงานอัยการมีสิทธิ์ยื่นคำขอส่วนแพ่งให้จำเลยชดใช้หรือคืนทรัพย์สินให้กับผู้เสียหายได้ถ้าผู้เสียหายมาใช้สิทธิ์ซ้ำซ้อนกับพนักงานอัยการ ด้วยการยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งก็อาจจะเป็นฟ้องซ้อนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1984/2536
ก่อนฟ้องคดีนี้ พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1ในคดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลแขวง ในฐานความผิดฐานยักยอกทรัพย์ กับมีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายซึ่งขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และเป็นโจทก์ในคดีนี้ เงินจำนวนตามคำขอดังกล่าวเป็นรายเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องและมีคำขอบังคับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้โดยโจทก์ยื่นฟ้องในระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาดังกล่าว จึงเป็นที่เห็นได้ว่าคำขอบังคับของโจทก์ในคดีนี้กับคำขอส่วนแพ่งในคดีอาญาดังกล่าว เป็นเรื่องเดียวกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาดังกล่าว อันต้องห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา173 วรรคสอง(1) ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนหรือไม่ เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
แต่ถ้าเกิดยื่นฟ้องดอกเบี้ย หรืออาศัยสิทธิในส่วนอื่นก็ไม่เป็นฟ้องซ้อน

ป.วิ.อ.43

ฎ.12414/2547 / ฎ.977/2550

ผู้จัดการมรดกกับทายาท

ป.พ.พ.1736 ฎ.2588/2523

ทายาทกับทายาท

ป.พ.พ.1359 ฎ.484/2553 ฎ.3146/2533

แต่ก็ต้องดูลักษณะคดีด้วยว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทายาททุกคนไหม หรือเป็นการฟ้องโดยใช้สิทธิ์เฉพาะตัวประโยชน์เฉพาะตัว ฎ.3146/2533 ฎ.6641/2548

เจ้าของรวมในทรัพย์สิน

ป.พ.พ.1359 / ฎ.966/2518 ฎ.2952/2524

แต่ก็ต้องดูลักษณะคดีด้วยว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเจ้าของทุกคนด้วยไหม หรือเป็นการฟ้องโดยใช้สิทธิ์เฉพาะตัวหรือประโยชน์เฉพาะตัว ฎ.1968-1969/2529

คู่สมรสฟ้องเกี่ยวกับสินสมรส
หุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน
ผู้แทนโดยชอบธรรมฟ้องคดีแทนผู้เยาว์
ผู้อนุบาลฟ้องคดีแทนคนไร้ความสามารถ
เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ฎ.1577/2548

หลักเกณฑ์ที่ 3 คดีก่อนและหลังเป็นเรื่องเดียวกัน

การที่จะเป็นฟ้องซ้อนนั้น เนื้อหาในฟ้องทั้ง 2 คดีจะต้องเป็นเรื่องเดียวกัน

การจะพิจารณาว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากหลักโต้แย้งสิทธิ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 และหลักการฟ้องคดีตามมาตรา 172

ทั้งนี้เพราะว่าการที่จะดูว่ามีอำนาจฟ้องไหมก็ต้องไปดูหลักโต้แย้งสิทธิตามมาตรา 55 รายการที่จะเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องไปดูหลักการบรรยายฟ้องตามมาตรา 172

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 55 เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 172 ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 57 ให้โจทก์เสนอข้อหาของตนโดยทำเป็นคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้น
คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น

มีหลักในการพิจารณา”เรื่องเดียวกัน” โดยสังเขปคือ

● ข้อหา
● สภาพแห่งข้อหา (ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด)
● คำขอบังคับ
● ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง

1. สภาพข้อหา

คำว่าข้อหาพูดง่ายๆก็คือเรื่องที่ฟ้องนั่นแหละครับ มาฟ้องเรื่องอะไรเป็นข้อกฎหมายเรื่องไหน

เช่นเรื่อง ฟ้องหย่า ฟ้องชู้ ผิดสัญญา ละเมิด มรดก ตัวแทน

ถ้าคดีแรกกับคดีหลัง เป็นการฟ้องในข้อหาเดียวกัน ก็มีโอกาสที่จะเป็นฟ้องซ้อนครับแต่ก็ไม่เสมอไป

ฝ่ายโจทก์อาจจะฟ้องเรื่องเดียวกันแต่ไม่เป็นฟ้องซ้อนได้ด้วยหลายกรณี

จะต้องพิจารณาอีก 2 อันประกอบด้วยคือ สภาพแห่งข้อหา กับคำขอบังคับ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมากกว่าสภาพข้อหา

2. ข้ออ้างอันเป็นหลักแหล่งของข้อหา

คำว่าข้ออ้างอันเป็นหลักแหล่งของข้อหา หมายความว่าในเรื่องนั้นน่ะที่เราฟ้องเขา ที่มาที่ไปของเรื่องเป็นยังไง ทำไมถึงไปฟ้องเขาอาศัยสิทธิ์อะไร อาศัยข้อกฎหมายตรงไหนมีพยานหลักฐานอะไรบ้าง

ข้ออ้างที่เป็นหลักแหล่งของข้อหานั้น และเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในมุมมองของผมนะครับ

ถึงแม้ว่าข้อหาเดียวกัน มีคำขอบังคับเหมือนกัน ทรัพย์สินเดียวกัน แต่หากว่าสภาพแห่งข้อหาเป็นคนละเรื่องกันก็อาจจะไม่เป็นฟ้องซ้อนก็ได้

ดังนั้นมูลฐานหรือเหตุที่ใช้ฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่าจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ตัวอย่างเช่น

ฟ้องเรื่องผิดสัญญาเป็นข้อหาผิดสัญญาเหมือนกัน สภาพข้อหาแรกเป็นการฟ้องขอให้บังคับปฏิบัติตามสัญญา ส่วนสภาพข้อหาอย่างที่ 2 ขอให้รับผิดเมื่อเลิกสัญญาแล้วไม่เป็นฟ้องซ้อน

ฎ.3317/2542.365/2519 , ฎ.1091-1092/2537 ฎ.2960/2537 ฎ.4439/2540

และถ้าข้ออ้างที่เป็นหลักแหล่งแห่งข้อหาหรือเรื่องนั้น ถ้าเป็นเหตุเป็นเรื่องที่ปรากฏขึ้นใหม่ภายหลังจากฟ้องแรกเกิดขึ้นแล้ว เป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระกัน จะถือว่าไม่เป็นฟ้องซ้อนเสมอ

ตัวอย่างเช่น

– ฟ้องหย่าเรื่องนึงแล้ว ต่อมามีเหตุใหม่ปรากฏ จึงฟ้องมาเป็นอีกเรื่องนึงด้วยเหตุใหม่ก็ไม่เป็นฟ้องซ้อน ฎ.2143/2523

– ฟ้องชู้เรื่องนึงแล้ว ต่อมามีเหตุใหม่ปรากฏจึงมาฟ้องเป็นอีกเรื่องหนึ่งก็ไม่เป็นฟ้องซ้อน

– ฟ้องละเมิดต่างคราวต่างเหตุกัน ฎ.4175/2528

– เป็นการฟ้องเรียกเงินคนละงวด เช็คคนละฉบับ ฎ.2960/2537

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 316/2511 คำพิพากษาฎีกาที่ 7890/2551 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9201/2551

แต่ว่าถ้าข้ออ้างอันเป็นหลักแหล่งแห่งข้อหานั้นนั้นมีอยู่แล้วในขณะยื่นฟ้องสามารถบรรยายเข้ามาได้แต่ไม่บรรยาย หรือไม่ใช้สิทธิ์เรียกร้อง กลับเอาไปฟ้องเป็นคดีใหม่มีความเสี่ยงสูงว่าจะเป็นฟ้องซ้อนครับ ฎ.2427-2428/2520

เช่น ประเด็นเรื่องฟ้องชู้ ฟ้องหย่า ฟ้องละเมิด มันมีเรื่องราวดังกล่าวรู้อยู่แล้วตั้งแต่แรกแต่ไม่บรรยายฟ้องมาทีแรก ไปแยกฟ้องไปหลายๆคดี แบบนี้ก็เป็นฟ้องซ้อนครับ

ยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7265/2544
โจทก์ฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีแพ่งคดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โดยคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกแถวพิพาทและเรียกค่าเสียหายเช่นเดียวกับคดีแพ่งคดีก่อน แต่อาศัยสัญญาเช่าตามบันทึกการต่ออายุสัญญาเช่าของปี 2533 มูลฟ้องของโจทก์คดีนี้ แม้จะอาศัยสัญญาเช่าต่างฉบับกับสัญญาเช่าที่โจทก์ฟ้องในคดีก่อน แต่สัญญาเช่าที่โจทก์อาศัยเป็นมูลฟ้องคดีนี้ได้มีอยู่แล้วในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีก่อน หาใช่เกิดขึ้นหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีดังกล่าวไม่โจทก์สามารถอ้างเหตุที่เป็นมูลฟ้องในคดีนี้เป็นมูลฟ้องในคดีก่อนแต่โจทก์ก็มิได้กระทำ เมื่อคดีนี้เป็นเรื่องฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายเช่นเดียวกัน คำฟ้องที่โจทก์ยื่นฟ้องขึ้นมาใหม่ในคดีนี้จึงเป็นเรื่องเดียวกับคดีแพ่งคดีก่อนซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาส่วนการถอนคำฟ้องที่มีผลลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องและทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 นั้น หมายถึงการถอนคำฟ้องนั้นได้ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดศาลหนึ่ง เมื่อคดีแพ่งคดีก่อนซึ่งโจทก์ขอถอนฟ้องแล้วแต่จำเลยยังอุทธรณ์และฎีกาต่อมา คดีจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ดังนี้ ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งคดีก่อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง (1) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่มี อำนาจฟ้องจำเลยก็ไม่มีฟ้องของโจทก์และตัวโจทก์ที่จำเลยจะฟ้องแย้งจำเลยไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2366 – 2367/2518
คดีแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายไม้ให้โจทก์แล้วจำเลยผิดสัญญาขอให้จำเลยชำระค่าปรับตามสัญญาเป็นค่าเสียหายให้โจทก์ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องจำเลยอีกว่าผิดสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าว ขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำให้โจทก์ ทั้งสองคดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่ามิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนี้ ฟ้องของโจกท์ในคดีแรกที่เรียกเบี้ยปรับและในคดีหลังที่เรียกเงินมัดจำนั้นมีประเด็นพิพาทอย่างเดียวกัน คือจำเลยผิดสัญญาหรือไม่ มูลเหตุที่จะฟ้องคดีทั้งสองก็เป็นกรณีที่จำเลยผิดสัญญาครั้งเดียวกัน ซึ่งโจทก์อาจฟ้องรวมกันมาได้ในคดีแรก ฉะนั้น การฟ้องเรียกเงินมัดจำในคดีหลังจึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2543/2538
คดีเดิมโจทก์ฟ้องจำเลยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นสวนยางพาราจำเลยในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ได้รับโอนที่ดินดังกล่าวแล้วนำไปจดทะเบียนจำนองขอให้บังคับให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทและจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองร่วมกับจำเลยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อ้างว่าจำเลยเข้าแย่งทำสวนยางพาราในที่ดินพิพาทระหว่างคดีและเก็บดอกผลรายได้เป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียวขอให้บังคับให้จำเลยส่งมอบรายได้ให้โจทก์ดังนี้ดอกผลรายได้จากการทำสวนยางพาราในที่ดินพิพาทก็คือค่าเสียหายอันเป็นผลเนื่องมาจากการที่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในคดีเดิมนั้นเองซึ่งค่าเสียหายดังกล่าวตามฟ้องคดีนี้ย่อมเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทสิทธิการฟ้องคดีนี้เกิดจากมูลกรณีเดียวกับข้ออ้างในคดีเดิมจึงเป็นเรื่องเดียวกันฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา173(1)

3. คำขอบังคับ

สำหรับคำขอบังคับในคดี เช่น

● ขอให้ชำระเงิน
● ขอให้โอนทรัพย์สิน
● ขอให้เพิกถอนเอกสารพินัยกรรม
● ขอให้ขับไล่ออกจากที่ดิน
● ขอให้หย่าขาด

ถือว่าเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องเอามาพิจารณาว่า เป็นการฟ้องซ้อนหรือไม่ แต่ก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นจะต้องดูสภาพข้อหาประกอบด้วยเสมอ

ถึงแม้จะเป็นข้อหาเดียวกัน มีคำขอบังคับจะเป็นอย่างเดียวกัน แต่ถ้าสภาพข้อหาเป็นคนละเรื่องกัน อันนี้ก็ไม่เป็นฟ้องซ้อน เช่น

● ฟ้องชู้คนละเหตุกัน
● ฟ้องหย่าคนละเหตุกัน
● ฟ้องเรื่องเงินคนละงวดกัน

คำพิพากษาฎีกาที่ 5867/2544

โจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นในคดีก่อน ระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าวโจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ แม้ฟ้องคดีก่อนและฟ้องคดีนี้ต่างอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาตามสัญญาซื้อขายฉบับเดียวกันก็ตาม แต่จำนวนหนี้ที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระตามคำฟ้องทั้งสองคดีเป็นคนละจำนวนกัน กล่าวคือ ฟ้องคดีก่อนโจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระราคาสินค้าร้อยละ 10 ที่จำเลยต้องชำระในวันทำสัญญาและราคาสินค้าที่ต้องผ่อนชำระงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 8ส่วนฟ้องคดีนี้โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระราคาสินค้าที่ต้องผ่อนชำระงวดที่ 9 ถึงงวดที่ 12 และราคาน้ำยาเคมีที่ใช้สำหรับทางการแพทย์ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระเมื่อโจทก์เสนอคำฟ้องคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงมิใช่ฟ้องเรื่องเดียวกับฟ้องคดีก่อน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน

แต่บางทีคำฟ้องเรื่องเดียวกัน สามารถฟ้องรวมกันมาได้ สามารถมีคำขอรวมเข้ามาได้ในคดีเดียวกัน

แต่มาแยกฟ้องให้เป็นหลายเรื่องหลายคดี มีคำขอเพิ่มเติมมาอีกหลายแบบ ทั้งที่สามารถเรียกร้องไปในคดีเดิมได้

หรือฟ้องอาญามาคนละข้อหาแยกกัน อาจจะเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายได้หลายบท แต่ถ้าฟ้องข้อหาหนึ่งไป แล้วจะไปแยกฟ้องอีกข้อหาหนึ่งเป็นอีกคดีไม่ได้ครับ ถือเป็นฟ้องซ้อน

เช่น ฟ้องคดีฉ้อโกงไปแล้ว มาแยกฟร้องในเรื่องเดียวกันเป็นความผิดพรบคอม แบบนี้ก็ไม่ได้

ทางแก้ไขในกรณีแบบนี้ แทนที่จะมาฟ้องคดีใหม่ ไปเพิ่มเติมไปขอแก้ไขคำฟ้องน่าจะมีโอกาสมากกว่านะครับ

คลิปเรื่องการแก้ไขคำฟ้อง – คำให้การ (คดีแพ่ง)

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาฎีกาที่ 5888/2552

คำฟ้องคดีก่อนและคดีนี้โจทก์อ้างเหตุอย่างเดียวกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและอาคารโรงเรียนพิพาท โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินและอาคารโรงเรียนพิพาทให้จำเลยเพื่ออำพรางการกู้เงิน ต่อมาจำเลยอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินและอาคารโรงเรียนพิพาท ขอให้ทางราชการเพิกถอนใบอนุญาตให้เป็นเจ้าของที่ตั้งโรงเรียนพิพาทของโจทก์ โดยในคดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินและอาคารโรงเรียนพิพาทดังกล่าว ส่วนคดีนี้แม้โจทก์ไม่ได้ขอให้เพิกถอนสัญญาที่ดินและอาคารโรงเรียนพิพาทอีกก็ตาม แต่โจทก์อ้างเพิ่มเติมเข้ามาว่า จำเลยบุกรุกเข้ามาในที่ดินและอาคารโรงเรียนพิพาท แล้วเปิดการสอนโรงเรียนชื่อ “โรงเรียนอนุบาล บ.” โดยพลการ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถดำเนินกิจการโรงเรียนพิพาทได้ตามปกติ ขอให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดประโยชน์จากการขาดรายได้ตามปกติ และค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงของโจทก์ ซึ่งค่าเสียหายดังกล่าวโจทก์สามารถฟ้องเรียกได้ในคดีก่อนอยู่แล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล จึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาฎีกาที่ 5822/2550 คำพิพากษาฎีกาที่ 471/2541 พิพากษาฎีกาที่ 8382/2550
คำพิพากษาฎีกาที่ 4517/2542 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1803/2512 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12437/2558

4. ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง

ทรัพย์สินที่พิพาทถ้าเป็นทรัพย์เดียวกัน ก็มีโอกาสสูงที่จะถือว่าข้อหาและสภาพข้อหาเป็นสภาพข้อหาเดียวกัน ถึงแม้จะพยายามบิดว่าเรียกร้อง โดยอาศัยสิทธิคนละแบบกันก็ตาม

ตัวอย่างเช่น

1. ทรัพย์สินเดียวกัน ฎ.2622/2516 ฎ.2471/2535
2. ทางพิพาทเดียวกัน ฎ.6548-2549/2538
3. ทรัพย์มรดกกองเดียวกัน ฎ. 121/2506 ฎ.6852/2537
4. สินสมรส ฎ.2510/2540

แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ทรัพย์สินที่พิพาทเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ถ้าข้อหากับสภาพข้อหา เป็นคนละเรื่องกันก็อาจจะไม่เป็นฟ้องซ้อนก็ได้

ดังนั้นทรัพย์ที่พิพาทเนี่ยไม่ใช่ตัวตัดสินว่าจะเป็นฟ้องซ้อนหรือไม่ แต่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีน้ำหนักในการพิจารณาครับ ต้องดูข้อ สภาพแห่งข้อหา เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่างที่ผมได้อธิบายแล้ว

สรุปแล้ว 4 หลักที่ว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่า สภาพข้อหาหรือเรื่องที่ฟ้องเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดครับ

สรุป

การจะเป็นฟ้องซ้อน มันมีใจความสำคัญอยู่ 3 ข้อก็คือ

1. มีคำฟ้องคดีแรกยังค้างอยู่ในศาล
2. มีการฟ้องใหม่โดยคู่ความเดียวกัน
3. คดีที่ฟ้องใหม่นั้นเป็นเรื่องเดียวกัน

ซึ่งหลักกฎหมายเรื่องฟ้องซ้อนเนี่ยเป็นหลักกฎหมายที่สำคัญมากทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา ไม่ว่าคุณจะเป็นคู่ความฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลยก็ต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ดีเพื่อที่จะไม่ได้ผิดพลาดในการทำงานและหากว่าเป็นฝ่ายจำเลยจะได้หยิบยกมาใช้ได้อย่างถูกสถานการณ์ครับ

Express your opinion about this article

comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น