“คดีความผิดต่อส่วนตัว” กับ “คดีความผิดอาญาแผ่นดิน” แตกต่างกันอย่างไร มีความสำคัญในการฟ้องแล้วก็การต่อสู้คดีอาญายังไงบ้าง วันนี้เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆครับ
รู้หรือไม่ครับว่า ในคดีอาญาเนี่ยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทกว้างๆ คือความผิดต่อส่วนตัว กับความผิดอาญาแผ่นดิน แล้วในคดีความผิดอาญาแผ่นดินก็แบ่งออกเป็น 2 แบบได้อีก
แล้วก็ความผิดในแต่ละแบบแต่ละประเภทเนี่ย ก็ให้เหตุผลที่แตกต่างกันอย่างมากในการดำเนินคดีอาญา ทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มจนกระทั่งจบคดี และหลายๆครั้งเนี่ยการวินิจฉัยหรือเข้าใจที่ผิดพลาดในแต่ละประเภทจะดีเนี่ยก็ทำให้ส่งผลกระทบต่อการแพ้หรือชนะคดีกันได้
วันนี้ผมเลยจะมาอธิบายให้ฟังพร้อมกับวิเคราะห์ถึงข้อแตกต่างที่เกิดขึ้นในคดีแต่ละประเภทให้ฟังแบบละเอียดเลยครับ
คดีความผิดต่อส่วนตัว หรือ คดีความผิดที่ยอมความได้
ความผิดประเภทนี้ ไม่กระทบกระเทือนต่อความสงบสุขเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงความปลอดภัยในรัฐ ลักษณะของการกระทำความผิดเนี่ยจะเป็นอาชญากรรมที่เล็กน้อย กระทบต่อผู้เสียหายเป็นรายบุคคลเท่านั้น
มีความผิดประเภทนี้ การจะหยิบยกมาดำเนินคดีหรือไมาเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้เสียหาย ถ้าผู้เสียหายไม่หยิบยกมา รัฐก็เอาคดีมาทำคดีไม่ได้ และความผิดประเภทนี้ถอนฟ้องยอมความกันได้ตลอดเวลา
คดีไหนที่เป็นคดีความผิดยอมความได้จะมีการระบุไว้อย่างชัดเจน ไว้ในท้ายบทหรือท้ายเรื่องของกฎหมายนั้นๆ
ตัวอย่างเช่น
- ความผิดฐานฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก
- หมิ่นประมาท
- บุกรุกแบบธรรมดา
- ทำให้เสียทรัพย์
- ความผิดฐานเปิดเผยความลับ
- ความผิดต่อเสรีภาพ
คดีความผิดอาญาแผ่นดิน หรือ ความผิดที่ยอมความไม่ได้
ความผิดประเภทนี้ เป็นความผิดที่มีความเป็นอาชญากรรมสูง กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกปลอดภัยของประชาชน กระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของบ้านเมือง มีลักษณะเป็นความผิดร้ายแรง เป็นภัยต่อประชาชนส่วนรวม
ความผิดแบบนี้สามารถแบ่งออกได้แยกย่อยเป็นอีก 2 ประเภทคือ
-
ความผิดอาญาแผ่นดินที่เท่านั้นเป็นผู้เสียหาย
- คดีพรบ.การพนัน
- คดีพรบ.ยาเสพติด ฎ.1637/2548
- คดีพรบ.อาวุธปืน ฎ.1231/2533
- ความผิดตาม พรบ.จราจรทางบก ฎ8119/2559
- ความผิดตาม พรบ.ศุลกากร ฎ.3797-3798/2540
ความผิดประเภทนี้ ถือว่าเป็นความผิดที่กระทบต่อรัฐเท่านั้น ไม่มีเอกชนคนไหนที่ได้รับความเสียหายเป็นการส่วนตัว
ดังนั้นประชาชนหรือคนทั่วไป ไม่มีสิทธิ์เข้ามามีส่วนร่วมใดๆในคดี เช่นการร้องทุกข์ การขอเรียกค่าเสียหาย การขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม การยื่นอุทธรณ์ฎีกา
เอกชนหรือประชาชนทั่วไปมีสิทธิ์แค่กล่าวโทษ หรือเป็นพยานในเรื่องที่ตนเองรู้เห็นเท่านั้น
และรัฐมีอำนาจสอบสวน ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ แม้ไม่ได้มีใครร้องขอเสียหาย
-
ความผิดอาญาแผ่นดินที่เอกชนเป็นผู้เสียหายด้วย
ความผิดประเภทนี้ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อตัวเอกชนบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แล้วยังกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของรัฐด้วย ธรรมดาแล้วจะมีลักษณะเป็นความผิดที่ร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกปลอดภัยของประชาชนทั่วไป
ตัวอย่างเช่น
- ความผิดฐาน ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์
- ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่า ทำร้ายร่างกาย ขับรถประมาททำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย
- ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา
- คดีบุกรุกในยามวิกาล
- ความผิดฐานรับของโจร
ความผิดประเภทนี้ ผู้เสียหายมีสิทธิ์แจ้งความร้องทุกข์ หรือคนที่ไม่ใช่ผู้เสียหายพบเห็นความผิดก็สามารถกล่าวโทษได้
สรุปคดีอาญาแบ่งแยกเป็น
1.คดีความผิดต่อส่วนตัว
2.คดีความผิดอาญาแผ่นดิน ที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย
3.คดีความผิดอาญาแผ่นดิน ที่เอกชนเป็นผู้เสียหายด้วย
ข้อแตกต่างในการดำเนินคดีแต่ละประเภท
-
อายุความ
อายุความของความผิด 2 ประเภทมีความแตกต่างและเงื่อนไขในการแจ้งความและการฟ้องที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก ที่มักจะส่งผลแพ้ชนะในคดีอยู่เป็นประจำ กล่าวคือ
- คดีความผิดยอมความได้มีอายุความสั้นเป็นพิเศษ
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๕ ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
- คดีอาญาแผ่นดินทั้ง 2 ประเภท ไม่มีอายุความสั้นเป็นพิเศษ
มาตรา ๙๕ ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
(๑) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
(๒) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
(๓) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
(๔) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
(๕) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน
แนะนำคลิปเรื่องอายุความคดีอาญา
2.การถอนฟ้อง-ยอมความ
การถอนฟ้องหรือยอมความ ในคดีความผิดทั้ง 2 ประเภทก็แตกต่างกันเป็นอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิ์เลือกฟ้องหรือแจ้งความ แนวทางการเจรจาไกล่เกลี่ย และวิธีการไกล่เกลี่ยเป็นอย่างมาก กล่าวคือ
- คดีความผิดยอมความได้ ถอนฟ้อง – ยอมความ จบคดีได้เสมอ
เจรจาไกล่เกลี่ยกันได้เสมอ จะตกลงยอมความกันตอนไหนก็ได้ ถึงแม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาแล้ว ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาแล้ว สามารถยอมความกันได้ตลอด ทั้งในชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ ชั้นศาล ชั้นอุทธรณ์- ฎีกา ก่อนคดีจะถึงที่สุดเนี่ยเจรจาถอนฟ้องถอนแจ้งความก็ได้เสมอเลย
แนะนำคลิปเรื่องการไกล่เกลี่ยคดีอาญา
- คดีอาญาแผ่นดิน ที่มีเอกชนเป็นผู้เสียหาย
ธรรมดาแล้วไม่สามารถไกล่เกลี่ยหรือยอมความให้จบกันได้ง่ายๆ เหมือนดังเช่นคดีความผิดยอมความได้
ยกเว้น บางกรณี เช่น
- คดีพิเศษบางประเภทตาม พ.ร.บ. ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เช่น ลักทรัพย์ ขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส ชุลมุนต่อสู้
- ผู้เสียหายฟ้องเองและถอนฟ้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา
- อัยการฟ้องก็ถอนฟ้องได้ก่อนศาลชั้นต้นตัดสิน แต่ปรากฏน้อยมาก
แนะนำคลิปเรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพรบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
- คดีอาญาแผ่นดิน ประเภทที่รัฐเป็นผู้เสียหายเท่านั้น ถอนฟ้องหรือยอมความไม่ได้
คดีประเภทนี้ ไม่รู้จะไกล่เกลี่ยกับใครครับเพราะว่ารักเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ดังนั้นจึงไม่สามารถจะยอมความได้ ตามชื่อเลยครับว่าเป็นความผิดยอมความไม่ได้
แต่ถึงยอมความไม่ได้ถ้าเอาตามทฤษฎีแล้วสามารถถอนฟ้องได้ ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา แต่ทางปฏิบัติคดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องไม่ค่อยเคยเห็นอัยการโจทก์จะยอมถอนฟ้องครับ
จากประสบการณ์ผมจะต้องเป็นคดีสำคัญระดับประเทศ ที่ต้องฟ้องไปจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือเรื่องการเมืองระหว่างประเทศอย่างคดีนายวิคเตอ บูธ นักค้าอาวุธข้ามชาติชื่อดัง ที่ดังขนาดไปทำหนังฮอลลีวูด
https://www.thairath.co.th/news/politic/107853
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๓๙ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้
(๒) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
มาตรา ๓๕ คำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาจะยื่นเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้ ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตหรือมิอนุญาตให้ถอนก็ได้ แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรประการใด ถ้าคำร้องนั้นได้ยื่นในภายหลังเมื่อจำเลยให้การแก้คดีแล้ว ให้ถามจำเลยว่าจะคัดค้านหรือไม่ แล้วให้ศาลจดคำแถลงของจำเลยไว้ ในกรณีที่จำเลยคัดค้านการถอนฟ้อง ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย
คดีความผิดต่อส่วนตัวนั้น จะถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ แต่ถ้าจำเลยคัดค้าน ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย
3.สิทธิในการร้องทุกข์-กล่าวโทษ
- คดีความผิดต่อส่วนตัว
ผู้เสียหายร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีได้ แต่บุคคลอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องในคดีจะมากล่าวโทษให้ดำเนินคดีไม่ได้
- คดีความผิดอาญาแผ่นดิน ที่เอกชนเป็นผู้เสียหายด้วย
ผู้เสียหายร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีได้ และบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผู้เสียหายก็สามารถกล่าวโทษ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีได้เช่นกัน
อ้างคลิปกล่าวโทษ
- คดีความผิดอาญาแผ่นดิน ที่รัฐเป็นผู้เสียหายเท่านั้น
ไม่มีการร้องทุกข์เพราะไม่มีผู้เสียหายโดยตรง
แต่ใครก็สามารถกล่าวโทษหรือกล่าวหาต่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาได้เสมอ หรือพนักงานสอบสวนอาจจะรู้เห็นการกระทำความผิดเองก็ได้
แนะนำคลิปร้องทุกข์
4.อำนาจในการดำเนินคดีของรัฐ
อำนาจในการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่รัฐในที่นี้คือ พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการ ที่จะมีอำนาจหยิบยกคดีดังกล่าวขึ้นมาฟ้องร้องดำเนินคดีได้หรือไม่สำหรับคดีความผิดทั้ง 2 ประเภทก็แตกต่างกันและเป็นข้อแพ้ชนะที่ปรากฏบ่อยตามคำพิพากษาศาลฎีกา กล่าวคือ
- คดีความผิดต่อส่วนตัว
ถ้าหากว่า
1.ผู้เสียหายไม่แจ้งความร้องทุกข์
2.แจ้งความร้องทุกข์โดยไม่ชอบ
3.ผู้เสียหายไม่มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์
4.ผู้เสียหายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
5.การมอบอำนาจร้องทุกข์ไม่ชอบ
พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน อัยการไม่มีอำนาจฟ้อง ขึ้นศาลศาลต้องยกฟ้อง
- คดีความผิดอาญาแผ่นดิน ทั้ง 2 แบบ
- ถึงไม่มีใครมาร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่พนักงานสอบสวน ก็มีอำนาจดำเนินคดีได้ อัยการก็มีอำนาจฟ้องเสมอ
- ถึงผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์ ร้องทุกข์โดยไม่ชอบ ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย อาการมอบอำนาจหรือการร้องทุกข์ไม่ถูกต้อง พนักงานสอบสวนก็ยังมีอำนาจดำเนินคดีได้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๒๐ ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
มาตรา ๑๒๑ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง
แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ
ฎ.426/2547ความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดและพนักงานสอบสวนก็มีอำนาจทำการสอบสวนได้ ไม่ว่าจะมีผู้เสียหายร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษผู้กระทำผิดหรือไม่ แม้จะวินิจฉัยว่าการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่มีผลทำให้การดำเนินคดีนี้แก่จำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัน
5.อำนาจฟ้องคดีของผู้เสียหาย
การดำเนินคดีอาญานั้นผู้เสียหายอาจจะใช้วิธีการแจ้งความร้องทุกข์หรือฟ้องคดีเองก็ได้
สำหรับการยื่นฟ้องคดีโดยตรงเองของผู้เสียหาย ก็แตกต่างกัน และเป็นประเด็นสำคัญที่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ส่งผลแพ้ชนะคดี ที่จะต้องศึกษาให้ดีก่อนที่จะยื่นฟ้องหรือต่อสู้คดีในคดีที่เป็นการยื่นฟ้องคดีด้วยตนเอง กล่าวคือ
- คดีความผิดต่อส่วนตัว และ คดีความผิดอาญาแผ่นดิน ที่เอกชนเป็นผู้เสียหายด้วย ผู้เสียหายยื่นฟ้องโดยตรงต่อศาลได้
- คดีความผิดอาญาแผ่นดิน ที่รัฐเป็นผู้เสียหายเท่านั้น เอกชนไม่สามารถยื่นฟ้องโดยตรงต่อศาลได้
ฎ.1637/2548 : ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งรัฐเป็นผู้เสียหาย โจทก์เป็นเพียงพนักงานสอบสวน แม้จะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ แต่กฎหมายก็ให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 2(6) เท่านั้น และโจทก์ก็มิใช่บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยได้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๒๘ บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล
(๑) พนักงานอัยการ
(๒) ผู้เสียหาย
6.การขอเป็นโจทก์ร่วมในคดี
การยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดี ส่งผลและให้อำนาจเป็นอย่างมากแก่ผู้เสียหาย ในการดำเนินคดี เช่นการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม การอ้างส่งพยานบุคคลพยานเอกสารหรือพยานวัตถุเพิ่มเติม รวมถึงสิทธิ์ในการอุทธรณ์ฎีกา ซึ่งในคดีทั้งสองประเภทก็แตกต่างกัน
- คดีความผิดต่อส่วนตัว และ คดีความผิดอาญาแผ่นดิน ที่เอกชนเป็นผู้เสียหายด้วย ผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้
- คดีความผิดอาญาแผ่นดิน ที่รัฐเป็นผู้เสียหายเท่านั้น เอกชนไม่สามารถยื่นคำร้องขอความเป็นโจทก์ร่วมได้
ฎ.1231/2533 : พนักงานอัยการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ และข้อหาฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ.มาตรา 288 แม้ศาลจะอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ด้วย ก็หมายถึงอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะในข้อหาฆ่าผู้อื่นเท่านั้น ส่วนข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหาย จึงไม่อาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ได้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๓๐ คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้
7.การยื่นคำร้องขอเรียกค่าเสียหายตามมาตรา 44/1
ในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นอกจากเรื่องของการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมแล้ว ผู้เสียหายยังอาจยื่นคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา 44/1 เพื่อนเรียกร้องเอาค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในคดีอาญาจากจำเลยได้อีกด้วย ซึ่งหลักเกณฑ์ในการเรียกร้องก็มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ
- คดีความผิดต่อส่วนตัว และคดีความผิดอาญาแผ่นดิน ที่เอกชนเป็นผู้เสียหายด้วย ผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนเข้าไปในคดีอาญาได้ด้วย
- คดีความผิดอาญาแผ่นดิน ที่รัฐเป็นผู้เสียหายเท่านั้น เอกชนคนใดก็ไม่สามารถยื่นคำร้องมาตรา 44/1 ได้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๔๔/๑ ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้
สรุป
การวินิจฉัยและเข้าใจหลัก ความแตกต่างในคดีความผิดอาญาแต่ละประเภทมีความสำคัญมากต่อการฟ้อง การดำเนินคดีและการต่อสู้คดีอาญา เพราะแต่ละแบบก็ให้สิทธิแก่ผู้เสียหายในการดำเนินคดีที่แตกต่างกัน และส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินกระบวนพิจารณา
ดังนั้นในฐานะทนายความไม่ว่าจะเป็นฝั่งโจทก์หรือฝั่งจำเลย จะต้องทำความเข้าใจและศึกษาให้ดีถึงความแตกต่างในการดำเนินคดีอาญาในความผิดแต่ละประเภทเพื่อนำไปปรับใช้ในแต่ละสถานการณ์ให้ถูกต้องครับ