คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

ปัญหาในการขอเป็นโจทก์ร่วมของผู้เสียหายคือเมื่อผู้เสียหายที่เป็นฝ่ายผิดขอเป็นโจทก์ร่วม ทนายความของจำเลยต้องทำอย่างไร?

ธรรมดาแล้วคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นคนยื่นฟ้องคดีต่อศาล พนักงานจะมีฐานะเป็นเป็นโจทก์ และผู้เสียหายในคดีนั้น ก็สามารถขอเป็น โจทก์ร่วม กับพนักงานอัยการได้

โดยคดีนั้นมีเอกชนเป็นผู้เสียหาย ผู้เสียหายย่อมมีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ตาม ปวิอ ม.30

หากศาลอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมแล้ว โจทก์ร่วม ย่อมมีสิทธิในการดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอีกหลายประการ เช่น 

1.สิทธิในการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม นอกเหนือจากบัญชีพยานของพนักงานอัยการ 

ตัวอย่างเช่น พนักงานอัยการอาจจะมีพยานเพียง 2 ปาก โจทก์ร่วมอาจจะมีพยานเพิ่มอีก 1 ปากที่เห็นว่าเกี่ยวข้อง โจทก์ร่วมก็สามารถยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเข้ามา เพื่อขอนำสืบต่างหากจากพนักงานอัยการก็ได้ 

2.สิทธิในการนำพยานบุคคลหรือพยานเอกสารมาสืบ นอกเหนือจากพนักงานอัยการ

ตามตัวอย่างข้อที่ 1 หลังจากยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมแล้วหากศาลมีคำสั่งอนุญาต โจทก์ร่วมสามารถนำพยานบุคคลมาสืบนอกเหนือจากของพนักงานอัยการได้ 

นอกจากนี้หากโจทก์ร่วมมีพยานเอกสารหรือพยานวัตถุใด ที่อยู่นอกเหนือสำนวนสอบสวนและพนักงานอัยการไม่ได้อ้างส่ง โจทก์ร่วมก็สามารถนำสืบและเอกสารหลักฐานดังกล่าวต่อศาลเพิ่มเติมได้ 

3.สิทธิในการถามพยานของพนักงานอัยการเพิ่มเติม รวมทั้งการถามติงพยาน

ตัวอย่างเช่น เมื่ออัยการโจทก์ถามพยานปากแรกเสร็จแล้ว โจทก์ร่วมก็มีสิทธิ์ถามพยานปากดังกล่าวต่อจากอัยการโจทก์ 

และเมื่อทนายความจำเลยถามค้านเสร็จแล้วทนายความโจทก์ร่วมก็ย่อมมีสิทธิ์ถามติงได้  ภายหลังจากอัยการถามติงเสร็จแล้ว 

4.สิทธิในการขอหมายเรียกพยานบุคคลพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ

ถ้ามีพยานบุคคลปากไหน ที่โจทก์ร่วมเห็นว่าเป็นพยานสำคัญในคดีและโจทก์ร่วมไม่สามารถนำมาศาฃด้วยตนเองได้ โจทก์ร่วมก็สามารถขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานบุคคลดังกล่าวให้มาเบิกความที่ศาลได้ ซึ่งก็เป็นดุลพินิจของศาลว่าจะอนุญาตหรือไม่ 

แล้วถ้ามีพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ ที่โจทก์ร่วมเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่รูปคดีโจทก์ร่วมก็สามารถขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าว เพื่อให้ผู้ครอบครองพยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าวส่งเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าว มาใช้ในการพิจารณาคดีของศาลได้ 

5.สิทธิในการถามค้านจำเลยและพยานของจำเลย 

ในตอนที่ตัวจำเลยหรือพยานฝั่งจำเลยเบิกความเป็นพยานต่อศาล เบื้องต้นพนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีสิทธิ์ถามค้านจำเลยหรือพยานจำเลยเพื่อให้ปรากฏข้อพิรุธ หรือทำลายน้ำหนักพยานบุคคลของจำเลย

และเมื่ออัยการโจทก์ถามค้านเสร็จแล้ว ทนายความโจทก์ร่วมก็ย่อมมีสิทธิ์ถามค้านตัวจำเลยและพยานของจำเลยเช่นเดียวกัน 

6.สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกา คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น 

ในกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ หรือพิพากษาลงโทษจำเลยสถานเบา หากโจทก์ร่วมไม่พอใจผลของคำพิพากษา โจทก์ร่วมย่อมมีสิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา เพื่อขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลย หรือให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยสถานหนัก รวมทั้งยังมีสิทธิ์นี้ในชั้นฎีกาด้วย

แต่ถ้าผู้เสียหายไม่ได้ขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมย่อมไม่มีสิทธิ์ในการอุทธรณ์ฎีกาแต่อย่างใด โดยเป็นดุลยพินิจของพนักงานอัยการโจทก์เท่านั้น 

จะเห็นได้ว่า การที่มี โจทก์ร่วม เข้ามาในคดี  โจทก์ร่วมย่อมมีสิทธิต่างๆในการดำเนินคดีเพิ่มเติม และย่อมทำให้ฝ่ายจำเลยทำงานยากขึ้น กว่าการที่มีพนักงานอัยการเป็นโจทก์เพียงคนเดียวเป็นอย่างมาก 

ซึ่งในกรณีที่ผู้เสียหายนั้นเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดเลย ย่อมเป็นสิทธิ์ของผู้เสียหาย ที่จะสามารถขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการเพื่อใช้สิทธิต่างๆได้

แต่ตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา  มีหลักเกณฑ์ว่า ผู้เสียหายที่จะยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการได้นั้น จะต้องมีฐานะเป็น “ผู้เสียหายโดยนิตินัย” กล่าวคือผู้เสียหายจะต้องไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ไม่มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด

ถ้าผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด หรือเป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำความผิด ย่อมไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยและไม่มีสิทธิ์ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ


โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2561 ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย ไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตาย และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมโดยวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายกระทำความผิดเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดี บ. มารดาของผู้ตายยังคงมีสิทธิเรียกร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ บ. ซึ่งเป็นผู้เสียหายในทางแพ่งชอบที่เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ แต่จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากน้อยเพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 ที่ให้พิจารณาว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร เมื่อผู้ตายกับจำเลยทั้งสองมีเรื่องบาดหมางกันมาก่อนอันสืบเนื่องมาจากการทำงาน วันเกิดเหตุผู้ตายกวักมือมายังจำเลยทั้งสอง แล้วจำเลยทั้งสองกับผู้ตายชกต่อยกันจนจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ บ. สองในสามส่วน ของค่าสินไหมทดแทนที่ บ. จะได้รับ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3391/2559  ความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนสถานเบานั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว

แม้ผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้นก่อน แต่เมื่อไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นใดว่าผู้ตายจะเข้าทำร้ายจำเลยอีกโดยผู้ตายวิ่งกลับไปที่รถยนต์จอดอยู่และไม่ปรากฏว่าขณะนั้นผู้ตายมีอาวุธติดตัวด้วย ถือได้ว่าภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ผ่านพ้นไปแล้ว การที่จำเลยวิ่งไล่ตามผู้ตายไปในทันทีแล้วใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจึงไม่อาจอ้างว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ แต่อย่างไรก็ดี การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำต่อเนื่องกระชั้นชิดกับเหตุการณ์ที่จำเลยถูกผู้ตายชกต่อยก่อน โดยจำเลยมิได้สมัครใจทะเลาะวิวาทกับผู้ตายถือได้ว่าจำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม  การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในขณะนั้นจึงเป็นการกระทำความผิดฐานเจตนาฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ.มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72

ผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุให้จำเลยกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะผู้ตายจึงไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ป. ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7004/2561   ผู้ร้องมีส่วนในการก่อให้จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตามความใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญาตามมาตรา 30 แต่มีสิทธิยื่นคำร้องส่วนแพ่งขอเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย ตามมาตรา 44/1 ได้ เมื่อการกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการกระทำโดยป้องกันพอสมควรแก่เหตุโดยสำคัญผิด แต่เป็นการทำร้ายร่างกายผู้ร้องโดยบันดาลโทสะซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด คดีในส่วนแพ่งจำต้องถือตามข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 46 โดยฟังว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อผู้ร้องและต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนของผู้ร้อง แม้ผู้ร้องไม่ได้ฎีกาเรื่องค่าสินไหมทดแทนมาด้วย ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลคดีอาญาได้เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

 ซึ่งจะเห็นจากแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา จะเห็นว่า การที่ผู้เสียหายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย หากศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ผู้เสียหายเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ย่อมเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น 
และเมื่อคำสั่งของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น หากศาลสูงมีคำสั่งกลับหรือแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของผู้เสียหายแล้ว
ตามความเห็นของผู้เขียน การดำเนินการต่างๆของโจทก์ร่วม น่าจะถือได้ว่าเสียไปทั้งหมด ตามหลักของผลไม้จากต้นไม้พิษ

 ตัวอย่างเช่น

1.พยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุที่โจทก์ร่วมเป็นคนนำสืบ เฉพาะส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับพนักงานอัยการ น่าจะถือว่ารับฟังไม่ได้ เช่น พยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ ที่อัยการโจทก์ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานเข้ามา โดยโจทก์ร่วมเป็นคนนำสืบแต่เพียงฝ่ายเดียว

2.คำถามเพิ่มเติมที่ทนายความโจทก์ร่วมซักถามพยานโจทก์ ก็น่าจะรับฟังไม่ได้ทั้งหมด

3.คำถามค้านที่โจทก์ร่วมถามค้านจำเลย หรือพยานจำเลยน่าจะถือว่าไม่สามารถรับฟังได้ทั้งหมด

4.คำถามติงที่โจทก์ร่วมถามพยานโจทก์ น่าจะรับฟังไม่ได้ทั้งหมด 

5.การยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา หรือคำแก้อุทธรณ์หรือคำแก้ฎีกาของโจทก์ร่วมถือว่าไม่มีผลและไม่สามารถรับฟังได้ทั้งหมด 

ปัญหาทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ในกรณีที่ผู้เสียหายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย คือผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด หรือเป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำความผิด ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการเข้ามา

และปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมโดยผิดหลง หรือเป็นเพราะในขณะนั้นยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย 

ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความผิดพลาดของพนักงานอัยการที่ไม่ได้ตรวจสอบสำนวนให้ดี และไม่ได้คัดค้านการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของผู้เสียหาย 

หรืออาจจะเป็นเพราะในชั้นสอบสวนยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริง ว่าผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดหรือเป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำความผิด 

ในกรณีเช่นนี้ ผู้เสียหายที่ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ย่อมสามารถใช้สิทธิ์ต่างๆดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น เช่นสิทธิ์ในการนำสืบพยานเพิ่มเติม การขอหมายเรียกพยานบุคคล พยานวัตถุ หรือพยานเอกสาร หรือสิทธิในการถามค้าน ถามติง

กรณีดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยเสียเปรียบเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ภายหลังศาลสูงอาจจะมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้น ที่อนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ก็ตาม แต่ความเสียหายในรูปคดีย่อมเกิดขึ้นแล้ว 

ตัวอย่างเช่น ศาลก็ได้รับฟังพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุของโจทก์ร่วม ที่เข้ามาอยู่ในสำนวนแล้ว รวมทั้งโจทก์ร่วมก็มีสิทธิ์เข้ามาซักถาม ถามค้านหรือถามติง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อรูปคดีโดยรวม รวมทั้งโจทก์ร่วมเองก็ยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ฎีกาได้อีกด้วย 

ถึงแม้ภายหลังหากศาลสูงมีกลับคำสั่งของศาลชั้นต้น และคำสั่งยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม แต่พยานหลักฐานต่างๆของโจทก์ร่วมก็ยังอยู่ในสำนวนของศาล แล้วก็ยังไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานดังกล่าวสามารถรับฟังได้หรือไม่เพียงใด 

วิธีแก้เกมส์ เมื่อผู้เสียหายที่มือไม่สะอาด มายื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม 

ดังนั้นแล้วหากเราเป็นฝ่ายจำเลย หากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ชัดเจนที่ชี้ให้เห็นว่าผู้เสียหายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดหรือเป็นผู้ก่อให้เกิดการทำความผิด เราก็ควรขอคัดค้านการเป็นโจทก์ร่วมของผู้เสียหาย ตั้งแต่ตอนที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์

โดยสามารถดูตัวอย่างได้ตามคำร้องด้านล่างนี้

 

 

 

คำร้องคัดค้าน 1

คำร้องคัดค้าน 1

คำร้องคัดค้าน 2

คำร้องคัดค้าน 2

 

โดยคดีที่ล่าสุดที่ผมทำนี้เป็นคดีเกี่ยวกับเรื่องทำร้ายร่างกาย โดยมีข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายเป็นฝ่ายหาเรื่องท้าทายฝ่ายพวกจำเลยก่อนรวมทั้งเริ่มลงมือทำร้ายพวกจำเลยก่อน ผู้เสียหายจึงได้ถูกรุมทำร้าย ซึ่งมีพยานหลักฐานชัดเจนตามคลิปวีดีโอในวันเกิดเหตุ

ในวันนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน ปรากฏว่าฝ่ายผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมมาตามคาด  ผมซึ่งได้เตรียมคำคัดค้านคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมมาอยู่แล้ว จึงได้ยื่นคำคัดค้านเข้าไปทันที 

ในครั้งแรกศาลจะสั่งไต่สวนคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมเสียก่อน แต่พนักงานอัยการคัดค้านการไต่สวนคำร้อง และยืนยันว่าผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิ์เข้าเป็นโจทก์ร่วม (พนักงานอัยการน่าจะยังไม่เห็นคลิปเนื่องจากในชั้นสอบสวน ยังไม่มีการนำคลิปวีดีโอเข้าสำนวนสอบสวน) 

สุดท้าย ท่านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนสองคนขอเวลาไปปรึกษาหัวหน้าศาล และได้ผลสรุปมาว่าศาลจะยังอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในเบื้องต้นก่อน ส่วนประเด็นเรื่องการไม่ใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือมีส่วนผิดนั้นเป็นเรื่องที่ต้องนำสืบในชั้นพิจารณา 

ซึ่งด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาของศาลเป็นอย่างสูง ผมยังเห็นว่า หากศาลมีข้อสงสัยว่าผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ ศาลน่าจะไต่สวนหรือเปิดคลิปวีดีโอดูให้ชัดเจนแล้วจึงค่อยมีคำสั่ง

การอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมไปก่อน ย่อมทำให้ฝ่ายจำเลยเสียสิทธิ์ตามกฎหมาย ดังที่ผมได้อธิบายอย่างละเอียดแล้วข้างต้น 

อย่างไรก็ตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งผมไม่มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ฎีกา จนกว่าศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาต่อไป 

รายงานกระบวน 1

รายงานกระบวน 1

รายงานกระบวน 2

รายงานกระบวน 2

รายงานกระบวน 3

รายงานกระบวน 3

รายงานกระบวน 4

รายงานกระบวน 4

 

ผมจึงได้นำตัวอย่างแนวทางการทำงานมาลงให้ดูเป็นแนวทาง และหากท่านรับว่าความเป็นทนายความให้กับจำเลย แล้วต้องเจอสถานการณ์ที่ผู้เสียหายที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด หรือเป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำความผิด มายื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม 

ท่านก็ควรจะต้องใช้สิทธิ์ในการคัดค้านคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม พร้อมอ้างอิงพยานหลักฐานเบื้องต้นเข้าไปเพื่อให้ศาลวินิจฉัย 

ถึงแม้ครั้งนี้ผมจะยังทำไม่สำเร็จ แต่หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปเจออัยการที่รู้ข้อเท็จจริงเชิงลึกดีกว่านี้ หรือเจอผู้พิพากษาท่านอื่น ผู้เสียหายก็อาจจะไม่ได้เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายจำเลย และเป็นบรรทัดฐานในการทำงานต่อไปครับ 

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)