แม่ทีมทั้งหลาย ที่ออกมาชักชวนคนลงทุน ในคดีฉ้อโกงประชาชน พอถึงเวลาเกิดปัญหาเป็นคดีความแล้วแม่ทีมเหล่านี้จะตกเป็นตัวการร่วม แล้วต้องตกเป็นผู้ต้องหา หรือว่าเขาจะเป็นแค่ผู้เสียหายเหมือนกัน มันมีหลักในการวินิจฉัยยังไงวันนี้เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังนะครับ
แชร์ลูกโซ่ อยู่ในสังคมบ้านเรามานานฟังรากลึกในสังคมนะครับ เริ่มตั้งแต่แชร์แม่ชม้อย ยูฟัน forex จนกระทั่งมาเรื่องล่าสุดดิไอคอน
ทีนี้เวลาบรรดาแชร์ลูกโซ่ต่างๆเนี่ย มันเกิดล่ม เกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว มันก็มีเรื่องที่ต้องวินิจฉัยว่าไอ้บรรดาแม่ทีมทั้งหลายที่มาชวนคนอื่นไปลงทุนเนี่ย จะต้องตกเป็นผู้ต้องหาไปด้วยไหม ?
หรือจะถือว่าเขาเองก็ถูกหลอกเป็นผู้เสียหายเหมือนกัน ?
วันนี้ผมจะวิเคราะห์จากคดีความต่างๆทั้งจากที่ผมเคยทำคดีด้วยตนเอง แล้วก็จากแนวคำพิพากษาทั้งของศาลชั้นต้นแล้วก็ศาลอุทธรณ์ที่มีการเผยแพร่มาวิเคราะห์ให้ฟังนะครับ
ซึ่งต้องบอกว่าเป็นความเห็นโดยเฉพาะตัวของผมเองเท่านั้น
และช่วงท้ายของบทความนี้จะสรุปรวมคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่สามารถใช้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานได้ที่ผมรวบรวมมาให้อ่านกันครับ
ผลประโยชน์ที่ได้รับ
- ได้รับผลตอบแทนจากธุรกิจนั้นอย่างไร / เป็นรายเดือน-รายปี / หรือคิดคำนวณอย่างไร
- ได้ค่าตอบแทนหลักจากการชวนคนหรือขายสินค้า-บริการ
- ได้รับค่านายหน้าจากการชวนคนมาไหม
- แล้วถ้าลูกทีมเราไปชวนคนอื่นมาเราได้ค่าตอบแทนไหม ?
- ค่าตอบแทนสูงเกินไปหรือไม่เมื่อเทียบกับพฤติการณ์
ถ้าผลประโยชน์ที่ได้รับจากการชักชวนคนเข้ามาลงทุนหรือร่วมธุรกิจกับบริษัทผู้ต้องหา เป็นผลประโยชน์ที่อยู่ในอัตราที่เหมาะสม ไม่ได้สูงเกินสมควร
ไม่ได้คิดคำนวณจากการชักชวนคนเข้ามา แต่คิดคำนวณจากการขายสินค้า หรือบริการ หรือได้รายได้เป็นเงินเดือน เป็นสัญญาว่าจ้างที่มีกำหนดแน่นอน ก็อาจจะถือได้ว่าไม่มีเจตนากระทำความผิด
แต่ในทางกลับกันถ้าจำนวนเงินที่ตนเองได้รับนั้น สูงเกินสมควร สูงเกินกว่าที่คนทั่วไปควรจะได้ในการทำงานเช่นนั้น
หรือสูงจนตัวเองควรจะคาดหมายได้อยู่แล้วว่าบริษัทไม่สามารถจะประกอบธุรกิจและแบ่งปันผลกำไรและค่าตอบแทนให้ตนเองได้เช่นนั้น ก็อาจจะถือได้ว่ามีเจตนาร่วมกันกระทำความผิด
ลงทุนเสียหายเองบ้างไหม
- ได้นำเงินลงทุนเงินส่วนตัวมาลงทุนบ้างไหม
- ถึงขั้นกู้เงิน ขายทรัพย์สินมาลงทุนหรือเปล่า
- ชวนคนใกล้ชิดคุณพ่อคุณแม่ ญาติพี่น้องมาลงทุนบ้างไหม
- ชวนแต่คนอื่น ไม่ลงทุนเอง ไม่ชวนคนใกล้ตัวลงทุน ไม่เจ็บตัวเลย
- เอาเงินคนอื่นลงทุน ชวนคนลงทุนอย่างเดียว ได้กำไรอย่างเดียว
สำหรับประเด็นนี้ในความคิดของผมคือประเด็นที่สำคัญที่สุดในการวินิจฉัยว่า แม่ทีม มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกับตัวผู้ต้องหาหรือไม่
ก็คือตัวแม่ทีมนั้นได้ลงทุนเองไหม เสียหายเองด้วยหรือเปล่า ได้นำเงินคนใกล้ตัวเงินในครอบครัวมาลงทุนจนเสียหายขาดทุนเองด้วยไหม
ถ้าแม่ทีมอ้างว่าตนเองไม่ได้เป็นตัวการร่วมไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิด แต่ไม่ได้เอาเงินตัวเองมาลงทุนเลย ไม่ได้เสียหายเลย กินแต่ส่วนต่างค่าสมัคร ค่าชักชวนจากคนอื่นๆ
แบบนี้จะบอกว่าตนเองไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดผมไม่เชื่อครับ
เพราะหากว่าคุณเชื่อว่าธุรกิจนั้นมันดีจริงๆสามารถสร้างผลกำไรได้จริงๆ คุณก็ควรจะต้องลงทุนเองด้วยครับ
ไม่ใช่ไปชวนคนอื่นมาลงทุนแต่ตนเองไม่ลงทุนเองเลย แบบนี้ผมไม่เชื่อเด็ดขาดว่าไม่รู้ว่าบริษัทจะโกงครับ
หน้าที่และบทบาทที่ทำ
- ทำงานในลักษณะใกล้ชิดเชิงลึก
- เป็นแอดมิน อยู่ในกลุ่มไลน์คอยให้ข้อมูล คอยรับเงิน – โอนเงิน
- มีอำนาจสั่งการ มีอำนาจบริหาร
- การแสดงตัวในองค์กร ว่าเป็นผู้บริหาร
- มีอำนาจเบิกถอนเงินในองค์กร
หน้าที่และบทบาทที่ทำในบริษัทนั้นๆถือว่าเป็นประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่ศาลจะใช้วินิจฉัยว่า จำเลยมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดหรือไม่
ถ้าคุณมีอำนาจตัดสินใจ มีอำนาจสั่งการ มีอำนาจกำหนดแผนและนโยบาย มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิต วางแผนธุรกิจ มีอำนาจเบิกถอนเงิน มีอำนาจรับเงินออกใบเสร็จ เช่นนี้มีความเสี่ยงที่จะถือว่าคุณเป็นตัวการร่วม
หรือ มีการไปแสดงตัวต่อบุคคลทั่วไปว่าคุณเป็นผู้บริหาร มีอำนาจสั่งการ มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กร ถึงแม้ว่าชื่อในบริษัทจะไม่ได้มีการจดทะเบียนต่างๆเป็นชื่อคุณเป็นผู้ถือหุ้น หรือเป็นกรรมการบริษัท แต่ก็ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงอยู่ดีครับ
ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตัวผู้กระทำความผิด
- มีลักษณะเป็นคนใกล้ตัวเช่นคนรัก เป็นญาติ
- พักอาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกัน
- มีตำแหน่งระดับสูง มีโอกาสรู้เห็นเกี่ยวข้องในกระบวนการต่างๆเยอะ
การที่คุณมีความใกล้ชิดกับตัวผู้กระทำความผิด เจ้าของบริษัทเจ้าของบริษัท เช่นเป็นคนรัก เป็นสามีภรรยา มีบุตรด้วยกัน เป็นบิดามารดา เป็นพี่น้อง หรือเพื่อนสนิทใกล้เคียง ย่อมน่าเชื่อถือว่าคุณอาจจะมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดได้
แต่ก็ไม่เสมอไปถ้าคุณ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดแต่แยกกระเป๋ากันชัดเจน ไม่มีส่วนร่วมในการบริหารหรือการตัดสินใจ ก็อาจจะถือว่าคุณไม่มีความผิดก็ได้
การโฆษณา-การันตี-รับรอง
- โฆษณาประชาสัมพันธ์ สร้างความน่าเชื่อถือ ให้กับบริษัทที่กระทำผิด
- โดยเฉพาะที่ตนเองเป็นคนมีชื่อเสียง บุคคลทั่วไปให้ความน่าเชื่อถือ
- ทำการช่วยยืนยันในเรื่องที่ไม่เป็นความจริง โดยรู้หรือควรจะรู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่เรื่องจริง
- ไปการันตีเซ็นค้ำประกันให้กับผู้กระทำความผิด
แน่นอนว่าบุคคลอื่นที่จะเข้ามาลงทุนย่อมจะต้องแสดงหาความมั่นใจในตัวบริษัท ก่อนที่เขาจะนำเงินมาลงทุน การที่คุณไปโฆษณาประชาสัมพันธ์รับรองยืนยันให้บริษัทที่กระทำความผิดหรือผู้กระทำความผิด
เช่นพูดในทำนองว่าบริษัทนี้น่าเชื่อถือแน่นอน ลงทุนแล้วไม่มีเสียหาย ตัวเองก็ลงทุน ลงทุนก็จะมีแต่กำไร แบบนี้มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะถือว่าคุณเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิด
ยกเว้นแต่คุณจะสามารถพิสูจน์ได้ว่า คุณไม่รู้จริงๆว่าบริษัทนี้โกง หรือเป็นบริษัทแชร์ลูกโซ่ ซึ่งก็จะเชื่อมโยงกับข้อ 2 ว่า ถ้าคุณไปยืนยันว่าของเขาดีขนาดนั้น คุณได้ลงทุนเองบ้างหรือไม่ ?
วิธีการแก้ไขเมื่อเจอปัญหา
- เมื่อเริ่มมีปัญหา ปกป้องผู้กระทำผิด
- ข่มขู่คนที่จะแจ้งความหรือดำเนินคดี
- มีการแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของบริษัทไหม จริงจังแค่ไหน ?
เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะสามารถเอามาหยิบยกถึงเจตนาในการกระทำความผิดของแม่ทีมทั้งหลายได้ ก็คือ ภายหลังฝีเริ่มแตก แพเริ่มล่ม เริ่มมีผู้สงสัยจะว่าเป็นบริษัทแชร์ลูกโซ่
ปฏิกิริยาของแม่ทีมแต่ละคนเป็นอย่างไร มีลักษณะการปกป้องบริษัท ข่มขู่คนแจ้งความ หรือมีลักษณะในการช่วยเหลือผู้เสียหาย ร่วมกันแจ้งความกับผู้เสียหายด้วย
แต่ก็ต้องระมัดระวังดีๆเพราะข้อนี้มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากการกระทำสำเร็จแล้ว อาจจะไม่ใช่ตัวชี้วัดหรือบ่งชี้อะไรมากนัก
เพราะบางครั้งคนที่เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดก็แอบเนียน แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทแม่ทีม เพื่อพรางตัวว่าตนเองเป็นผู้เสียหาย
หรือผู้เสียหายบางคน ก็รู้ตัวช้าจริงๆ ยังคงเชื่อบริษัท เชื่อผู้กระทำความผิด จึงออกมาปกป้องเพราะความเข้าใจผิด
ซึ่งก็ต้องวินิจฉัยกันให้ดีๆในประเด็นนี้ แต่สำหรับผมเป็นประเด็นท้ายๆที่อาจจะไม่ได้สำคัญนัก
สรุป
ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนนั้นบรรดาแม่ทีม หรือผู้โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้บุคคลอื่นมาร่วมลงทุนนั้น มีความเสี่ยงที่ตนเองอาจจะเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดเข้าไปด้วย
แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเป็นแม่ทีมหรือไปชักชวนคนอื่นมาลงทุนแล้ว จะต้องเป็นความผิดเสมอไป เพราะหลักที่สำคัญคือแม่ทีมนั้นจะต้องมี “เจตนา” คือรู้หรือควรรู้ว่าธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่ที่หลอกลวงประชาชน
หากขาดเจตนา ตนเองก็เสียหายถูกหลอกลวงไปด้วย แทบไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นแค่ผู้เสียหายเช่นเดียวกัน
คำพิพากษาที่วินิจฉัยเกี่ยวข้องและเป็นแนวทางในการศึกษา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 326/2566
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ร่วมกับนายไสวรู้จักกันเพราะเคยทำงานอยู่ที่สำนักงานทางหลวงที่ 8 จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560 นายไสวส่งข้อความทางเมสเซนเจอร์ชักชวนโจทก์ร่วมให้มาลงทุนกับบริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทระดมเงินไปลงทุนในกิจการต่าง ๆ เช่น ร้านเพชร น้ำมันเครื่องโอดีอาร์ สนามกอล์ฟโอดี ผู้ที่ลงทุนด้วยจะได้ผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือร้อยละ 120 ต่อปี โดยบริษัทจะจ่ายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐเดือนละครั้ง เป็นเวลา 24 เดือน และนายไสวยังส่งข้อมูลการลงทุนรวมทั้งรายได้ที่นายไสวได้รับจากเงินลงทุนกับบริษัทดังกล่าวมาให้โจทก์ร่วมดู โจทก์ร่วมสนใจที่จะลงทุนกับบริษัทจึงติดต่อนายไสวทางโทรศัพท์ นายไสวแจ้งว่าให้โจทก์ร่วมโอนเงินลงทุน 18,500 บาท เข้าบัญชีธนาคารของนายไสวแล้วนายไสวจะนำเงินไปลงทุนตามแพ็กเกจที่บริษัทกำหนดและนายไสวให้ โจทก์ร่วมส่งข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน อีเมล และหมายเลขโทรศัพท์ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 โจทก์ร่วมส่งข้อมูลตามที่นายไสวแจ้งและโอนเงิน 37,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารของนายไสว จากนั้นประมาณ 2 ชั่วโมง มีข้อความส่งมาทางอีเมลแจ้งว่า บริษัทรับโจทก์ร่วมเป็นสมาชิกของบริษัทพร้อมกับแจ้งรหัสประจำตัวผู้ลงทุนของโจทก์ร่วมและรหัสผ่าน แล้วนายไสวส่งข้อมูลเว็บไซต์ของบริษัทให้โจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมเข้าระบบไปตรวจข้อมูลการลงทุนพบว่ามีชื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ลงทุน จำนวนเงินลงทุน และตารางผลตอบแทน จากนั้นนายไสวส่งสลิปการโอนเงินให้โจทก์ร่วมดูโดยนายไสวได้โอนเงินของโจทก์ร่วมไปให้จำเลย
นายไสวแจ้งว่าจำเลยเป็นแม่ทีมที่จะนำเงินของผู้ลงทุนไปลงทุนกับบริษัท เพราะผู้ลงทุนไม่สามารถนำเงินไปลงทุนกับบริษัทได้ด้วยตนเอง นอกจากนายไสวเชิญโจทก์ร่วมเข้าร่วมกลุ่มไลน์ชื่อโอดีเอฟวีไอมีสมาชิกกลุ่ม 25 คน ซึ่งเป็นผู้ที่นำเงินมาลงทุนกับบริษัท มีจำเลยเป็นผู้ดูแลกลุ่มไลน์ดังกล่าว แล้วจำเลยส่งแพ็กเกจการลงทุน กิจการที่บริษัทนำเงินของผู้ลงทุนไปลงทุนในกิจการต่าง ๆ ผลตอบแทนที่จะได้รับ วิธีการลงทุน วิธีการแนะนำชักชวนผู้มาลงทุน รายได้ของผู้ชักชวนหรือแนะนำเข้ามาในกลุ่มไลน์ จำเลยใช้ชื่อในไลน์กลุ่มนี้ว่า “ออมod”
โดยจำเลยจะเป็นผู้ส่งแพ็กเกจการลงทุนกิจการต่าง ๆ ที่บริษัทนำเงินผู้ลงทุนไปลงทุน รวมทั้งผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากบริษัท บอกวิธีการลงทุน และวิธีการแนะนำชักชวนผู้อื่นมาลงทุนกับบริษัท และรายได้ของผู้ชักชวนหรือแนะนำผู้อื่นลงทุนผ่านในไลน์กลุ่ม และนายไสวยังเชิญโจทก์ร่วมเข้าไลน์กลุ่มชื่อไพรเวทเอฟวีไอ มีสมาชิกกลุ่มที่เป็นผู้ลงทุนกับบริษัทประมาณ 14 คน โดยจำเลยก็เป็นผู้ดูแลไลน์กลุ่มดังกล่าวเช่นกัน จำเลยจะส่งข้อมูลแจ้งให้ผู้ลงทุนชักชวนบุคคลอื่นเข้ามาลงทุนกับบริษัท ซึ่งผู้ชักชวนจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าผู้ที่นำเงินมาลงทุนด้วยตนเองในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ของจำนวนเงินผู้ลงทุนนำเงินมาลงทุนกับบริษัท หากมีการลงทุนกับบริษัทตั้งแต่ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐจะได้ของแถมเป็นทองคำ 1 สลึง และจำเลยยังส่งข้อมูลแนะนำการลงทุน แนะนำดูข้อมูลการลงทุนของผู้ลงทุนที่เรียกว่าแพลตฟอร์มผ่านทางไลน์กลุ่มไพรเวทเอฟวีไอด้วย แพ็กเกจการลงทุนจะประกอบด้วยข้อมูลการลงทุนกับการคำนวณผลตอบแทนที่จะได้จากเงินลงทุนกับบริษัท นอกจากนี้มีการประชุมผ่านทางไลน์กลุ่มดังกล่าวด้วย โดยจำเลยเป็นผู้อธิบายรายละเอียดการลงทุนต่าง ๆ ของบริษัท รายได้ของบริษัท และแนะนำวิธีการชักชวนบุคคลอื่นมาลงทุนกับบริษัท
จำเลยจะเน้นย้ำการชักชวนบุคคลอื่นมาลงทุน ต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 โจทก์ร่วมโอนเงินลงทุน 76,350 บาท เข้าบัญชีธนาคารของนายไสวแล้วนายไสวแจ้งว่า โอนเงินลงทุนของโจทก์ร่วมไปเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยแล้ว โจทก์ร่วมตรวจข้อมูลการลงทุนของเงิน 76,350 บาท ได้มีการแปลงเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ที่บริษัทกำหนด ส่วนเงินลงทุนของโจทก์ร่วมในวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 จำนวน 37,000 บาท โจทก์ร่วมได้ผลตอบแทนของเงินลงทุน 70 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 2,350 บาท วันที่ 20 สิงหาคม 2560 โจทก์ร่วมโอนเงิน 37,000 บาท และวันที่ 12 กันยายน 2560 โจทก์ร่วมโอนเงิน 74,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารของนายไสว และในวันที่ 12 ตุลาคม 2560 โจทก์ร่วมก็ได้รับผลตอบแทน 140 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 4,500 บาท ซึ่งโจทก์ร่วมนำเงินดอลลาร์สหรัฐไปแลกเป็นเงินไทยกับนายไสวได้เงิน 4,500 บาท วันที่ 17 ตุลาคม 2560 โจทก์ร่วมโอนเงินลงทุน 18,500 บาท เข้าบัญชีของนายไสวอีก และในวันที่ 6 ธันวาคม 2560 โจทก์ร่วมจะโอนเงินลงทุนไปให้นายไสว แต่นายไสวแนะนำให้โจทก์ร่วมโอนเงินลงทุนเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยโดยตรง เมื่อโจทก์ร่วมติดต่อจำเลย แล้วจำเลยส่งเลขที่บัญชีธนาคาร ก. ของจำเลยมาให้โจทก์ร่วมทางไลน์กลุ่ม ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2560 โจทก์ร่วมเริ่มโอนเงินลงทุน 74,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารของจำเลยและได้สนทนากันผ่านข้อความทางไลน์กลุ่ม
จำเลยได้แนะนำวิธีการลงทุนและผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนให้แก่โจทก์ร่วม จากนั้นโจทก์ร่วมโอนเงินลงทุนเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยอีกรวม 51 ครั้ง รวมเป็นเงิน 3,023,352 บาท โดยได้รับผลตอบแทนเป็นเงินเพียง 312,061 บาท แล้วไม่ได้รับผลตอบแทนของเงินลงทุนอีกเลย หลักฐานที่โจทก์ร่วมโอนเงินลงทุนจากบัญชีธนาคารของโจทก์ร่วมไปเข้าบัญชีธนาคารของนายไสวกับจำเลยตามรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีของธนาคาร ประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2561 โจทก์ร่วมสอบถามจำเลยถึงผลตอบแทนของเงินลงทุนได้รับแจ้งว่า บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงการจ่ายผลตอบแทนจาก 24 เดือน เหลือ 15 เดือน และเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเหรียญดิจิทัลแทนให้โจทก์รอไปก่อน ประมาณกลางเดือนกันยายน 2561 จำเลยนัดโจทก์ร่วมไปพบที่กรุงเทพมหานคร จำเลยบอกโจทก์ร่วมให้รอเพราะต่อไปเหรียญดิจิทัลจะมูลค่าสูงและผลตอบแทนจะได้มากขึ้น โจทก์ร่วมรอจนกระทั่งถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ก็ยังไม่ได้ผลตอบแทนของเงินลงทุนจากบริษัท ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 โจทก์ร่วมจึงแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยกับนายไสว ข้อหาร่วมกันฉ้อโกง ต่อมาโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ไม่ดำเนินคดีแก่นายไสว
และมีนายไสวเป็นพยานเบิกความว่า พยานรู้จักกับนายทนงศักดิ์ ซึ่งเป็นหัวหน้างาน นายทนงศักดิ์ ชักชวนพยานให้ร่วมลงทุนกับบริษัท อ. เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 พยานโอนเงิน 37,000 บาท เข้าบัญชีของนายทนงศักดิ์เพื่อที่จะลงทุนกับบริษัท นายทนงศักดิ์นำพยานเข้ากลุ่มแอปพลิเคชันไลน์ชื่อกลุ่มซัคเซส มีจำเลยเป็นผู้ดูแลกลุ่ม โดยจำเลยจะส่งข้อมูลการลงทุนของบริษัท ผลตอบแทนที่บริษัทจะมอบให้กับผู้ลงทุนให้กับสมาชิกในกลุ่มไลน์ทราบเป็นระยะ ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลเช่นเดียวกับที่นายทนงศักดิ์แนะนำให้กับพยาน ต่อมานายทนงศักดิ์ชักชวนพยานไปสัมมนาการลงทุนกับบริษัทที่กรุงเทพมหานคร พยานพบกับจำเลย ซึ่งจำเลยชักชวนพยานให้ร่วมลงทุนกับบริษัท อ. โดยให้พยานนำบัตรประชาชนของญาติพี่น้องของพยานมาลงทุนกับบริษัท อ. ด้วย พยานจะได้รับค่าคอมมิชชั่นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่มีการลงทุน จำเลยเป็นแม่ทีมเป็นผู้ดูแลสมาชิกในกลุ่มที่มีการลงทุน วันที่ 3 กรกฎาคม 2560 พยานเขียนข้อความผ่านไลน์เข้าไปทักทายโจทก์ร่วมโดยชักชวนโจทก์ร่วมเข้าลงทุนกับบริษัท โจทก์ร่วมสนใจและโอนเข้าบัญชีของพยานเพื่อลงทุนเป็นเงิน 37,000 บาท พยานโอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีของจำเลย ต่อมาวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 จำเลยโอนเงิน 2,380 บาท เข้าบัญชีของพยานเป็นค่าคอมมิชชั่นจากการที่พยานแนะนำโจทก์ร่วมเข้าลงทุนกับบริษัท วันที่ 6 กรกฎาคม 2560 โจทก์ร่วมโอนเงิน 75,850 บาท เข้าบัญชีของพยาน วันที่ 20 สิงหาคม 2560 โจทก์ร่วมโอนเงิน 37,000 บาท วันที่ 12 กันยายน 2560 โจทก์ร่วมโอนเงิน 74,000 บาท วันที่ 16 ตุลาคม 2560 โจทก์ร่วมโอนเงิน 18,500 บาท โจทก์ร่วมโอนเงินลงทุนกับบริษัท อ. ผ่านพยานรวม 5 ครั้ง ซึ่งพยานโอนเงินของโจทก์ร่วมที่จะลงทุนเข้าบัญชีของจำเลย
กับมีร้อยตำรวจเอกอำนาจ และพันตำรวจโทสิทธิพงษ์ พนักงานสอบสวนเป็นพยาน โดยร้อยตำรวจเอกอำนาจเบิกความว่า เป็นผู้ทำบันทึกคำให้การชั้นสอบสอบของผู้เสียหายในฐานะผู้กล่าวหาและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายไสวในฐานะพยาน ส่วนพันตำรวจโทสิทธิพงษ์เบิกความว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคลจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุโขทัย ไม่พบชื่อบริษัท อ. จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และเมื่อตรวจสอบรายการเดินบัญชีธนาคารของผู้เสียหายกับจำเลยแล้วพบมีรายการโอนเงินจากบัญชีธนาคารของผู้เสียหายไปยังบัญชีธนาคารของจำเลย ส่วนจำเลยนำสืบว่า จำเลยรู้จักโจทก์ร่วมเนื่องจากนายไสวเป็นผู้แนะนำให้โจทก์ร่วมเข้าลงทุนกับบริษัทและเชิญโจทก์ร่วมเข้ากลุ่มซัคเซสด้วย ในกลุ่มซัคเซสจะมีการส่งข้อมูลของบริษัท ในการลงทุนกับบริษัท ผู้ลงทุนสามารถลงทุนกับบริษัทโดยตรงหรือจะลงทุนผ่านผู้แนะนำแล้วแต่จะเลือก แต่ส่วนใหญ่ผู้ลงทุนมักจะลงทุนโดยโอนเงินผ่านผู้แนะนำ ซึ่งในกรณีของโจทก์ร่วม นายไสวเป็นผู้แนะนำให้โจทก์ร่วมเข้าลงทุน โจทก์ร่วมจะโอนเงินให้นายไสวเพื่อลงทุนกับบริษัท ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม 2560 นายไสวแจ้งว่า โจทก์ร่วมจะโอนเงินให้นายไสวเพื่อลงทุนกับบริษัท โดยจะโอนเงินลงทุนให้จำเลย
หลังจากโจทก์ร่วมโอนเงินให้จำเลยแล้ว จำเลยก็นำเงินที่โจทก์ร่วมลงโจทก์ร่วมลงทุนในนามของบุคคลที่โจทก์ร่วมใช้ชื่อในการลงทุนแทนไปลงทุนแทนให้ตามที่โจทก์ร่วมแจ้ง โจทก์ร่วมเริ่มลงทุนผ่านจำเลย โดยโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลย ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2560 เป็นต้นมารวมทั้งหมด 51 ครั้ง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 จำเลยถอนเงินจากธนาคาร ก. 400,000 บาท เพื่อไปซื้อหน่วยลงทุนกับบริษัท จำเลยจึงมีนำหน่วยลงทุนในขณะนั้น 49 lot ต่อมาเมื่อวันที่ 8 และ 9 ธันวาคม 2560 โจทก์ร่วมโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยเป็นเงิน 74,000 บาท และ 37,000 บาท เพื่อซื้อหน่วยลงทุนกับบริษัท จำเลยจึงนำหน่วยลงทุนที่จำเลยซื้อมาก่อนโอนเข้าระบบของโจทก์ร่วม
เห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากโจทก์ร่วมและนายไสวต่างเบิกความถึงเหตุการณ์ที่สอดคล้องเชื่อมโยงกันจึงมีน้ำหนักให้รับฟังเจือสมกับทางนำสืบของจำเลย ฟังได้ว่า โจทก์ร่วมโอนเงินให้จำเลยเพื่อลงทุนกับบริษัท อ. การที่จำเลยส่งแพ็กเกจการลงทุน กิจการต่าง ๆ ที่บริษัทนำเงินผู้ลงทุนไปลงทุน รวมทั้งผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากบริษัท บอกวิธีการแนะนำชักชวนผู้อื่นมาลงทุนกับบริษัท และรายได้ของผู้ชักชวนหรือแนะนำผู้อื่นลงทุนในไลน์กลุ่ม โดยมีเว็บไซต์ประกอบ
ฟังได้ว่า จำเลยแสดงเนื้อหาและข้อมูลต่อประชาชนหรือบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงได้ และข้อเท็จจริงได้ความจากพันตำรวจโทสิทธิพงษ์ว่า พยานตรวจสอบการมีอยู่บริษัทบริษัท อ. กับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุโขทัยพบว่าไม่มีชื่อในนิติบุคคลจดทะเบียนไว้ โดยจำเลยตอบคำถามค้านโจทก์ว่าบริษัท อ. จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่นั้น จำเลยไม่ทราบ แสดงว่า บริษัท อ. อาจจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่ ก็ได้ การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจึงเป็นข้อมูลสำคัญที่จำเลยต้องแจ้งในกลุ่มไลน์ด้วยเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน การที่จำเลยไม่แจ้งข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้ที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อยแต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญและคำว่า “ประชาชน” หมายถึงบุคคลทั่วไป ไม่จำกัดตัวว่าเป็นบุคคลใด มีลักษณะเป็นการแสดงต่อประชาชนทั่วไป มิได้เจาะจงคนหนึ่งคนใดเป็นพิเศษโดยเฉพาะ และไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำการต่อผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้น ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยจะซื้อหน่วยลงทุนผ่านนายทินภัทร และจำเลยสนทนาการซื้อขายหน่วยลงทุนกับนายทินภัทรผ่านไลน์ จำเลยนำเงินที่ได้รับจากโจทก์ร่วมรวมกับเงินของจำเลยเพื่อซื้อหน่วยลงทุนของบริษัทเข้าบัญชีของนายบัณฑิตและนายทินภัทร จำเลยพูดคุยกับนายทินภัทรผ่านไลน์ว่าโอนเงินต่อให้นางสาววริญญรัศมิ์ และจำเลยก็โอนเงินลงทุนกับบริษัท อ. โดยซื้อหน่วยลงทุนจากนายทินภัทร น่าจะเป็นแผนการหลอกลวงโจทก์ร่วมและประชาชนให้หลงเชื่อนำเงินมาลงทุนตามเจตนาของจำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยไม่ได้เป็นคนชักชวนโจทก์ร่วม จำเลยไม่ได้เป็นผู้บริหารของบริษัทจึงไม่ถูกจับกุมดำเนินคดี ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ร่วม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยฟังได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ไม่ระบุมาตรา 83 ไว้ยังไม่ถูกต้องเพราะจำเลยมิได้กระทำความผิดโดยลำพัง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 596/2561
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนหนึ่งที่ถูกนางเดือนเพ็ญพูดหลอกลวงให้นำเงินมาร่วมลงทุน ส่วนจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และนางเดือนเพ็ญกระทำความผิด สำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์มีผู้เสียหายที่ 8 ที่ 9 และที่ 11 เบิกความเป็นพยานได้ความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 พูดชักชวนผู้เสียหายทั้งสามร่วมลงทุนทำธุรกิจปล่อยเงินกู้ในสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการตำรวจภูสิงห์ รับจำนำรถบริเวณตลาดช่องสะงำ หรือปล่อยเงินกู้ให้แก่ลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกับนางเดือนเพ็ญ ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ส่วนผู้เสียหายที่ 7 เบิกความว่า นางเดือนเพ็ญมาที่โรงเรียนบ้านขะยูงและอธิบายเกี่ยวกับการลงทุนในลักษณะเดียวกัน จากนั้นผู้เสียหายที่ 7 โทรศัพท์ไปหานางเดือนเพ็ญ ผู้เสียหายทั้งสี่หลงเชื่อจำเลยที่ 1 กับนางเดือนเพ็ญ จึงมอบเงินให้จำเลยที่ 1 นำไปลงทุนกับนางเดือนเพ็ญหลายครั้ง และจำเลยที่ 1 นำผลประโยชน์ตอบแทนมาจ่ายให้ผู้เสียหายทั้งสี่ สำหรับผู้เสียหายที่ 14 เบิกความว่า ขณะผู้เสียหายที่ 14 ไปประชุมกลุ่มโรงเรียน พบจำเลยที่ 1 กับเพื่อนครูหลายคน ได้ยินกลุ่มเพื่อนครูพูดกันว่านำเงินไปลงทุนกับนางเดือนเพ็ญได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน นางเดือนเพ็ญมาที่โรงเรียนบ้านแก และชักชวนผู้เสียหายที่ 14 ทำธุรกิจรับจำนำรถบริเวณตลาดช่องสะงำ ผู้เสียหายที่ 14 ชวนจำเลยที่ 1 ไปเป็นเพื่อนเพื่อถอนเงินที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ แล้วนำเงินไปให้นางเดือนเพ็ญด้วยกัน และผู้เสียหายที่ 13 เบิกความว่า ขณะผู้เสียหายที่ 13 รับประทานอาหารกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 พูดเกี่ยวกับการนำเงินไปลงทุนกับนางเดือนเพ็ญ ที่ทำธุรกิจรับจำนำรถบริเวณตลาดช่องสะงำ และปล่อยเงินกู้ให้แก่ลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ผู้เสียหายที่ 13 ขอหมายเลขโทรศัพท์ของนางเดือนเพ็ญจากจำเลยที่ 1 เพื่อติดต่อลงทุน นางเดือนเพ็ญให้หมายเลขบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 สำหรับโอนเงินส่วนผลประโยชน์ตอบแทน จำเลยที่ 1 จะโอนเข้าบัญชีธนาคารให้ผู้เสียหายที่ 13 ต่อมานางเดือนเพ็ญไม่จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนตามกำหนดนัด จึงติดตามทวงถามแต่นางเดือนเพ็ญขอผัดผ่อน เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 และที่ 13 เบิกความสอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญยืนยันข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ชักชวนให้มาร่วมลงทุนกับนางเดือนเพ็ญ โดยเสนอจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน และรับเงินจากผู้ร่วมลงทุนนำไปให้นางเดือนเพ็ญ โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ส่วนผู้เสียหายที่ 7 และที่ 14 ก็ยืนยันว่าฝากเงินให้จำเลยที่ 1 นำไปให้นางเดือนเพ็ญ เมื่อนางเดือนเพ็ญจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนได้โอนเงินจากบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 เข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 1 จากนั้น จำเลยที่ 1 จะนำเงินมาจ่ายให้ผู้เสียหายทั้งหก นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 14 ว่า เมื่อนางเดือนเพ็ญยืมเงิน 300,000 บาท จากผู้เสียหายที่ 14 โดยอ้างว่า จะนำเงินไปช่วยจำเลยที่ 2 เพื่อเลื่อนตำแหน่ง จำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันด้วย ซึ่งหากจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ร่วมลงทุนธรรมดาโดยถูกนางเดือนเพ็ญหลอกลวงแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีหน้าที่จะต้องลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันนางเดือนเพ็ญในจำนวนเงินที่สูงขนาดนั้นเพราะอาจจะต้องรับผิดชำระหนี้แทนหากนางเดือนเพ็ญไม่ชำระ ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 เบิกความอ้างว่าห้ามผู้เสียหายที่ 14 ไม่ให้นางเดือนเพ็ญยืมเงินจำนวนดังกล่าวเพราะไม่มีงานทำ การที่จำเลยที่ 1 ยอมทำเช่นนั้นก็คงให้ความมั่นใจแก่ผู้เสียหายที่ 14 เพื่อผู้เสียหายที่ 14 จะได้นำเงินมาร่วมลงทุนมากขึ้น จึงเป็นการเกินเลยหน้าที่ของผู้ถูกหลอกลวงพึงกระทำ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งหกมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสอง ทั้งได้ความว่าผู้เสียหายทั้งหกเป็นเพื่อนจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ดังกล่าวจะเบิกความกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยทั้งสองให้ต้องรับโทษ เพราะแม้แต่ผู้เสียหายที่ 8 ที่ 9 และที่ 11 จะเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ชักชวนให้ร่วมลงทุน แต่ขณะเบิกความผู้เสียหายที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 13 และที่ 14 ก็ขอถอนคำร้องทุกข์จำเลยที่ 1 เหตุผลดังกล่าวมีน้ำหนักเชื่อได้ว่าผู้เสียหายทั้งหกเบิกความไปตามความจริง
ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า ถูกนางเดือนเพ็ญชักขวนให้ร่วมลงทุนและมิได้ชักชวนผู้เสียหายทั้งหกให้ร่วมลงทุน แม้จะมีนายไชยโรจน์และนายเพิ่มศักดิ์เบิกความสนับสนุนทำนองเดียวกันว่านางเกศกานต์ดาหรือชไมพรชักชวนจำเลยที่ 1 และพยานทั้งสองร่วมลงทุน จำเลยที่ 1 กับพยานทั้งสองจึงร่วมลงทุนกับนางเกศกานต์ดา หลังจากได้รับผลประโยชน์ตอบแทนประมาณ 2 เดือน นางเกศกานต์ดาพาจำเลยที่ 1 กับพยานไปดูธุรกิจรับจำนำรถที่อำเภอภูสิงห์และแนะนำให้รู้จักนางเดือนเพ็ญ โดยได้ความเพิ่มเติมจากคำเบิกความของนายไชยโรจน์ว่า นางเดือนเพ็ญบอกว่าจะโอนเงินผลประโยชน์ตอบแทนเข้าบัญชีธนาคารของพยาน แต่พยานจำหมายเลขบัญชีธนาคารไม่ได้จึงบอกให้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 1 ก่อน จากนั้นให้จำเลยที่ 1 นำมาจ่ายพยานก็ไม่มีเหตุผลให้รับฟัง
เพราะได้ความจากคำเบิกความของนายไชยโรจน์และนายเพิ่มศักดิ์ทำนองเดียวกันว่า เมื่อไม่ได้เงินผลประโยชน์ตอบแทน พยานทั้งสองไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีนางเดือนเพ็ญ เนื่องจากร่วมลงทุนกับนางเกศกานต์ดา ต่อมานางเกศกานต์ดาทยอยจ่ายเงินให้นายไชยโรจน์จนครบถ้วน แต่นายเพิ่มศักดิ์ยังไม่ครบ กรณีดังกล่าวน่าจะรับฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 นายไชยโรจน์และนายเพิ่มศักดิ์ร่วมลงทุนกับนางเกศกานต์ดา ดังจะเห็นได้จากข้อความระบุในหนังสือมอบอำนาจ หามีน้ำหนักหักล้างให้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ไม่
ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ทำนองเดียวกันว่านางเดือนเพ็ญชักชวนให้ผู้เสียหายทั้งสี่ลงทุนทำธุรกิจปล่อยเงินกู้ในสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการตำรวจ ธุรกิจรับจำนำรถบริเวณตลาดช่องสะงำ หรืออ้างว่าขอกู้ยืมเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสอบเลื่อนตำแหน่งของจำเลยที่ 2 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน นางเดือนเพ็ญให้หมายเลขบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ไว้สำหรับโอนเงินลงทุน กับบอกว่าจำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการตำรวจ โดยได้ความเพิ่มเติมจากผู้เสียหายที่ 4 ว่า เคยไปสอบถามจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับเงินที่นางเดือนเพ็ญยืมไป จำเลยที่ 2 บอกว่าจะติดตามนางเดือนเพ็ญและจะดูแลให้และยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 5 ทำนองเดียวกันว่านางกรรณิกาหรือจ๋าพานางเดือนเพ็ญมาแนะนำให้รู้จักพร้อมกับบอกว่าสามีของนางเดือนเพ็ญเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ นางเดือนเพ็ญขอกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 1 และที่ 5 อ้างว่านำไปลงทุนธุรกิจส่วนตัว ให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน โดยนางเดือนเพ็ญทำหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่กับผู้เสียหายที่ 1 พร้อมมอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 2 ให้ด้วย
โดยได้ความเพิ่มเติมจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่า ขณะไปทวงเงินที่บ้านนางเดือนเพ็ญพบจำเลยที่ 2 จึงบอกเรื่องที่นางเดือนเพ็ญยืมเงินไป จำเลยที่ 2 บอกว่าไม่ทราบเรื่อง แต่ถามผู้เสียหายที่ 1 ว่า จะผ่อนให้เดือนละ 5,000 บาท ได้หรือไม่
กับได้ความต่อไปจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 10 และที่ 12 โดยผู้เสียหายที่ 10 เบิกความว่า ปลายปี 2555 ผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นพี่ชักชวนให้ลงทุนกับนางเดือนเพ็ญ จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงิน 3,000 ถึง 5,000 บาท ต่อมานางเดือนเพ็ญชักชวนผู้เสียหายที่ 10 ลงทุนทำธุรกิจปล่อยเงินกู้ ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเดือนละ 5,000 บาท ผู้เสียหายที่ 10 โอนเงิน 30,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ตามที่นางเดือนเพ็ญให้มา หลังจากนั้น 2 วัน นางเดือนเพ็ญโอนเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้ 10,000 บาท พร้อมชักชวนลงทุนเพิ่ม ผู้เสียหายที่ 10 ลงทุนเพิ่มหลายครั้งและได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ต่อมาไม่ได้รับเงินต้นและผลประโยชน์ตอบแทน
ส่วนผู้เสียหายที่ 12 เบิกความว่า ทราบจากผู้เสียหายที่ 4 ว่าลงทุนทำธุรกิจรับจำนำรถบริเวณตลาดช่องสะงำกับนางเดือนเพ็ญให้หมายเลขบัญชีของจำเลยที่ 2 สำหรับโอนเงิน ผู้เสียหายที่ 4 โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารดังกล่าวหลายครั้ง
เห็นว่า แม้ไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนที่นางเดือนเพ็ญชักชวนผู้เสียหายทั้งสิบสี่ลงทุนทำธุรกิจด้วย แต่การที่จำเลยที่ 2 มอบบัตรฝากถอนเงินอัตโนมัติกับสมุดบัญชีธนาคารของตนให้นางเดือนเพ็ญ และไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยอ้างว่าให้นางเดือนเพ็ญดูแลค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวนั้นเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อถือ เพราะจำเลยที่ 2 กับนางเดือนเพ็ญอาศัยอยู่ด้วยกัน และจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ได้ความว่า จำเลยที่ 2 ลงทุนเปิดร้านอาหารให้นางเดือนเพ็ญ มีค่าใช้จ่ายวันละ 2,000 ถึง 3,000 บาท ต้องแบ่งเงินเดือนเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่เกิดจากภริยาเก่าเดือนละ 4,000 ถึง 5,000 บาท ดำเนินชีวิตโดยอาศัยรายได้จากการขายอาหาร ทั้งมีรายได้ไม่แน่นอนเพราะจะต้องนำเงินไปหักชำระหนี้เงินกู้จากธนาคารและสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการตำรวจ แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีปัญหาทางด้านการเงิน จึงเป็นการผิดปกติวิสัยที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางบัญชี ประกอบกับผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 เบิกความยืนยันว่าพบจำเลยที่ 2 ที่บ้านขณะไปทวงเงินนางเดือนเพ็ญ โดยจำเลยที่ 2 ถามผู้เสียหายที่ 1 ว่า จะผ่อนให้เดือนละ 5,000 บาท ได้หรือไม่ กับบอกผู้เสียหายที่ 4 ว่าจะติดตามนางเดือนเพ็ญและจะดูแลให้ ซึ่งจำเลยที่ 2 เบิกความรับว่าผู้เสียหายที่ 1 เคยมาสอบถามเรื่องนางเดือนเพ็ญยืมเงินไป 50,000 บาท ชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ทราบถึงการกระทำของนางเดือนเพ็ญ
การที่จำเลยที่ 2 มอบบัตรฝากถอนเงินอัตโนมัติกับสมุดบัญชีธนาคารของตนให้นางเดือนเพ็ญมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า จำเลยที่ 2 รู้ว่าจะมีการนำไปใช้ในการกระทำความผิด ตามพฤติการณ์ดังกล่าวน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นและเกี่ยวข้องกับนางเดือนเพ็ญและจำเลยที่ 1 โดยวางแผนเป็นขั้นตอนเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดทางกฎหมาย ซึ่งมีลักษณะของการแบ่งหน้าที่กันทำ การที่จำเลยทั้งสองกับพวกชักชวนผู้เสียหายทั้งสิบสี่และบุคคลอื่นให้นำเงินมาลงทุน ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าไม่มีการประกอบกิจการจริง การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกจึงเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบสี่และบุคคลทั่วไปไม่จำกัดว่าเป็นใคร อันเป็นการหลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยเจตนาทุจริต ทำให้ผู้เสียหายทั้งสิบสี่หลงเชื่อมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองกับพวกไป จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก และการกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกดังกล่าวเป็นการกู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3 และเป็นการชักชวนว่า ในการกู้ยืมเงินจำเลยทั้งสองกับพวกจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้สูงกว่าอัตราสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินที่พึงจ่ายได้ โดยจำเลยทั้งสองกับพวกรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าจำเลยทั้งสองกับพวกจะนำเงินจากผู้เสียหายทั้งสิบสี่หรือบุคคลอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสิบสี่ หรือโดยที่จำเลยทั้งสองกับพวกรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าจำเลยทั้งสองกับพวกไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาได้ และเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองกับพวกได้กู้ยืมเงินไป จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตาม มาตรา 4, 12 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวอีกบทหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2537
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าเดิมจำเลยรับราชการอยู่ที่กองการร้านค้ากรมสวัสดิการทหารอากาศปลดเกษียณเมื่อปี 2527 บริษัทอินเตอร์คอเร็คท์ จำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2527 ระหว่างวันที่ 21มีนาคม 2528 ถึงวันที่ 29 มกราคม 2530 มีจำเลยเป็นกรรมการอยู่ด้วยคนหนึ่ง ตามเอกสารหมาย จ.44 ถึง จ.47 ตามวันเวลาวันเกิดเหตุผู้เสียหายทั้ง 10 คน ได้มอบเงินให้แก่จำเลย และเรืออากาศโทสมปองจันทร์หอม ในฐานะจำเลยและพวกของจำเลยเป็นผู้แทนของบริษัทอินเตอร์คอเร็คท์ จำกัด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 460,000 บาทมีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนางบังอร แก้วพลอย เรืออากาศโทหญิงยุพยงค์ ทองรอง หรือสมนึกพันจ่าอากาศเอกสุรพล ศรีนิล นางสมุทร ศรีนิล พันจ่าอากาศเอกวัชระ แพงจันทร์ นาวาอากาศเอกสมบัติ มีฤทธิ์ เรืออากาศตรีสมควร ปั้นแตง ผู้เสียหายทั้ง 7 คน ซึ่งส่วนใหญ่ระหว่างเกิดเหตุรับราชการอยู่ที่กรมสวัสดิการทหารอากาศเป็นพยานเบิกความว่า
จำเลยได้ไปที่กรมสวัสดิการทหารอากาศและพูดชักชวนข้าราชกรมสวัสดิการทหารอากาศรวมทั้งผู้เสียหายทั้ง 7 คน ให้นำเงินไปร่วมลงทุนกับบริษัทอินเตอร์คอเร็คท์ จำกัด โดยอ้างว่าบริษัทอินเตอร์คอเร็คท์จำกัด ประกอบกิจการสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าไว้เก็งกำไร และจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการฝ่ายการเงิน แล้วมอบนามบัตรของจำเลยที่แสดงว่าเป็นกรรมการผู้จัดการฝ่ายการเงินของบริษัทอินเตอร์คอเร็คท์ จำกัดให้แก่ผู้สนใจจะร่วมลงทุนไว้ ตามเอกสารหมาย จ.8
จำเลยพูดรับรองว่าบริษัทอินเตอร์คอเร็คท์ จำกัด จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ร่วมลงทุนร้อยละ 8.5 ต่อเดือน และจำเลยจะกันเงินจำนวน 500,000บาท ถึง 600,000 บาท ไว้คืนให้แก่ผู้ร่วมลงทุนหากการดำเนินกิจการของบริษัทอินเตอร์คอเร็คท์ จำกัด ต้องล้มเลิก
นายเสวียง ขวัญจิตนางสุนทรี พวงสุมาลี เรืออากาศโทนันทิชัย นวลจันทร์ ผู้เสียหายอีก 3 คน ก็ถูกเรืออากาศโทสมปอง จันทร์หอม พวกของจำเลยซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริษัทอินเตอร์คอเร็คท์ จำกัดชักชวนให้นำเงินไปร่วมลงทุนทำนองเดียวกันกับที่จำเลยชักชวนผู้เสียหายทั้ง 7 คนดังกล่าว ผู้เสียหายทั้ง 10 คน มอบเงินให้แก่จำเลยและพวกของจำเลยไปรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 460,000 บาท และในการรับเงินจากผู้เสียหายจำเลยกับพวกได้ทำหนังสือสัญญาจะลงหุ้นให้แก่ผู้เสียหายทั้ง 10 คนไว้ ตามเอกสารหมาย จ.36 จ.39 จ.16จ.22 จ.2 จ.4 จ.27 จ.53 จ.33 จ.12 และ จ.18 โดยจำเลยกับกรรมการของบริษัทอินเตอร์คอเร็คท์ จำกัด ร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญกระทำการแทนหลายฉบับตามเอกสารหมาย จ.36 จ.39จ.16 จ.2 จ.4 จ.27 จ.53 และ จ.12
นอกจากนี้จำเลยเป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้เสียหายโดยลงชื่อในช่องผู้รับเงินในฐานะกรรมการผู้จัดการฝ่ายการเงิน ตามเอกสารหมาย จ.1 จ.3 จ.11 จ.15จ.17 จ.21 จ.26 จ.32 และ จ.54 หลังจากรับเงินผู้เสียหายทั้ง 10 คนแล้ว บริษัทอินเตอร์คอเร็คท์ จำกัด จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาให้แก่ผู้เสียหายทั้ง 10 คน โดยผู้เสียหายที่ได้รับมากที่สุดไม่เกิน 4 เดือน แล้วไม่จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้อีก
พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกัน โดยอ้างเอกสารประกอบคำเบิกความ จึงมีน้ำหนักอันควรแก่การรับฟัง จำเลยนำสืบปฏิเสธเพียงลอย ๆ ว่าจำเลยมิได้ชักชวนผู้เสียหายทั้ง 10 คน หรือบุคคลอื่นใดให้นำเงินมาลงทุนกับบริษัทอินเตอร์คอเร็คท์ จำกัด ไม่มีพยานอื่นมาสืบประกอบคำเบิกความของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักอันควรแก่การรับฟัง ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยและบุตรตลอดทั้งญาติพี่น้องของจำเลยได้นำเงินมาลงทุนเพื่อแสวงหากำไรมาแบ่งปันกันด้วยนั้น จำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการฝ่ายการเงินของบริษัทอินเตอร์คอเร็คท์ จำกัด สามารถถอนเงินออกมาไม่ให้เกิดความเสียหายได้ การที่จำเลยและบุตรตลอดทั้งญาติพี่น้องของจำเลยนำเงินมาลงทุนในบริษัทอินเตอร์คอเร็คท์ จำกัดน่าจะเป็นแผนการหลอกลวงผู้เสียหายทั้ง 10 คน และบุคคลอื่นให้หลงเชื่อนำเงินมาลงทุนเสียอีก พยานหลักฐานจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ฟังได้ว่าจำเลยกับพวกได้ชักชวนผู้เสียหายทั้ง 10 คน และบุคคลอื่นให้นำเงินมาลงทุนกับบริษัทอินเตอร์คอเร็คท์ จำกัด และข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของนางน้ำทิพย์ พันไพศาล พยานโจทก์ซึ่งเป็นนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครว่า บริษัทอินเตอร์คอเร็คท์ จำกัด ไม่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อเก็งกำไรเพราะวัตถุประสงค์ดังกล่าวต้องห้ามตามมติคณะรัฐมนตรี นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนให้ไม่ได้ การที่จำเลยกับพวกชักชวนผู้เสียหายทั้ง 10 คน และบุคคลอื่นอีกให้นำเงินมาลงทุนกับบริษัทอินเตอร์คอเร็คท์ จำกัด เพื่อประกอบกิจการสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อเก็งกำไรทั้ง ๆ ที่จำเลยรู้อยู่ว่าบริษัทอินเตอร์คอเร็คท์จำกัด ไม่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการดังกล่าว และการประกอบกิจการตามที่อ้างจะมีขึ้นไม่ได้แน่นอน การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายทั้ง 10 คน และบุคคลทั่ว ๆ ไปไม่จำกัดว่าเป็นใคร อันเป็นการหลอกลวงประชาชน ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยเจตนาทุจริตจากการหลอกลวงนั้น ทำให้ผู้เสียหายทั้ง 10 คน หลงเชื่อมอบเงินให้แก่จำเลยกับพวกไป จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคแรก และการกระทำของจำเลยกับพวกที่ชักชวนผู้เสียหายทั้ง 10 คน และบุคคลทั่ว ๆ ไป ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป เข้าร่วมลงทุนกับบริษัทอินเตอร์คอเร็คท์ จำกัด ดังกล่าวเป็นการกู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 3 และเป็นการชักชวนว่าในการกู้ยืมเงินจำเลยหรือบริษัทอินเตอร์คอเร็คท์ จำกัด จะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินที่พึงจ่ายได้ขณะนั้นไม่เกินร้อยละ16 ต่อปี ตามประกาศกระทรวงการคลัง โดยจำเลยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าจำเลยหรือบริษัทอินเตอร์คอเร็คท์ จำกัด จะนำเงินจากผู้เสียหายทั้ง 10 คน หรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้เสียหายทั้ง 10 คนหรือโดยที่จำเลยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าจำเลยหรือบริษัทอินเตอร์คอเร็คท์ จำกัด ไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตราร้อยละ 72 ถึง 108 ต่อปีตามสัญญาได้และเป็นเหตุให้จำเลยกับพวกหรือบริษัทอินเตอร์คอเร็คท์ จำกัด ได้กู้ยืมเงินไป จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 4, 12 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวอีกบทหนึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10330/2557
แม้พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้เพียงว่าจำเลยพูดหลอกลวงชักชวนนางปัทมพรรณ ผู้เสียหายที่ 5 เพียงคนเดียวให้เข้าร่วมลงทุน ส่วนผู้เสียหายอื่นถูกผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นพูดหลอกลวงชักชวนให้เข้าร่วมลงทุน แต่ความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน องค์ประกอบสำคัญ คือ มีผู้ร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป ร่วมกันหลอกลวงผู้อื่น ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน องค์ประกอบสำคัญคือ ผู้กระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป ร่วมกันโฆษณาหรือประกาศต่อประชาชนหรือกระทำการด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปในการกู้ยืมเงิน ผู้ร่วมกระทำความผิดอาจกระทำการในลักษณะแบ่งงานกันทำ ไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเอง
เพียงจำเลยกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายที่ 5 โดยแนะนำตนเองว่าเป็นผู้ช่วยผู้บริหาร และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน พาผู้เสียหายที่ 5 เดินชมสถานที่ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 30 คน นั่งประจำเครื่องคอมพิวเตอร์หลายเครื่องจนผู้เสียหายที่ 5 หลงเชื่อและมอบเงินให้จำเลย ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 11 ก็ถูกพวกของจำเลยหลอกลวงในทำนองเดียวกัน แสดงว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกันหลอกลวงประชาชนและกระทำต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป โดยแบ่งงานกันทำกับพวกของจำเลย เป็นผลให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนหลงเชื่อ และมอบเงินให้แก่จำเลยกับพวกตามฟ้อง จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันเป็นตัวการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนทั้งสิบเอ็ดกระทงตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายที่ 5 เพียงกระทงเดียวนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย | ||
คดีหมายเลขดำที่ 212/2558
คดีหมายเลขแดงที่ 7844/2558 |
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
นาย พ.กับพวก จำเลย |
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นหรือกรรมการของบริษัทซีวัน นูเทรี้ยน จำกัด ดังนั้น หากจะฟังว่าจำเลยที่ 4 ร่วมกระทำความผิดกับบริษัทซีวัน นูเทรี้ยน จำกัด ต้องได้ความว่าจำเลยที่ 4 ร่วมกับพวกโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำการด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปว่า ในการกู้ยืมเงินตนหรือบุคคลใดจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเงินของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป จึงจะถือว่าจำเลยที่ 4 กระทำความผิดฐานให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเรื่องนี้พยานโจทก์ปากร้อยตำรวจเอก ษ. อ้างว่า จำเลยที่ 4 กระทำความผิดเนื่องจากจำเลยที่ 4 ทำหน้าที่บรรยายแผนการตลาดและเป็นผู้ชักจูงโน้มน้าวให้ผู้เสียหายเห็นถึงความสำเร็จที่จะสมัครเป็นสมาชิกและร่วมลงทุนกับบริษัทซีวัน นูเทรี้ยน จำกัด คำเบิกความพยานโจทก์ปากร้อยตำรวจเอก ษ. เป็นเพียงพยานบอกเล่า ซึ่งตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.39 ปรากฏว่า นางสาว ป. ผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 4 เป็นอาจารย์หรือวิทยากรคนสำคัญของบริษัทซีวัน นูเทรี้ยน จำกัด มีหน้าที่บรรยายแผนการตลาด และคอยพูดจาชักชวนโน้มน้าวให้มาสมัครสมาชิก แต่โจทก์กลับมิได้นำนางสาว ป. มาเบิกความว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่นางสาว ป. ให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ ประจักษ์พยานโจทก์มีเพียงนาง ร. และนาง ต. แต่ผู้เสียหายทั้งสองปากนี้มิได้เบิกความยันว่าจำเลยที่ 4 กระทำการเช่นนั้น มีเพียงพยานโจทก์ปากนาง ร. ผู้เสียหายที่เบิกความว่า เห็นจำเลยที่ 4 เดินไปมาอยู่ภายในบริษัทซีวัน นูเทรี้ยน จำกัด เท่านั้น ข้ออ้างของร้อยตำรวจเอก ษ. ที่อ้างว่า จำเลยที่ 4 กระทำความผิดประการต่อไปมีว่า ตามเอกสารหมาย จ.13 ลำดับที่ 23 ปรากฏว่าบริษัทซีวัน นูเทรี้ยน จำกัด จ่ายผลตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 4 จำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 เป็นตัวการในการกระทำความผิดนั้น จำเลยที่ 4 เบิกความว่า ในเบื้องต้นที่จำเลยที่ 4 ทำงานที่บริษัทซีวัน นูเทรี้ยน จำกัด รายได้ยังไม่ดีเท่าที่ควร ศาลอุทธรณ์ได้ตรวจเอกสารหมาย จ.13 ซึ่งเป็นของกลางตามบัญชีของกลางลำดับที่ 23 แล้วไม่ปรากฏว่าบริษัทซีวัน นูเทรี้ยน จำกัด จ่ายผลตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 4 จำนวนมากดังที่โจทก์อ้าง เมื่อพิจารณาประกอบกับจำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของศาล ประกอบกับเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 4 อยู่ระหว่างว่างงาน จึงไปสมัครเป็นสมาชิกของบริษัทซีวัน นูเทรี้ยน จำกัด เสียค่าสมัครสมาชิกและเงินค่าสินค้าประมาณ 2,900 บาท เมื่อทำงานได้สักระยะหนึ่งพอมีประสบการณ์บ้าง บริษัทซีวัน นูเทรี้ยน จำกัด จึงให้จำเลยที่ 4 พูดคุยประสบการณ์ในการขายตรงให้แก่สมาชิกที่เข้ามาใหม่ประมาณ 2 ถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรโดยตรง แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการบรรยายให้แก่สมาชิกใหม่ฟัง โดยทำเพียง 2 ถึง 3 ครั้ง เท่านั้น พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวจึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 4 กระทำความผิดหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 มานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ฟังขึ้น
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย | ||
คดีหมายเลขดำที่ 1990-1993/2557
คดีหมายเลขแดงที่ 23452-23455/2557 |
พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
นาย อ. โจทก์ร่วม บริษัทอีซี่เน็ตเวิร์คมาร์เก็ตติ้งจำกัด จำเลย นายปฐมอัญสกุล จำเลย |
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 7 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวกฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 7 โจทก์มีผู้เสียหายหลายราย อาทิเช่น นาย ส. นาง จ. พันโท จ. นาง ม. นาย บ. นาย ธ. นางสาว ร. นาง ร. นาย ว. นาย ท. นางสาว ด. นาย ข. นาง น. นาง ม. นาง ท. นาง ค. นาย ศ. นาย ก. นางสาว พ. นาย ช. นาย พ. และนาย ม. เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 และที่ 7 เป็นวิทยากรของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 7 เป็นวิทยากรประจำสำนักงานใหญ่ ณ กรุงเทพมหานคร ส่วนจำเลยที่ 3 นอกจากเป็นวิทยากรแล้วยังมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการหรือผู้อำนวยการภาคของจำเลยที่ 1 ประจำอยู่ที่สำนักงานสาขาจังหวัดนครราชสีมา การดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกจัดให้มีการบรรยายเพื่อชักชวนบุคคลทั่วไปให้มาสมัครเป็นสมาชิกหรือร่วมลงทุนหลายครั้งหลายหนและหลายแห่ง ซึ่งเป็นการบรรยายเกี่ยวกับแผนการตลาด การลงทุนและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุนรวมถึงวิธีการจ่ายเงินปันผล ผู้เสียหายดังกล่าวเห็นจำเลยที่ 3 และที่ 7 บรรยายเกี่ยวกับแผนการตลาดและการลงทุน โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้มาชักชวนให้ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 อ้างว่าตนเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 สาขานครราชสีมาและหากร่วมลงทุนจะได้รับผลตอบแทนสูงประมาณอัตราร้อยละ 70 ของเงินลงทุน จำเลยที่ 3 เคยมอบนามบัตรของตนให้แก่ผู้เสียหาย และจำเลยที่ 3 เคยขึ้นเวทีมอบรถยนต์กระบะดีแม็คให้แก่สมาชิกผู้ร่วมลงทุน ส่วนจำเลยที่ 7 เคยเห็น ณ ที่ทำการของจำเลยที่ 1 และเคยฟังจำเลยที่ 7 บรรยายเกี่ยวกับแผนการตลาดของที่จำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 จัดขึ้น สอดคล้องกับกำหนดการประชุมที่จำเลยที่ 1 จัดให้มีการบรรยายให้บุคคลทั่วไปหรือสมาชิกผู้ร่วมลงทุนฟัง ณ สถานที่ต่าง ๆ ซึ่งมีรายชื่อจำเลยที่ 3 และที่ 7 เป็นวิทยากรด้วยและร่วมบรรยายหลายครั้งหลายหน ณ สถานที่ต่าง ๆ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายข้างต้นล้วนเป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตรงและไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่า จะปั้นแต่งเรื่องขึ้นหรือเบิกความเพื่อกลั่นแกล้งจำเลยที่ 3 และที่ 7 โดยปราศจากมูลความจริง ประกอบกับจำเลยที่ 7 มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับจำเลยที่ 2 เคยดำรงตำแหน่งโฆษกพรรคไทยร่ำรวยซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าพรรคและเป็นผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองดังกล่าว จึงมีเหตุผลเชื่อมโยงและมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 7 มีส่วนเกี่ยวข้องหรือร่วมรู้เห็นในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หาใช่เป็นเพียงสมาชิกผู้ร่วมลงทุนทั่วไป หรือจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้เป็นวิทยากรบรรยายเป็นครั้งคราว การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 7 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่จำเลยที่ 3 และที่ 7 อ้างว่า ผู้เสียหายตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 เกิดจากการชักชวนของบุคคลอื่นไม่ได้เกิดจากการชักชวนของจำเลยที่ 3 และที่ 7 ก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ประกอบกับจำเลยที่ 3 และที่ 7 มีส่วนร่วมในการชักชวนหรือบรรยายเกี่ยวกับแผนการตลาดและการลงทุนของจำเลยที่ 1 ให้ประชาชนทั่วไปหรือสมาชิกผู้ร่วมลงทุนฟังด้วย ย่อมไม่อาจปฏิเสธได้เสียทีเดียวว่า เหตุที่ผู้เสียหายนำเงินมาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 หรือนำเงินมาลงทุนเพิ่มไม่ได้เป็นผลสืบเนื่องมาจากประกาศโฆษณาหรือชักชวนของจำเลยที่ 3 และที่ 7 ด้วย ส่วนที่อ้างว่า จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจซื้อขายสินค้าในระบบขายตรง ไม่ใช่เป็นการรับเงินในลักษณะการรับฝากหรือกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนนั้น เห็นว่า การดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจขายตรงเพื่อให้สมาชิกหรือผู้จำหน่ายอิสระซื้อสินค้าจากตนในราคาที่ถูกกว่าราคาที่ขายให้แก่ลูกค้าหรือผู้บริโภคในชั้นสุดท้ายและเป็นเหตุให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะนายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงของจำเลยที่ 1 แต่มีลักษณะเป็นการใช้สินค้ามาเป็นตัวกำหนดโดยอ้างว่าเป็นการซื้อสินค้า เบื้องหลังกลับเป็นการระดมทุนจากประชาชนโดยประกาศโฆษณาว่าผู้ร่วมลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนหรือเงินปันผลในอัตราที่สูงกว่าปกติ และเหตุที่ผู้เสียหายร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 เพราะเห็นว่าเป็นการลงทุนในระยะสั้นและจะได้รับเงินปันผลหรือผลประโยชน์ตอบแทนสูงตามเงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 ประกาศโฆษณา ครั้นผู้เสียหายนำเงินไปร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 นำเงินไปใช้หรือประกอบธุรกิจใดที่จะให้ได้ผลตอบแทนเพียงพอมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่สมาชิกในอัตราที่สูงดังที่จำเลยที่ 1 โฆษณาชักชวนไว้ได้ ที่ผู้เสียหายนำเงินมาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 1 ประกาศโฆษณาและจำเลยที่ 1 รับเงินนั้นไว้ จึงมีลักษณะเป็นการรับเข้าร่วมลงทุนโดยตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้เสียหายต้องด้วยความหมายหรือนิยามของ “กู้ยืมเงิน” ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 7 ฟังไม่ขึ้น
สำหรับจำเลยที่ 5 โจทก์ไม่มีพยานบุคคลใดยืนยันว่า จำเลยที่ 5 มีส่วนเกี่ยวข้องหรือร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกประกาศหรือโฆษณาข้อความให้ปรากฏต่อประชาชนหรือแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยชักชวนให้มาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 โดยสมัครเป็นสมาชิกหรือร่วมลงทุนซื้อสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคจากจำเลยที่ 1 หรือไม่ อย่างไร แม้จะได้ความจากผู้เสียหายบางราย เช่น นาย บ. และนาย ธ. ว่า พยานเคยเห็นจำเลยที่ 5 ณ ที่ทำการของจำเลยที่ 1 และพูดคุยกับจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 5 เป็นวิทยากร และนาย ล. ว่า จำเลยที่ 5 เป็นวิทยากรพูดบนเวทีในลักษณะเชิญชวนให้ช่วยกันทำให้กิจการของจำเลยที่ 1 รุ่งเรืองยิ่งขึ้น แต่นาย บ.รวมทั้งนาย ธ. ก็ไม่เคยเห็นและไม่เคยฟังจำเลยที่ 5 เป็นวิทยากรบรรยาย คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจึงขัดแย้งกัน ประกอบได้ความจากนาย ป. ผู้จัดการของจำเลยที่ 1 สาขาจังหวัดอุดรธานีว่า จำเลยที่ 5 จะเป็นวิทยากรบรรยายหรือไม่ไม่ทราบ พยานทราบแต่เพียงว่าจำเลยที่ 5 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ดูแลพื้นที่เขตภาคใต้ ซึ่งหากจำเลยที่ 5 มีส่วนเกี่ยวข้องในการโฆษณาหรือประกาศชักชวนประชาชนให้มาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 แล้ว ครั้นจำเลยที่ 1 จัดให้มีการบรรยายในพื้นที่เขตภาคใต้ จำเลยที่ 5 ก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องบ้างไม่มากก็น้อย แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 5 มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีผู้เสียหายรายใดเบิกความยืนยันว่าเห็นจำเลยที่ 5 เป็นวิทยากรบรรยายที่จังหวัดดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร เมื่อพิจารณากำหนดการประชุมที่จำเลยที่ 1 จัดให้การบรรยายให้บุคคลทั่วไปหรือสมาชิกผู้ร่วมลงทุนฟัง ณ สถานที่ต่าง ๆ ก็ไม่ปรากฏว่ามีรายชื่อจำเลยที่ 5 เป็นวิทยากรผู้บรรยาย แม้จำเลยที่ 5 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และในวันที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษนำกำลังเข้าตรวจค้นที่ทำการของจำเลยที่ 1 พบจำเลยที่ 5 แสดงตัวเป็นผู้ดูแลบริษัทและเป็นผู้นำเจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจค้น ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 5 มีส่วนร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 ในการโฆษณาหรือประกาศชักชวนบุคคลทั่วไปให้มาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด กรณีอาจจะเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 5 กระทำไปเพื่อปกป้องและดูแลผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างและอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ในการตรวจค้นก็เป็นได้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 5 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 ฟังขึ้น