คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

แจ้งความอย่างไร ให้คดีไม่ขาดอายุความ ไม่เสียอำนาจฟ้อง

แจ้งความยังไงถึงจะเป็นการร้องทุกข์ที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ไม่แพ้คดีเพราะไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่ขาดอายุความ วันนี้ผมจะอธิบาย 5 เทคนิคการแจ้งความให้ถูกต้องตามกฎหมายให้เพื่อนๆฟังครับ

ทั้งนี้การแจ้งความดำเนินคดีเนี่ยถือว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างมากในการเอาตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษ  โดยเฉพาะในคดีความผิดอันยอมความได้

เช่น คดีฉ้อโกง ยักยอก บุกรุก  หมิ่นประมาท ความผิด พ.ร.บ.เช็ค

เพราะคดีประเภทนี้ การร้องทุกข์ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เป็นเรื่องสำคัญมาก หากร้องทุกข์ไม่ชอบจะเกิดผลเสียหลายอย่าง เช่น

ข้อเสียของการร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

1.ร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อัยการฟ้องไปศาลก็ต้องยกฟ้อง

ถ้ามีการร้องทุกข์ภายในกำหนดก็จริงแต่เนื้อหาการร้องทุกข์เนี่ยไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด พนักงานสอบสวนย่อมไม่อำนาจสอบสวน

หากผู้ที่เกี่ยวข้อง เผลอเรอปล่อยให้มีการสอบสวนไป และพนักงานอัยการไม่ตรวจให้ดีสั่งฟ้อง ศาลก็ต้องยกฟ้อง

เพราะถือว่าการสอบสวนไม่ชอบเพราะพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการก็ไม่มีอำนาจฟ้องคดี

ถึงแม้จะฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดก็ลงโทษไม่ได้ ตามปวิอ .มาตรา 120 และมาตรา 121

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา ๑๒๐  ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน

มาตรา ๑๒๑  พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง
แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ

2.ร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องคดีเองเกิน 3 เดือนก็ขาดอายุความ

หากการร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ต้น และผู้เสียหายนำคดีไปฟ้องเอง และเป็นการฟ้องเกินกว่า 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องรู้ตัวก็คดีว่าคดีขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96

ถึงมีการร้องทุกข์ภัยในกําหนด 3 เดือนแล้วแต่การร้องทุกข์นั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ย่อมไม่ถือว่าเป็นการร้องทุกข์

ถ้าจะไปฟ้องเองหลังจากผลกำหนด 3 เดือนนับจากวันที่รู้เรื่องรู้ตัว ก็ถือว่าคดีขาดอายุความ

แต่ถ้าฟ้องไม่เกิน 3 เดือนอันนี้ก็ยังฟ้องได้อยู่ไม่ขาดอายุความ ฎ.3655/2543

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 96  ภายใต้บังคับมาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

*กดดูคลิปเพิ่มเติมผมได้อธิบายไว้แล้วครับ*

ดังนั้นการร้องทุกข์ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก แล้วการร้องทุกข์ที่ถูกต้องจะเป็นยังไง ?

ผมสรุปจากคำอธิบายทางกฎหมายปรมาจารย์ทางกฎหมายที่เชี่ยวชาญ รวมทั้งจากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วขอสรุปเป็น 5 ข้อดังดังนี้ครับ

1.ผู้ร้องทุกข์ต้องมีอำนาจร้องทุกข์ตามกฎหมาย

ผู้ที่จะมีสิทธิเป็นผู้ร้องทุกข์จะต้องเป็นผู้เสียหาย

ประมวลกฎหมายอาญามาตรมาตรา ๒  ในประมวลกฎหมายนี้

(๔) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๔, ๕ และ ๖

โดยผู้ที่แจ้งความร้องทุกข์ได้นั้น ต้องเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิด

กรณีผู้เช่าซื้อรถ รถหายไปหรือมีคนเอาไปก็ถือเป็นผู้เสียหาย

ผู้ถือหุ้นไม่มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์แทนบริษัทได้ ยกเว้นแต่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำความผิดต่อบริษัทเองผู้ถือหุ้นก็อาจจะแจ้งความได้ ฎ.1250/2521

ผู้เยาว์แจ้งความร้องทุกข์ด้วยตนเองได้ ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ ฎ.3915/2551

คดีหนึ่งอาจจะมีผู้เสียหายหลายคนได้

  •  มีสภาพบุคคล บุคคล/นิติบุคคล
  •  ถ้าเป็นนิติบุคคลคนแจ้งต้องมีอำนาจกระทำการแทนผู้เสียหาย และทำให้ถูกต้องตามระเบียบ
  •  มอบอำนาจได้แต่

หนังสือมอบอำนาจต้อระให้ชัดเจนว่ามอบอำนาจดำเนินคดีอะไร กับใคร พฤติการณ์เป็นยังไง

ระบุให้ชัดเจนว่ามอบอำนาจให้มาดำเนินคดี เซ็นและประทับตราถูกต้องตามระเบียบ/ข้อกำหนด เซ็นโดยผู้มีอำนาจ

  •  ต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย

ฎ.1638-1640/2523

2.ต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานที่มีอำนาจรับคำร้องทุกข์

การร้องทุกข์จะต้องทำต่อพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจทำการสอบสวนดำเนินคดีอาญา ไม่ใช่ไปร้องต่อบุคคลอื่นๆที่ไม่ได้มีอำนาจสอบสวน

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความมาตรา ๒  ในประมวลกฎหมายนี้

    (๖) “พนักงานสอบสวน” หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน

 (๑๖) “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ” หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ให้รวมทั้งพัศดี เจ้าพนักงานกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า พนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าพนักงานอื่น ๆ ในเมื่อทำการอันเกี่ยวกับการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งตนมีหน้าที่ต้องจับกุมหรือปราบปราม

ไม่ค่อยจะมีปัญหาเท่าไหร่เพราะว่าตามกฎหมายแล้วพนักงานสอบสวนทั่วประเทศมีอำนาจรับของร้องทุกข์ได้หมด

ไม่จำเป็นต้องเป็นพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจเหนือการสอบสวนดังนั้นถึงแม้ว่าจะแจ้งความผิดโรงพัก อายุความก็สะดุดหยุดลง  ฎ.2947/2516

ทางปฏิบัติแล้วก็ไม่แนะนำให้ไปแจ้งความในโรงพักอื่น ควรไปแจ้งความในโรงพักท้องที่ที่เกิดเหตุที่มีอำนาจสอบสวนจะดีที่สุดเพราะสะดวกต่อการแสวงหาพยานหลักฐานแล้วก็ต้องไม่ลำบากไปโต้แย้งกับตำรวจอีกนะครับ

3.ต้องร้องทุกข์ตามแบบวิธีการร้องทุกข์

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๓  ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้

คำร้องทุกข์นั้นต้องปรากฏชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องทุกข์ ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับและชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้

เนื้อหาของการร้องทุกข์นั้น จะต้องทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด ในปวิอ. ม.123

    สิ่งที่สำคัญในการร้องทุกข์

  1.  ชื่อผู้ร้องทุกข์
  2. ลักษณะการกระทำความผิด
  3. พฤติการณ์ต่างๆในการกระทำความผิด
  4. ความเสียหายที่ได้รับ
  5. ชื่อหรือรูปพรรณสัณฐานของผู้กระทำความผิด

สำหรับการระบุชื่อ มีหลักดังนี้ 

  •  ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิดต้องระบุชื่อด้วย ถ้ารู้ตัวแล้วไม่ระบุชื่อ แบบนี้ถือว่าไม่มีเจตนา แจ้งความร้องทุกข์ให้ถูกต้องตาม  ฎ.122/2528 ฎ.3343/2536
  •  ในกรณีมีผู้ร่วมกระทำความผิดหลายคนจะต้องระบุชื่อให้ครบทุกคนถ้ารู้ชื่อแล้ว ฎ.1298/2510 ฎ.958/2514
  •  ถ้าไม่รู้ชื่อผู้กระทำความผิด ก็ไม่จำเป็นต้องระบุชื่อ ต้องระบุลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ต่างๆที่กระทำความผิดและความเสียหายเท่าที่จะบอกได้อาจจะระบุแค่รูปพรรณสัณฐาน ฎ.6898/2549
  •  แต่ถ้าเพิ่งมารู้ทีหลังว่าบุคคลดังกล่าวมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย ก็สามารถแจ้งความภายหลังได้
  •  ไม่จำเป็นจะต้องระบุข้อหาอ้างฐานความผิดเข้ามา บรรยายแค่พฤติการณ์ ฎ.703/2483 

4. ต้องร้องทุกข์โดยมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7)

 มาตรา 2  ในประมวลกฎหมายนี้

(7)  “คำร้องทุกข์”  หมายความถึง การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น  จะรู้ตัวผู้กระทำความผิด  หรือไม่ก็ตามซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย   และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ

ถึงแม้เนื้อหาจะถูกต้องตามข้อ 3 แต่ถ้าไม่เขียนให้ชัดเจนว่าให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ ก็ไม่ถือว่าเป็นคำร้องทุกข์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เนื้อหาในการแจ้งความเราจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าเรามีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ

  •  ไม่ใช่ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน
  • แจ้งความว่าเดี๋ยวจะไปเจรจาไกล่เกลี่ยอีกทีนึง
  • แจ้งความไว้เพื่อกันคดีขาดอายุความ
  • ควรจะแจ้งความไว้ในบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดี ไม่ใช่บันทึกประจำวันรับแจ้งไว้เป็นหลักฐาน

ประมวลระเบียบตำรวจเกี่ยวกับคดีฉบับที่ 9 ลงวันที่ ข้อที่ 11

ข้อ 11 เมื่อมีผู้แจ้งความกับพนักงานสอบสวน ถ้าการแจ้งความนั้นเป็นคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ ตามกฎหมาย ให้พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษตามระเบียบเพื่อทำการสอบสวนดำเนินคดี ต่อไป หากการแจ้งความนั้นไม่ใช่เป็นคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ หรือเป็นเรื่องทางแพ่งให้พนักงานสอบสวนลง รายงานประจำวันชี้แจงหลักกฎหมายไว้เป็นหลักฐาน แล้วแจ้งให้ผู้แจ้งความทราบ เว้นแต่ กรณีที่การแจ้งความนั้น ไม่เป็นคำร้องทุกข์แต่เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนควรจะต้องสอบสวนว่ามีมูลความผิดเป็นอาญา แผ่นดินหรือไม่ ถ้าปรากฏเป็นความผิดอาญาแผ่นดินแล้ว เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการ ต่อไป

 ตัวอย่างการแจ้งความที่ไม่ถือว่าเป็นการร้องทุกข์โดยมีเจตนาให้รับโทษตามกฎหมาย

ฎ2206/2522 แจ้งกับผู้ใหญ่บ้านว่าถูกข่มขืนกระทำชำเราแต่ขอดูไปก่อนหากจำเลยย้อนกลับมาอีกครั้งก็จะค่อยเอาเรื่องถ้าไม่กลับมาอีกครั้งก็แล้วไป

 ฎ391/2527  แจ้งความว่าขอลงบันทึกประจำไว้เพื่อชะลอการดำเนินคดีไว้หากจำเลยไม่มาชำระเงินจะมาแจ้งดำเนินคดีต่อไปนำมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานในคดียักยอก

ฎ.6644/2549 แจ้งความว่าลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อที่จะนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชาพิจารณา

ฎ.1713/2521 ฎ.263/2504 ฎ.958/2514 ฎ2410/2518 ฎ.62/2521 ฎ.4906/2543 แจ้งความในทำนองว่าเดี๋ยวจะไปฟ้องร้องดำเนินคดีเอง แจ้งความไว้เพื่อให้คดียังไม่ขาดอายุความ ไว้เป็นหลักฐานสำหรับการฟ้องเองต่อไป

5.ต้องร้องทุกข์ภายในกำหนดอายุความร้องทุกข์

มาตรา 96  ภายใต้บังคับมาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

อย่างไรถือว่าเป็นการรู้เรื่องรู้ตัวผู้กระทำความผิด ก็คือวันที่คุณจะต้องรู้อย่างแน่นอน ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น อายุความ 3 เดือนก็เริ่มนับตั้งแต่นั้น

 ตัวอย่างเช่น

คดีฉ้อโกง คือวันที่คุณแน่ใจคุณรู้แล้วว่าเขาไม่ได้เอาเงินหรือทรัพย์สินคุณไปดำเนินการต่างๆตามที่กล่าวอ้างจริง.

คดียักยอก คือวันที่รู้ว่าเงินหรือทรัพย์สินหายไปโดยที่รู้ว่าเขาเป็นคนทำ

คดีเช็ค คือวันที่เช็คไม่สามารถขึ้นเงินได้

 สรุป 

  1.  ร้องทุกข์โดยผู้มีอำนาจ
  2. ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน
  3. ร้องทุกข์ให้ถูกต้องตามแบบ
  4. ร้องทุกข์โดยมีเจตนาให้รับโทษ
  5. ร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน

การทำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแจ้งความร้องทุกข์ให้ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับกระบวนการดำเนินคดีอาญา  ไม่ว่าคุณจะเป็นฝั่งผู้เสียหายหรือฝั่งผู้ต้องหา และสามารถเอาไปปรับใช้กับการถามค้านต่อสู้คดีของฝ่ายจำเลยได้เป็นอย่างดี

Express your opinion about this article

comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น