เลิกจ้างแบบไหนนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยวันนี้เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆครับ
ธรรมดาแล้วเนี่ยเมื่อมีการจ้างพนักงานประจำแล้วเวลาจะไล่เขาออกเนี่ย กฎหมายก็กำหนดว่าจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด
ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าทำงานมานานแค่ไหน ยิ่งทำงานนานก็ได้เงินเยอะทั้งนี้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 118
มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้
(1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 90 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 180 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 240 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(5) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(6) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
แล้วรู้ไหมครับว่ากรณีไหนบ้างที่นายจ้างสามารถไล่พนักงานออกได้เลยโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย?
วันนี้ผมจะมาอธิบาย 7 ข้อที่หากลูกจ้างทำแล้วนายจ้างสามารถไล่ออกได้เลยโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยมีอะไรบ้างไปติดตามชมกันครับ
ตามกฎหมายแรงงาน มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีดังต่อไปนี้
1. ทุจริตต่อหน้าที่
คำว่าทุจริตคือการแสวงหาผลประโยชน์ที่ตนเองไม่ควรจะได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
มีความหมายกว้างกว่าการกระทำความผิดอาญา การกระทำบางอย่างเนี่ยถึงแม้ว่าจะไม่ถึงขั้นเป็นความผิดอาญาแต่มันเป็นการทุจริตครับ
ไม่ว่าคุณจะเป็นคนทำเองเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนเป็นผู้มีส่วนร่วมรู้เห็น
ตัวอย่างเช่น
– เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อ ไปรับคอมมิชชั่นจาก supplier เพื่อจูงใจให้บริษัทนั้นได้รับการขายสินค้าหรือบริการ ไม่เอาใบเสนอราคาของที่อื่นมาเทียบ ฎ.2809/2548
– ใช้ลูกน้องไปทำงานส่วนตัวหลายวัน ฎ.2695/2529
– ใช้ทรัพยากรของบริษัทประกอบประโยชน์หรือธุรกิจส่วนตัว ฎ.3407/2552 ฎ.2618/2538
– ขายสูตรลับการผลิตสินค้าของทางบริษัท ฎ.5298/2548
– ตั้งบริษัทมาแล้วแนะนำให้ลูกค้าไปซื้อของบริษัทของตัวเอง ฎ.5233/2549
คือการกระทำแบบนี้มันไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำความผิดอาญาหรอกครับ แต่มันคือการทุจริตเป็นการแสวงหาผลประโยชน์อันไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
2. กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
ตัวอย่างเช่น
– การฉ้อโกง ยักยอก ลักทรัพย์
– ทำให้เสียทรัพย์ ฉีกกระดาษทำลายทรัพย์สินของนายจ้าง ฎ.1919/2546
– ทำร้ายร่างกายนายจ้าง
– หมิ่นประมาท ดูหมิ่น นายจ้าง / แต่ถ้าเป็นเพียงคำพูดไม่สมควรไม่สุภาพยังไม่ถึงขั้นที่จะไล่ออกได้
– ปลอมเอกสารใบรับรองแพทย์เพื่อลาป่วย ฎ.2334/2523
อธิบาย
ต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น
ไม่ว่าจะเกิดความเสียหายหรือไม่
3. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
ตัวอย่างเช่น
– นำข้อมูลลูกค้า หรือข้อมูลทางการไปให้คู่แข่ง
– โพสต์ข้อความเปิดเผยความลับ หรือเรื่องเสื่อมเสียอันไม่จริงของนายจ้าง
– สั่งงานแบบผิดๆ บอกให้ลูกน้องไม่ต้องทำงาน หรือบอกให้ทำงานไปเรื่อยๆไม่ต้องเติมประสิทธิภาพทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ฎ.2156/2525 ฎ.1732/2528
– ตั้งบริษัทมาค้าแข่งกับนายจ้าง ฎ.239/2545
– นัดกันหยุดงาน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎ.13580/2556
– ด่าลูกค้า ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ฎ.3895/2557
– สร้างข่าวลือเฟคนิวต่างๆเช่นอ้างว่าบริษัทกำลังจะเจ๊ง กำลังจะย้ายสถานที่ประกอบกิจการทำให้ลูกจ้างคนอื่นเกิดความกลัวความตื่นตระหนก ฎ.13587/2556
อธิบาย
ไม่จำเป็นต้องเกิดความเสียหายจริงๆแค่น่าจะมีความเสียหายหรือตั้งใจจะทำให้รับความเสียหายก็ผิดแล้ว ฎ.7045/2546
ไม่จำเป็นว่าจะต้องถึงขั้นกระทำความผิดอาญา หรือเป็นการทุจริต
4. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
ตัวอย่างเช่น
– ประมาทเลินเล่อในการดูแลคลังสินค้าปล่อยให้สินค้าหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุจำนวนมาก ฎ.907/2548
– ตั้งค่าเครื่องจักรผิดพลาดทำให้เกิดความสูญเสียในการผลิตอย่างร้ายแรง
– ไม่รักษาความสะอาดจนทำให้ผลิตภัณฑ์เน่าเสียหรือปลอมปน และผลิตภัณฑ์นั้นออกสู่ตลาด ฎ.4028/2548
– ขับรถโดยประมาทชนกับเสาไฟฟ้าทำให้รถยนต์ของบริษัทเสียหาย พังยับทั้งคัน
อธิบาย
– ประมาทหรือไม่ใช้มาตรฐานของวิญญูชนคนทั่วไป
– การกระทำดังกล่าวอาจจะไม่เป็นความผิดอาญาก็ได้ ฎ.13812/2557
– กรณีนี้ต่างจากกรณีจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เพราะจะต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นจริงๆ
– และความเสียหายที่เกิดขึ้นจะต้องรุนแรงด้วย
5. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
– คำสั่งหรือระเบียบดังกล่าวต้องชอบด้วยกฎหมายด้วย
เช่น
– คำสั่งห้ามเล่นโทรศัพท์เล่นเกมส์ ระหว่างการทำงาน
– ห้ามเล่นแชร์หรือห้ามปล่อยกู้ระหว่างพนักงาน
– ห้ามเปิดเผยเรื่องเงินเดือน
– ห้ามดื่มสุราระหว่างปฏิบัติงาน
ตัวอย่างคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่น
– สั่งห้ามตั้งครรภ์ระหว่างทำงาน ฎ.1394/2549
– สั่งบังคับให้ทำงานล่วงเวลาโดยไม่ให้เงินโอที
– กรณีผิดระเบียบร้ายแรงไม่ต้องเตือน
ตัวอย่างที่ถือว่าเป็นกรณีร้ายแรง
– เอาเอกสารสำคัญออกไปจากบริษัท ฎ.14433/2557
– ทะเลาะวิวาท อย่างร้ายแรงในที่ทำงาน ฎ.1374/2557
– ปล่อยเงินกู้นอกระบบในบริษัทเรียกดอกเบี้ยเกินกฎหมาย ฎ.8978/2549
– กรณีไม่ร้ายแรงต้องเตือนก่อน
– การเตือนจะต้องเป็นหนังสือ
– การกระทำความผิดต้องซ้ำเดิมกับที่เตือนด้วย
– หนังสือเตือนมีอายุ 1 ปี
ตัวอย่างที่ถือว่าเป็นกรณีไม่ร้ายแรง
– มาสาย
– ไปกินข้าวแล้วกลับมาช้า
– แต่งกายไม่ถูกระเบียบ
– ไม่เข้าประชุมโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
– เล่นแชร์ในที่ทำงานในกรณีมีระเบียบห้าม
6. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
– หยุดงานโดยไม่ได้ลา
– ลาด้วยเหตุเป็นเท็จ
– ลาด้วยเหตุที่ไม่สามารถลาได้ตามกฎหมาย
– ลงชื่อเข้างานแล้วไม่มาทำงาน
จะต้องไม่มีเหตุสุดวิสัย เช่น
– ไฟไหม้ น้ำท่วม
– ประสบอุบัติเหตุ
– เจ็บป่วยกระทันหัน
7. ได้รับคำพิพากษาถึงที่สุดให้ถูกจำคุก
– เป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวกับการทำงานเลยก็ได้ เช่นไปทะเลาะวิวาท หมิ่นประมาท หรือเมาแล้วขับ
– แต่ถ้าเป็นกรณีที่ทำโดยประมาทหรือความผิดลงโทษเช่นขับรถชนคน ขับรถชนคนทำไม่รับอันตรายสาหัส ต้องเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายด้วยถึงจะเลิกจ้างได้
– แต่ทางปฏิบัติจริงๆถ้าติดคุกมันก็ทำงานไม่ได้เกินกว่า 3 วันก็โดนไล่ออกอยู่แล้ว จะขอลายาวๆสัก 1 ปีเพื่อขออนุญาตไปติดคุกก็ไม่น่าได้
– ทางปฏิบัติแล้วถ้าติดคุกก็โดนไล่ออกอยู่แล้วครับ
ข้อสำคัญ
สำหรับสิ่งที่สำคัญอย่างนึงเลยนะครับก็คือ เวลาจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยจะต้องระบุเหตุไว้อย่างชัดเจนในหนังสือเลิกจ้างไม่ฉะนั้นก็ต้องจ่ายค่าชดเชยเหมือนเดิมนะครับ
มาตรา 119 รรคท้าย การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างนายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้
ส่วนวิธีการทำหนังสือเลิกจ้างยังไงให้ถูกต้องตามกฎหมายเนี่ยเดี๋ยวตอนหน้าผมจะอธิบายให้ฟังต่อไปครับ
สรุป
ข้อกฎหมาย
มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
ในกรณี (6) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างนายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้