เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 เป็นข้อกฎหมายที่หากทนายความรู้จักนำไปปรับใช้จะเกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก
เพราะการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล ที่กระทำโดยผู้พิพากษา คู่ความ และเจ้าหน้าที่ ซึ่งล้วนแต่เป็นปถุชนธรรมดานั้น ย่อมเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้
และข้อผิดพลาดดังกล่าว อาจส่งผลเสียต่อรูปคดีของฝ่ายเราได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยทันท่วงที
การขอให้ศาล เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เป็นวิธีการที่จะใช้แก้ไขปัญหาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนพิจารณา ซึ่งจะช่วยลดหรือแก้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดได้
ดังนั้น ทนายความและนักกฎหมาย จึงควรทำความเข้าใจข้อกฎหมายเรื่องนี้ เพื่อถึงเวลาจะได้สามารถนำไปปรับใช้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์
เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ คือ
ตัวบทกฎหมาย
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ในกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียน และการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ หรือในการพิจารณาคดี การพิจารณาพยานหลักฐาน หรือการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ศาลเห็นสมควร
ข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้น คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นกล่าวได้ไม่ว่าในเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น ๆ
ถ้าศาลสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบใด ๆ อันมิใช่เรื่องที่คู่ความละเลยไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาเรื่องนั้นภายในระยะเวลาซึ่งกฎหมายหรือศาลกำหนดไว้ เพียงเท่านี้ไม่เป็นการตัดสิทธิคู่ความฝ่ายนั้น ในอันที่จะดำเนินกระบวนพิจารณานั้น ๆ ใหม่ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบังคับ
คำอธิบาย
การดำเนินการทุกอย่างที่กระทำในคดีเช่น การยื่นคำฟ้อง การส่งหมายเรียก การยื่นคำให้การ การขออนุญาตยื่นคําให้การ การขอพิจารณาคดีใหม่ การยื่นบัญชีระบุพยาน รวมทั้งการสืบพยาน และคําสั่งของศาล ล้วนแต่ถือว่าเป็น “กระบวนพิจารณา” ทั้งสิ้น
ซึ่งดำเนินกระบวนพิจารณาต่างๆในศาลนั้น กฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่าแต่ละขั้นตอนมีกฎเกณฑ์กติกา ในการดำเนินการต่างๆอย่างไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีของทุกฝ่าย
เช่นเดียวกับการเล่นกีฬา ที่จะต้องมีการกำหนดกติกากันไว้และทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในการแข่งขัน
ตัวอย่างบทกฎหมายที่วางหลักเกณฑ์กติกาในการพิจารณาคดีไว้ เช่น
- หลักกฎหมายเรื่องการเขียนคำคู่ความ ตาม ปวิพ ม.46
- หลักกฎหมายการยื่นหรือส่งคำคู่ความ ตาม ปวิพ ม.69-83 อัฎฐ
- หลักกฎหมายเรื่องการพิจารณาคดี ตาม ปวิพ ม.35-45
- หลักกฎหมายเรื่องการพิจารณาพยานหลักฐาน ตาม ปวิพ ม.84-130
- หลักกฎหมายเรื่อง การบังคดี ตาม ปวิพ ม.271-367
ดังนั้นความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ ระเบียบ “ ตาม ปวิพ ม.27 นั้น จึงไม่ใช่ระเบียบข้อบังคับของศาล แต่หมายความถึง ตัวบทกฎหมายที่วางหลักเกณฑ์กติกาในการพิจารณาคดีไว้ (อ้างอิงจากตำราของ หลวงจำรูณเนติศาสตร์ และ มาโนช จรมาศ)
ซึ่งในบางครั้ง ผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือคู่ความอาจจะดำเนินกระบวนพิจารณาผิดพลาดไปจากกติกาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจจะเพราะเข้าใจผิดในข้อเท็จจริง เข้าใจผิดในข้อกฎหมาย หรือความบกพร่องหลงลืม
“ กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ “ จึงหมายความถึง การดำเนินการของศาล คู่ความ หรือเจ้าหน้าที่ ที่ได้กระทำไปโดยฝ่าฝืนต่อหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
หากเกิดข้อผิดพลาด หรือกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบขึ้นแล้ว ไม่สามารถแก้ไขกันได้ก็คงจะเกิดความไม่ยุติธรรมขึ้น
ดังนั้นกฎหมายจึงเปิดโอกาสให้แก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างการพิจารณา ด้วยการให้อำนาจศาลทำการ เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้เพื่อให้เกิดการแก้ไขเยียวยา หรือเกิดความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย
ลักษณะของกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบที่จะถูกเพิกถอน
กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบที่จะถูกเพิกถอนได้นั้น จะต้องเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในการดำเนินคดี เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน กล่าวคือก่อให้เกิดความเสียหายแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น จำเลยยื่นบัญชีระบุพยาน ในระยะเวลาที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ศาลสั่งรับบัญชีพยานไปโดยผิดหลง เพราะอาจจะไม่ได้ตรวจสอบให้ดีก่อน กรณีเช่นนี้ย่อมทำให้ฝ่ายโจทก์เสียเปรียบเพราะถูกจู่โจมทางพยาน
เช่นนี้ ศาลก็อาจจะสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบโดยการเพิกถอนคำสั่งรับบัญชีพยาน และมีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่รับบัญชีระบุพยานก็ได้
แต่หากกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมในการดำเนินคดี ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอาจจะไม่เพิกถอนก็ได้
ตัวอย่างเช่น จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานในระยะเวลาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และศาลสั่งรับไว้โดยผิดหลง
แต่เนื้อหาเอกสารในบัญชีระบุพยานนั้น เป็นเอกสารที่ฝ่ายโจทก์ทราบดีอยู่แล้ว เพราะจำเลยแนบไว้ท้ายคำให้การ เช่นนี้ศาลก็อาจจะไม่ค่อยถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวก็ได้เพราะไม่เกิดความเสียหายแก่ฝ่ายโจทก์แต่อย่างใด
ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาดังต่อไปนี้ ที่วินิจฉัยว่า แม้เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ แต่หากไม่เกิดความเสียหาย ศาลก็มีอำนาจที่จะไม่เพิกถอน ฎ.812/2546 , ฎ.8149/2544 ,ฎ.1992/2544 ,ฎ.2653/2538 ,ฎ.2415/2560 ,ฎ.6223/2558 ,ฎ.13798/2555 ,ฎ.1577/2555 ,ฎ.368/2554
ศาลอาจจะเพิกถอนบางส่วน หรือสั่งให้แก้ไข หรือคำสั่งอื่นๆตามสมควรก็ได้
ในที่ศาลจะมีคำสั่ง เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลอาจจะไม่ได้สั่งเพิกถอนทั้งหมด โดยศาลอาจจะสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาแต่เพียงบางส่วน หรือจะมีคำสั่งให้อีกฝ่ายแก้ไข ทำกระทำการให้ถูกต้อง หรือมีคำสั่งอย่างใดๆก็ได้ เพื่อบรรเทาหรือแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น
โดยศาลจะพิจารณาถึงความร้ายแรง ผลกระทบ ความยากง่ายของแก้ไข ของการพิจารณาผิดระเบียบดังกล่าวเป็นสำคัญ
หากการที่ผิดระเบียบนั้นสามารถแก้ไขได้โดยง่าย ไม่ส่งผลกระทบต่อคู่ความฝ่ายอีก ศาลก็อาจจะสั่งให้อีกฝ่ายดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องก็ได้ หรืออาจจะเพิกถอนแค่เพียงบางส่วนก็ได้
ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาดังต่อไปนี้ ฎ.11418/2557 , ฎ.677/2563 , ฎ.4548/2562 ,ฎ.3918/2562
ผู้มีสิทธิ เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
การเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เริ่มขึ้นได้จากบุคคล 2 ประเภทด้วยกัน
1.ศาลหรือผู้พิพากษา ที่พิจารณาคดีนั้น
กรณีนี้ หมายความว่า ภายหลังจากการดำเนินการพิจารณาไปแล้ว ศาลพบเห็นข้อผิดพลาด หรือกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะพบเห็นด้วยตนเอง หรือได้รับข้อมูลมาจากคู่ความหรือบุคคลอื่นๆ ฎ.1692/2516
ศาลจึงได้ใช้อำนาจสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว หรือมีคำสั่งแก้ไขการที่ผิดระเบียบดังกล่าวด้วยตนเอง
กรณีที่ศาลใช้อำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบด้วยตนเองเช่นนี้ กฎหมายไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาไว้ว่าศาลจะเพิกถอนได้ในกำหนดระยะเวลาเท่าใด หากศาลเห็นเมื่อใด ก็สามารถเพิกถอนได้ทันที โดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ ฎ.691/2546
และไม่อยู่ในบังคับว่า จะมีการดำเนินการต่อมาภายหลัง หรือมีการให้สัตยาบันในการพิจารณาที่ผิดระเบียบแล้วหรือไม่
ทั้งนี้ศาลไม่จำเป็นต้องไต่สวนคำร้อง หรือต้องมีผู้ทำคำร้องชี้แจงศาลมาแต่อย่างใด เพียงแค่เห็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็สามารถสั่งเพิกถอนได้เลย
2.คู่ความที่เสียหาย
หากกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ทำให้เกิดความเสียหายแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
คู่ความฝ่ายที่รับความเสียหายจากการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ย่อมมีสิทธิแจ้งต่อศาลเพื่อให้ทำการ เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
โดยทำเอกสารเป็น ” คำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ”
การทำ ” คำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ”
การยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ของคู่ความที่ได้รับความเสียหายนั้น มีหลักเกณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติตามหลายประการ ดังจะกล่าวต่อไปนี้
1.คำร้องจะต้องระบุ ว่ากระบวนการที่ผิดระเบียบคืออะไร ผิดระเบียบเพราะอะไร พร้อมยกข้อกฎหมายอ้างอิงประกอบให้ชัดเจน
ตัวอย่างเช่น หากจะเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ในเรื่องที่เจ้าหน้าที่ส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยไม่ชอบ โดยนำหมายไปส่งให้กับเพื่อนบ้านของจำเลย
ผู้ร้องก็จะต้องบรรยายให้ชัดเจนว่า ข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องวางหลักไว้ว่าอย่างไร เช่นบรรยายว่า
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 ทวิ มาตรา 74 อนุมาตรา 2 และมาตรา 76 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 การส่งคำคู่ความให้กับจำเลยโดยทางพนักงานไปรษณีย์ ย่อมจะต้องส่งคำคู่ความนั้น ณ.ภูมิลำเนาของจำเลย และส่งให้กับตัวจำเลยโดยตรง
และหากไม่พบจำเลย ก็ต้องส่งคำคู่ความหรือเอกสารให้แก่บุคคลใด ๆ ที่มีอายุเกิน ยี่สิบปี ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนของจำเลย
และต้องบรรยายต่อไปว่าการดำเนินการในคดีนี้ผิดไปจากกฎหมายอย่างไร เช่น
คดีนี้มีการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้กับจำเลย ณ. บ้านของจำเลย คือ บ้านเลขที่ …. หมู่ที่ 9 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยส่งทางไปรษณีย์
ผลการส่งหมายปรากฎว่า พนักงานไปรษณีย์ได้นำหมายนัดไปส่งให้กับ น.ส. ยุภา โดยแจ้งว่า เป็นเพื่อนบ้านของจำเลย รายละเอียดปรากฎตาม สำเนารายงานเจ้าหน้าที่ และสำเนาใบตอบรับทางไปรษณีย์ เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 2-3
ดังนั้น การส่งหมายเรียกให้กับ “เพื่อนบ้าน” ถือว่าเป็นการส่งหมายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ ผู้ที่มีสิทธิรับคำคู่ความแทนจำเลยได้นั้น จะต้องมีคุณสมบัติคือ พักอาศัยอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนของจำเลย ดังนั้นการส่งคำคู่ความให้เพื่อนบ้านของจำเลย จึงไม่ถือว่าเป็นการส่งคำคู่ความที่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด
2.จะต้องยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำพิพากษา และไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ตนได้รู้ถึงการที่ผิดระเบียบนั้น
โดยหลักข้อแรกก็คือ การยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น จะต้องยื่นก่อนศาลมีคำพิพากษา
อย่างไรก็ตาม ข้อกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับได้เฉพาะกรณีที่คู่ความทราบกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบก่อนศาลมีคำพิพากษาเท่านั้น
หากคู่ความทราบกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบภายหลังที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว ย่อมสามารถยื่นภายหลังได้ เพราะจะเป็นการผิดธรรมชาติมาก หากคู่ความทราบข้อที่ผิดระเบียบภายหลังแล้วแต่กลับไม่สามารถเพิกถอนได้
ศาลฎีกาจึงตีความกฎหมายไปในทางที่เกิดผลได้จริงว่า หากคู่ความทราบกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหลังศาลมีคำพิพากษา ก็สามารถยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบได้
โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเช่น
ฎ.800/2551 , ฎ.6252/2550 , ฎ.5876/2545 , ฎ.320/2536 , ฎ.321/2536 , ฎ.1885-1890/2545 ,
นอกจากจะต้องยื่นก่อนศาลมีคำพิพากษาแล้ว คู่ความฝ่ายที่เสียหายจากการนั้น จะต้องยื่นภายในไม่เกิน 8 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นด้วย
หากมีการยื่นใบแต่งทนายความเข้าไปในคดีแล้ว ศาลมักจะถือว่าฝ่ายเราทราบกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบแล้ว ดังนั้นต้องระวังจุดนี้ให้ดี ฎ.5047/2547
ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายไม่ต้องการให้คู่ความใช้ช่องเรื่องการขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาเรื่องผิดระเบียบมาเป็นข้อประวิงคดี ดังนั้นหากเราพบเห็นข้อผิดระเบียบ เราก็จะต้องรีบโต้แย้งคัดค้านทันที ไม่ใช่ปล่อยการเนิ่นช้าไป แล้วมาคัดค้านภายหลัง
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น ฎ.810/2552 , ฎ.959/2552 , ฎ.477/2550 , ฎ.5118/2549 , ฎ.5186/2548 , ฎ.5681/2553 , ฎ.1564/2561 ,ฎ.8435/2559
อย่างไรก็ตามถึงคู่ความยื่นคำร้องเกินกว่า 8 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด แต่หากศาลเห็นว่า การพิจารณาที่เกิดขึ้น เป็นการผิดระเบียบจริง และสมควรเพิกถอน ศาลก็มีอำนาจเพิกถอนได้โดยอาศัยอำนาจของศาลเอง ซึ่งไม่ถูกจำกัดโดยระยะเวลา ตามที่ได้อธิบายไว้ในข้อ 1. ตัวอย่างเช่น ฎ.5307/2556, ฎ.6919/2538 เป็นต้น
3.จะต้องไม่ดำเนินการใหม่หรือให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น
เนื่องจากการเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น อาจส่งผลให้การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ทำต่อเนื่องกันมาถูกยกเลิกเพิกถอนไปทั้งหมด
ดังนั้นแล้วกฎหมายจึงกำหนดว่า หากคู่ความฝ่ายใดต้องการจะขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ จะต้องไม่ทำการขึ้นใหม่ อันเป็นการต่อเนื่องกับการที่ผิดระเบียบ หรือให้การยอมรับ รับรอง หรือให้สัตยาบันแก่การที่ผิดระเบียบนั้น
ตัวอย่างเช่น จำเลยนำพยานที่ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานขึ้นมาสืบ ทนายความโจทก์ทราบอยู่แล้ว แต่ก็ไม่คัดค้าน ทั้งยังถามค้านพยานดังกล่าวไปด้วย เช่นนี้ย่อมถือว่าเป็นการดำเนินการขึ้นใหม่ และให้สัตยาบันแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
ตัวอย่างคำพิพากษาที่ถือว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การที่ผิดระเบียบ เช่น ฎ.1578/2551 , ฎ.6675/2550 , ฎ.871/2550 , ฎ.5418/2558 ,ฎ.20513 – 20657/2555
ข้อแตกต่างระหว่าง กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ กับ ดุลยพินิจ
กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น เป็นเรื่องที่ ผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือคู่ความ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยฝ่าฝืนหรือผิดพลาดไปจากที่กฎหมายกำหนด
แต่หากเป็นเรื่องที่ศาลหรือผู้พิพากษา มีความเห็นไม่ตรงกับคู่ความในข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย และใช้ดุลยพินิจในการสั่งไปตามกรอบข้อกฎหมายแล้ว แต่อาจจะไม่ตรงใจกับคู่ความ เช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
หากคู่ความไม่พอใจหรือไม่เห็นพ้องด้วยคำสั่งต่างๆของศาลที่กระทำโดยถูกต้องในวิธีการหรือกระบวนการในแง่วิธีพิจารณาความแล้ว ก็ต้องใช้สิทธิโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณา หรืออุทธรณ์คำสั่งตามขั้นตอนต่อไป
โดยพิจารณาเปรียบเทียบจากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองแนวทาง ดังต่อไปนี้
ตัวอย่างคำพิพากษาที่ไม่ถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
ฎ.2280/2559 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 292 (2) เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาเหตุผลตามรูปคดีว่ามีเหตุสมควรที่จะงดการบังคับคดีไว้หรือไม่ คำร้องขอให้งดการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 เป็นคำขอให้ศาลสั่งกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ เพื่อบังคับตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 25 ซึ่งมิได้บัญญัติว่าศาลต้องออกคำสั่งอนุญาตตามคำขอโดยต้องทำการไต่สวนก่อน ดังนั้นหากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงแห่งคดีเพียงพอที่จะวินิจฉัยคำขอของจำเลยที่ 2 แล้วก็ไม่จำต้องทำการไต่สวนคำขอ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้งดการไต่สวนและให้ยกคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 2 แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้งดการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 นั้นเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบแต่อย่างใด
ฎ.2426/2548 คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม หากโจทก์เห็นว่าข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อใดขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนทำให้คำพิพากษาตามยอมไม่ชอบ โจทก์สามารถอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 (3) โดยโจทก์ต้องอุทธรณ์ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาตามยอมให้คู่ความฟัง คือภายใน 7 มีนาคม 2545 ตามมาตรา 229 แต่โจทก์หาได้อุทธรณ์ไม่ กลับยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545 โดยไม่มีบทกฎหมายใดให้โจทก์กระทำเช่นนั้นได้ การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ไว้วินิจฉัยด้วยเหตุดังกล่าวจึงชอบแล้ว เพราะกรณีของโจทก์เป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่โจทก์ขอ มิใช่เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมตามข้อยกเว้นของมาตรา 138 วรรคสอง
ฎ.10917/2551 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ แล้วพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นกรณีที่ศาลรับฟังคำรับของจำเลยตามที่ให้การไว้ มิใช่รับฟังจากพยานหลักฐานการรังวัดที่ดินพิพาท การรับฟังพยานหลักฐานของศาลจึงไม่ผิดระเบียบในอันที่จำเลยจะร้องขอให้เพิกถอนได้ การที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการพิจารณาคดีทั้งหมดแล้วให้พิจารณาคดีใหม่ โดยกล่าวอ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่นั้น จึงมิใช่เป็นเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบแต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่อาจมีการพิจารณาคดีเพื่อพิจารณาพยานหลักฐานใหม่ของจำเลยได้
ฎ.5784/2550 ทนายความของจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามอำนาจที่ระบุไว้ในใบแต่งทนายความ แม้จะไม่ได้ปรึกษากับจำเลยก่อน ก็ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกระบวนพิจารณามิใช่เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ หากจำเลยซึ่งเป็นตัวการได้รับความเสียหายเป็นประการใดก็ชอบที่ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ทนายความของจำเลยตามกฎหมาย
โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษาตามยอมย่อมผูกพันจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 หากจำเลยเห็นว่าคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องก็มีทางดำเนินคดีต่อไปได้เพียงประการเดียวคืออุทธรณ์ฎีกาให้ศาลสูงแก้ไข หากเข้ากรณีตามมาตรา 138 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมย่อมถึงที่สุด ไม่อาจถูกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก การที่จำเลยยื่นคำร้องโดยอ้างว่าสัญญาประนีประนอมยอมความฝ่าฝืนต่อกฎหมายเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับ คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ความมุ่งหมายของจำเลยคือต้องการให้คำพิพากษาตามยอมเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้ แม้จำเลยจะเพิ่งทราบเหตุหลังพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ ก็ไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้ ดังนั้น จำเลยจะมาฟ้องร้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยอ้างว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหาได้ไม่
ฎ.5779/2548 การที่โจทก์และจำเลยตกลงเห็นชอบร่วมกันให้ถือเอาถ้อยคำพยานโจทก์ที่เบิกความไว้ในคดีอื่นมาเป็นถ้อยคำพยานโจทก์ในคดีนี้ย่อมมีผลบังคับและศาลย่อมนำถ้อยคำพยานโจทก์ดังกล่าวมาวินิจฉัยได้ ไม่เป็นการผิดกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงมิใช่กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบที่จำเลยจะขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนได้
ฎ.1271/2530 ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดี และเสมียนทนายได้ลงชื่อทราบวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งใหม่ไว้แล้ว การที่เสมียนทนายจดวันนัดผิดพลาดเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มาศาลตามนัด และศาลสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและสั่งจำหน่ายคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 201 ดังนี้ศาลมิได้สั่งไปโดยผิดหลงและมิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ผิดระเบียบอันโจทก์จะขอให้เพิกถอนเสียได้.
ฎ. 194/2512 คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้พิพากษาตามยอมว่าโจทก์จำเลยตกลงแบ่งทรัพย์พิพาทคนละครึ่ง โดยวิธีให้ศาลขายทอดตลาด. เมื่อขายได้เงินแล้วแบ่งกันคนละครึ่ง. ต่อมาในวันขายทอดตลาด จำเลยแถลงว่าราคายังต่ำอยู่ควรประกาศขายใหม่โจทก์คัดค้านว่าราคาสูงแล้ว. ศาลเรียกโจทก์จำเลยมาพร้อมกันและมีคำสั่งให้เลื่อนการขายทอดตลาดไปตามที่คู่ความตกลงกันดังนี้. การที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาสอบถามคู่ความเรื่องที่ว่าควรจะเลื่อนการขายทอดตลาดหรือไม่. ก็เพื่อที่จะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรม จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบ
เมื่อคู่ความได้ตกลงกันต่อหน้าศาลและข้อตกลงนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทั้งสองฝ่ายได้ลงลายมือชื่อเป็นหลักฐาน.กระบวนพิจารณาของศาลจึงชอบด้วยกฎหมาย. การที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่เข้าใจภาษาไทยดี และไม่มีทนายความ เมื่อโจทก์มิได้โต้แย้งหรือร้องขอต่อศาลเพื่อจัดหาล่าม และรายงานกระบวนพิจารณาก็ไม่ปรากฏเหตุที่จะแสดงว่าโจทก์หลงผิดเพราะไม่เข้าใจภาษาไทย โจทก์เป็นตัวความย่อมมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาเองได้โดยลำพัง เพียงแต่โจทก์ไม่มีทนายความ ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้กระบวนพิจารณาเสียไป.กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ที่จะขอให้ศาลสั่งเพิกถอนได้
ฎ.2751/2558 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาในคดีนี้นอกจากจะบังคับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองจนกว่าจะรื้อถอนตึกแถวส่วนที่รุกล้ำแล้ว ยังมีหนี้ที่จำเลยจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยรื้อถอนตึกแถวส่วนที่รุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ 80003 ของโจทก์ พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองด้วย อันเป็นคำพิพากษาที่ให้จำเลยกระทำการแยกต่างหากจากหนี้ในส่วนหลังที่ให้จำเลยชำระค่าเสียหายรายเดือนแก่โจทก์ทั้งสอง มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยมีสิทธิที่จะชำระค่าเสียหายรายเดือนให้แก่โจทก์ทั้งสองได้จนกว่าจำเลยจะรื้อถอนตึกแถวส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกา ดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยให้รื้อถอนตึกแถวส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองชอบแล้ว ไม่มีการพิจารณาใดที่ผิดระเบียบอันเป็นเหตุจะให้เพิกถอนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27
ตัวอย่างคำพิพากษา ที่ถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
ฎ.4633/2558 คำฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อของโจทก์เป็นคำฟ้องที่ไม่บริบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) หากโจทก์หรือทนายโจทก์ไม่แก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่ลงลายมือชื่อในคำฟ้องภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้ย่อมเป็นการไม่ชอบ มีผลทำให้กระบวนพิจารณาภายหลังจากนั้นเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบไปด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง
ฎ.1679/2552 ป.วิ.พ.มิได้บัญญัติว่าคำร้องของจำเลยที่ขอผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นคำร้องที่ทำได้แต่ฝ่ายเดียว ก่อนที่จะไต่สวนหรือมีคำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะให้โอกาสโจทก์คัดค้าน โดยมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องเช่นว่านั้นแก่โจทก์ล่วงหน้า หากจะคัดค้านประการใดให้ยื่นเข้ามาภายในเวลาที่กำหนดการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาและงดการบังคับคดีไปเลยทีเดียว เป็นการก้าวล่วงข้ามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) อันเป็นบทกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ศาลฎีกาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียตามมาตรา 27
ฎ.4655/2553 จำเลยที่ 1 ย้ายภูมิลำเนาไปที่อื่นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2539 ก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมาย นอกจากนี้ยังปรากฏว่าคดีหลักของคดีนี้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งมีการอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2538 กรณีจึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการแจ้งย้ายภูมิลำเนาในคดีหลักให้ศาลทราบอีกต่อไป และไม่อาจถือได้ว่าภูมิลำเนาในคดีหลักยังเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการในการดำเนินคดีนี้ของจำเลยที่ 1 เพราะภูมิลำเนาของบุคคลย่อมเปลี่ยนไปด้วยการย้ายถิ่นที่อยู่พร้อมด้วยเจตนาชัดแจ้งว่าจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41
ผู้ร้องทราบว่าจำเลยที่ 1 ย้ายภูมิลำเนาใหม่แล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องในคดีนี้ การส่งหมายนัดไต่สวนคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นของผู้ร้องแก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2) ย่อมเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบและทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายเพราะไม่มีโอกาสได้คัดค้านคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นของผู้ร้องซึ่งศาลฎีกามีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วนหรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ตามมาตรา 27 การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 โดยไม่ทำการไต่สวนคำร้องให้ทราบข้อเท็จจริงแน่ชัดเสียก่อนเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาชอบที่จะยกคำสั่งดังกล่าวของศาลล่างทั้งสองเสียได้ตามมาตรา 243 (1) และมาตรา 27 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 โดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1
ฎ.2352/2547 เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเรื่องเขตอำนาจศาลพร้อมคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของโจทก์ไปในทันทีโดยที่ยังมิได้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่คู่ความอีกฝ่ายเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายมีโอกาสคัดค้าน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ และถือได้ว่าเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 27 ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นๆ ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องได้
ฎ.457/2550 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นและยื่นคำร้องขออุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งในอุทธรณ์คำสั่งว่า “รับฎีกาคำสั่ง สำเนาให้จำเลย ให้โจทก์นำส่ง การส่งไม่มีผู้รับให้ปิดหมาย” และสั่งในคำร้องขออุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาว่า “อนุญาต” โดยไม่ได้สั่งให้ส่งสำเนาคำร้องแก่จำเลย ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยมิได้ส่งสำเนาคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ดังกล่าวแก่จำเลยอุทธรณ์เพื่อให้จำเลยอุทธรณ์มีโอกาสคัดค้านก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ถูกต้อง
ฎ.7550/2549 ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ บัญญัติหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาว่า ผู้อุทธรณ์จะต้องทำเป็นคำร้องมาพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์และส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และสำเนาคำร้องแก่จำเลยอุทธรณ์แล้ว หากไม่มีคู่ความอื่นยื่นอุทธรณ์และจำเลยอุทธรณ์มิได้คัดค้านคำร้องดังกล่าวภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ ก็ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำร้องนั้นว่าจะอนุญาตหรือไม่และให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด คดีนี้ปรากฏว่าเมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายพร้อมคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “เมื่อจำเลยทั้งสี่แก้อุทธรณ์หรือไม่แก้ภายในกำหนดแล้ว ให้ส่งศาลฎีกาโดยเร็ว” ซึ่งมีความหมายว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตคำร้องของโจทก์ไปทันทีโดยที่ยังมิได้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสคัดค้านก่อน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่อาจมีผลทำให้อุทธรณ์ของโจทก์ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวโดยชอบได้ คดีจึงยังไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ให้โจทก์ได้ และการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นถือได้ว่าเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 27 ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ
ฎ.7418/2548 โจทก์ยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายพร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตไปทันทีโดยมิได้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยคัดค้านก่อน ซึ่งหากจำเลยคัดค้าน ศาลชั้นต้นก็ไม่อาจอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตไปจึงเป็นการไม่ชอบ ไม่มีผลทำให้อุทธรณ์ของโจทก์ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ได้ และถือได้ว่าเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ ตามมาตรา 27 ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้อง แต่เนื่องจากพ้นระยะเวลาที่จำเลยจะยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว ศาลฎีกาจึงกำหนดระยะเวลาให้จำเลยยื่นคำคัดค้านไว้ด้วย
ฎ.3196/2549 โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งและคดีอาญาคดีนี้เกี่ยวด้วยมรดกของ ม. ศาลชั้นต้นไกล่เกลี่ยคู่ความทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาไปในคราวเดียวกัน เจตนาในการไกล่เกลี่ยก็เพื่อยุติข้อพิพาททั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาโดยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งและโจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาให้เสร็จไปทั้งสองคดีในคราวเดียวกัน ดังนั้น แม้คู่ความจะตกลงกันในคดีแพ่งได้และโจทก์ยอมจะถอนฟ้องคดีอาญา ศาลชั้นต้นก็ต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความและพิพากษาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งไปพร้อมกับอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีอาญาไปในคราวเดียวกันเพื่อให้คดีทั้งสองยุติไปตามเจตนาในการไกล่เกลี่ยและเจรจาตกลงกัน การที่ศาลชั้นต้นด่วนบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาในคดีอาญาว่าโจทก์ขอถอนฟ้อง จำเลยคัดค้าน ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องและมีคำสั่งจำหน่ายคดีอาญาจากสารบบความไปก่อน โดยไม่รอให้คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งให้เสร็จไปเพื่อให้คดีทั้งสองยุติไปพร้อมกันในคราวเดียวกัน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง และผิดหลง และผิดระเบียบว่าด้วยการพิจารณาคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 โจทก์จึงชอบที่จะขอให้เพิกถอนเสียได้
ฎ.699/2549 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องข้อหากู้เบิกเงินเกินบัญชีและขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินออกเป็นแต่ละคดี กับให้เสียค่าขึ้นศาลตามรายคดีที่แยกฟ้องโดยอ้างเหตุผลว่าการรวมพิจารณาข้อหาเหล่านี้ด้วยกันจะเป็นการไม่สะดวก โดยศาลชั้นต้นไม่ได้ฟังคู่ความทุกฝ่ายก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 29 วรรคสอง และมีผลให้โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มขึ้นโดยไม่ควรจะต้องเสียย่อมเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การสั่งให้โจทก์แยกฟ้องแต่ละข้อหาออกเป็นแต่ละคดี กับให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเป็นรายคดีที่แยกฟ้องรวมทั้งการที่ศาลชั้นต้นอาศัยเหตุที่โจทก์ไม่ดำเนินการแยกฟ้องตามคำสั่งศาลดังกล่าวแล้วมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบไปด้วย
ฎ.5622/2548 คำให้การของจำเลยไม่มีลายมือชื่อจำเลยหรือทนายจำเลยผู้ยื่นคำให้การ ไม่มีลายมือชื่อทนายจำเลยผู้เรียง และไม่มีลายมือชื่อผู้พิมพ์ เป็นคำคู่ความที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 (5) การที่ทนายจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในช่องหมายเหตุท้ายคำให้การจำเลยแผ่นแรกที่มีข้อความระบุว่า “ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว” นั้น มิใช่เป็นการลงลายมือชื่อในคำคู่ความตามความหมายของมาตรา 67 (5) ศาลชั้นต้นรับคำให้การจำเลยฉบับดังกล่าวโดยไม่คืนไปให้จำเลยทำมาใหม่ หรือให้จำเลยแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวเสียให้ถูกต้อง จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 18 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีไปโดยไม่ได้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อนจึงไม่ชอบ
ฎ.2994/2543 การประนีประนอมยอมความกันในศาลและศาลจะพิพากษาตามยอมได้ ศาลจะต้องมีคำสั่งรับฟ้องคดีนั้นแล้ว โจทก์ฟ้องพร้อมยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้อง ส่วนคำฟ้องรอไว้สั่งเมื่อไต่สวนคำร้องขออนาถาเสร็จแล้วระหว่างไต่สวน โจทก์จำเลยทั้งหกตกลงกันได้และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมโดยศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งให้รับฟ้องโจทก์ก่อนจึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 บัญญัติไว้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงไม่ชอบ คำบังคับและหมายบังคับคดีที่ออกตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบตามไปด้วย เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่มีอำนาจยึดทรัพย์สินของจำเลย ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ประกอบด้วยมาตรา 247 และให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดของจำเลย
ฎ.13965/2558 คดีที่ผู้เยาว์มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียอยู่ด้วยในการพิจารณาพิพากษาคดีครอบครัวต้องมีผู้พิพากษาสมทบอีกสองคนซึ่งอย่างน้อยคนหนึ่งต้องเป็นสตรีเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 23 ประกอบมาตรา 147 การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีโดยมีเพียงผู้พิพากษาสองคนเป็นองค์คณะ ไม่มีผู้พิพากษาสมทบอีกสองคนซึ่งอย่างน้อยคนหนึ่งต้องเป็นสตรีเป็นองค์คณะร่วมอยู่ด้วยจึงเป็นการพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
ฎ.6904/2558 การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ประกาศหนังสือพิมพ์แทนการส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ผู้มีส่วนได้เสียหรือทายาท ย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรมของ ช. ไม่ทราบถึงการร้องขอของผู้ร้อง และเสียสิทธิในการที่จะคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง หากได้ความดังกล่าวย่อมแสดงว่า การส่งสำเนาคำร้องของผู้ร้องให้แก่ทายาทของ ช. กระทำโดยมิชอบ ทำให้ฝ่ายผู้คัดค้านไม่มีโอกาสที่จะคัดค้านคำร้องของผู้ร้องก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย หรือสั่งแก้ไข หรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง
เทคนิคทางปฏิบัติ การทำคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
1.บรรยายคำร้องให้ชัดเจนว่าผิดระเบียบอย่างไร
การบรรยายคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ จะต้องบรรยายให้ชัดเจนว่ากระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเรื่องดังกล่าวคืออะไร
และจะต้องบรรยายต่อไปด้วยว่าที่อ้างว่ากระบวนพิจารณาดังกล่าวผิดระเบียบ เป็นการผิดตามหลักกฎหมายข้อไหน มาตราอะไร หากมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ใกล้เคียงก็ควรแนบเข้าไปด้วย
2.บรรยายว่าทราบเรื่องเมื่อไหร่เพราะอะไร
การบรรยายคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เราจะต้องแจ้งให้ศาลทราบว่า เราทราบกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวเมื่อวันที่เท่าไหร่ และทราบได้อย่างไร
เช่นบรรยายว่าทราบ เนื่องจากได้รับหมายแจ้งคำบังคับของศาล หรือทราบเนื่องจากมาตรวจสำนวนศาล
หากเราบรรยายเพียงแต่ว่าเราทราบกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวเมื่อไหร่ แต่ไม่อธิบายเหตุผลว่าเหตุใดจึงมาทราบ ย่อมเป็นการไม่น่าเชื่อถือ
และหากมีข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานต่างๆ ประกอบก็ให้ยื่นแนบไปพร้อมกันด้วย
3.บรรยายว่าเกิดความเสียหายกับเราอย่างไร
ตัวบทกฎหมายคือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 วางหลักไว้ว่าผู้ที่จะร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบได้นั้น จะต้องเป็นคู่ความฝ่ายที่เสียหายจากการนั้น
ดังนั้นหากมีกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบจริง แต่ไม่ได้เกิดความเสียหายอย่างไรกับเราโดยตรง เราย่อมไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
ดังนั้นในการบรรยายคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เราจึงควรต้องบรรยายให้ชัดเจนว่า กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไรกับเรา
เช่นบรรยายว่า การที่โจทก์นำสืบพยานโดยไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานก่อน เป็นการทำให้ฝ่ายเราเสียเปรียบ ถูกจู่โจมทางพยาน ไม่มีโอกาสหาหลักฐานมาโต้แย้งได้ทัน
4.ต้องรีบยื่นให้เร็วที่สุดหลังจากทราบเรื่อง
ตามกฎหมายแล้วเราจะต้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบภายใน 8 วันนับแต่วันที่ทราบเรื่อง
อย่างไรก็ตามเราควรจะยื่นให้เร็วที่สุดไม่ควรรอจนใกล้ครบกำหนด แล้วจึงค่อยไปยื่นเพราะเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมาจะแก้ไขไม่ทัน
5.การอุทธรณ์คำสั่ง
คำสั่งคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งให้เพิกถอนหรือไม่ให้เพิกถอน ส่วนใหญ่แล้วเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หากเราไม่พอใจจะอุทธรณ์เลยไม่ได้ ต้องโต้แย้งคำสั่งไว้เพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ฎีกา ในภายหลังต่อไป ตัวอย่างเช่น ฎ.1602/2514
แต่หากเป็นคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ที่มีผลทำให้คดีเสร็จไปทั้งคดี คู่ความอาจจะยื่นอุทธรณ์ได้ทันที เช่น ฎ.1692/2516 (ประชุมใหญ่) , ฎ.8726/2559
6.ทำได้ทั้งคดีแพ่งและอาญา
การขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบสามารถทำได้ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยอาศัย ป.วิอาญามาตรา 15 ตัวอย่างเช่น ฎ.858-861/2554 ฎ.8366/2544 ,ฎ.9732/2539 เป็นต้น
7. ต้องยื่นที่ศาลไหน ?
การที่จะขอ เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ระเบียบ ในเรื่องที่เกิดที่ศาลใด เราจะต้องยื่นในคดีนั้น ไปยื่นฟ้องเพิกถอนเป็นคดีใหม่ไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ฎ.2411/2551 , ฎ.3593/2549
กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเกิดขึ้นที่ศาลใด ต้องยื่นที่ศาลนั้น ตัวอย่างเช่นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเกิดที่ศาลชั้นต้น คำร้องขอเพิกถอนก็ต้องยื่นที่ศาลชั้นต้น หากเกิดที่ศาลอุทธรณ์ ก็ต้องยื่นที่ศาลอุทธรณ์ โดยไม่ต้องคำนึงว่าคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลไหน ฎ.2780/2562
8.ต้องไต่สวนก่อนไหม ?
เป็นอำนาจของศาลที่จะสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ หรือยกคำร้องเลย หากเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฎชัดเจนอยู่แล้ว หรือศาลอาจจะสั่งไต่สวนก่อนก็ได้ หากพบว่าข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น ฎ.2596/2540 , ฎ.606/2530 ,ฎ.7390-7391/2553
ตัวอย่างทางปฏิบัติที่น่าสนใจ จากประสบการณ์จริง
ผมขอยกตัวอย่างเอาคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ จากประสบการณ์การทำงานจริงของผมมาเผยแพร่ เพื่อเป็นตัวอย่างการทำงานดังต่อไปนี้ครับ
ตัวอย่างคำร้องและการพิจารณาคดีจากประสบการณ์จริง สามารถคลิกเพื่ออ่านรายละเอียดได้เลยครับ
1.ตัวอย่างการขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ในคดีครอบครัว กรณีไม่สั่งคำร้องเลื่อนคดี และไม่ได้สั่งให้ทำการไกล่เกลี่ยประนีประนอมก่อนพิจารณา
2.ตัวอย่างการขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ กรณีส่งหมายโดยไม่ชอบ
3.ตัวอย่างขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ กรณีส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยไม่ชอบ
ตัวอย่างการบรรยายคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณากรณีต่างๆ
ตัวอย่างแรก เป็นเรื่อง ขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ในคดีแรงงาน ทนายความจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีไป ศาลไม่สั่งคำร้องขอเลื่อนคดี และสืบพยานโจทก์ลับหลังจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย
คำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
ช้อ 1. คดีนี้ศาลโปรดนัดไกล่เกลี่ย/สืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
เนื่องจากตามนัดเดิมในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ศาลได้โปรดมีคำสั่งให้สืบพยานโจทก์ไปเป็นจำนวน 2 ปาก ทั้งๆที่ทนายความจำเลยทั้งสองได้ขอเลื่อนคดีไว้แล้วเนื่องจากทนายความจำเลยติดว่าความที่ศาลอื่นซึ่งได้นัดไว้ก่อนที่จะรับว่าความในคดีนี้ รายละเอียดปรากฏตามคำร้องเลื่อนคดีของทนายความจำเลยทั้งสองในสำนวนของศาลแล้วนั้น โดยในรายงานกระบวนพิจารณาได้ลงไว้ว่าเสมียนทนายความจำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน จึงได้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว ทนายความจำเลยทั้งสองขอโต้แย้งว่ากระบวนพิจารณาดังกล่าวเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังนี้
ข้อ 2. การสืบพยานจะต้องทำโดยเปิดเผย ต่อหน้าจำเลยหรือทนายความจำเลย การที่จะสืบพยานฝ่ายเดียวไปได้นั้นต้องเป็นกรณีที่จำเลยขาดนัดพิจารณา ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาความแรงงานมาตรา 40 วรรค 2
ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้จำเลยและทนายความจำเลยตรวจสอบข้อเท็จจริงและความถูกต้องในการเบิกความ รวมทั้งมีสิทธิ์ขออนุญาต เพื่อซักถามคำให้การจากพยานฝ่ายโจทก์
การที่ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานไปเลยทั้งๆที่จำเลยไม่ได้ขาดนัดพิจารณา จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้จำเลยทั้งสอง เสียเปรียบเป็นอย่างยิ่ง
ถ้าหากศาลจะไม่อนุญาตให้ทนายความจำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีก็จะต้องสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้สืบพยานโจทก์ไปเลย แต่ถ้าศาลอนุญาตให้ทนายความจำเลยทั้งสองเลื่อนคดีแล้วก็ไม่มีสิทธิที่จะให้โจทก์นำพยานมาสืบลับหลังทนายความจำเลยทั้งสองโดยที่ทนายความจำเลยทั้งสองไม่ทราบมาก่อน
นอกจากนี้เสมียนทนายความจำเลยทั้งสองมีหน้าที่แค่ไปเลื่อนคดีตามที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ไม่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะคัดค้านหรือไม่คัดค้านการสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว
ข้อ 3. ด้วยเหตุดังทนายจำเลยทั้งสองประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพจึงขอศาลที่เคารพโปรดมีคำพิพากษาเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบคือ การสืบพยานโจทก์ 2 ปากในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ต่อไป เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาต
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ ผู้ร้อง/ทนายความจำเลยทั้งสอง
คำร้องฉบับนี้ข้าพเจ้า นายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์ ทนายความจำเลยทั้งสอง เป็นผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ ผู้เรียงและพิมพ์
ตัวอย่างที่ 2. ขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ คดีอาญา กรณีนี้ ศาลมีคำสั่งให้ส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องให้กับจำเลยด้วยวิธีการส่งทางเจ้าพนักงานไปรษณีย์ แต่เจ้าพนักงานไปรษณีย์ส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องให้กับบุคคลผิดคน
คำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
ข้อ 1. คดีนี้แต่เดิมมีนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เวลา 9.00 นาฬิกา
จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องและมีความประสงค์จะแต่งตั้งทนายความเข้ามาต่อสู้คดีแต่เนื่องจากในช่วงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ดังกล่าว เป็นช่วงสถานการณ์โควิดซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เลื่อนคดีไป โดยจำเลยได้โทรศัพท์มาสอบถามเจ้าหน้าที่ศาลได้รับแจ้งว่าในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จะเลื่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้องไป และจะมีหมายแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่งว่าเลื่อนไปวันไหน
จำเลยได้รอหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องอยู่นานปรากฏว่าไม่มีหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องส่งให้กับจำเลยแต่อย่างใด จำเลยจึงได้มอบหมายให้ทนายความเข้ามาตรวจสอบสำนวนที่ศาล โดยได้แต่งตั้งทนายความเข้ามาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
แต่ทนายความของจำเลยได้ตรวจสำนวนเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เนื่องจากเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์แจ้งว่าสำนวนอยู่ระหว่างการพิจารณาของท่านผู้พิพากษาไม่สามารถให้ดูสำนวนได้ โดยเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์แจ้งว่า ไม่สามารถให้ทนายความจำเลยดูสำนวนได้และให้มาดูในวันที่ศาลจะตัดสินคือวันที่ 3 สิงหาคม 2563 เลย
ทนายความจำเลยจึงได้ยืนยันว่าจะต้องตรวจสำนวนเพื่อตรวจสอบว่ามีการส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องให้จำเลยทราบหรือไม่ และทำคำร้องขอตรวจสำนวนเข้าไปจึงเพิ่งได้มาตรวจสำนวนและเห็นเอกสารทั้งหมดในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
ข้อ 2. ปรากฏว่าเมื่อตรวจสอบสำนวนแล้วในการส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องให้แก่จำเลยครั้งใหม่เพื่อให้ขึ้นศาลในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 นั้นศาลได้มีคำสั่งให้ส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องโดยทางเจ้าพนักงานไปรษณีย์ แต่ปรากฏว่า ในการส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องของเจ้าพนักงานไปรษณีย์นั้นได้นำหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องไปส่งให้กับคนข้างบ้านของจำเลยชื่อว่า นายสุนทร ซึ่งจำเลยเมื่อทราบเรื่องแล้วจึงได้สืบสวนพบว่าคนที่รับหมายดังกล่าวคือ นายสุนทร โพธิแสนชัย ซึ่งพักอาศัยอยู่บ้านข้างๆกับจำเลย ไม่ได้พักอาศัยหรือมีทะเบียนบ้านอยู่ในบ้านจำเลย และนายสุนทร แจ้งว่าได้รับเอกสารดังกล่าวไว้จริงแต่ไม่ได้นำส่งให้จำเลยเนื่องจากหลงลืม
ข้อ 3. ซึ่งการส่งหมายนัด ให้กับจำเลยทางเจ้าพนักงานไปรษณีย์นั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 73 ทวิ ประกอบมาตรา 76 วางหลักไว้ว่า
มาตรา 73 ทวิ คำคู่ความหรือเอกสารที่เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่ง ไม่ ว่าการส่งนั้นจะเป็นหน้าที่ของศาลจัดการส่งเอง หรือคู่ความมี หน้าที่จัดการนำส่งก็ตาม ศาลอาจสั่งให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลง ทะเบียนตอบรับ โดยให้คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำส่งเป็นผู้เสียค่า ธรรมเนียมไปรษณียากรกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าคำคู่ความหรือเอกสาร ที่ส่งโดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์มีผลเสมือนเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่ง และให้นำบทบัญญัติ มาตรา 74 มาตรา 76 และ มาตรา 77 มาใช้ บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 76 เมื่อเจ้าพนักงานศาลไม่พบคู่ความหรือบุคคลที่จะส่ง คำคู่ความหรือเอกสาร ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลนั้น ๆ ถ้าได้ส่งคำคู่ความหรือเอกสารให้แก่บุคคลใด ๆ ที่มีอายุเกิน ยี่สิบปี ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือที่สำนักทำการงานที่ ปรากฏว่าเป็นของคู่ความ หรือบุคคลนั้น หรือได้ส่งคำคู่ความหรือ เอกสารนั้นตามข้อความในคำสั่งของศาล ให้ถือว่า เป็นการเพียงพอ ที่จะฟังว่าได้มีการส่งคำคู่ความหรือเอกสารถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
ซึ่งนายสุนทร โพธิแสนไชย เป็นเพียงเพื่อนบ้านที่อยู่บ้านข้างเคียงกันไม่ใช่บุคคลที่พักอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับจำเลยไม่ได้มีทะเบียนบ้านอยู่ในบ้านของจำเลย รายละเอียดปรากฏตามสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยซึ่งปรากฏบุคคลทุกคนที่อยู่ในทะเบียนบ้าน และสำเนาทะเบียนราษฎร์ของนายสุนทรเอกสารท้ายคำร้องฉบับนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่านายสุนทรมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านคนละหลังกับจำเลย
ดังนั้นการส่งหมายนัดแจ้งวันไต่สวนมูลฟ้องให้กับจำเลย โดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์ได้ไปนำส่งให้กับนายสุนทร ซึ่งไม่ใช่บุคคลซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนของจำเลย จึงไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 73 ทวิประกอบมาตรา 76 ดังนั้นกระบวนการส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าวจึงเป็นกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมหรือที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียนการยื่นหรือการส่งคู่ความหรือเอกสารอื่นๆในการพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 เทียบเคียงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ใกล้เคียงกันเช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5421/2552 ที่แนบมาพร้อมกันนี้
การส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องที่ผิดระเบียบดังกล่าวทำให้จำเลยเสียสิทธิ์ได้รับความเสียหายไม่ได้แต่งตั้งทนายความจำเลยเข้ามาคัดค้านและถามค้านในชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์กล่าวหาคดีของโจทก์ไม่มีมูลใดๆ คดีนี้เป็นเพียงเรื่องทางแพ่งเท่านั้น แต่โจทก์บิดเบือนนำเรื่องมาฟ้องเป็นคดีอาญา จำเลยมีพยานหลักฐานชัดเจน แต่กลับไม่ได้เข้ามาสู้คดีเพราะการส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องที่ผิดระเบียบดังกล่าว
ซึ่งจำเลยเพิ่งทราบกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เมื่อทนายความจำเลยได้มาตรวจสำนวน
ดังนั้นจึงขอศาลที่เคารพโปรดไต่สวนคำร้องของจำเลยและมีคำสั่งหรือมีคำพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่การส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาต
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ ผู้ร้อง/ทนายความจำเลย
คำร้องฉบับนี้ข้าพเจ้า นายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์ ทนายความจำเลย เป็นผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ ผู้เรียงและพิมพ์
ตัวอย่างที่ 3. ขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีผิดระเบียบ คดีอาญา จำเลยวางเงินชำระค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายแล้ว แต่ศาลไม่ได้ส่งหมายแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงิน
ข้อ 1. คดีนี้จำเลยยื่นฎีกาและคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลและศาลท่านโปรดมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และไม่รับฎีกา คดีอยู่ระหว่างการส่งตัวจำเลย
ข้อ 2. เนื่องจากนางทองพูน …. ภริยาผู้ตายในคดีนี้ ได้ยื่นฟ้องจำเลย และบริษัท …..(บริษัทประกันรถยนต์บรรทุกคันที่จำเลยขับ) และบริษัท … จำกัด (บริษัทนายจ้างของจำเลย) เป็นคดีละเมิด เรียกค่าเสียหาย ต่อศาลนี้ และศาลได้นัดไกล่เกลี่ยคดีแพ่งในวันนี้ และ วันนี้ ซึ่งจำเลย ผู้เสียหาย และทนายความบริษัทประกันรถบรรทุกคันเกิดเหตุ และทนายความของบริษัทนายจ้างจำเลยได้มานัดไกล่เกลี่ยในวันนี้
ข้อ 3. ปรากฎว่าในคดีแพ่งดังกล่าว บริษัท … จำกัด บริษัทประกันรถยนต์บรรทุกคันที่จำเลยขับ ได้ยื่นคำให้การต่อศาลในคดีส่วนแพ่งว่า บริษัทฯ ได้วางเงินบรรเทาความเสียหายไว้ในคดีอาญาเป็นจำนวน 665,000 บาท เพื่อมอบให้นางทองพูน (ภริยาตาย) จำเลยจึงได้มาตรวจสำนวนคดีนี้ และพบว่าศาลชั้นต้นโปรดเกษียนสั่งไว้ในคำแถลงขอวางเงินของบริษัทประกันว่า “ให้ส่งหมายแจ้งให้ผู้เสียหายทราบ”
แต่เจ้าหน้าที่ศาลมิได้ส่งหมายแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินตามคำสั่งของศาล ผู้เสียหายจึงไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และไม่ได้มารับเงินที่บริษัทประกันวางไว้ รายละเอียดปรากฏตามคำแถลงวางเงินของบริษัทประกันในสำนวนของศาลท่านนั้น และสำเนาคำให้การของบริษัทประกันฯ เอกสารแนบท้ายคำร้องหมายเลข 1 ซึ่งจำเลย และผู้เสียหาย ไม่เคยทราบเรื่องที่บริษัทประกันวางเงินบรรเทาความเสียหายไว้ในคดีนี้มาก่อนเลย และเพิ่งมาทราบกันในวันนัดไกล่เกลี่ยในวันนี้
ข้อ 4. การที่เจ้าหน้าที่ของศาลไม่ส่งหมายแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่บริษัทประกันนำมาวางไว้ตามคำสั่งของศาล เป็นการไม่ปฎิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 73 วรรคสอง ที่วางหลักว่าคำคู่ความและเอกสารใดๆที่ศาลมีคำสั่งให้ส่งนั้น ให้เจ้าหน้าที่ศาลมีหน้าที่จะต้องเป็นผู้ส่ง และกฏหมายดังกล่าวเป็นกฏหมายที่มุ่งหมายที่จะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเป็นกฏหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในเรื่องการส่งคำคู่ความและเอกสารในการพิจารณาคดี และเป็นเหตุให้จำเลยเสียหาย กล่าวคือหากเจ้าหน้าที่ส่งหมายให้แก่ผู้เสียหายทราบถึงการวางเงินของบริษัทประกันฯ ผู้เสียหายย่อมมารับเงิน และย่อมมีโอกาสสูงที่ศาลอุทธรณ์จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย และ/หรือ มีโอกาสสูงที่ท่านผู้พิพากษาจะกรุณาอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เพราะผู้เสียหายได้รับเงินบรรเทาความเสียหายเป็นจำนวนมากแล้ว ประกอบกับปัจจุบัน ผู้เสียเองก็ไม่ติดใจให้จำเลยได้รับโทษถึงจำคุกแล้ว รายละเอียดปรากฏตาม หนังสือแสดงการไม่ติดใจเอาความจำเลยเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 2
ข้อ 5. ด้วยเหตุดังจำเลยประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพข้างต้น การที่เจ้าหน้าที่ศาลไม่ส่งหมายแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่บริษัทประกันวางไว้ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และทำให้จำเลยเสียหาย จึงขอศาลที่เคารพอย่างสูง โปรดกรุณาเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว หรือเพิกถอนแต่เพียงบางส่วน และมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่โดยสั่งให้เจ้าหน้าที่ศาลส่งหมายแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่บริษัทประกันวางไว้ หรือมีคำสั่งใดๆตามที่ศาลเห็นสมควร
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ ผู้ร้อง/จำเลย
คำร้องฉบับนี้ข้าพเจ้า นายวสันต์ จำเลย เป็นผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ ผู้เรียงและพิมพ์
ตัวอย่างที่ 4. ขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ คดีอาญา กรณีเจ้าหน้าที่พิมพ์หมายจำคุกให้กับจำเลยผิด
คำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
ข้อ 1. คดีนี้ศาลที่เคารพโปรดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2555 โดยตามคำพิพากษามีข้อความส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องการกำหนดโทษของจำเลยทั้งสองว่า “…ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 4 ปี เพิ่มโทษตามมาตรา 336 ทวิ กึ่งหนึ่ง เป็นจำคุก 6 ปี จำเลยทั้งสองรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 3 ปี…” ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษาและคดีถึงที่สุดแล้ว รายละเอียดปรากฏตามคำพิพากษาฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม 2555 ในสำนวนของศาลท่านแล้วนั้นข้อ 2. เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศาลได้พิมพ์หมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของจำเลยทั้งสองคลาดเคลื่อนไป โดยเจ้าหน้าที่ศาลระบุในหมายจำคุกฯเกี่ยวกับโทษของจำเลยว่า “เพิ่มเติมโทษกึ่งหนึ่งตาม ป.อ.93 เป็นจำคุก 6 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง ตาม ปอ.ม.78 คงจำคุก 3 ปี” และหมายจำคุกฯดังกล่าวได้ส่งไปยังเรือนจำกลางจังหวัดชลบุรีแล้ว รายละเอียดปรากฏตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดฉบับลงวันที่ 11 มิถุนายน 2555 ในสำนวนของศาลท่านแล้วนั้น
ข้อ 2. เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศาลได้พิมพ์หมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของจำเลยทั้งสองคลาดเคลื่อนไป โดยเจ้าหน้าที่ศาลระบุในหมายจำคุกฯเกี่ยวกับโทษของจำเลยว่า “เพิ่มเติมโทษกึ่งหนึ่งตาม ป.อ.93 เป็นจำคุก 6 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง ตาม ปอ.ม.78 คงจำคุก 3 ปี” และหมายจำคุกฯดังกล่าวได้ส่งไปยังเรือนจำกลางจังหวัดชลบุรีแล้ว รายละเอียดปรากฏตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดฉบับลงวันที่ 11 มิถุนายน 2555 ในสำนวนของศาลท่านแล้วนั้น
ข้อ 3. การที่เจ้าหน้าที่ศาลระบุในหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดว่าจำเลยถูกเพิ่มเติมโทษตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 93 (กระทำความผิดซ้ำ ในความผิดฐานเดียวกัน) ทั้งๆที่จำเลยถูกพิพากษาให้เพิ่มเติมโทษตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 336ทวิ (ลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ) เป็นการไม่ปฎิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฏหมาย ในข้อที่จะมุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ในเรื่องการเขียนเอกสาร และในเรื่องการบังคับคดี จึงถือเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 และกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวทำให้จำเลยทั้งสองเสียหาย กล่าวคือ การที่หมายจำคุกระบุว่าจำเลยทั้งสองถูกเพิ่มเติมโทษเพราะกระทำความผิดซ้ำ ทำให้จำเลยทั้งสองเสื่อมเสียสิทธิต่างๆอันพึงมีพึงได้ในฐานะนักโทษ กล่าวคือเสื่อมเสียสิทธิในการลดโทษ สิทธิในการพักโทษ สิทธิในการได้รับการอภัยโทษ เพราะสิทธิต่างๆดังกล่าวนั้นจะพึงมีได้แต่นักโทษที่เพิ่งกระทำผิดครั้งแรกเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีผลต่อการจัดลำดับชั้นของนักโทษในเรือนจำอีกด้วย อันเป็นการไม่ยุติธรรมแก่จำเลย เพราะจำเลยไม่ได้ถูกเพิ่มเติมโทษเพราะกระทำผิดซ้ำ แต่ จำเลยเพิ่งพลั้งพลาดกระทำผิดในคดีนี้เป็นคดีแรกเท่านั้น จำเลยจึงควรจะได้รับสิทธิต่างๆดังเช่นนักโทษปกติ
ข้อ 4. ด้วยเหตุดังจำเลยทั้งสองประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพข้างต้น จึงขอศาลโปรดมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว โดยส่งหนังสือแจ้งต่อเรือนจำกลางจังหวัดชลบุรีให้ยกเลิกหมายจำคุกฯฉบับลงวันที่ 11 มิถุนายน 2555 และส่งหมายจำคุกฯฉบับใหม่ ที่มีข้อความถูกต้องตรงกับคำพิพากษาของศาลฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม 2555 ไปแทน หรือโปรดมีคำสั่งอื่นๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรเพื่อแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาต
ข้อ 5. อนึ่ง จำเลยทั้งสองไม่ทราบถึงกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว จนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556 ญาติของจำเลยได้มายื่นคำร้องขอคัดถ่ายเอกสารในสำนวน เพื่อนำไปให้ทนายความตรวจดู ว่าเหตุใดจำเลยทั้งสองจึงไม่ได้สิทธิในการลดโทษ พักโทษ และอภัยโทษ เช่นเดียวกันนักโทษคนอื่นๆ จำเลยทั้งสองจึงเพิ่งทราบถึงกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในวันที่ 30 สิงหาคม 2556 นี้ ซึ่งเมื่อนับถึงวันยื่นคำร้องนี้แล้วยังไม่เกิน 8 วัน
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ ทนายความจำเลยทั้งสอง
คำร้องฉบับนี้ข้าพเจ้านายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์ ทนายความจำเลยทั้งสอง เป็นผู้เรียงและพิมพ์
ลงชื่อ ผู้เรียงและพิมพ์
ตำราอ้างอิงประกอบการเขียนบทความ
คำอธิบายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 1 ตอน 1 อุดม เฟื่องฟุ้ง
กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1 รองศาสตราจารย์วินัย ล้ำเลิศ
คำอธิบาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พระนิติการณ์ประสม
คำอธิบาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เล่ม 1 ธานินทร์ กรัยวิเชียร
คำสอนชั้นปริญญาตรี วิธีพิจารณาความแพ่ง หลวงจำรูญเนติศาสตร์
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 1-2 มาโนศ จรมาศ
คู่มือนักกฎหมาย คำร้อง คำขอ คำแถลง 1 สมชาย พวงภู่