อายุความคดีอาญามีกำหนดอย่างไร ?
อายุความในความผิดอาญา จะเชื่อมโยงกับอัตราโทษสูงสุดในคดี
คดีที่ร้ายแรง มีโทษสูงอายุความยิ่งยาว
คดีเล็กน้อยโทษน้อยอายุความยิ่งสั้น
ดังนั้นการจะดูว่าคดีนั้นอายุความเท่าไหร่ ก็ต้องไปเปิดดูโทษ”ขั้นสูง”ในคดีนั้นก่อนว่าคดีนั้นมีโทษสูงสุดเท่าไหร่
แล้วก็มาเปรียบเทียบกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95
ตัวอย่างเช่น
- โทษ ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต เช่นคดี ฆ่าคน ข่มขืนโดยใช้อาวุธ ก็มีอายุความ 20 ปี
- โทษจำคุกกว่าเจ็ดปี ถึงยี่สิบปี เช่นคดี ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ก็มีอายุความ 15 ปี
- จำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี.เช่นคดี ฉ้อโกง ลักทรัพย์ ก็มีอายุความ 10 ปี
- จำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี.เช่นคดีความผิดตามพรบเช็ค ก็มีอายุความ 5 ปี
- จำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น หรือคดีที่มีโทษปรับแค่อย่างเดียวไม่มีโทษจำคุก เช่นคดี ดูหมิ่นซึ่งหน้า ทะเลาะวิวาท การก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ก็มีอายุความแค่ปีเดียว
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕ ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
(๑) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
(๒) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
(๓) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
(๔) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
(๕) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
อายุความคดีอาญา เริ่มนับ – หยุดนับ ตอนไหน ?
การเริ่มนับอายุความ- การหยุดของอายุความคดีอาญา แบ่งออกเป็น 2 ช่วงด้วยกันนะครับ
คือ
1.อายุความก่อนถูกฟ้องคดี
2.อายุความหลังฟ้องคดี
- อายุความก่อนถูกฟ้องคดี
เริ่มนับตั้งแต่วันกระทำความผิด – หยุดเมื่อถูกฟ้องและได้ตัวมาอยู่ในอำนาจศาล
อายุความเริ่มนับเมื่อไหร่
ธรรมดาแล้วเนี่ยอายุความคดีอาญาจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่กระทำความผิดสำเร็จเลยครับ เช่นนับแต่วันที่ทำร้ายร่างกาย วันที่เช็คเด้ง วันที่เอาเงินของผู้เสียหายไป
ยกเว้นแต่ความผิดประเภทที่กฎหมายเรียกว่าความผิดต่อเนื่อง คือความผิดที่จะเป็นอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะมีการหยุดการกระทำนั้นเช่น
1.ความผิดฐานครอบครองสิ่งผิดกฎหมาย
2.ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง
3.ความผิดตามพรบควบคุมอาคาร ไม่ยอมรื้อสิ่งปลูกสร้างออกตามคำสั่ง
ถ้าเป็นกรณีนี้ก็คือจะนับต่อเมื่อมีการหยุดการกระทำที่เป็นความผิดแล้วนะครับ
อายุความหยุดลงเมื่อไหร่
ส่วนอายุความเนี่ยจะไปสะดุดหรือหยุดลงเมื่อประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ข้อด้วยกันคือ
1.มีการฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยต่อศาลแล้ว
2.ได้ตัวจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้ว
ยกตัวอย่าง
- ถ้ายังไม่ถูกจับ ถึงแม้จะถูกออกหมายจับแล้วคดีก็ขาดอายุความ
- ถึงแม้จะถูกจับแล้ว แต่ถ้าประกันตัวออกไปแล้วหลบหนี ก็ถือว่าคดีขาดอายุความ
- หรือต่อให้มีการฟ้องร้องคดีเองโดยราษฎร ศาลประทับรับฟ้องแล้ว แต่จำเลยยังไม่ได้มาประกันตัว ยังไม่ได้อยู่ในอำนาจศาล หากไม่ได้ตัวภายในกำหนดก็ขาดอายุความเช่นเดียวกัน
ฎ.1735/2514 ฎ.270/2528 ฎ.1780/2531 ฎ.2144/2539
1.อายุความหลังถูกฟ้องคดี
ถ้าเป็นกรณีถูกฟ้องภายในอายุควาแล้วอายุความก็จะหยุดลงนะครับ ไม่ว่าการพิจารณานั้นจะยาวนานแค่ไหนก็ตาม
เช่นคุณถูกฟ้องคดีฆ่าอายุความ 20 ปีคุณหลบหนีไปแล้ว 19 ปี 10 เดือน ต่อมาถูกฟ้อง ในปีที่ 19 เดือนที่ 11 ต่อให้มีการสู้คดีกันต่อมาอีก 3 ปี คดีก็ไม่ขาดอายุความครับ
หรือพูดง่ายๆว่าระหว่างการสู้คดีกันเนี่ยไม่มีการนับอายุความต่อนะครับ
อายุความในคดีอาญาเมื่อถูกฟ้องแล้วจะเริ่มนับต่อก็ต่อเมื่อมีการหลบหนี
การหลบหนีก็มี 2 กรณีนะครับ
คือ
1.หลบหนีระหว่างการพิจารณา
แต่อายุความเนี่ยจะเริ่มนับอีกครั้งหนึ่งก็ต่อเมื่อเราหลบหนีระหว่างการพิจารณา
เช่นในความผิดฐานฆ่าที่มีอายุความ 20 ปีเนี่ย ถ้าสมมุติคุณหลบหนีจนครบ 20 ปีแล้วก็แล้วไป
แต่ถ้าคุณหลบหนีไปแล้ว 10 ปีคุณถูกจับ ถูกฟ้องแล้วคุณก็หลบหนีระหว่างฟ้องอีก อายุความก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่นับแต่วันที่คุณถูกฟ้องครับ ไม่ใช่เริ่มนับแต่วันกระทำความผิด
ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 95 วรรคท้าย
2.หลบหนีเมื่อศาลคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
ส่วนเป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว แต่หลบหนีไปไม่มาฟังคำพิพากษา หรือได้รับโทษอยู่แล้วแหกคุกหนีออกไปเนี่ย อายุความก็จะนับนับแต่วันที่หลบหนี แต่จะมีหลักเกณฑ์การนับอายุความใหม่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 98
มาตรา ๙๘ เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้ใด ผู้นั้นยังมิได้รับโทษก็ดี ได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีก็ดี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือนับแต่วันที่ผู้กระทำความผิดหลบหนี แล้วแต่กรณี เกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ เป็นอันล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษผู้นั้นมิได้
(๑) ยี่สิบปี สำหรับโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกยี่สิบปี
(๒) สิบห้าปี สำหรับโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
(๓) สิบปี สำหรับโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
(๔) ห้าปี สำหรับโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีลงมาหรือโทษอย่างอื่น
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๙๕ ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน
มาตรา ๙๘ เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้ใด ผู้นั้นยังมิได้รับโทษก็ดี ได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีก็ดี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือนับแต่วันที่ผู้กระทำความผิดหลบหนี แล้วแต่กรณี เกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ เป็นอันล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษผู้นั้นมิได้
(๑) ยี่สิบปี สำหรับโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกยี่สิบปี
(๒) สิบห้าปี สำหรับโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
(๓) สิบปี สำหรับโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
(๔) ห้าปี สำหรับโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีลงมาหรือโทษอย่างอื่น
ความผิดอันยอมความได้คืออะไร
ก็คือความผิดอาญาที่เป็นเรื่องความผิดต่อส่วนตัว ไม่กระทบต่อสังคมส่วนรวม
กฎหมายจึงให้อำนาจผู้เสียหายที่จะเลือกดำเนินคดีหรือไม่ดำเนินคดีก็ได้
สามารถที่จะถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกันได้ตลอดเวลา
คดีไหนจะเป็นคดีความยินยอมความได้นั้น กฎหมายจะระบุไว้เป็นเรื่องๆไป ตัวอย่างเช่นคดี
ดูหมิ่น หมิ่นประมาท ยักยอก ฉ้อโกง บุกรุก หรือความผิดตาม พ.ร.บ. เช็ค
หลักการนับอายุความคดีความผิดยอมความได้
ในคดีความผิดอันยอมความได้ ก็ใช้หลักเกณฑ์การนับอายุความเช่นเดียวกับความผิดอาญาอื่นๆ
เพียงแต่กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้เป็นพิเศษเพิ่มเติมขึ้นมา
โดยมีหลักว่า คดียอมความได้ หากคุณจะประสงค์จะดำเนินคดีก็จะต้องรีบแจ้งรีบทำโดยเร็ว
ดังนั้นคดีความผิดอันยอมความได้ จะมีอายุความและหลักในการนับอายุความพิเศษเพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ
- จะต้องมีการแจ้งความหรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน
- กำหนด3 เดือนนั้นนับตั้งแต่วันที่รู้เรื่องการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด
- จะแจ้งความหรือฟ้องคดีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ไม่จำเป็นต้องทำทั้งสองอย่างพร้อมกัน
- จะไม่แจ้งความเลยไปยื่นฟ้องเองก็ได้
- จะแจ้งความก่อนแล้วเปลี่ยนใจไปยื่นฟ้องเองก็ได้
- จะแจ้งความอย่างเดียวไม่ฟ้องเองก็ได้
หรืออธิบายแบบง่ายๆก็คือ ในคดีความผิดยอมความได้ มีหลักการนับอายุความพิเศษเพิ่มเติมขึ้นมานอกจากคดีความผิดอาญาทั่วไป
แล้วเมื่อมีการแจ้งความหรือร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนแล้วอายุความก็จะกลับไปนับเหมือนคดีทั่วไปทุกประการเลยครับ
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๕ ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
สรุป
กล่าวโดยสรุปแล้วเมื่อพูดถึงอายุความคดีอาญาเนี่ยมันก็ต้องไปดูโทษว่าโทษเนี่ยหนักแค่ไหน ยิ่งโทษหนักอายุความก็จะยิ่งจะยาวนะครับ
แล้วนอกจากนี้ก็ต้องไปดูด้วยว่าเป็นคดีความผิดยอมความได้หรือเปล่าถ้าเป็นคดีความผิดยอมความได้ก็ต้องมีการแจ้งความหรือฟ้องร้องดำเนินคดีภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นคดีจะขาดอายุความ
โดยการที่เราจะฟ้องร้องหรือดำเนินคดีอาญาเนี่ยเราจะฟ้องหรือแจ้งความเองก็ได้ ซึ่งผมเคยได้ทำคลิปอธิบายไปแล้วนะครับว่าเราควรจะเลือกฟ้องวิธีการแบบไหนยังไง โดยหากเราเลือกที่จะฟ้องคดีเองเนี่ยเราก็ไม่จำเป็นต้องไปแจ้งความก่อนก็ได้ครับ
ส่วนอายุความเนี่ยจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่การกระทำความผิดสำเร็จและไปหยุดนับเมื่อมีการส่งฟ้องและได้ตัวผู้ต้องหาส่งศาลแล้ว
แล้วเมื่อมีการถูกฟ้องคดีต่อศาลแล้วเนี่ยอายุความก็จะเป็นอันหยุดไปเลยครับจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาและจะไปเริ่มนับใหม่อีกครั้งหนึ่งเมื่อจำเลยหลบหนีครับ