ถ้าทายาททุกฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ว่าใครจะเป็นผู้จัดการมรดก ศาลจะใช้อะไรวินิจฉัยว่าใครควรจะเป็นผู้จัดการมรดก
แล้วการตั้งพฤติกรรมมรดกสามารถแต่งตั้งหลายคนได้หรือไม่ การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกร่วม คืออะไร มีข้อดีข้อเสีย ข้อกฎหมายและทางปฏิบัติอะไรบ้างที่เราจะต้องรู้
วันนี้เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆครับ
ผู้จัดการมรดกมีหลายคนได้ไหม ?
ตามกฎหมายแล้ว ผู้จัดการมรดกจะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ครับ แต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป
ทำไมมีผู้จัดการมรดกหลายคน ?
1.โดยพินัยกรรม
ในกรณีที่พินัยกรรมระบุไว้ให้ผู้จัดการมรดกมีหลายคน เช่น 2 คนหรือ 3 คน ศาลก็จะมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกไปตามเจตนาของเจ้ามรดก
มาตรา 1715 ผู้ทำพินัยกรรมจะตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้จัดการมรดกก็ได้
เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน แต่ผู้จัดการเหล่านั้นบางคนไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียว ผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการมรดกได้โดยลำพัง แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้
2.เพราะทายาทตกลงกัน
ในกรณีที่ทายาทมีหลายคน แบ่งเป็นหลายฝ่าย เช่นผู้ตายมีภรรยาหลายคน มีลูกจากตังค์มารดากัน และทุกคนสามัคคีกัน หรือสามารถเจรจาตกลงกันได้ ทุกฝ่ายก็อาจจะตกลงร่วมกันตั้งผู้จัดการมรดกโดยเสนอขอตั้งผู้จัดการมรดกเป็นตัวแทนจากแต่ละฝ่ายมา 2 คนหรือ 3 คนหรือมากกว่านั้นแล้วแต่ตกลงกัน
3.เพราะศาลเห็นสมควร
ในกรณีที่ทายาทมีหลายคน แบ่งออกเป็นหลายฝ่าย ต่างคนต่างมีกันยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก มีการคัดค้านกันและไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลอาจจะพิจารณาตั้งแต่ละฝ่ายเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันเพื่อประโยชน์ในการจัดการมรดกและเพื่อคานอำนาจกันก็ได้
ข้อดีของการตั้งผู้จัดการมรดกหลายคน
1.เป็นการถ่วงดุลอำนาจ
2.การทุจริตเป็นไปได้ยาก
3.ทายาททุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
เนื่องจากในการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น ผู้จัดการมรดกย่อมต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์โดยอิงเสียงข้างมากของบรรดาทายาทซึ่งลงมติโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1358 และ 1364
แต่ในทางปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ เช่นกรมที่ดิน หรือธนาคารต่างๆ จะให้ความสะดวกแก่ผู้จัดการมรดก โดยให้มีอำนาจในการจัดการทรัพย์มรดกต่างๆได้ โดยไม่ต้องมีหลักฐานการให้ความยินยอมจากทายาท เช่นมีอำนาจขายทรัพย์สินมรดก ถอนเงินฝากในบัญชีของเจ้ามรดก ฯลฯ ได้ ดังนั้นมักจะปรากฏอยู่เสมอว่า
บางครั้งเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกเพียงคนเดียวแล้ว ผู้จัดการมรดกนั้นจะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินโดยทุจริต เช่นสมรู้กับผู้ซื้อทรัพย์มรดกจำหน่ายทรัพย์มรดกไปในราคาต่ำกว่าจริง หรือจำหน่ายทรัพย์มรดกแล้วไม่นำเงินมาแบ่งปันแก่ทายาท
ซึ่งแม้การจัดการมรดกโดยมิชอบด้วยกฎหมายนี้ จะทำให้ผู้จัดการมรดกนั้นอาจถูกฟ้องคดีแพ่งหรือคดีอาญาได้ แต่บางครั้งทายาทคนอื่นๆ ก็ไม่มีความสามารถในการติดตามหาพยานหลักฐาน หรือยากจนไม่มีเงินเพียงพอจะเสียค่าธรรมเนียมศาลและค่าทนายความในการติดตามเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกคืน หรือมีปัญหาอื่นๆที่ทำให้ไม่สามารถจะติดตามฟ้องร้องคดีได้ จึงก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้น
ข้อเสียของการตั้งผู้จัดการมรดกหลายคน
1.การแบ่งทรัพย์มรดกเป็นไปโดยล่าช้า ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด
2.ขาดความคล่องตัวไปทำอะไรก็ต้องไปพร้อมกันหมด
ไม่ว่าจะเป็นการโอนทรัพย์สิน การฟ้องร้องดำเนินคดี การแจ้งความ แล้วถ้าแต่คนใดคนหนึ่งตายหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้การดำเนินการก็ชนะลง ฎ.316-320/2506 ฎ.5315/2533
แนวทางไหนน่าจะดีกว่ากัน ?
เมื่อเทียบกับการตั้งผู้จัดการมรดกร่วมกันไปและให้ผู้จัดการมรดกร่วมจัดการประชุมทายาทโดยให้ทายาทลงมติในการแบ่งปันทรัพย์มรดกกันตามกฎหมาย หากทายาทลงมติเห็นชอบให้จัดการทรัพย์มรดกประการใด และมตินั้นถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ผู้จัดการมรดกคนใดคนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามมติของทายาท โดยยังยืนยันจะจัดการทรัพย์มรดกตามใจของตนเอง
ย่อมถือว่าเป็นการละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดก และเป็นเหตุให้ทายาทคนอื่นๆถอนผู้นั้นออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1727 อยู่แล้ว ดังนั้นการตั้งผู้จัดการมรดกร่วมกันน่าจะทำให้การจัดการมรดกเป็นไปด้วยความยุติธรรมก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่กองมรดกมากกว่า
หลักในการตั้งผู้จัดการมรดก ว่าควรจะตั้งใครเป็นหรือควรจะตั้งร่วม?
ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมก็ต้องตั้งตามพินัยกรรม พินัยกรรมระบุว่ายังไงธรรมดาแล้วศาลก็จะตั้งคนนั้นเป็นผู้จัดการมรดก ฎ.2826/2517
อย่างไรก็ตามมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาบางแนววางหลักไว้ว่าถึงแม้ว่าผู้ตายจะตั้งใครเป็นผู้จัดการมรดกไว้ แต่ศาลก็ยังมีอำนาจใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยอีกทีว่าสมควรเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ไม่ใช่เป็นบทบังคับศาลดังนั้นถึงแม้จะมีพินัยกรรมระบุไว้ศาลก็อาจจะตั้งแตกต่างจากพินัยกรรมก็ได้ ฎ.1481/2518 แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวคำพิพากษานี้
แต่ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ไม่มีพินัยกรรมหรือพินัยกรรมไม่ได้ระบุไว้ให้ใครเป็นผู้จัดการมรดก ศาลจะต้องวินิจฉัยถึงปัจจัยหลายอย่างเพื่อประโยชน์แก่ทายาทโดยธรรมและดูเจตนาของเจ้ามรดกเป็นสำคัญ
1.ความเหมาะสม
– เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายไหม
มาตรา 1718 บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้
(1) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(2) บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
(3) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย
– มีหนี้สินล้นพ้นตัว
– มีประวัติเคยถูกจำคุกเคยทำสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ
– ไม่เคยเลี้ยงดู ดูแลเจ้ามรดก
– เป็นภรรยาที่แอบไปมีผู้ชายคนใหม่ในขณะที่เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ ฎ.1466/2537
– มีพฤติการณ์เตรียมจะยักยอกทรัพย์มรดก
– มีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์กับกองมรดกหรือกับเจ้ามรดก ฎ.5022/2533
– เป็นลูกหนี้ของกองมรดกอยู่
– เจตนาของเจ้ามรดก ฎ.4703/2552
2.ความยินยอม
– ได้รับความยินยอมจากทายาทเสียงส่วนใหญ่ไหม ฎ.1966/2528
– แต่ไม่จำเป็นจะต้องได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน ฎ.2821/2524
– จำนวนทรัพย์มรดกที่แต่ละฝ่ายมีสิทธิได้รับใครเป็นฝ่ายที่มีสิทธิได้รับมรดกเป็นส่วนใหญ่
3.ประโยชน์ของทายาททุกคน
– แต่งตั้งใครแล้วการแบ่งมรดกจะเป็นไปด้วยสะดวกและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
4. แนวคำพิพากษา
โดยในการพิจารณาตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ศาลจะพิจารณาว่า ผู้ใดจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่กองมรดก และโดยคำนึงถึงเจตนาของผู้ตาย(เจ้ามรดก) ประกอบด้วย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713
หากปรากฏว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านฝ่ายใดไม่มีความเหมาะสม มีประวัติที่ไม่น่าไว้ใจ หรือเป็นบุคคลที่ต้องห้ามตามกฏหมาย ศาลย่อมมีคำสั่งอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียว แต่ปัญหาที่น่าสนใจ คือ ในกรณีปรากฏว่าทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างก็มีความเหมาะสมในการเป็นผู้จัดการมรดกและมิได้เป็นบุคตลต้องห้ามด้วยกันด้วยกันทั้งคู่ ศาลควรมีคำสั่งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน หรือควรมีคำสั่งตั้งคนที่มีความเหมาะสมที่สุดเพียงคนเดียวเป็นผู้จัดการมรดก โดยปัญหานี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นสองแนวทางด้วยกัน
1. แนวทางแรกเห็นว่า “ถ้าให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันแล้วมีปัญหาข้อขัดแย้งก็จะไม่สามารถถือเอาเสียงข้างมากในการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกได้ ดังนั้น การให้ผู้ร้องซึ่งครอบครองทรัพย์มรดกเป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงฝ่ายเดียวจึงเหมาะสมกว่า” เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.248/2530 และ ฎ.204/2530
2.แนวทางที่สองเห็นว่า “เพื่อให้ผู้ร้องกับผู้คัดค้าน และทายาทอื่นทุกฝ่ายได้รับประโยชน์จากกองมรดกด้วยความเป็นธรรมมากที่สุด จึงสมควรให้ผู้ร้องกับผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน “ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.1424/2533 และ ฎ.689/2525 ฎ.1368/2534 ฎ.6013/2534
วิธีแก้ไขปัญหาเมื่อผู้จัดการมรดกร่วมไม่สามารถตกลงกันได้
1. จัดประชุมทายาทเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา
2. ส่งหนังสือเชิญประชุมให้ถูกต้องตามกฎหมาย
3. พูดคุยหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน
4. หากฝ่ายใดไม่ยอมปฏิบัติตามหน้าที่ หรือไม่ทำตามกฎหมาย ให้บันทึกข้อมูลดังกล่าวไว้ในรายงานประชุม
5. ถ้าฝ่ายใดไม่ยอมมาเข้าร่วมประชุมก็ให้บันทึกไว้
6. นำเอาข้อมูลดังกล่าวเป็นหลักฐานในการรายงานต่อศาลในการยื่นคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกร่วม
สรุป
การจะแต่งตั้งใครเป็นผู้จัดการมรดกนั้นศาลจะต้องดูความสมควรและประโยชน์ของกองมรดกรวมทั้งเจตนาของผู้ตายเป็นสำคัญ หากเป็นกรณีมีพินัยกรรมก็จะต้องแต่งตั้งตามพินัยกรรมเป็นหลักยกเว้นแต่จะมีเหตุพิเศษจริงๆ
ส่วนในกรณีที่ทุกฝ่ายไม่สามารถจะตกลงกันได้ว่าจะให้ใครเป็นผู้จัดการมรดก ส่วนใหญ่แล้วศาลก็มักจะให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันเพื่อไปดำเนินการแบ่งปันทรัพย์สินเพื่อคานอำนาจซึ่งกันและกัน ก็จะดีกว่าง
ยกเว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีความเหมาะสมจะเป็นผู้จัดการมรดกจริงๆ ตั้งผู้การมรดกร่วมไปอาจจะเกิดความเสียหายศาลก็อาจจะตั้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงคนเดียว
ซึ่งการตั้งผู้จัดการมรดกคนเดียวหรือหลายคนก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ในกรณีที่ทุกฝ่ายสามารถตกลงกันได้ไม่มีปัญหาอะไรการตั้งผู้จัดการมรดกคนเดียวก็สะดวกรวดเร็วดี แต่ถ้าทุกฝ่ายยังไม่ไว้ใจเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อความสบายใจจะตั้งผู้จัดการมรดกร่วมก็ได้ครับ