บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา, คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

หลักการ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

 

ในการต่อสู้คดีอาญา มีหลักกฎหมายที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ที่เราจะต้องใช้ในทุกคดีเลยไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายไหน ก็คือ “หลักยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย “

วันนี้ผมจะมาวิเคราะห์และสรุป 6 หลักในการวิเคราะห์ในเรื่องการยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย ให้กับเพื่อนๆได้เป็นแนวทางในการทำงานกันครับ

 

หลักทั่วไปของการพิจารณาคดีอาญา

ธรรมดาแล้วในคดีอาญาบ้านเราเป็นระบบกล่าวหาฝ่ายโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาและขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายหน้าที่นำสืบและหน้าที่พิสูจน์ในคดีอาญาจึงตกอยู่กับฝ่ายโจทก์เป็นหลัก และการนำสืบของโจทก์ก็จะต้องนำสืบ ให้ได้มาตรฐานตามที่ศาลกำหนดซึ่งมาตรฐานที่ว่าก็คือ ต้องนำสืบให้สิ้นข้อสงสัยตามสมควร หากเกิดข้อสงสัยอันสมควรอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลยหรือที่เรียกกันนในบ้านเราว่า “หลักยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย”

หลักยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย คืออะไร

หลักกฎหมายประมวลกฎหมายอาญามาตรา มาตรา ๒๒๗  ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย หลักการพิสูจน์จนสิ้นสงสัย หรือ หลักยกประโยชน์แห่งความสงสัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 เป็นหลักการที่เรารับมาจากสากล ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกแทบทั้งหมดก็ใช้หลักการดังกล่าว

ทั้งนี้หลักกฎหมายดังกล่าวมีที่มาจากหลักที่ว่า

1.ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด

2.ปล่อยคนผิด 10 คนดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์คนเดียว

ในภาษาอังกฤษซึ่งเป็นประเทศแม่แบบของระบบกล่าวหาใช้คำว่า

( proof must be beyond reasonable doubt ) – ต้องพิสูจน์ให้พ้นข้อสงสัยอันสมควร

ซึ่งเป็นถ้อยคำที่หนักกว่าคดีแพ่งที่ใช้คำว่า

“ proof on the balance of probabilities ” -พิสูจน์โดยการชั่งน้ำหนักความน่าจะเป็น

ตารางมาตรฐานการพิสูจน์คดีแพ่งและคดีอาญา ( Standard of proof )

 คดีอาญา                                                  คดีแพ่ง

 proof beyond reasonable doubt – proof on the balance of probabilities

พิสูจน์จนกว่าสิ้นข้อสงสัยอันสมควร – พิสูจน์โดยการชั่งน้ำหนักความน่าจะเป็น

 

อธิบายเปรียบเทียบมาตรฐานการพิสูจน์ในคดีแพ่งกับคดีอาญา

ซึ่งในคดีแพ่งและอาญา ต่างก็มีการนำสืบกันทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย

แล้วศาลก็จะต้องตัดสินคดีไปตามมาตรฐานการพิสูจน์ ในคดีแต่ละประเภท

มาตรฐานการพิสูจน์คดีแพ่ง

ในคดีแพ่งศาลก็ต้องชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าใครมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่ากัน ใครนำสืบได้ดีกว่ามีน้ำหนักมากกว่าคนนั้นก็ชนะตามหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๐๔  ให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอ ให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ภาษาอังกฤษเรียกการชั่งน้ำหนักในคดีแพ่งโดยใช้คำว่าคำว่า “ proof on the balance of probabilities ” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “ พิสูจน์โดยตั้งอยู่บนการชั่งน้ำหนักความน่าจะเป็น “ ดังนั้นในการนำสืบคดีแพ่ง ศาลจะต้องดูว่าฝ่ายไหนนำสืบได้ดีกว่ามีน้ำหนักมากกว่าฝ่ายนั้นก็ชนะคดีไป เปรียบเทียบก็คือ ในคดีแพ่ง มาตรฐานอยู่ที่ใครน้ำหนักดีกว่า คนนั้นชนะ ถ้าฝ่ายใดทำคะแนนได้เกินกว่า 50% ขึ้นไปฝ่ายนั้นจะเป็นฝ่ายชนะ

มาตรฐานการพิสูจน์คดีอาญา

แต่ในคดีอาญาไม่ใช่ว่าฝ่ายโจทก์จะนำสืบได้ดีกว่า น่าเชื่อถือกว่า มีน้ำหนักมากกว่าจำเลย แล้วศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะและลงโทษจำเลยได้แต่การนำสืบในคดีอาญานั้น โจทก์จะต้องนำสืบจนกว่าจะ “สิ้นข้อสงสัยอันสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดจริงๆ “ ศาล ถึงจะสามารถพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีและลงโทษจำเลยได้ ดังนั้นในคดีอาญาถึงแม้

-ฝ่ายโจทก์จะนำสืบได้ดีกว่าฝ่ายจำเลย

 -ฝ่ายจำเลยนำสืบได้อย่างไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

 -แม้กระทั่งจำเลยไม่ได้นำสืบ หรือรับสารภาพ

แต่ถ้าหากโจทก์นำสืบไม่ได้ตามมาตรฐานดังกล่าว  คือยังมีข้อสงสัยตามสมควร ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง

เป็นไปตามหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสองที่ว่าจะต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

การพิสูจน์จนกว่าหมดสิ้นข้อสงสัยอันสมควร คืออะไร ?

  1.  พิสูจน์อะไร ?

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๕  ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป แต่ศาลจะสั่งขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้

  • พิสูจน์ว่าเกิดการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นจริง
  • จำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น
  • คดียังไม่ขาดอายุความ
  • ไม้มีเหตุยกเว้นความผิด
  • ไม่มีเหตุยกเว้นโทษ

ถ้ามีข้อสงสัยอะไรอย่างหนึ่งอันสมควรเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง เช่น

  • ถ้ามีข้อสงสัยตามสมควรว่าจะไม่มีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น
  • หรือมีข้อสงสัยตามสมควรการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นแต่จำเลยไม่เป็นผู้กระทำความผิด

1.ข้อสงสัยอันสมควร คืออะไร?

แล้วอะไรมันคือข้อสงสัยอันสมควร

คำว่าข้อสงสัยอันสมควรประกอบด้วย 2 คำคือ

1.ข้อสงสัย ที่ภาษาจีนอังกฤษใช้คำว่า doubt

2.อันสมควร reasonable

ดังนั้นข้อสงสัยอันสมควรที่ศาลจะเป็นเหตุยกฟ้องจะต้องประกอบด้วย 2 อันคือ เป็นข้อสงสัย และเป็นข้อสงสัยที่มีเหตุอันสมควรสงสัยด้วย ไม่ใช่มีอะไรก็สงสัยไปทั้งหมดแต่ข้อที่เราจะต้องสงสัยเนี่ยจะต้องเป็นข้อที่มีเหตุ ซึ่งเกิดจากความน่าจะเป็นแล้วก็พยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน  ตัวอาศัยหลักคิดอย่างคนธรรมดาหรือวิญญูชนคนทั่วไป ไม่ใช่เป็นการสงสัยโดยไม่มีเหตุผล สงสัยลอยๆ เป็นจินตนาการที่เลื่อนลอย หรือคิดเอาเองโดยไม่มีเพียงหลักฐานปรากฏในสำนวน

แล้วก็มีคำกล่าวของนักกฎหมายชาวต่างชาติว่า

 การพิสูจน์ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดให้สิ้นทุกข้อสงสัย เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

 Proving a defendant’s guilt beyond all possible doubt is an impossible task .

 ทั้งนี้เพราะคนเรามันสามารถตั้งข้อสงสัยอะไรก็ได้

 เช่นข้อสงสัยตามจินตนาการ ความเพ้อฝัน หรือคิดไปเรื่อยโดยที่ไม่มีหลักฐานประกอบ

 ดังนั้นข้อสงสัยที่จะเป็นเหตุยกฟ้องต้องเป็นข้อสงสัยที่มีเหตุผลอันสมควร ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนและเหตุผลความน่าจะเป็น

1.แบบไหนถึงจะถือว่าหมดสิ้นความสงสัยอันสมควร

แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่ยอมรับกันในทางทฤษฎีว่าความหมดสิ้นสงสัยอันสมควร ไม่ถึงขั้นว่าจะต้องรับฟังเป็นที่แน่นอน 100% ว่าจำเลยกระทำความผิดเพราะว่ามันเป็นเรื่องเป็นไปแทบจะไม่ได้เลยที่จะพิสูจน์อะไรให้ได้ 100% ขนาดนั้นคำว่าสิ้นสงสัย เป็นแค่เพียงบุคคลธรรมดาสามารถแน่ใจได้ว่าจำเลยกระทำความผิด เชื่อได้โดยไม่มีข้อสงสัยก็เพียงพอลงโทษแล้ว

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ผมขอยกตัวอย่างความเห็น และแนวคำพิพากษา เพื่อประกอบการอธิบาย

ซึ่งผมจะอธิบายหลักยกประโยชน์แห่งความสงสัยทั้งจากความเห็นของอาจารย์ทางกฎหมายผู้ทรงคุณวุฒิและคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ยกตัวอย่างคำอธิบาย เรื่องการยกประโยชน์แห่งความสงสัย จากผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย 6 ท่าน

 

1.อาจารย์โสภณ รัตนากร

undefined

จะเห็นได้ว่ามาตรฐานการพิสูจน์ของโจทก์ในคดีอาญาสูงกว่าของคู่ความในคดีแพ่ง แต่ถึงกระนั้นโจทก์ในคดีอาญาก็หาอาจนำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งเป็นที่แน่นอนได้เสมอไปไม่ โจทก์ในคดีอาญาก็คงต้องนำสืบให้เห็นถึงความน่าเป็นไปได้ เช่นเดียวกับคู่ความในคดีแพ่งแต่ความน่าจะเป็นไปได้ในคดีอาญาจะต้องสูงส่งกว่าความน่าเป็นไปได้ในคดีแพ่ง หากพยานหลักฐานของโจทก์ในคดีอาญาเพียงแต่พิสูจน์ว่าจำเลยอาจจะเป็นผู้กระทำความผิดเท่านั้นย่อมไม่เพียงพอที่ศาลจะลงโทษจำเลยได้ โจทก์ในคดีอาญาจะต้องนำสืบให้เห็นโดยพยานโจทก์เองจนศาลแน่ใจว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดโดยปราศจากข้อสงสัยอันสมควร ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเปรียบเทียบพยานฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยว่าฝ่ายไหนจะมีน้ำหนักดีกว่ากันอย่างในคดีแพ่ง แต่อย่างไรก็ดีโจทก์ในคดีอาญาหาต้องนำสืบให้ถึงขนาดว่าจำเลยต้องเป็นผู้กระทำความผิดโดยแน่แท้อย่างแน่นอนไม่ หากจะให้โจทก์ในคดีอาญามีภาระพิสูจน์ถึงขนาดนั้น ก็คงไม่อาจนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ ที่โจทก์ต้องนำสืบให้สิ้นข้อสงสัยก็เฉพาะข้อสงสัยที่มีเหตุผลตามสมควรเท่านั้น คงไม่ถึงต้องสืบสิ้นให้ข้อสงสัยซึ่งแม้อาจจะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นเพียงการเลื่อนลอยหรือเพ้อฝัน แต่เป็นความสงสัยที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งวิญญูชนทั่วไปควรจะต้องสงสัย ความสงสัยตามสมควรนี้ ทางปฏิบัติย่อมแตกต่างกันตามลักษณะของคดีและความหนักเบาของข้อหาในคดี เป็นที่ยอมรับกันว่าภาระการพิสูจน์ของโจทก์ในคดีอาญาในแต่ละคดีอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของข้อหาด้วย ภาระการพิสูจน์ของโจทก์ในคดีที่มีโทษจำคุกคงต้องมากกว่าที่มีโทษปรับ ยิ่งคดีที่มีโทษจำคุกสูงหรือตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต การที่ศาลจะลงโทษจำเลยคงจะต้องนำสืบพยานหลักฐานให้หนักแน่นกว่าคดีลหุโทษ

2.ท่านอาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์

มีปัญหาว่าน่าจะแค่ไหนกี่เปอร์เซ็นต์ถึงจะฟังได้พูดเป็นตัวเลขคงไม่ได้ ถ้าว่าตามหลักเขาบอกว่าความน่าจะเป็นนั้นถ้ามีความแน่นอนถึงขนาดจิตใจเชื่อถือได้ก็พอแล้ว “มอรอลเซอร์เทนตี้” คือเป็นความแน่นอนตามความรู้สึกของจิตใจเท่านั้นก็พอแล้ว จะไปหาความแน่นอน 100% นั้นไม่ได้ฉะนั้นผู้พิพากษาคนไหนจะไปคิดแต่ว่ายังมีช่องทางสงสัยอย่างนี้ล่ะก็เวลาตัดสินความไปแล้วเมื่อถึงส่งสารสูงอาจจะถูกกลับได้เพราะเขาถือว่าจะหาความแน่นอน 100% นั้นไม่มี เพราะฉะนั้นในวิธีพิจารณาความอาญาจึงเขียนว่าต้องเป็นความสงสัยอันควร ไม่ใช่สงสัยแล้วยกฟ้องฉะนั้นจะหาความแน่นอน 100% ไม่มี เป็นแต่เพียงว่าตามธรรมดาแล้วมันแน่นอนพอที่จิตใจจะเชื่อได้หรือไม่ข้อนี้สำคัญถ้าเราคิดแต่เพียงว่ายังมีช่องทางสงสัยอยู่ เป็นต้องยกฟ้องหมดย่อมไม่ถูกต้อง

3.อาจารย์ไพโรจน์ วายุภาพ

ไพโรจน์ วายุภาพ ประธานศาลฎีกาคนใหม่

คดีอาญามีมาตรฐานการพิสูจน์ที่แตกต่างจากคดีแพ่ง โดยคดีอาญาศาลจะเชื่อฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติได้ต่อเมื่อถึงระดับที่ปราศจากความสงสัยตามสมควร ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรค 2 บัญญัติถึงมาตรฐานดังกล่าวไว้ ว่าจะต้องมีมาตรฐานถึงระดับที่ปราศจากความสงสัยตามสมควรว่ามีการกระทำความผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น จึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ข้อสำคัญคือจะต้องเป็นข้อสงสัยตามความสมควรจึงจะยกฟ้องได้ เพียงมีแต่ข้อสงสัยแต่ไม่ใช่ตามสมควรย่อมไม่อาจยกฟ้องได้ แสดงว่าไม่ต้องถึงระดับความน่าจะเป็นโดยเด็ดขาด ก็เชื่อฟังได้ว่าเป็นความจริง

4.ท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

การจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นผลดีแก่จำเลยนั้น จะต้องมีเหตุผลอันสมควรให้เกิดความสงสัย ถ้าเป็นข้อสงสัยห่างไกลต่อเหตุผลย่อมไม่เป็นเหตุให้ศาลยกฟ้อง เหตุผลแห่งข้อบัญญัติและการวินิจฉัยเช่นนี้ก็คงสรุปอยู่ในภาษิตที่ว่า ปล่อยผู้ผิด 10 คนดีกว่าลงโทษผู้ไม่ผิดเพียงคนเดียว

5.อาจารย์ จรัญ ภักดีธนากุล

ไม่ใช่ Proof beyond any doubt  แต่จะต้องเป็นการ proof beyond reasonable doubt

เพราะ Beyond any  doubt  เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ในความเป็นจริง เอาแค่พ้นข้ออันควรสงสัยได้แล้ว การต้องนำสืบให้สิ้นข้อสงสัยประการทั้งปวงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

6.LORD DENNING ผู้พิพากษาศาลประเทศอังกฤษ

undefined

เคยวางหลักไว้ในการวินิจฉัยคดีว่า ไม่ต้องพิสูจน์ถึงขนาดมั่นใจ แต่ต้องได้ถึงขนาดความน่าเชื่อถือในระดับสูง ดังนั้นการพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัยจึงไม่ใช่การพิสูจน์จนไม่มีข้อสงสัย มิฉะนั้นแล้วกฎหมายก็ไม่อาจสามารถคุ้มครองความปลอดภัยให้กับสังคมได้ เพราะไม่อาจลงโทษคนที่กระทำความผิดได้

ตัวอย่าง 6 คำพิพากษาศาลฎีกา ที่น่าสนใจเกี่ยวกับหลักยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย

  1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่อธิบายหลักยกประโยชน์แห่งความสงสัยได้อย่างดีมาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3042/2543

บทบัญญัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 มีความหมายว่า ในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวง ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงใดหรือไม่ พยานหลักฐานใดขัดต่อเหตุผลไม่น่ารับฟัง และในกรณีที่ศาลจะพิพากษาลงโทษบุคคลใด พยานหลักฐานในคดีนั้นต้องมั่นคงแน่นหนา และมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง หากพยานหลักฐานในสำนวนมีข้อพิรุธน่าระแวงสงสัยไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย โดยพิพากษายกฟ้องโจทก์แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าหากพยานหลักฐานของโจทก์มีข้อแตกต่างขัดแย้งกันเอง หรือมีข้อน่าสงสัยบางประการแล้ว ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสียทุกกรณีไป ข้อพิรุธน่าระแวงสงสัยอันจะเป็นเหตุให้ยกฟ้องโจทก์นั้นต้องเป็นข้อบกพร่องของพยานหลักฐานโจทก์ที่ทำให้น้ำหนักคำพยานเลื่อนลอยไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังเป็นความจริงได้โดยสนิทใจ ส่วนข้อแตกต่างขัดแย้งกันในกรณีอื่นที่ไม่มีผลต่อการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพยานหาเป็นข้อพิรุธอันจะเป็นเหตุให้ยกฟ้องโจทก์ไม่ ข้อแตกต่างผิดเพี้ยนกันในรายละเอียดปลีกย่อยอันเป็นพลความหรือข้อพิรุธที่ไม่เกี่ยวกับการรับฟังข้อเท็จจริงที่มุ่งจะพิสูจน์ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ย่อมไม่เป็นเหตุทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานของโจทก์

2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่อธิบายอย่างชัดแจ้งว่ายิ่งคดีหนักมาตรฐานในการพิสูจน์ยิ่งสูงขึ้นไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2047/2550

คดีอุกฉกรรจ์มีโทษสถานหนัก พยานหลักฐานโจทก์จะต้องชัดแจ้งหนักแน่นมั่นคงโดยไม่มีข้อตำหนิใด ๆ ให้เป็นที่ประจักษ์ได้ แม้ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาจะฟังได้ว่าคนร้ายได้ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายถึงแก่ความตายจริงซึ่งทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุอาวุธปืนของกลางอยู่ในความครอบครองของจำเลยมาโดยตลอด แต่จำเลยก็เบิกความอธิบายว่า เหตุที่จำเลยเบิกความเช่นนั้นเนื่องจากจำเลยเข้าใจว่าอาวุธปืนของกลางยังอยู่ใต้ฟูกในห้องนอนของจำเลย เนื่องจากจำเลยไม่ได้ตรวจสอบอาวุธปืนดังกล่าวตลอดเวลา กรณีจึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของจำเลยมาลงโทษจำเลยได้ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยได้กระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่คนร้ายทั้งสองกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายมาก่อน ลำพังพยานหลักฐานที่โจทก์รับฟังได้เพียงแค่อาวุธปืนของกลางที่ใช้ยิงผู้ตายเป็นอาวุธปืนของจำเลยยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตาย

3.คำพิพากษาที่วินิจฉัยว่ามาตรฐานในการพิสูจน์คดีแพ่งกับคดีอาญาเป็นคนละเรื่องกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1453/2562

ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่ง เพราะหลักการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักคำพยานในคดีแพ่งและคดีอาญาไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ในคดีแพ่งศาลจะชั่งน้ำหนักคำพยานว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่ากัน แต่ในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจนแน่ใจว่าพยานโจทก์พอรับฟังลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 ฉะนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่ง จึงเป็นเพียงพยานหลักฐานที่ศาลจะนำมาชั่งน้ำหนักประกอบคำพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ในคดีนี้ ว่าข้อเท็จจริงมีน้ำหนักพอรับฟังว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่เท่านั้น ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งดังกล่าวเพียงอย่างเดียวมาวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้ว่าจำเลยมิได้กระทำความผิด และโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย โดยมิได้สืบพยานโจทก์จำเลยให้สิ้นกระแสความเสียก่อน เป็นการไม่ชอบ

4.คำพิพากษาที่อธิบายเรื่องว่า เพียงแค่ความสงสัยว่าน่าจะกระทำความผิด ไม่เพียงพอที่จะลงโทษได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7826/2560

การที่พบจำเลยอยู่ในขนำที่เกิดเหตุเพียงคนเดียวและตรวจพบอาวุธปืนของกลางดังกล่าวอาจจะแสดงให้เห็นว่าจำเลยอาจจะมีส่วนร่วมหรือเป็นข้อพิรุธสงสัยที่แสดงว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดแต่ก็ไม่อาจรับฟังยืนยันเชิงตรรกะว่าจำเลยได้กระทำผิดนั้นจริง ในคดีอาญาโจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความชัดตามข้อกล่าวอ้าง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 174 แต่พยานโจทก์ยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยมีอาวุธปืนและลูกกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

5.คำพิพากษาที่ตีความว่าโจทก์มีหน้าที่จะต้องนำสืบเหตุยกเว้นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6747/2560

 หลักการสำคัญของการดำเนินคดีอาญาว่า แม้เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นความผิดให้แก่จำเลยก็ตาม โจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดเช่นนั้น หาใช่ว่าในกรณีที่จำเลยได้รับยกเว้นความผิดเช่นนั้นแล้วหน้าที่นำสืบจะตกอยู่แก่จำเลยไม่

6.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ยืนยันหลักในเรื่องที่ว่าต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยไม่มีความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3889/2548

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด” และ ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า “เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย” ดังนั้น เมื่อมีข้อสงสัยว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ขายให้จำเลยผู้ซื้อยืมสินค้าไปตรวจดูเพื่อตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่หรือไม่เป็นกรณีที่มีการตกลงซื้อขายเผื่อชอบกันแล้ว กรณีก็ต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลย โดยฟังว่าข้อตกลงระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยเป็นเรื่องสัญญาซื้อขายเผื่อชอบ จะนำ ป.พ.พ. มาตรา 11 มาใช้ตีความเพื่อลงโทษจำเลยไม่ได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก

สรุป 6 หลักการพิจารณาเรื่องการ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

จากแนวคิดทฤษฎีทางกฎหมาย คำอธิบายของอาจารย์หลายๆท่าน รวมทั้งคำพิพากษาของศาลฎีกา ผมสามารถสรุปได้ว่าหลักการยกประโยชน์แห่งความสงสัย มีหลักเกณฑ์ พี่พอกำหนดได้ดังนี้

1.ต้องพิจารณาโดยมุมมองของ “บุคคลทั่วไป”

คำว่าบุคคลทั่วไปหรือที่ตามกฎหมายมักจะใช้คำว่าวิญญูชนหมายความว่าคือบุคคลธรรมดา.ที่มีสภาพจิตใจปกติไม่ใช่คนที่จิตใจอ่อนแอ หรือมีความเข้มแข็งเหนือ บุคคลธรรมดาไม่ใช่คนที่ตรรกกะผิดเพี้ยน มีอคติไม่ใช่คนที่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ใช่คนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

2.อาศัยหลักสามัญสำนึก

หลักสามัญสำนึก หรือคอมมอนเซนต์ ก็คือ ในเวลาและสถานการณ์เช่นนั้น บุคคลธรรมดาควรจะต้องมีความรู้สึกอย่างไร ควรจะต้องมีความคิดอย่างไร ควรจะมีข้อสงสัยหรือไม่

3.ข้อสงสัยต้องเป็นข้อสงสัยตามสมควร

คำว่าข้อสงสัยตามสมควร ต้องไม่ใช่

1.การสงสัยโดยไม่มีเหตุผล

2.สงสัยโดยไม่มีพยานหลักฐาน

3.สงสัยโดยอาศัยจินตนาการ

แต่เป็นการสงสัยตามหลักที่วิญญูชนทั่วไปเขาจะต้องสงสัย เนื่องจากพยานหลักฐาน และข้อมูลที่ปรากฏในท้องสำนวน

4.ไม่ถึงขั้นต้องแน่ใจ 100%

อย่างที่บอกไปแล้วว่าการที่จะพิสูจน์อะไรให้ได้ 100% มันเป็นเรื่องยากมาก ถ้าจะต้องอาศัยมาตรฐานในการพิสูจน์ 100% คือแทบจะไม่มีที่ติเลย ก็คงแทบไม่สามารถพิพากษาลงโทษใครได้เลย

ดังนั้นมาตรฐานในการพิสูจน์เนี่ยเพียงแค่เพียงพอที่คนธรรมดาจะเชื่อหรือมั่นใจได้ว่าจำเลยกระทำความผิด ก็เพียงพอจะลงโทษได้แล้ว เพิ่งได้เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วในมุมมองผม น่าจะอยู่ที่ประมาณสัก 75-80 % ขึ้นไป

5.ยิ่งคดีโทษสูงมาตรฐานการชั่งน้ำหนักก็จะยิ่งสูง

คดีที่มีโทษสูงถึงประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตมาตรฐานหรือความเข้มข้นในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานย่อมสูงกว่าคดีที่มีโทษเป็นลหุโทษหรือมีแค่โทษปรับ

6.เป็นเรื่องปัจเจกและดุลยพินิจ

อย่างไรจะถือว่าสิ้นความสงสัยเนี่ยขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ของศาลโดยอาศัยความรู้ความเข้าใจรวมทั้งประสบการณ์ของศาล โดยอาศัยหลักสามัญสำนักอย่างคนทั่วไป มันเป็นปัจเจกผู้พิพากษาแต่ละคนก็อาจจะมีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน

ดังจะเห็นได้ว่าในการทำงานของทนายความเนี่ยเราก็จะเป็นที่รู้กันว่าผู้พิพากษาบางคนเนี่ยเขาเรียกว่าเป็นมือลง หมายความว่ามักจะพิพากษาลงโทษจำเลยเป็นหลัก แต่ผู้พิพากษาบางคนก็เป็นมือยก เรียกว่าจะยกฟ้องจำเลยเป็นหลัก

อ้างอิงคำของอาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์

 

“คนที่ชอบสงสัยก็มักจะไม่ค่อยเชื่อ คนที่เชื่อง่ายก็จะเชื่อ ผู้พิพากษาก็เหมือนกันทำงานไปจะเห็นว่าบางคนตัดสินความโดยมากจะลงโทษบางคนจะยกฟ้องนี่ก็เป็นนิสัยของคนซึ่งช่วยไม่ได้ธรรมดา “

สรุป

หวังว่าบทความเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆและผู้สนใจทุกคน ลองทำความเข้าใจให้ถูกต้องแล้วลองเอาไปปรับใช้กันนะครับ

รับชมเนื้อหาแบบวีดีโอได้ด้างล่างครับ

Express your opinion about this article

comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น