บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

สู้คดีฉ้อโกง – สมรู้ทำผิดมาด้วยกัน? ไม่มีอำนาจฟ้องคดี !

การต่อสู้คดีฉ้อโกง ประเด็นว่าผู้เสียหายตั้งใจร่วมกันทำผิดกฎหมายมาตั้งแต่ต้น มีข้อกฎหมาย ขั้นตอนและแนวทางการต่อสู้คดียังไง วันนี้เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังครับ

“ในคดีฉ้อโกงเป็นคดีความผิดอันยอมความได้” ซึ่งในการฟ้องคดีเนี่ยมีหลักข้อกฎหมายที่สำคัญอยู่ข้อหนึ่งว่า ผู้เสียหายจะต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีส่วนร่วมกับการกระทำความผิด ไม่ได้มาศาลด้วยมือไม่สะอาด มิฉะนั้นผู้เสียหายจะไม่มีอำนาจร้องทุกข์หรือฟ้องร้องดำเนินคดีได้และศาลจะต้องพิพากษายกฟ้อง

เปิดประเด็น หลัก“ผู้เสียหายโดยนิตินัย” ข้อกฎหมายสำคัญในการต่อสู้คดีอาญา

ซึ่งข้อกฎหมายและแนวทางการต่อสู้คดีฉ้อโกงในประเด็นนี้ มันเป็นยังไงกันบ้างวันนี้เดี๋ยวผมจะอธิบายให้ฟังครับ

แบบไหนถือว่าไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย

ธุรกิจสีเทาเช่น

– ปล่อยเงินกู้เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ฎ.12659/2553  ฎ.8013/2561

– ร่วมกันถางป่าที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฎ.1472/2522

– ร่วมกันจะไปทำธุรกิจหลอกคนอื่น ฎ.436/2530

– หลอกว่าจะเอาไปวิ่งเต้น ให้สินบนกับเจ้าพนักงาน เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ฎ.1043/2498 ฎ.340/2506 ฎ.1641/2523 ฎ.1640/2523 ฎ.1931/2519

– นำเข้าสินค้าผิดกฎหมายมาจำหน่าย

– ตกลงซื้อสินค้าที่ผิดกฎหมายเช่นธนบัตรปลอม ยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมายต่างๆ ฎ.771/2493

ทั้งนี้พูดให้ฟังอาจจะยังไม่เข้าใจเดี๋ยวไปนั่งวิเคราะห์ฎีกาด้วยกันเลยครับ

แบบไหนที่ศาลยังถือว่าเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยอยู่

กรณีที่ยังไม่ชัดเจนว่าเงินที่ให้ไปเป็นการทำผิดกฎหมาย ถึงแม้ว่าจะมีลักษณะนำไปช่วยเหลือให้ได้รับผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ศาลก็ยังตีความว่ายังไม่ถึงขั้นว่าเป็นการทำทุจริต
1.ยังไม่ชัดเจนว่าจะต้องเป็นการไปทำผิดกฎหมาย

ฎ.1341-1342/2501 ฎ.2440/2525

2.การขายดาวน์รถ โดยที่ไม่มีสิทธิเป็นแค่เรื่องทางแพ่งระวังผู้เช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อ

ฎ.7960/2551

3.กรณีฉ้อโกงประชาชน

อย่างไรก็ตามถ้าการกระทำนั้นเป็นถึงขั้นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา 343 ไม่ใช่ฉ้อโกงธรรมดา แบบนี้ถึงแม้ผู้เสียหายไม่สามารถฟ้องคดีเองได้ก็จริงแต่สามารถกล่าวโทษให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีได้ครับ แต่ถ้าฟ้องเองก็ต้องยกฟ้องเหมือนเดิม

ตัวอย่างคำพิพากษาที่วินิจฉัยว่าผู้เสียหายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย 

1.ตกลงว่านำเงินไปปล่อยกู้เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8013/2561

สำหรับจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และโจทก์รู้อยู่ว่าจำเลยที่ 1 จะนำเงินไปปล่อยกู้และเรียกเอาผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้อง แสดงให้เห็นว่าโจทก์เจตนาทุจริตมุ่งประสงค์ต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 นำเงินที่กู้ยืมดังกล่าวไปปล่อยกู้โดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ก็ตาม ถือว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12659/2553

โจทก์หลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยทั้งสองจึงมอบเงินกู้ให้แก่จำเลยทั้งสองไปปล่อยกู้ให้ด้วยการเรียกดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าร้อยละสิบห้าต่อปีอันเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ แสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าโจทก์รับข้อเสนอดังกล่าวโดยมีเจตนาร้ายมุ่งประสงค์ต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมายแม้การกระทำที่ผิดกฎหมายนั้นไม่เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นเพียงการหลอกลวงของจำเลยทั้งสองเพื่อฉ้อโกงโจทก์หรือไม่ก็ตาม ถือว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกง

2.ตกลงไปทำสิ่งที่กฎหมายต้องห้าม 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1472/2522

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ของโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ชั้นนี้คดีมีปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่ เงินที่โจทก์บรรยายฟ้องในคดีนี้ว่าจำเลยหลอกลวงฉ้อโกงไปนั้นเป็นเงินค่าจ้างจำเลยไปถางป่าทำไร่ และป่าที่ให้ถางนั้น ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นป่าที่ไม่ได้ขออนุญาตจับจองที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9การถางป่าดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 โจทก์ผู้จ้างมีส่วนร่วมกระทำผิดกับจำเลยจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย”
พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 771/2493

การที่ผู้เสียหายตกลงจะซื้อธนบัตรปลอมจากจำเลย แม้จะเป็นโดยจำเลยใช้อุบายหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงก็ดีก็เป็นความตกลงที่มีวัตถุประสงค์จะกระทำผิดกฎหมาย มิได้เป็นไปด้วยความสุจริตจะถือตนว่าเป็นผู้เสียหายโดยชอบด้วยกฎหมายมิได้ ฉะนั้นพนักงานอัยการจึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีอันเนื่องจากคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายเช่นนี้ มาว่ากล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1343/2549

จำเลยทั้งสองกับพวกและผู้เสียหายได้ทำพิธีปลุกเสกเหรียญรัชกาลที่ 5 เพื่อให้ได้เลขท้าย 2 ตัว ของรางวัลที่ 1 สลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อได้เลข 96 มาแล้วจำเลยทั้งสองกับพวกและผู้เสียหายตกลงกันว่าจะไปซื้อหวยใต้ดิน ผู้เสียหายได้มอบเงินจำนวน 50,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 เพื่อซื้อหวยใต้ดิน หลังจากมอบเงินให้จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 กับพวกก็หลบหนีไป พฤติการณ์ของผู้เสียหายดังกล่าวข้างต้นเป็นการร่วมกับจำเลยทั้งสองกับพวกเล่นการพนันสลากกินรวบอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมีโทษทางอาญา ผู้เสียหายคดีนี้จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

3.ไปตกลงเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 436/2530 

ผู้เสียหายสมัครใจเล่นการพนันกับจำเลยและพวกโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการร่วมกับจำเลยกระทำความผิด ผู้เสียหายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานนำคดีขึ้นว่ากล่าวในความผิดตามมาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1913/2546

ผู้เสียหายสมัครใจที่นำเงินมาเพื่อร่วมกับจำเลยทั้งสองและ ว. เล่นการพนันกำถั่วเพื่อโกง ท. ตามที่บุคคลทั้งสามชักชวนผู้เสียหาย เพราะ ว. ได้แสดงการโกงพนันกำถั่วให้ผู้เสียหายดู ตลอดจนจำเลยที่ 2 ก็สอนวิธีการโกงพนันกำถั่วให้ผู้เสียหายดูจนผู้เสียหายแน่ใจว่าสามารถเล่นพนันกำถั่วโกง ท. ได้ ทั้งผู้เสียหายก็อยู่ในห้องเกิดเหตุตลอดเวลาที่เล่นการพนันกัน การที่ผู้เสียหายนำเงินมามอบให้จำเลยทั้งสองกับพวกเล่นการพนันกำถั่วเพื่อโกง ท. จึงเชื่อได้ว่าผู้เสียหายสมัครใจเข้าร่วมเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วยเป็นการร่วมกับจำเลยทั้งสองกระทำความผิด ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานนำคดีขึ้นว่ากล่าวในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1813/2531

จำเลยฉ้อโกงให้โจทก์ร่วมเข้าหุ้นเล่นการพนันต้มบุคคลที่สามโจทก์ร่วมเข้าหุ้นและเข้าเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วยดังนี้ เป็นการร่วมกับจำเลยกระทำความผิด โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ได้พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

4.มอบเงินเป็นการให้สินบนวิ่งเต้นทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1931/2519

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นายสุชินมอบเงินให้กับจำเลยเพื่อให้ใช้เป็นค่าเดินทางไปติดต่อและนำไปให้เจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อให้ช่วยเหลือในคดีที่นายสุชินต้องหาว่าพยายามฆ่าผู้อื่น แม้เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวจะไม่มีตัวตนและจำเลยจะไม่ได้ไปติดต่อกับผู้ใดก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ เพราะเจตนาของนายสุชินที่ให้เงินจำเลยก็เพื่อจะให้เจ้าพนักงานช่วยเหลือตนที่ต้องหาคดีอาญาอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของนายสุชินเป็นการร่วมกับจำเลยในการนำสินบนไปให้เจ้าพนักงาน อันอาจถือได้ว่านายสุชินเป็นผู้ใช้ให้จำเลยไปกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 นายสุชินจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานนำคดีนี้ขึ้นว่ากล่าวในความผิดฐานฉ้อโกงอันเป็นความผิดต่อส่วนตัวได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1638 – 1640/2523

จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าจำเลยสามารถนำบุตรชายผู้เสียหายเข้าโรงเรียนนายสิบทหารบกได้โดยสอบคัดเลือกเป็นพิธีเท่านั้น และเรียกเอาเงินเพื่อนำไปให้คณะกรรมการเพื่อช่วยบุตรผู้เสียหายให้เข้าเรียนได้ผู้เสียหายหลงเชื่อได้มอบเงินให้จำเลยไป ดังนี้ ถือว่าผู้เสียหายได้ร่วมกับจำเลยนำสินบนไปให้เจ้าพนักงาน อันอาจถือได้ว่าเป็นการใช้ให้จำเลยกระทำผิดผู้เสียหายในคดีนี้จึงมิใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ให้เจ้าพนักงานนำคดีขึ้นว่ากล่าวในความผิดต่อส่วนตัวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 340/2506

การที่จำเลยกล่าวข้อความเท็จหลอกลวงโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้ใกล้ชิดกับพนักงานอัยการและผู้พิพากษาเรียกร้องเอาเงินโจทก์เพื่อจะนำไปให้พนักงานอัยการและผู้พิพากษาเพื่อให้ช่วยเหลือบุตรของโจทก์หลุดพ้นคดีอาญาโจทก์หลงเชื่อว่าเป็นความจริงได้มอบเงินให้จำเลยไปนั้น การกระทำของโจทก์เป็นการร่วมกับจำเลยในการนำสินบนไปให้เจ้าพนักงานอันอาจถือได้แล้วว่าโจทก์เป็นผู้ใช้ให้จำเลยกระทำความผิด
โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะนำคดีมาฟ้องร้องได้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 40/2505)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1043/2498

การที่โจทก์ให้เงินแก่จำเลยผู้เป็นเจ้าพนักงานเพื่อจัดการให้คืนไม้ของกลางซึ่งถูกยึดไปนั้น ย่อมมีวัตถุประสงค์ผิด กฎหมายไม่สุจริต ฉะนั้นจะถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหรือร้องทุกข์ในฐานฉ้อโกงนี้ (อ้างฎีกาที่771/2492)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1461/2523

น. เป็นหลานของ ว. สมัครสอบคัดเลือกเข้ารับราชการจำเลยบอก ว. ว่าจำเลยสามารถติดต่อวิ่งเต้นให้ น. สอบได้ ถ้าต้องการให้หาเงินมาให้ ว. หลงเชื่อมอบเงินให้จำเลยไป ผลที่สุดปรากฏว่า น. สอบไม่ได้ ดังนี้ตามพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ว. มอบเงินให้จำเลยไปก็โดยมุ่งหมายจะให้กรรมการสอบช่วยให้ น. สอบได้ เท่ากับว่า ว. ใช้ให้จำเลยไปจูงใจให้เจ้าพนักงานกรรมการสอบรับทรัพย์สินเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งจะเป็นคุณแก่ น.. อาจถือได้ว่า ว.ใช้ให้จำเลยกระทำความผิดว. จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์คดีนี้ได้ และพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 340/2506)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7326/2557

การที่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 หลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยที่ 1 จึงมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้ช่วยเหลือบุคคลของตนเข้าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจโดยไม่ต้องสอบอันเป็นการไม่ชอบ แสดงว่ามีเจตนาร้ายมุ่งหวังต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ไม่ชอบ ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) เป็นผลให้พนักงานอัยการโจทก์ไม่อาจร้องขอให้เรียกทรัพย์สินแทนผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 43 บัญญัติไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10107/2553

การเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยจะต้องไม่มีส่วนร่วมในการกระทำผิดเสียก่อน การที่โจทก์ร่วมทั้งสองมอบเงินให้จำเลยไปโดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยจะนำไปวิ่งเต้นติดสินบนเจ้าพนักงานเพื่อให้นำไม้จากประเทศกัมพูชาผ่านแดนเข้าประเทศไทยได้ แม้จำเลยจะมิได้นำไปวิ่งเต้นติดสินบนตามที่กล่าวอ้าง แต่ความประสงค์อันแท้จริงของโจทก์ร่วมทั้งสองก็เพื่อให้จำเลยวิ่งเต้นติดสินบนในเรื่องที่ผิดกฎหมาย โจทก์ร่วมทั้งสองมีส่วนก่อให้เกิดความผิดอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีอำนาจร้องทุกข์ในคดีความผิดฐานฉ้อโกงได้ ปัญหาดังกล่าวแม้จะมิได้ว่ากันมาโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อโจทก์ร่วมทั้งสองไม่มีอำนาจร้องทุกข์ พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง เพราะเป็นความผิดต่อส่วนตัว ศาลล่างทั้งสองจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้

ตัวอย่างที่ศาลวินิจฉัยว่ายังเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยอยู่ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2440/2525

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยและนางจันทร์สมเป็นสามีภรรยากัน และได้ร่วมกันหลอกลวงนายศรีลาว่าสามารถนำนางสาวพวงพรรณบุตรสาวของนายศรีลาเข้าเรียนเป็นผู้ช่วยพยาบาลโรงพยาบาลสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ ได้โดยไม่ต้องสอบคัดเลือกเข้าเรียนและได้เรียกร้องเอาเงินจากนายศรีลาเป็นจำนวนเงิน 18,000 บาท นายศรีลาตกลงยินยอมและมอบเงินให้นางจันทร์สมไป ต่มานางจันทร์สมได้บอกนายศรีลาว่า ไม่สามารถช่วยนางสาวพวงพรรณให้เข้าเรียนที่โรงพยาบาลสวนดอกได้ แต่จะพาไปเข้าเรียนที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร และเรียกร้องเงินจากนายศรีลาอีก 17,000 บาท นายศรีลาก็ตกลงและมอบเงินให้นางจันทร์สมอีก รวมเป็นเงินทั้งสิ้น35,000 บาท พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ปรากฏว่านายศรีลาให้เงินไปเพื่อให้จำเลยหรือนางจันทร์สมนำไปให้แก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการสอบคัดเลือกให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยทุจริต พฤติการณ์น่าจะเป็นว่าจำเลยกับนางจันทร์สมร่วมกันหลอกลวงนายศรีลาเพื่อต้องการได้เงินจากนายศรีลาเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่านายศรีลาได้ร่วมกับจำเลยและนางจันทร์สมนำสินบนไปให้เจ้าพนักงานอันเป็นการใช้ให้จำเลยนางจันทร์สมกระทำผิด นายศรีลาย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายมีสิทธิร้องทุกข์ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4005/2551

        การที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมโดยกล่าวเท็จชักชวนโจทก์ร่วมให้นำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารล่วงหน้ารายละ 2,000 บาท จากยอดเบี้ยเลี้ยงทหารที่สามารถเบิกจ่ายได้จริงรายละ 2,600 บาท ซึ่งความจริงจำเลยไม่สามารถนำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารและมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงแต่อย่างใด เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อตกลงซื้อเบี้ยเลี้ยงทหารรวม 118 ราย และมอบเงินรวม 236,000 บาท ให้แก่จำเลยไป การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341

เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อห้ามการซื้อขายเบี้ยเลี้ยงทหาร ดังนั้น การซื้อขายเบี้ยเลี้ยงทหารที่จำเลยหลอกโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่กิจการที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามแต่เป็นเพียงข้ออ้างของจำเลยเพื่อจูงใจให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและยินยอมมอบเงินให้จำเลย ซึ่งโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7960/2551

แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อสัญญาห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่นก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เสียหายซึ่งจะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่ง ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายแจ้งให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อทราบแล้วว่าจะทำสัญญาเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อเป็นจำเลย เมื่อจำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายให้ขายดาวน์รถยนต์แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายโดยตรง โดยผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วย อีกทั้งขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันดังกล่าวในฐานะผู้เช่าซื้อ จึงเป็นผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6774/2558

การที่โจทก์ร่วมทั้งสองไปที่เกิดเหตุก็เพื่อต้องการขายที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะร่วมเล่นการพนันกับจำเลยและพวกมาตั้งแต่ต้น และการที่โจทก์ร่วมทั้งสองยอมมอบเงินให้แก่จำเลยกับพวกไปก็สืบเนื่องมาจากแผนการหรือกลอุบายที่จำเลยกับพวกร่วมกันสร้างเรื่องขึ้นมาโดยพูดจาหว่านล้อมโจทก์ร่วมทั้งสองให้หลงเชื่อ ทั้งยังให้โจทก์ร่วมทั้งสองดื่มกาแฟซึ่งมีอาจมีส่วนผสมของยาที่ทำให้โจทก์ร่วมทั้งสองเกิดอาการมึนงงอีกด้วย เพื่อจะหลอกลวงเอาเงินจากโจทก์ร่วมทั้งสองด้วยวิธีการอันแนบเนียนตามที่ได้วางแผนกันมาก่อน จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสองมีเจตนาเข้าร่วมเล่นการพนันกับจำเลยและพวกโดยไม่ได้รับอนุญาต อันจะเป็นการร่วมกับจำเลยกระทำความผิด โจทก์ร่วมทั้งสองจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามมาตรา 2 (7) และมาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5612/2556

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341, 83 โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหาย ให้ผู้เสียหายนำเงินมาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 และพวกเล่นการพนันเพื่อเอาเงินจากจำเลยที่ 2 ซึ่งมีเงินเป็นจำนวนมาก ผู้เสียหายถูกหลอกนำเงิน 3,000,000 บาท มาร่วมลงทุนเล่นการพนันโดยจำเลยทั้งสองกับพวกมิได้มีเจตนาที่จะเล่นการพนันเอาทรัพย์สินกัน แต่การพนันเป็นเพียงแผนการที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกเอาเงินของผู้เสียหายให้แนบเนียน ทั้งผู้เสียหายก็ไม่มีเจตนาที่จะร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยทั้งสองมาตั้งแต่ต้น การที่ผู้เสียหายมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองกับพวกเพื่อเล่นการพนันดังกล่าวเป็นการตกหลุมพรางที่วางไว้ ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายเข้าร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยทั้งสอง ทั้งถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง จึงถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายร่วมเล่นการพนันกับจำเลยทั้งสองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันจะเป็นการร่วมกับจำเลยทั้งสองกระทำผิด ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงและพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1335/2552

จำเลยทั้งสามกับพวกมิได้มีเจตนาที่จะเล่นการพนันเอาทรัพย์สินกัน แต่เป็นแผนการหรือกลอุบายอย่างหนึ่งที่จำเลยทั้งสามสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อจะหลอกลวงเอาเงินจากโจทก์ร่วม ทั้งโจทก์ร่วมมิได้มีเจตนาที่จะไปร่วมเล่นการพนันกับจำเลยทั้งสามมาแต่ต้น การที่โจทก์ร่วมมอบเงินให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกเพื่อเข้าหุ้นเล่นการพนันดังกล่าวเป็นการตกหลุมพรางที่วางกับดักเอาไว้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเข้าร่วมเล่นการพนันกับจำเลยทั้งสามโดยไม่ได้รับอนุญาต อันจะเป็นการร่วมกับจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดฐานฉ้อโกงเงินของโจทก์ร่วม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2027/2536

 จำเลยทั้งห้าไม่ได้ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนงานข้อความเท็จที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันแสดงออกต่อผู้เสียหายทั้งเจ็ด ยืนยันข้อเท็จจริงว่ามีงานให้ทำในประเทศญี่ปุ่นมีค่าจ้างเดือนละ 35,000 บาท ถึง 40,000 บาท และชักชวนผู้เสียหายทั้งเจ็ดให้ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นข้อความเท็จนั้น เป็นข้อความที่จำเลยทั้งห้าใช้หลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายทั้งเจ็ดเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องจำเลยทั้งห้าประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางาน ตามความหมายของพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 จำเลยทั้งห้าจึงไม่มีความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานโดยมิได้รับอนุญาต ผู้เสียหายทั้งเจ็ดมอบเงินให้จำเลยทั้งห้า เพราะเชื่อในข้อความเท็จที่จำเลยทั้งห้าแจ้งให้ทราบและที่จำเลยทั้งห้า หลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดว่าสามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งเจ็ด ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้จริงผู้เสียหายทั้งเจ็ดจึงยอมมอบเงินให้จำเลยทั้งห้า การรู้หรือไม่รู้ว่าการเข้าไปทำงาน ในประเทศญี่ปุ่นต้องลักลอบเข้าไป ไม่ใช่สาระสำคัญที่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดยอมมอบเงินให้จำเลยทั้งห้า เมื่อ ผู้เสียหายทั้งเจ็ดยอมมอบเงินให้จำเลยทั้งห้า เพราะเชื่อ ในคำหลอกลวงของจำเลยทั้งห้า ผู้เสียหายทั้งเจ็ดจึงเป็น ผู้เสียหายโดยนิตินัย

สรุป

ประเด็นว่าผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยวัตถุประสงค์ที่เอาเงินมอบให้ไปเนี่ยเอาไปทำสิ่งผิดกฎหมายหรือเปล่าไปทำในสิ่งที่กฎหมายห้ามหรือเป็นสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีแบบนี้ผู้เสียหายไม่มีอำนาจแจ้งความหรือฟ้องคดีเองได้

ฟังๆดูแล้ว เหมือนกับไม่ค่อยยุติธรรมนะครับ ส่งเสริมให้คนฉ้อโกงหรือหลอกลวงกัน แต่ความจริงแล้วจะต้องมองลึกๆไปว่าหากศาลให้การรับรองคุ้มครองการกระทำที่ไม่ชอบโดยกฎหมาย เช่นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา การเล่นการพนัน การซื้อขายสิ่งของผิดกฎหมายยาเสพติด อาวุธปืนเถื่อน ให้มันเป็นเรื่องฟ้องฉ้อโกงกันได้ มันก็คงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะเป็นการสนับสนุนให้คนทำสิ่งผิดกฎหมายอย่างนั้นไปในตัวซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดยิ่งกว่านะครับ

ดังนั้นแล้วเนี่ยเวลาเราเป็นฝ่ายโจทก์เราก็ต้องระมัดระวังในประเด็นนี้ให้ดี หากเราเป็นฝ่ายจำเลยเราก็ต้องพยายามหยิบยกหาประเด็นเหล่านี้มาต่อสู้ครับ

Express your opinion about this article

comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น