ความรู้เกี่ยวกับการว่าจ้างทนายความ

7 เคล็ดลับต้องรู้ในการเลือกทนายความ เพื่อรับผิดชอบคดีความของคุณ

การเลือกทนายความ ต้องมีหลักเกณฑ์หรือแนวทางอย่างไร ?

การเลือกทนายความ

จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของผู้เขียน มักจะเห็นประชาชนผู้มีคดีความจำนวนมากถูกหลอกลวงจากทนายความที่ไร้จรรยาบรรณ หรือพวกตีนโรงตีนศาล  แทนที่จะได้รับความช่วยเหลือทางคดีความจากทนายความ กลับโดนลอกลวง หรือบางครั้งก็เจอทนายความประเภทที่ทำคดีแบบไม่ใส่ใจ หรือไม่มีความสามารถ ไม่วางรูปคดีให้ดี ทำให้คดีที่ควรชนะกลับแพ้

บางคนก็ต้องติดคุกทั้งๆที่ไม่ได้ทำผิด บ้างก็ต้องเสียบ้านเสียที่อยู่และทรัพย์สิน มิหนำซ้ำยังเรียกเก็บค่าว่าความแพงมากเกินสมควร แต่ทำงานไม่คุ้มค่า หรือบ้างก็แอบอ้างว่าสามารถวิ่งเต้นคดีความได้ แล้วก็หลอกเอาเงินจากผู้มีคดีความไปเป็นของตัวเสีย

ทั้งนี้เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า การเลือกทนายความ มีขั้นตอนและวิธีการอย่างไร จะดูได้อย่างไรว่าทนายความคนไหนมีความสามารถ จึงมักจะเลือกทนายความตามที่มีคนแนะนำมา หรือที่ตนคิดว่ามีความสามารถเพราะรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง

ดังนั้นผู้เขียนจึงขอแนะนำข้อสังเกตใน การเลือกทนายความ ดังต่อไปนี้

1.”ประวัติดี”

ก่อนว่าจ้างทนายความควรสืบประวัติของทนายความผู้นั้นจากลูกความที่เคยใช้บริการ  อย่าเชื่อเพื่อนๆหรือผู้ที่แนะนำให้ท่านรู้จักทนายความคนนั้นเพียงคนเดียว

โดยวิธีการตรวจสอบประวัติ ฝีมือ หรือผลงานในการทำงานของทนายความนั้น กระทำได้ง่ายๆด้วยการลองดูสำนวนคดีความของเขาที่ผ่านมาว่า เขาเคยทำคดีอะไรบ้าง โดยเฉพาะคดีที่ใกล้เคียงกับคดีความของท่าน อ่านเพิ่มเติมได้ใน การตรวจสอบประวัติและความสามารถของทนายความ

2.”มีข้อกฎหมายอ้างอิง” 

ในการทำงานของทนายความวิชาชีพที่ดีนั้น จะต้องอาศัยตัวบทกฎหมาย ตำรากฎหมาย ความเห็นของอาจารย์กฎหมาย วิทยานิพนธ์ และคำพิพากษาศาลฎีกาอ้างอิง ในการให้คำปรึกษาและวางรูปคดีกับลูกความ ไม่ใช่ทำรูปคดีไปตามความรู้สึกหรือความคิดของตัวเอง

การทำงานของทนายความที่ดี จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อกฎหมายที่หนักแน่น ดังนั้นจึงสังเกตุได้ว่าหากท่านสอบถามทนายความถึงเรื่องข้อกฎหมายหรือแนวทางการทำงาน ทนายความที่ดีย่อมอธิบายข้อกฎหมายที่ใช้อ้างอิงได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนได้

ท่านจงพึงหลีกเลี่ยงทนายความประเภทตอบคำถามแบบไม่มีอะไรอ้างอิง เช่นอ้างว่า “คดีชนะอยู่แล้ว” “คดีแบบนี้สู้ได้สบายมาก” “ผมทำมาเยอะแล้ว”  แต่พอถามว่าเหตุใดจึงจะชนะ ใช้ข้อกฎหมายอะไร กลับตอบเหตุผลไม่ได้

3.”แม่นยำในข้อเท็จจริง”

ในการทำงานของทนายความนอกจากจะต้องอาศัยข้อกฎหมายแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ข้อกฎหมายคือข้อเท็จจริง ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นอาจนิยามได้หมายถึง “เหตุการณ์และพยานหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคดี”

เพราะแม้ทนายความผู้นั้นจะรู้ตัวบทกฎหมาย คำพิพากษาศาลฎีกา ตลอดจนเจนจบตำรากฎหมายมากมายอย่างไร แต่หากไม่รู้จักวิธีสืบเสาะข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานที่ดีแล้ว ก็ไม่อาจทำงานคดีให้สำเร็จไปได้

โดยเราอาจสังเกตลักษณะของทนายความที่แม่นข้อเท็จจริงได้จากการสอบถามข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานของทนายความ ทนายความที่ดีจะต้องสอบถามทุกแง่มุมของคดีอย่างละเอียด และจะต้องตรวจสอบพยานที่เกี่ยวข้อง และเห็นเอกสารหลักฐานทั้งหมดจึงจะสามารถให้คำแนะนำและประเมินรูปคดีได้

หากทนายความคนไหนสอบถามท่านสามสี่คำแล้วบอกคดีชนะแน่  แล้วรีบพูดต่อถึงเรื่องเงินค่าว่าความ ให้พึงระลึกไว้ว่าท่านกำลังเจอกับพวก 18 มงกุฎ ไม่ใช่ทนายความอาชีพ

4.”อย่าตัดสินที่เปลือกนอก”

โปรดจำไว้ว่าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ดูดี สำนักงานที่โอ่โถง รถยนต์ที่หรูหรา อายุของทนายความ การออกสื่อบ่อยๆ รู้จักคนใหญ่คนโตคนมีชื่อเสียงเยอะๆ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความรับผิดชอบ ฝีมือ หรือความสามารถ ในการทำงานของทนายความเลย อย่าให้ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนในการตัดสินใจเลือกทนายความของคุณ

เพราะมีทนายความจำนวนไม่น้อยที่ร่ำรวยมาจากการหากินบนความเดือดร้อนของผู้อื่น และทนายความ18มงกุฎเหล่านี้ก็ทราบดีว่าโดยทั่วไปมักตัดสินใจเลือกทนายความจากเปลือกนอกเหล่านี้ จึงมักสร้างภาพลักษณ์ภายนอกให้ดูโอ่โถง

ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยเรื่องเสื้อผ้ากับรถยนต์นั้นมักไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กับความสามารถ ของทนายความซะเท่าไหร่ เพราะเท่าที่พบเห็นว่ามีทนายความขับรถเก่าๆแต่งตัวธรรมดา เหมือนชาวบ้านธรรมดา แต่สามารถเตรียมคดีได้อย่างรอบคอบ ถามความได้อย่างหลักแหลม แต่ทนายความบางคนแต่งตัวดี จนคนนึกว่าจะไปเดินแบบมากกว่าไปว่าความ ไปว่าความครั้งหนึ่งต้องมีเสมียนเดินตาม ขับรถหรูหรา แต่ไม่เคยได้เตรียมคดีเลยถามความแบบขอไปที

และอีกประเด็นหนึ่ง เรื่องของอายุทนายความ คนไทยบางส่วนนั้นมีความเชื่อผิดๆว่า ทนายความยิ่งแก่ยิ่งเก่ง ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ทนายความบางคนอายุมากดูน่าเชื่อถือ แต่สืบประวัติจริงๆแล้ว เพิ่งมาประกอบวิชาชีพทนายเอาตอนแก่และหมดไฟแล้ว มิได้ประสบการณ์การว่าความจริงๆ

ทนายความบางคนอายุมากจริง แต่เคยว่าความแต่คดีง่ายๆ ไม่เคยศึกษาค้นคว้าข้อกฎหมายเพิ่มเติมข้อเท็จจริงก็ไม่ตรวจสอบให้ละเอียด เพราะหมดไฟในการทำงานแล้ว การทำงานย่อมสู้ทนายความใหม่ที่เพิ่งว่าความปีแรกๆแต่ตั้งใจศึกษาค้นคว้าข้อ กฎหมายและใส่ใจเตรียมคดีไม่ได้ดังนั้นปัจจัยเรื่องอายุไม่ควรนำมาเป็นข้อสำคัญในการเลือกทนายความ

สรุปแล้วการเลือกทนายความ จึงควรดูผลงานและประวัติการทำงาน ความใส่ใจในการทำงาน ไม่ใช่แค่เปลือกนอกครับ

5. “มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง”

ปัจจัยเรื่องที่อยู่ของสำนักงานนั้นนับว่าท่านควรพิจารณา ท่านพึงหลีกเลี่ยงทนายความที่ไม่มีสำนักงานหรือที่อยู่ติดต่อเป็นหลักแหล่ง หรือมีที่ท่าพยายามปิดบังที่อยู่ที่จริงของเขากับท่าน โดยทนายความประเภทนี้มักจะนัดคุยเจรจาคดีความกับท่านที่ร้านอาหารต่างๆหรือ ในศาล ซึ่งท่านมักจะได้รับการแนะนำมาจากคนรู้จัก หรือจากตำรวจ

หรือรู้จักหรือพบกับเนื่องจากเดินอยู่ในศาล หรือเพื่อนแนะนำมา โดยเฉพาะทนายความที่ท่านได้รับการแนะนำมาจาก ตำรวจกับนายประกันให้พึงหลีกเลี่ยงให้จงหนัก เพราะทนายความเหล่านี้มักมีผลประโยชน์ร่วมกันกับตำรวจและนายประกันเหล่านั้น เขาไม่สนใจว่าคุณจะติดคุกหรือเปล่า เขาแค่ต้องการให้คดีคุณจบเร็วๆ ตำรวจจะได้เสร็จงานและนายประกันจะได้เงินประกันคืนไวๆ

ทั้งนี้ควรเข้าใจว่าสำนักงานทนายความที่ดีไม่จำเป็นต้องหรูหราหรือใหญ่โต ทนายความที่มีฝีมือจำนวนมากก็มิได้มีสำนักงานทนายความแต่ทำงานที่บ้านของตัวเอง แต่ทนายความที่ดีก็ควรมีที่อยู่ที่แน่นอนที่ท่านสามารถติดตามและไปมาหาสู่ได้ ไม่ใช่นัดคุยกันที่ก็นัดกันที่ร้านกาแฟหรือร้านอาหารหรือในศาล

6.”ตกลงเรื่องค่าว่าความชัดเจน”

การเรียกค่าว่าความนั้นไม่มีการกำหนดราคาตายตัว เป็นความพึงพอใจส่วนตัวระหว่างทนายความและลูกความ แต่ทนายความที่ดีจะต้องกำหนดค่าว่าความกับท่านไว้อย่างชัดเจน ไม่ใช่ทำไปเรียกไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด และสามารถอธิบายถึงเหตุผลในการกำหนดค่าวิชาชีพทนายความได้

ทั้งนี้ทนายความที่ดีย่อมกล้าทำสัญญาว่าจ้างทนายความกันให้ชัดเจน ระบุถึงเรื่องขอบเขตการทำงาน ค่าวิชาชีพ ค่าเดินทางและค่าธรรมเนียมศาลให้ลูกความไว้เป็นหลักฐาน

7. “มีการประเมินโอกาสแพ้ชนะคดีก่อนรับว่าความ พร้อมทั้งเหตุผลและแนวข้อกฎหมายรองรับ”

ทนายความที่ดีย่อมสามารถชี้แจงได้ว่า คดีของท่านมีทางได้ทางเสียอย่างไร มีโอกาสแพ้ชนะคดีแค่ไหน พร้อมกับสามารถแสดงเหตุผล ชี้แจงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย แนวทางการทำงานในชั้นศาลและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้

พึงหลีกเลี่ยงทนายความที่นิยมบอกว่าคดีนี้ชนะแน่นอน 100เปอร์เซ็นต์ เพราะการว่าความมีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลกระทบต่อการแพ้ชนะคดี ซึ่งปัจจัยบางอย่างก็ไม่อาจควบคุมได้ เช่นตัวผู้พิพากษา ซึ่งพยานหลักฐานข้อเท็จจริงบางอย่างตัวทนายความเองก็ไม่รู้ เช่นพยานหลักฐานหรือพยานบุคคลของฝ่ายตรงข้าม บางครั้งพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงบางอย่างก็เพิ่งโผล่มาภายหลัง

ไม่มีใครบอกท่านได้ว่าคดีของท่านจะชนะได้อย่างแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ (ยกเว้นคดีแพ่งง่ายๆบางประเภท เช่นเรื่องกู้ยืม จำนอง ) เพราะทนายความเป็นเพียงผู้เสนอข้อเท็จจริงต่อศาล ไม่ใช่คนตัดสินคดี ทนายความทำได้แต่เพียงประเมินว่าคดีมีโอกาสแพ้ชนะมากน้อยเพียงใดเท่านั้นโดย พิจารณาจากพยานหลักฐานที่ฝ่ายตนเองมีอยู่

สุดท้ายนี้ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนที่มีคดีความ และกำลังตัดสินใจเลือกหาทนายความเพื่อรับผิดชอบคดีของตนเองอยู่ครับ หากมีข้อสงสัยตรงไหนสอบถามเพิ่มเติมได้เลยครับ

ปล.บทความฉบับนี้ผม (ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์) เป็นคนเขียนเมื่อประมาณ 7-8 ปี ที่แล้ว โดยลงในเฟซบุ๊กก่อนแล้วจึงมาลงในเว็บไซต์ทีหลัง ถ้าคุณเห็นบทความนี้ที่อื่น แสดงความคนนั้น copy ผมมาครับ และเชื่อได้เลยว่า ทนายความที่ copy บทความคนอื่นไปแอบอ้างเป็นของตัวเอง ไม่ใช่ทนายความที่คุณอยากว่าจ้างแน่ๆ

Express your opinion about this article

comments

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น