บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

หลักเกณฑ์ในการเป็น “เจ้าของลิขสิทธิ์” มีอะไรบ้าง? คำอธิบายลิขสิทธิ์ – งานลิขสิทธิ์ ฉบับเข้าถึงง่าย – ครบทุกประเด็น

ลิขสิทธิ์ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง

ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นสิ่งไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ แต่กฎหมายให้ความรับรองคุ้มครอง  คล้ายเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่ง

เจ้าของลิขสิทธิ์ มีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวที่จะทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เช่าหรือทำสำเนา  หรือให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ 

หากใครละเมิดสิทธิของเจ้าลิขสิทธิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์ก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา 

แต่ไม่ใช่การสร้างสรรค์ผลงานทุกอย่าง จะถือว่าเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์เสมอไป

การจะเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์นั้น มีเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น 

  1. จะต้องเป็นงานประเภทที่กฎหมายให้ความรับรองคุ้มครองเท่านั้น เช่น งานวรรณกรรม งานนาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดีแผนกวิทยาศาสตร์หรือแผนกศิลปะ 
  2. จะต้องเป็นงานที่กฎหมาย ไม่ให้ถือว่าเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ เช่น ข่าวสารประจำวันต่างๆ รัฐธรรมนูญ กฎหมายและระเบียบข้อบังคับของรัฐ คำพิพากษาและคำสั่งของทางราชการ 
  3. ต้องไม่ใช่งานสร้างสรรค์ที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี เช่น เรื่องลามกอนาจาร ถึงแม้จะใช้ความวิริยะอุตสาหะหรือความสามารถในการทำขึ้นอย่างไร แต่ก็เป็นงานที่ทำลายศีลธรรม ไม่ถือว่าเป็นงานสร้างสรรค์ที่จะมีลิขสิทธิ์  (ฎ.3705/2530
  4. ต้องเป็นงานที่มีรูปร่างปรากฎ ไม่ใช่เพียงแต่ความคิดหรือแนวคิดทฤษฎี 
  5. ต้องมีลักษณะเป็นงานที่มีการสร้างสรรค์ ที่เกิดจากการใช้ความวิริยะอุตสาหะและความสามารถของตนเอง สร้างสรรค์ผลงานดังกล่าวขึ้นมา และไม่ใช่เกิดจากการคัดลอกงานสร้างสรรค์อื่นที่มีอยู่ก่อนแล้ว

สร้างสรรค์งานแบบไหน ถึงจะถือว่าเป็น เจ้าของลิขสิทธิ์ ?

งานสร้างสรรค์ ต้องทำขึ้นแบบไหน และต้องสร้างสรรค์ถึงขั้นไหน จึงจะถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์  เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แล้วแต่ข้อเท็จจริงเป็นกรณีไป และอยู่ในดุลพินิจของศาลเป็นสำคัญ

และจากแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาผู้เขียนสามารถสรุปได้เบื้องต้นว่า  ลักษณะของงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ตามคำพิพากษาของศาลไทยนั้น มีลักษณะดังต่อไปนี้

1.ต้องเป็นงานเกิดจากการใช้ความสามารถ ความพยายาม ความตั้งใจทำของผู้สร้างสรรค์


หมายความว่างานสร้างสรรค์ ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนั้น ต้องเกิดจากการตั้งใจทำของผู้สร้างสรรค์ โดยใช้ความสามารถ ความรู้ประสบการณ์ ความวิริยะอุตสาหะ การลงมือลงแรง ศึกษาค้นคว้า ทำให้งานนั้นเกิดขึ้นมา

ไม่ใช่แต่เพียงสักแต่ทำส่งๆไป หรือเป็นงานที่ทำได้โดยไม่ต้องอาศัยความสามารถ หรือเป็นเพียงเรื่องบังเอิญ

เปรียบเทียบง่ายๆเหมือนอย่างการเขียนบทความของผมนี้ ที่ถือเป็นงานประเภทงานวรรณกรรมประเภทหนึ่ง  ซึ่งผมได้ใช้ความสามารถ ความรู้ ประสบการณ์ รวบรวมหลักกฎหมาย ความเห็นทางกฎหมายจากตำราและแนวคำพิพากษาของศาลฎีกามารวบรวมเป็นบทความนี้

ย่อมถือได้ว่าผมได้ใช้ความสามารถ ความพยายาม ความตั้งใจ ทำให้เกิดทความฉบับนี้ขึ้น บทความฉบับนี้ย่อมเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ 

แต่ถ้าผมแค่เพียงนำคำพิพากษาศาลฎีกามารวมแล้ว มาเรียงๆกัน แล้วนำมาแผยแพร่ โดยไม่ได้อธิบาย จัดหมวดหมู่ ยกตัวอย่างใดๆ บทความของผมก็ย่อมไม่ใช่งานอันมีลิขสิทธิ์แต่อย่างใด 


ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13535/2557 ในการจัดทำแผนที่ประกอบด้วยการดำเนินการในขั้นตอนของการสำรวจ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์เรียบเรียง และเลือกใช้ข้อมูล แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมานำเสนออันเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดในรูปแบบของแผนที่ แม้ถนน ซอย และสถานที่ต่างๆ ที่ลงในแผนที่จะเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง แต่ก็ต้องใช้ความอุตสาหวิริยะและความรู้ความสามารถในการสำรวจวัดระยะและจำลองรูปแผนที่โดยใช้มาตราส่วนที่เหมาะสมเพื่อให้ได้รูปแผนที่ถูกต้องมีประโยชน์ในการใช้งานย่อมเป็นการสร้างสรรค์งานแผนที่ขึ้น อันเป็นงานศิลปกรรมอย่างหนึ่งและเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6 วรรคหนึ่ง และ 15 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5202/2552 งานที่จะได้รับความคุ้มครองในลักษณะของงานศิลปกรรมนั้น แม้กฎหมายจะไม่ได้มุ่งประสงค์ให้งานนั้นต้องมีคุณค่าทางศิลปะ แต่ก็ต้องเป็นงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยตนเอง (Originality) ในลักษณะที่ควรจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย หาใช่เป็นเพียงงาน (Work) ซึ่งทำขึ้นโดยทั่วไปเท่านั้น สำหรับภาพกราฟฟิครูปประกายดาว (STARBURST) แม้จะเป็นงานที่สร้างสรรค์ด้วยตนเองแต่ก็มีความแตกต่างจากรูปประกายดาวที่ปรากฏอยู่ทั่วไปสำหรับสินค้าอื่นๆ เพียงส่วนเล็กน้อยและไม่เป็นสาระสำคัญถึงขนาดที่จะเป็นงานสร้างสรรค์ (Original) อันควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ส่วนภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์ แม้จะเป็นรูปทรงกลมอันเป็นรูปทรงเรขาคณิตทั่วไป แต่ก็เป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้นและสี โดยไม่ปรากฏว่าได้ลอกเลียนหรือดัดแปลงมาจากงานที่มีอยู่เดิม จึงแสดงให้เห็นถึงความเป็นงานสร้างสรรค์ (Original) ที่สร้างขึ้นด้วยตนเอง จึงเป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แม้ต่อมาจะมีการนำงานนี้ไปใช้ในทางการค้าก็ไม่เป็นเหตุให้งานดังกล่าวขาดคุณสมบัติที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
สำหรับข้อความที่ว่า “สูตรมาตรฐาน สำหรับซักมือ” เป็นเพียงคำสามัญทั่วไปที่ระบุถึงคุณสมบัติของสินค้าผงซักฟอก ทั้งลักษณะที่ใช้ก็มุ่งเน้นที่จะสื่อให้เห็นถึงคุณสมบัติของสินค้ามากกว่าที่จะสร้างคำบรรยายดังกล่าวในแง่ของงานศิลปกรรมในลักษณะงานจิตรกรรมในตัวเอง จึงไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ตามนิยามศัพท์คำว่า “งานศิลปประยุกต์” ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 วัตถุประสงค์ของการให้คุ้มครองงานศิลปประยุกต์ที่หมายถึงการนำงานศิลปกรรมลักษณะงานต่างๆ มาใช้ในลักษณะที่เกิดประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าว เมื่อภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์กับภาพวาดรูปมือเป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมและถูกนำไปใช้ประกอบกันบนซองบรรจุภัณฑ์เพื่อประกอบเครื่องหมายการค้า ภาพ และข้อความอื่นๆ อันเป็นการนำเอางานศิลปกรรมไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า การออกแบบซองบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นงานศิลปประยุกต์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2610/2553 เอกสารประชาสัมพันธ์เป็นการเชิญชวนให้ลูกค้าของโจทก์เข้าร่วมสัมมนาที่โจทก์จัดขึ้น องค์ประกอบสำคัญของเอกสารประชาสัมพันธ์การอบรมสัมมนาดังกล่าว ไม่ว่าผู้ใดจัดอบรมสัมมนาก็ต้องระบุชื่อผู้จัดการอบรม ชื่อหลักสูตร หัวข้อการอบรม ชื่อวิทยากร อัตราค่าอบรม วัน เวลา สถานที่อบรม เพื่อเป็นข้อมูลให้ลูกค้าใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะอบรมหรือไม่ ซึ่งล้วนเป็นรายละเอียดที่จำต้องระบุไว้ในเอกสารประชาสัมพันธ์ทั่วไป ดังนั้น ชื่อหรือหัวข้อหลักสูตรการสัมมนาตามเอกสารประชาสัมพันธ์ของผู้จัดแต่ละสถาบันจึงอาจซ้ำกันได้ เมื่อพิจารณาเอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์แล้ว ส่วนที่สำคัญที่เป็นสาระคือหัวข้อสัมมนาหรืออบรม ซึ่งแม้จะมีการรวบรวมข้อมูลจัดลำดับเกี่ยวกับทางบัญชีและกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร ก็เป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนของชื่อหัวข้อซึ่งอาจจะซ้ำกับคนอื่นได้ เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์ดังกล่าว จึงยังไม่ถึงกับเป็นการใช้ความรู้ความสามารถ สติปัญญาวิริยะอุตสาหะที่เพียงพอถึงขนาดที่จะถือว่าเป็นการริเริ่มสร้างสรรค์งานนิพนธ์อันเป็นวรรณกรรมที่จะได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามที่ออกเอกสารประชาสัมพันธ์ในการจัดอบรม แม้จะมีลักษณะข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรการสัมมนาของโจทก์อยู่บ้าง จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11047/2551 บทความเกี่ยวกับวิตามิน อี ที่โจทก์จัดทำขึ้นตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 เป็นบทความที่จัดทำขึ้นด้วยการใช้ข้อความที่แตกต่างกัน แม้จะประกอบด้วยข้อมูลเพียง 3 ถึง 5 ย่อหน้าสั้น ๆ แต่บทความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเป็นการเรียบเรียงขึ้นโดยอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับวิตามิน อี ไม่ได้มีลักษณะเป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลหรือเป็นการแปลข้อมูลจากบทความอื่นโดยตรง แต่ได้แสดงให้เห็นถึงทักษะ การตัดสินใจและความวิริยะอุตสาหะในการนำข้อมูลที่มีอยู่มาเรียบเรียงเป็นบทความ จึงเป็นงานสร้างสรรค์และถือได้ว่าเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย

กฎหมายลิขสิทธิ์มุ่งประสงค์ที่จะให้ความคุ้มครองการแสดงออก ไม่ได้ให้ความคุ้มครองความคิด ดังนั้น แม้บทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิตามิน อี แต่ฝ่ายจำเลยนำสืบให้เห็นว่า แนวคิดเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวิตามิน อี มีอยู่แล้วในบทความต่าง ๆ ซึ่งมีปรากฏเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วไป ข้อมูลดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องนำมาจากบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ทั้งบทความตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 มีการระบุถึงแหล่งที่มาของบทความอ้างอิงไว้ด้วย เมื่อเปรียบเทียบบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 กับบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการนำข้อความที่เป็นสาระสำคัญในเนื้อหาของบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 มาใช้โดยตรง หรือเป็นการดัดแปลงบทความดังกล่าวเพียงเล็กน้อยหรือในส่วนที่ไม่สำคัญ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ในบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5306/2550 โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ข้อมูลการออกแบบ สร้าง ประกอบ ติดตั้งระบบกรองน้ำ เครื่องกรองน้ำ และสารเคมีสำหรับปรับสภาพน้ำ ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับข้อมูลของบริษัทโจทก์ ข้อมูลผลิตภัณฑ์หรือสินค้า ตัวเลขแสดงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ และรูปภาพผลิตภัณฑ์ประกอบ โดยโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ด้วยตนเองจากความรู้ ความสามารถ ความวิริยอุตสาหะ และประสบการณ์ในธุรกิจประเภทนี้มาคิดคำนวณออกแบบผลิตภัณฑ์จนสามารถใช้งานได้มีประสิทธิภาพสัมฤทธิผลได้ตามความต้องการของลูกค้า โดยมิได้ลอกเลียนมาจากผู้อื่น และโจทก์ได้แสดงออกซึ่งข้อมูลนั้นโดยนำมาลงในเว็บไซต์ของโจทก์เอง กับจัดพิมพ์เป็นเอกสารภาษาอังกฤษเป็นเล่มซึ่งประกอบด้วยแค็ตตาล๊อก โบรชัวร์ ประวัติความเป็นมาของบริษัทรายละเอียดคำอธิบายสินค้า และรูปภาพประกอบ โจทก์จึงย่อมได้ลิขสิทธิ์ในข้อมูลดังกล่าวซึ่งเป็นงานวรรณกรรม ทั้งนี้ไม่ว่าข้อมูลซึ่งเป็นงานวรรณกรรมนั้นจะมีคุณภาพหรือไม่ มีคุณค่าทางสุนทรียภาพ มีอรรถรส มีคนอ่านหรือไม่มีใครอ่านก็ยังถือเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ในเมื่องานนี้เป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยตัวโจทก์เองกรณีหาจำต้องมีอรรถรสหรือสุนทรีภาษาแต่อย่างใดไม่ งานข้อมูลการออกแบบ สร้าง ประกอบ ติดตั้งระบบกรองน้ำ เครื่องกรองน้ำ สารเคมีสำหรับปรับสภาพน้ำและรูปภาพประกอบ ในเว็บไซต์ของโจทก์จึงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 4 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2546 ขณะที่โจทก์เขียนหนังสือ “คู่มือการประเมินผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” และหนังสือ “คู่มือการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมสำหรับผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา” โจทก์ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดสำนักงานก.พ. มีหน้าที่โดยตรงในการประเมินผลการฝึกอบรม แต่ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องจัดทำเอกสารหรือเขียนตำราทางวิชาการเพื่อใช้ในการฝึกอบรม การที่โจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวขึ้นจึงไม่ถือว่าเป็นงานที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ในกรอบงานของโจทก์ และสำนักงานก.พ. ซึ่งโจทก์สังกัดก็มิได้มีคำสั่งให้โจทก์เขียนหนังสือดังกล่าวหรือมีการจ่ายค่าตอบแทนให้ โจทก์เขียนหนังสือทั้งสองเล่มนอกเวลาราชการ โจทก์ได้กำหนดเค้าโครงการเขียนและสารบัญรวมทั้งได้เขียนอธิบายเนื้อหาสาระและรายละเอียดต่าง ๆ แต่ละประเด็นโดยใช้ถ้อยคำและคำอธิบายของโจทก์ใหม่ทั้งหมดตามความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ของโจทก์โดยตรง จึงเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ทำขึ้นโดยไม่ได้ลอกเลียนงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โจทก์เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมในหนังสือดังกล่าวจึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ มิใช่สำนักงาน ก.พ. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7036/2543 หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วของโจทก์เป็นตำราเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 โดยวางรากฐานการเรียนการสอนเป็นขั้นตอนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรชั้นประถมศึกษา มีเนื้อหาสาระของตัวอย่างการคิดและวิเคราะห์ แบบทดสอบคิดเลขเร็ว และโจทก์ปัญหาในภาคผนวกเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างทักษะในสายการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์โดยให้นักเรียนมีแนวการคิดและมีการวิเคราะห์หาคำตอบได้รวดเร็ว และดัดแปลงวิธีการคิดให้เป็นแนวทางของตนเองได้ ทั้งเป็นงานที่ทำให้เกิดความเข้าใจในการคิดเลข มีความสัมพันธ์กันตามลำดับความง่ายยากตามขั้นตอน จูงใจให้เกิดความสนุกสนานในการเรียนรู้และทำความเข้าใจเพื่อให้มีความสามารถในการคิดเลขได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การที่โจทก์นำตัวเลขรูปภาพสัญลักษณ์ โจทก์ปัญหาและเครื่องหมายต่าง ๆ กันมาปรับใช้โดยมีวิธีการคิดตามลำดับเพื่อให้เข้ากับหลักสูตรและพัฒนาเสริมสร้างทักษะในการเรียนตามวัยของเด็กนักเรียนในลำดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6โดยอาศัยข้อมูลและประสบการณ์จากการใช้สอนในโรงเรียนมาเป็นเวลานานหลายปี เป็นการริเริ่มสร้างสรรค์งานของโจทก์เพื่อให้นักเรียนสามารถคิดคำนวณเลขได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ถือได้ว่าเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยแสดงออกซึ่งการริเริ่มของโจทก์เองอันเป็นงานวรรณกรรมตามความหมายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์สร้างสรรค์งานดังกล่าว หาใช่เป็นเพียงความคิด ขั้นตอนกรรมวิธี ระบบวิธีใช้หรือทำงาน แนวความคิด หลักการการค้นพบ หรือทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ อันไม่ได้รับความคุ้มครองแต่อย่างใดไม่ หนังสือแบบฝึกคณิตคิดเลขเร็วจึงเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6379/2537 งานออกแบบปากกาลูกลื่น 2 แบบ ซึ่งประกอบด้วยงานแบบพิมพ์รูปลักษณะปากกาและชิ้นส่วนแม่พิมพ์ งานหุ่นจำลองงานอิเล็กโทรดหรือแท่งทองแดงที่ใช้ในการทำแม่พิมพ์ งานแม่พิมพ์ และงานรูปทรงและลวดลายตัวปากกา อันเกิดจากการคิดค้นแบบปากกาตั้งแต่ยกร่างรูปทรงและลวดลายในกระดาษร่างให้ปากกามีรูปลักษณะสวยงามสะดุดตาและสะดวกในการใช้สอย แล้วนำมาวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐกิจตามหลักวิชาการ ใช้เทคนิคที่เรียกว่าวิศวกรรมคุณค่าคือ วิธีการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีคุณภาพใช้ได้ดีกว่าสินค้าที่มีอยู่ก่อน และเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตในราคาต่ำจนได้รูปทรงและลวดลายที่พอใจ แล้วเขียนแบบที่ถูกต้องและทำหุ่นจำลองต่อจากนั้นก็ทำการออกแบบชิ้นส่วนแม่พิมพ์ ออกแบบอีเล็กโทรดหรือแท่งทองแดงที่ใช้ในการทำแม่พิมพ์ ทำอิเล็กโทรด และทำแม่พิมพ์เพื่อใช้ในการทำปากกา เป็นงานสร้างสรรค์อันเกิดจากการนำเอาการสร้างแบบพิมพ์รูปลักษณะของปากกาและแบบแม่พิมพ์ซึ่งเขียนด้วยลายเส้นประกอบเป็นรูปทรงอันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรมและการสร้างแม่พิมพ์กับหุ่นจำลองของปากกาดังกล่าว ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ อันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานประติมากรรม มาประกอบเข้าด้วยกันและสร้างขึ้นเป็นปากกาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการขีดเขียนและเพื่อประโยชน์ทางการค้าอันเป็นประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมและประติมากรรมดังกล่าวงานสร้างสรรค์แบบปากกาทั้งสองแบบจึงเป็นงานศิลปประยุกต์ อันอาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีคุณค่าทางศิลปหรือไม่ หากปรากฏว่างานนั้นผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานนั้นด้วยความคิดริเริ่มของตนเองโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น

2.ไม่จำเป็นต้องเป็นงานใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน 

งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นไม่เหมือนสิทธิบัตร เพราะกฎหมายเรื่องสิทธิบัตรนั้น จะต้องเป็นเรื่องของการคิดริเริ่มสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีก็มาก่อน 

แต่งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นงานประเภทที่ไม่เคยมีมาก่อนแต่อย่างใด เพียงแต่งานนั้นจะต้องมีลักษณะตามข้อ 1 คือจะต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะ และความสามารถของผู้สร้างสรรค์ในการจัดทำขึ้นมา 

ตัวอย่างเช่น บทความอธิบายเรื่องลิขสิทธิ์ของผมนั้น ผมไม่ได้เขียนบทความลักษณะนี้เป็นคนแรก มีนักกฎหมายหลายคนเคยเขียนคำอธิบายเรื่องลิขสิทธิ์มาแล้ว ทั้งในตำรา หนังสือ และสื่อออนไลน์ต่างๆ 

แต่ผมก็นำเสนอบทความเรื่องลิขสิทธิ์นี้ ในอีกแง่มุมหนึ่ง โดยใช้ภาษาหรือความเข้าใจของผมเอง มีวิธีการเขียนและอธิบายประกอบตามแนวทางของผมเอง ดังนั้นบทความเรื่องลิขสิทธิ์ฉบับนี้ของผม แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ก็ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์  


ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19305/2555 การจะเป็นผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นความสำคัญมิได้อยู่ที่ว่างานที่อ้างว่าได้สร้างสรรค์นั้นเป็นงานใหม่หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าบุคคลนั้นได้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ และงานดังกล่าวมีที่มาหรือต้นกำเนิดจากบุคคลผู้นั้น มิได้คัดลอกหรือทำซ้ำหรือดัดแปลงมาจากงานอันมีลิขสิทธิ์อื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 973/2551 ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๔ บัญญัติว่า ผู้สร้างสรรค์ คือ ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ และการสร้างสรรค์ดังกล่าวต้องเป็นการสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ดังนั้นงานที่จะมีลิขสิทธิ์นั้นเพียงปรากฏว่าเป็นงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของผู้สร้างสรรค์โดยผู้ใช้ความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ ระดับหนึ่งในงานนั้น และมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แล้วโดยไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ดังนั้น หากผู้สร้างสรรค์สองคนต่างคนต่างสร้างสรรค์งานโดยมิได้ลอกเลียนซึ่งกันและกัน แม้ว่าผลงานที่สร้างสรรค์ของทั้งสองคนออกมาจะมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน ผู้สร้างสรรค์ทั้งสองต่างคนต่างก็ได้ลิขสิทธิ์ในงานที่ตนสร้างสรรค์ขึ้นแยกต่างหากจากกัน

โจทก์เป็นผู้เขียนและเรียบเรียงหนังสือเรื่อง “ความคลาดเคลื่อนของความหมายในพจนานุกรม ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ (ในทางนิติศาสตร์) และพจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๓๗ กับความคลาดเคลื่อน” นั้น หากพิเคราะห์เนื้อหาโดยรวมของหนังสือทั้งเล่ม เป็นการหยิบยกคำศัพท์แต่ละคำและความหมายของคำที่จำเลยให้ไว้ในพจนานุกรมขึ้นมาเป็นวัตถุแห่งการวิจารณ์ โดยการวิจารณ์คำแต่ละคำเริ่มต้นด้วยคำศัพท์และความหมายของคำแต่ละคำ ต่อด้วยเนื้อหาของการวิจารณ์ที่มีการอ้างบทกฎหมายและความเห็นทางตำราประกอบ และความหมายของคำที่ควรจะเป็น โดยไม่ปรากฏว่ามีการเลียนแบบผู้ใด นับว่าเป็นงานที่โจทก์ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ความวิริยะอุตสาหะในการค้นคว้า จัดลำดับและเรียบเรียงที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน ถือว่าโจทก์ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ด้วยตนเอง ดังนั้น โจทก์จึงย่อมมีลิขสิทธิ์ในงานหนังสือดังกล่าว ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๖ วรรคแรก ที่จะได้รับความคุ้มครองงานอันเป็นวรรณกรรมของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2750/2537 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 4 ได้ให้บทนิยามคำว่า “ผู้สร้างสรรค์” ไว้ว่า ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยความคิดริเริ่มของตนเองซึ่งมีความหมายว่า การจะเป็นผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์นั้น ความสำคัญมิได้อยู่ที่ว่างานที่อ้างว่าได้สร้างสรรค์ขึ้นเป็นงานใหม่หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าบุคคลผู้นั้นได้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์และงานดังกล่าวมีที่มาหรือต้นกำเนิดจากบุคคลผู้นั้นโดยบุคคลผู้นั้นมิได้คัดลอกหรือทำซ้ำ หรือดัดแปลงมาจากงานอันมีลิขสิทธิ์อื่น ดังนั้น แม้การจัดทำพจนานุกรมจะมีวิธีจัดทำแบบเดียวกับวิธีที่ใช้มาแต่โบราณ โจทก์ก็อาจเป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในพจนานุกรมนั้นได้ หากการจัดทำพจนานุกรมของโจทก์เป็นงานที่ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ด้วยการให้บทนิยามหรือความหมายของคำต่าง ๆ พร้อมภาพประกอบความหมายของคำบางคำโดยการแสดงออกซึ่งความคิดริเริ่มตามลีลาของโจทก์เองและโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาต งานจัดทำพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 เป็นงานที่โจทก์ได้ทำขึ้นโดยใช้ความอุตสาหะวิริยะในการสร้างสรรค์และมีที่มาจากโจทก์เอง ถือว่าโจทก์เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยความคิดริเริ่มของตนเอง และเป็น “ผู้สร้างสรรค์” ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 4 


3.ต้องไม่ใช่เป็นการลอกเลียน หรือดัดแปลงแต่เพียงเล็กน้อย จากสิ่งที่มีอยู่เดิมแล้ว 

ถึงแม้งานอันมีลิขสิทธิ์นั้น จะไม่จำเป็นต้องเป็นงานแบบใหม่ ที่เพิ่งเคยมีเป็นครั้งแรก แต่ก็จะต้องไม่ใช่เป็นการไปลอกงานของบุคคลอื่นมาทั้งหมด หรือเป็นแต่เพียงการนำเอางานของคนอื่นมาปรับปรุงเพียงเล็กน้อย 

ตัวอย่างเช่น บทความของผมเรื่องลิขสิทธิ์ของผมนี้ ผมไม่ได้ลอกเลียนจากบุคคลอื่นมา แต่ใช้การศึกษาทำความเข้าใจจากตำราหลายเล่ม รวมทั้งคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกียวข้อง มากลั่นกรองเป็นบทความฉบับนี้ 

หากผมไปลอกเลียนบทความของบุคคลอื่นมาทั้งดุ้น แล้วมาปรับปรุงเพียงเล็กน้อย หรือลอกเลียนมาทั้งดุ้นแล้วมาใส่เครดิตให้ตนเอง ย่อมไม่ถือว่าบทความของผมเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14580/2557 งานที่จะมีลิขสิทธิ์ได้นั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ซึ่งผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดขึ้นด้วยการริเริ่มของตนเองโดยใช้ความรู้ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะ จนทำให้งานนั้นสำเร็จจนถึงขนาดที่เรียกได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์โดยไม่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
ลายผ้าของโจทก์ร่วมเป็นเพียงการนำลายโบราณมาปรับเปลี่ยนขนาดและเพิ่มเติมรายละเอียดของลายเพียงเล็กน้อยเพื่อให้ได้จำนวนลายที่สมบูรณ์บนผ้าและเหมาะกับเครื่องทอผ้า โดยยังคงเค้าโครงหลักของลายโบราณ เป็นเพียงงานคลี่คลายลายโบราณ แต่ไม่ได้ใช้ความสามารถและจินตนาการของตนผูกลายเพิ่มขึ้นมาใหม่ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ การที่โจทก์ร่วมเพียงแต่นำรูปแบบลายผ้ามาเลียนหรือประกอบเข้าด้วยกันแล้วเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมลายโบราณในส่วนของรายละเอียดเพียงเล็กน้อยมีลักษณะเป็นการคัดลอกหรือเลียนแบบหรือทำซ้ำซึ่งลวดลายของผ้าที่มีมาแต่โบราณซึ่งตกเป็นงานสาธารณะแล้วเท่านั้น ไม่ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยเปลี่ยนรูปใหม่หรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ งานดังกล่าวจึงไม่ใช่งานดัดแปลงงานที่มีมาแต่โบราณซึ่งตกเป็นงานสาธารณะแล้วถึงขนาดที่เรียกได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปประยุกต์อันจะถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และมาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19305/2555 เมื่อพิจารณาตุ๊กตารูปช้างของโจทก์ร่วมเปรียบเทียบกับภาพธงราชนาวีไทยและธงชาติไทยในอดีตที่มีรูปช้างทรงเครื่องอยู่กลางธง ซึ่งมีมาช้านานแล้ว มีการตกแต่งเครื่องทรงตัวช้างที่คล้ายคลึงกัน แสดงว่างานที่โจทก์ร่วมอ้างว่าโจทก์ร่วมมีลิขสิทธิ์ตามฟ้องนั้นเป็นการปรับปรุงเล็กน้อยโดยลอกเลียนแบบมาจากรูปช้างทรงเครื่องที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณเช่นที่ปรากฏอยู่ในธงราชนาวีไทยและธงชาติไทยในอดีต งานของโจทก์ร่วมจึงถือไม่ได้ว่าเป็นงานที่โจทก์ร่วมได้ทำขึ้นโดยใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานของโจทก์ร่วมเอง โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้สร้างสรรค์ตามความหมายแห่งมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7121/2552 พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุให้สงสัยตามสมควรว่า เป็นไปได้ที่โจทก์ร่วมวาดแม่แบบก่อนการแกะแบบโดยลอกแบบส่วนใหญ่หรือทั้งหมดมาจากงานประติมากรรมนางรำคู่ชิ้นหนึ่งที่ปรากฏอยู่ที่เสาของโบราณปราสาทบายน จากนั้นจึงทำบล็อกและแกะแบบต่อไปตามลำดับ หรือไม่ก็อาจนำลายที่ลอกจากงานศิลปะที่พบเห็นได้ทั่วไปทั้งที่เป็นศิลปะไทยหรือศิลปะขอมซึ่งสามารถเขียนลอกลายกันได้อย่างง่ายดายมาเขียนลอกลงไปในส่วนที่เป็นรายละเอียดของงานประติมากรรมนางรำคู่ที่ปรากฏอยู่ที่เสาของโบราณสถานปราสาทบายนอีกเพียงเล็กน้อย ซึ่งหากลักษณะการสร้างงานของโจทก์ร่วมเป็นเช่นนั้น ก็ไม่อาจถือได้ว่าการสร้างงานประติมากรรมนางรำคู่ของโจทก์ร่วมเป็นการสร้างงานที่มีความคิดริเริ่มด้วยตนเองหรือใช้ความวิริยะอุตสาหะที่เพียงพอแม้แต่เพียงขั้นเล็กน้อย
แม้การทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานประติมากรรมนางรำคู่ตามโบราณสถานจะต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะอยู่บ้าง แต่ก็เป็นความวิริยะอุตสาหะในการทำซ้ำหรือดัดแปลง มิอาจถือเป็นความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานถึงขนาดจะได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามความหมายของกฎหมาย ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะได้ขายงานที่ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานประติมากรรมนางรำคู่ตามวัตถุพยานของโจทก์ร่วมหรือไม่ก็ตามการกระทำของจำเลยย่อมไม่อาจเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6528/2546 ผู้ที่จะได้ลิขสิทธิ์จากการนำลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมารวบรวมหรือประกอบเข้าด้วยกันต้องใช้ความรู้ความสามารถหรือความวิริยะอุตสาหะในระดับหนึ่งโดยมิใช่เป็นการลอกเลียนงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โจทก์จัดทำเอกสารเพื่อประกอบการเสนอราคารถยนต์ปฏิบัติการตรวจเก็บกู้วัตถุระเบิดต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยลอกเลียนมาจากแคตตาล็อกของบริษัท พ. ทั้งหมด เพียงจัดเรียงองค์ประกอบให้สวยงามขึ้นเท่านั้นโจทก์มิได้ใช้ความริเริ่มของตนเองเพียงพอจนเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดงานรวบรวมขึ้นจึงไม่ได้ลิขสิทธิ์ ดังนั้น แม้จำเลยไม่มีสิทธิที่จะนำแคตตาล็อกมาจัดทำเป็นส่วนหนึ่งเอกสารประกอบการเสนอราคาของจำเลยต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติเช่นกัน โดยที่บริษัท พ. ไม่ได้อนุญาตให้กระทำได้เพราะจำเลยไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัท พ. ซึ่งหากเป็นการไม่ชอบก็เป็นเรื่องที่จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัท พ. โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6182/2533 พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 6 บัญญัติให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ ขึ้น และมาตรา 4ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ผู้สร้างสรรค์” ไว้ว่า หมายถึง ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยความคิดริเริ่มของตนเอง จากคำจำกัดความดังกล่าวผู้ที่จะได้ชื่อ ว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ทำหรือก่อให้เกิดงานขึ้นจากความคิดริเริ่มด้วยตนเอง มิใช่เป็นการลอกเลียนแบบจากของจริงจากธรรมชาติ หรือลอกเลียนแบบจากงานผู้อื่น ทั้งที่ปรากฏเป็นรูปร่างหรือภาพถ่าย งานที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์ตามฟ้องนั้น เป็นงานที่เกิดจากการถอด รูปแบบมาจากของจริงตามธรรมชาติบ้าง ลอกเลียนแบบจากความคิดริเริ่มของผู้อื่นที่ได้สร้างสรรค์ ไว้แล้วบ้าง และลอกเลียนแบบจากนิตยสารอื่น ๆ บ้าง งานของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นงานที่โจทก์สร้างสรรค์ ขึ้นโดยความคิดริเริ่มของโจทก์เอง โจทก์จึงมิใช่ผู้สร้างสรรค์ ตามความหมายแห่งมาตรา 4ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 จึงไม่มีลิขสิทธิ์ในแบบรูปปั้นหล่อทองเหลืองตามฟ้อง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4486/2539 แผนที่ทางหลวงเป็นเอกสารราชการของกรมทางหลวง โจทก์ได้ขออนุมัติกรมทางหลวงเพื่อจัดพิมพ์ โดยโจทก์ได้นำแผนที่ของกรมทางหลวงมาปรับปรุงเพิ่มเติมให้สวยงามเพื่อความเหมาะสมในการใช้ แต่โจทก์มิได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอันเป็นสาระสำคัญจากแผนที่เดิมแต่อย่างใด สำหรับสัญลักษณ์ต่าง ๆ รวมทั้งรูปแบบเข็มทิศและเส้นมาตราส่วน ตลอดจนแผนภูมิระยะทางระหว่างจังหวัดในแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยก็เป็นสัญลักษณ์สากลและใช้กันทั่วไปในแผนที่ต่าง ๆ ซึ่งบุคคลทั่วไปก็ย่อมมีสิทธิใช้ได้ งานที่โจทก์ทำจึงเป็นการปรับปรุงเล็กน้อยโดยลอกเลียนมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้วและใช้กันทั่วไป โจทก์ไม่ใช่ผู้คิดค้นหรือสร้างสรรค์ขึ้นโดยความคิดริเริ่มของโจทก์เอง จึงไม่มีลิขสิทธิ์ในสัญลักษณ์ แผนภูมิระยะทาง รูปเข็มทิศและมาตราส่วนในแผนที่ทางหลวงในประเทศไทย การที่โจทก์เพียงแต่ได้นำแผนที่ของกรมทางหลวงมาแบ่งส่วนใหม่รวมเป็นรูปเล่มและให้สีเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมแผนที่ทางหลวงของกรมทางหลวงในสาระสำคัญถึงขนาดสร้างสรรค์ขึ้นใหม่อันจะพอถือได้ว่าเป็นการดัดแปลง โจทก์จึงไม่ได้ลิขสิทธิ์ในรูปแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 9ประกอบมาตรา 4


สร้างสรรค์ผลงานเสร็จ แล้วต้องจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์หรือไม่ ?

ผู้สร้างสรรค์ผลงาน เมื่อสร้างสรรค์ผลงานอันมีลิขสิทธิ์เสร็จแล้ว สามารถจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อใช้บันทึกเป็นข้อมูลและหลักฐานได้

แต่ถึงผู้สร้างสรรค์ผลงานจะไม่ได้จดแจ้งข้อมูลไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็ยังได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

เพียงแต่การจดแจ้งจะทำให้การพิสูจน์ข้อเท็จจริงง่ายขึ้น กรณีโต้เถียงกันว่า ใครเป็นผู้เผยแพร่หรือสร้างสรรค์งานขึ้นก่อน

ทั้งนี้ตามนัย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19305/2555 ที่อธิบายอย่างชัดเจนว่า 

การรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญามิใช่เป็นการจดทะเบียนรับรองสิทธิหรือยืนยันลิขสิทธิ์ของผู้แจ้ง แต่เป็นเพียงหลักฐานเบื้องต้นของผู้แจ้งว่าเป็นเจ้าของของลิขสิทธิ์เท่านั้น หากมีการโต้แย้งว่าผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ต้องมีการพิสูจน์”

ดังนั้น การรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญามิใช่เป็นการจดทะเบียนรับรองสิทธิหรือยืนยันลิขสิทธิ์ของผู้แจ้ง แต่เป็นเพียงหลักฐานเบื้องต้นของผู้แจ้งว่าเป็นเจ้าของของลิขสิทธิ์เท่านั้น หากมีการโต้แย้งว่าผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ต้องมีการพิสูจน์

จึงสรุปได้ว่า การจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ “ต้องทำ” เพื่อให้ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย แต่เป็นสิ่งที่ “ควรทำ” เพื่อให้ง่ายต่อการพิสูจน์สิทธิของตน


สรุป 

ตามหลักกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลฎีกาของประเทศไทย การจะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์นั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นงานแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน 

แต่จะต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ความรู้ความสามารถ ความวิริยะอุตสาหะ การทุ่มเทลงมือลงแรงผลิตงานขึ้นมา 

อย่างไรก็ตามงานดังกล่าวจะต้องไม่ใช่เพียงแต่ การลอกเลียนแบบงานของคนอื่น หรือนำงานสร้างสรรค์อื่นมาดัดแปลงเพียงเล็กน้อยครับ 

ซึ่งการวินิจฉัยว่าสร้างสรรค์อันไหนจะถือว่าเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์หรือไม่ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะต้องวิเคราะห์เป็นเรื่องเรื่องไปโดยอาศัยตามหลักกฎหมายและแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่ผมรวบรวมมาข้างต้นครับ 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)