บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

รู้หรือไม่ คดีอาญา ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาตัดสินกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องจำเลยมากแค่ไหน ?

อุทธรณ์ ฎีกา

รู้หรือไม่   ในคดีอาญา ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาตัดสินกลับคำพิพากษาศาลชั้นให้ยกฟ้องจำเลยมากแค่ไหน ?

จากข้อมูลรายงานการวิจัยเรื่องการใช้สิทธิฎีกา ของสำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ กระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2534 ซึ่งมุ่งวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการยื่นอุทธรณ์และฎีกา โดยมีวิธีการวิจัยคือ เก็บตัวอย่างคดีที่สู้กันทั้ง 3 ศาล โดยนำคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ในคดีดังกล่าวทั้ง 3 ยุคสมัยด้วยกันมาเปรียบเทียบ จะพบสถิติที่น่าสนใจหลายอย่าง ซึ่งเนื่องจากสถิติทั้ง 3 ช่วงทศวรรษ มีความใกล้เคียงกัน ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างเฉพาะช่วงทศวรรษแรก เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ทั้งนี้การศึกษาวิจัยในช่วงทศวรรษแรกนั้น เป็นเก็บตัวอย่างจากคดีอาญาจำนวนรวม 2,657 คดี ในช่วง พ.ศ.2508-2518 ซึ่งเป็นคดีที่สู้กันถึง 3 ศาลทุกคดี จะพบสถิติที่น่าสนใจคือ

สถิติในเรื่องคำพิพากษาของศาลชั้นต้น พบว่า ศาลชั้นต้นจะพิพากษาลงโทษจำเลยเสียส่วนใหญ่ คือลงโทษจำคุกร้อยละ 50.5 ลงโทษจำคุกและริบทรัพย์สิน ร้อยละ 15.6 ส่วนที่เหลือพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดแต่ลงโทษอย่างอื่น เช่นโทษประหารชีวิต ปรับ จำคุกและปรับ คุมประพฤติ กักขัง จำคุกปรับและริบทรัพย์สิน กล่าวโดยสรุปแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดจริงมากกว่า80 เปอร์เซ็นต์ โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยแค่ 18.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

สถิติในเรื่องการถูกกลับและแก้ของคำพิพากษาของศาลชั้นต้น พบว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนใหญ่คือ 43.4 เปอร์เซ็นต์ จะพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากนั้น คำพิพากษาของศาลชั้นต้นยังถูกแก้ถึง 25.3 เปอร์เซ็นต์ โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นเพียง29.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

สถิติในเรื่องผลของคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ พบว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนใหญ่ คือร้อยละ 44.4 จะมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลย ส่วนที่รองลงมาคือพิพากษาให้จำคุก คือร้อยละ 32.7 ส่วนที่เหลือเป็นโทษอย่างอื่น

สถิติในเรื่องการถูกกลับแก้ของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พบว่า คดีส่วนใหญ่ คือ 64.5 เปอร์เซ็นต์ ศาลฎีกาจะพิพากษายืนตามศาลชั้นอุทธรณ์ รองลงมาคือพิพากษาแก้ คือ 14.5 เปอร์เซ็นต์ และศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพียง 13.8 เปอร์เซ็นต์

สถิติคำพิพากษาของศาลฎีกา พบว่าใกล้เคียงกับศาลอุทธรณ์คือ คำพิพากษาส่วนใหญ่คือ41.5 เปอร์เซ็นต์ จะยกฟ้องจำเลย รองลงมาจะมีคำพิพากษาให้จำคุก 30.7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือมีโทษอย่างอื่น

กล่าวโดยสรุปคือ จาก 2,657 คดีอาญาตัวอย่างที่สู้กันทั้งสามศาล พบว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยเพียง 18.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องถึง 44.4 เปอร์เซ็นต์ และศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องถึง 41.5 เปอร์เซ็นต์จากสถิติดังกล่าว จึงอาจทำให้สรุปได้ว่า โอกาสยกฟ้องในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา มีมากกว่าศาลชั้นต้นเกินกว่า 1 เท่าตัว หรืออาจกล่าวได้ในอีกนัยว่า จำเลยที่ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษและยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น เกินกว่าครึ่งศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นฟ้องจำเลยเหล่านั้น

ทั้งนี้ในปัจจุบันผู้เขียนก็ยังเห็นว่าสถิติก็คงยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าไหร่นัก ซึ่งทนายความทุกท่านที่ทำงานเกี่ยวกับคดีอาญาจริงๆก็คงจะเห็นพ้องกับผู้เขียน ทั้งนี้เฉพาะตัวผู้เขียนเอง มีคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยและศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องเกินกว่า 10 คดี ซึ่งเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดผลคำพิพากษาเช่นนี้มีหลายประการด้วยกัน ซึ่งปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือตัวผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นนั่นเอง ผู้เขียนไม่อาจกล่าวในที่นี้ได้ เพราะอาจกลายเป็นดูหมิ่นผู้พิพากษาหรือเป็นการละเมิดอำนาจศาลไป

ซึ่งที่ผู้เขียนนำเสนอข้อมูลนี้ ก็เพราะมีความประสงค์อยากให้ทนายความจำเลยและจำเลยทั้งหลายมีกำลังใจต่อสู้คดีอาญา ถึงแม้ในศาลชั้นต้นท่านอาจจะ ถูกข่มขู่จากทุกฝ่ายให้ยอมรับสารภาพ ถูกเกลี้ยกล่อมว่าคดีไม่มีทางสู้อย่างแน่นอน และท้ายที่สุดหากท่านถูกลงโทษ ทั้งๆที่ท่านไม่ได้กระทำผิดขอให้หากท่านเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตัวท่านและตัวจำเลยของท่าน ขอให้ท่านมีความกำลังใจที่จะสู้คดีอย่างเต็มที่ ถึงท่านจะแพ้คดีในศาลชั้น แต่สถิติชี้ให้เห็นว่าในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ท่านยังคงมีโอกาสเสมอ

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้ที่ลิ๊งด้านล่างนี้ครับ

http://www.lawreform.go.th/lawreform/index.php…

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น