บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

รู้หรือไม่ ? โอนทรัพย์สินเพื่อหนีหนี้มีโทษถึงจำคุก

โอนทรัพย์สินหนีหนี้

รู้หรือไม่ ? โอนทรัพย์สินเพื่อหนีหนี้มีโทษถึงจำคุก

การโอนทรัพย์สินให้แก่ผู้อื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับคดี มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ซึ่งถึงแม้ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 กฎหมายจะกำหนดโทษไว้ไม่หนักมาก กล่าวคือมีกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และอยู่ในเกณฑ์ที่อาจรอการลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ก็ตาม แต่ตามบรรทัดฐานของศาลฎีกาแล้ว ศาลจะไม่รอการลงโทษจำคุกให้ ถึงแม้ผู้กระทำผิดจะให้การรับสารภาพก็ตาม เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย และกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมโดยรวม และยิ่งหากมีการโอนทรัพย์สินหลายครั้งแล้ว โทษที่ได้รับก็จะหนักขึ้น เนื่องจากการโอนทรัพย์สิน 1 ครั้ง เท่ากับการกระทำความผิด 1 กรรม โทษที่ได้รับก็จะทวีคูณขึ้นไป ประกอบกับความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น เจ้าหนี้สามารถนำสืบถึงการกระทำผิดได้ไม่ยาก โดยเฉพาะการโอนทรัพย์สินประเภทรถยนต์หรือที่ดิน ที่สามารถสืบค้นฐานข้อมูลจดทะเบียนของหน่วยงานราชการได้ ซึ่งมีตัวอย่างคำพิพากษาเช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1418/2550

คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ลงโทษจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษ

การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย มุ่งแต่จะรักษาประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบและไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนเสียหายของผู้เป็นเจ้าหนี้ ซึ่งหากปล่อยให้ผู้กระทำความผิดกระทำการตามอำเภอใจเช่นนี้ ย่อมทำให้บรรดาเจ้าหนี้เสื่อมศรัทธาต่อการใช้สิทธิทางศาลในการที่จะฟ้องบังคับชำระหนี้เอาแก่ลูกหนี้ของตน รวมทั้งขัดขวางการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งส่งผลกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมส่วนรวม แม้จำเลยจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 ไปบ้างแล้ว แต่ก็เป็นจำนวนเล็กน้อยยังคงค้างชำระหนี้อยู่เป็นจำนวนมาก พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1954/2533

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ เมื่อศาลพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตาม คำพิพากษา ได้ มีการยึดรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ได้ ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด โดย อ้าง ว่าได้ ซื้อ จากจำเลยที่ 1 และในการนำสืบ ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ ติดต่อ ขายให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จำเลยที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่าได้ มีการซื้อ ขายรถยนต์บรรทุกกันจริงในราคา 100,000 บาท ผลสุดท้ายศาลฎีกาได้ ยก คำร้อง โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ใหม่เพื่อเอาเงินชำระหนี้โจทก์ จำเลยที่ 2 ได้ รีบฟ้องให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้ตาม สัญญา เงินกู้ อ้างว่ากู้กันแต่ ปี พ.ศ. 2525 โดย ฟ้องวันที่ 2 มกราคม 2530 ได้ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอมในวันที่ 8 เดือน เดียว กัน ต่อมาจำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ พฤติการณ์ดังกล่าวมาทั้งหมดส่อให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองกระทำทุกอย่างเพื่อมิให้โจทก์ซึ่ง เป็นเจ้าหนี้ได้ รับชำระหนี้ เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้ตาม ฟ้อง พฤติการณ์เช่นนี้ไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2054/2529

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดสามกระทงจำคุกกระทงละ1ปีรวมจำคุกคนละ3ปีศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดกระทงเดียวจำคุกคนละ1ปีเป็นการแก้ไขเล็กน้อยต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา218. จำเลยโอนที่ดินทั้ง3แปลงตามฟ้องรวม3ครั้งด้วยกันแม้ว่าจำเลยจะมีเจตนาเพียงประการเดียวที่จะไม่ให้โจทก์บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่1ก็ตามแต่การโอนที่ดินไปแต่ละครั้งนั้นก็เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้สำเร็จแล้วทุกครั้งการกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันมิใช่กรรมเดียว.

ดังนั้นการแก้ไขปัญหากรณีเป็นหนี้ตามคำพิพากษา จึงไม่ควรใช้วิธีโอนทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกยึดทรัพย์ แต่ควรใช้วิธีเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอตัดหรือผ่อนลดยอดหนี้ หรือใช้วิธีแก้ไขปัญหาด้วยวิธีอื่นจะดีกว่าครับ เพราะหากใช้วิธีโอนทรัพย์สินเพื่อหนีหนี้แล้ว เจ้าหนี้จับได้ มีหวังโดนดำเนินคดีอาญาเดือดร้อนหนักกว่าเก่า และเราจะอยู่ในสถานะที่ต่อรองกับเจ้าหนี้ยากแล้ว

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น