คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

พยานแวดล้อมในคดีอาญา: ข้อกฎหมายและเทคนิคในการนำสืบและถามค้าน

 

ในกระบวนการพิจารณาคดีของศาล พยานหลักฐานเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินคดี การนำพยานเข้าให้การหรือใช้เอกสารหลักฐานในคดีเป็นสิ่งที่ทนายความต้องเตรียมความพร้อมอย่างดี

โดยเฉพาะ “พยานแวดล้อม” ซึ่งเป็นพยานที่ไม่ได้เห็นเหตุการณ์โดยตรง แต่ข้อมูลที่ให้สามารถชี้นำหรือสร้างข้อสันนิษฐานถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้

บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับพยานแวดล้อม ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเทคนิคในการนำสืบและถามค้าน

พยานแวดล้อมคืออะไร?

“พยานแวดล้อม”  ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า “circumstantail evidence”

ซึ่งตามกฎหมายเก่าของไทย เคยเรียกโดยใช้คำว่า พยานประพฤติเหตุห้อมล้อมกรณี พยานพฤติเหตุ พยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณี

ดังนั้นคำเหล่านี้จึงเป็นคำเดียวกัน และสื่อความหมายถึงพยานประเภทเดียวกัน

  • พยานแวดล้อม
  • พยานแวดล้อมกรณี
  • พยานประพฤติเหตุห้อมล้อมกรณี
  • พยานพฤติเหตุ
  • พยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณี
  • circumstantail evidence

การจะเข้าใจคำว่าพยานแวดล้อมให้ได้ชัดเจนนั้น จะต้องทำความเข้าใจถึงพยานอีกประเภทหนึ่งคือ  “พยานโดยตรง” (derect evidence)

 “พยานโดยตรง” (direct evidence)

*ความหมาย: คือ พยานหลักฐานที่รู้เห็นเหตุการณ์โดยตรง  สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้ทันทีโดยไม่ต้องอาศัยการตีความหรืออนุมาน

ตัวอย่าง:

* พยานบุคคลที่เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ เช่น เห็นจำเลยกำลังทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย

* กล้องวงจรปิดที่บันทึกภาพเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุได้อย่างชัดเจน

* ข้อดี: มีน้ำหนักในการพิสูจน์คดีสูง  สามารถบ่งชี้ข้อเท็จจริงได้โดยตรง

* ข้อเสีย:  อาจหาได้ยากในบางคดี

“พยานแวดล้อม” (circumstantail evidence )

พยานแวดล้อมเป็นพยานที่ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตรง หรือยืนยันข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยตรงได้ดังเช่นพยานโดยตรง

แต่เป็นพยานที่สามารถจะทำให้เชื่อ หรืออนุมานได้ว่าน่าจะมี หรือน่าจะไม่มีเหตุการณ์ตามที่จะกล่าวอ้างเกิดขึ้นจริงๆ

เป็นพยานเกี่ยวกับเหตุการณ์ เรื่องราวหรือข้อเท็จจริงข้างเคียงหรือรอบๆข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีโดยตรง

เมื่อฟังประกอบพยานอื่นๆแล้วได้แสดงเหตุผลเป็นลูกโซ่ให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำการเช่นนั้นจริงๆหรือไม่

* ตัวอย่าง:

* พยานบุคคลที่เห็นจำเลยถืออาวุธมีดวิ่งออกมาจากที่เกิดเหตุหลังเกิดเหตุไม่นาน

* ลายนิ้วมือ หรือรอยเท้าของจำเลยที่พบในที่เกิดเหตุ

* ข้อดี: หาได้ง่ายกว่าพยานโดยตรง  สามารถใช้สนับสนุนพยานโดยตรงหรือใช้ในกรณีที่ไม่มีพยานโดยตรงได้

* ข้อเสีย: มีน้ำหนักในการพิสูจน์คดีน้อยกว่าพยานโดยตรง  ต้องอาศัยการตีความและอนุมานประกอบ

ศาลฎีกาเคยอธิบายเกี่ยวกับพยานแวดล้อมไว้ดังนี้

ฎ.5462/2539 พยานแวดล้อมกรณีคือพยานเหตุผลที่จะทำให้ศาลเชื่อว่ามีข้อเท็จจริงบางอย่างอยู่หรือไม่ซึ่งจะต้องมีการใช้เหตุผลอนุมานเอาอีกต่อหนึ่ง

พยานแวดล้อมมีได้หลายแบบ

ทั้งพยานบุคคล พยานวัตถุ หรือพยานหลักฐานทางอิเล็กโทรนิกส์

ที่มักจะพบบ่อยในคดีอาญา มีดังนี้

  1. พยานบุคคล

* ผู้ที่เห็นผู้ต้องสงสัยอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ: เช่น เพื่อนบ้านเห็นผู้ต้องสงสัยเดินวนเวียนอยู่ใกล้บ้านผู้เสียหายก่อนเกิดเหตุลักทรัพย์

* ผู้ที่ได้ยินเสียงผิดปกติ: เช่น  เพื่อนบ้านได้ยินเสียงทะเลาะวิวาทดังมาจากบ้านที่เกิดเหตุฆาตกรรม

* ผู้พบเห็นพฤติกรรมผิดปกติของผู้ต้องสงสัย: เช่น  เพื่อนร่วมงานเห็นผู้ต้องสงสัยมีท่าทางลุกลี้ลุกลนหลังเกิดเหตุปล้นทรัพย์

* ผู้ที่ได้รับฟังคำบอกเล่าจากผู้ต้องสงสัย: เช่น เพื่อนสนิทของผู้ต้องสงสัยได้ฟังผู้ต้องสงสัยเล่าถึงแผนการก่อเหตุ

  1. วัตถุพยาน

* ลายนิ้วมือ: พบลายนิ้วมือของผู้ต้องสงสัยในที่เกิดเหตุ หรือบนอาวุธที่ใช้ก่อเหตุ

* รอยเท้า: พบรอยเท้าของผู้ต้องสงสัยในบริเวณที่เกิดเหตุ

* ดีเอ็นเอ: พบดีเอ็นเอของผู้ต้องสงสัยในที่เกิดเหตุ เช่น เส้นผม  คราบเลือด  คราบอสุจิ

* อาวุธ: พบอาวุธที่ใช้ก่อเหตุ  ซึ่งอาจมีร่องรอยการใช้งานหรือร่องรอยที่เชื่อมโยงกับผู้ต้องสงสัย

* เสื้อผ้า: พบเสื้อผ้าของผู้ต้องสงสัยในที่เกิดเหตุ หรือพบเสื้อผ้าที่มีร่องรอยการต่อสู้  คราบเลือด  หรือร่องรอยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดี

  1. หลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์

* กล้องวงจรปิด: บันทึกภาพผู้ต้องสงสัยอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ  หรือบันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคดี

* ข้อมูลการใช้โทรศัพท์: ข้อมูลการโทร  ข้อความ  ตำแหน่ง  และข้อมูลอื่นๆ ในโทรศัพท์ของผู้ต้องสงสัยที่อาจเชื่อมโยงกับคดี

* ข้อมูลในคอมพิวเตอร์: ประวัติการใช้งานอินเทอร์เน็ต  ไฟล์  อีเมล  และข้อมูลอื่นๆ ในคอมพิวเตอร์ของผู้ต้องสงสัยที่อาจเกี่ยวข้องกับคดี

* ข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย:  โพสต์  ข้อความ  รูปภาพ  และข้อมูลอื่นๆ ในโซเชียลมีเดียของผู้ต้องสงสัยที่อาจเชื่อมโยงกับคดี

ตัวอย่างการนำพยานแวดล้อมมาเชื่อมโยงกับการกระทำผิด

หลักๆ แล้ว พยานแวดล้อมที่มักนำมาใช้เพื่อเชื่อมโยงจำเลยกับการกระทำความผิด มีดังนี้

1.พยานแวดล้อมที่แสดงถึงแรงจูงใจ (Motive)

* ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหาย: เช่น มีประวัติทะเลาะเบาะแว้ง  มีความขัดแย้งทางธุรกิจ  หรือมีเรื่องชู้สาว  ซึ่งอาจเป็นแรงจูงใจในการก่อเหตุ

* ผลประโยชน์ที่จำเลยจะได้รับ: เช่น  การได้รับมรดก  การได้ครอบครองทรัพย์สิน  หรือการกำจัดคู่แข่ง  ซึ่งอาจเป็นแรงจูงใจในการก่อเหตุ

* พฤติกรรมของจำเลยก่อนและหลังเกิดเหตุ: เช่น  การแสดงความโกรธแค้น  การข่มขู่  การวางแผน  หรือการหลบหนี  ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงแรงจูงใจในการก่อเหตุ

2.พยานแวดล้อมที่แสดงถึงโอกาส (Opportunity)

* การอยู่ในที่เกิดเหตุหรือใกล้เคียงในช่วงเวลาเกิดเหตุ: เช่น  พยานบุคคลเห็นจำเลยอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ  หรือกล้องวงจรปิดบันทึกภาพจำเลยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง

* ความสามารถในการเข้าถึงสถานที่เกิดเหตุหรือผู้เสียหาย: เช่น  จำเลยมีกุญแจ  รู้รหัสผ่าน  หรือมีความคุ้นเคยกับสถานที่เกิดเหตุ

* การมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อเหตุ: เช่น  จำเลยมีอาวุธ  มีเครื่องมืองัดแงะ  หรือมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อเหตุ

3.พยานแวดล้อมที่แสดงถึงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับการกระทำความผิด (Means)

* ร่องรอยการต่อสู้: เช่น  รอยขีดข่วน  รอยกัด  รอยฟกช้ำ  หรือบาดแผล  ที่พบในตัวจำเลยหรือผู้เสียหาย

* วัตถุพยานที่เชื่อมโยงจำเลยกับที่เกิดเหตุ: เช่น  ลายนิ้วมือ  รอยเท้า  เส้นผม  คราบเลือด  หรืออาวุธ  ที่พบในที่เกิดเหตุ

* พฤติกรรมของจำเลยหลังเกิดเหตุ: เช่น  การทำลายหลักฐาน  การปิดบังความจริง  การให้การเท็จ  หรือการหลบหนี  ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงความพยายามในการปกปิดความผิด

4.พยานแวดล้อมที่แสดงถึงความเชื่อมโยงอื่นๆ

* คำให้การของพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ: เช่น  พยานบุคคลที่เห็นจำเลยใกล้ชิดกับผู้เสียหายก่อนเกิดเหตุ  หรือพยานบุคคลที่ได้ยินจำเลยพูดถึงแผนการก่อเหตุ

* หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์: เช่น  ผลการตรวจดีเอ็นเอ  ผลการตรวจลายนิ้วมือ  หรือผลการตรวจสารเสพติด

* หลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์: เช่น  ข้อมูลการใช้โทรศัพท์  ข้อมูลในคอมพิวเตอร์  หรือข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย  ที่เชื่อมโยงจำเลยกับการกระทำความผิด

พยานแวดล้อมสามารถรับฟังได้ไหม

ตามหลักกฎหมายไทยไม่ได้มีการวางหลักไว้เกี่ยวกับพยานแวดล้อมโดยตรง ไม่เหมือนกับพยานบอกเล่า พยานซัดทอด ที่กฎหมายวางหลักเกณฑ์ในการรับฟังไว้ต่างหาก

โดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226 ได้วางหลักไว้ว่า พยานบุคคลพยานเอกสารหรือพยานวัตถุที่น่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีความผิดหรือบริสุทธิ์ย่อมสามารถอ้างเป็นพยานหลักฐานได้

ดังนั้นพยานแวดล้อมถึงแม้จะไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นโดยตรงได้ เหมือนเช่นพยานโดยตรง แต่ถ้าน่าจะทำให้พิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีความผิดหรือบริสุทธิ์ ย่อมเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 121/2530

แม้คดีไม่มีประจักษ์พยาน ศาลก็รับฟังพยานแวดล้อมกรณีหลังเกิดเหตุของโจทก์ ประกอบกับคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยลงโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 623/2535

ในการลงโทษผู้กระทำผิดทางอาญานั้น นอกจากศาลรับฟังพยานหลักฐานจากประจักษ์พยานแล้ว พยานแวดล้อมกรณีหรือพยานพฤติเหตุที่บ่งชี้ว่า จำเลยกระทำผิดศาลก็รับฟังได้ด้วย ศาลจึงรับฟังพยานแวดล้อมกรณี และคำรับของจำเลยกับของผู้ร่วมกระทำผิดประกอบพยานอื่นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 305/2508

ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานรู้เห็นว่าจำเลยปลอมเอกสารศาลฎีกาเห็นว่า การปลอมเอกสารซึ่งอยู่ในความยึดถือของจำเลยย่อมมีโอกาสทำได้ในที่ลับเป็นการยากที่จะมีประจักษ์พยาน โจทก์จึงมีแต่พยานประพฤติเหตุบ่งว่าจำเลยเป็นผู้ปลอม ไม่ผิดตัว ย่อมฟังลงโทษจำเลยได้

การชั่งน้ำหนักพยานแวดล้อม

ถึงแม้ว่าพยานแวดล้อมเป็นพยานที่สามารถรับฟังได้ แต่การชั่งน้ำหนักพยานแวดล้อม ก็เป็นสิ่งที่จะต้องรับฟังโดยระมัดระวัง เพราะเป็นการรับฟังโดยอาศัยจากการอนุมานข้อเท็จจริง

การชั่งน้ำหนักพยานแวดล้อมจะต้องทำ 2 ขั้นตอน

  1. ขั้นตอนแรกคือต้องวินิจฉัยก่อนว่าพยานแวดล้อมนั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่
  2. ข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานแวดล้อมนั้น สามารถนำอนุมานได้อย่างไร

การใช้พยานแวดล้อมเพื่อลงโทษจำเลย ต้องอาศัยดุลพินิจของศาล  โดยศาลจะพิจารณาพยานหลักฐานทั้งหมดประกอบกัน  รวมถึงพยานแวดล้อมต่างๆ  เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนและเป็นธรรม

พยานแวดล้อมเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะตัดสินคดีได้  ต้องใช้ประกอบกับพยานหลักฐานอื่นๆ  โดยเฉพาะพยานโดยตรง  เพื่อให้ศาลเชื่อมั่นว่าจำเลยกระทำความผิดจริง

ตัวอย่างคดีที่น่าสนใจ

ยกตัวอย่าง

คดีฆ่าหั่นศพแพทย์หญิงผัสพร บุญเกษมสันติ เป็นคดีสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2544 ผู้ก่อเหตุคือ นายแพทย์วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ สามีของแพทย์หญิงผัสพร ซึ่งเป็นแพทย์เช่นเดียวกัน

สรุปเหตุการณ์

แพทย์หญิงผัสพรหายตัวไปจากบ้านพัก และต่อมาพบชิ้นส่วนศพของเธอถูกหั่นแยกชิ้นส่วน บรรจุในถุงพลาสติกและทิ้งไว้ในบ่อพักน้ำเสียของอาคารวิทยนิเวศน์ ซึ่งเป็นที่ทำงานของนายแพทย์วิสุทธิ์

พยานแวดล้อมที่ใช้ในการดำเนินคดี

นพ.วิสุทธิ์ มีพฤติกรรมน่าสงสัยหลายอย่างที่เชื่อมโยงกับการหายตัวไปของ พญ.ผัสพร ซึ่งเป็นภรรยาที่กำลังมีปัญหาหย่าร้างกันอยู่ มีพยานหลักฐานแวดล้อมหลายชิ้นที่บ่งชี้ว่า นพ.วิสุทธิ์ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ พญ.ผัสพร เช่น

  • มูลเหตุจูงใจ: ทั้งคู่มีปัญหาหย่าร้างและเคยมีเรื่องฟ้องร้องกันมาก่อน
  • พฤติกรรมมีพิรุธ: ภาพจากกล้องวงจรปิดแสดงให้เห็นว่า นพ.วิสุทธิ์ ประคอง พญ.ผัสพร ออกจากร้านอาหาร ทั้งที่ปกติแล้ว พญ.ผัสพร จะไม่มาเจอ นพ.วิสุทธิ์ สองต่อสองเพราะกลัวถูกทำร้าย
  • คำให้การที่ไม่สอดคล้อง: นพ.วิสุทธิ์ อ้างว่า พญ.ผัสพร เมาน้ำพันช์ ทั้งที่ร้านอาหารไม่ได้ขายแอลกอฮอล์
  • การสร้างหลักฐานเท็จ: นพ.วิสุทธิ์ ปลอมจดหมายลาออกของ พญ.ผัสพร และใช้เพจเจอร์ส่งข้อความหลอก พญ.ผัสพร ว่ามีคนอื่นมาด้วย
  • ยา Dormicum: นพ.วิสุทธิ์ สั่งซื้อยานอนหลับ Dormicum ก่อน พญ.ผัสพร จะหายตัวไป โดยอ้างว่าให้แม่ แต่แม่ของ นพ.วิสุทธิ์ ไม่ได้มีอาการป่วยที่ต้องใช้ยานี้
  • หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์: พบคราบเลือด ชิ้นเนื้อ และกระดูกมนุษย์ที่มี DNA ตรงกับ พญ.ผัสพร ในห้องพักและโรงแรมที่ นพ.วิสุทธิ์ พักอาศัย
  • การซื้อของเพื่อปกปิดร่องรอย: นพ.วิสุทธิ์ ซื้อถุงขยะดับกลิ่นและกระดาษชำระจำนวนมากหลังจาก พญ.ผัสพร หายตัวไป

แม้จะไม่พบศพของ พญ.ผัสพร แต่พยานหลักฐานแวดล้อมต่างๆ เหล่านี้มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้ศาลเชื่อได้ว่า นพ.วิสุทธิ์ เป็นผู้ลงมือฆ่าหั่นศพ พญ.ผัสพร จริง

ผลการดำเนินคดี

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาประหารชีวิตนายแพทย์วิสุทธิ์ แต่ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต

คดีนี้เป็นคดีที่สะเทือนขวัญและเป็นที่สนใจของสังคม เนื่องจากผู้ก่อเหตุและผู้เสียชีวิตเป็นแพทย์ทั้งคู่  คดีนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพยานแวดล้อมในการดำเนินคดี  ซึ่งช่วยให้สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ แม้จะไม่มีพยานหลักฐานโดยตรงก็ตาม

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาที่ศาลรับฟังแล้วลงโทษจำเลย

แม้จะไม่มีพยานหลักฐานโดยตรง  แต่หากพยานแวดล้อมมีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้ศาลเชื่อได้อย่างไม่มีข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด  ศาลก็สามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้  โดยไม่จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานโดยตรง

ฎ.3472/2526  เป็นคดีข่มขืน

ขณะเกิดเหตุไม่มีคนเห็นเหตุการณ์ จะฟังข้อเท็จจริงด้วยว่าก่อนเกิดเหตุผู้ตายเนี่ยไปหาจำเลย ซึ่งพบศพผู้ตายถูกข่มขืนกระทำชำเรา พบขนอวัยวะเพศที่บริเวณอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ซึ่งเปรียบเทียบแล้วเป็นของจำเลย พบรอยเท้าของจำเลย อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ และมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยพยายามกลบรอยเท้า ข้อเท็จจริงทั้งหมดรับฟังลงโทษจำเลยได้ว่าเป็นผู้ก่อเหตุ

ฎ.90/2531 เป็นคดีฆ่า

ขณะถูกยิง ไม่มีคนเห็นคนยิง แต่ผู้ตายพูดชื่อจำเลยขึ้นมา มีพฤติการณ์ชี้ให้เห็นว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยไปยืมปืนจากผู้อื่น แล้วก็เอาไปคืนหลังจากเหตุการณ์ยิงกันจบลง อีกทั้งก่อนเกิดเหตุ จำเลยได้พูดกับคนอื่นว่าจะฆ่าผู้ตาย ข้อเท็จจริงทั้งหมดฟังโดยรวมประกอบกับพยานอื่นแล้ว เพียงพอที่จะรับฟังลงโทษจำเลยได้

ฎ.1545/2535 เป็นคดีลักทรัพย์

การที่จำเลยเก็บกระเป๋าเงินของโจทก์ร่วมได้แล้วแอบเปิดดูในลักษณะปกปิดซ่อนเร้น เมื่อถูกถามก็ปฏิเสธว่าเป็นกระเป๋าเปล่าทั้ง ๆ ที่ในกระเป๋าเงินดังกล่าวมีเงินอยู่ รวมตลอดถึงการที่จำเลยแอบเปิดซิป กระเป๋าแล้วมีอาการหน้าตื่นและเดินหลบเลี้ยวอ้อมไปข้างรถโดยไม่ไปขนปูนตามที่มีผู้ว่าจ้างนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นข้อพิรุธที่ส่อแสดงความไม่สุจริตของจำเลยทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ว่า กระเป๋าเงินที่จำเลยคืนให้นั้นซิป ถูกเปิดแย้มไว้ขณะตรวจพบว่าสร้อยคอทองคำหายไปจำเลยก็ออกจากที่เกิดเหตุไปแล้ว จึงเชื่อว่า จำเลยได้เอาสร้อยคอทองคำของโจทก์ร่วมไปจริง และเหตุที่จำเลยต้องคืนกระเป๋าเงินและเงินในกระเป๋าให้แก่โจทก์ร่วมก็เพราะว่า ขณะจำเลยเก็บกระเป๋าเงินของโจทก์ร่วมได้นั้น มี ส. ร่วมรู้เห็นอยู่ด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์.

พยานแวดล้อมในกรณีที่จำเลยให้การรับสารภาพ

ในกรณีที่ไม่มีไปจับพยานมีแต่พยานแวดล้อม แต่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและปรากฏว่ารับสารภาพสอดคล้องต้องกันกับพยานแวดล้อม ศาลก็มักจะรับฟังคำให้การพยานแวดล้อม คำรับสารภาพในชั้นสอบสวนลงโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2531

โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเห็นจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนเล็กกลยิงกราดผู้เสียหายและผู้ตายในโรงภาพยนตร์ แต่มีพยานแวดล้อมโดยผู้เสียหายคนหนึ่งเห็นจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุในเวลาใกล้เคียงกับขณะเกิดเหตุ สอดคล้องกับคำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลย จำเลยรับสารภาพทั้งชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนต่อหน้านายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ทั้งยังนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและขอขมาต่อผู้เสียหายและบิดามารดาของผู้ตายด้วยความสมัครใจเพราะสำนึกผิดและโดยเปิดเผยต่อหน้าประชาชนและสื่อมวลชน พยานโจทก์ทุกปากไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ไม่มีเหตุผลที่จะให้การปรับปรำจำเลย พนักงานสอบสวนก็ให้ความเป็นธรรมแก่จำเลยในวันพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น จำเลยก็ยังให้การรับสารภาพในตอนต้น แม้ต่อมาจะกลับให้การปฏิเสธแต่ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นเพราะเหตุใด เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว จำเลยก็มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา เชื่อว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1604/2531

แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมายืนยันว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายแต่จำเลยที่ 1 รับต่อเจ้าพนักงานตำรวจในคืนเกิดเหตุว่าจำเลยที่ 2ร่วมปล้นทรัพย์ด้วย ขณะเจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลยที่ 2 ในคืนนั้นจำเลยที่ 2 ก็พยายามหลบหนีอันเป็นพฤติการณ์ที่ส่อพิรุธ ทั้งจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในคืนถูกจับและนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพให้ถ่ายภาพไว้หลังถูกจับเพียง 3 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาใกล้ชิดกับวันเกิดเหตุ และจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นผู้เช่ารถแท็กซี่ที่คนร้ายใช้เป็นยานพาหนะหลบหนี พยานแวดล้อมของโจทก์สอดคล้องกันดีมีน้ำหนัก พอฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1และพวก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2422/2531

แม้จะไม่มีพยานคนใดรู้เห็นขณะจำเลยใช้มีดฟันผู้ตาย แต่มีพยานประกอบแวดล้อมที่ใกล้ชิดกับกรณีที่เกิดขึ้นคือ ส. ภรรยาจำเลย และ น. แม่ยายจำเลย โดยได้ความจากพยานทั้งสองว่า คืนก่อนวันเกิดเหตุจำเลยและผู้ตายดื่มสุราแล้วทะเลาะท้าทายกันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 8 นาฬิกา จำเลยและผู้ตายออกจากบ้านไปด้วยกันโดยจำเลยมีมีดติดตัวไปด้วย ครั้นเวลาประมาณ 12 นาฬิกาจำเลยกลับบ้าน ถือมีดดังกล่าวซึ่งเปื้อนเลือดบอกส. ว่าได้ฆ่าผู้ตายแล้ว และห้าม ส. ไม่ให้ไปแจ้งความมิฉะนั้นจะฆ่า และเวลาประมาณ 16 นาฬิกา จำเลยไปหา น. บอกว่าได้ฆ่าผู้ตายแล้วถ้าใครไปแจ้งตำรวจจะฆ่าให้หมด พยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานแวดล้อมที่ใกล้ชิดกับกรณีที่เกิดขึ้นอย่างมาก เมื่อฟังประกอบกับที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพแล้ว จึงปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288.(ที่มา-ส่งเสริม)

ฎ.2435/2539 ฎ.8/2530 ฎ.1200/2530 ฎ.1346/2530 ฎ.2289/2530

คำพิพากษาที่ศาลวินิจฉัยแล้วยังไม่เพียงพอให้รับฟังลงโทษ

การใช้พยานแวดล้อมในการพิพากษาคดีอาญา  ศาลจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพยานแวดล้อมเป็นพยานหลักฐานทางอ้อม  ซึ่งอาจมีช่องว่างหรือข้อสงสัยได้  ดังนั้น  หากพยานแวดล้อมไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างข้อสงสัย  ศาลก็จะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ฎ.5/2533 เป็นคดีลักทรัพย์

พยานโจทย์เนี่ยไม่ได้รู้เห็นขณะที่มีการลักทรัพย์เกิดขึ้นเพียงแต่มาเห็นตอนที่จำเลยอยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุ แล้วเมื่อเข้าไปตรวจสอบก็ปรากฏว่าทรัพย์สินในที่เกิดเหตุหายไป ซึ่งถ้าเกิดจำเลยเป็นคนร้ายจริง ก่อเหตุเสร็จก็น่าจะหลบหนีไปแล้ว ถึงแม้จำเลยจะมีพฤติการว่าถามแล้วไม่ตอบแล้วก็เดินหนีออกไปแล้วเมื่อเห็นตำรวจก็วิ่งหนีแม้จะเป็นการกระทำที่เป็นพิรุธน่าสงสัยแต่มันก็เป็นเพียงแค่พยานแวดล้อมที่ไม่สามารถลงโทษจำเลยได้

ฎ.1919/2533 เป็นคดีขับรถชนคนตาย

ไม่มีคนเห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุรถชน แต่มีพยานแวดล้อมเห็นว่ามีรถยนต์คล้ายกับรถยนต์ของจำเลยขับออกมาจากบริเวณที่เกิดเหตุ แล้วเคยเห็นจำเลยขับรถในลักษณะเดียวกันนี้อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งปรากฏว่ารถของจำเลยเนี่ยมีรอยชนและมีโลหิตอยู่ที่บริเวณรถ แต่ก็ปรากฏว่าโลหิตดังกล่าวเป็นโลหิตคนละหมู่กับของผู้ตายหลักฐานไม่เพียงพอจะลงโทษจำเลยได้

ฎ.2318/2535  เป็นคดียิงกัน

ลำพังเพียงจำเลยวิ่งออกมาจากที่เกิดเหตุ ในเส้นทางเดียวกับที่คนร้ายวิ่งหนีไปไม่เพียงพอที่รับฟังลงโทษจำเลยได้เมื่อไม่มีหลักฐานอย่างอื่นมาประกอบเลย ยิ่งไปกว่านั้นหลังเกิดเหตุจำเลยก็ยังทำตัวตามปกติ ไม่ได้หลบหนีไปไหน สาเหตุที่จำเลยวิ่งหลบหนีอาจจะมีจากหลายเหตุเช่นเหตุเพราะว่าตกใจ วิ่งหนีเอาตัวรอด หรือเป็นทางเดียวที่จะต้องผ่านบริเวณนั้น

จากตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น  จะเห็นได้ว่าการใช้พยานแวดล้อมในการลงโทษจำเลยนั้น  ศาลจะต้องพิจารณาพยานแวดล้อมโดยละเอียดรอบคอบ  และต้องแน่ใจว่าพยานแวดล้อมนั้นมีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างข้อสงสัยทั้งหมด  มิฉะนั้นจะต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

เทคนิคการนำสืบพยานแวดล้อม

  1. นำสืบถึงความน่าเชื่อถือของพยานแวดล้อม
  2. นำสืบให้เห็นข้ออนุมานที่ปรากฏจากพยานแวดล้อมนั้น
  3. นำสืบว่าข้ออนุมานดังกล่าวมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
  4. หาพยานหลักฐานสนับสนุนให้เชื่อมโยงกัน
  5. นำสืบให้เห็นว่าไม่มีประจักษ์พยานโดยตรง

เทคนิคในการถามค้านพยานแวดล้อม

การถามค้านพยานแวดล้อมก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ทนายความสามารถใช้เพื่อลดความน่าเชื่อถือของพยานฝ่ายตรงข้าม หรือทำให้ศาลเกิดข้อสงสัยต่อความเชื่อถือของพยานแวดล้อมนั้นๆ

  1. ทำลายน้ำหนักความน่าเชื่อถือของพยาน
  2. ถามให้เห็นว่าข้ออนุมานนั้นไม่สมเหตุผล
  3. ถามให้เห็นว่าข้ออนุมานนั้นอาจมีความเป็นไปได้อย่างอื่น
  4. ถามให้เห็นว่าไม่มีความเชื่อมโยงกันของพยานหลักฐาน
  5. ถามให้เห็นว่ามีประจักษ์พยานโดยตรงแต่ไม่นำมาสืบ

สรุป

การใช้พยานแวดล้อมเป็นไปตามหลักการสำคัญ คือ

  • ต้องมีพยานแวดล้อมหลายอย่างประกอบกัน: พยานแวดล้อมแต่ละอย่างอาจมีน้ำหนักไม่มากพอที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ แต่เมื่อนำมารวมกันแล้วจะทำให้เห็นภาพรวมของเหตุการณ์ได้ชัดเจนขึ้น
  • พยานแวดล้อมต้องมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน: พยานแวดล้อมแต่ละอย่างต้องเชื่อมโยงกันและชี้ไปในทิศทางเดียวกัน
  • พยานแวดล้อมต้องมีความน่าเชื่อถือ: พยานแวดล้อมต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และต้องไม่มีเหตุผลอันควรสงสัยที่จะบิดเบือนข้อเท็จจริง

ใครสนใจเพิ่มเติมผมแนะนำให้ไปอ่านวิทยานิพนธ์ของ คุณสิทธิภัทร พลายเพ็ชร เรื่อง การรับฟงพยานหลักฐานแวดลอมในคดีอาญา เขียนไว้ได้ละเอียดมาก

 

https://rsuir-library.rsu.ac.th/bitstream/123456789/1240/1/SITTIPAT%20PLAYPETCH.pd

Express your opinion about this article

comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น