บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา

การาต่อสู้คดียักยอกทรัพย์ ว่าเป็นแค่คดีแพ่ง-ไม่มีเจตนากระทำผิด

การต่อสู้คดียักยอกทรัพย์ ประเด็นเรื่องที่ว่าเราไม่มีเจตนากระทำความผิด หรืออ้างว่าคดีนี้เป็นแค่เรื่องโต้แย้งสิทธิทางแพ่งเท่านั้น มันจะต้องทำยังไง

ธรรมดาแล้วในการต่อสู้คดีอาญาความผิดฐานยักยอกทรัพย์ มันก็มีประเด็นข้อต่อสู้หลายประเด็น

  1. ผู้เสียหายไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สิน
  2. ผู้เสียหายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
  3. ไม่ได้เอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไป
  4. คดีขาดอายุความแล้ว

มีอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาบ่อยก็คือการต่อสู้คดีโดยอ้างว่า

“ เป็นการโต้แย้งสิทธิ์ทางแพ่งเท่านั้น”

ซึ่งธรรมดาแล้วการต่อสู้คดีแบบนี้เราจะตั้งประเด็นไว้ได้สามแนวทางคือ 

1.มีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินจริง

คือยอมรับว่าเรามีหน้าที่จะต้องคืนเงินหรือคืนทรัพย์สินให้กับฝ่ายผู้เสียหายจริง

แต่อาจจะเกิดปัญหาติดขัด ไม่สามารถคืนได้ ด้วยประการใดๆ

แต่เรายังเจตนายืนยันที่จะชดใช้ หรือรับผิดชอบในส่วนแพ่ง ทั้งหมดหรือบางส่วน การกระทำไม่ถึงขั้นจะเป็นความผิดอาญา

2.มีสิทธิ์ยึดหน่วงไม่ต้องคืน

คือยอมรับว่าทรัพย์สิน เป็นของฝ่ายผู้เสียหายจริง แต่เรายังมีสิทธิ์ยึดถือไว้เพื่อใช้สิทธิ์ต่อรองเรียกร้องในส่วนแพ่ง ที่ผู้เสียหายเองก็เป็นหนี้สินเราอยู่หรือมีหน้าที่จะต้องทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้กับเราอยู่

3.ไม่มีหน้าที่ต้องคืน

คือปฏิเสธว่าเราไม่มีหน้าที่จะต้องคืนเงินหรือทรัพย์สินให้กับผู้เสียหาย ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน

เช่นเรามีสิทธิจำหน่ายจ่ายโอนไปได้ หรือด้วยทรัพย์อาจจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเราแล้ว หรือมีเหตุที่จะไม่ต้องคืน

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

ผิดสัญญาเช่าหรือสัญญาเช่าซื้อ ยอมรับว่ามีหน้าที่จะต้องคืน แต่ยังไม่ได้คืนทรัพย์สินเป็นเพียงเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ยังไม่มีพฤติการณ์ถึงขั้นจะเอาทรัพย์สินไปเป็นของตนเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5547/2530

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเช่าซื้อรถไปจากผู้เสียหาย ต่อมาจำเลยผิดสัญญา ผู้เสียหายจึงบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยส่งรถคืน แต่จำเลยกลับเบียดบังยักยอกรถดังกล่าวเป็นของจำเลยโดยไม่ส่งคืน แก่ผู้เสียหายและพารถหลบหนีไปเป็นประโยชน์ของตนโดยทุจริต การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องไม่เพียงพอที่จะถือว่าเป็นการเบียดบัง รถของผู้เสียหายเป็นของจำเลยโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอก หากแต่เป็นเพียงการกระทำที่แสดงถึงการผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 416/2550

จำเลยที่ 1 ครอบครองเครื่องจักรยกของหนักบนอาคารสูงหรือปั้นจั่นหอสูงอันเป็นทรัพย์พิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าและโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จะต้องส่งคืนทรัพย์พิพาทแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตลอดเวลาที่ครอบครองทรัพย์พิพาทตามข้อตกลงในสัญญา แม้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบคืนทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ตามข้อตกลงก็ตาม พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ก็ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการเบียดบังที่จะเอาทรัพย์เป็นของตนโดยทุจริต กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่งไม่มีมูลความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์

ฎ.619/2504

ขายดาวน์รถมีข้อตกลงว่าจะให้ผู้ซื้อดาวน์เอาไปผ่อนต่อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2716/2554

การที่ อ. ผู้เสียหายตกลงให้จำเลยเอารถกระบะที่ผู้เสียหายทำสัญญาเช่าซื้อมาไปใช้โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ โดยมีข้อตกลงกันระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยว่า จำเลยจะเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย หลังจากจำเลยได้รับมอบการครอบครองรถกระบะจากผู้เสียหายแล้ว ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยพารถกระบะหลบหนีไปขายแก่บุคคลภายนอก หรือแอบอ้างว่าเป็นรถกระบะของตนเอง ด้วยการปฏิเสธว่าไม่ได้รับมอบรถกระบะจากผู้เสียหายแต่อย่างใด แต่จำเลยครอบครองใช้รถกระบะนั้นโดยเปิดเผยและได้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหายเรื่อยมาจำนวนถึง 5 งวดติดต่อกันต่อมาจำเลยค้างส่งค่างวดจึงได้มอบรถกระบะให้ ช. โดยทำความตกลงกับ ช. ให้ ช. เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรวมทั้งที่จำเลยรับเงินมัดจำจาก ช. ในวันทำสัญญาเป็นเงิน 5,000 บาท และในสัญญาระบุว่าจำเลยและ ช. ซื้อขายรถยนต์ (รถกระบะ) นั้น ยังมิใช่การเอารถกระบะทรัพย์สินของผู้ให้เช่าซื้อไปขายแต่เป็นเพียงการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ ช. โดยมีข้อตกลงให้ ช. มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อต่อไป เพราะจำเลยประสงค์จะหาบุคคลอื่นมาช่วยรับภาระในการผ่อนค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย จำเลยจึงมิได้เบียดบังเอารถกระบะดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต ไม่เป็นเหตุทำให้การกระทำของจำเลยที่ไม่เป็นความผิดกลับกลายเป็นความผิดไปแต่อย่างใด
การที่จำเลยโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ ช. แม้จะมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซื้อก็มีผลในทางแพ่งเพียงว่า ผู้ให้เช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างจากผู้เสียหายผู้เช่าซื้อเดิมได้ต่อไป รวมทั้งเรียกค่าเสียหายในการที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่อาจติดตามยึดรถกระบะคืนจากจำเลยได้ จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานยักยอก

เอาทรัพย์ที่เช่าหรือเช่าซื้อไปจำนำหรือวางไว้เป็นประกันหนี้แค่เพียงชั่วคราวยังไม่ถึงขั้นจะตัดกรรมสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1376/2482

นำทรัพย์สินของผู้อื่นที่อยู่ในความครอบครองของตนเอง ไปจำนำโดยมีเจตนาที่จะไถ่ถอนทรัพย์สินนั้นคืนภายหลังไม่เป็นการเบียดบังทรัพย์สินในลักษณะที่เป็นการตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

แต่ถ้าหากข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นการจำนำในลักษณะที่ไม่มีเจตนาจะไถ่ถอนคืนหรือไม่มีความสามารถในการไถ่ถอนคืนเลยก็เป็นความผิดฐานยักยอกได้ ตัวอย่างเช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1125/2507, 1165/2468

ผิดสัญญาซื้อขาย รับเงินไปแล้วไม่ส่งมอบสินค้าให้ รับสินค้าไปแล้วไม่ส่งมอบเงินให้

ปฏิเสธว่าไม่มีหน้าที่จะต้องคืนทรัพย์สินหรือคืนเงินให้ มีแต่หน้าที่จะต้องชำระหนี้ต่างตอบแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3072/2537

โจทก์มอบสินค้าผ้าให้จำเลยกับพวกไปโดยทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยกับพวกจะนำผ้าเหล่านั้นไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อขาย และได้กำหนดราคาผ้ากันไว้จำเลยกับพวกจะนำผ้ามาตัดเย็บเพื่อขายหากำไรเท่าใดเป็นเรื่องจำเลยกับพวกโดยเฉพาะ จำเลยกับพวกมีความผูกพันที่จะต้องชำระค่าสินค้าผ้าตามจำนวนในใบส่งสินค้าฝากขายตามที่ได้ตกลงกัน กรณีมิใช่จำเลยกับพวกได้รับมอบหมายให้รับสินค้าผ้าไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์แต่เป็นกรณีที่โจทก์ขายเชื่อสินค้าผ้าให้จำเลยทั้งสองกับพวกแม้เมื่อถึงกำหนดชำระราคาสินค้าผ้าแล้วจำเลยทั้งสองกับพวกไม่นำเงินไปชำระให้โจทก์และหลบหนี้ไป ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2558/2526

โจทก์จำเลยเคยติดต่อซื้อขายสิ่งของกันมาหลายครั้ง ครั้งที่เกิดเหตุก็เป็นการตกลงซื้อชุดหม้อเคลือบอลูมิเนียมตามข้อเสนอขายของจำเลย การที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยจึงเป็นการมอบให้ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ซื้อ จำเลยเป็นผู้ขาย มิใช่เป็นการมอบให้ในฐานะจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์หรือมอบหมายให้จำเลยไปจัดซื้อชุดหม้อเคลือบอลูมิเนียมตราจระเข้แทนโจทก์ การที่จำเลยไม่ส่งชุดหม้อเคลือบอลูมิเนียมดังกล่าว หรือไม่คืนเงินให้แก่โจทก์เป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4399/2560ผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้ว่าความ เงินค่าว่าความจึงเป็นสินจ้างตอบแทนแก่จำเลยที่ตกลงรับจะว่าความให้ การที่จำเลยไม่ยื่นฟ้องคดีให้ผู้เสียหายเป็นกรณีที่จำเลยผิดสัญญาจ้างว่าความซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง จึงไม่เป็นความผิดทางอาญาฐานยักยอกตามฟ้อง

เรื่องผิดสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง

ปฏิเสธว่า มีสิทธิ์จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่ยืมไปได้ตามกฎหมาย เพียงแต่จะต้องคืนตามกำหนดในสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1250/2530

จำเลยเอาน้ำมันดีเซลไปจากโจทก์ 4 ครั้งรวมจำนวน 5,026.45 ลิตรคิดราคาเป็นเงิน 35,738.06 บาท โดยสัญญาว่าจะนำมาคืนให้ภายในเวลาที่กำหนด เป็นเรื่องการยืมใช้สิ้นเปลืองในทางแพ่งกรรมสิทธิ์ในน้ำมันเป็นของจำเลยแล้ว แม้จำเลยไม่คืนให้ตามกำหนด การกระทำของจำเลยไม่เป็นผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352

เรื่องฝากทรัพย์ เงินสด

เช่นเดียวกับการยืมใช้สิ้นเปลือง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 530/2534

โจทก์ร่วมถูกฟ้องคดีอาญา จำเลยได้รับฝากทรัพย์สิ่งของต่าง ๆ และเงินจำนวนหนึ่งไว้จากโจทก์ร่วม ต่อมาหลังจากพ้นคดีแล้วโจทก์ร่วมไปทวงทรัพย์สินที่ฝากไว้คืนจากจำเลยแต่จำเลยไม่คืนให้ กรณีเป็นเรื่องโจทก์ร่วมและจำเลยฝากทรัพย์กัน ดังนั้นเงินทั้งหมดที่โจทก์ร่วมฝากไว้จำเลยผู้รับฝากจึงมีสิทธิที่จะนำออกใช้ได้หากจำต้องคืนแก่โจทก์ร่วมให้ครบตามจำนวนเท่านั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต เพียงแต่เมื่อโจทก์ร่วมทวงถามจำเลยไม่คืนให้ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมจะต้องฟ้องร้องเรียกคืนจากจำเลยในทางแพ่ง การที่จำเลยนำเงินที่รับฝากนั้นออกใช้หรือไม่คืนให้เมื่อถูกทวงถามหาเป็นความผิดอาญาฐานยักยอกไม่ ส่วนการรับฝากทรัพย์สินอื่นนั้น เมื่อได้ความว่า โจทก์ร่วมทวงถามแล้วจำเลยไม่คืนให้โดยเจตนาทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอก.

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 235/ 2516 , 233/2504

ผู้เสียหายฝากเงินไว้กับจำเลยเมื่อผู้เสียหายทวงถามจำเลยแจ้งว่านำเงินไปใช้หมดแล้วแล้วจะผ่อนชำระให้ เช่นนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 672 วางหลักว่าผู้รับฝากไม่ต้องคืนเงินตราอันเดียวกับที่ฝาก ดังนั้นผู้รับฝากจึงมีสิทธิเอาเงินที่รับฝากออกไปใช้ได้เพียงแต่จะต้องใช้คืนให้ครบจำนวนเมื่อผู้ฝากทวงถามเท่านั้น เมื่อผู้รับฝากไม่คืนเงินที่ฝากจึงเป็นเพียงเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง

แต่ถ้าหากปรากฎว่าเมื่อผู้ฝากทวงถาม ผู้รับฝากปฏิเสธว่าไม่ได้รับฝากเงินไว้เลย เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้รับฝากมีเจตนาเอาเงินไปในลักษณะที่เป็นการตัดกรรมสิทธิ์ของผู้ฝาก ย่อมเป็นความผิดฐานยักยอก ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833/2535 ,273/2486

กรณีส่งมอบทรัพย์สินให้ดำเนินการขายแทน

มีอำนาจจำหน่ายทรัพย์สินได้ ยอมรับว่าเป็นหนี้จริงส่วนการไม่ชำระเงินเป็นเพียงเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5043/2542

การที่โจทก์ร่วมมอบเศษอคริลิคไฟเบอร์ให้จำเลยนำไปขายนั้น เป็นกรณีที่จำเลยสามารถขายเศษอคริลิคไฟเบอร์ได้ตามราคาที่จำเลยได้ต่อรองกับฝ่ายผู้ซื้อ และเป็นการขายในนามของร้านค้าจำเลยเอง มิใช่ในนามของโจทก์ร่วม เงินที่ได้จากการขายเศษอคริลิคไฟเบอร์จึงตกเป็นของจำเลยจำเลยมีหน้าที่ต้องชดใช้ราคาเศษอคริลิคไฟเบอร์และแบ่งผลกำไรที่ได้ให้แก่โจทก์ร่วมเท่านั้น จำเลยมิได้ครอบครองเงินที่ได้จากการขายเศษอคริลิคไฟเบอร์ไว้แทนโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยไม่คืนเงินนั้นให้แก่โจทก์ร่วม จึงเป็นการผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5651/2541

โจทก์ร่วมได้มอบทรัพย์แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยนำไปขาย โดยจำเลยจะกำหนดราคาขายมากหรือน้อยหรือจะจัดการแก่ทรัพย์ นั้นอย่างไรก็ได้ จำเลยเพียงแต่มีหน้าที่ต้องนำเงินตามราคา ที่โจทก์ร่วมกำหนดไว้หรือนำทรัพย์สินมาคืนแก่โจทก์ร่วมเท่านั้น การที่จำเลยไม่ยอมนำทรัพย์ตามฟ้องมาคืนหรือมอบเงินแก่ โจทก์ร่วมถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาทางแพ่งต่อโจทก์ร่วม เท่านั้น ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1607/2532

โจทก์มอบพลอยจำนวน 3 หมู่ให้จำเลยไปขายโดย กำหนดราคาขั้นต่ำไว้ จำเลยจะขายในราคาสูงกว่าก็ได้ ลักษณะเช่นนี้จำเลยย่อมมีสิทธิขายพลอยอย่างเป็นของของตนเอง หาใช่เป็นตัวแทนไปขายในนามของโจทก์ไม่ แม้จะมีข้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยเป็นเงิน 3 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่ขายได้ ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงไป เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ยอมคืนพลอยหรือใช้ เงินให้โจทก์เป็นเพียงผิดข้อตกลงกัน ซึ่ง โจทก์จะต้อง ใช้ สิทธิเรียกร้องแก่จำเลยในทางแพ่ง หาเป็นเรื่องมีมูลความผิดในทางอาญาฐานยักยอกไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6035/2531/คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12342/2555/คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7836/2556

หุ้นส่วนได้รับเงินแล้วยังไม่ได้มีการแบ่งปันผลกำไรกัน ปฏิเสธว่ายังไม่มีหน้าที่จะต้องชำระหรืออาจจะต้องโต้แย้งคิดบัญชีในส่วนให้เงินก่อนตามที่ปรากฏในสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3879/2551

โจทก์ร่วมและจำเลยเป็นหุ้นส่วนกันในการประกอบกิจการโรงงานทอผ้าไหมพรม โดยจำเลยเป็นผู้บริหารงานต่าง ๆ เช่น การจ้างคนงาน การรับงาน ส่งงาน วางบิล และเก็บเงิน เป็นต้น ก่อนเกิดเหตุคดีนี้บริษัทอาร์ท ออน สติทซ์ จำกัด ได้ว่าจ้างจำเลยทอเสื้อไหมพรมจำนวน 1,448 ตัว คิดเป็นเงินจำนวน 71,974 บาท จำเลยดำเนินการจนเสร็จได้ส่งมอบเสื้อไหมพรมและรับเงินจากบริษัทดังกล่าวเป็นเช็คเงินสดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ จำเลยได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คแล้วแต่ไม่ได้มอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ฐานยักยอกทรัพย์ซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า เงินจำนวน 71,974 บาท เป็นเงินที่จำเลยรับมาในฐานะเป็นผู้บริหารกิจการประกอบกิจการโรงงาน ทั้งจำเลยเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ร่วมประกอบกิจการโรงงานทอผ้าไหมพรมดังข้อเท็จจริงที่ฟังยุติ ดังนั้น โจทก์ร่วมจะมีสิทธิได้เงินดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด ก็ต้องอาศัยสัญญาหุ้นส่วนที่มีต่อกันเท่านั้น การที่จำเลยไม่ส่งเงินดังกล่าวให้โจทก์ร่วมก็เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมจะเรียกร้องเอาแก่จำเลยในทางแพ่ง หามีมูลความผิดทางอาญาไม่

ผู้รับจำนำไม่คืนทรัพย์ให้ หรือเอาทรัพย์ไปขายต่อ เพราะว่าผู้จำนำไม่ยอมมาไถ่ถอน มีอำนาจจำหน่ายจ่ายโอนตามกฎหมายหรือตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5437/2545

โจทก์มีอาชีพขายเครื่องประดับอัญมณี โจทก์นำเครื่องประดับอัญมณีไปขายฝากหรือจำนำที่ห้างทอง พ. เป็นเงิน 3 ล้านบาทเศษ ต่อมาโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ช่วยเหลือโดยการไถ่ทรัพย์สินดังกล่าวให้ ซึ่งแน่นอนว่าโจทก์ต้องมีหลักประกันที่น่าเชื่อถือให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษถึงขนาดที่จำเลยที่ 1 จะนำเงินจำนวนมากไปไถ่ทรัพย์สินให้โจทก์โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือหลักประกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ไถ่ทรัพย์สินมาแล้วโจทก์ได้ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ทันทีเพื่อเป็นหลักประกันหนี้ ย่อมเข้าลักษณะเป็นการจำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747 จำเลยที่ 1 ผู้รับจำนำชอบที่จะยึดของจำนำไว้ได้ทั้งหมดจนกว่าจะได้รับชำระหนี้และค่าอุปกรณ์ครบถ้วนตามมาตรา 758ส่วนการที่โจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 นำทรัพย์สินไปขายให้แก่บุคคลอื่นโดยโจทก์กำหนดราคาขายให้นั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ผู้รับจำนำจะช่วยขายทรัพย์สินที่จำนำให้แก่โจทก์เพื่อนำเงินมาชำระหนี้คืนแก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น มิใช่เรื่องตัวการตัวแทนทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ขายทรัพย์สินจำนำให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วหรือไม่ แต่กลับได้ความจากโจทก์เองว่า จำเลยที่ 2 มีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินเพื่อชำระหนี้จำนำทรัพย์สินดังกล่าวให้เสร็จภายใน 30 วัน อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มิใช่ผู้ซื้อทรัพย์สินของโจทก์จากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ดังนั้น แม้หากจะฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้ขายทรัพย์สินไปแล้วและยังไม่ได้ชำระเงินค่าทรัพย์สินส่วนที่เหลือจากการหักชำระหนี้จำนำคืนให้แก่โจทก์ก็ตาม ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งที่โจทก์ต้องฟ้องร้องขอชำระหนี้ที่จำนำหรือเรียกราคาทรัพย์สินคืนจากจำเลยทั้งสองเท่านั้น จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2501, 979/2501

ผู้เสียหายนำทรัพย์สินไปจำนำไว้กับจำเลย เมื่อผู้เสียหายไปไถ่ถอนจำเลยไม่ให้ไถ่ถอนโดยอ้างว่าพ้นกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนแล้ว จำเลยมีสิทธินำทรัพย์สินนั้นไปขายแก่บุคคลอื่น เช่นนี้ย่อมเป็นเพียงการโต้แย้งสิทธิทางแพ่ง จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดอาญา

การซื้อขายเผื่อชอบคือการให้ทรัพย์สินไปเอาลองใช้ก่อนแล้วบอกว่าถ้าพอใจก็สามารถซื้อต่อได้ ไม่มีหน้าที่จะต้องคืนทรัพย์สินเพราะกรรมสิทธิ์โอนแล้วเหลือแต่หน้าที่ต้องชำระเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 121/2543

โจทก์ร่วมและจำเลยต่างมีความประสงค์จะซื้อจะขายรถยนต์โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะนำรถยนต์ของโจทก์ร่วมไปทดลองใช้ก่อน 7 วัน หากพอใจจำเลยจะนำเงินมาชำระให้โจทก์ร่วม ข้อตกลงระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยส่อแสดงเจตนาว่าทั้งสองฝ่ายจะซื้อจะขายรถยนต์กันตั้งแต่เริ่มแรก การที่จำเลยได้รับมอบรถยนต์จากโจทก์ร่วมจึงเข้าลักษณะสัญญาซื้อขายเผื่อชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 505การที่โจทก์ร่วมส่งมอบรถยนต์ให้จำเลยทดลองขับ ถือว่าเป็นการตรวจดูแล้ว การซื้อขายย่อมเป็นอันบริบูรณ์ เพราะจำเลยมิได้บอกกล่าวว่าไม่ยอมรับซื้อและมิได้ส่งมอบรถยนต์คืนภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 508(1)(2) เมื่อปรากฏว่า ขณะที่รถยนต์ของโจทก์ร่วมหายไป และจำเลยยังมิได้ชำระราคารถยนต์แก่โจทก์ร่วมต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3889/2548

จำเลยรับนาฬิกาข้อมือจำนวน 7 เรือน ของผู้เสียหายไปเพื่อให้สามีตรวจดูโดยมีเจตนาจะซื้อขายกันและมีข้อตกลงจะใช้เวลาในการตรวจดูประมาณ 14 วัน หากจำเลยไม่ตกลงซื้อจะต้องแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าไม่ซื้อหรือส่งนาฬิกาคืน ถ้าครบกำหนด 14 วัน แล้วจำเลยไม่แจ้งต่อผู้เสียหายและไม่ส่งมอบนาฬิกาคืน ย่อมถือว่าจำเลยตกลงซื้อนาฬิกาทั้ง 7 เรือน อันเป็นผลให้การซื้อขายเผื่อชอบมีผลบริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 508 จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระราคาให้แก่ผู้เสียหาย หากไม่ชำระผู้เสียหายต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยในทางแพ่งตามสัญญาซื้อขายเผื่อชอบ จำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอก

สัญญาไม่มีชื่อประเภทอื่นๆ ผิดสัญญาประเภทตกลงกันว่าเอามอบทรัพย์สินประเภทสัตว์ หรือพืชผลทางการเกษตรให้เอาไปปลูก หรือไปเลี้ยง เสร็จแล้วจะเอามาขายคืน มีอำนาจจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินได้ คงเหลือแต่หน้าที่ในการชำระเงินเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5055/2533

สัญญาการเลี้ยงไก่ ระบุราคาลูกไก่ อาหารไก่ไว้แน่นอน เมื่อไก่เจริญเติบโตแล้วโจทก์ร่วมจะมาจับไปฆ่าโดยตีราคาไก่ตามน้ำหนักซึ่งเมื่อได้ยอดเงินเท่าใดก็จะเอายอดเงินค่าลูกไก่ อาหารไก่และวัคซีน ไก่มาหักออก หากเหลือเงินก็จะมอบให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยแต่ถ้าเงินไม่พอจำเลยจะต้องชำระค่าลูกไก่ อาหารไก่ และวัคซีน ไก่ที่ค้างอยู่ทั้งหมด จึงไม่ใช่สัญญาฝากทรัพย์ แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมยอมให้จำเลยซื้อลูกไก่ อาหารไก่และวัคซีน ไก่ด้วยเงินเชื่อโดยมีข้อตกลงว่าเมื่อไก่เจริญเติบโตแล้วจะต้องนำมาขายให้โจทก์ร่วมเมื่อโจทก์ร่วมส่งมอบลูกไก่ให้จำเลยกรรมสิทธิ์ในลูกไก่ย่อมตกเป็นของจำเลยทันที จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8430 – 8432/2557

 

ยึดถือไว้โดยใช้สิทธิ์ยึดหน่วงทางแพ่ง /หรือเพื่อต่อรองหนี้สินส่วนแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 872/2547

จำเลยประกอบอาชีพรับเลี่ยมพระ จำเลยทำพระเขาเสียหาย จึงตกลงจะเลี่ยมพระให้ผู้เสียหายเป็นการหักหนี้จำนวน 2 องค์ ต่อมาจำเลยได้เลี่ยมไปแล้วองค์ 1และส่งมอบให้ผู้เสียหายแล้ว ต่อมาจำเลยเห็นว่าค่าเสียหายสูงเกินไปจึงยึดหน่วงตลับพระทองคำพิพาทไว้เพื่อหักหนี้กับค่าเลี่ยมพระองค์ที่ 2 ดังนี้จำเลยมีเพียงเจตนายึดหน่วงตลับพระทองคำไว้เพื่อเจรจาต่อรองกันใหม่เกี่ยวกับค่าเสียหาย ไม่ได้มีเจตนาเบียดบังเอาตลับพระทองคำดังกล่าวเป็นของตนเอง ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234/ 2537

จำเลยไม่คืนทรัพย์พิพาทให้โจทก์ร่วมก็เพราะมีหลักฐานเชื่อได้ว่าอุปกรณ์บางส่วนเป็นของบุคคลอื่นและจะคืนให้ต่อเมื่อโจทก์ร่วมชำระค่าบริการเรียบร้อยแล้วจึงเป็นการใช้สิทธิยึดหน่วงอย่างหนึ่งไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8290/2543

โจทก์ว่าจ้างจำเลยหล่อฝาสูบ และได้มอบตัวอย่างฝาสูบให้จำเลย เพื่อใช้เป็นตัวอย่างในการหล่อฝาสูบ ต่อมาจำเลยทำงานเสร็จไม่ทันภายในกำหนดโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและเรียกเอาตัวอย่างฝาสูบคืน แต่จำเลยไม่คืนให้โดยอ้างว่าโจทก์จะต้องชำระค่าการงานในส่วนที่จำเลยทำเสร็จแล้วมาให้ก่อน เช่นนี้เป็นการใช้สิทธิครอบครองไว้เพื่อเรียกร้องทางแพ่งไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

 

โต้แย้งว่าเป็นทรัพย์สินของตนเอง/ตกเป็นสิทธิของตนเองโดยมีเหตุผลอันชอบด้วยกฎหมาย

ถ้าในคดีนั้นมีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ทำให้เราเชื่อได้ว่าทรัพย์สินนั้นตกเป็นของเราแล้ว โดยสุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 253/2488

ฝ่ายผู้เสียหายอ้างว่าให้จำเลยเช่าเรือ ถึงเวลาแล้วจำเลยไม่คืนเรือให้ แต่ฝ่ายจำเลยอ้างว่าผู้เสียหายขายเรือให้จำเลยแล้วมิใช่เป็นเพียงแค่การเช่า เช่นนี้เป็นเพียงการโต้แย้งกันในทางแพ่งเท่านั้น

 

สรุป 

ซึ่งหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังกล่าวย่อมต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 ที่ว่า  “เมื่อมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย”

ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3889/2548 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด” และ ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า “เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย” ดังนั้น เมื่อมีข้อสงสัยว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ขายให้จำเลยผู้ซื้อยืมสินค้าไปตรวจดูเพื่อตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่หรือไม่เป็นกรณีที่มีการตกลงซื้อขายเผื่อชอบกันแล้ว กรณีก็ต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลย โดยฟังว่าข้อตกลงระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยเป็นเรื่องสัญญาซื้อขายเผื่อชอบ จะนำ ป.พ.พ. มาตรา 11 มาใช้ตีความเพื่อลงโทษจำเลยไม่ได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก

 

รับชมคลิปเพิ่มเติม

 

Express your opinion about this article

comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น