ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนเนี่ยมันแตกต่างจากความผิดฐานฉ้อโกงธรรมดายังไงบ้าง แล้วมีผลในการฟ้องและต่อสู้คดีอาญาเดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังครับ
ระหว่างความผิดฐานฉ้อโกงธรรมดาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 กับความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา 343
มันส่งผลค่อนข้างจะแตกต่างกันอย่างมากในการต่อสู้คดี เช่น ประเด็นเรื่องอายุความ อำนาจฟ้อง การถอนฟ้องหรือการยอมความ รวมไปถึงโทษที่จะได้รับ
ซึ่งทั้ง 2 แบบเนี่ยมันมีข้อแตกต่างกันตรงไหน จุดตัดมันอยู่ที่ตรงไหน วันนี้เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆเลยครับ
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๓๔๑ ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๔๓ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๔๑ ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา ๓๔๒ อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
ข้อแตกต่างระหว่างความผิดฐานฉ้อโกงธรรมดา กับฉ้อโกงประชาชน
1.เป็นการทำต่อประชาชนทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะรายบุคคลหรือกลุ่มบุคคล
ความผิดทั้ง 2 ฐาน มีคำหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาที่ทำให้แตกต่างกันก็คือคำว่า “ประชาชน”
ซึ่งคำว่าประชาชนเนี่ยตามแนวางหลักไว้ว่าง คำว่าประชาชนที่ได้จำกัดความไว้ในประมวลกฎหมายอาญาแต่ตามพจนานิคมฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายถึงบรรดาพลเมืองซึ่งมีความหมายถึงชาวเมืองทั้งหลาย หรือประชาชนทั่วไปที่ไม่จำกัดตัว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.709/2523 ฎ.6245/2527 ฎ.229/2564 ฎ.792/2565
ดังนั้นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนเนี่ยแตกต่างจากการฉ้อโกงธรรมดาทั่วไป
การฉ้อโกงธรรมดาทั่วไปเนี่ยจะเป็นการหลอกรายบุคคลไม่ว่าจะพูดบอก LINE บอก โทรศัพท์บอก ชักชวนให้มาลงทุน แจ้งข้อความอันเป็นเท็จอะไรมันก็อยู่กับแค่คนไม่กี่คน โดยมีการตั้งเป้าหมายล็อคเป้าหมายบุคคลที่ตัวเองจะหลอกไว้อย่างชัดเจน และจำกัดไว้อยู่ที่บุคคลคนนั้น
ไม่มีการโฆษณาเผยแพร่ให้บุคคลผู้อื่นทั่วไปมาถูกหลอกได้ ใครที่จะถูกหลอกเนี่ยจะต้องถูกชักชวนถูกแจ้งข้อความเป็นรายบุคคล
แต่ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนเนี่ยมีลักษณะมุ่งกระทำต่อบุคคลทั่วไปโดยไม่ระบุตัวคนหรือระบุรายบุคคล เป็นการตั้งใจมาหลอก บุคคลทั่วไปโดยไม่ได้ระบุรายบุคคล หรือแค่กลุ่มบุคคล โดยใช้วิธีการเผยแพร่ในวงกว้างให้บุคคลทั่วไปรู้
2.ไม่ได้ถือตัวจำนวนคนที่ถูกหลอกแต่ถือตัวเจตนา
ในการวิเคราะห์เนี่ยไม่ได้วิเคราะห์ถึงจำนวนคนที่ถูกหลอกนะครับ แต่วิเคราะห์จากเจตนาเป็นหลัก ถ้าฝ่ายผู้ต้องหาหรือจำเลยเนี่ยมีเจตนาจะหลอกลวงประชาชนทั่วไปไม่จำกัดจำนวนบุคคล ถึงแม้จะมีคนหลงเชื่อแค่คนเดียวก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนได้
แต่ในทางกลับกันทางผู้เสียหายเนี่ยไม่ได้มีเจตนาจะหลอกลวงประชาชนทั่วไป มีลักษณะเป็นการไปไล่หลอกลวงทีละคน ถึงแม้ว่าจะมีจำนวน 5 คน 10 คน 20 คน ก็อาจจะเป็นแค่ความผิดฐานฉ้อโกงได้
ดังนั้นเนี่ยจำนวนที่ถูกหลอกเนี่ยจึงไม่ใช่ปัจจัยที่จะชี้วัดได้อย่างตายตัวว่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ เป็นแค่เพียงบริบทอย่างนึงเท่านั้นเองครับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 609/2529
การกระทำใดเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนหรือไม่มิได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงแต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนเป็นข้อสำคัญ
3.วิธีการหลอกแสดงเจตนาได้ดี
สำหรับการดูว่าเจตนาของผู้หลอกลวงเนี่ย เป็นเจตนาธรรมต่อบุคคลเป็นรายบุคคล หรือทำแก่บุคคลทั่วไป มันก็ดูจากวิธีการที่เขาทำเป็นหลักครับ เช่น
- โพสต์ Facebook
- เปิดเว็บไซต์
- ตั้งกลุ่ม Open แชท
- เปิด YouTube
- ลงหนังสือพิมพ์
- ลงข่าว
- มีลักษณะ ให้ผลประโยชน์ต่อคนที่ชวนคนอื่นเข้ามาในลักษณะที่ชวนปากต่อปาก
แบบนี้นะครับ ย่อมถือว่าเป็นการฉ้อโกงประชาชนเสมอเลย เพราะถือว่าแสดงเจตนาให้บุคคลทั่วไปเข้ามาทราบ ไม่ได้เจตนาหลอกลวงเฉพาะบุคคล แต่หลอกลวงประชาชนทั่วไปใครก็ได้ที่เข้ามาเห็นข้อมูล
ผลของความผิดทั้ง 2 ฐาน
1.เรื่องอายุความ
มาตรา ๙๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๕ ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
2.เรื่องอำนาจฟ้อง
กรณีเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีอำนาจฟ้อง ในความผิดฐานฉ้อโกงธรรมดา
แต่ถ้าเป็นฉ้อโกงประชาชนถึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ก็ใช้วิธีการร้องทุกข์กล่าวโทษได้
3.การถอนฟ้องหรือยอมความ
ความผิดฐานฉ้อโกงนั้นสามารถยอมความกันได้ตลอดเวลา แต่ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนไม่สามารถยอมความได้
มาตรา ๓๔๘ ความผิดในหมวดนี้ นอกจากความผิดตามมาตรา ๓๔๓ เป็นความผิดอันยอมความได้
4.โทษ
ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนโทษหนักกว่า
แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่าฉ้อโกงประชาชน
ฎ.3660/2527 การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ไม่ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงมากหรือน้อยเป็นหลัก แต่ถือเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ เมื่อจำเลยได้หลอกลวงผู้เสียหายและบุคคลอื่นๆในท้องที่หลายจังหวัดให้มาสมัครไปทำงานต่างประเทศกับจำเลยโดยรับรองว่ามีงานให้ทำและจะได้ไปทำงานเร็ว เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อมาสมัครงานและชำระเงินให้ แต่จำเลยไม่สามารถจัดส่งไปทำงานและไม่ยอมคืนเงินแก่ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยเป็นการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
ฎ.97/2518 จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 2 ได้จัดสรรที่ดินในนามของจำเลยที่ 2 ให้ประชาชนเช่าซื้อ แต่ที่ดินนั้นมิใช่ที่ดินที่จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์ตามที่จำเลยโฆษณาชี้ชวนแก่ประชาชน และจำเลยไม่สามารถจะโอนขายที่ดินนั้นได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหลอกลวงโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชนโดยเจตนาทุจริตผู้เสียหายทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทจำเลยที่ 2 ได้ชำระเงินผ่อนไปบ้างแล้วบริษัทจำเลยที่ 2 ก็ปิดที่ทำการไม่มีคนมาทำงาน แม้จะได้ความว่ามีผู้สั่งจองโดยยังไม่ชำระเงินราว 10 ราย มีผู้ซื้อที่ดินเพียง 2 ราย คือ อ. กับผู้เสียหาย และมีแต่ผู้เสียหายเพียงรายเดียวที่ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยการกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
ฎ.831/2559 การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะเห็นได้จากวิธีการหลอกลวง เมื่อจำเลยทั้งสี่กับพวกจัดตั้งระบบอุปกรณ์โทรศัพท์และระบบคอมพิวเตอร์ในรูปสำนักงานเครือข่ายโทรศัพท์ ขึ้นในต่างประเทศ และใช้การสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ด้วยวิธีการสุ่มหมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวก แล้วโทรศัพท์หรือส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อไปยังประชาชนทั่วไป รวมทั้งประชาชนไทยในราชอาณาจักร และแจ้งแก่ผู้ที่ได้รับการติดต่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่าง ๆ ในลักษณะอ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลอกลวงผู้ได้รับการติดต่อว่าผู้นั้นเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือมียอดการใช้เงินในบัญชีสูงผิดปกติ ให้ไปตรวจดูยอดเงินในบัญชี หรือให้ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงรหัสข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคารที่ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงใช้บริการหรือให้ไปดำเนินการใส่รหัสผ่าน หรือรหัสสั่งให้ระงับการทำรายการในบัญชีเงินฝาก บัตรเบิกถอนเงินสดเอทีเอ็มหรือรหัสระงับบัญชีธนาคาร หรือรหัสป้องกันมิให้ข้อมูลรั่วไหล โดยแจ้งว่าเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้อื่นเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของประชาชนผู้ถูกหลอกลวงได้ ซึ่งเป็นการหลอกลวงเหมือนกัน อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงทั่วไป มิได้มุ่งหมายเจาะจงหลอกลวงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะสุ่มได้หมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนคนใดที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวกเพื่อทำการหลอกลวง การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องจึงเป็นการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน
ฎ. 5292/2540 การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อยแต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญและไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำการดังกล่าวด้วยต้นเองมาตั้งแต่ต้นทุกครั้งเพียงแต่จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วมีการบอกต่อกันไปเป็นทอด ๆเมื่อผู้เสียหายคนหลังทราบข่าวและมาสอบถามจำเลยจำเลยได้ยืนยันแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้นและให้ผู้เสียหายไปติดต่อที่แฟลตทุกครั้ง อันถือได้ว่าเป็นสำนักงานของจำเลยกับพวก แม้จะไม่มีการประกาศรับสมัครงานปิดไว้ก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นการฉ้อโกง ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 แล้ว
ฎ.6645-6646/2548 การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อย แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญโดยจะพิจารณาจากวิธีการในการหลอกลวง จำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงมาประกอบด้วยเท่านั้น คดีนี้แม้ผู้เสียหายตามฟ้องจะมีเพียง 11 คน แต่ตามบันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งมีผู้เสียหายที่ตกลงกับจำเลยทั้งสองถึง 35 คน แสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้ติดต่อชักชวนเฉพาะผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดในคดีนี้เท่านั้น ทั้งพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองไปพบผู้เสียหายแต่ละคนที่บ้านแล้วแจ้งเงื่อนไขการไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียซึ่งจะได้รับเงินเดือนตั้งแต่ 8,000 บาท ถึง 11,000 บาท โดยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางรวมคนละ 17,000 บาท แต่ต้องจ่ายเงิน 5,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อน เหมือนกันทุกคน ลักษณะการชักชวนเป็นการชักชวนทั่วไป มิได้มุ่งเจาะจงชักชวนคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษโดยเฉพาะหากผู้ใดปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ก็สามารถสมัครไปทำงานได้ ขึ้นอยู่กับข้อที่ว่าจะจ่ายเงินให้ตามเงื่อนไขที่แจ้งไปหรือไม่เป็นสำคัญ การหลอกลวงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ แม้จะมิได้มีการป่าวประกาศหรือแจ้งให้ผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนไปชักชวนต่อ แต่ลักษณะการชักชวนอย่างเดียวกันโดยผู้ถูกชักชวนย่อมบอกต่อกันไปได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 แล้ว
ฎ.135/2547 จำเลยกับพวกได้ก่อตั้งบริษัท ด. ขึ้น และได้โฆษณาทางหนังสือพิมพ์ประกาศแพร่ข่าวชักชวนประชาชนว่าบริษัท ด. เป็นบริษัทที่มั่นคงประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ต้องการรับสมัครพนักงานหรือบุคลากรเพิ่มหลายตำแหน่ง และโฆษณาชักชวนให้บุคคลทั่วไปนำเงินมาลงทุนในธุรกิจรูปแบบใหม่กับบริษัทซึ่งให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งความจริงแล้วบริษัท ด. ไม่ได้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และไม่ได้เป็นตัวแทนซื้อขายสินค้าที่ประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อการลงข่าวประกาศทางหนังสือพิมพ์ ก. เป็นความเท็จโดยทุจริตของบริษัท ด. เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ที่ได้อ่านข่าวหลงเชื่อ จึงไปติดต่อและมอบเงินให้จำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยกับพวกสำหรับผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
ฎ.5084/2533 ผู้เสียหายทั้งสองถูกจำเลยหลอกลวงว่าจำเลยสามารถส่งคนไปทำงานในประเทศคูเวตได้โดยเรียกค่าบริการคนละ 30,000 บาท ผู้เสียหายทั้งสองหลงเชื่อมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยไป ความจริงจำเลยไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศได้แต่อย่างใด ในขณะที่จำเลยพูดหลอกลวงนั้นมีคนอื่นอีก 8 คนอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ แล้วจำเลยพาผู้เสียหายไปอยู่ในบ้านซึ่งจำเลยเช่าให้คนหางานพักอาศัยอยู่ประมาณ 30-40 คน พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนซึ่งหมายถึงบุคคลทั่วไปจำเลยจึงมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคแรก
แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่วิินิจฉัยว่า “ไม่เป็น”ฉ้อโกงประชาชน
ฎ.15505/2553 ป.อ. มาตรา 343 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน” คำว่า “ประชาชน” หมายถึงบุคคลทั่วไปไม่จำกัดตัวว่าเป็นผู้ใด แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งหกซึ่งเป็นคนต่างด้าวและคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านซึ่งจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น โดยคนต่างด้าวดังกล่าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงเฉพาะคนต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวเท่านั้น อันเป็นการจำกัดตัวผู้ถูกหลอกลวงว่าเป็นผู้ใดมิใช่หลอกลวงบุคคลทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 คงมีความผิดตามมาตรา 341 ตามที่จำเลยให้การรับสารภาพเท่านั้น ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งหกว่าจำเลยได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งหกแล้ว และผู้เสียหายทั้งหกไม่ติดใจดำเนินคดีนี้แก่จำเลยอีก ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวย่อมระงับไปตาม .ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
ฎ.709/2523 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343เป็นเรื่องฉ้อโกงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน คำว่า’ประชาชน’ มิได้มีคำจำกัดความไว้ในประมวลกฎหมายอาญา แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายถึง ‘บรรดาพลเมือง’ และคำว่า ‘พลเมือง’ มีความหมายถึง ‘ชาวเมืองทั้งหลาย’ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกหลอกลวงโจทก์และประชาชนที่เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ประมาณ 30 คน จึงเป็นการหลอกลวงเฉพาะบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ซึ่งมีจำนวนมากเท่านั้น มิใช่เป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่ว ๆ ไป ฟ้องดังกล่าวจึงไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343
ฎ.563/2531 จำเลยโฆษณาหลอกลวงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเพื่อขายข้อสอบที่จำเลยเขียนขึ้นเองเพื่อให้นักศึกษาที่ซื้อข้อสอบจากจำเลยหลงเชื่อว่าเป็นข้อสอบจริงที่จะออกสอบ การกระทำของจำเลยไม่เป็นการหลอกลวงประชาชนทั่วไป จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คงมีความผิดตามมาตรา 341 เท่านั้น
ฎ.3307/2535 จำเลยทั้งสองโฆษณาหลอกลวงผู้ที่มาเข้าโบสถ์ว่าจำเลยทั้งสองเป็นหุ้นส่วนในบริษัท ท. สามารถส่งคนงานไปทำงานต่างประเทศได้แต่บุคคลเหล่านั้นต่างเป็นคนหมู่บ้านหรือท้องถิ่นเดียวกันนับถือศาสนาคริสต์ ด้วยกัน ปฏิบัติศาสนกิจที่โบสถ์เดียวกันจำเลยทั้งสองเป็นครูย่อมเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่บ้าน การโฆษณาต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งรู้จักจำเลยเป็นอย่างดี ย่อมมิใช่โฆษณาต่อบุคคลทั่วไปโดยไม่จำกัดว่าเป็นบุคคลใด จึงยังไม่เป็นการโฆษณาต่อประชาชนอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
ฎ.1068/2529 จำเลยกล่าวหลอกลวงว.ผู้เสียหายที่บ้านว.ขณะนั้นมีย.ม.ป.ผู้เสียหายและชาวบ้านอื่นอยู่ด้วย เป็นเรื่องที่จำเลยกล่าวแก่ว.แล้วผู้เสียหายอื่นไปได้ยินเข้าเองถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาจะกล่าวหลอกลวงผู้เสียหายอื่นและชาวบ้าน หากแต่ผู้เสียหายอื่นได้ยินแล้วเชื่อและชำระเงินให้จำเลยถือได้ว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายเป็นรายบุคคลมิได้หลอกลวงประชาชนจึงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา341.
ฎ.2645/2527 การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 นั้น ถือเอาเจตนาแสดง ข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอก ให้แจ้งแก่ประชาชนเป็นข้อสำคัญ มิได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงมากหรือน้อยเป็นเกณฑ์ การที่ จำเลยหลอกลวงเอาเงินจากราษฎรที่มาประชุมจัดสร้างทำนบ ฝายน้ำล้นแม้บุคคลที่ถูกจำเลยหลอกลวงจะมีหลายคน ก็ถือ ไม่ได้ว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน ตามมาตรา 343
ฎ.2516/2534 ผู้เสียหาย 4 คนได้ทราบว่าที่วัด พ. มีพระเครื่องซึ่งเป็นของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีให้เช่าบูชา โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดดังกล่าวเป็นผู้นำออกให้เช่าผู้เสียหายทั้งสี่จึงไปเช่าพระเครื่องจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1รับรองว่าพระเครื่องดังกล่าวเป็นพระเครื่องที่ได้มาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ซึ่งความจริงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ไม่เคยทรงจัดสร้างพระเครื่องดังกล่าวและไม่เคยทรงพระราชทานแก่จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้โฆษณาให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงการให้เช่าพระเครื่อง หากเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายทั้งสี่ทราบข่าวมาเองแล้วมาติดต่อขอเช่าพระเครื่องจากจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน คงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 เท่านั้น
ฎ.1573/2534 คำว่า “ประชาชน” ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน หมายถึง บุคคลทั่วไป ไม่จำกัดตัวว่าเป็นบุคคลใด และไม่ถือจำนวน มากน้อยเป็นสำคัญจำเลยหลอกลวง ว. แล้ว ว.พาจำเลยไปหาช.จำเลยจึงหลอกลวงช. แม้เหตุการณ์ในบ้านของจำเลยจะมีคนอื่นอยู่ด้วยอีกสองคน ก็ไม่ใช่บุคคลทั่วไป ตามความหมายของกฎหมายบทนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็น ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
ฎ.787/2532 จำเลยทั้งสองหลอกลวงว่ามีงานทำที่ องค์การโทรศัพท์ประเทศมาเลเซีย ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดหลงเชื่อยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยทั้งสอง แต่ พฤติการณ์การหลอกลวงของจำเลยไม่ได้มีลักษณะเป็นการประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่ว ๆ ไป เพียงแต่ ตัวแทนของจำเลยได้ ติดต่อ กับโจทก์และพวกอ้างว่ามีงานที่หน่วยงานดังกล่าวว่างอยู่ 10 ตำแหน่ง เท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชนตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คงเป็นความผิดฐาน ฉ้อโกงตาม มาตรา 341 ซึ่ง เป็นความผิดอันยอมความได้
ฎ.448/2532 จำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมายให้ประกอบกิจการจัดหางาน แต่จำเลยได้ใช้การประกอบกิจการจัดหางานเป็นกลอุบายหลอกลวงโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จให้ผู้เสียหายหลงเชื่อเพื่อให้ส่งมอบเงินค่าบริการแก่จำเลย การหลอกลวงดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนโดยทั่วไป เพียงแต่จำเลยชักชวนผู้เสียหายที่บ้าน แล้วพวกผู้เสียหายก็ชวนกันไปสมัครงานกับจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341
ฎ.2027/2536 จำเลยที่ 1 และที่ 4 มาหาที่บ้านแล้วชักชวนให้ ส.และ ธ. ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นโดยได้ค่าจ้างประมาณเดือนละ 35,000 บาท ถึง 40,000 บาท แต่การไปต้องมีค่าใช้จ่ายคนละ 68,000 บาท ถึง 78,000 บาท และให้บุคคลทั้งสองพาจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไปบ้าน ว. และ น. และพูดชักชวน ว. และ น. ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นโดยยืนยันว่ามีงานให้ทำจริง ๆ นอกจากนั้น ว. ยังไม่ได้แจ้งให้ ล., ท.และพ. ทราบ แล้วพากันเดินทางมากรุงเทพฯ โดยมีจำเลยที่ 1 และที่ 5 ไปรอรับที่สถานีขนส่งระหว่างอยู่ในกรุงเทพฯ จำเลยทั้งห้ากับพวกมารับเงินจากผู้เสียหายทั้งเจ็ดไป อ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการทำวีซ่าค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าทำงาน พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลย ทั้งห้ามิใช่เป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงที่ควรบอกให้แจ้งต่อประชาชน การแสดงข้อความอันเป็นเท็จของ จำเลยทั้งห้าเป็นการเฉพาะเจาะจงต่อผู้เสียหายทั้งเจ็ดคน เท่านั้น จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
ฎ.1497/2531 จำเลยหลอกลวงชวนโจทก์ร่วมทั้งสามไปทำงานต่างประเทศเนื่องจาก การหลอกลวงของจำเลย โจทก์ร่วมทั้งสามได้จ่ายเงินให้จำเลยการหลอกลวงของจำเลยมิได้มีลักษณะเป็นการประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่ว ๆ ไปว่าจำเลยสามารถจัดหางานในต่างประเทศให้บุคคลทั่ว ๆ ไป ที่ต้องการทำ จำเลยเพียงแต่พูดชวนโจทก์ร่วมทั้งสามให้ไปทำงาน ในต่างประเทศเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความกันได้ เมื่อคดีขาดอายุความสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมทั้งสามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 คำขอส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่ขอถือเอาตามคำฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ก็ย่อมตกไปด้วย ศาลไม่มีอำนาจสั่งให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ร่วม
ฎ.436/2530 จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายกับบุคคลอีกคนหนึ่งให้ร่วมเล่นการพนันบนรถโดยสารประจำทาง ถือไม่ได้ว่าจำเลยกับพวกได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
สรุป
ในคดีความผิดฐานฉ้อโกงกับฉ้อโกงประชาชนเนี่ยมันมีผลทางกฎหมายต่างกันมากเลยในการฟ้องแล้วก็การต่อสู้คดี อย่างที่ผมอธิบายไว้แล้วดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลยก็ต้องศึกษาข้อกฎหมายตรงนี้ให้ละเอียดในการทำคดีประเภทนี้