คู่สมรสไปก่อหนี้อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องรับผิดไหม จะถูกยึดทรัพย์ไปด้วยหรือเปล่า หนี้แบบไหนบ้างที่ต้องร่วมจะรับผิด แบบไหนไม่ต้องร่วมกันรับผิด วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆครับ
รู้ไหมครับว่าหากคู่สมรสไปปก่อหนี้ก่อหนี้สิน เช่นไปกู้ยืมเงินมา ไปเป็นหนี้บัตรเครดิต ไปทำธุรกิจผิดพลาดต้องรับผิด ไปเล่นการพนัน เราจะต้องรับผิดร่วมกันชดใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้หรือไม่ ?
แล้วถ้าคู่สมรสของเราไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะมายึดทรัพย์ของเราได้หรือเปล่า ?
มาครับเดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง
ความแตกต่าง หนี้สมรส-สินสมรส
สำหรับหนี้สินที่เกิดขึ้นระหว่างสมรสนั้น มีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างจากสินสมรส
สินสมรสนั้น หากทรัพย์สินใดๆได้มาภายหลังสมรสถือว่าเป็นสินสมรสทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่งอกเงยมาจากทรัพย์สินส่วนตัว เงินเดือน บำนาญ รายได้หรือผลประโยชน์อื่นๆที่ได้มาระหว่างสมรส
แม้ว่าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำมาหาได้ ไม่ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นในการได้ทรัพย์สินนั้นมาเลย ก็ถือว่าเป็นสินสมรสอยู่เสมอ
เว้นแต่จะเข้าเข้ายกเว้นบางอย่างเช่นเป็นการให้โดยเสน่หา เป็นการรับมรดก หรือเป็นทรัพย์ที่พอสมควรแก่ฐานะลูกเป็นต้น
แต่ในส่วนของหนี้สมรสนั้นถึงแม้จะเกิดขึ้นระหว่างสมรสโดยคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิด ไม่ได้แปลว่าหนี้สินนั้นคู่สมรสอีกฝ่ายจะต้องร่วมกันรับผิดหรือเป็นหนี้ร่วมกันเสมอไป
เฉพาะแต่หนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างสมรสบางประเภทเท่านั้น ที่กฎหมายให้ถือว่าเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างสามีภรรยา
หนี้สมรสที่ต้องรับผิดร่วมกันมีอะไรบ้าง
1.หนี้ที่ทั้งสองฝ่ายร่วมกันก่อ
อันนี้ชัดเจนอยู่แล้วนะครับหากเป็นหนี้ที่ทั้งสองฝ่ายร่วมกันไปก่อ เช่นไปเช่าซื้อร่วมกัน ไปกู้ยืมเงินรับเงินด้วย กู้ซื้อบ้านจำนองด้วยกัน แบบนี้ก็ต้องรับผิดร่วมกันอยู่แล้ว
2. หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวม.1490 (1)
ตัวอย่างนี่ประเภทนี้เช่น การจัดการจัดหาสิ่งของจำเป็นต่างๆในบ้านเรือน ของใช้ภายในบ้าน การดูแลรักษาบ้านให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยซ่อมแซมบ้านจัดหาสิ่งของจำเป็นในบ้าน
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ฎ.397/2522 ฎ.398/2522 ฎ.1726/2524 ฎ.3289/2522
3. หนี้เกี่ยวกับการอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ ม.1490 (1)
ตัวอย่างประเภทนี้เช่น จัดหาอาหารเครื่องนุ่งห่มให้กับคนในครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูคนในครอบครัวการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการศึกษาของบุตร ทั้งนี้เฉพาะที่สมควรแก่อัตภาพแก่ครอบครัวของเราเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกินความจำเป็น เช่นไปซื้อเสื้อตัวเป็นแสน นาฬิกาเรือนเป็นล้าน
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.2734/2545 ฎ.1846/2535 ฎ.6306/2551 ฎ.1697/2538
4.หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส ม.1490 (2)
ตัวอย่างประเภทนี้เช่น หนี้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสินสมรสต่างๆเช่นการซ่อมแซมบ้านที่เป็นสินสมรส การกู้เงินมาไถ่ถอนจำนองสินสมรส หรือดูแลทรัพย์สินสมรสต่างๆ
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ฎ.1013/2519 ฎ.1824/2541 ฎ.5696/2533 ฎ.3141/2532
5.หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน ม.1490 (3)
เช่น.สามีและภรรยาเปิดธุรกิจร่วมทำการค้าขายร่วมกันหนี้สินที่เกิดจากกิจการนั้นถึงแม้อีกฝ่ายหนึ่งจะไม่รู้ด้วยก็ต้องร่วมกันรับผิด
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ฎ.912/2514 ฎ.955/2518 ฎ.5917/2533 ฎ.1852/2535
6.หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน ม.1490 (4)
ตัวอย่างการให้สัตยาบันเช่นการไปลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญา การให้ความยินยอมในการทำนิติกรรม ร่วมกันพูดคุยต่อรองกับเจ้าหนี้
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ฎ.6425/2545 ฎ.2955/2548 ฎ.7631/2552 ฎ.2429/2555
ข้อกฎหมาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส ดังต่อไปนี้
(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
(2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
(3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน
ถ้าไม่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 6 ข้อผลจะเป็นอย่างไร?
” หากคู่สมรส ไปก่อหนี้ในลักษณะอื่นเป็นหนี้ส่วนตัวที่คู่สมรสฝ่ายที่ก่อหนี้จะต้องรับผิดแต่เพียงผู้เดียว ”
ตัวอย่างหนี้ที่ไม่ใช่หนี้สมรส เช่น
1.หนี้การพนัน หนี้อบายมุขต่างๆ หรือสิ่งผิดกฎหมาย ที่คู่สมรสไม่ได้รู้เห็นด้วย
2.หนี้ที่เกิดจากการทำละเมิด เช่นกันไปขับรถชนคนตาย ไปทำร้ายร่างกายคนอื่น
ตัวอย่างคำพิพากษาศาล ฎ.221/2509
3.หนี้ที่เกิดจากไปค้ำประกันหนี้ให้บุคคลอื่นๆ
ตัวอย่างคำพิพากษาศาล ฎ.2515/2531
4.หนี้ที่ไปก่อเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
เช่น กู้ยืมเงินไปบ้านรถให้เมียน้อย กู้ยืมเงินไปสร้างบ้านให้พ่อแม่ของตัวเอง กู้ยืมเงินไปให้ลูกติดของตัวเอง
ตัวอย่างคำพิพากษาศาล ฎ1510/2522.
5.หนี้ที่ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ของตนเองแต่เพียงผู้เดียว
เช่น หนี้บัตรเครดิต ที่เอาเงินไปใช้ส่วนตัวไม่ได้ใช้ในครอบครัว กู้เงินไปเที่ยวต่างประเทศคนเดียว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.1605/2537 ฎ.5542/2546 ฎ.1605/2537 ฎ.1606/2537
6.หนี้ที่เกิดขึ้นก่อนสมรส
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา 2618/2524
หนี้ลักษณะนี้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องรับด้วย และไม่เป็นหนี้ร่วม หากคู่สมรสไม่จ่ายหนี้ มีการฟ้องร้องดำเนินคดีขึ้นมา เจ้าหนี้ก็จะฟ้องได้แต่เพียงคู่สมรสฝ่ายที่เป็นผู้ก่อหนี้เท่านั้น จะฟ้องคู่สมรสอีกฝ่ายไม่ได้
หากมีการฟ้องคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่ได้เป็นคนก่อหนี้เข้ามาด้วย คู่สมรสฝ่ายที่ไม่ได้ก่อหนี้ก็สามารถต่อสู้คดีและหยิบยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นต่อสู้ได้
แบบนี้แสดงว่าถ้าไม่ใช่หนี้สมรส เราก็รอดตัวเลยใช่ไหม ?
” ไม่ใช่ขนาดนั้นครับ “
การที่คู่สมรสฝ่ายที่ไม่ได้ก่อหนี้ ไม่ได้ถูกฟ้องด้วยก็ไม่ได้แปลว่าตัวเองจะไม่ได้ถูกยึดทรัพย์บังคับคดีไปด้วย
ทั้งนี้เพราะถึงแม้ว่า ตนเองจะไม่ได้เป็นฝ่ายก่อหนี้ไม่ได้มีส่วนร่วมในการรับผิดเป็นการส่วนตัวไม่ได้ถูกฟ้องด้วย
แต่หากเรามีสินสมรสร่วมกัน แบบนี้เราก็อาจจะ ถูกยึดทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาด
แต่ทั้งนี้หากไม่ได้เป็นหนี้ร่วม เจ้าหนี้จะต้องใช้สิทธิ์เลือกยึดทรัพย์เอากับทรัพย์สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายที่ก่อหนี้ก่อน ถ้าสินส่วนตัวฝ่ายคู่สมรสที่ก่อหนี้ไม่เพียงพอ จึงจะมายึดเอาสินสมรสได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1488
ดังนั้นหากคู่สมรสฝ่ายที่ก่อหนี้มีสินส่วนตัวเพียงพอที่จะชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็จะยึดสินสมรสไม่ได้ แต่หากสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายที่ก่อหนี้ไม่เพียงพอ แบบนี้เจ้าหนี้ก็มายึดสินสมรสได้
และเมื่อยึดแล้วเมื่อขายได้เท่าไหร่เงินจำนวนครึ่งนึงที่เป็นสินสมรสของฝ่ายที่ก่อหนี้ก็สามารถเอาไปใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้ ส่วนครึ่งนึงที่เป็นสินสมรสส่วนของเราเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิ์เอาไปชำระหนี้แต่ต้องคืนให้เราครับ
ซึ่งผลจะแตกต่างจากการที่เป็นหนี้ร่วมระหว่างสมรสก็คือ ถ้าหากเป็นหนี้ร่วมเจ้าหนี้จะสามารถเลือกยึดสินส่วนตัวหรือสินสมรส ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้โดยไม่มีจำกัด และเมื่อยึดแล้ว ไม่ต้องกันสวนครึ่งนึงให้กับเราครับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1489
สรุปข้อแตกต่างในการรับผิดในกรณีเป็นหนี้ร่วม (หนี้สมรส) กับ หนี้ส่วนตัว
กรณีเป็นหนี้ส่วนตัว
1.เจ้าหนี้จะต้องเลือกยึดทรัพย์สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายที่ก่อหนี้ก่อน
2.หากคู่สมรสฝ่ายที่ก่อหนี้ไม่มีสินส่วนตัวเพียงพอ ถึงจะมายึดสินสมรสได้
3.ยึดสินส่วนตัวของฝ่ายที่ไม่ได้ก่อหนี้ไม่ได้
4.กรณียึดเงินหรือทรัพย์สินสมรส สามารถนำไปชำระหนี้ได้แค่ครึ่งเดียวในส่วนที่เป็นสินสมรสของฝ่ายที่ก่อหนี้เท่านั้น สินสมรสของฝ่ายที่ไม่ได้ก่อหนี้ไม่สามารถนำไปชำระหนี้ได้ สามารถขอกันส่วนออกมาได้
กรณีเป็นหนี้ร่วม – หนี้สมรส
1.เจ้าหนี้เลือกยึดทรัพย์สินส่วนตัวของฝ่ายก็ได้
2.เจ้าหนี้จะลือกยึดสินสมรสเลยก็ได้ ไม่มีลำดับที่จะต้องเลือก จะยึดอะไรก่อนหรือหลังก็ได้
3.เงินหรือทรัพย์สินที่ยึดทั้งหมดสามารถนำมาชำระหนี้ได้ คู่สมรสอีกฝ่ายไม่มีสิทธิ์กันส่วน
ข้อกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1488 ถ้าสามีหรือภริยาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเพื่อชำระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหรือระหว่างสมรส ให้ชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น
มาตรา 1489 ถ้าสามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย
สรุป
หนี้สินที่เกิดขึ้นระหว่างสมรสที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อขึ้น ไม่ถือว่าเป็นหนี้ร่วมที่อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องร่วมกันรับผิดเสมอไป แต่จะต้องดูว่าเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่อีกฝ่ายจะต้องรับผิดหรือไม่
ซึ่งโดยหลักแล้วศาลจะพิจารณาว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของครอบครัวหรือเปล่า ถ้าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของครอบครัวก็จะเป็นหนี้ร่วม ถ้าเป็นหนี้ที่ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนตัวก็ไม่ถือว่าเป็นหนี้ร่วม
แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่หนี้ร่วมกันก็ตาม หาคู่สมรสฝ่ายที่ก่อหนี้ไม่มีสินส่วนตัวเพียงพอที่จะชำระหนี้ คู่สมรสก็อาจจะถูกยึดสินสมรสได้เช่นเดียวกันครับ เพียงแต่เมื่อถูกยึดแล้ว เจ้าหนี้สามารถเอาเงินหรือทรัพย์สินไปชำระหนี้ได้แค่เฉพาะส่วนที่เป็นของคู่สมรสฝ่ายที่ก่อหนี้เท่านั้น ส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่เป็นของเราต้องคืนให้เราครับ
สุดท้ายนี้ผมหวังว่าบทความและตัวอย่างการทำงานนี้จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆและผู้สนใจทุกคนครับ
=