คดีที่ยอมความไม่ได้เนี่ยเราควรจะเจรจาไกล่เกลี่ยไหม มันทำให้คดีจบไปเลยได้หรือเปล่า แล้วถ้ามันยอมความไม่ได้มันจบไม่ได้แล้วจะไกล่เกลี่ยไปทำไม
จะอธิบายข้อกฎหมายแล้วก็ทางปฏิบัติที่เขาทำกันจริงๆให้ฟัง
ธรรมดาแล้วในคดีอาญาต้องเป็นความผิดยอมความได้ เช่น
- คดีหมิ่นประมาท
- คดียักยอก คดีฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้
- ทำให้เสียทรัพย์
- คดีบุกรุก (ไม่มีเหตุฉกรรจ์)
- คดีอนาจาร
คดีแบบนี้ดูแล้วสู้คดีไปก็มีโอกาสแพ้ รูปคดีจะเพลี่ยงพล้ำ หรือดูแล้วเราไม่อยากจะเสียเวลาสู้คดี เราก็สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยได้ตั้งแต่ในชั้นตำรวจ หากตกลงกันได้ ผู้เสียหายก็สามารถถอนแจ้งความคดีจบลงได้เลย โดยที่เราไม่ต้องไปเสียเวลาขึ้นศาลอีก และไม่สามารถถูกฟ้องได้ในเรื่องเดียวกันอีก เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่สะดวกมาก แต่ถ้าหากเราต้องมีความเสี่ยงต้องเจอกับคดีที่เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ เช่น
ตัวอย่างคดีที่ยอมความไม่ได้
- คดีฆ่า
- คดีขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
- คดีข่มขืน
- คดีลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์
- รับของโจร
- บุกรุกเวลากลางคืน
ถ้าเป็นกรณีแบบนี้หากเราอยากจะเจรจาไกล่เกลี่ย ไม่อยากจะเป็นคดีความ ไม่ว่าเราจะผิดหรือไม่ผิดก็ตามทีเนี่ยมันสามารถทำได้หรือไม่ แล้วทำไปแล้วมันจะมีประโยชน์หรือเปล่า
1.กรณีที่มีการแจ้งความลงบันทึกประจำวัน-เลขคดีแล้ว
หมายถึงกรณีที่
- ผู้เสียหายลงบันทึกประจำวันไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าแจ้งความข้อหาอะไรและดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคนไหนบ้าง
- เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการตัดลงเลขคดีลงระบบเรียบร้อยแล้ว
- มีการออกหมายเรียก-หมายจับแล้ว
- มีการรับทราบข้อกล่าวหา-พิมพ์ลายนิ้วมือแล้ว
กรณีแบบนี้ไม่สามารถทำให้คดีจบลงได้ในชั้นตำรวจ อย่างไรเสียก็ต้องเดินต่อไปถึงชั้นอัยการและชั้นศาล ส่วนจะจบแบบไหนก็ต้องแล้วแต่รูปคดี แต่อย่างไรก็ตามคดีแบบนี้ก็ยังสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยได้แล้วก็สามารถทำให้เป็นประโยชน์ได้ทั้งในกรณีที่เราต้องการจะสู้คดีและต้องการที่จะรับสารภาพ
ถ้าเราต้องการจะสู้คดีแล้วยังจะไกล่เกลี่ยได้อยู่หรอ ?
ได้อยู่แล้วครับ เพราะบางครั้งบางคดีบางรูปคดี เราอาจจะมีความรับผิดในทางแพ่ง หรือต้องการเยียวยากับผู้เสียหาย ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเพื่อประโยชน์ในด้านรูปคดี ดังนั้นเราอาจจะเจรจาในส่วนแพ่ง ไปพร้อมกับการต่อสู้คดีในสวนอาญาซึ่งก็จะสนับสนุนทำให้การต่อสู้คดีอาญาง่ายขึ้น เช่น
- ไกล่เกลี่ยพร้อมสู้คดีต่อ
ตัวอย่างเช่นในคดีฐานรับของโจร
เราอาจจะไกล่เกลี่ยขอคืนของให้กับผู้เสียหายเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้เสียหาย หรือให้ผู้ชายซื้อของคืนไปในราคาเท่าทุน เพื่อประโยชน์ทำให้การต่อสู้คดีง่ายขึ้นแสดงให้เห็นว่าเราไม่มีเจตนากระทำความผิด
หรือในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
กรณีนี้เราอาจจะต่อสู้คดีว่าเป็นการป้องกันโดยชอบโดยกฎหมาย ต่อสู้คดีว่าเป็นบันดาลโทสะ แต่ก็อาจจะเสนอเงินเยียวยาให้กับครอบครัวของผู้เสียหาย เพื่อช่วยเหลือส่วนแพ่งตามมนุษยธรรม แต่เราก็ยังสู้คดีอยู่ว่า เราก็ทำไปโดยมีสิทธิ์ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
ความผิดฐานประมาททำให้ผู้อื่นได้แก่ความตาย
เราอาจจะต่อสู้คดีว่าเราไม่ได้กระทำการโดยประมาท แต่ในทางกลับกันเราก็อาจจะเสนอเงินช่วยเหลือเยียวยาทั้งครอบครัวของผู้ตายด้วยเหตุผล ทางมนุษยธรรม เป็นเงินจำนวนพอสมควรก็ได้
ในความผิดฐานพรากผู้เยาว์ – กระทำชำเราผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 18 ปี
คดีแบบนี้เราอาจจะสู้ว่าเรามีความสัมพันธ์กับเด็กจริงแต่เราไม่รู้ว่าเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำไปโดยไม่มีเจตนา แต่เราก็อาจจะช่วยเหลือเยียวยาพ่อแม่เด็กหรือตัวเด็กตามสมควรก็ได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราสำนึกผิดและไม่ได้เจตนาจริงๆ.
ประเด็นแบบนี้ผมเคยอธิบายไว้แล้วในคลิปนะครับ
ซึ่งประโยชน์ของการเจรจาไกล่เกลี่ยในลักษณะนี้นะครับ ถึงแม้มันจะไม่สามารถทำให้คดีจบไปในชั้นตำรวจได้แต่มันก็มีประโยชน์หลายอย่างเลย เช่น
- ศาลเห็นว่าเราอาจจะไม่ได้มีเจตนาจริงๆ และไม่ได้มีเจตนากระทำความผิด ในกรณีที่เราสู้คดีเรื่องไม่มีเจตนา อย่างเช่นความผิดฐานรับของโจร ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามที่กล่าวไป
- สมมติศาลเห็นว่าเราผิดจริง ศาลก็จะลงโทษเราสถานเบาแล้วก็อาจจะรอการลงโทษให้เพราะเห็นว่าเรามีเจตนาที่ดีตั้งแต่ต้น
- ฝ่ายผู้เสียหายเองอาจจะไม่ได้ติดใจอะไรกับเราแล้ว ส่งผลให้การนำสืบพยานหลักฐานอาจจะไม่ได้หนักแน่นหรือเต็มที่ เหมือนกับกรณีที่เรายังไม่ได้ยอมความกัน ตัวอย่างเช่นก็อาจจะไม่ได้ตั้งทนายโจทก์ร่วมเข้ามา ไม่ได้นำสืบหลักฐานหาหลักฐานอย่างอื่นมาสนับสนุนเพิ่มเติมอีกนอกจากที่ได้อ้างส่งไปในชั้นสอบสวนแล้ว
- ไกล่เกลี่ยเพื่อขอให้ศาลรอการลงโทษ
- กรณีแบบนี้คือเรารับสภาพตามความเป็นจริงเลยครับว่าเราผิดจริงๆ เช่นไปยิงเขาจริงๆ ขับรถประมาททำให้เขาถึงแก่ความตายจริงๆ ไปมีอะไรกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 จริงๆ ลักทรัพย์มาจริงๆ ทำไปเพราะหลงผิดไปชั่ววูบ ปัจจุบันสำนึกผิดในการกระทำแล้วไม่คิดจะต่อสู้คดี
แบบนี้การเจรจาไกล่เกลี่ยตั้งแต่ในชั้นโรงพัก ชดใช้ความเสียหายให้กับผู้เสียหาย รับสารภาพผิดตั้งแต่ต้นถึงแม้จะทำให้คดีจบลงในชั้นโรงพักไม่ได้ แต่ก็จะทำให้ศาลมองว่าเราสำนึกผิด และมีโอกาสที่จะลงโทษลงสนามเบาหรือรอการลงโทษได้ ซึ่งเรื่องนี้ผมเองก็ได้ทำคลิปอธิบายไว้โดยละเอียดแล้วครับ
2.กรณีที่ยังไม่ได้มีการลงบันทึกประจำวันอย่างชัดเจน – ยังไม่ลงเลขคดี
- ยังไม่ได้ระบุตัวผู้กระทำความผิด
- ยังไม่ได้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด
- ยังไม่ชัดเจนว่าผิดหรือไม่ผิด
- ยังไม่มีการลงระบบเลขสำนวนของสถานีตำรวจ
- ยังไม่มีการออกหมายจับ
- อาจจะมีแค่การออกหมายเรียกมาเป็นพยาน
- ยังไม่มีการพิมพ์ลายนิ้วมือ รับทราบข้อกล่าวหา
กรณีแบบนี้นะครับ เป็นที่รู้กันในทางปฏิบัติว่า ยังเป็นกรณีที่สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยให้มันจบกันได้โดยที่ไม่ต้องไปขึ้นสู่ศาล เพราะว่ายังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหากัน แล้วเขาทำยังไง ?
กระบวนการนั้น ใช้วิธีการเจรจา ปรับความเข้าใจกัน เช่น
คดีรับของโจร
- เราก็ไปอธิบายว่าเราไม่ได้มีเจตนาอย่างไร
- อย่างกรณี ขับรถโดยประมาทเราก็ไปอธิบายว่าเราไม่ได้ประมาทยังไง
- อย่างกรณี พรากผู้เยาว์อนาจารผู้เยาว์เราก็นำบักขามไปแสดงว่าเราไม่รู้ยังไง
- คดีฆ่าคดีปล้นทรัพย์คดีลักทรัพย์วิ่งราวทรัพย์เราไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุไม่ได้เกี่ยวข้องเราก็หลักฐานไปแสดง
สมมุติเราสามารถแสดงให้ผู้เสียหายเขาเข้าใจได้ว่าเราไม่ได้มีส่วนร่วมกระทำความผิด ไม่ได้มีเจตนากระทำความผิด จริงๆ และเราอาจจะช่วยเหลือผู้เสียหายบางส่วนช่วยเหลือทางมนุษยธรรม เราก็สามารถทำบันทึกข้อตกลงกันได้เพื่อใช้เป็นหลักฐาน และป้องกันไม่ให้ผู้เสียหายมาดำเนินคดีเราภายหลัง เช่น
- ทำบันทึกว่าผู้เสียหายเข้าใจแล้วว่าเราไม่มีเจตนากระทำความผิด ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ไม่ได้เป็นตัวการร่วม
- ทำบันทึกว่าผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่งและอาญาใดๆกับเราอีก
- โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจลงลายมือชื่อเป็น หรือมีบุคคลที่น่าเชื่อถือลงลายมือชื่อเป็น ลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ
เมื่อเราทำบันทึกแบบนี้แล้ว ก็ค่อนข้างจะสบายใจได้มากๆแล้วว่าโอกาสที่เราจะถูกดำเนินคดีในเรื่องนี้เป็นไปได้ยากมาก เพราะเท่ากับว่ามัดตัวผู้เสียหายแล้ว ว่ารับทราบว่าเราไม่มีเจตนากระทำความผิดไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด
อย่างไรก็ตามวิธีการนี้มันก็อาจจะไม่ได้ 100% เหมือนกับการถอนแจ้งความหรือยอมความกันในความผิดยอมความได้ เพราะถ้าเกิดว่าตามข้อกฎหมายจริงๆ ถ้าพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ เขาเห็นว่าเรากระทำความผิด ถึงแม้ผู้เสียหายยินยอมเขาก็ดำเนินคดีต่อได้
แต่อย่างไรก็ตามหากเราทำเอกสารทำบันทึกให้รัดกุม ข้อเท็จจริงเห็นว่าเราไม่ได้กระทำความผิดจริงๆ และผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความแล้ว ธรรมดาแล้วพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการก็มักจะไม่เอาเรื่องเอามาเป็นประเด็น ( งานเขาเยอะอยู่แล้วครับ)
3.การไกล่เกลี่ยตามพรบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ 2562
นอกจากนี้ยังมีการไกล่เกลี่ยเป็นกรณีพิเศษในความผิด 6 ฐานคือ
- ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย (ม.295)
- ความผิดฐานทำร้ายร่างกายโดยมีเหตุฉกรรจ์ (ม.296)
- ความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้และมีผู้ถึงแก่ความตาย (ม.294 วรรคหนึ่ง)
- ความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้และมีผู้ได้รับอันตรายสาหัส (ม.299 วรรคหนึ่ง)
- ความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส (ม.300)
- ความผิดฐานลักทรัพย์ (ม.334)
ซึ่งสามารถไกล่เกลี่ยให้จบในชั้นสอบสวนและชั้นอัยการได้โดยไม่ต้องขึ้นสู่ศาล ซึ่งเป็นหลักกฎหมายพิเศษที่วางหลักไว้โดยเฉพาะอีกครับ ซึ่งสามารถเอามาปรับใช้ได้ในความผิดทั้ง 6 ฐานนี้และรายละเอียดมีโอกาสผมจะอธิบายให้ฟังในบทความหน้านะครับหรือเข้าไปติดตามได้ในคลิปนี้
สรุป
คดีอาญาเนี่ยถึงแม้จะเป็นความผิดยอมความไม่ได้ ไม่สามารถถอนแจ้งความได้ก็ดี
แต่หากเรารู้ตัวตั้งแต่เนิ่นๆว่าถูกดำเนินคดี มีทนายความให้คำแนะนำปรึกษาตั้งแต่แรก เราก็สามารถแก้ไขปัญหาให้มันจบได้โดยที่คดีไม่ต้องขึ้นสู่ศาล
หรืออาจจำเป็นต้องคดีขึ้นสู่ศาลก็สามารถต่อสู้คดีได้ง่ายขึ้นหรือมีโอกาสที่ทำให้ศาลลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษได้มากขึ้น
ดังนั้นแล้วหากคุณมีคดีอาญา มีความเสี่ยงหรือกำลังถูกดำเนินคดีอย่าลืมให้ทนายความเป็นที่ปรึกษาในการต่อสู้คดีและไกล่เกลี่ยคดีครับ