ข้อควรรู้เกี่ยวกับการเจรจาไกล่เกลี่ยคดีแพ่งในศาล
ทุกวันนี้ในคดีแพ่งส่วนใหญ่แล้ว มักจะจบลงที่ชั้นไกล่เกลี่ยและทำสัญญาประนีประนอมยอมความเสมอๆ น้อยคดีนักที่จะได้สืบพยานต่อสู้คดีกัน เพราะด้วยระบบและนโยบายไกล่เกลี่ยของศาลยุติธรรม ซึ่งก็ถือว่าเป็นผลดีแก่ประชาชนผู้มีคดีความเป็นอย่างมาก ที่ไม่ต้องสู้คดีกันอย่างยืดเยื้อ เสียทั้งเวลาและเงิน และโดยมากแล้วในคดีแพ่งการที่คดีจบลงในชั้นไกล่เกลี่ยมักเป็นผลดีแก่คู่ความทุกฝ่ายกว่าการจะสู้คดีกันจนถึงที่สุด
แต่ถึงอย่างไรก็ดี ถึงแม้จะรู้ว่าคดีอาจจะจบในชั้นเจรจาไกล่เกลี่ยได้ ทนายความเองก็ยังต้องเตรียมสอบข้อเท็จจริงเตรียมพยานหลักฐานและเตรียมข้อกฎหมายให้พร้อมไว้ในทุกคดี เพราะการที่ทนายความเตรียมคดีอย่างดีและมีความมั่นใจในคดีของตน จะทำให้การเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นไปในทางที่รักษาผลประโยชน์ของลูกความได้เต็มที่ เพราะหากเราเจอทนายความฝ่ายตรงข้ามที่มีความจัดเจนในการหลอกล่อและโน้มน้าวจิตใจของเราและลูกความ ว่าข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่างๆในคดีไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคิด และรูปคดีของเราแย่กว่าที่เราคิด
และยิ่งไปเจอกับผู้ไกล่เกลี่ยที่ไม่ได้เป็นผู้พิพากษาและไม่มีความรู้กฎหมายโดยตรงเข้าร่วมผสมโรงแล้ว(ส่วนมากแล้วผู้ไกล่เกลี่ยมักเป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยและอาสามาช่วยงานของศาลซึ่งไม่ได้มีความรู้ทางกฎหมายอย่างแท้จริง ซึ่งส่วนใหญ่ท่านเหล่านั้นก็ดี แต่บางท่านมีนิสัยชอบชักจูงหรือชี้แจงข้อกฎหมายผิดๆแก่ผู้มีคดีความ )
ดังนั้นการตระเตรียมข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ดี จะไม่ทำให้เราไขว้เขว และรักษาผลประโยชน์ของลูกความได้อย่างเต็มที่ ไม่เสียเปรียบในการต่อรองและทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังคำกล่าวของทนายความที่มีชื่อเสียงชาวต่างประเทศผู้หนึ่งที่ว่า
“คุณไม่สามารถจะโต้เถียงได้อย่างน่าเชื่อถือหากคุณไม่สามารถจะทำให้ตัวคุณเองมีความเชื่อถือต่อคดีของลูกความคุณ และคุณจะไม่สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน ยกเว้นคุณจะรู้สถานะอันแท้จริงของคดีรวมทั้งจุดอ่อนของมันอยู่ในใจเสมอ”