คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

การยื่นคำแก้อุทธรณ์ คำแก้ฎีกา ข้อกฎหมายและทางปฏิบัติแบบเข้าใจง่าย

การแก้อุทธรณ์คืออะไร

ธรรมดาแล้วเวลาฝ่ายใดแพ้คดีหรือไม่พอใจผลคำพิพากษา ของศาลชั้นต้น ก็มีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ เพื่อขอให้ศาลอุทธรณ์เนี่ย เปลี่ยนแปลงแก้ไขผลของคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้เป็นไปตามด้วยตนเองต้องการ

ในทำนองเดียวกันถ้าไม่พอใจผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็สามารถที่จะยื่นฎีกาเพื่อคัดค้านเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต่อไปได้

ซึ่งผมเคยได้ทำคำอธิบายไว้อย่างละเอียดแล้วเกี่ยวกับการอุทธรณ์ฎีกา ไปตามดูกันได้นะครับ

ที่นี้ตามกฎหมายเนี่ยเมื่อคุณยื่นอุทธรณ์ยื่นฎีกา เสร็จแล้วไม่ใช่ว่าอยู่ๆศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะรับไปพิจารณาเลย

แต่มันต้องเป็นไปตามหลักการฟังความทุกฝ่าย

หมายความว่าจะต้องมีการส่งสำเนาอุทธรณ์แล้วก็ฎีกานั้นให้ฝ่ายตรงข้ามเขาตรวจสอบ

แล้วฝ่ายตรงข้ามก็มีสิทธิ์ยื่นคัดค้านอุทธรณ์หรือฎีกาที่เรายื่น เพื่อชี้ให้เห็นว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือชั้นอุทธรณ์เนี่ยถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์และฎีกาของเรามันรับฟังไม่ได้ฟังไม่ขึ้น

ซึ่งการคัดค้านดังกล่าวเนี่ยจะต้องทำเป็นหนังสือใส่แบบฟอร์มตามที่กฎหมายกำหนดคือแบบฟอร์มคำแก้อุทธรณ์หรือคำแก้ฎี

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๗  จำเลยอุทธรณ์อาจยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันส่งสำเนาอุทธรณ์ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ห้ามมิให้ศาลแสดงว่า จำเลยอุทธรณ์ขาดนัดเพราะไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๐๐  ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์

ใครบ้างเป็นผู้มีสิทธิ์ยื่นคำแก้อุทธรณ์

เนี่ยอาจจะเป็นฝ่ายไหนก็ได้นะครับ ไม่ว่าจะเป็นโจทก์ จำเลย ผู้ร้อง ผู้คัดค้าน ผู้ร้องสอด ใครก็ตามที่เป็นฝ่ายชนะคดีและฝ่ายตรงข้ามเขายื่นอุทธรณ์เนี่ย ถือว่าเรามีสิทธิ์แก้อุทธรณ์ของฝ่ายตรงข้ามทั้งสิ้น

ดังนั้นถ้าฝ่ายตรงข้ามยื่นอุทธรณ์ แล้วจะมีผลกระทบต่อคดีของเราเราก็มีสิทธิ์ยื่นคำแก้อุทธรณ์ได้ครับ

ประโยชน์ของการทำคำแก้อุทธรณ์

1.โต้แย้งสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามกล่าวอ้าง

ธรรมดาแล้วในการยื่นอุทธรณ์ฎีกาเนี่ย ฝ่ายตรงข้ามเขาก็จะโต้แย้งว่าคำพิพากษาของศาลที่ตัดสินให้เขาแพ้คดีเนี่ยไม่ถูกต้องตรงไหน เช่น

  • ตัดสินขัดกับหลักกฎหมาย
  • วินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดไปจากตรรกะ
  • พยานอีกฝ่ายไม่น่าเชื่อถือ
  • พยานตนเองน่าเชื่อถือ
  • หลักฐานของอีกฝ่ายไม่มีน้ำหนัก หลักฐานของตนเองมีน้ำหนัก
  • ศาลใช้ดุลยพินิจไม่เหมาะสม

ซึ่งถ้าหากเราไม่ยื่นคำแก้ฎีกาศาลก็จะพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียว โดยไม่มีโอกาสพิจารณามุมมองความเห็น จากฝ่ายของเรา ดังนั้นหากเรายื่นคำแก้ฎีกา เราก็จะมีสิทธิ์ชี้แจงแง่มุมความเห็นในด้านดีของเราเช่น

  • ศาลชั้นต้นตัดสินถูกต้องตามทฤษฎีและข้อกฎหมายแล้ว
  • การวินิจฉัยถูกต้องตามตรรกะ
  • พยานของเรามีน้ำหนักน่าเชื่อถือพิรุธบกพร่องมันเป็นข้อเล็กน้อย
  • พยานของฝ่ายตรงข้ามไม่ได้น่าเชื่อถือมีข้อพิรุธหลายอย่าง
  • หลักฐานของเรามีน้ำหนักดีกว่า
  • ดุลยพินิจของศาลเหมาะสมแล้ว

2.เป็นการตั้งประเด็นให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ในประเด็นที่เราแพ้คดี

ในบางกรณีถึงแม้ศาลตัดสินให้เราชนะคดี ในเนื้อหา แต่ในบางประเด็นศาลก็วินิจฉัยให้เราเป็นฝ่ายแพ้คดี

ดังนั้นในประเด็นที่เราแพ้คดีเนี่ย เราสามารถยื่นคำแก้อุทธรณ์คำแก้ฎีกาไปได้ แล้วถ้าเกิดศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้เรากลับไปแพ้ในเนื้อหาคดีทั้งหมดศาลก็ต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นที่เรายื่นคำแก้อุทธรณ์คำแก้ฎีกาด้วย

ในทางกลับกัน ถ้าในประเด็นที่เราแพ้คดีในศาลชั้นต้นเราไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์ ไม่ยื่นคำแก้ฎีกา ก็ถือว่าเราเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอีกถ้าไม่ใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ตัวอย่างเช่น

ตัวอย่างที่ 1 คดีฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหาย

เราสู้คดีแพ่งเรื่องหนึ่ง ละเมิดรถชน  ตั้งประเด็นต่อสู้ไว้ว่า คดีอายุความ และสู้ว่าฝ่ายโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายอะไรเลย

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยเห็นว่าคดียังไม่ขาดอายุความ แต่เห็นว่าโจทก์ไม่เสียหาย หรืออาจจะไม่ได้วินิจฉัยเรื่องอายุความเลย

ถ้าฝ่ายโจทก์ยื่นอุทธรณ์ เราก็อาจจะแก้อุทธรณ์ในประเด็นว่าความจริงคดีขาดอายุความไปแล้วในคำแก้อุทธรณ์ได้

ดังนั้นถ้าเกิดศาลเห็นด้วยกับฝ่ายโจทก์ว่าฝ่ายโจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ศาลชั้นต้นก็อาจจะวินิจฉัยต่อไปว่าคดีของฝ่ายโจทก์ขาดอายุความแล้ว

แต่ถ้าหากเราไม่แก้อุทธรณ์ประเด็นนี้ไป ศาลก็ไม่สามารถหยิบยกเรื่องอายุความมาวินิจฉัยได้แล้ว เพราะปัญหาเรื่องอายุความในคดีแพ่งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  ศาลก็จะต้องพิพากษาให้เราแพ้คดี โดยไม่สามารถหยิบยกเรื่องอายุความมาวินิจฉัยได้

เทียบเคียง ย ฎ.218/2538

 ตัวอย่างที่ 2  คดีที่ดินครอบครองปรปักษ์

สมมุติว่าเราเป็นฝ่ายเจ้าของที่ดิน ถูกคนมายื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ เราต่อสู้ว่าเขาอยู่ไม่ถึง 10 ปี และที่อยู่ก็อยู่อย่างวิสาสะ ไม่ได้เป็นเจ้าของ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ฝ่ายตรงข้ามเนี่ยอยู่มาเกินกว่า 10 ปีจริงแต่อยู่อย่างวิสาสะจึงไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

ถ้าฝ่ายตรงข้ามยื่นอุทธรณ์เราก็อาจจะแก้อุทธรณ์ว่าความจริงแล้วฝ่ายตรงข้ามเนี่ยอยู่มาไม่ถึง 10 ปี ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็สามารถหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาวินิจฉัยต่อไปได้

ซึ่งศาลก็อาจจะวินิจฉัยให้เราชนะคดีว่าเขาอยู่มาไม่ถึง 10 ปีไม่ต้องไปพิจารณาเรื่องว่าอยู่โดยวิสาสะหรือไม่

เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกา ฎ.5282/2534

ตัวอย่างที่ 3 คดีมรดก

ฝ่ายโจทก์ยื่นขอแบ่งที่ดินพิพาทจำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่มรดกและคดีขาดอายุความแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่มรดกและไม่ได้วินิจฉัยเรื่องอายุความเพราะไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัย

ฝ่ายโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ฝ่ายจำเลยเนี่ยไม่ได้แก้อุทธรณ์เรื่องอายุความ

ที่นี่ปรากฎว่าอุทธรณ์วินิจฉัยเนี่ย เขาวินิจฉัยว่ามันเป็นมรดกเพราะเขาวินิจฉัยว่าเป็นมรดก

แล้วเราไม่ได้แก้อุทธรณ์เรื่องอายุความ อายุความมันก็ไม่ได้เป็นประเด็นนะครับ

ศาลก็พิพากษาให้เราแพ้คดีเลยไม่วินิจฉัยเรื่องอายุความ

แล้วเราก็จะฎีกาต่อในประเด็นนั้นไม่ได้ด้วยเพราะไม่ได้ยกขึ้นว่าในศาลอุทธรณ์

เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.5556/2537

ยังมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาอื่นอีกเยอะเลยครับ

ฎ.6248/2555 ฎ.6700/2553 ฎ.5679/2553 ฎ.218/2538  ฎ.5282/2531 ฎ.1737/2534 ฎ.5556/2537

ดังนั้นในการแก้อุทธรณ์เนี่ยเราควรจะหยิบยกในประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้เราแพ้คดี หรือไม่ได้วินิจฉัย แต่เราไม่ได้ยื่นอุทธรณ์เนี่ยแต่เรามองว่าเราเป็นฝ่ายที่ควรชนะคดีขึ้นโต้แย้ง

และตั้งประเด็นในคำแก้อุทธรณ์ด้วย ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ ที่ศาลอุทธรณ์อาจจะหยิบยกข้อกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยให้เราชนะคดี หรือเป็นประโยชน์ในการที่เราจะยื่นฎีกาต่อไป

เพิ่มโอกาสที่จะชนะคดีในชั้นอุทธรณ์-ฎีกา

ด้วยประโยชน์ของการยื่นคำแก้อุทธรณ์แก้ฎีกาดังกล่าว ย่อมทำให้เรามีโอกาสชนะคดีเพิ่มขึ้นในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาครับ

ข้อเสียของการไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์

  1. อาจจะเสียสิทธิ์ในประเด็นที่ไม่ได้แก้อุทธรณ์
  2. ศาลอุทธรณ์อาจจะไม่เห็นแง่มุมบางอย่าง
  3. เสียสิทธิ์การโต้แย้งฝ่ายตรงข้าม

ข้อจำกัด – ข้อควรระมัดระวัง

ไม่สามารถขอให้เปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาได้ เช่น

  • ขอให้เพิ่มหรือลดค่าเสียหายในคดี
  • ขอให้ศาลเพิ่มโทษหรือลดโทษ
  • ขอให้ศาลยกฟ้องในบางข้อหา

ฎ.7126/2552 ฎ.3927/2556 ฎ.6146/2558 ฎ.7629/2560 ฎ.8062/2559 ฎ.3446/2530

  • ประเด็นที่จะยกขึ้นแก้อุทธรณ์ได้ ต้องเป็นประเด็นที่ว่ากล่าวโดยชอบมาในศาลชั้นต้น
  • ถ้าไปรับข้อเท็จจริงอะไร ก็อาจถือเป็นคำรับ เช่นรับว่าเป็นฝ่ายประมาท ฎ.5020/2538

วิธีการทำคำแก้อุทธรณ์-ฎีกา โดยสังเขป

  1. ไม่ต้องลอกฟ้อง ไม่ต้องลอกคำให้การ
  2. ไม่ต้องลอกอุทธรณ์ฝ่ายตรงข้ามมาทั้งหมด
  3. ยกเฉพาะเนื้อหาอุทธรณ์-ฎีกาของฝ่ายตรงข้ามประเด็นที่จะโต้แย้งฝ่ายตรงข้าม
  4. เขียนแก้อุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว ด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่เราเห็นว่าถูกต้อง
  5. โต้แย้งว่าสิ่งที่เขาอ้างฟังไม่ขึ้นยังไง
  6. หยิบยกประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้เราแพ้คดีมาโต้แย้ง

ตัวอย่างการทำคำแก้อุทธรณ์-คำแก้ฎีกา

1.คดีแพ่งฟ้องขับไล่เรียกค่าเสียหาย

คดีนี้ ศาลจังหวัดชลบุรี มีคำพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากอาคารพาณิชย์ สูง 3 ชั้น เลขที่ 8XX/43-48 ถนนสุขุมวิท ตำบลบ้านสวน (เดิม) หรือ ตำบลบางปลาสร้อย (ปัจจุบัน) อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี พร้อมทั้งส่งมอบการครอบครองอาคารพาณิชย์ดังกล่าวคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย และชำระค่าเสียหายเดือนละ 90,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป

โจทก์ขอกราบเรียนต่อศาลอุทธรณ์ที่เคารพ เพื่อขอแก้ไขคำพิพากษาในส่วนของเลขที่อาคาร จากเลขที่คือ 8XX/43-48 ซึ่งคลาดเคลื่อนไปจากคำฟ้องและการนำสืบ เป็น อาคารพาณิชย์ สูง 3 ชั้น เลขที่ 87X/43-48 ตามคำฟ้องและการนำสืบของโจทก์ เพื่อให้ถูกต้องต่อไป

ข้อ 2. โจทก์ขอแก้อุทธรณ์จำเลย ในประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ทำนองว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากหนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์และไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ โจทก์ขอกราบเรียนต่อศาลอุทธรณ์ว่า หนังสือมอบอำนาจในคดีนี้เป็นพยานเอกสารยืนยันว่า เจ้าอาวาส ซึ่งเป็นผู้แทนวัดโจทก์ ได้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจด้วยตนเอง โดยมีพยานลงลายมือชื่อต่อหน้าผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ และปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ โจทก์ได้นำประจักษ์พยาน คือ พ.ต.ท.ทX โX ซึ่งเป็นกรรมการวัดโจทก์ และเป็นผู้ดำเนินการจัดทำหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ มาเบิกความยืนยันความถูกต้องแท้จริงของหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว โดยที่จำเลยนำสืบกล่าวอ้างลอยๆ และไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาหักล้างพยานเอกสารและพยานบุคคลของโจทก์ ดังนั้น อุทธรณ์ในข้อนี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น

ในส่วนปัญหาข้อกฎหมายการปิดอากรแสตมป์นั้น ในหนังสือมอบอำนาจ โจทก์ก็ได้ปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่า ตามกฎหมายครบถ้วนแล้ว ซึ่งตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6168 / 2534 ก็วางหลักไว้ว่า แม้ขณะทำหนังสือมอบอำนาจ หรือขณะยื่นฟ้อง มิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ตาม แต่ขณะส่งหนังสือมอบอำนาจต่อศาลในวันสืบพยานได้มีการปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนและขีดฆ่า หนังสือมอบอำนาจย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ดังนั้นจึงถือได้ว่าหนังสือมอบอำนาจโจทก์สมบูรณ์ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ข้อ 3. ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมีสิทธิที่จะอยู่ในอาคารพิพาทเนื่องจากโจทก์เคยให้คำมั่นนั้น โจทก์ขอกราบเรียนต่อศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์มีพยานเอกสารเป็นหนังสือสัญญาเช่าเดิมระหว่างโจทก์กับบริษัท มXหXสXกิจ จำกัด และมีประจักษ์พยานคือ พ.ต.ท.ทX โX ซึ่งเป็นกรรมการวัดโจทก์ รู้เห็นเหตุการณ์ในคดีนี้ มาเบิกความยืนยันว่า สัญญาเช่าเดิมสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 โดยไม่มีการต่อสัญญา อีกทั้งโจทก์ จำเลย และบริษัท มXหXสXกิจ ไม่เคยตกลงว่าจะให้จำเลยทำสัญญาเช่ากับโจทก์โดยตรงแต่อย่างใด จำเลยเป็นเพียงผู้เก็บผลประโยชน์จากอาคารพิพาท โดยนำอาคารออกให้เช่าช่วงต่อแก่ นิติพลคลินิก และ เซเว่นอีเลฟเว่น ในอัตราที่สูงมาก ทั้งนี้จำเลยมิได้เป็นผู้ครอบครองอาคารพิพาทเอง เมื่อสัญญาเช่าเดิมสิ้นสุดลง จำเลยซึ่งเป็นบริวารจึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในการครอบครองหรือใช้สอยอาคารพิพาทอีกต่อไป

ในส่วนของคำมั่น นั้น จำเลยไม่เคยเป็นคู่สัญญากับวัดโจทก์โดยตรง จึงไม่มีกรณีใดที่โจทก์จะให้คำมั่นจะให้เช่ากับจำเลยได้ และที่จำเลยเบิกความนำสืบต่อสู้ว่ามีคำมั่น จำเลยก็มิได้มีหลักฐานใดๆมาแสดงได้ว่ามีคำมั่นตามที่กล่าวอ้าง อีกทั้งลักษณะของคำมั่นแม้จำเลยจะกล่าวอ้างลอยๆว่ามีคำมั่นด้วยวาจา แต่คำมั่นด้วยวาจาก็เป็นเพียงข้อตกลงนอกเหนือสัญญาเช่า หากไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็ไม่อาจบังคับได้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7386 / 2548 และ 1062 / 2539 อีกทั้ง จำเลยก็มีเพียง นายณัฐพล ทองคำ มาเบิกความเพียงผู้เดียว ซึ่งมิได้รู้เห็นเหตุการณ์ใดๆ ในการให้คำมั่น เป็นเพียงทนายรับจ้าง เบิกความตามที่ผู้อื่นบอกเล่ามา โดยมิได้มีหลักฐานการให้คำมั่นใดๆ ประกอบกับที่จำเลยกล่าวอ้างนำสืบมานั้น ก็ยังไม่มีรายละเอียดข้อความแน่นอนชัดเจนในเรื่องสาระสำคัญของสัญญาเช่า เช่น อัตราค่าเช่า และระยะเวลาการเช่า จึงยังไม่ถือว่าเป็นคำมั่น ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 569 / 2525 ดังนั้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ให้คำมั่นกับจำเลย

และที่จำเลยอ้างว่าการเช่าของจำเลยเป็นสัญญาเช่าต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา เนื่องจากได้จ่ายเงิน 900,000 บาทให้กับบริษัท มXหXสXกิจ และซ่อมแซมอาคารเป็นเงิน 2,000,000 บาทนั้น โจทก์ขอกราบเรียนว่า จำเลยไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินให้กับวัดโจทก์ ซึ่งถึงแม้จำเลยจะจ่ายให้กับบริษัท มXหXสXกิจ ก็ถือเป็นการจ่ายค่าเช่าล่วงหน้าเท่านั้น เนื่องจากจำเลยมิได้จ่ายให้โจทก์เพื่อก่อสร้างอาคาร อีกทั้งจำเลยมิใช่ผู้ก่อสร้างอาคารพิพาท ส่วนการซ่อมแซม 2,000,000 บาทตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ความจริงแล้วเป็นการซ่อมแซมโดยผู้เช่าช่วง ซึ่งเป็นบุคคลอื่น ไม่ใช่จำเลย และเป็นเพียงการบำรุงซ่อมแซมเล็กน้อยเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของผู้เช่าช่วง ทั้งหมดนี้ทำด้วยความสมัครใจของผู้เช่าช่วง โดยจำเลยไม่มีหน้าที่ตามสัญญาที่ต้องทำ ถือไม่ได้ว่าเป็นการชำระค่าตอบแทนอื่นใดมากกว่าค่าเช่า จึงไม่ใช่สัญญาต่างตอบแทนพิเศษกว่าการเช่าธรรมดา ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7717/2550 และ 1977/2542 ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น

ข้อ 4.ที่จำเลยอุทธรณ์ในประเด็นค่าเสียหายว่าไม่ถึงเดือนละ 90,000 บาทนั้น โจทก์ขอกราบเรียนต่อศาลอุทธรณ์ว่า อาคารพาณิชย์พิพาทตั้งอยู่ในย่านเศรษฐกิจและชุมชนใจกลางเมืองจังหวัดชลบุรี ติดถนนสุขุมวิท ใกล้กับห้างสรรพสินค้า โจทก์สามารถให้อาคารพิพาทเช่าได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 90,000 บาท (อาคารละ 15,000 บาท) โดยมีพยานเอกสารเป็นสัญญาเช่าที่จำเลยนำอาคารพิพาทเลขที่ 87X/43-45 (3 อาคาร) ให้บริษัท นXทX คลินิก เช่าช่วงในอัตราค่าเช่าเดือนละกว่า 100,000 บาท และอาคารเลขที่ 87X/46-47 (2 อาคาร) ให้ร้าน เซXวX เช่าช่วงในอัตราค่าเช่าเดือนละกว่า 50,000 บาท ซึ่งเฉลี่ยแล้วจำเลยนำอาคารพาณิชย์ออกให้เช่าช่วงในอัตราค่าเช่าไม่ต่ำกว่าอาคารละ 25,000–30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยมาก แม้จำเลยจะนำสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับบริษัท จXดX โปรเกรส จำกัด มาใช้เป็นหลักฐานก็ตาม แต่เป็นเพียงสัญญาฉบับเดียว ซึ่งยังมีสัญญาอื่น ๆ ที่โจทก์ได้รับค่าตอบแทนมากกว่าที่กำหนดไว้ เช่น การสร้างวิหาร กุฎิ อาคาร และปรับปรุงอาคารพาณิชย์ด้วยเงินหลายสิบล้านบาทซึ่งถือเป็นการชำระค่าเช่าล่วงหน้า หากเฉลี่ยเป็นค่าเช่าแต่ละอาคาร ก็สูงกว่าค่าเช่าอาคารละ 15,000 บาทต่อเดือน

อีกทั้ง ในปัจจุบัน บริษัทที่ทำหน้าที่จัดเก็บค่าเช่าของอาคารพาณิชย์ทั้ง 51 คูหา รวมถึงอาคารพิพาท 6 อาคารในคดีนี้ให้กับวัดโจทก์คือ บริษัท ฟXรัX พีXวX แมXเนX จำกัด ซึ่งได้รับสิทธิการเช่าต่อจากบริษัท จXดX โปรเกรส จำกัด โดยบริษัท ฟXรัXฯ ทำหน้าที่จัดเก็บค่าเช่าให้กับวัดโจทก์โดยตรง โดยไม่ผ่านบริษัท จXดX กล่าวคือ หากอาคารพิพาทสามารถนำออกให้เช่าได้ในจำนวนเท่าใด บริษัท ฟXรัXฯ ก็จะจัดเก็บค่าเช่าให้กับวัดโจทก์ในจำนวนเท่านั้น มิใช่เพียงการชำระค่าเช่าตามสัญญาเท่านั้น

ดังนั้น การที่จำเลยไม่ยอมออกจากอาคารพิพาท ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เกินกว่าเดือนละ 90,000 บาท (อาคารละ 15,000 บาท) เนื่องจาก นXทXคลินิก ยินดีชำระค่าเช่าให้โจทก์ในอัตราเดือนละไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท (3 อาคาร) และ เซXวX ก็ยินดีชำระค่าเช่าในอัตราเดือนละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท (2 อาคาร) ดังนั้น การที่จำเลยไม่ยอมออกไปทำให้โจทก์เสียโอกาสและได้รับความเสียหายจากการจัดเก็บค่าเช่าจำนวนดังกล่าว

นอกจากนี้ โจทก์ก็มีทั้งพยานเอกสารเป็นภาพถ่ายลักษณะอาคารพิพาท และทำเลที่ตั้งแสดงให้เห็นได้ว่าอาคารพิพาทอยู่ในย่านธุรกิจชุมชน และอยู่หน้าอาคารห้างสรรพสินค้า  และโจทก์ก็มีพยานบุคคลซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์มาเบิกความยืนยันได้ว่าอาคารพิพาทดังกล่าวหากให้เช่า สามารถให้เช่าได้อาคารละไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งอาคารพิพาทมี 6 อาคาร โจทก์จึงสามารถให้เช่าได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 90,000 บาท ดังนั้น ค่าเสียหายหรือค่าขาดประโยชน์ที่ศาลจังหวัดชลบุรีกำหนดให้จำเลยชดใช้ให้กับโจทก์ เดือนละ 90,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง( 4 เมษายน 2562 ) จึงเหมาะสมแล้ว

ข้อ 5. ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพ.ต.ท.ทX โX พยานของโจทก์ เบิกความไม่น่าเชื่อถือนั้น โจทก์ขอกราบเรียนต่อศาลอุทธรณ์ว่า พ.ต.ท.ทX โX เป็นกรรมการวัดโจทก์ และผู้เข้ามาช่วยเหลือโจทก์ รวมถึงเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในการให้เช่าอาคารห้างสรรพสินค้าและอาคารพาณิชย์ทั้ง 51 คูหา (รวมถึงอาคารพิพาท 6 อาคารในคดีนี้) มาโดยตลอด ย่อมมีความรู้เห็นเหตุการณ์ในคดีนี้อย่างดี และได้เบิกความด้วยความสัตย์จริง ชัดเจน หนักแน่น ในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีนี้

แต่ที่จำเลยถามค้านพยานโจทก์นั้น ล้วนเป็นการถามค้านนอกฟ้อง นอกประเด็น และไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ อีกทั้งการถามค้านก็วกวน หลอกล่อ ทำให้พยานโจทก์สับสน อีกทั้งเอกสารที่จำเลยนำมาถามค้านก็มีจำนวนมาก โดยจำเลยไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพื่อให้โจทก์ได้ตรวจสอบล่วงหน้า ทั้งที่จำเลยรู้อยู่ตั้งแต่ต้นว่าจะนำเอกสารดังกล่าวมาสืบ แต่ทนายจำเลยกลับใช้วิธีการจู่โจมทางพยาน นำเอกสารจำนวนมากที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีมาถามค้านอย่างกะทันหันในวันสืบพยาน โดยมิได้ให้พยานโจทก์ตรวจดูก่อน และใช้คำถามหลอกล่อเพื่อให้พยานโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงตามที่จำเลยต้องการเป็นธรรมดาที่พยานโจทก์จะไม่ทราบข้อเท็จจริงในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นในคดี ดังนั้น ถือได้ว่าพยานโจทก์ได้เบิกความตามข้อเท็จจริงที่รู้เห็น ด้วยความสัตย์จริง ถูกต้องและสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วด้วยเหตุผลตามที่โจทก์กราบเรียนต่อศาลอุทธรณ์เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของจำเลยเสียทั้งสิ้น และมีคำพิพากษายืนตามศาลจังหวัดชลบุรี พร้อมให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

2.คดีแพ่งเรื่องแบ่งสินสมรส

จำเลยขอแก้ฎีกาโจทก์ร่วม ดังนี้

ข้อ ๑. ที่โจทก์ร่วมฎีกา  ทำนองว่า ขณะจดทะเบียนหย่ากันนั้น โจทก์ร่วมไม่ทราบว่า มีทรัพย์สินรายการใดบ้างที่เป็นสินสมรส และ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1533 ได้บัญญัติว่า การแบ่งสินสมรส นั้นเมื่อหย่ากันแล้วให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงเท่ากัน เมื่อยังไม่ทราบว่ามีทรัพย์สินรายการใด จึงยังไม่อาจแบ่งได้ ความจริงแล้วยังไม่มีการแบ่งแยกสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย ทั้งก่อน ขณะหรือภายหลังจดทะเบียนการหย่า หากมีการแบ่งแยกจริงก็ต้องมีการระบุไว้ในทะเบียนการหย่า

จำเลยขอแก้ฎีกาว่า  คดีนี้ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยนำสืบรับกันว่า   ขณะจดทะเบียนสมรสกันนั้นโจทก์ร่วมและจำเลยมีสินสมรสที่มีมูลค่าสูง ซึ่งเป็นกิจการค้าขายร่วมกัน 2อย่าง ได้แก่

     1.ที่ดินโฉนดเลขที่ 7956 และโฉนดเลขที่ 7965 ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นที่ตั้งของกิจการร้านเคซีวงกบ ในขณะที่หย่ากันนั้นมีมูลค่ากิจการประมาณ 12 ล้านบาท ตามคำเบิกความของโจทก์ร่วม ปัจจุบันที่ดินทั้งสองแปลงมีมูลค่าเฉพาะที่ดินประมาณ 30 ล้านบาท โดยมีชื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ รายละเอียดปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดิน เอกสารหมาย ล.7 และ ล.8

2.สิทธิการเช่าและสิทธิตามสัญญาซื้อขายแบบมีเงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์ร้านอาหารริมหาดซีฟู้ด บางเสร่ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 2/14,2/17,2/18,2/19 หมู่ที่ 4 ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี  ซึ่งขณะที่โจทก์ร่วมและจำเลยอยู่กินด้วยกันนั้น โจทก์ร่วมและจำเลยยังไม่ได้ทำการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดร้านอาหารฯดังกล่าวจากเจ้าของเดิม และยังไม่ได้กรรมสิทธิในร้านอาหารฯดังกล่าว เพียงแต่จำเลยได้ทำสัญญาเช่าและได้ร่วมหุ้นกับบุคคลอื่นทำสัญญาซื้อขายแบบมีเงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์กับนางนภาพร แย้มเย็น เจ้าของเดิมไว้เท่านั้น ขณะนั้นมีมูลค่าประมาณ 2,000,000 บาท(สองล้านบาท) รายละเอียดปรากฎตามสัญญาเช่า สัญญาซื้อขายแบบมีเงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์  บันทึกร่วมลงทุนหุ้นส่วน เอกสารหมาย จ.5,จร3,ล.13,ล.15

โดยข้อนี้จำเลยนำสืบทำนองว่า ก่อนจะไปจดทะเบียนหย่าและขณะจดทะเบียนหย่าขาดจากกันนั้นโจทก์ร่วมและจำเลย ได้ตกลงกันแบ่งสินสมรสกันด้วยวาจาว่าโจทก์ร่วมจะเป็นฝ่ายได้ร้านเคซีวงกบพร้อมที่ดินที่เป็นที่ตั้งร้านเคซีวงกบไป ส่วนจำเลย จะเป็นฝ่ายได้ร้านอาหารริมหาดซีฟู้ดบางเสร่ ซึ่งขนะนั้นยังไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยเด็ดขาดแต่อย่างใด โดยขณะจดทะเบียนหย่ากันนั้นกิจการร้านเคซีวงกบยังดีกว่ากิจการร้านอาหารริมหาดซีฟู้ดฯเป็นอย่างมาก ซึ่งภายหลังจดทะเบียนหย่าขาดจากกันแล้วโจทก์ร่วมและจำเลย ต่างก็แยกการครอบครองและแยกกันบริหารกิจการและรายได้และหนี้สินทั้งสองอย่างกันอย่างชัดเจนไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกันอีกเป็นเวลาถึง 10 ปี

ที่โจทก์ร่วมอ้างในฎีกาว่า ไม่ทราบว่ามีสินสมรสอะไรบ้างนั้น ปรากฎว่าตามเอกสารหมาย จร.7 ซึ่งเป็นหนังสือร้องเรียนที่เขียนด้วยลายมือของโจทก์ร่วมเอง ก็ระบุถึงสินสมรสต่างๆระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลย ไว้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถเก๋ง ร้านอาหาร ร้านเคซีวงกบ  ตึกแถว รวมทั้งระบุถึงที่มาที่ไป ภาระหนี้สินไว้ด้วย และเนื้อหาในหนังสือก็เจือสมกับข้อต่อสู้ของจำเลยว่า ขณะหย่ากันกันนั้นโจทก์ร่วมและจำเลย มีสินสมรสหลักๆที่เป็นกิจการร้านเคซีวงกบ และร้านอาหารริมหาดซีฟู๊ด ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ เช่นรถยนต์ที่เป็นชื่อโจทก์ รถยนต์ที่เป็นชื่อจำเลย ก็ตกลงกันว่า มีชื่อใครเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ก็ให้ตกกับคนนั้นไป  นอกจากนี้ในคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องเรียกสินสมรสกับจำเลย โจทก์ร่วมก็ฟ้องร้องเอาเฉพาะทรัพย์สินพิพาทในคดีนี้ คือ ร้านอาหารริมหาดซีฟู๊ดเท่านั้น ทรัพย์สินส่วนอื่นๆโจทก์ร่วมก็ไม่ได้เรียกร้องเข้ามาในคดีด้วย รายละเอียดปรากฎตามคำให้การเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 ดังนั้นที่โจทก์ร่วมอ้างว่าไม่ทราบว่ามีสินสมรสอะไรบ้าง จึงไม่ได้ตกลงแบ่งสินรสกับจำเลย จึงขัดกับเหตุผล

ซึ่งข้ออ้างของโจทก์ร่วมที่อ้างว่ายังไม่มีการแบ่งสินสมรส นอกจากจะเป็นข้ออ้างลอยๆแล้วยังขัดแย้งกับเหตุผลและไม่น่าเชื่อถือเพราะโจทก์ร่วมอ้างว่า  ร้านเคซีวงกบยังเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยแต่ปรากฏว่าหลังจากจดทะเบียนหย่ากันแล้วโจทก์ร่วมนำที่ดินที่เป็นที่ตั้งของร้านเคซีวงกบไปจดทะเบียนจำนองและเพิ่มวงเงินจำนองเป็นเงินจำนวนถึง 18 ล้านบาท ตามเอกสารหมาย ล.11   ชี้ให้เห็นว่าหลังโจทก์ร่วมและจำเลย หย่าขาดจากกันแล้ว ในปี พ.ศ. 2547 โจทก์ร่วมได้นำที่ดินที่เป็นสินสมรส คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 7956 และที่ดินโฉนดเลขที่ 7965  ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นที่ตั้งของกิจการร้านเคซีวงกบ ไปจำนองนำเงินมาซื้อที่ดินจำนวน 11 แปลง ตามเอกสารหมาย ล.9  โดยทำการซื้อและลงชื่อโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของที่ดินทั้ง 11 แปลง แต่เพียงผู้เดียว และปัจจุบันที่ดินจำนวน 11 แปลงดังกล่าวปัจจุบันก็มีมูลค่าสูงถึงไร่ละไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ตามที่โจทก์ร่วมเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้าน ว่า “ที่ดินของข้าฯ ที่อยู่บริเวณข้างร้านเคซีวงกบ หากข้าฯขาย ก็จะมีมูลค่ามากกว่าไร่  ละ 30,000,000 บาท”  โดยในการกู้ยืมเงินจากธนาคารโจทก์ร่วมได้นำที่ดินและกิจการร้านเคซีวงกบไปทำการกู้ยืมเงินและจำนองในวงเงินถึง 16,000,000บาท(สิบหกล้านบาท)  และภายหลังโจทก์ร่วมก็ไปขึ้นวงเงินจำนองอีก เป็น 18,000,000บาท(สิบแปดล้านบาท)  โดยในการทำสัญญาจำนองนั้น โจทก์ร่วมเองก็ไม่เคยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ธนาคารว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นสินสมรสของโจทก์ร่วมกับจำเลย และไม่เคยให้จำเลยไปเซ็นต์ให้ความยินยอมแต่อย่างใด เงินที่ได้จากการกู้ยืมและนำที่ดินร้านเคซีวงกบไปจำนองได้เงินมาโจทก์ร่วมก็นำไปซื้อทรัพย์สินคือที่ดินจำนวน 11 แปลงเป็นของโจทก์ร่วมเป็นการส่วนตัว  นอกจากนี้โจทก์ร่วมยังเบิกความตอบคำถามค้านรับว่าร้าน เคซีวงกบมีรายได้มากกว่า 1 ล้าน 8 แสนบาทต่อปี และหลังจดทะเบียนหย่าแล้วโจทก์ร่วมไม่เคยแบ่งเงินรายได้ดังกล่าวให้แก่จำเลย   โดยโจทก์ร่วมนำเงินที่ได้จากกิจการเคซีวงกบดังกล่าวไปใช้จ่ายส่วนตัว และนำไปใช้ชำระหนี้ค่าที่ดินที่โจทก์ร่วมซื้อมา พฤติการณ์ดังกล่าวของโจทก์ร่วมทำให้ขัดแย้งต่อเหตุผลที่โจทก์ร่วมเบิกความว่าโจทก์ร่วมและจำเลยไม่เคยตกลงแบ่งสินสมรสกัน    พฤติการณ์ที่โจทก์ร่วมแสดงออกต่อบุคคลภายนอกแสดงให้เห็นชัดเจนว่า จำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในร้านเคซีวงกบอีกต่อไป และโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของร้านเคซีวงกบแต่เพียงผู้เดียว

การตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลย ถึงแม้จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือ หรือ บันทึกไว้ท้ายทะเบียนการหย่า แต่เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลย ได้มีการแบ่งสินสมรสกันด้วยวาจาแล้วและแบ่งแยกกันครอบครองทรัพย์สินแบ่งแยกรายได้แบ่งแยกการบริหารกิจการ เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วย่อมถือได้ว่าโจทก์ร่วมและจำเลยได้มีการแบ่งสินสมรสกันแล้ว โดยพฤตินัยแล้ว ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2556  ดังนั้นแล้วโจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิใดในร้านอาหารริมหาดซีฟู๊ดบางเสร่ ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ข้อ ๒. ที่โจทก์ร่วมอ้างในฎีกาทำนองว่า โจทก์ร่วมยังช่วยบริหารดูแลร้านอาหารพิพาทด้วยในเวลาที่โจทก์ร่วมเห็นสมควร จึงทำให้เห็นว่าโจทก์ร่วมยังไม่ได้มีการแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยนั้น

จำเลยขอแก้ฎีกาว่า  ข้ออ้างของโจทก์ร่วมนอกจากจะมีเพียงโจทก์ร่วมเบิกความลอยๆเป็นพยานปากเดียวแล้ว ยังขัดแย้งกับเหตุผล เพราะโจทก์ร่วมกล่าวอ้างว่าได้เข้าไปดูแลกิจการร้านอาหารริมหาดซีฟู้ดบางเสร่และรับส่วนแบ่งรายได้จากร้านอาหารฯดังกล่าวประมาณเดือนละ 1 ครั้ง และหลังจากปีพ.ศ.2554 เป็นต้นมาโจทก์ร่วมได้เข้าไปที่ร้านอาหารริมหาดซีฟู้ดบางเสร่บ่อย และยังเบิกความว่าเมื่อโจทก์ร่วมเข้าไปในร้านอาหารริมหาดซีฟู้ดบางเสร่พนักงานภายในร้าน ก็ยังคงต้อนรับโจทก์ร่วมเช่นปกติเหมือนเป็นเจ้าของและหากภายในร้านอาหารฯมีความเคลื่อนไหวอย่างไรพนักงานภายในร้านก็จะรายงานโจทก์ร่วมอยู่ตลอด แต่ปรากฏว่า ตามเอกสารหมาย ล.14  ที่โจทก์ร่วมไปแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาลักทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์ โจทก์ร่วมให้ปากคำว่าตนเองออกจากร้านอาหารริมหาดซีฟู๊ดไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 และเพิ่งมาทราบว่าเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2556 ห้องนอนถูกทุบทิ้งทรัพย์สินเสียหายและเบิกความต่อไปว่า พนักงานในร้านอาหารไม่เคยแจ้งเรื่องดังกล่าวให้โจทก์ร่วมทราบ ซึ่งขัดแย้งกับเหตุผลเป็นอย่างยิ่งเพราะถ้าหากโจทก์ร่วมเข้ามาร่วมบริหารกิจการร้านอาหารริมหาดซีฟู้ดฯจริง โจทก์ร่วมก็ควรจะต้องทราบเรื่องที่ห้องนอนของตนเองซึ่งอยู่ในร้านอาหารริมหาดซีฟู๊ดถูกทุบทิ้งนานแล้วมิใช่มาทราบเรื่องภายหลังเวลาผ่านมา 10 ปี นับจากจดทะเบียนหย่ากับจำเลย  นอกจากนี้โจทก์ร่วมยังเบิกความว่าพึ่งมาทราบว่าจำเลยขายร้านอาหารริมหาดซีฟู้ดบางเสร่ให้กับนายประจวบ วิเชียร เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2556 โดยการไปตรวจสำนวนที่ศาลจังหวัดพัทยาเนื่องจากจำเลยและนายประจวบ วิเชียร มีข้อคดีความเรื่องการซื้อขายกัน ซึ่งจำเลยและนายประจวบ วิเชียร ทำการซื้อขายร้านอาหารกันตั้งแต่ปีพ.ศ. 2554 ตามเอกสารหมาย จ.8 แต่โจทก์ร่วมเพิ่งมาทราบในวันที่ 8 สิงหาคม 2556   และโจทก์ร่วมเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า “หากจำเลยไม่เปลี่ยนใจ โดยยอมรับเงินตามสัญญาซื้อขายและส่งมอบร้านอาหารให้กับนายประจวบ ข้าฯจะไม่ทราบเรื่องการซื้อขายร้านอาหาร” ซึ่งหากโจทก์ร่วมยังคงเป็นเจ้าของและเข้าไปร่วมบริหารในร้านอาหารพิพาทจริง ก็ควรจะต้องทราบความเคลื่อนไหวต่างๆในกิจการ  ไม่ใช่มาทราบภายหลังจาก 2 ปีนับแต่ที่มีการทำสัญญาซื้อขายกัน ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ข้อ ๓. ที่โจทก์ร่วมอ้างในฎีกาทำนองว่า บางครั้งจำเลยจะให้พนักงานมาหยิบยืมเงินจากร้านเคซีวงกบ ทำนองว่า โจทก์ร่วมและจำเลยยังไม่มีการแบ่งสินสมรสนั้น และ โจทก์ร่วมอ้างทำนองว่า เรื่องเงินรายได้ของกิจการร้านอาหารพิพาทและร้านเคซีวงกบนั้น ไม่สามารถนำมารวมกันได้ เพราะผิดหลักการและมาตรฐานทางบัญชี แม้แต่ตัวโจทก์ร่วมเอง หากหยิบยืมเงินจากร้านเคซีวงกบออกมาใช้จ่าย ซื้อของกินของใช้ โจทก์ร่วมก็ต้องให้นางพรทิพย์มาลงบัญชีไว้ว่าใช้เรื่องอะไร ในกิจการใด เช่นเดียวกันกับจำเลย กรณีที่จำเลยได้มานำเงินของร้านเคซีวงกบไปใช้และนำมาคืนนั้น โจทก์ร่วมก็จะให้นางพรทิพย์ลงบัญชีไว้เช่นเดียวกัน

จำเลยขอแก้ฎีกาว่า การที่จำเลยต้องขอยืมเงินจากร้านเคซีวงกบ ผ่านนางพXทX แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีกรรมสิทธิ์ร่วมในร้านเคซีวงกบ ดังนั้นจึงต้อง “ขอยืมเงิน” หากจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมและยังบริหารกิจการอยู่ ย่อมสามารถสั่งให้นางพXทXนำเงินให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดซื้อวัตถุดิบสำหรับร้านอาหารริมหาดซีฟู้ดได้โดยไม่ใช้คำว่าขอยืม การขอยืมเงินดังกล่าวเป็นเพียงการหยิบยืมเล็กน้อยในกรณีเร่งด่วน และคืนให้ทันที ซึ่งสะท้อนว่าจำเลยไม่มีสิทธิใด ๆ ในร้านเคซีวงกบแล้ว

การยืมเงินนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2547 ซึ่งเป็นช่วงที่โจทก์ร่วมและจำเลยเพิ่งหย่าขาดกันไม่นาน และหลังจากนั้นไม่ปรากฏว่ามีการยืมเงินอีก โดยการยืมเงินมีเพียงไม่กี่ครั้ง จำนวนเงินเล็กน้อยหลักพันบาท บางครั้งมากกว่า 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 22,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเล็กน้อยใช้ในกรณีเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่ใช่การใช้เงินในกิจการร้านเคซีวงกบเป็นประจำ ดังนั้น ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ร่วมและจำเลยมีการยุ่งเกี่ยวกันในกิจการของอีกฝ่าย

นอกจากนี้ตามบันทึกดังกล่าวยังมีรายการที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือเพื่อบุตร เช่น ค่าบัตรโรงเรียน ค่าซื้อข้าว ซื้อน้ำให้แก่จำเลย ซึ่งเป็นเงินจำนวนเล็กน้อย แต่โจทก์ร่วมยังลงบันทึกไว้ในรายการจ่ายประจำปี พ.ศ.2547 ของร้านเคซีวงกบ และจำเลยยังจะต้องจ่ายคืนโจทก์ร่วม แตกต่างจากรายจ่ายอื่นๆ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของโจทก์ร่วมเช่นเดียวกัน แต่โจทก์ร่วมกลับระบุเป็นรายจ่ายของร้านเคซีวงกบ ไม่ใช่เป็นการหยิบยืมเงินมาจากร้านเคซีวงกบและจะต้องคืนแก่ร้านเคซีวงกบแต่อย่างใด ซึ่งผิดหลักฐานมาตรฐานทางบัญชี ที่ค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเจ้าของกิจการ ไม่อาจนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของร้านได้  แสดงให้เห็นว่าโจทก์ร่วมสามารถใช้จ่ายรายได้ของร้านเคซีวงกบได้อย่างอิสระรวมทั้งนำไปใช้จ่ายส่วนตัวได้ ผิดกับจำเลยที่หากหยิบยืมเงินจากร้านเคซีวงกบไปจะต้องนำเงินมาคืนโจทก์ร่วม พฤติการณ์แสดงให้เห็นชัดเจนว่า จำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในร้านเคซีวงกบอีกต่อไป และโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของร้านเคซีวงกบแต่เพียงผู้เดียว ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ข้อ ๔. ที่โจทก์ร่วมอ้างว่านางพXทX เบิกความว่า หลังจากโจทก์ร่วมและจำเลยหย่าขาดกัน จำเลยย้ายไปอยู่ที่ร้านอาหารริมหาดซีฟู้ด และโจทก์ร่วมเป็นผู้บริหารร้านเคซีวงกบ โดยภายหลังจากที่จำเลยออกจากร้านเคซีวงกบแล้ว จำเลยไม่เคยกลับมาอีก ทั้งไม่เคยร่วมบริหารหรือเบิกเงินจากร้าน แต่กลับตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในปี 2547 จำเลยยืมเงินจากร้านเคซีวงกบหลายครั้ง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าคำเบิกความของพยานปากนี้มีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับเอกสาร

จำเลยขอแก้ฎีกาว่า นางพXทX ซึ่งทำงานกับโจทก์ร่วมมาหลายปี ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองโจทก์ร่วม และไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยนับตั้งแต่จำเลยหย่ากับโจทก์ร่วม นางพXทX จึงไม่มีเหตุที่จะเบิกความช่วยเหลือจำเลย การที่นางพXทX เบิกความว่าจำเลยไม่เคยร่วมบริหารหรือเบิกเงินร้านเคซีวงกบ มิใช่การเบิกความเท็จ เพราะจำเลยไม่ได้เบิกเงินจากร้านเคซีวงกบไปใช้ส่วนตัวหรือเพื่อครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ของตน แต่อย่างใด เพียงแต่เคยขอยืมเงินในจำนวนเล็กน้อยช่วงปี 2547 ซึ่งเป็นช่วงหลังหย่า และคืนให้ร้านเคซีวงกบทันทีในวันเดียวกัน คำเบิกความของนางพXทX จึงไม่ใช่การเบิกความเท็จหรือขัดแย้งกับเอกสารใด ๆ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ข้อ ๕. ที่โจทก์ร่วมอ้างในฎีกาทำนองว่า เงินจำนวน 40,000 บาท เป็นเงินส่วนแบ่งรายได้จากร้านอาหารพิพาท ไม่ใช่เงินช่วยเหลือตามมนุษยธรรมนั้น

จำเลยขอแก้ฎีกาว่า ตามบันทึกการร้องเรียนเอกสารหมาย จร.7 ซึ่งเขียนด้วยลายมือของโจทก์ร่วมเอง ในหน้าที่ 6 โจทก์ร่วมได้ระบุข้อความเกี่ยวกับเงินจำนวนดังกล่าวว่า “ต่อมารถยนต์เก๋งเบ๊นซ์จะถูกยึดเพราะรายได้ไม่พอ ข้าพเจ้าก็จะปล่อยให้ยึด…ลูกสาวจึงบอกนายพXลXว่าเขาจะยึดรถเบนซ์ของคุณแม่แล้ว นายพXลXจึงเริ่มจ่ายเช็ค 40,000 บาทให้จ่ายค่ารถและจ่ายค่าปรับ…จึงเขียนเช็คชำระค่ารถ 35,000 บาท” ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเงินดังกล่าวไม่ใช่ส่วนแบ่งรายได้จากร้านอาหารริมหาดซีฟู้ด แต่เป็นเงินที่จำเลยจ่ายช่วยเหลือเป็นค่าผ่อนรถยนต์ตามคำร้องขอของบุตรสาว สอดคล้องกับข้อต่อสู้ของจำเลย โดยจำเลยมีพยานคนกลาง ได้แก่ นางพXทX สXลX นางวXรX อXวX และน.ส.พXพX กXศX ซึ่งโจทก์ยอมรับว่าเป็นอดีตพนักงานร้านเคซีวงกบและร้านอาหารริมหาดซีฟู้ด รวมทั้งบุตรสาวของทั้งสองฝ่ายที่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ร่วม โดยพยานเหล่านี้ยืนยันว่า หลังจากหย่าขาด โจทก์ร่วมและจำเลยต่างได้แบ่งแยกการบริหารร้านเคซีวงกบและร้านอาหารริมหาดซีฟู้ดอย่างชัดเจนส่วนเงิน 35,000 บาทที่จำเลยเคยให้โจทก์ร่วมเป็นรายเดือนก็ไม่ใช่ส่วนแบ่งรายได้ แต่เป็นเงินช่วยเหลือค่าผ่อนรถตามคำร้องขอของบุตรสาว อีกทั้งโจทก์ร่วมอ้างว่าร้านริมหาดซีฟู้ดมีรายได้สูงมาก แต่กลับรับเพียงเดือนละ 40,000 บาท และลดลงเหลือ 35,000 บาท โดยไม่เรียกร้องส่วนแบ่งกำไรของร้าน ซึ่งขัดแย้งกับที่อ้างว่าเป็นรายได้จากร้านส่วนที่โจทก์ร่วมอ้างว่า จำเลยตกลงแบ่งรายได้ให้เพราะโจทก์ร่วมไปร้องเรียนที่อำเภอบางละมุงนั้น ความจริงแล้วจำเลยได้ช่วยเหลือค่าผ่อนรถให้ก่อนหน้าการร้องเรียน เนื่องจากบุตรสาวร้องขอ มิใช่เพราะการร้องเรียนกับอำเภอ ซึ่งระบุชัดในเอกสารหมาย จร.7 หน้าที่ 7 ย่อหน้าสุดท้าย ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ข้อ ๖ . ที่โจทก์ร่วมอ้างว่า มูลค่าของร้านเคซีวงกบมีไม่ถึง 12 ล้านบาทตามที่จำเลยกล่าวอ้าง และ กิจการร้านอาหารพิพาทมีกำไรดีมาก ไม่มีภาระหนี้สิน ไม่มีการขาดทุน ต่างจากกิจการร้านเคซีวงกบ ที่มีวงเงินเบิกเกินบัญชี เป็นภาระหนี้สินอยู่นั้น

จำเลยขอแก้ฎีกาว่า ขณะจดทะเบียนหย่า ร้านเคซีวงกบมีมูลค่าจำนวนมากและมีรายได้ดีมาก ซึ่งเป็นเหตุผลที่ธนาคารอนุมัติเงินกู้ให้โจทก์ร่วมในวงเงินสูงถึง 18,000,000 บาท โดยโจทก์ร่วมเบิกความตอบทนายความจำเลยในทำนองว่า “ก่อนที่ข้าจะกู้ยืมเงินจากธนาคารนั้น ธนาคารจะต้องดูรายได้ของข้าฯ ช่วงนั้นรายได้ของร้านเคซีวงกบยังดี” ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารายได้ของร้านเคซีวงกบและมูลค่าทรัพย์สินต้องดีมาก จึงทำให้ธนาคารอนุมัติเงินกู้ได้ถึง 18,000,000 บาทโจทก์ร่วมเบิกความเพิ่มเติมว่าเฉพาะไม้ที่เป็นวัตถุดิบมีมูลค่าไม่เกิน 3,000,000 บาท และไม้แปรรูปที่ทำเป็นสินค้าสำเร็จแล้วมีมูลค่าประมาณ 2,000,000 บาท ส่วนที่โจทก์ร่วมเบิกความว่าเครื่องจักรในร้านมีมูลค่าเพียง 1-2 แสนบาทนั้น เป็นเรื่องที่ขัดต่อเหตุผล เนื่องจากร้านที่มีทรัพย์สินและกิจการใหญ่โตถึงขนาดนี้ ไม่น่าจะมีเครื่องจักรมูลค่าเพียง 1-2 แสนบาท ความจริงแล้วทรัพย์สินของร้านเคซีวงกบมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 12 ล้านบาท ส่วนหนี้สินของร้านเคซีวงกบในช่วงจดทะเบียนหย่ามีเพียงหนี้จำนองเพื่อค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีประมาณ 1 ล้านบาทเศษเท่านั้นสำหรับร้านอาหารพิพาทในคดีนี้ ขณะโจทก์ร่วมและจำเลยอยู่กินด้วยกัน โจทก์ร่วมและจำเลยยังไม่ได้ดำเนินการซื้อขายจากเจ้าของเดิมจนเสร็จสิ้น และยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในร้านอาหารดังกล่าว โดยจำเลยได้ทำสัญญาเช่าและร่วมหุ้นกับบุคคลอื่นในการทำสัญญาซื้อขายแบบมีเงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์กับนางนXพX แXยX ซึ่งเป็นเจ้าของเดิม ขณะนั้นร้านมีมูลค่าประมาณ 2,000,000 บาท และยังมีหนี้สินที่จะต้องชำระให้เจ้าของเดิมอีกเป็นจำนวนมาก รายละเอียดปรากฏตามสัญญาเช่า สัญญาซื้อขายแบบมีเงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์ บันทึกร่วมลงทุนหุ้นส่วน เอกสารหมาย จ.5, จร.3, ล.13, ล.15 ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามูลค่าของร้านเคซีวงกบ ณ ขณะจดทะเบียนหย่ามีมูลค่าสูงกว่าร้านริมหาดซีฟู้ด ดังนั้น ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ข้อ ๗ .ที่โจทก์ร่วมกล่าวอ้างในฎีกาทำนองว่า นางนิตยาไม่ใช่หุ้นส่วนร้านอาหารพิพาท กับโจทก์ร่วมแต่อย่างใด แต่เป็นนายเรอเน่ ที่นำเงินมาให้โจทก์ร่วมหยิบยืมเพื่อลงทุนในกิจการร้านอาหารพิพาท และการชำระเงินระหว่างจำเลยกับนางนิตยาก็ไม่มีหลักฐานนั้น

จำเลยขอแก้ฎีกาว่า ตามเอกสารหมาย ล.15 ซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้เขียนเอง เช่น บันทึกร่วมลงทุน ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ยอดรวมลงทุนซื้อ = 11,500,000 บาท หาร 2 = 5,750,000 บาท แบ่งชำระ 3 งวด = 1,916,666 บาท” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นการที่โจทก์ร่วมและจำเลยร่วมลงทุนกับนายรXเX ในการซื้อร้านอาหาร ไม่ใช่ตามที่โจทก์ร่วมอ้างว่าเป็นการที่นายรXเX ให้โจทก์ร่วมกู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย ส่วนที่จำเลยชำระเงินคืนให้นางนXตX ไม่มีหลักฐานนั้น ไม่ใช่ข้อพิรุธ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นนานมาก อีกทั้งจำเลยและนางนXตX มีความสนิทสนมกัน ในคำเบิกความของโจทก์ร่วมเองก็ยอมรับว่าจำเลยได้คืนเงินจำนวน 6,000,000 บาทให้กับนางนXตX เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่อ้างว่าเป็นการคืนแบบผ่อนชำระและเป็นเงินกู้ ไม่ใช่เงินร่วมลงทุน ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ข้อ ๘ .ที่โจทก์ร่วมกล่าวอ้างในฎีกาว่า การซื้อที่ดิน 11 แปลง โจทก์ร่วมไม่ได้บอกจำเลย เพราะเป็นการซื้อภายหลังจากจดทะเบียนหย่าขาดจากกันแล้ว และที่ดินที่เป็นที่ตั้งร้านเคซีวงกบนั้น แต่เดิมได้ติดจำนองธนาคารอยู่แล้ว โจทก์ร่วมเพียงแต่ย้ายธนาคารเพราะสนใจของเสนอธนาคาร ซึ่งเห็นได้ว่า ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายแก่กิจการแต่อย่างใด การชำระหนี้ต้องนำรายได้ของร้านเคซีวงกบมาชำระ นำรายได้จากร้านริมหาดซีฟู๊ดมาชำระไม่ได้ เพราะผิดหลักการทางบัญชี โจทก์ร่วมไม่เคยตกลงแบ่งสินสมรสกับจำเลย

จำเลยขอแก้ฎีกาว่า ขณะจดทะเบียนหย่ากันนั้น ที่ดินที่เป็นที่ตั้งร้านเคซีวงกบเป็นหนี้จำนอง อยู่กับธนาคารเป็นเงินเพียง 1 ล้านบาทเศษเท่านั้น การที่โจทก์ร่วมจะนำที่ดินที่ตั้งร้านเคซีวงกบไปจำนองเพื่อประกันการกู้ยืมเงินจำนวน 16 ล้านบาท จากธนาคาร เพื่อนำไปซื้อที่ดินจำนวน 11 แปลง เป็นการเพิ่มหนี้สินเป็นจำนวนมากให้กับกิจการร้านเคซีวงกบ และเป็นการก่อหนี้สินโดยนำกิจการร้านเคซีวงกบไปเป็นหลักประกันเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของโจทก์ร่วมแต่เพียงผู้เดียว โดยการซื้อที่ดินของโจทก์ร่วม ซึ่งโจทก์ร่วมเบิกความตอบทนายความจำเลยถามค้านว่า “ ข้าซื้อที่ดินตามเอกสารหมาย ล.9 ในราคาต้นเงินรวมดอกเบี้ยที่ตกลงกับธนาคารเป็นเงินประมาณ 12,000,000 บาท” และ “ข้ากู้ยืมเงินจากธนาคารมาซื้อที่ดินทั้ง 11 แปลง”  แสดงให้เห็นว่าการจำนองที่ดินร้านเคซีวงกบของโจทก์ร่วม มิใช่เพียงแต่การย้ายธนาคารตามที่โจทก์ร่วมกล่าวอ้าง แต่เป็นการก่อหนี้เพิ่มเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 12,000,000 บาทอย่างแน่นอน ซึ่งเงินดังกล่าวโจทก์ร่วมนำไปชำระให้กับเจ้าของที่ดินตามเอกสารหมาย ล.9 ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการนำกิจการร้านเคซีวงกบไปก่อหนี้เพิ่มเติมขึ้นเป็นเงินสูงถึงสิบกว่าล้านบาท เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ร่วมแต่เพียงผู้เดียว  เป็นเรื่องสำคัญที่หากขณะนั้นจำเลยเป็นเจ้าของกิจการร่วมอยู่ด้วย จำเลยก็ควรจะต้องร่วมมีส่วนตัดสินใจด้วย แต่ปรากฎว่าโจทก์ร่วมกลับตัดสินใจเองแต่เพียงผู้เดียว  ซึ่งปรากฎมาภายหลังว่า โจทก์ร่วมไม่ได้ผ่อนชำระหนี้ให้กับธนาคาร ทำให้เกิดความเสียหาย กิจการร้านเคซีวงกบก็ถูกยึดทรัพย์สิน แต่โจทก์ร่วมกลับไม่เรียกร้องเอาส่วนแบ่งรายได้ของร้านริมหาดซีฟู๊ดมาเพื่อช่วยเหลือการผ่อนชำระหนี้กิจการร้านเคซีวงกบแต่อย่างใด ทั้งๆที่ที่จำเลยเคยให้เงินกับโจทก์ร่วมเดือนละ 40,000 และลดลงมาเหลือ 35,000 บาท เพื่อเป็นค่าผ่อนรถ ซึ่งเป็นหนี้ส่วนตัวของโจทก์ร่วมเอง หากขณะนั้นจำเลยเป็นเจ้าของร่วมหรือมีกรรมสิทธิ์ในร้านเคซีวงกบจริง โจทก์ร่วมก็น่าจะแจ้งให้จำเลยนำเงินส่วนแบ่งของร้านริมหาดซีฟู๊ด มาช่วยเหลือชำระหนี้ให้กับร้านเคซีวงกบด้วย    ชี้ให้เห็นว่าขณะนั้นโจทก์ร่วมได้ตกลงแบ่งทรัพย์สินกับจำเลยชัดเจนแล้ว โดยโจทก์ร่วมเป็นฝ่ายได้ร้านเคซีวงกบไป ส่วนจำเลยเป็นฝ่ายได้ร้านริมหาดซีฟู๊ดไป โดยรายได้และหนี้สินของทั้งกิจการต่างแยกต่างหากจากกันเด็ดขาด ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ข้อ ๙. ส่วนที่โจทก์ร่วมอ้างส่งเอกสารท้ายฎีกา เอกสารท้ายฎีกาหมาย 1-2 นั้น เอกสารหลักฐานดังกล่าวไม่ได้ทำการยื่นบัญชีระบุพยานและนำสืบตามกฎหมาย เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้น และไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีนี้ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง

         ข้อ ๑๐.กล่าวโดยสรุปแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมทุกข้อล้วนแต่ฟังไม่ขึ้น คดีนี้ฝ่ายโจทก์ มีแต่ตัวโจทก์ร่วมมาเบิกความกล่าวอ้างลอยๆ ทั้งยังเบิกความขัดแย้งต่อเหตุผลและพยานเอกสารไม่น่าเชื่อถือ แต่ฝ่ายจำเลยมีพยานคนกลางมาเบิกความยืนยันต่อศาลมีน้ำหนักและเหตุผลน่าเชื่อถือ  พยานของจำเลยย่อมมีน้ำหนักมากกว่าพยานของโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ร่วมและจำเลยได้มีการแบ่งสินสมรสกันหลังจดทะเบียนหย่าแล้ว โดยโจทก์ร่วมเป็นฝ่ายได้ร้านเคซีวงกบพร้อมที่ดินที่เป็นที่ตั้งร้านดังกล่าวไป ส่วนจำเลยเป็นฝ่ายได้ร้านอาหารริมหาดซีฟู้ดบางเสร่ซึ่งขณะนั้นยังคงมีเพียงเอกสารสัญญาเช่าและเอกสารสัญญาซื้อขายแบบมีเงื่อนไขไป

ต่อมาเมื่อโจทก์ร่วมบริหารร้านเคซีวงกบแล้วกิจการเสียหายจนต้องปิดตัวลง แต่ฝ่ายจำเลยบริหารร้านอาหารริมหาดซีฟู้ดบางเสร่ประสบความสำเร็จกิจการมีมูลค่าสูงขึ้น โจทก์ร่วมจึงกลับมาเรียกร้องเอาสิทธิ์ในร้านอาหารริมหาดซีฟู้ดบางเสร่จากจำเลยอีก ทั้งๆที่ตนเองไม่มีสิทธิในร้านอาหารริมหาดซีฟู้ดบางเสร่แล้วด้วยเหตุดังจำเลยประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพ โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิ์ใดใดในร้านอาหารริมหาดซีฟู้ดบางเสร่  และเงินที่ได้จากการขายร้านอาหารริมหาดซีฟู๊ดบางเสร่  โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีที่มีสิทธิ์แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับจำเลย จึงขอศาลฎีกาโปรดมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งสิ้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

กำหนดการยื่น

1.ภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับอุทธรณ์หรือฎีกา

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๗  จำเลยอุทธรณ์อาจยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันส่งสำเนาอุทธรณ์

ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ห้ามมิให้ศาลแสดงว่า จำเลยอุทธรณ์ขาดนัดเพราะไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๐๐  ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์

ธรรมดาจะส่งโดยปิดหมายก็บวกไปอีก 15 วันเป็น 30 วันครับ

2.การขยายระยะเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์

สามารถขยายระยะเวลาได้ปกติธรรมดาแล้วขยายได้ประมาณ 2 ครั้ง จะได้ค่อนข้างแน่นอนอยู่แล้ว

3.กรณียื่นเลยกำหนด

ศาลจะรับไว้เป็นแค่คำแถลงการณ์ไว้พิจารณาเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นการตั้งประเด็นให้ศาลพิจารณา

4.ยื่นคำแก้อุทธรณ์คำแก้อุทธรณ์-ฎีกาไปแล้วอยากจะแก้ไขเพิ่มเติมได้ไหม

สามารถทำได้ครับภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ยื่น ฎ.47/2528

สรุป

การยื่นคำแก้อุทธรณ์หรือคำแก้ฎีกาเนี่ยถือว่าเป็นอีกหนึ่งในหน้าที่สำคัญของทนายความที่จะต้องทำในคดีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญานะครับ

โดยเฉพาะในคดีแพ่งเนี่ยถึงแม้ว่าเราจะชนะคดีในภาพรวม แต่ในบางประเด็นเราอาจจะยังแพ้เขาอยู่เช่นเรื่องอายุความ  เรื่องอำนาจฟ้อง เรื่องฟ้องซ้ำ ฟ้องซ้อน เรื่องความสุจริตเรื่องเจตนาต่างๆ หรือบางประเด็นเนี่ยศาลก็ยังไม่ได้วินิจฉัย

ถ้าฝ่ายตรงข้ามยื่นอุทธรณ์คำพิพากษามาเราก็ควรจะยื่นแก้อุทธรณ์หรือแก้ฎีกาในประเด็นที่เราแพ้คดี หรือที่ศาลล่างยังไม่ได้วินิจฉัยไว้ด้วย

เพราะถ้าเกิดศาลสูง จะพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลล่างเป็นให้เรากลับไปแพ้คดีเนี่ยศาลก็จะต้องวินิจฉัยในประเด็นที่เราแก้อุทธรณ์หรือแก้ฎีกาไปด้วยครับ แต่ถ้าหากเราไม่แก้อุทธรณ์ไม่แก้ฎีกาไว้ศาลก็จะไม่วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวเลย

Express your opinion about this article

comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น