บทความกฎหมายแพ่งและวิธีพิจารณาความแพ่ง

การยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษ กรณีถูกบังคับคดีขับไล่ ภาคปฏิบัติแบบเข้าใจง่าย

อะไรคือคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษ

คือการยื่นคำร้องชี้แจงต่อศาล เพื่อขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งว่า เราไม่ใช่บริวารของจำเลย และเรามีสิทธิ์ พักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทได้ และฝ่ายโจทก์ ไม่มีสิทธิ์ดำเนินการบังคับคดีขับไล่เรา

ธรรมดาแล้วเมื่อฝ่ายโจทก์ชนะคดีฟ้องขับไล่หรือเมื่อมีการขายทรัพย์สินของจำเลยและมีผู้ซื้อทรัพย์ได้จัดการขายทอดตลาด ก็จะมีการดำเนินการขับไล่จำเลยและบริวารออกจากทรัพย์สินพิพาท หากจำเลยและบริวารไม่ยอมออกไปจากพื้นที่พิพาทที่จะถูกออกหมายจับ

หรือกดดูคลิปเพิ่มเติมผมได้อธิบายไว้ให้แล้ว

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

    มาตรา ๓๕๓  ในกรณีตามมาตรา ๓๕๑ (๒) ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติดังต่อไปนี้

(๑) รายงานต่อศาลเพื่อมีคำสั่งจับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวาร และให้ศาลมีอำนาจสั่งจับกุมและกักขังได้ทันที ในกรณีเช่นว่านี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๖๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่เราไม่ได้เป็นจำเลยในคดี แต่เราพักอาศัยอยู่ในทรัพย์สินพิพาท โดยมีสิทธิ์ต่างๆตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ตามสัญญาเช่า สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่า สิทธิ์เก็บกิน สิทธิอาศัย หรือครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว

เรามีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าเราไม่ใช่บริวารของจำเลย และโจทย์หรือผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดไม่มีสิทธิ์ขับไล่เราได้

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 353 อนุมาตรา (๒) ปิดประกาศให้บุคคลที่อยู่อาศัยหรือครอบครองทรัพย์นั้นซึ่งอ้างว่ามิได้เป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ยื่นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันปิดประกาศแสดงว่าตนมีอำนาจพิเศษในการอยู่อาศัยหรือครอบครองทรัพย์นั้น

ใครบ้างเป็นผู้มีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษ

ไม่ใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา

ต้องเป็นคนที่มีสิทธิ์พักอาศัยอยู่ในที่ดินได้ โดยไม่ได้อาศัยสิทธิ์ของจำเลยในคดีก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 678/2546 3049/2550 ,2516/2555 ,

ตัวอย่างผู้มีอำนาจพิเศษ เช่น

  1. สิทธิ์ตามสัญญาเช่าที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
  2. สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่า
  3. สิทธิ์เก็บกิน
  4. สิทธิอาศัย
  5.  หรือครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว

ต้องยื่นคำร้องภายในกี่วัน

ธรรมดาแล้วเมื่อมีการแปะประกาศขับไล่ในที่ดินพิพาท ในเนื้อหาประกาศขับไล่จะบอกไว้เลยว่าใครก็ตามที่ไม่ใช่บริวารของจำเลยและคิดว่ามีสิทธิ์อยู่ในที่พิพาทไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ให้ยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษภายใน 15 วันนับแต่วันที่ปิดหมาย เวลา 15 วันนั้นให้เริ่มนับเลยตั้งแต่วันที่ปิดหมาย ไม่ใช่บวกไปอีก 15 วัน เหมือนกับการปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ฎ.5393/2542 และระยะเวลาในการยื่นดังกล่าวไม่สามารถขยายระยะเวลาได้

ถ้าไม่ยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษภายในกำหนดจะเป็นอย่างไร

ถึงแม้ว่าเราจะมีสิทธิ์อาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่ไม่ได้ยื่นคำร้องภายในกำหนด ก็ถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของจำเลย และมีสิทธิ์โดนจับกุมกักขัง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๓๕๔  เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕๑ ให้ถือว่าบุคคลดังต่อไปนี้เป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา

(๑) บุคคลที่อยู่อาศัยหรือครอบครองทรัพย์นั้นและมิได้ยื่นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๓๕๓ (๒) หรือยื่นคำร้องต่อศาลแล้วแต่แสดงต่อศาลไม่ได้ว่าตนมีอำนาจพิเศษในการอยู่อาศัยหรือครอบครองทรัพย์นั้น

อย่างไรก็ตาม

ถึงแม้จะไม่ได้ยื่นคำร้องขอแสดงหน้าพิเศษภายใน 15 วัน ก็ยังสามารถยื่นในภายหลังได้  ฎ.3270/2553

เพียงแต่จะเสียผลประโยชน์จากการที่ถูกสันนิษฐานว่าเป็นบริวารของจำเลย และอาจจะถูกจับกุมกักขังไปก่อนแล้ว ดังนั้นไม่ควรจะยื่นเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด

หลักโดยสังเขปในการบรรยายคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษ

 1.บรรยายว่าปิดประกาศขับไล่เมื่อไหร่

 2.บรรยายว่าเราไม่ใช่บริวารของจำเลย

 3.บรรยายว่าเรามีสิทธิพักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทเพราะอะไร ถึงเมื่อไหร่ มีหลักฐานอะไรให้แนบไป

 4.ขอให้ศาลไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งว่าเราไม่ใช่บริวารของจำเลย

 การบรรยายคำร้องนั้นสำคัญมาก หากบรรยายคำร้องไม่ดีไม่ถูกต้อง ศาลก็มีสิทธิ์ยกคำร้องได้เลยโดยไม่ต้องไต่สวน

 ตัวอย่างคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษ

 ตัวอย่างที่ 1 กรณีขับไล่

คำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษ

ข้อ 1. คดีนี้ได้มีการดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งประกอบด้วยที่ดินโฉนดเลขที่ 11405, 11406, 11407, 11408, 11409, 33696, 10051 เลขที่ดิน 275, 276, 277, 278, 279, 2198, 215 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 206 หมู่ที่ 9 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ลักษณะเป็นอาคารสูง 15 ชั้น ใช้ประกอบกิจการโรงแรมชื่อโรงแรมทาวน์อินทาวน์ (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทรัพย์พิพาท”) รายละเอียดปรากฏตามประกาศการขายทอดตลาดเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1

ต่อมา บริษัท สXทX สXดX จำกัด ได้เป็นผู้ซื้อทรัพย์พิพาทดังกล่าวไป และได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อดำเนินการขับไล่จำเลยทั้งสามออกจากทรัพย์พิพาท และให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของจำเลยทั้งสามในคดีนี้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษภายในกำหนดเวลา 15 วันนับแต่วันที่ปิดประกาศ มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นบริวารของจำเลยทั้งสาม รายละเอียดปรากฏตามหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 2-3

ข้อ 2. ผู้ร้องขอกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่า ผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยทั้งสามในคดีนี้ และผู้ร้องมีอำนาจพิเศษ รวมถึงสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะพักอาศัยอยู่ในทรัพย์พิพาทนี้ได้จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2568 อีกทั้งผู้ร้องยังทรงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินบางส่วนที่ไม่ถือเป็นส่วนควบของทรัพย์พิพาท โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้:

ผู้ร้องมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ประกอบธุรกิจโรงแรม โดยดำเนินกิจการภายใต้ชื่อโรงแรมทาวน์อินทาวน์โฮเทลพัทยา ซึ่งตั้งอยู่บนทรัพย์พิพาทนี้มาตั้งแต่ปี 2548 รายละเอียดปรากฏตามหนังสือรับรองบริษัท เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 4

แต่เดิม บริษัท รXเXกรุ๊ป จำกัด จำเลยที่สามในคดีนี้ ประกอบธุรกิจโรงแรมในชื่อโรงแรมทาวน์อินทาวน์ซึ่งตั้งอยู่บนทรัพย์พิพาทนี้มานานหลายปี แต่เนื่องจากอาคารเสื่อมโทรม ไม่เหมาะสมกับการประกอบกิจการโรงแรมอีกต่อไป

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2548 ขณะนั้นบริษัท รXเXกรุ๊ป จำกัด (จำเลยที่สาม) ประสบปัญหาด้านการเงินและถูกฟ้องร้องดำเนินคดีหลายคดี ทำให้ขาดเงินทุนหมุนเวียนและไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ หากปิดกิจการจะส่งผลกระทบให้พนักงานต้องตกงาน รวมถึงสร้างความเสียหายแก่เจ้าหนี้และบุคคลอื่น ๆ

บริษัท รXเXกรุ๊ป จำกัด จำเลยที่สาม จึงมีความประสงค์ให้ผู้ร้อง ซึ่งประกอบธุรกิจโรงแรมอยู่แล้ว เข้ามาปรับปรุงอาคารและจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ มูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยการกระทำดังกล่าวได้รับความยินยอมจากโจทก์ในคดีนี้และเจ้าหนี้ทุกคนในขณะนั้น เนื่องจากจะทำให้จำเลยที่สามมีเงินหมุนเวียนเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์และเจ้าหนี้ทุกคนได้ ทั้งนี้ ในขณะนั้นจำเลยที่สามยังไม่ได้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย รายละเอียดเพิ่มเติมจะนำเสนอต่อศาลในชั้นพิจารณาต่อไป

บริษัท รXเXกรุ๊ป จำกัด จำเลยที่สาม ได้ทำหนังสือสัญญากับผู้ร้องให้สิทธิ์ในการประกอบกิจการ โดยมีข้อตกลงให้ผู้ร้องดำเนินการปรับปรุงอาคาร จัดหาและติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ บริษัท รXเXกรุ๊ป จำกัด จำเลยที่สาม ยินยอมส่งมอบการครอบครองทรัพย์พิพาทให้ผู้ร้องใช้ประโยชน์มีกำหนด 20 ปี นับจากวันที่ส่งมอบในวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 และให้สิทธิ์ผู้ร้องในการดำเนินธุรกิจโรงแรมบนทรัพย์พิพาทตลอดระยะเวลาดังกล่าว

ทั้งสองฝ่ายตกลงว่าในระหว่างการบริหารโรงแรมทาวน์อินทาวน์บนที่ดินพิพาท ผู้ร้องจะต้องแบ่งผลกำไรจากกิจการให้กับบริษัท รXเXกรุ๊ป จำกัด จำเลยที่สาม ตามข้อตกลง และหลังทำสัญญาผู้ร้องได้ดำเนินการแบ่งผลกำไรให้จำเลยที่สามอย่างสม่ำเสมอ โดยโจทก์และเจ้าหนี้อื่น ๆ ต่างรับทราบและยินยอม เนื่องจากกิจการโรงแรมดำเนินไปอย่างเปิดเผยและเป็นที่ทราบทั่วไป

นอกจากนี้ ทุกฝ่ายตกลงว่าหลังสัญญาสิ้นสุด ผู้ร้องมีสิทธิ์รื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินที่ได้ติดตั้งในทรัพย์พิพาท เช่น แอร์ ลิฟต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า กระจก กระเบื้อง ฝ้า เป็นต้น รายละเอียดทั้งหมดปรากฏตามหนังสือสัญญาการให้สิทธิ์ประกอบกิจการ พร้อมเอกสารแนบ ฉบับลงวันที่ 20 มิถุนายน 2548 เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 5

ข้อ 3. หลังจากทำสัญญาดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องได้ดำเนินการปรับปรุง จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยได้ลงทุนเป็นเงินกว่า 50 ล้านบาท และสามารถแบ่งผลกำไรให้กับบริษัท รXเXกรุ๊ป จำกัด จำเลยที่สาม ซึ่งเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทุกคน ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงค่าดูแลรักษา ค่าบริหารจัดการ และค่าดำเนินการต่าง ๆ ตลอดระยะเวลา 17 ปี เพื่อรักษาสภาพทรัพย์สินให้ยังคงมีมูลค่า จนถึงปัจจุบันผู้ร้องได้เสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นจำนวนเงินรวมเกินกว่า 100 ล้านบาท รายละเอียดผู้ร้องจะนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป

ในการดำเนินการบริหารกิจการ ผู้ร้องได้รับโอนและดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมในชื่อโรงแรมทาวน์อินทาวน์ Hotel Pattaya โดยเป็นผู้ดำเนินการติดต่อกับหน่วยงานราชการและเอกชนต่าง ๆ ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าบำรุงรักษาประจำปีเป็นเวลาเกือบ 20 ปี การตรวจสอบอาคาร การเอาประกันภัย และการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อบำรุงรักษาทรัพย์พิพาทให้อยู่ในสภาพที่ดีและยังคงสามารถใช้งานได้ รายละเอียดปรากฏตามใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ใบรับรองการตรวจอาคาร กรมธรรม์ประกันภัย ใบเสร็จค่าสาธารณูปโภค รวมถึงทะเบียนบ้าน ซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 6-10

ข้อ 4. ก่อนที่บริษัท สXทX สXดX จำกัด จะดำเนินการซื้อทรัพย์พิพาทคดีนี้ ทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิ์อยู่อาศัยและมีสิทธิ์เก็บผลประโยชน์ในทรัพย์พิพาทต่อเนื่องจนถึงเดือนกรกฎาคม 2568 เนื่องจากทรัพย์พิพาทนี้มีมูลค่าสูงนับหลักร้อยล้านบาท ก่อนการตัดสินใจซื้อ บริษัท สXทX สXดX จำกัด ได้ตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบคอบ อีกทั้งการประกอบธุรกิจโรงแรมของผู้ร้องภายใต้ชื่อโรงแรมทาวน์อินทาวน์พัทยาเป็นที่ทราบโดยทั่วไป

ก่อนที่จะซื้อทรัพย์สิน ตัวแทนของบริษัท สXทX สXดX จำกัด ซึ่งประกอบด้วยกรรมการผู้จัดการบริษัทและทนายความ ได้พบปะพูดคุยกับทนายความของผู้ร้องและทำความเข้าใจ รวมถึงตรวจสอบสัญญาข้อตกลงแล้ว

ในการประชุมกับผู้ร้อง ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้ตกลงว่า เมื่อซื้อทรัพย์แล้ว บริษัท สXทX สXดX จำกัด จะยินยอมให้ผู้ร้องอยู่อาศัยและเก็บผลประโยชน์ในทรัพย์พิพาทต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2568 ตามที่ระบุในสัญญา และหลังจากนั้นยินยอมให้ผู้ร้องรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น แอร์ ลิฟต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า กระจก กระเบื้อง ฝ้า ฯลฯ ที่ผู้ร้องได้นำมาติดตั้ง โดยผู้ร้องยินยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมด

บริษัท สXทX สXดX จำกัด ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดมีแผนปรับปรุงทรัพย์พิพาทให้เป็นโรงแรมระดับลักชัวรี่หรือ 5 ดาว จึงไม่ต้องการทรัพย์สินที่ผู้ร้องได้ลงทุนติดตั้ง และยินดีให้ผู้ร้องขนย้ายทรัพย์สินทั้งหมดออกไปหลังจากเดือนกรกฎาคม 2568 โดยแจ้งว่าจะยังไม่รีบดำเนินกิจการและขอให้ผู้ร้องดูแลโรงแรมไปก่อนระหว่างที่ยังไม่มีการประกอบธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ ผู้ร้องจึงไม่ได้เข้าร่วมประมูลซื้อทรัพย์ เพราะมีข้อตกลงกับบริษัท สXทX สXดX จำกัด ที่จะให้ผู้ร้องดำเนินการเก็บผลประโยชน์และอยู่อาศัยในทรัพย์พิพาทตามข้อตกลงเดิม และยินยอมให้รื้อถอนทรัพย์สินตามข้อตกลง

ผู้ร้องมีหลักฐานเป็นบันทึกภาพและเสียงการสนทนาระหว่างทนายความของผู้ร้อง นายชXนX ธXภX และกรรมการบริษัท สXทX สXดX จำกัด พร้อมทนายความของบริษัทผู้ซื้อ รายละเอียดเพิ่มเติมจะนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป

ข้อ 5. ด้วยเหตุผลดังที่ผู้ร้องได้กราบเรียนต่อศาลที่เคารพ ผู้ร้องและบริวารของผู้ร้องจึงไม่ใช่บริวารของจำเลยทั้งสามในคดีนี้ ผู้ร้องมีอำนาจพิเศษและสิทธิตามกฎหมายในการพักอาศัยในทรัพย์พิพาทจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2568 ตามสัญญาต่างตอบแทนพิเศษ ซึ่งเป็นหนังสือให้สิทธิ์ในการประกอบกิจการลงวันที่ 20 มิถุนายน 2548

บริษัท สXทX สXดX จำกัด ซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด ทราบข้อตกลงดังกล่าวก่อนการซื้อทรัพย์พิพาท และยินยอมตามข้อตกลงที่จะให้ผู้ร้องพักอาศัยในทรัพย์พิพาทจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2568 ทั้งนี้จะมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนในชั้นพิจารณา จึงกล่าวได้ว่าบริษัท สXทX สXดX จำกัด ไม่ได้เป็นผู้ซื้อทรัพย์พิพาทโดยสุจริตและไม่ได้จดทะเบียนโดยสุจริต

ดังนั้น ผู้ร้องขอศาลที่เคารพโปรดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องและโปรดมีคำสั่งว่าผู้ร้องและบริวารไม่ใช่บริวารของจำเลยทั้งสามในคดีนี้ และผู้ร้องมีอำนาจพิเศษในการอยู่อาศัยในทรัพย์พิพาทได้ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2568 ก่อนถึงกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดไม่มีสิทธิ์ดำเนินการบังคับขับไล่ผู้ร้อง อีกทั้งโปรดพิพากษาว่าผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินบางส่วนซึ่งไม่ใช่ส่วนควบของทรัพย์พิพาท รายละเอียดเพิ่มเติมจะปรากฏในชั้นพิจารณา

เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลที่เคารพโปรดอนุญาต

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

 ตัวอย่างที่ 2 กรณีขับไล่เช่นเดียวกัน

ข้อ 1. ในคดีนี้ โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีจากสำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร 1 มาติดประกาศขับไล่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบริวาร พร้อมทั้งให้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 125869 ตำบลดินแดง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอดินแดง (บางซื่อ) จังหวัดกรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 1372 ตำบลดินแดง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอดินแดง (บางซื่อ) จังหวัดกรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 67566 ตำบลห้วยขวาง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) จังหวัดกรุงเทพฯ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 63 ซอยนาทอง ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร โดยให้ขนย้ายทรัพย์สินของจำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้าง พร้อมส่งมอบในสภาพเรียบร้อยให้แก่โจทก์

ประกาศดังกล่าวระบุว่าผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายใน 15 วันนับจากวันที่ติดประกาศ มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยได้ทำการติดประกาศในวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 รายละเอียดปรากฏตามประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่แนบท้ายคำร้องฉบับนี้ หมายเลข 1

ผู้ร้องทั้งสองขอกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่า ผู้ร้องทั้งสองไม่ใช่บริวารของจำเลยในคดีนี้ และมีสิทธิ์อยู่อาศัยในที่ดินพิพาทต่อไปตามระยะเวลาของแต่ละคน เนื่องจากได้ทำสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่า และมีสิทธิ์อยู่อาศัยตามข้อตกลงดังกล่าวจนกว่าจะครบกำหนดตามสิทธิ์ของตน โดยมีเหตุผลประกอบเป็นลำดับดังต่อไปนี้

ข้อ 2. ผู้ร้องที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีนายสXกX กXวX เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัท มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท รายละเอียดปรากฏตามหนังสือรับรองบริษัท เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 2

ผู้ร้องที่ 1 ไม่ใช่บริวารของจำเลย เนื่องจากผู้ร้องที่ 1 มีอำนาจพิเศษในการครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1372 ตำบลดินแดง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอดินแดง (บางซื่อ) จังหวัดกรุงเทพมหานคร และที่ดินข้างเคียงที่เป็นทรัพย์พิพาทในคดีนี้ เนื่องจากผู้ร้องที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินเปล่าจากบริษัท พXสX จำกัด จำเลย โดยได้รับความยินยอมและการรับรู้จากโจทก์ในคดีนี้ ผู้ร้องที่ 1 ได้ดำเนินการปรับปรุงที่ดินจากที่ดินเปล่าให้กลายเป็นตลาดที่มีสิ่งปลูกสร้าง เช่น อาคารตลาด ห้องน้ำ และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ทั้งหมด โดยผู้ร้องที่ 1 ได้เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว

สัญญาเช่าระหว่างผู้ร้องที่ 1 และจำเลยกำหนดระยะเวลาเช่า 12 ปี ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยค่าเช่าปีแรกอยู่ที่ 300,000 บาท และปรับเพิ่มขึ้นทุกปี จนปัจจุบันอยู่ที่ 450,000 บาทต่อปี ซึ่งผู้ร้องที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าตรงเวลามาตลอด รายละเอียดปรากฏตามสัญญาเช่า เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 3

ผู้ร้องที่ 1 ได้ลงทุนเป็นเงินกว่า 10 ล้านบาทในการถมดิน ปลูกสร้างอาคาร ถนน ลานจอดรถ และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ที่ใช้สำหรับการทำตลาด รายละเอียดปรากฏตามสำเนาใบอนุญาตก่อสร้าง แบบแปลนอาคาร และรูปถ่ายของที่ดินพิพาทในปัจจุบันที่เป็นตลาด ซึ่งได้ปล่อยให้เช่าช่วงต่อให้บุคคลอื่น โดยได้รับความยินยอมจากโจทก์และจำเลย เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 4-6

หลักฐานเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและการชำระเงินค่าก่อสร้าง ผู้ร้องที่ 1 จะนำเสนอในชั้นพิจารณาต่อไป เนื่องจากเอกสารบางส่วนเกิดขึ้นมากกว่า 10 ปีแล้ว ทำให้ต้องใช้เวลาติดตาม

ตามสัญญาเช่า ข้อ 5 ระบุว่าผู้เช่าช่วงจะต้องดำเนินการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารในนามของผู้ให้เช่าช่วง และให้อาคารที่ปลูกสร้างตกเป็นส่วนควบและเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าช่วงทันทีที่ก่อสร้างเสร็จ โดยสัญญากำหนดให้ก่อสร้างเสร็จในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 มิฉะนั้นจะถูกบอกเลิกสัญญา ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ผู้ร้องที่ 1 มีภาระมากกว่าการเช่าทั่วไป

หลังจากทำสัญญา ผู้ร้องที่ 1 ได้ขออนุญาตปลูกสร้างในนามของจำเลยและออกเงินค่าก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ สำหรับทำตลาด ซึ่งได้เสร็จสิ้นตามกำหนดวันที่ 30 มิถุนายน 2556 โดยการลงทุนนี้เป็นไปตามข้อตกลงที่ผู้ร้องที่ 1 ได้ทำไว้กับบริษัท พXสX จำกัด และได้รับการยินยอมจากโจทก์ในคดีนี้ ซึ่งทราบข้อตกลงทั้งหมด

ดังนั้น สัญญาเช่าฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลา 12 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ผู้ร้องที่ 1 จึงไม่ใช่บริวารของจำเลยในคดีนี้และมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

ทั้งนี้ตามตัวอย่างนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่

คำพิพากษาฎีกาที่ 2826/2526    

การที่จำเลยจะต้องยกอาคารและสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาเช่าอีกโสดหนึ่งต่างหากจากค่าเช่าซึ่งมีเพียงเล็กน้อย ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่ามุ่งจะผูกพันกันเป็นเวลาถึงสิบปี โดยจำเลยต้องการเวลานาน ส่วนโจทก์ต้องการอาคารและสิ่งปลูกสร้างสัญญาเช่าจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาโจทก์จำเลยต้องผูกพันตามนั้น จะบอกเลิกสัญญาและขับไล่จำเลยก่อนครบกำหนดสิบปีหาได้ไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 451/2551     

จำเลยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน เพื่อทำสวนโดยเสียค่าเช่าปีละ 7,500 บาท มีการทำสัญญาเช่ากันครั้งละ 1 ปี โดยโจทก์ให้จำเลยเช่าตลอดมาเป็นเวลาประมาณ 15 ปีแล้ว แต่จำเลยมีหน้าที่ต้องพัฒนาที่ดินพิพาทให้เป็นไปที่ตกลงกันไว้ ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระแก่จำเลยมากขึ้นจากสัญญาเช่าตามธรรมดา และหากมีระยะเวลาการเช่าเพียง 1 ปี ตามปกติ จักทำให้จำเลยได้รับผลประโยชน์ไม่คุ้มกับที่จำเลยได้ลงทุนไปในการพัฒนาที่ดินและทำสวนมะนาว ทั้งเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่า ฝ่ายจำเลยก็ยินยอมให้สวนและสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยปลูกสร้างขึ้นในที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เป็นประโยชน์แก่โจทก์ด้วย โจทก์เองก็ได้แสดงเจตนาโดยชัดแจ้งตกลงยินยอมให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทเป็นระยะเวลา 30 ปี เป็นการตอบแทน สัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา

ฎีกาที่ 2759/2534  สัญญาเช่าที่ดินที่กำหนดให้ผู้เช่าสร้างลานจอดรถยนต์  แล้วมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่านั้นเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา

ฎีกาที่ 622/2557  โจทก์เช่าที่ดินและอาคารจากจำเลยนอกจากค่าเช่าที่ดินและอาคารตามปกติแล้วยังมีข้อตกลงให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ให้เช่าเป็นพิเศษเรียกว่าเงินค่าตอบแทนพิเศษเป็นจำนวนเงินสูง  เพื่อแลกกับการที่จำเลยยอมให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินและอาคารเป็นเวลา 27 ปี 3 เดือน 17 วัน  อีกทั้งตามสัญญาเช่าที่ดินและอาคารและหนังสือรับมอบที่ดินและอาคารมีข้อความกล่าวถึงเรื่องการก่อสร้างอาคารที่เช่าว่ายังต้องมีการก่อสร้างอาคารกันต่อไป โดยหากก่อสร้างอาคารเสร็จก่อนโจทก์ผ่อนชำระเงินค่าตอบแทนพิเศษหมด  โจทก์จะต้องชำระเงินค่าตอบแทนพิเศษส่วนที่เหลือ ให้แก่จำเลยในวันจดทะเบียนการเช่าที่ดินและอาคาร  จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่เพิ่มเข้ามาในสัญญาเช่าเพื่อประโยชน์แก่คู่สัญญาทั้งสองฝ่าย  สัญญาเช่าที่ดินและอาคารระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา  แม้ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนการเช่าที่ดินและอาคาร  แต่ในระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาข้อตกลงนั้นย่อมมีผลผูกพันบังคับกันได้ตามกฎหมาย  โจทก์มีสิทธิครอบครองใช้สอยทำประโยชน์เพื่อการขนส่งจนครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามสัญญาและจำเลยมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษและค่าเช่ารายเดือนจากโจทก์นับแต่วันทำสัญญาจนครบกำหนดระยะเวลาการเช่าเช่นกัน  เว้นแต่คู่สัญญาจะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่นในภายหลัง  ดังนี้สัญญาเช่าที่ดินและอาคารระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมิใช่เป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 570

ข้อ 3. ผู้ร้องที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีนายเXลX ศXลX เป็นกรรมการผู้มีอำนาจในการลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทผู้ร้องที่ 2 รายละเอียดปรากฏตามหนังสือรับรองบริษัทของผู้ร้องที่ 2 ซึ่งแนบเป็นเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 7

ผู้ร้องที่ 2 ขอประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่าผู้ร้องที่ 2 มีอำนาจพิเศษที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทได้ด้วยเหตุผลเนื่องต่อไปนี้

ผู้ร้องที่ 2 ได้เช่าอาคารสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 63 ซอยนาทอง ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่บน โฉนดเลขที่ 125869 ตำบลดินแดง  (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอดินแดง (บางซื่อ) จังหวัดกรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 1372 ตำบลดินแดง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอดินแดง (บางซื่อ) จังหวัดกรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 67566 ตำบลห้วยขวาง  (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) จังหวัดกรุงเทพฯ จากจำเลย โดยเป็นการเช่าช่วงโดยได้รับความยินยอมจากโจทก์ในคดีนี้และได้รับความรู้เห็นจากคดีนี้ โดยเป็นการทำสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมพ.ศ 2563 มีอัตราค่าเช่าในเดือนละ 50,000 บาท  โดยเป็นการเช่าต่อเนื่องมาเป็นเวลานานแล้วและได้มีการจ่ายค่าเช่าต่อเนื่องตลอดเวลา รายละเอียดปรากฏตามสัญญาเช่าเอกสารท้ายคำร้อง หมายเลข 8

โดยการเช่าอาคารดังกล่าว ผู้ร้องที่ 2 ได้ตกลงกับจำเลยและโจทก์คดีนี้ว่า ผู้ร้องจะต้องทำการออกเงินในการปรับปรุงอาคาร เพื่อใช้สำหรับการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท  เนื่องจากในขณะที่ผู้ร้องที่ 2 ได้ตกลงเข้าเช่าอาคารดังกล่าวนั้นอาคารดังกล่าวมีสภาพรกร้าง ผุพังตามกาลเวลา ไม่มีสภาพใดๆที่จะเอาไปก่อให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจได้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารดังกล่าวจึงยินยอมให้จำเลยปล่อยเช่าอาคารดังกล่าวให้กับผู้ร้องที่ 2 เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอาคารดังกล่าวให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน อันเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ร้องที่ 2 นอกเหนือจากการเช่าธรรมดา

ซึ่งผู้ร้องที่ 2 ได้ทำการปรับปรุงอาคารพิพาทโดยเสียเงินในการปรับปรุงไปแล้วกว่า 10 ล้านบาท จากสภาพอาคารพาณิชย์เดิมซึ่งเป็นเพียงอาคารเปล่าสภาพทิ้งร้าง ปัจจุบันเป็นสถานประกอบกิจการที่มีมูลค่าสูง เพื่อปรับปรุงอาคารพิพาทให้กลายเป็นสถานบริการสำหรับให้บุคคลอื่นเช่าช่วงต่อทำการเต้นรำ รายละเอียดปรากฏตามรูปถ่าย เอกสารท้ายคำร้อง  9  ซึ่งการก่อสร้างดังกล่าวก็ได้รับความยินยอมทั้งจากตัวโจทก์และจำเลยในคดีนี้เนื่องจากต่างเห็นว่าเป็นการที่ทั้งโจทก์และจำเลยก็ได้ประโยชน์

ส่วนหลักฐานเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย การรับเหมาก่อสร้าง การชำระเงิน การชำระเงินที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารดังกล่าว ผู้ร้องที่ 1 จะขอนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไปเนื่องจากเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว การหาเอกสารในระยะเวลาอันสั้นไม่สามารถทำได้

โดยตามสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยนั้นมีข้อตกลงตามข้อที่ 7 ว่า หากตลอดอายุสัญญาเช่านี้ผู้เช่าไม่ได้ค้างชำระค่าเช่าหรือผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่งเพื่อเป็นการตอบแทนผู้เช่าในการรับภาระค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงก่อสร้างอาคารห้องเต้น ผู้เช่าให้คำมั่น ว่าจะต่ออายุการว่าจะต่ออายุการเช่าให้อีกเป็นเวลา 3 ปี รายละเอียดปรากฏตามสัญญาเช่าข้อที่ 7

เนื่องจากสัญญาเช่าระหว่างผู้ร้องที่ 2 และจำเลยคดีนี้เป็นสัญญาเช่าที่อยู่ในความดูแลและความรู้เห็นของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารมาโดยตลอด และผู้ร้องที่ 2 ได้ออกเงินปรับปรุงอาคารไปเป็นจำนวนมากโดยได้รับความยินยอมจากโจทก์และจำเลย ดังนั้นสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่พิเศษยิ่งกว่าการเช่าซึ่งผู้ร้องที่ 2 มีสิทธิ์บังคับตามสัญญาข้อที่ 7 โดยผู้ร้องที่ 2 ได้ชำระค่าเช่าตรงตามกำหนดตลอดมา รายละเอียดปรากฏตามหลักฐานการชำระเงินค่าเช่าบางส่วนเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 10

ดังนั้นผู้ร้องที่ 2 ย่อมมีสิทธิ์เรียกร้องให้จำเลยดำเนินการต่อสัญญาเช่าตามเงื่อนไขเดิมอีกเป็นเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ 30 กันยายน 2566 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2569 และผู้ร้องที่ 2 ไม่ใช่บริวาร ของจำเลย ของจำเลยและมีสิทธิ์ของจำเลยและมีสิทธิ์พักอาศัย ครอบครอง และใช้ประโยชน์ อยู่ในที่ดินและอาคารพิพาท จนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาวันที่ 30 กันยายน 2569

ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกา

ฎีกาที่ 4156/2533  สัญญาเช่าเกิดจากเหตุที่ตึกแถวพิพาทของจำเลยถูกเพลิงไหม้จนโจทก์ผู้เช่าไม่สามารถใช้อยู่อาศัยและประกอบการค้าได้  หากจำเลยผู้ให้เช่าจะปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อรักษาตึกแถวพิพาทให้คงสภาพเดิมก็ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมาก  ปรากฏว่าโจทก์ต้องใช้จ่ายเงินซ่อมแซมเป็นจำนวน 100,000 บาทเศษ  สัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา  มีผลบังคับจำเลยได้  โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนการเช่ามีกำหนด 12 ปี  ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 491/2540     

ก่อนโจทก์เข้าอยู่ตามสัญญาเช่าจำเลยให้โจทก์ซ่อมแซมต่อเติมปรับปรุงตึกแถวพิพาทซึ่งมีสภาพทรุดโทรมมากโดยเสียค่าใช้จ่ายเองโจทก์ได้ดำเนินการซ่อมแซมต่อเติมปรับปรุงตึกแถวพิพาทแล้วเสร็จโดยใช้เวลา1ปีเศษสิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ2ล้านบาทจึงแสดงว่ามีการตกลงให้โจทก์ซ่อมแซมต่อเติมปรับปรุงตึกแถวพิพาทจริงและการซ่อมแซมดังกล่าวมิใช่เพียงเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยทรัพย์ของโจทก์เท่านั้นหากแต่เป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ทำให้ตึกแถวพิพาทมีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วยสัญญาเช่าดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาซึ่งไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  เอกสารสัญญาเช่าในคดีนี้เป็นสัญญาสำเร็จรูปของจำเลยที่ได้จัดพิมพ์เป็นแบบทั่วไปที่ใช้ในกิจการของจำเลยซึ่งข้อตกลงบางข้อที่ได้จัดพิมพ์ไว้สำเร็จรูปนี้โจทก์และจำเลยก็มิได้ถือเป็นข้อสาระสำคัญที่ต้องปฏิบัติต่อกันเช่นข้อ19เรื่องทำการค้าในทรัพย์สินที่เช่าซึ่งตกลงกันใช้เป็นที่อยู่อาศัยต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยเป็นหนังสือและโจทก์ต้องเสียเงินเพิ่มแต่จำเลยก็มิได้โต้แย้งโจทก์ที่ทำการค้าในทรัพย์สินที่เช่าและเรียกเงินเพิ่มเติมแต่อย่างใดดังนั้นแม้สัญญาข้อ6จะระบุว่าทรัพย์สินที่เช่าอยู่ในสภาพปกติและข้อ24ที่ว่าไม่มีข้อตกลงอื่นนอกจากที่ปรากฎในสัญญาหากมีก็ต้องระบุในต้นฉบับสัญญาว่ามีการแก้ไขเพิ่มเติมก็ตามก็เป็นการพิมพ์สำเร็จรูปไว้แล้วที่ไม่อาจถือเป็นข้อสาระสำคัญที่ต้องปฏิบัติต่อกันข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยได้มีข้อตกลงจะจดทะเบียนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ตามฟ้อง

คำพิพากษาฎีกาที่ 5770/2539     

โจทก์เช่าอาคารเฉพาะชั้นที่1ถึงชั้นที่6จากจำเลยในอัตราค่าเช่าเดือนละ200,000บาทต่อมาโจทก์ได้ปรับปรุงอาคารที่เช่าให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็นห้องพักและสำนักงานสิ้นค่าใช้จ่ายไป6,000,000บาทและจะต้องชำระค่าเช่าให้จำเลยอีกเดือนละ200,000บาททั้งตามข้อสัญญาระบุว่าบรรดาสิ่งที่ผู้เช่าได้นำมาตกแต่งในสถานที่เช่าถ้ามีลักษณะติดตรึงตรากับตัวอาคารแล้วผู้เช่าซื้อจะรื้อถอนไปไม่ได้เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่าการปลูกสร้างหรือดัดแปลงต่อเติมที่ผู้เช่าได้กระทำขึ้นนั้นต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทั้งสิ้นในการลงทุนปรับปรุงอาคารพิพาทประกอบกับข้อสัญญาดังกล่าวบ่งชี้ว่าสัญญาเช่าระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา

ข้อ 4. ด้วยเหตุดังผู้ร้องทั้งสองประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพ ผู้ร้องทั้งสองจึงขอศาลที่เคารพโปรดเมตตาไต่สวนคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง โดยผู้ร้องทั้งสองจะนำพยานหลักฐานมานำสืบตามข้อกล่าวอ้างของตนโดยละเอียดในชั้นพิจารณาเพิ่มเติมอีกต่อไป และโปรดมีคำสั่งว่าผู้ร้องทั้งสองไม่ใช่บริวารของจำเลยในคดีนี้และมีสิทธิ์อยู่อาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไปได้ตามสิทธิ์ของตนเอง โดยผู้ร้องที่ 1 มีสิทธิ์อยู่ในที่ดินพิพาทได้ถึงวันที่  31 ธันวาคมพ.ศ 2567   และผู้ร้องที่ 2 มีสิทธิ์อยู่ในที่ดินพิพาทได้ถึงวันที่  30 กันยายน 2569 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมขอศาลที่เคารพโปรดเมตตา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

 กระบวนการหลังจากยื่นคำร้อง

1.ศาลจะนัดไต่สวนหลังจากยื่นคำร้องประมาณ 2 เดือน

2.ระหว่างการไต่สวนคำร้อง ยังถือว่าเรายังไม่ใช่บริวารของจำเลย ดังนั้นแล้วศาลยังไม่ออกหมายจับหรือดำเนินการขับไล่ระหว่างนี้

3.ศาลจะสั่งให้ส่งสำเนาให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องเช่นโจทก์จำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด หากใครจะคัดค้านก็มีสิทธิ์เข้ามาคัดค้านได้ภายในเวลาที่ศาลกำหนด

4.ในวันไต่สวนคำร้อง เพื่อจะมีการนำพยาน ไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคลพยานเอกสารหรือพยานวัตถุต่างๆมาไต่สวนและแสดงต่อศาลว่าเหตุใดเราจึงมีสิทธิ์อยู่อาศัยในที่ดินพิพาท

5.หากศาลฟังได้ว่าเรามีสิทธิ์อาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท ก็จะมีคำสั่งว่าเรามีอำนาจพิเศษ และเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดมีสิทธิ์ดำเนินการบังคับขับไล่เรา

6.หากศาลฟังว่าเราไม่มีสิทธิ์อาศัยหรือเป็นบริวารของจำเลย ศาลจะมีคำสั่งว่า เราไม่สามารถแสดงได้ว่ามีอำนาจพิเศษและยกคำร้อง

หลังจากนั้น ฝ่ายเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดก็มีสิทธิในการบังคับคดีขับไล่เราได้ต่อไป

สรุป

การยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษคือ มีประโยชน์ตรงที่และทำปฏิบัติก็มักจะใช้ในการยื้อให้อยู่ต่อได้สักพักหากเรามีสิทธิ์อาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท แล้วไม่ใช่บริวารของจำเลย เราก็มีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษได้

Express your opinion about this article

comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น