การล่อซื้อและการล่อให้กระทำผิดแตกต่างกันอย่างไร ?
การล่อซื้อกับการล่อให้กระทำผิดนั้นมีความแตกต่างกัน เนื่องจากการล่อซื้อนั้นเป็นเรื่องของการแสวงหาพยานหลักฐานจากผู้ต้องหาซึ่งมีการกระทำผิดกฎหมายเป็นประจำอยู่แล้ว เช่นมียาเสพติดไว้ครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งพยานหลักฐานที่ได้จากการล่อซื้อนั้นสามารถรับฟังลงโทษจำเลยได้
แต่การล่อให้กระทำความผิด เป็นกรณีของการหลอกล่อ หรือการกระทำใดๆที่เป็นการชักจูงให้ผู้ต้องหากระทำผิดขึ้นแล้วจับกุมดำเนินคดี โดยที่เดิมผู้ต้องหาซึ่งถูกล่อให้กระทำ ไม่เคยมีเจตนากระทำความผิดนั้นๆมาก่อน การกระทำผิดจึงเป็นผลมาจากการล่อให้กระทโดยตรง ตัวผู้กระทำไม่มีเจตนาดั้งเดิมที่จะกระทำอยู่ก่อน และพยานหลักฐานที่ได้มาจากการล่อให้กระทำผิดนี้ไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้
ยกตัวอย่างเช่น หาก นาย ก. ติดยาบ้า มียาบ้าไว้ในครอบครอง แต่ธรรมดาแล้วนาย ก. มียาบ้าดังกล่าวเพื่อเสพอย่างเดียวเท่านั้น ไม่เคยจำหน่ายยาบ้ามาก่อน ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจใช้สายลับชื่อนาย ข. เป็นเพื่อนนาย ก. ไปคะยั้นคะยอ ขอร้องให้นาย ก.แบ่งขายให้นาย ข.บ้าง โดยอ้างว่า นายข.อยากยา เช่นนี้เป็นการล่อให้กระทำผิด และพยานหลักฐานที่ได้มาจากการล่อให้กระทำความผิดคือนาย ข.สายลับ และพนักงานตำรวจที่ซุ่มดูการล่อซื้อ ถือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาจากการหลอกลวงโดยมิชอบ จึงไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ถึงมีการล่อให้กระทำผิดเช่นนี้และนาย ก. ขายยาบ้า ให้นาย ข.จริงก็ไม่อาจลงโทษนาย ก.ฐานจำหน่ายยาบ้าได้
แต่หากนาย ก.มียาบ้าไว้ยาบ้าเป็นปกติอยู่แล้ว การที่พนักงานตำรวจให้นาย ข.ไปล่อซื้อยาบ้าจากนาย ก.ถือว่าเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมาย พยานหลักฐานนี้จึงสามารถรับฟังได้
ดังนั้นการต่อสู้คดีในลักษณะนี้จะต้องพิสูจน์ว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่หรือผู้เสียหาย(เช่นในคดีลิขสิทธิ์)เป็นการล่อซื้อหรือการล่อให้กระทำผิด จุดสำคัญอยู่ที่การพิสูจน์ให้เห็นว่ามีการตั้งใจที่จะกระทำผิดอยู่ก่อนแล้ว หรือไม่ได้ตั้งใจกระทำผิด แต่กระทำผิดไปเพราะถูกหลอกล่อ ชักจูง โน้มน้าวให้กระทำ โดยพิจารณาจากด้านปัจจัยในตัวของจำเลยเอง เช่น บุคลิกภาพ ประวัติการกระทำผิด สถานที่อยู่ และพฤติการณ์อื่นในคดี ส่วนด้านปัจจัยภายนอกคือ พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่หรือผู้เสียหายว่ากระทำการอย่างไร ถึงขั้นโน้มน้าวชักจูงหรือไม่ หรือจำเลยมุ่งจะกระทำผิดอยู่แล้ว…