การกล่าวโทษในคดีอาญาคืออะไร แตกต่างจากการร้องทุกข์ยังไง มีข้อกฎหมายและเทคนิคอะไรบ้างที่เราจะต้องรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อเอามาปรับใช้ในการทำงาน วันนี้เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังครับ
สำหรับหลักเรื่องการร้องทุกข์เนี่ยผมเคยได้ทำคลิปอธิบายไว้แล้วนะครับใครยังไม่ดูก็ไปดูได้ จะได้เข้าใจมากขึ้นครับ
ที่นี้พอพูดถึงเรื่องร้องทุกข์แล้วก็ต้องพูดถึงเรื่องนึงที่สำคัญแล้วก็ติดตามกันมาก็คือเรื่องการกล่าวโทษ
ซึ่งในการเรียนกฎหมายเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยออกสอบไม่ค่อยได้ศึกษาทำความเข้าใจกัน แต่จริงๆในการทำงานถือว่าเป็นประเด็นที่สามารถหยิบยกเอามาปรับใช้ได้เป็นอย่างดีเลยนะครับ
แล้วหลักกฎหมายเรื่องการกล่าวโทษเนี่ยมันคืออะไร วันนี้ผมเลยจะอธิบายให้ฟังกันแบบละเอียดแล้วก็เข้าใจง่ายๆเลย
การกล่าวโทษคืออะไร ?
การกล่าวโทษ คือการที่บุคคลใดคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นผู้เสียหายในคดี ไปกล่าวหาบุคคลอีกคนหนึ่ง ว่าได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ต่อพนักงานสอบสวน
มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายอาญา
(8) “คำกล่าวโทษ” หมายความถึงการที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดี ได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งขึ้น
องค์ประกอบของการกล่าวโทษ
1. บุคคลที่เป็นผู้กล่าวโทษ
บุคคลที่เป็นผู้กล่าวโทษเนี่ยจะเป็นใครก็ได้นะครับ ที่พบเห็นการกระทำความผิด ไม่ว่าเขาจะมีส่วนได้เสียหรือไม่ จะได้รับความเสียหายหรือเปล่า ใครก็ได้เลยครับสามารถกล่าวโทษได้หมดเลย
ยกเว้นแต่ ผู้เสียหายกล่าวโทษไม่ได้ครับ เพราะผู้เสียหายจะต้องไปร้องทุกข์
ตัวอย่างคนที่มีสิทธิกล่าวโทษ เช่น
● ตำรวจชุดสืบสวน
● องค์กรของรัฐ
● นิติบุคคลต่างๆ
● เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
● พยานที่พบเห็นเหตุการณ์
● ญาติพี่น้อง พ่อแม่ คนรักหรือสามีภรรยาของผู้เสียหาย
● ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ร่วมกระทำความผิดมาด้วยกัน
● ป้าข้างบ้าน
● คนที่ไม่ชอบขี้หน้าเรา
● คู่แข่งทางธุรกิจ
บุคคลต่างๆเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้กล่าวโทษได้หมดเลยครับ
ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับการร้องทุกข์ ที่คนร้องทุกข์จะต้องเป็นผู้เสียหายในคดีเท่านั้น
2. คดีที่กล่าวโทษได้
ด้วยความที่การกล่าวโทษใครก็กล่าวโทษได้
ดังนั้นกฎหมายจึงจำกัดคดีที่สามารถกล่าวโทษได้ให้เป็นเฉพาะคดีความผิดอาญาต่อแผ่นดินเท่านั้น เช่น
1. คดียาเสพติด
2. คดีฆาตกรรม
3. ลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ รับของโจร
4. ฉ้อโกงประชาชน
5. แชร์ลูกโซ่
6. คดีข่มขืน
7. คดีพรากผู้เยาว์
8. คดีการพนัน
9. พ.ร.บ.การพนัน
ความผิดต่างๆเหล่านี้นะครับ รัฐเป็นผู้เสียหาย ถือว่าเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ใครก็ตามที่เห็นการกระทำเหล่านี้ก็สามารถกล่าวโทษให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีได้ ถือว่าเป็นการช่วยเหลือรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม
แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว เช่น
1. คดีฉ้อโกง
2. คดียักยอก
3. โกงเจ้าหนี้
4. คดีหมิ่นประมาท
5. ทำให้เสียทรัพย์
6. บุกรุก
แบบนี้จะใช้การกล่าวโทษไม่ได้ครับ กล่าวโทษไปก็ไม่ได้มีผลตามกฎหมาย พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจทำอะไรต่อ
เพราะคนที่จะมีสิทธิดำเนินการเอาเรื่องไปแจ้งได้ ในคดีความผิดต่อส่วนตัว มีเฉพาะผู้เสียหายอย่างเดียวเท่านั้น โดยจะต้องทำด้วยวิธีการร้องทุกข์
ดังนั้นการกล่าวโทษจึงมีได้เฉพาะในความผิดอาญาแผ่นดินเท่านั้น
3.กล่าวโทษต่อใคร
เรื่องนี้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับการร้องทุกข์ ก็คือการกล่าวโทษนั้นจะต้องเป็นการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจดำเนินคดีอาญาในเรื่องนั้น
ถ้าเป็นการไปร้องเรียนต่อบุคคลอื่น กล่าวโทษต่อบุคคลอื่นเช่นผู้บังคับบัญชา ร้องเรียนต่อสื่อมวลชล ต่อนายกรัฐมนตรี หรือต่อหน่วยงานอื่นที่ไม่มีอำนาจสอบสวนก็ไม่ถือว่าเป็นการกล่าวโทษครับ
อาจจะถือว่าเป็นการร้องเรียน การขอให้สอบสวนอะไรก็ว่าไปแต่ไม่ใช่การกล่าวโทษ
ทั้งนี้ตามป. วิ.อาญามาตรา 123 ประกอบมาตรา 127
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 123 ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้
คำร้องทุกข์นั้นต้องปรากฏชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องทุกข์ ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับและชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้
คำร้องทุกข์นี้จะทำเป็นหนังสือหรือร้องด้วยวาจาก็ได้ ถ้าเป็นหนังสือต้องมีวันเดือนปีและลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ถ้าร้องด้วยวาจา ก็ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปีและลงลายมือชื่อผู้บันทึกกับผู้ร้องทุกข์ในบันทึกนั้น
มาตรา 127 ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 123 ถึง 126 มาบังคับโดยอนุโลมในเรื่องคำกล่าวโทษ
รูปแบบลักษณะของการกล่าวโทษ
วิธีการกล่าวโทษนั้นเป็นแบบเดียวกับการร้องทุกข์เลยครับ เพราะกฎหมายให้นำหลักเกณฑ์เรื่องการร้องทุกข์มาบังคับใช้โดยอนุโลม
ดังนั้นลักษณะโดยทั่วไปของการกล่าวโทษจะต้องมีลักษณะดังนี้
1. ชื่อผู้กล่าวโทษ
2. ลักษณะการกระทำความผิด
3. พฤติการณ์ต่างๆในการกระทำความผิด
4. ความเสียหายที่ได้รับ (อาจจะต้องมีการปรับ)
5. ชื่อหรือรูปพรรณสัณฐานของผู้กระทำความผิด (กรณีรู้ตัว)
6. ทำเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้
7. ต้องมีการลงลายมือชื่อ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 127 ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ถึง ๑๒๖ มาบังคับโดยอนุโลมในเรื่องคำกล่าวโทษ
เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับคำกล่าวโทษจะไม่บันทึกคำกล่าวโทษในกรณีต่อไปนี้ก็ได้
(1) เมื่อผู้กล่าวโทษไม่ยอมแจ้งว่าเขาคือใคร
(2) เมื่อคำกล่าวโทษเป็นบัตรสนเท่ห์
คำกล่าวโทษซึ่งบันทึกแล้วแต่ผู้กล่าวโทษไม่ยอมลงลายมือชื่อ เจ้าพนักงานผู้รับคำกล่าวโทษจะไม่จัดการแก่คำกล่าวโทษนั้นก็ได้
มาตรา 123 ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้
คำร้องทุกข์นั้นต้องปรากฏชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องทุกข์ ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับและชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้
คำร้องทุกข์นี้จะทำเป็นหนังสือหรือร้องด้วยปากก็ได้ ถ้าเป็นหนังสือต้องมีวันเดือนปีและลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ถ้าร้องด้วยปาก ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปีและลงลายมือชื่อผู้บันทึกกับผู้ร้องทุกข์ในบันทึกนั้น
ผลของการกล่าวโทษ
ถ้าการกล่าวโทษถูกต้องตามกฎหมายแล้ว กล่าวคือมีรายละเอียดลักษณะการกระทำความผิด พฤติการณ์การกระทำความผิด ชื่อหรือรูปพรรณสัณฐานของผู้กระทำความผิด และรายละเอียดอื่นๆครบถ้วน พนักงานสอบสวนก็จัดการสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ไปตามพยานหลักฐานที่มี
แต่ถ้าคำกล่าวโทษดังกล่าว มีลักษณะเป็นบัตรสนเท่ห์ ไม่ยอมบอกว่าผู้กล่าวโทษคือใคร ไม่ยอมลงลายมือชื่อ หรือว่ามีลักษณะไม่ครบถ้วน เช่นไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด ไม่เห็นลักษณะการกระทำความผิดที่ชัดเจน พนักงานสอบสวนก็อาจจะไม่ดำเนินการอะไรก็ได้
ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 13การรายงานคดีอาญาบทที่ 3 คำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ
ข้อ 11 เมื่อมีผู้แจ้งความกับพนักงานสอบสวน ถ้าการแจ้งความนั้นเป็นคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษตามกฏหมาย ให้พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษตามระเบียบเพื่อทำการสอบสวนดำเนินคดีต่อไป หากการแจ้งความนั้นไม่ใช่เป็นคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ หรือเป็นเรื่องทางแพ่งให้พนักงานสอบสวนลงรายงานประจำวันชี้แจงหลักกฏหมายไว้เป็นหลักฐาน แล้วแจ้งให้ผู้แจ้งความทราบ เว้นแต่ กรณีที่การแจ้งความนั้นไม่เป็นคำร้องทุกข์แต่เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนควรจะต้องสอบสวนว่ามีมูลความผิดเป็นอาญาแผ่นดินหรือไม่ ถ้าปรากฏเป็นความผิดอาญาแผ่นดินแล้ว เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการต่อไป
ข้อ 13 กรณีที่รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษแล้ว ภายหลังการสอบสวนปรากฏว่าไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบรายงานตามลำดับชั้นจนถึงกองบัญชาการหรือตำรวจภาค แล้วแต่กรณีเพื่อขอถอนหมายเลขคดีและสำเนาส่งศูนย์ข้อมูลข้อสนเทศปรับข้อมูลให้ถูกต้องโดยไม่ชักช้า
ข้อ 15 เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษไว้ถูกต้องตามระเบียบแล้ว ให้พนักงานสอบสวนออกหลักฐานการรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษตามแบบในระเบียบนี้ มอบให้ผู้เสียหายหรือผู้แจ้งเพื่อใช้ในการติดต่อ
อย่างไรก็ตามถึงไม่มีคำกล่าวโทษ หรือคำกล่าวโทษไม่ชอบตำรวจก็ดำเนินคดีได้
ซึ่งในคดีประเภทนี้ต่อให้ไม่มีคำกล่าวโทษ พนักงานสอบสวนก็สามารถดำเนินคดีเองได้อยู่แล้วถ้าพบการกระทำความผิดด้วยตนเอง ดังนั้นถึงแม้คำกล่าวโทษไม่ชอบ เป็นเพียงบัตรสนเท่ห์ ไม่มีการระบุชื่อหรือลงลายมือชื่อผู้กล่าวโทษ ถ้าพนักงานสอบสวนเห็นการกระทำความผิดที่ชัดเจนก็สามารถดำเนินคดีได้เช่นเดียวกัน
ฎ.273/2498 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 122 มิใช่เป็นบทห้ามเด็ดขาดมิให้พนักงานสอบสวนสอบสวนตามหนังสือกล่าวโทษเป็นบัตรสนเท่ห์
ฎ.426/2547 ความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดและพนักงานสอบสวนก็มีอำนาจทำการสอบสวนได้ ไม่ว่าจะมีผู้เสียหายร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษผู้กระทำผิดหรือไม่ แม้จะวินิจฉัยว่าการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่มีผลทำให้การดำเนินคดีนี้แก่จำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัน
แตกต่างจากการร้องทุกข์ที่ถ้าทำโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พนักงานสอบสวนจะไม่มีอำนาจสอบสวน
ข้อกฎหมาย
มาตรา 122 พนักงานสอบสวนจะไม่ทำการสอบสวนในกรณีต่อไปนี้ก็ได้
(3) เมื่อมีหนังสือกล่าวโทษเป็นบัตรสนเท่ห์ หรือบุคคลที่กล่าวโทษด้วยปากไม่ยอมบอกว่าเขาคือใคร หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อในคำกล่าวโทษหรือบันทึกคำกล่าวโทษ
มาตรา 127 ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 123 ถึง 126 มาบังคับโดยอนุโลมในเรื่องคำกล่าวโทษ
เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับคำกล่าวโทษจะไม่บันทึกคำกล่าวโทษในกรณีต่อไปนี้ก็ได้
(1) เมื่อผู้กล่าวโทษไม่ยอมแจ้งว่าเขาคือใคร
(2) เมื่อคำกล่าวโทษเป็นบัตรสนเท่ห์
คำกล่าวโทษซึ่งบันทึกแล้วแต่ผู้กล่าวโทษไม่ยอมลงลายมือชื่อ เจ้าพนักงานผู้รับคำกล่าวโทษจะไม่จัดการแก่คำกล่าวโทษนั้นก็ได้
ธรรมดาการกล่าวโทษใช้กันในกรณีไหน ?
1.เจ้าพนักงานที่สืบสวนพบการกระทำความผิด
ส่วนใหญ่ใช้คำว่ากล่าวหา ซึ่งก็มีความหมายเดียวกับการกล่าวโทษ
2.ตัวเองไม่ได้เป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย แต่ก็ได้รับความเสียหาย โดยทางพฤตินัย
ยาเสพติด การพนัน สถานบันเทิง
3.การซัดทอดระหว่างผู้กระทำผิดร่วมกัน
● ความจริงแล้วผมไม่ได้กระทำความผิด มันนั่นแหละก็ทำความผิด
● ถ้าผมโดนมันก็ต้องโดนด้วย
● มันตีเนียนเป็นผู้เสียหายความจริงมันก็เป็นผู้กระทำความผิด
4.การสืบสวนสอบสวนจากองค์กร เอกชนหรือองค์กรของรัฐ
NGOs humanright หน่วยงานของรัฐต่างๆสอบสวนภายใน
5.กลั่นแกล้ง ร้องเรียน ขัดผลประโยชน์
สรุปความแตกต่างระหว่างการร้องทุกข์กับการกล่าวโทษ
สิ่งที่ต่างกัน
1. ผู้มีสิทธิ
● คนที่มีสิทธิร้องทุกข์จะต้องเป็นผู้เสียหายเท่านั้น
● แต่ในการกล่าวโทษ ทุกคนมีสิทธิหมด
2. รูปแบบคดี
● คดีที่จะทำการร้องทุกข์ได้ จะเป็นความผิดต่อส่วนตัว หรือความผิดอาญาแผ่นดินก็ได้
● คดีที่จะทำการกล่าวโทษได้ มีเฉพาะคดีความผิดอาญาแผ่นดิน เท่านั้น
3. ผลของการแจ้ง
● ไม่มีการร้องทุกข์โดยถูกต้องตามกฎหมาย ในคดีความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนจะไม่มีอำนาจทำอะไรกับผู้ต้องหาเลย ไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการก็ไม่มีอำนาจฟ้อง
● ไม่มีการกล่าวโทษ ถ้าพนักงานสอบสวนพบผู้มีการกระทำความผิดอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจดำเนินการได้โดยเสมอเลยครับ
4. การถอนคดี-ยอมความ
● การร้องทุกข์นั้น สามารถถอนคำร้องทุกข์ หรือยอมความกันได้ตลอดเลยครับ ถ้าเป็นการร้องทุกข์ในคดีความผิดต่อส่วนตัว
● แต่การกล่าวโทษนั้นอย่างที่บอกแล้วว่าเป็นการกล่าวโทษได้เฉพาะในคดีความผิดอาญาแผ่นดินเท่านั้น ดังนั้นในการกล่าวโทษจึงไม่สามารถถอนคำร้องทุกข์หรือยอมความกันได้
สิ่งที่เหมือนกัน
1. รูปแบบเนื้อหาของการร้องทุกข์และกล่าวโทษ
2. เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจรับคำร้องทุกข์-กล่าวโทษ
สรุป
ทั้งการร้องทุกข์แล้วก็กล่าวโทษ เป็นส่วนสำคัญของของกระบวนการดำเนินคดีอาญา เราจะต้องเรียนรู้ถึงความเหมือนแล้วความแตกต่าง แล้วก็เทคนิคทางปฏิบัติต่างๆเพื่อเอาไปปรับใช้ในการทำงานได้อย่างถูกต้อง ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆนะครับ ในคลิปนี้ฝากติดตามเพลย์ลิสต์กระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยครับ