Articles on criminal law and criminal procedure

โกงเจ้าหนี้ ตาม ม.350 รวม 13 ประเด็นข้อต่อสู้ของจำเลย และข้อควรระวังของฝ่ายโจทก์

Table of contents in the article

ความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 นั้น พบบ่อยในกรณีลูกหนี้โอนทรัพย์สินไปให้บุคคลอื่น แต่ในความผิดข้อหานี้ มิใช่เพียงว่าลูกหนี้ โอนย้ายทรัพย์สินไปให้บุคคลอื่นแล้ว จะเป็นความผิดเสมอไป แต่ยังมีบริบท พฤติการณ์ และเจตนาของจำเลย ที่ศาลจะต้องพิจารณาประกอบเพื่อวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่

วันนี้ผมรวบรวมคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศาลยกฟ้อง ในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ โดยแบ่งแยกเป็นประเด็น รวมเป็น 13 ประเด็น  เพื่อใช้เป็นคู่มือในการทำงานและเตรียมคดีของทนายความ โดยหากท่านเป็นฝ่ายโจทก์ ก็ต้องหาทางอุดช่องว่างดังกล่าว และหากเป็นฝ่ายจำเลย จะต้องอ้างอิงข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อประกอบการตั้งรูปต่อสู้คดีครับ

ตัวบท ความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประเด็นข้อต่อสู้ คดีโกงเจ้าหนี้  ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา มี 13 ข้อดังนี้ 

ประเด็นที่หนึ่ง “ไม่มีหนี้อยู่จริง” 

องค์ประกอบของการกระทำผิดฐาน โกงเจ้าหนี้ ข้อแรกคือ “ต้องมีหนี้อยู่จริงระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้” ถ้าปรากฎว่า มูลหนี้ทางแพ่งระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้นไม่มีอยู่จริง เป็นหนี้ที่เป็นโมฆะ หนี้ที่เกิดจากนิติกรรมอำพราง เป็นหนี้เงินกู้ที่ไม่มีการส่งมอบเงินกู้กันจริง เป็นสัญญาปลอม เอกสารปลอม ศาลก็จะต้องยกฟ้อง 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเช่น 

ฎ.93/2507 ฟ้องคดีแพ่ง และปรากฎว่าศาลยกฟ้องในคดีแพ่ง โดยวินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยไม่มีมูลหนี้ต่อกัน ดังนั้นจึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ฎ.3527/2526 การได้สิทธิด้วยการครอบครองปรปักษ์ เป็นผลของกฎหมาย ไม่ได้ก่อให้เกิดหนี้ระหว่างผู้ครอบครองกับผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ดังนั้นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดิน โอนโฉนดให้บุคคลอื่น จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ฎ.1625/2531 จำเลยที่ 1. ยืดทรัพย์มารดาโจทก์ไว้ โจทก์ร้องขอขัดทรัพย์ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของโจทก์  ศาลไต่สวนแล้วยกคำร้อง โจทก์ก็ยังไปยื่นฟ้องคดีแพ่งกับจำเลยที่ 1  และพวก เป็นเรื่องละเมิดเรียกค่าเสียหาย แบบเห็นได้ชัดเจนว่า คดีแพ่งของโจทก์ไม่มีมูล เป็นการกลั่นแกล้งฟ้อง และศาลยังไม่มีคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดิน ไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้ 

2893/2547 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ในเบื้องต้นต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้อยู่ก่อน  แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ยังมิได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง มิได้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ การที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินและตึกแถวที่เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างพี่น้องในส่วนของ ด. เป็นสิทธิในทรัพยสิทธิ มิใช่สิทธิในฐานะเป็นเจ้าหนี้อันเป็นบุคคลสิทธิ สิทธิของโจทก์ดังกล่าวมีอยู่อย่างไรย่อมไม่หมดไป เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แม้จำเลยที่ 1 ทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วได้โอนที่ดินและตึกแถวให้แก่จำเลยที่ 2 ไป ในราคาต่ำก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้อันเป็นความผิดอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350

ฎ.1552/2526 โจทก์เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมของ ท. บิดา พ. จำเลยเป็นภริยาและเป็นผู้จัดการมรดกของ พ. เจ้ามรดก เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ ท. อันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ พ. ที่ตกได้แก่ บุตรผู้เยาว์ของจำเลย จึงเป็นนิติกรรมที่ต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574(8) และไม่มีผลบังคับถึงมรดกของ พ. ทั้งหมดที่ตกได้แก่ทายาท จึงไม่มีสิทธิของ ท. อันเกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวอันจะพึงตกได้แก่โจทก์ตามพินัยกรรมของ ท. ดังนั้น โจทก์ไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลย และไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ได้

ฎ.6432/2544โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 กับ น. เมื่อ น. ถึงแก่ความตาย ก็ไม่มีสิทธิการเช่าตกทอดเป็นมรดกแก่โจทก์ที่ 2 ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ขาดองค์ประกอบความผิดที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งรับโอนสิทธิการเช่าต่อมาจากจำเลยที่ 1 ให้ร่วมรับผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 350

ฎ.4864/2562 (ประชุมใหญ่)จำเลยที่ 1 โอนขายหุ้นชุดของตนก่อนวันที่ศาลจังหวัดพิพากษาคดีแพ่งเพียง 1 วัน แล้วยักย้ายถ่ายเทหรือย้ายไปเสียซึ่งเงินที่ได้จากการขายห้องชุดดังกล่าว เป็นการส่อแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 อาจมีเจตนาพิเศษเพื่อว่าเมื่อโจทก์ชนะคดีแพ่งแล้ว โจทก์จะไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่เมื่อคดีแพ่งที่โจทก์อ้างเป็นมูลเหตุฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาเรื่องนี้ถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกาได้พิพากษาว่า จำเลยมิได้ผิดสัญญาซื้อขายหุ้นกับโจทก์จึงไม่ต้องคืนเงินค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์และพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์มีผลให้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน เท่ากับโจทก์และจำเลยที่ 1ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้กัน  ดังนี้ ก็ไม่อาจมีการกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 350

ทั้งนี้ ในเรื่องหนี้ในเรื่องนี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นหนี้เงิน อาจจะเป็นหนี้อื่นเช่น เช่นหนี้การโอนที่ดินก็ได้ ตามนัย ฎ.775/2518 (ประชุมใหญ่)  ฎ.256/2517  ศาลมีคำพิพากษาให้โอนที่ดินกลับคืนให้โจทก์ แล้วจำเลยโอนที่ดินหนี ก็เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ประเด็นที่สอง “หนี้ไม่สามารถฟ้องบังคับได้ “

หากหนี้ดังกล่าวมีอยู่จริง แต่เป็นหนี้ที่ไม่สามารถฟ้องบังคับตามกฎหมายได้ เช่น เป็นหนี้ค่ายาเสพติด หนี้การพนัน หรือหนี้เงินกู้เงินเกินกว่า 2,000 บาท และไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง หรือเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน และยังไม่ถึงกำหนดเงื่อนไข

หนี้เช่นนี้เจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องบังคับทางแพ่งได้อยู่แล้ว ดังนั้นถึงลูกหนี้โอนทรัพย์สินไปให้บุคคลอื่น ก็ไม่เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น

ฎ.1406/2512 เจ้าหนี้เงินกู้เงินเกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนด และไม่มีหลักฐานการกู้ยืมนั้น ไม่สามารถฟ้องบังคับคดีเอากับลูกหนี้ได้ ดังนั้นการที่ลูกหนี้โอนทรัพย์สินไป จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ 

ฎ.3204/2528 ทำสัญญากันว่า โจทก์ชำระเงินครบแล้ว จำเลยจะโอนที่ดินและตึกให้บุตร โจทก์ชำระยังไม่ครบตามกำหนด สิทธิของโจทก์ที่จะให้จำเลยโอนที่ดินและตึกให้ จึงยังใช้บังคับไม่ได้ ดังนั้นจำเลยโอนที่ดินให้บุคคลอื่น จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ 

ฎ.3120/2559 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรวม 15 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต้องไปทำสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์ยังมิได้ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 8,500,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 สิทธิเรียกร้องที่จะให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินรวม 15 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายยังมิอาจบังคับกันได้ โจทก์ยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามความหมายในบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่โอนที่ดิน 3 แปลงใน 15 แปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ประเด็นที่สาม “หนี้มีข้อโต้แย้งอยู่” ยังไม่เป็น “หนี้ที่แน่นอน”

ถ้าหนี้ดังกล่าว ลูกหนี้ยังมีข้อโต้แย้งกับเจ้าหนี้อยู่ ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าลูกหนี้จะต้องรับผิดตามกฎหมาย หรือจะต้องชำระหนี้ดังกล่าวให้กับเจ้าหนี้หรือไม่ ถึงเจ้าหนี้ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ลูกหนี้โอนทรัพย์สินไป และไม่ใช่เป็นการโอนทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควร หรือส่อเจตนาว่าจะหลบเลี่ยงไม่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ ก็ไม่เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้  

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น

ฎ.1675/2532 เมื่อถูกฟ้อง จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์ คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้หรือไม่ยังโต้เถียงกันอยู่ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350.

ฎ.3107/2532 โจทก์ฟ้องคดีแพ่งขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายต้นยางพาราหรือให้คืนเงินมัดจำและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยอ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยให้การว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ จึงยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยหรือไม่

ฎ.10314/2550 คดีแพ่งดังกล่าวยังโต้เถียงกันถึงความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ย่อมไม่เป็นที่แน่นอนว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ในอันที่จะขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามความหมายของมาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่จะฟ้องจำเลยทั้งสาม ฟ้องโจทก์จึงไม่มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350

ฎ.6304/2539 แม้โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากจำเลยที่ 3กับพวก แต่จำเลยที่ 3 ก็ให้การต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิดเมื่อขณะจำเลยที่ 3 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงินเท่าใด และยังไม่แน่นอนว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 3 หรือไม่ การโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 เป็นการโอนโดยชอบ การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อไป จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ฎ.1435/2531 โจทก์ฟ้องบริษัท ร. ที่จำเลยทั้งสิบเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นในฐานะนายจ้างรับผิดร่วมกับลูกจ้างของบริษัทที่กระทำละเมิดต่อโจทก์ คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล การที่จำเลยเรียก ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ร.ย้ายสำนักงานแห่งใหญ่ไปอยู่จังหวัดอื่น ดำเนินการชำระบัญชีเลิกกิจการและแบ่งทรัพย์สินของบริษัท และจำเลยที่ 1 ได้แจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดว่า ได้ส่งแจ้งความถึงเจ้าหนี้ทุกคนของบริษัทเพื่อขอรับชำระหนี้ในการเลิกบริษัทแล้ว โดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบก็ดี เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในระหว่างการพิจารณาคดีแพ่งก่อนโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท ร.อย่างแท้จริง จึงยังไม่แน่นอนว่าโจทก์กับบริษัท ร. จะมีหนี้ต่อกันหรือไม่ และข้อความที่จำเลยที่ 1แจ้งต่อนายทะเบียนก็มิใช่ข้อความเท็จ โจทก์ยังไม่ใช่ผู้เสียหายคดีไม่มีมูลความผิดฐานโกงเจ้าหนี้และฐานแจ้งความเท็จ

อย่างไรก็ตาม ข้อโต้แย้งดังกล่าวของลูกหนี้ ก็ควรมีเหตุหรือมีน้ำหนักให้พอฟังขึ้นด้วย มิเช่นนั้น ลูกหนี้คงจะอ้างอย่างเดียวว่าหนี้มีข้อโต้แย้ง ไม่เป็นความผิด และโอนทรัพย์สินหนีไป

ถ้าหนี้ดังกล่าว แทบจะไม่มีข้อโต้แย้งได้ตามเหตุผลเลย แต่ลูกหนี้ก็ยังโต้แย้ง และนิติกรรมการโอนนั้น มีลักษณะผิดปกติ เช่น การให้โดยเสน่หา หรือโอนต่ำกว่าราคาปกติมาก ก็ส่อแสดงเจตนาว่าตั้งใจโอนไม่ให้โจทก์รับชำระหนี้ ก็ถือว่าเป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น

ฎ.6761/2544 แม้คดีแพ่งจะยังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นก็ตาม ถือว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วจึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350

ฎ.12250/2557 โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม. จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ฎ.16070-16072/2555 ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเรื่องผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอชำระหนี้แก่โจทก์ ขณะที่คดีแพ่งดังกล่าวอยู่ระหว่างบังคับคดีตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดิน 3 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา แม้คดีแพ่งดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้ง และผลคดีอาจจะเปลี่ยนแปลงโดยศาลฎีกาอาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีตามฟ้องแย้ง ซึ่งไม่แน่ว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นที่สุดหรือไม่ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แล้ว ไม่จำต้องถือเอาคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในทางแพ่งมาเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานดังกล่าว

ประเด็นที่สี่ “เจ้าหนี้ยังไม่ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิทางศาล”

ถ้าข้อเท็จจริงปรากฎว่า เจ้าหนี้ยังไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องคดี หรือยังไม่คิดจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล ถึงแม้ลูกหนี้จะโอนทรัพย์สินไประหว่างเวลาดังกล่าว ก็ไม่เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเช่น

ฎ.918/2467 ลูกหนี้ขายช้างเสียระหว่างเจ้าหนี้ทวงหนี้ โดยยังไม่ปรากฎว่าเจ้าหนี้คิดจะฟ้อง ยังไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ 

ฎ.2899/2543  ก่อนจำเลยจะโอนขายที่ดินให้บุคคลอื่น โจทก์ยังไม่ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ แสดงว่าโจทก์ยังไม่ได้จะใช้สิทธิทางศาล การที่จำเลยโอนที่ดินไป จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ถึงแม้ว่าจำเลยจะเป็นหนี้โจทก์จริงก็ตาม โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่

 ฎ.392/2506 ฟ้องโจทก์ไม่ระบุว่า ในการที่ขายที่ดินนั้น จำเลยได้ทำโดยรู้ว่าเจ้าหนี้จะใช้หรือได้ใช้สิทธิทางศาลเป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด 

ฎ.184/2541 ฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุว่า ขณะที่จำเลยโอนที่ดินนั้น โจทก์มีความประสงค์จะใช้หรือได้ใช้สิทธิทางศาลไปแล้ว ดังนั้นการที่จำเลยโอนที่ดินไปจึงไม่เปก็นความผิด

ฎ.1054/2507 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 นั้น เจ้าหนี้จะต้องใช้สิทธิทางศาลให้ชำระหนี้แล้วอย่างหนึ่ง หรือว่าจะใช้สิทธิทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้อีกอย่างหนึ่งเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย ฉะนั้น เมื่อเจ้าหนี้ยังไม่ได้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง หรือการที่เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีอาญา ก็เพียงเพื่อให้ลูกหนี้หาประกันมาให้เจ้าหนี้เป็นที่พอใจแล้วจะไม่เอาเรื่องแก่ลูกหนี้ อันเป็นการแสดงว่าเจ้าหนี้ยังจะไม่ใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว การที่ลูกหนี้โอนที่ดินให้ผู้อื่นไป จึงยังไม่ผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ฎ.2976/2524 บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 เนื่องจากจำเลยไม่ชำระหนี้และได้ยักย้ายถ่ายเทเอาทรัพย์อันเป็นหลักประกันไปเสีย แม้จะมีข้อความว่าเพื่อมิให้โจทก์จะได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้ได้ก็ตาม แต่เมื่อมิได้บรรยายว่า จำเลยได้กระทำไปโดยรู้อยู่ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าว ฟ้องของโจทก์ย่อมขาดองค์ประกอบแห่งความผิด ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

ฎ.2220/2533ที่ทนายโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 เท้าความถึงกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนขายได้เพราะมีเหตุขัดข้องเนื่องมาจากฝ่ายจำเลยที่ 1 และตอนท้ายของหนังสือดังกล่าวมีข้อความว่า “หากไม่ได้รับการติดต่อนัดหมายโอนที่ดินดังกล่าวภายใน 7 วัน… ข้าพเจ้าก็มีความเสียใจที่จะดำเนินการกับท่านตามกฎหมายต่อไป…” นั้น หนังสือดังกล่าวก็ไม่มีข้อความหรือไม่อาจแปลได้ว่าโจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำพร้อมกับเรียกค่าเสียหาย จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยคืนเงินมัดจำพร้อมกับชดใช้ค่าเสียหาย

ประเด็นที่ห้า “ลูกหนี้ยังไม่รู้ว่าเจ้าหนี้ใช้หรือจะใช้สิทธิทางศาล”

ถ้าเจ้าหนี้ใช้สิทธิหรือจะใช้สิทธิทางศาลแล้ว แต่ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงในคำฟ้องหรือทางนำสืบของฝ่ายโจทก์ว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะสิทธิทางศาล การที่จำเลยโอนทรัพย์สินไประหว่างนั้น ก็ไม่มีความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเช่น

ฎ.5175/2547 ในวันตามฟ้องดังกล่าวจำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้เงินกู้ ดังนั้น ในขณะเกิดเหตุตามฟ้อง จึงไม่อาจฟังเป็นยุติว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันโอนทรัพย์โดยรู้ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ทั้งนี้เพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350

ฎ.288/2515 คำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ที่บรรยายแต่เพียงว่าโจทก์มีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเท่านั้น กับทั้งมิได้บรรยายว่าจำเลยได้กระทำไปโดยรู้ว่าเจ้าหนี้ของตน หรือของผู้อื่นได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ย่อมเป็นฟ้องที่ขาดสารสำคัญแห่งองค์ประกอบความผิด

ฎ.4065/2524 โจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 แต่ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่า จำเลยได้โอนขายที่ดินตามโฉนดฉบับที่จำเลยนำไปมอบให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้ โดยรู้อยู่ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ของตนได้ใช้สิทธิหรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้ อันเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

ฎ.1880/2538 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่1ในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา350อ้างว่าจำเลยที่1ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินให้โจทก์แล้วกลับนำไปขายให้แก่บุคคลอื่นเพื่อมิให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาได้รับชำระหนี้ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเอากับจำเลยที่1ได้มิได้บรรยายว่าจำเลยที่1ได้กระทำไปโดยรู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ย่อมเป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญแห่งองค์ประกอบของความผิดเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา158(5)และเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ฎ.2976/2524 บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 เนื่องจากจำเลยไม่ชำระหนี้และได้ยักย้ายถ่ายเทเอาทรัพย์อันเป็นหลักประกันไปเสีย แม้จะมีข้อความว่าเพื่อมิให้โจทก์จะได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้ได้ก็ตาม แต่เมื่อมิได้บรรยายว่า จำเลยได้กระทำไปโดยรู้อยู่ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าว ฟ้องของโจทก์ย่อมขาดองค์ประกอบแห่งความผิด ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

ฎ.3135/2529 ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า จำเลยได้กระทำการโดยรู้อยู่ว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม มาตรา 350

ฎ.5590/2536  เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ทวงถามและจำเลยรู้ว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยขนย้ายทรัพย์ไปเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือไม่ จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

ประเด็นที่่หก “โอนทรัพย์ที่เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้”

ถ้าทรัพย์ที่ลูกหนี้ โอน ยักย้าย ถ่ายเท ไปนั้น เป็นทรัพย์ที่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับเอากับลูกหนี้ได้อยู่แล้ว หรือไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็น กรรมสิทธิของลูกหนี้ การที่ลูกหนี้โอนทรัพย์สินดังกล่าวให้บุคคลอื่น ก็ไม่เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้  เช่น โอนที่ดิน สปก. โอนสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น

ฎ.1110/2507 การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันในศาลยินยอมรับผิดจำกัดการชำระหนี้ตามคำพิพากษาเฉพาะทรัพย์ที่เอามาแสดงวางประกันต่อศาล ในเมื่อจำเลยในคดีแพ่งนั้นไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หาได้ยินยอมให้ผูกพันถึงทรัพย์อื่นของตนด้วยไม่ เช่นนี้ เมื่อจำเลยได้โอนที่ดินแปลงอื่น ๆ ของตนไปให้แก่ผู้ใด จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

ฎ.2220/2533 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดิน 1 แปลงจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยที่ 1โอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 โอนที่ดินแปลงอื่นของตนจำนวน 3 แปลง ให้จำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินแปลงอื่นให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 เพราะหนี้ที่โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์นั้น เป็นเรื่องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงซึ่งระบุไว้ในสัญญาจะซื้อขายแก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับที่ดินจำนวน3 แปลงที่จำเลยที่ 1 โอนให้จำเลยที่ 2 

ฎ.1736-1737/2503 โจทก์ฟ้องคดีอาญาหาว่าจำเลยทุจริตโอนรถยนต์ให้ผู้มีชื่อไปโดยเจตนาไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 แล้วฟ้องจำเลยกับผู้รับโอนรถยนต์เป็นจำเลยคดีแพ่งขอให้เพิกถอนการโอนรถยนต์ด้วย ดังนี้ เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยเป็นแต่ผู้เช่าซื้อรถยนต์มาแล้วจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจึงโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์นั้นให้แก่ผู้รับโอนซึ่งชำระเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจนครบ โดยผู้รับโอนเป็นเจ้าหนี้จำเลยซึ่งกู้เงินไปชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์นั้นเองด้วย ดังนี้จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้องและจะบังคับให้เพิกถอนการโอนก็ไม่ได้ เพราะจำเลยเป็นแต่ผู้เช่าซื้อ หากเพิกถอนได้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องโอนกลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้อตามเดิม

ฎ.2745/2523 แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะเป็นผู้ครอบครองที่ดินซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยทั้งสองก็ไม่มีสิทธิครอบครองอันจะนำไปโอนให้แก่จำเลยที่ 3 หรือบุคคลอื่นได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350

ฎ.4225/2559 แม้จำเลยมีภาระผูกพันที่ต้องชำระเงินค่าที่ดินคืนแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ แต่การที่จำเลยโอนที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่ น. และ จ. ซึ่งที่ดินพิพาทไม่ใช่ของจำเลยหรือของบิดาจำเลย จึงมิใช่การโอนไปซึ่งทรัพย์สินตาม ป.อ. มาตรา 350 ไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ฎ.1073/2511 จำเลยจำนองที่ดินไว้กับโจทก์. ต่อมาจำเลยนำที่ดินนั้นไปขายฝากผู้อื่นแล้วปล่อยให้ที่ดินหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นไป. การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350. เพราะการโอนทรัพย์ของลูกหนี้ไปให้ผู้อื่นซึ่งจะเป็นความผิดตามบทกฎหมายมาตรานี้. จะต้องเป็นการโอนไปเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน. แต่ที่ดินที่จำเลยโอนให้ผู้อื่นไปด้วยการขายฝากนั้นเป็นที่ดินที่จำเลยจำนองไว้กับโจทก์. การจำนองย่อมผูกพันทรัพย์สินที่จำนอง. ถึงแม้จะมีการโอนไปผู้รับโอนก็ต้องรับภารจำนองไปด้วย. โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง. มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังผู้อื่นแล้วหรือหาไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702วรรคสอง. การโอนที่ดินที่จำนองให้แก่ผู้อื่นไม่ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้จำนอง. โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายแต่ประการใด.

ฎ.4196/2558 ทรัพย์ที่ลูกหนี้โอนไปให้ผู้อื่น อันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น หมายถึงทรัพย์ใด ๆ ของลูกหนี้ที่มีอยู่ได้มีการโอนไป ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับองค์การคลังสินค้า 2 ฉบับ ฉบับแรกว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 แปรสภาพหัวมันสำปะหลังสดจากเกษตรกรที่นำมาจำนำแก่องค์การคลังสินค้าเป็นแป้งมันสำปะหลัง ฉบับที่สองเป็นสัญญาเก็บแป้งมันสำปะหลังที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยองค์การคลังสินค้าเป็นผู้ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นสัญญาฝากทรัพย์ ดังนั้นแป้งมันสำปะหลังที่จำเลยที่ 1 แปรสภาพแล้วเก็บไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การคลังสินค้า หาใช่เป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์ไม่ ทั้งองค์การคลังสินค้าได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อหายักยอก แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะร่วมกันนำเอาแป้งมันสำปะหลังที่เก็บไว้ที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปขาย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ทั้งแป้งมันสำปะหลังที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำไปขายก็มิใช่ทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ใช่การทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือสูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด เพื่อจะมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 187

ฎ.268/2521 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าบ้านที่จำเลยที่ 1 นำมาระบุไว้เป็นประกัน ในการกู้เงินจากโจทก์มิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 โอนบ้านดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการทำให้โจทก์เจ้าหนี้ ของจำเลยมิได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ (วรรคแรก วินิจฉัย โดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 25/2519)

ฎ.5222/2557  จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 47526 จำเลยที่ 1 เพียงมีชื่อในโฉนดแทนโจทก์เท่านั้น เมื่อธนาคาร ก. มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองที่ดินดังกล่าว ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 มีการติดต่อระหว่างจำเลยทั้งสองเพื่อให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้ธนาคารดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์และมีสิทธิที่จะยึดที่ดินดังกล่าวมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ แต่ที่ดินติดจำนองอยู่กับธนาคาร ก. ซึ่งจำเลยที่ 2 จะได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ก็ต่อเมื่อธนาคารดังกล่าวในฐานะเจ้าหนี้จำนองได้รับชำระหนี้เงินกู้จากโจทก์ครบถ้วนแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ต้องเข้าชำระหนี้เงินกู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 1 และขอรับโอนที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยปลอดจำนองจากธนาคารเป็นการตอบแทน ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 จึงเป็นกระบวนการในการชำระหนี้ที่โจทก์ต้องรับผิดเพราะเป็นการโอนที่ดินของโจทก์ชำระหนี้ของโจทก์เอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350

ประเด็นที่เจ็ด “ยังเหลือทรัพย์สินอื่นให้เจ้าหนี้บังคับคดีได้”

ถ้าลูกหนี้ได้โอนทรัพย์สินไปให้กับบุคคลอื่น แต่ปรากฎว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นๆที่ เหลือเพียงพอกับการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ เจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์สินส่วนอื่นที่เหลือได้ การกระทำของลูกหนี้ย่อมไม่เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้ 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น 

ฎ.3107/2532  แม้หากจะฟังว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้มีสิทธิขอให้บังคับจำเลยยอมให้โจทก์ตัดโค่นต้นยางพาราตามสัญญาได้ก็ตาม โจทก์ก็ยังต้องชำระเงินส่วนที่เหลือให้จำเลยตามสัญญาอยู่ดี โจทก์จะได้ผลประโยชน์หรือเป็นเจ้าหนี้เพียงไม่เกินจำนวนตามที่โจทก์ขอเป็นค่าเสียหายตามคำขอท้ายฟ้องซึ่งเมื่อรวมกับเงินมัดจำที่จะได้คืนแล้ว ก็ยังน้อยกว่าทรัพย์สินที่จำเลยมีอยู่ การที่ภายหลังจำเลยขายที่ดินและต้นยางพาราให้บุคคลอื่น จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันจะมีมูลความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ฎ.2900/2532 ป. กู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารโจทก์ร่วม โดยจำนองที่ดิน 7 แปลงเป็นประกันหนี้ และจำนำพืชไร่กับโจทก์ร่วมโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ไว้ ต่อมา ป. ถึงแก่ความตาย จำเลยซึ่งเป็นภรรยา ป. จึงเข้าดำเนินกิจการค้าแทนและได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ป. โจทก์ร่วมทวงถามหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองกับจำเลย ต่อมาจำเลยโอนขายที่ดินซึ่งจำนอง 2 แปลงให้บุคคลภายนอก และโอนทะเบียนรถยนต์จากชื่อ ป. เป็นชื่อห้างหุ้นส่วนซึ่ง ป. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ดังนี้ การที่จำเลยขายที่ดิน 2 แปลง โดยอ้างว่าเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนทำธุรกิจการค้าเพื่อใช้หนี้ของ ป. และใช้เป็นทุนเลี้ยงดูบุตรของ ป.4 คน นับว่ามีเหตุผลสมควร ทั้งโจทก์ก็ยังมิได้บังคับชำระหนี้จากที่ดินจำนอง จึงยังไม่แน่ชัดว่าไม่เพียงพอชำระหนี้หรือไม่ สำหรับรถยนต์แม้จะโอนทะเบียนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วน โจทก์ร่วมก็สามารถบังคับคดีได้ตลอดเวลา นอกจากนี้จำเลยเคยติดต่อให้โจทก์ร่วมขายพืชไร่ที่ ป. จำนำและโอนขายหุ้นของ ป. เพื่อชำระหนี้ แสดงว่าจำเลยมีความสนใจและตั้งใจชำระหนี้ ดังนั้นพฤติการณ์ของจำเลยยังไม่พอฟังว่ามีเจตนาโอนทรัพย์ให้ผู้อื่นเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

ฎ.1892/2541  หากศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเพียงประมาณ80,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 มีสินทรัพย์ 107,701,733.41 บาทหากจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีแพ่งดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็ยังมีสินทรัพย์พอชำระหนี้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 4 มิใช่มีเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การกระทำของจำเลยทั้งหกไม่มีมูลความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

ฎ.680/2562  เหตุที่โจทก์ขอยึดที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นเลขที่ 28/15 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดก็เพื่อบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายรายเดือน เดือนละ 8,000 บาท นับแต่วันฟ้อง กับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในคดีที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีหนึ่งเท่านั้น แต่ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น ผู้กระทำยังต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนด้วย เมื่อปรากฏว่าขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นดังกล่าว โจทก์คงมีสิทธิได้ค่าเสียหายต่าง ๆ และต่อมาขอรับเงินไปเพียง 478,918.72 บาท ยังมีเงินเหลือที่จะต้องคืนแก่จำเลยที่ 1 กว่า 600,000 บาท ดังนั้นในวันที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินอีกแปลงหนึ่งพร้อมทาวน์เฮ้าส์สองชั้นอีกหลังหนึ่งเลขที่ 28/13 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา เจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เพียงพอต่อการชำระค่าเสียหายพร้อมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ทั้งหมดแก่โจทก์อยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองยังถือไม่ได้ว่ามีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแต่อย่างใด จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้

ฎ.5072/2533 โค 5 ตัวที่โจทก์นำยึดมาเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์นั้นมีราคามากกว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้จำนอง จึงไม่เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้ทั้งหมด หรือเพียงบางส่วนแต่อย่างใด จำเลยที่ 1จึงไม่ได้กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้.

ประเด็นที่แปด “โอนไปก่อนจะถูกฟ้องคดี หรือหนี้ก่อนถึงกำหนด “

ถ้าปรากฎว่าลูกหนี้ได้โอนทรัพย์สินไป ก่อนเจ้าหนี้จะได้ใช้หรือจะสิทธิทางศาล หรือก่อนหนี้ดังกล่าวจะถึงกำหนด ถึงแม้จะมาจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนภายหลัง ย่อมไม่เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้ 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น

ฎ.778/2534 การโอนรถทางทะเบียนนั้น เป็นเพียงหลักฐานเพื่อแสดงว่าใครเป็นเจ้าของและมีสิทธิใช้รถซึ่งเป็นมาตรการในการควบคุมการใช้รถ ตามนัย พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 6,17 เท่านั้นมิใช่เป็นหลักฐานการโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโอนรถไปเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2528ภายหลังการยึดหนึ่งวัน และนำสืบเพียงว่า วันที่ 17 มกราคม2528 เป็นเพียงการโอนทางทะเบียน มิใช่โอนกรรมสิทธิ์ในตัวรถเช่นนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ในรถคันที่โจทก์ฟ้องไปก่อนการยึดแล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะเพิ่งโอนทะเบียนรถไปหลังจากการยึด 1 วัน ก็เป็นเพียงโอนทางทะเบียน มิใช่โอนกรรมสิทธิ์ในตัวรถ ดังนั้นจำเลยย่อมไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350.

ฎ.158/2506 ขายฝากไว้ก่อนจะเกิดหนี้ ภายหลังสละสิทธิขายฝาก กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ทำสัญญาขายฝากแล้ว การสละสิทธิไถ่ถอนการขายฝาก ไม่ใช่เป็นการย้ายหรือซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นหรือแกล้งให้ตนเป็นหนี้ จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

ฎ.123/2523 จำเลยที่ 1 ออกเช็ค 18 ฉบับรวมเป็นเงิน 640,000 บาท สั่งจ่ายเงินโดยไม่ลงวันที่สั่งจ่ายเงินทุกฉบับ บางฉบับออกก่อนและบางฉบับออกภายหลังที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินและบ้านให้จำเลยที่ 2 โดยตกลงกันว่า ถ้าโจทก์ต้องการใช้เงินให้บอกให้ จำเลยที่ 1 ทราบ เพื่อโจทก์นำเช็คเข้าบัญชีโจทก์เรียกเก็บเงิน ภายหลังจากจำเลยที่1 โอนที่ดินและบ้านให้จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่1 ออกเช็คชำระหนี้ โจทก์ก็ยอมรับไว้และนำเช็คทั้งหมดมาลงวันที่นำไปเข้าบัญชีโจทก์เรียกเก็บเงิน เช็คทั้ง18 ฉบับ ถึงกำหนดชำระเงินภายหลังจากจำเลยที่ 1 โอนที่ดินและบ้านให้จำเลยที่ 2 ดังนี้ ยังฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้ใช้สิทธิหรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 จึงโอนที่ดินและบ้านให้ให้จำเลยที่ 2 เพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ และการที่ตกลงกันว่า ถ้าโจทก์ต้องการใช้เงินให้บอกให้จำเลยที่ 1 ทราบ เพื่อโจทก์นำเช็คเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินนั้น เป็นการแสดงว่าโจทก์ยังจะไม่ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ คดีไม่มีมูลความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

ฎ.755/2518 ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้มีทรัพย์สินมากพอที่จะชำระหนี้ค่าเสียหายให้โจทก์ได้ แม้หนี้สินอื่นที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนมาก จำเลยก็ชำระให้โดยไม่บิดพลิ้ว การที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์นั้น เป็นเพราะโจทก์กับจำเลยแปลความในสัญญากันคนละทาง มิใช่เพราะมีเจตนาที่จะไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จึงเป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดทางอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ และจำเลยที่ 3 ผู้รับซื้อที่ดินนั้นไว้ ก็ย่อมไม่มีความผิดทางอาญาดุจกัน (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2517 และครั้งที่ 2/2518)

ประเด็นที่เก้า “ขาดเจตนาพิเศษ”

การโอนหนี้ของลูกหนี้ของจะต้องมีเจตนาพิเศษ คือต้องการให้เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ หากปรากฎว่าลูกหนี้โอนย้ายถ่ายเททรัพย์สินขณะเป็นหนี้จริง แต่ทำไปโดยมีเจตนาสุจริต หรือตามปกติธุระของตน ไม่มีเจตนาจะให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ ก็ไม่เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้ 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น 

ฎ.1241/2531 จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยแบ่งมรดกให้โจทก์ร่วม 1 ใน 6 ส่วน คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยขายที่ดินมรดกไปเพราะการรังวัดแบ่งแยกที่ดินระหว่างทายาทไม่สามารถแบ่งกันได้ โจทก์ร่วมขอแบ่งเงินที่ได้จากการขาย จำเลยไม่ให้อ้างว่ารอให้คดีถึงที่สุดก่อน จำเลยนำเงินจากการขายที่ดินไปรับจำนองที่ดินอื่นเพื่อหารายได้ให้แก่กองมรดก ทั้งที่ดินที่จำนองมีราคาสูงกว่าจำนวนเงินที่จำนอง จำเลยกระทำไปในนามของผู้จัดการมรดกโดยความเห็นชอบของทายาทอื่น และไม่ปรากฏว่ากระทำไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

5073/2533  ดิมห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. มีจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หลังจากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามกับ จ. ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเข้าหุ้นส่วนเดิมโดยให้จำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและหุ้นส่วนผู้จัดการ และถอนเงินลงหุ้นออกไปโดยให้จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทน ให้จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. มีหนี้สินและไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จำเลยที่ 1ต้องการเลิกห้างหุ้นส่วน แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องการดำเนินกิจการต่อ จำเลยที่ 1 กับ จ. กับ จ. จึงถอนหุ้นออกจากการเป็นหุ้นส่วนโดยไม่มีการถอนเงินลงหุ้นไปจริงเพราะห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ไม่มีเงินเหลืออยู่เลย ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ถอนหุ้นจึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ฎ.1300/2539  ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้จะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือผู้อื่นได้รับชำระหนี้แต่ตามข้อเท็จจริงในคดีปรากฎว่าท. ยอมรับว่าเคยกู้เงินจากจำเลยและยังค้างชำระหนี้อยู่ใกล้เคียงกับจำนวนตามที่จำเลยฟ้องจริงแสดงว่าจำเลยเป็นเจ้าหนี้อยู่จริงเมื่อไม่ปรากฎพฤติการณ์ระหว่างจำเลยกับป. อันส่อเจตนาเพื่อมิให้กรมตำรวจในฐานะเจ้าหนี้ของป. ได้รับชำระหนี้แล้วการกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ฎ.1181/2505 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 นั้น การโอนทรัพย์ต้องประกอบด้วยเจตนา เพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นประการสำคัญด้วย

การที่ลูกหนี้เลิกห้างเดิมและขยายกิจการตั้งบริษัทขึ้นใหม่มีทุนมากขึ้นนั้น ยังถือไม่ได้ว่าลูกหนี้มีเจตนาย้ายหรือโอนทรัพย์เพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้

ฎ.411/2508 จำเลยกู้เงินโจทก์ ถึงกำหนดชำระจำเลยไม่ชำระ กลับขายเรือนของจำเลยให้แก่นายแดง แต่การขาย โจทก์เป็นผู้ติดต่อบอกขายและรับชำระหนี้เป็นข้าวเปลือกแทนเงิน ดังนี้ จะถือว่า จำเลยได้โอนเรือนไปให้แก่ผู้อื่นเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 350 ไม่ได้

ฎ.6422/2534 มื่อความปรากฏชัดว่าจำเลยที่ 1 ขออนุญาตวางเงินแทนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาท และศาลชั้นต้นอนุญาตแล้ว เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้วโดยนำเงินมาวางศาลตามคำพิพากษา แม้จะเป็นการเลือกขอชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยผิดขั้นตอนก็ดี เหตุดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงินครบถ้วนตามคำพิพากษา การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนยังห่างไกลกว่าเหตุไม่เป็นความผิดเช่นเดียวกัน

ฎ.1676/2557  การโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดอันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 49394 ซึ่งผู้ตายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาเป็นของตนเองนั้น ก็เป็นเพียงการรับโอนทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามกฎหมาย แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายจะสละมรดกในที่ดินโฉนดดังกล่าว แต่สิทธิของเจ้าหนี้ในการว่ากล่าวเอาแก่ทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทยังคงมีอยู่ตามเดิม มิได้ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ฎ.3145/2536 เมื่อกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ประสบการขาดทุน จำต้องเลิกกิจการ และคืนอาคารห้องเช่าแก่เจ้าของ การขนสินค้าที่ยังมิได้ส่งมอบให้ลูกค้าไปเก็บไว้บ้านจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการกระทำที่มีเหตุผลเมื่อไม่ปรากฏพฤติการณ์ที่ไม่สุจริตแจ้งชัดอื่นใด การขนสินค้าของจำเลยที่ 1และที่ 2 จึงมิได้เป็นการขนโดยเจตนามิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มิให้ได้รับชำระหนี้ค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์อยู่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ประเด็นที่สิบ “โอนขายชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้อื่น ในราคาอันสมควร “

ถ้าปรากฎว่าการขายทรัพย์สินของลูกหนี้ ทำไปเพื่อชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้รายอื่น ที่เป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อน  และขายไปในราคาที่เหมาะสม ย่อมไม่เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น

ฎ.1134/2537 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือผู้อื่นได้รับชำระหนี้ จำเลยเป็นหนี้ธนาคารเป็นเงิน 696,252.59 บาท โดยจำเลยเอาที่ดินจำนองเป็นประกันธนาคารเจ้าหนี้ได้เร่งรัดให้จำเลยชำระหนี้จำเลยจึงได้ขายที่ดินที่จำนองให้แก่ ก. ไปในราคา 700,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าความเป็นจริง แล้วนำเงินนั้นชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้อันเป็นการชำระหนี้ที่จำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องปฏิบัติ แม้จะเป็นการขายภายหลังจากจำเลยทราบว่าเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาแล้วก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยขายที่ดินโดยเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ฎ.2585/2524 จำเลยขายที่ดินเพื่อเอาเงินชำระหนี้ซึ่งที่ดินนั้นติดจำนองอยู่ตามที่เจ้าหนี้ผู้รับจำนองเร่งรัดทวงถามให้ชำระและขายได้ราคาซึ่งเป็นจำนวนพอดีๆ ที่จะชำระหนี้จำนองเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยขายที่ดินไปโดยเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ตามฟ้อง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ฎ.1736/2503 โจทก์ฟ้องคดีอาญาหาว่าจำเลยทุจริตโอนรถยนต์ให้ผู้มีชื่อไปโดยเจตนาไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 แล้วฟ้องจำเลยกับผู้รับโอนรถยนต์เป็นจำเลยคดีแพ่งขอให้เพิกถอนการโอนรถยนต์ด้วย ดังนี้ เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยเป็นแต่ผู้เช่าซื้อรถยนต์มาแล้วจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจึงโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์นั้นให้แก่ผู้รับโอนซึ่งชำระเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจนครบ โดยผู้รับโอนเป็นเจ้าหนี้จำเลยซึ่งกู้เงินไปชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์นั้นเองด้วย ดังนี้จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้องและจะบังคับให้เพิกถอนการโอนก็ไม่ได้ เพราะจำเลยเป็นแต่ผู้เช่าซื้อ หากเพิกถอนได้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องโอนกลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้อตามเดิม

ฎ.4183/2542 หลังจากจำเลยตกเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยไปทำสัญญาขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยให้แก่ พ. ในภายหลังอีก เนื่องจากจำเลยและสามีจำเลยถูกธนาคารฟ้องให้ร่วมกันรับผิดชำระหนี้เงินกู้และธนาคารได้ขอบังคับจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยนำไปจำนองไว้เป็นประกันการกู้ยืมด้วยแม้ธนาคารจะฟ้องคดีหลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยแล้วก็ตาม แต่หนี้ที่จำเลยมีอยู่ต่อธนาคารเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนและเป็นหนี้ที่มิได้เกิดจากการสมยอมระหว่างจำเลยกับธนาคาร ดังนั้น การที่จำเลยตกลงยินยอมให้ พ. เป็นผู้ชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินต่อธนาคารแทนจำเลย และรับโอนที่ดินไปโดยมีข้อตกลงให้จำเลยซื้อที่ดินคืนกลับไปได้นั้นจึงเป็นกรณีที่จำเลยต้องกระทำเพื่อมิให้ธนาคารผู้รับจำนองบังคับจำนองแก่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยถือไม่ได้ว่าจำเลยโอนขายทรัพย์สินของตนไปโดยเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

ฎ.1892/2541 ในวันที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองจาก อ.ด้วยหากจำเลยที่ 1 ไม่ขายที่ดินดังกล่าวก็ต้องชำระดอกเบี้ยจำนองปีละหลายสิบล้านบาท การที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำนองและได้ขายที่ดินที่จำนองได้เงินรวมทั้งสิ้น 721,600,000 บาทจึงเป็นการขายเพื่อชำระหนี้จำนองตามปกติ แม้จะเป็นการขายภายหลังศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ก็ตามก็ยังเป็นการขายเพื่อปลดเปลื้องภาระหนี้จำนอ

ฎ.950/2556 แม้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดและจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏสารบัญจดทะเบียนในสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ว่า จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. ก่อนแล้วจึงจดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อจากนั้นจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองแก่ธนาคาร อ. โดยกระทำขึ้นในวันเดียวกันทั้งหมด และข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของจำเลยทั้งสองว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 1 นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคาร ก. ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนด ธนาคารจะฟ้องดำเนินคดี จึงทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาอีก และไม่มีเงินชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จึงให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แทน โดยโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 2 นำไปเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากธนาคาร อ. แล้วนำเงินไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองให้แก่ธนาคาร ก. ส่วนเงินที่เหลือจำเลยที่ 2 นำไปปลูกสร้างบ้านบนที่ดินดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 1 และหลานก็พักอาศัยอยู่ในบ้านที่จำเลยที่ 2 ปลูกสร้างขึ้นด้วย โดยที่จำเลยที่ 2 มีภาระต้องผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ธนาคาร อ. แม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ค้างชำระอยู่กับธนาคาร ก. จำนวนเท่าใด แต่การที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำนองและขายที่ดินที่จำนองเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองก็เป็นการขายเพื่อชำระหนี้ของตนตามปกติ และเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 จะต้องกระทำเพื่อมิให้ถูกธนาคาร ก. เจ้าหนี้ผู้รับจำนองบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 อันมีลักษณะเป็นการขายเพื่อปลดเปลื้องภาระหนี้จำนองของตน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่อาจถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินไปโดยเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามฟ้อง

ฎ.2075/2536 การที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาโอนขายสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ให้บุคคลภายนอกเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่ธนาคารซึ่งจำเลยได้นำสิทธิการเช่าอาคารพิพาทไปประกันการกู้ยืมเงินไว้ โดยขายสิทธิการเช่าแล้วก็ยังไม่พอชำระต้นเงินและดอกเบี้ย แต่ธนาคารก็ลดจำนวนหนี้ให้ ยังไม่ถือว่าเป็นการโอนไปโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้

ประเด็นที่สิบเอ็ด “โจทก์บรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบ”

ถ้าโจทก์ไม่บรรยายว่า ลูกหนี้โอนทรัพย์สินไปให้ใคร หรือไม่บรรยายฟ้องว่าผู้ที่รับโอนเป็นบุคคลภายนอก ไม่ได้บรรยายเวลากระทำผิด ย่อมเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจะต้องยกฟ้อง 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น

 ฎ.4180/2535 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา แต่กล่าวถึงเรื่องการยักย้ายทรัพย์เพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้เพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันโอนขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยมิได้กล่าวว่าได้โอนขายไปให้แก่ผู้ใด เอกสารท้ายฟ้องก็ไม่มีไม่อาจทราบได้ว่าใครเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาท จึงเป็นคำฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริง และรายละเอียดที่เกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ และแม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกาถึงจำเลยที่ 1 แต่ปัญหาคำฟ้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นี้ เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาให้มิต้องรับโทษได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

ฎ.2187/2557 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ โดยผู้กระทำต้องรู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และย้ายไปเสียซึ่งทรัพย์ ซ่อนเร้นทรัพย์ หรือโอนทรัพย์ของลูกหนี้ไปให้แก่ผู้อื่น เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันโอนชื่อที่ดินของ บ. จาก บ. เป็นผู้รับโอนประเภทมรดกใส่ชื่อจำเลยทั้งสอง ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองรับโอนที่ดินซึ่งเป็นมรดกของ บ. ที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งสองในฐานะที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้รับมรดกของ บ. เท่านั้น ซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกของ บ. ยังคงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าว เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันโอนที่ดินของ บ. ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ไปให้แก่ผู้อื่น จึงเป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดฐานโกงเจ้าหนี้


ฎ.4434/2549 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำนิติกรรมปลอมแกล้งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นหนี้จำเลยที่ 4 เป็นจำนวนอันไม่เป็นความจริง ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 แต่โจทก์มิได้บรรยายให้แน่ชัดว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำนิติกรรมปลอมเมื่อใด วันเวลาที่โจทก์อ้างในคำฟ้องตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นเพียงวันเวลาที่แสดงว่าโจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อใด และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องโอนกรรมสิทธิ์ไปยังบุคคลอื่นเมื่อใด จะถือเอาวันเวลาระหว่างข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบกันเพื่อจะให้เข้าใจเอาเองว่า ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้เกิดระหว่างวันและเวลาดังกล่าวหาได้ไม่ ถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาที่เกิดการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ครบถ้วนแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ฎ.2510/2562 จทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของ ส. ตามสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคนของ ส. โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินบังคับเอาแก่ทรัพย์มรดกของ ส. ที่ตกทอดแก่ทายาท แต่คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ม. ที่ศาลจังหวัดชลบุรี เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้รับมรดกที่ดินตามพินัยกรรมซึ่ง ส. ทำไว้ก่อนตาย จึงฟ้องติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์ที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนจากทายาทของ ส. ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ หาใช่คดีที่โจทก์ฟ้องทายาทของ ส. ให้รับผิดชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินที่ ส. ทำไว้ต่อโจทก์ไม่ การฟ้องคดีของโจทก์ในคดีที่ศาลจังหวัดชลบุรี จึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อจะบังคับเอาแก่ทรัพย์มรดกของ ส. ลูกหนี้การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ในส่วนของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพราะโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ประสงค์จะบังคับเอาทรัพย์สินของ ส. ลูกหนี้ซึ่งตกทอดแก่ทายาท เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

ประเด็นที่สิบสอง “ไม่ใช่การโอน ยักย้าย ” 

ถ้าการกระทำของลูกหนี้ ไม่ใช่การโอนยักย้ายทรัพย์สินไปยังบุคคลอื่น แต่เป็นการกระทำอื่นๆ เช่น นำไปจำนอง นำไปปล่อยเช่า หรือสละสิทธิไถ่ถอนการขายฝาก ที่แม้จะทำให้ทรัพย์สินของลูกหนี้เสื่อมค่า หรือมีภาระผูกพัน แต่ก็ไม่เป็นความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้ 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น

ฎ.4557/2531 การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินซึ่งศาลพิพากษาให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินบางส่วนให้โจทก์ไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2นั้น การจำนองมิใช่เป็นการย้ายไปเสีย หรือเป็นการซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามบทมาตราดังกล่าว

ฎ.1050/2507 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์โดยเอาที่ดินเป็นประกันเงินกู้ ต่อมาจำเลยเอาที่ดินแปลงนี้ไปจำนองเสีย การกระทำของจำเลยดังนี้ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 349 และ 350

ฎ.870/2518 การที่จำเลยนำที่ดินซึ่งโจทก์กำลังฟ้องเรียกเอาจากจำเลยไปให้เช่าและจดทะเบียนการเช่านั้น ไม่ใช่เป็นการย้ายไปเสียหรือโอนไปให้ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

ฎ.1017-1018/2517 การที่จำเลยสละสิทธิไถ่ถอนการขายฝากไม่ใช่เป็นการย้ายหรือซ่อนเร้นหรือโอนให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

ประเด็นที่สิบสาม “คดีขาดอายุความแล้ว” 

คดี โกงเจ้าหนี้ เป็นความผิดอันยอมความได้ ดังนั้นโจทก์จะต้องแจ้งความร้องทุกข์หรือฟ้องร้องดำเนินคดีกับจำเลยภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้ตัวผู้กระทำผิดและรู้เรื่องการกระทำผิด หากเลยกำหนดดังกล่าว โจทก์ไม่ดำเนินการ คดีย่อมขาดอายุความ

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น 

ฎ.6221/2542 ที่ดินแปลงที่จำเลยโอนขายให้ ด. เป็นแปลงเดียวกับที่โจทก์ขอซื้อจากจำเลยแต่จำเลยโอนให้ไม่ได้เพราะชื่อเจ้าของที่ดินยังเป็นของผู้อื่น ซึ่งโจทก์ก็ไม่ได้ละทิ้ง หากยังติดตามที่ดินแปลงพิพาทอยู่ การที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไปยื่นคำขอให้ยึดทรัพย์จำเลยโดยหนังสือมอบอำนาจมีข้อความชัดเจนว่าให้ยึดบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินแปลงนี้กับทรัพย์สินภายในบ้าน ดังนั้นการที่จำเลยโอนขายบ้านให้ ด. ก่อนที่โจทก์จะดำเนินการขอยึดนั้น โจทก์ก็ควรจะรู้หรือน่าจะรู้ว่าจำเลยขายที่ดินดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่วันที่การไปขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลย ซึ่งเมื่อนับถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้วเกินกว่า 3 เดือน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ฎ.2212/2515  กำหนดเวลาที่ให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นจะเป็นอันขาดอายุความนั้น เป็นบทบัญญัติสำหรับกรณีที่ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ฯลฯ แต่ถ้าผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์เสียก่อน จะใช้สิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลด้วยตนเองก็ย่อมกระทำได้ภายในกำหนดระยะเวลาเดียวกัน แต่เมื่อวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเป็นวันหยุด ซึ่งตามประเพณีงดเว้นการงานท่านให้นับวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 161 ดังนั้น การที่ระยะเวลาที่ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ในคดีนี้ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 24 อันเป็นวันหยุดราชการ ผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีต่อศาลในวันที่ 25ซึ่งเป็นวันเริ่มทำงานใหม่ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ฎ.4101/2560  โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ข้อ 2.1 และ 2.2 ขาดอายุความหรือไม่ ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ ต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด เมื่อโจทก์มิได้ร้องทุกข์เพราะประสงค์ดำเนินคดีเอง โจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดด้วย เมื่อโจทก์ฎีการับว่าผู้แทนโจทก์ทราบว่า จำเลยโอนโฉนดที่ดินตามฟ้องข้อ 2.1, 2.2 ไปให้บริษัท พ. และ ช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 จึงเกินกว่า 3 เดือน ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความ 
ฎ.701/2553 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดวันที่ 25 มีนาคม 2542 แต่โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์เพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2549 โจทก์จะต้องนำสืบให้รับฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นเช่นนั้น คดีในความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

สรุป

ในความผิดฐาน โกงเจ้าหนี้ ไม่ใช่ว่าจำเลยเป็นหนี้แล้ว โอนทรัพย์สินไปให้บุคคลอื่น จะเป็นความผิดอาญาเสมอไป แต่มีบริบทและพฤติการณ์ประกอบที่จะต้องพิจารณา ดังได้กล่าวไว้โดยละเอียดแล้ว 13 ประการข้างต้น ดังนั้นในการทำงานและเตรียมคดี ไม่ว่าท่านจะเป็นฝ่ายโจทก์หรือจำเลย ก็ต้องพิเคราะห์ถึงประเด็นดังกล่าวเพื่อประกอบการเตรียมคดีด้วยเสมอ

หนังสืออ้างอิงประกอบการค้นคว้าและเขียนบทความ

1.กฎหมายอาญา ภาค 2 ตอน 2 และภาค 3 อ.จิตติ ติงศภัทิย์

2.คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญาภาคความผิด มาตรา 288-366 หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์

3.กฎหมายอาญา ภาคความผิด เล่ม 3 ดร.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์

4.คำอธิบาย กฎหมายอาญาภาคความผิด ศ.ดร. คณพล จันทน์หอม

5.กฎหมายอาญา ภาคความผิด ศ.ดร.คณิต ณ นคร

6.กฎหมายอาญา ภาค 2-3 ศ ดร.หยุด แสงอุทัย

7.คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคความผิด และลหุโทษ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts