บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา, คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ

Image

 

 

 

 

 

 

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เป็นความเข้าใจอย่างผิดๆของประชาชนส่วนมากที่คิดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีอำนาจหน้าที่อย่างกว้างขวางครอบคลุมปัญหาทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ก็จะต้องไปเดินทางไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกัน บางทีเรื่องทางแพ่งแท้ๆ เช่น ผู้เช่าไม่ยอมออกจากบ้านที่ให้เช่า สามีไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ลูกหนี้ผิดสัญญาไม่จ่ายเงินกู้ ก็ยังไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ซึ่งเมื่อไปแจ้งแล้ว เมื่อเรื่องไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรให้ได้

ทั้งนี้การแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น อาจแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะด้วยกัน คือ 1.แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษว่ามีผู้กระทำผิดอาญา ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะบันทึกไว้ใน สมุดบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี

2.แจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะบันทึกไว้ใน รายงานประจำวันรับแจ้งไว้เป็นหลักฐาน

3.แจ้งความว่าเอกสารหาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะบันทึกไว้ใน รายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหาย

ซึ่งความจริงแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจโดยตรงเฉพาะรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีอาญาเพื่อทำการสอบสวนดำเนินการเอาตัวผู้ต้องหามาลงโทษเท่านั้น ส่วนการแจ้งความในลักษณะอื่นๆที่ไม่ใช่คำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษในคดีอาญา เช่น ลูกหนี้ผิดสัญญา ผู้เช่าไม่ยอมออกจากที่เช่า ผู้จะขายไม่ยอมขายที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขาย ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของตำรวจที่จะดำเนินการตามกฎหมายใดๆ แต่หากผู้แจ้งความต้องการจะแจ้งความ เจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็มีหน้าที่จะต้องรับแจ้งความไว้เหมือนกัน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีหน้าที่เพียงที่จะต้องบันทึกคำแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ไม่มีหน้าที่อำนาจดำเนินการใดๆต่อไป ทั้งนี้ตามระเบียบตำรวจเกี่ยวกับคดีลักษณะ 12 ว่าด้วยรายงานประจำวัน

แต่ก็มีหลายครั้งเหมือนกันที่ผู้แจ้งความมาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษว่ามีผู้กระทำผิดอาญา แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่รับแจ้งความ หรือรับแจ้งความ แต่นำไปลงบันทึกรับแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ไม่ยอมรับแจ้งความไว้ดำเนินคดี ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ก็น่าเกิดขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจขี้เกียจทำงานนั่นเอง

ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาทางแพ่งขึ้นหรือกรณีที่ยังไม่แน่ใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาทางแพ่งหรือเป็นคดีอาญา ควรปรึกษากับทนายความที่ไว้วางใจได้ก่อนที่จะไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ จะเป็นประโยชน์แก่ตัวท่านเอง เพราะหากปัญหานั้นเป็นปัญหาทางแพ่ง ทนายความก็จะได้นำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อแก้ไขปัญหาให้ท่านได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว และหากปัญหานั้นเป็นคดีอาญา การที่ท่านไปแจ้งความพร้อมกับทนายความซึ่งมีความรู้ทางกฎหมาย จะทำให้พนักงานสอบสวนไม่กล้าบ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับแจ้งความจากท่าน โดยอ้างว่าเป็นคดีแพ่ง

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น