บทความกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา, คู่มือปฏิบัติงานของทนายความ

วิเคราะห์เจาะลึกทุกประเด็นเรื่อง “การไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแบบใหม่”

กฎหมายการไต่สวนมูลฟ้องแบบใหม่

หลักกฎหมายและวิธีการในการไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา ได้บังคับใช้ในประเทศไทย มาตั้งแต่เริ่มใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือเมื่อ ปี พ.ศ. 2477 จนถึงปัจจุบัน โดยไม่เคยมีการแก้ไขเกี่ยวกับกระบวนการไต่สวนมูลฟ้องเลยสักครั้งเดียว และแนวปฏิบัติในการไต่สวนมูลฟ้องก็ได้ทำแบบเดิมต่อๆกันมาเป็นเวลา 84 ปี โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก่อน

แต่เมื่อปี พ.ศ.2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีมติให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การไต่สวนมูลฟ้องและการสืบพยานลับหลังจำเลยและค่าธรรมเนียม( อ่าน รายละเอียดเกี่ยวประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่แก้ไขใหม่)

การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ เป็นเรื่องที่นักกฎหมาย ทนายความ หรือประชาชนที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาไม่ว่าจะเป็นฝ่ายโจทก์หรือฝ่ายจำเลยจะต้องรับรู้ เพราะได้มีการเปลี่ยนแนวทางการไต่สวนมูลฟ้องในสาระสำคัญหลายประการ

ซึ่งวันนี้ผู้เขียนจะมาวิเคราะห์แบบเจาะลึก ถึงความแตกต่างระหว่างกฎหมายเดิมและกฎหมายใหม่ และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาตามกฎหมายใหม่ ว่าจะมีแนวทางต่อไปอย่างไร

ก่อนอื่นมาทบทวนและทำความเข้าใจก่อนว่า การไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญา คืออะไร?

การไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา คือกระบวนการในการกลั่นกรองคดีเบื้องต้น ก่อนที่ศาลจะประทับรับฟ้องคดีของโจทก์ไว้ เพื่อทำการพิจารณาต่อไป ทั้งนี้เหตุที่ต้องมีการกลั่นกรองคดีเบื้องต้นก่อนที่ศาลจะประทับฟ้องนั้น ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าจำเลยจะไม่ถูกกลั่นแกล้งฟ้องร้องโดยไม่มีมูลความจริง

เนื่องจากเมื่อศาลประทับรับฟ้องคดีอาญาไว้แล้ว จำเลยผู้ถูกฟ้องจะมีฐานะเป็นจำเลยในคดีอาญาอย่างเต็มตัว ซึ่งทำให้จะต้องถูกคุมขังไว้ระหว่างการพิจารณา เว้นแต่จะมีหลักประกัน และยังส่งผลกระทบต่อจำเลยหลายๆอย่าง เช่น จะต้องมาศาลในทุกนัด เว้นแต่จะได้รับยกเว้นให้พิจารณาคดีลับหลังได้ ถ้าไม่มาศาลตามนัดก็จะถูกออกหมายจับและยึดหลักประกัน และอาจจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางออกนอกประเทศได้ หากศาลมีคำสั่งห้าม เป็นต้น

ดังนั้นก่อนศาลจะประทับรับฟ้อง จึงต้องมีกระบวนการที่ทำให้ศาลแน่ใจเสียก่อนว่า คดีของโจทก์มีมูลเพียงพอที่จะทำให้ศาลรับไว้พิจารณาได้ กระบวนการดังกล่าวเรียกว่า “การไต่สวนมูลฟ้อง” ซึ่งมีกระบวนการดังกล่าวในทางปฏิบัติก็คือ โจทก์จะต้องนำพยานหลักฐานต่างๆไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ มานำสืบแสดงต่อศาล เพื่อให้ศาลเชื่อว่าคดีมีมูลเพียงพอที่จะรับฟ้องไว้พิจารณา

ในการไต่สวนมูลฟ้องนั้น หากพนักงานอัยการเป็นผู้ยื่นฟ้องศาลสามารถรับฟ้องไว้ได้เลย โดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน หรือศาลจะไต่สวนมูลฟ้องก่อนได้ ซึ่งทางปฏิบัติแทบทุกคดีที่อัยการยื่นฟ้องศาลจะรับฟ้องไว้เสมอโดยไม่ทำการไต่สวนมูลฟ้องก่อน

แต่หากราษฎรหรือประชาชนธรรมดา เป็นคนว่าจ้างทนายความยื่นฟ้องคดีอาญาด้วยตนเอง ศาลจะต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนเสมอ เว้นแต่พนักงานอัยการจะเคยได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นเรื่องเดียวกันนั้นแล้ว (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 162)

ทั้งนี้สาเหตุเพราะคดีที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลนั้น ผ่านกระบวนการกลั่นกรองมาแล้วถึงสองรอบ คือจากพนักงานสอบสวน และจากพนักงานอัยการ ได้ช่วยกันกลั่นกรองมาแล้วเห็นพ้องต้องกันว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอจะฟ้องได้ ถือว่ามีกระบวนการตรวจสอบเบื้องต้นมาอย่างดีแล้วว่าคดีพอมีมูล ศาลจึงรับฟ้องไว้ได้โดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน

หลักการไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา แบบเดิม

หลักการไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแบบเดิม ถือว่าการไต่สวนมูลฟ้องเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับศาลเท่านั้น เพราะตราบใดที่ศาลยังไม่ได้ประทับฟ้อง จำเลยยังไม่มีฐานะเป็นจำเลยตามกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบหรือแสดงพยานหลักฐานต่อศาล จำเลยมีเพียงสิทธิในการแต่งตั้งทนายความเข้ามาให้การช่วยเหลือโดยการถามค้านทำลายน้ำหนักของพยานโจทก์เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ฝ่ายจำเลยจะไม่มีสิทธินำสืบพยานหลักฐานของตน แต่ทนายความที่มีความสามารถ จะใช้เทคนิคในการถามค้าน เพื่อให้พยานของโจทก์เบิกความรับรองพยานเอกสารหรือพยานวัตถุต่างๆ ว่าเป็นพยานเอกสารหรือพยานวัตถุที่แท้จริงและเกี่ยวข้องในคดี

ซึ่งหากพยานโจทก์เบิกความรับรองเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าวแล้ว ศาลก็สามารถรับพยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าวเข้าสู่สำนวน เพื่อประกอบการพิจารณาได้ นอกจากนี้ฝ่ายจำเลยยังมีสิทธิยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีด้วย ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1885/2521 ,904/2522  , 7737/2552 เป็นต้น แต่หากพยานโจทก์ไม่เบิกความรับรองเอกสารหรือวัตถุนั้น ศาลก็รับพยานเอกสารหรือพยานวัตถุเข้าสู่สำนวนไว้พิจารณาไม่ได้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6557/2539

ซึ่งมาตรฐานการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเพื่อพิจารณารับฟ้องของศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนั้น จะชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงว่า คดีมีมูลเพียงพอที่ศาลจะรับไว้พิจารณาไว้ได้หรือไม่เท่านั้น ไม่ได้พิจารณาถึงขั้นว่าจำเลยกระทำผิดจริงหรือไม่ โดยศาลฎีกาเคยให้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรฐานในการพิสูจน์ว่าคดีมีมูลไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3965 /2553 ว่า

“ ชั้นไต่สวนมูลฟ้องเพียงแค่มีมูลความผิดตามฟ้องหรือไม่เมื่อได้ข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบฐานความผิดที่ฟ้องโดยไม่มีข้อพิรุธอันเป็นที่ประจักษ์ชัดก็ฟังได้แล้วว่าคดีมีมูลตามฟ้องส่วนข้อเท็จจริงได้ความจะเป็นความจริงหรือไม่เป็นข้อที่จะต้องพิสูจน์กันอีกชั้นหนึ่งในชั้นพิจารณา”

ตามกฎหมายเดิมไม่มีการบังคับให้ศาลต้องมีคำวินิจฉัยโดยละเอียดว่าข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ใช้พิจารณาในการประทับรับฟ้องเป็นอย่างไร ทางปฏิบัติก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้พิพากษาแต่ละท่าน บางท่านก็เขียนคำสั่งเพียงสั้นๆ บางท่านให้เหตุผลพร้อมข้อกฎหมายประกอบแบบชัดเจน

โดยเฉพาะกรณีที่จะไม่ประทับฟ้องนั้น ส่วนใหญ่ก็เขียนให้เหตุผลชัดเจน เพราะคำสั่งรับฟ้องนั้น จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไม่ได้ แต่คำสั่งไม่ประทับฟ้องนั้น โจทก์อุทธรณ์คำสั่งได้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 170) ศาลจึงต้องให้เหตุผลชัดเจนว่าทำไมถึงไม่ประทับรับฟ้อง โจทก์จะได้อุทธรณ์โต้แย้งได้ถูก

นอกจากนี้การไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแบบเดิม ศาลยังไม่มีอำนาจแต่งตั้งทนายความให้กับจำเลยแต่อย่างใด โดยเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ถูกฟ้องคดีที่จะต้องหาทนายความมาต่อสู้คดีเอง ถึงคดีจะมีอัตราโทษสูงแค่ไหน หรือจำเลยจะยากจนไม่มีเงินว่าจ้างทนายความอย่างไร ศาลก็ไม่มีอำนาจแต่งตั้งทนายความขอแรงให้จำเลย

ทำไมถึงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม เรื่องหลักเกณฑ์การไต่สวนมูลฟ้อง ในคดีอาญา ?

เนื่องจากการไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแบบเดิม ฝ่ายจำเลยมีโอกาสในการต่อสู้คดีน้อยมาก เพราะจำเลยไม่มีสิทธินำพยานบุคคลพยานเอกสารหรือพยานวัตถุมานำสืบแสดงต่อศาลเลย มีเพียงฝ่ายโจทก์เป็นผู้นำสืบแสดงพยานหลักฐานแต่เพียงผู้เดียว ถ้าเปรียบเป็นมวยก็เหมือนเป็นการชกแบบที่คู่ต่อสู้ถูกมัดมือไว้ข้างหนึ่ง

ประกอบกับมาตรฐานในการพิสูจน์ว่าคดีมีมูลหรือไม่ค่อนข้างต่ำ ถ้าจะให้อธิบายง่ายๆ ถ้าคะแนนพยานหลักฐานมี 100 คะแนน แค่โจทก์นำสืบได้สัก 60 คะแนน ก็เพียงพอต่อการที่จะให้ศาลสั่งว่าคดีมีมูลได้แล้ว ทำให้คดีส่วนใหญ่ที่ยื่นฟ้องถ้ารูปคดีไม่แย่จริงๆ ศาลก็จะรับฟ้องไว้เสมอ

ซึ่งปรากฏว่ามีคดีจำนวนมากที่ศาลสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณา แต่เมื่อคดีไปถึงชั้นพิจารณาแล้วปรากฏว่า ศาลได้ยกฟ้องในชั้นพิจารณาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมื่อได้เห็นพยานหลักฐานของจำเลย หรือเมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้จากฝ่ายจำเลยอย่างละเอียดแล้ว ปรากฏว่าคดีของโจทก์แทบจะไม่มีมูลหรือไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเลย แต่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำเลยไม่มีโอกาสแสดงพยานหลักฐานเลย ศาลจึงรับฟ้องไว้ก่อน

และภายหลังที่ศาลประทับฟ้องไปนั้นก็ส่งผลกระทบต่อตัวจำเลยไปแล้ว เพราะจำเลยก็ต้องหาเงินมาประกันตัว ต้องเสียเวลามาศาลหลายนัด ต้องเสียเงินว่าจ้างทนายความและเสียค่าเดินทางหลายรอบ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจหรือหน้าที่การงานด้วย

หรือบางครั้งโจทก์ก็เอาคดีอาญาที่ศาลสั่งประทับฟ้อง ไปเป็นข้อต่อรองหรือเรียกร้องในคดีอื่นหรือเรื่องอื่นๆนอกจากนี้ระบบไต่สวนมูลฟ้องแบบเดิม ยังเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องหาและว่าจ้างทนายความขึ้นมาต่อสู้คดีเองในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้ ถึงแม้ว่าจำเลยจะยากจนหรือไม่ได้กระทำความผิดอย่างไร หรือคดีจะมีข้อหาหนักเพียงไหน ศาลก็ไม่อาจแต่งตั้งทนายความขอแรงให้ได้ ทำให้จำเลยที่ยากจนได้รับความเสียเปรียบในการต่อสู้คดี

 ดังนั้นระบบการไต่สวนมูลฟ้องแบบเดิมจึงมีโอกาสทำให้เกิดความเสียหายกับฝ่ายจำเลยที่เป็นผู้บริสุทธิ์หรือถูกกลั่นแกล้งฟ้องร้องมาก เพราะโอกาสที่ศาลจะประทับฟ้องมีสูง และเมื่อมีการประทับฟ้องไว้แล้วปรากฏว่าหลายๆคดีที่ฟ้องกันนั้นไม่ควรจะมีมูลมาตั้งแต่ต้น แต่เนื่องจากฝ่ายจำเลยไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานมาแสดงต่อศาล ศาลจึงไม่ทราบข้อเท็จจริงจากฝ่ายจำเลยและต้องมีคำสั่งประทับฟ้องไปก่อน

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับการไต่สวนมูลฟ้อง เพื่อให้คุ้มครองจำเลยในคดีอาญาให้มากขึ้น

หลักการไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา แบบใหม่

หลักเกณฑ์การไต่สวนมูลฟ้องแบบใหม่ ยังคงใช้หลักการเดิมหลายข้อ เช่นยังคงถือว่า ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำสั่งประทับฟ้องจำเลยยังไม่ได้มีฐานะเป็นจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 วรรคสาม ดังนั้นจำเลยยังไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคลพยานเอกสารหรือพยานวัตถุมาสืบด้วยตนเอง

แต่ตามกฎหมายใหม่ได้เพิ่มเติม มาตรา 165/2 โดยเพิ่มสิทธิของจำเลยในการต่อสู้คดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โดยระหว่างการไต่สวนมูลให้โอกาสจำเลยยื่นคำแถลงให้ศาลทราบถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล และจะระบุในคำแถลงถึงตัวบุคคล เอกสาร หรือวัตถุ ที่จะสนับสนุนข้อเท็จจริงของจำเลยตามคำแถลงด้วยก็ได้

ซึ่งถ้าหากว่าฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำแถลงอ้างถึงตัวบุคคลเอกสารหรือวัตถุใดแล้ว ศาลมีอำนาจในการ เรียกพยานบุคคลพยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าว มาเป็นพยานของศาลเพื่อประกอบการวินิจฉัยคดีได้ ตามที่จำเป็นและที่ศาลเห็นสมควร

และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา165/1 ได้วางหลักว่า ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกยังให้อำนาจศาลในการแต่งตั้งทนายความขอแรงให้กับจำเลยในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้ และยังบังคับว่าในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกิน 18 ปีในวันที่ยื่นฟ้องศาล

เมื่อจำเลยไม่มีทนายความศาลจะต้องแต่งตั้งทนายความขอแรงให้เสมอ นอกจากนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 167 วรรค2 ในคำสั่งของศาลที่ว่าคดีมีมูลต้องแสดงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายรวมทั้งเหตุผลตามสมควรประกอบด้วย ทั้งนี้โปรดดูแผนภูมิรูปภาพเปรียบเทียบกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่ด้านบนบทความนี้ประกอบ

ข้อสังเกตเรื่องทางปฏิบัติในการไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแบบใหม่

1.ฝ่ายจำเลยไม่มีอำนาจร้องขอให้ศาลเรียกพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ มาสืบได้ จำเลยมีสิทธิเพียงบรรยายคำแถลงอ้างถึง บุคคล วัตถุ หรือเอกสาร โดยจะต้องให้เหตุผลจนศาลเห็นคล้อยตามว่า การเรียกพยานดังกล่าวจะมีประโยชน์ในการพิจารณาคดี ส่วนการเรียกพยานดังกล่าวมาหรือไม่เป็นดุลยพินิจของศาลโดยแท้

2.ดุลยพินิจของศาลในการออกเรียกพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ มาเป็นพยานศาลเพื่อประกอบการวินิจฉัยคดี เป็นข้อเด็ดขาด ถ้าศาลไม่เรียกพยานให้จำเลยก็ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกา และถ้าศาลเรียกพยานมาโจทก์ก็ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกา

3.พยานบุคคลที่ศาลเรียกมานั้นถือว่าเป็นพยานของศาล สิทธิในการถามพยานจึงเป็นของศาลเท่านั้น ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยไม่มีสิทธิถามพยาน โดยโจทก์และจำเลย จะมีสิทธิถามพยานบุคคลได้ต่อเมื่อศาลอนุญาตแล้วเท่านั้น  ซึ่งการถามพยานลักษณะนี้คล้ายกับระบบถามพยานของศาลแรงงาน โดยศาลจะอนุญาตให้โจทก์หรือจำเลยถามหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่ดุลยพินิจของศาล และการถามใช้ระบบการถามแบบถามเพิ่มเติมอย่างเดียว ไม่มีการซักถาม ถามค้าน ถามติง ซึ่งตามความเห็นของผู้เขียนเห็นว่าไม่มีข้อจำกัดในการถามนำแต่อย่างใด เพราะไม่ใช่เป็นการถามพยานของฝ่ายตนเอง

4.การที่จำเลยจะขอให้ศาลแต่งตั้งทนายความให้นั้น จำเลยจะต้องมาปรากฎตัวต่อหน้าศาลเสียก่อน ดังนั้นแม้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำเลยมีสิทธิที่จะมาศาลหรือไม่ก็ได้ แต่หากจำเลยต้องการให้ศาลแต่งตั้งทนายความให้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยก็ต้องมาปรากฎตัวต่อหน้าศาลเสียก่อน ศาลจึงจะแต่งตั้งทนายความให้จำเลยได้

5.ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตหรือคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกิน 18 ปี ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง กฎหมายบังคับศาลว่าเมื่อจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้ว จำเลยไม่มีทนายความ ให้ศาลตั้งทนายความให้จำเลย แต่อย่างไรก็ดี ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำเลยยังมีสิทธิที่จะไม่มาศาลก็ได้ ดังนั้นในกรณีที่จำเลยไม่ได้มาศาลในนัดไต่สวนมูลฟ้อง ก็ไม่อยู่ในบังคับที่ศาลจะต้องแต่งตั้งทนายความให้กับจำเลย และศาลก็ไม่มีอำนาจบังคับให้จำเลยมาศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง

ประเด็นข้อ 4-5 มีประเด็นน่าสนใจว่า ถ้าจำเลยไม่ได้มาศาลด้วยตนเอง แต่มอบอำนาจให้ผู้อื่นมาศาลแทน เช่นนี้ ศาลจะแต่งตั้งทนายความให้กับจำเลยได้หรือไม่ ?

ประเด็นนี้คงต้องรอแนวคำพิพากษาและทางปฏิบัติของศาลต่อไป แต่ตามความเห็นของผู้เขียน เห็นว่าน่าจะทำได้ เพราะเป็นบทบัญญัติเรื่องการแต่งตั้งทนายความให้จำเลย บทบัญญัติให้สิทธิที่ควรตีความเป็นคุณกับฝ่ายจำเลย เพื่อให้โอกาสจำเลยสู้คดีอย่างเต็มที่ ไม่ใช่บทบัญญัติเสียสิทธิที่จะต้องตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด

6.คำสั่งของศาลกรณีว่าคดีมีมูล จะต้องให้เหตุผล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายประกอบทุกคดี แต่กรณีสั่งว่าคดีไม่มีมูลไม่ได้ระบุไว้ แต่ทางปฏิบัติ กรณีสั่งว่าคดีไม่มีมูล ศาลมักจะเขียนให้เหตุผล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยละเอียดอยู่แล้ว

7.มาตรฐานในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในการไต่สวนมูลฟ้อง ยังคงใช้มาตรฐานเดิม

8.สิทธิต่างๆ ตามระบบเดิมของจำเลยยังอยู่ครบถ้วน เช่น สิทธิในการอ้างเอกสารหรือวัตถุประกอบการถามค้าน สิทธิในการทำคำแถลงการณ์ปิดคดีเมื่อสืบพยานเสร็จสิ้น

ดังนั้นทนายความ หรือผู้มีคดีเกี่ยวข้องกับคดีอาญาทั้งหลาย คงต้องปรับและเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติ ในการฟ้องและต่อสู้คดีอาญา รวมทั้งทำความเข้าใจกฎหมายเกี่ยวกับการไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแบบใหม่ โดยในกรณีที่เป็นฝ่ายโจทก์ จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมมากขึ้นกว่าเดิมก่อนฟ้องคดีและก่อนการทำการไต่สวนมูลฟ้อง

อีกทั้งการนำสืบชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ถ้าหากจำเลยยื่นคำแถลงอ้างว่ามีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่สำคัญที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล ฝ่ายโจทก์ ก็ควรจะต้องสืบพยานหลักฐานให้หนักแน่นกว่าเดิมและปิดช่องว่างตามที่จำเลยกล่าวอ้าง

และในส่วนของจำเลยหากเห็นว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูล โดยมีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย รวมทั้งพยานบุคคลหรือ พยานวัตถุ พยานเอกสาร ใดที่เป็นประเด็นสำคัญในคดี ก็สามารถยื่นคำแถลงชี้แจงต่อศาลได้เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าจะออกหมายเรียกพยานดังกล่าวมาเป็นพยานศาลหรือไม่ นอกจากนี้จำเลยที่ไม่มีเงินว่าจ้างทนายความก็สามารถขอให้ศาลแต่งตั้งทนายความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

หนังสืออ้างอิง

1.คำอธิบายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาภาค 3-4 ของอาจารย์ธานิศ เกศวพิทักษ์
2. คำอธิบายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค1-3 ของศาสตราจารย์ประภาศน์ อวยชัย
3.คำอธิบายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เล่ม 2 ของรองศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ

 

Express your opinion about this article

comments

ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

About ทนายเอกสิทธิ์ ศรีสังข์

ทนายความ/หัวหน้าสำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ ยินดีให้คำปรึกษากฎหมายและรับว่าความทั่วราชอาณาจักร โทร 098-2477807 , 087-3357764 ไลน์ id - @srisunglaw (มี @ข้างหน้า)

Related Posts